เหตุการณ์ 14 ตุลา
เหตุการณ์ 14 ตุลา วันมหาวิปโยค วันมหาปิติ | |||
---|---|---|---|
ฝูงชนชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในปี 2516 เพื่อต่อต้านระบอบเผด็จการทหาร (จัดแสดงที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม 2516 กรุงเทพฯ) | |||
วันที่ | 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516[a] | ||
สถานที่ | ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย | ||
สาเหตุ |
| ||
เป้าหมาย |
| ||
วิธีการ | การเดินขบวน, การแจกใบปลิว, การก่อจลาจล | ||
ผล |
| ||
คู่ขัดแย้ง | |||
| |||
ผู้นำ | |||
จำนวน | |||
| |||
ความเสียหาย | |||
เสียชีวิต | 77 คน[1] | ||
บาดเจ็บ | 857 คน[1] |
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความว่าด้วย |
การเมืองไทย |
---|
สถานีย่อยประเทศไทย |
เหตุการณ์ 14 ตุลา (พ.ศ. 2516) หรือ วันมหาวิปโยค[b]การปราบปรามผู้ประท้วงบริเวณพระบรมมหาราชวังและถนนราชดำเนินอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีจ���มพลถนอม กิตติขจร จนมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน บาดเจ็บกว่า 800 คน และมีผู้สูญหายอีกเป็นจำนวนมาก
การประท้วงนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุหลายประการ คือ ประเทศไทยได้อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมานานเกือบ 15 ปีตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกอบกับข่าวการฉ้อราษฎร์บังหลวงหลายอย่างในรัฐบาล รวมทั้งรัฐประหารตัวเองในปี 2514 ข่าวการลักลอบล่าสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ นำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มีการตีพิมพ์ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" ทำให้เกิดความสนใจในหมู่ประชาชน นำไปสู่การเดินแจกใบปลิวของนิสิตนักศึกษาในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 6–9 ตุลาคม มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถูกทหารจับกุม ซึ่งต่อมาบุคคลเหล่านี้ได้ชื่อว่า "13 ขบถรัฐธรรมนูญ"[2] ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่การเดินประท้วงในถนนราชดำเนิน โดยมีประชาชนทยอยเข้าร่วมหลายแสนคน วันที่ 13 ตุลาคม รัฐบาลจอมพลถนอมประกาศยอมรับข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงว่าจะร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนสลายตัว
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ผู้ประท้วงบางส่วนเดินทางไปพระบรมมหาราชวังเพื่อขอพบผู้แทนพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อตกลงสลายตัวแล้วจู่ ๆ ก็เกิดเหตุระเบิดแถวพระบรมมหาราชวังและเริ่มการปราบปรามการประท้วงอย่างรุนแรงโดยมีการระดมรถถังและเฮลิคอปเตอร์ ฝ่ายผู้ประท้วงมีผู้เข้าร่วมเพิ่มเป็นประมาณ 500,000 คน จนฝ่ายความมั่นคงถอนกำลังออกไปในช่วงเย็น และในเวลา 19.15 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเผยแพร่พระราชดำรัสทางโทรทัศน์ว่ารัฐบาลทหารลาออกแล้ว หลังจากนั้นมีเหตุการณ์ปะทะกันอีกเล็กน้อยในวันที่ 15 ตุลาคม แต่ผู้ชุมนุมสลายตัวเมื่อทราบว่าบุคคลสำคัญในรัฐบาลสามคนที่เรียกว่า "3 ทรราช" เดินทางออกนอกประเทศแล้ว
หลังเหตุการณ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงแต่งตั้งสัญญา ธรรมศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการเริ่มต้นของ "ยุคการทดลองประชาธิปไตย" ที่สิ้นสุดลงด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา และรัฐประหารปี 2519; ผู้เสียชีวิตได้รับยกย่องเป็น "วีรชนเดือนตุลา" และมีแผนก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาเพื่อเป็นอนุสรณ์ แต่การก่อสร้างนั้นกว่าจะแล้วเสร็จก็ล่วงไปถึงปี 2541[3]: 266–9
สาเหตุ
[แก้]นับแต่รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2501 ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบเผด็จการทหารเรื่อยมา ตั้งแต่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่ถึงแก่อสัญกรรมคาตำแหน่ง และสืบทอดอำนาจโดยจอมพล ถนอม กิตติขจร ตั้งแต่ปี 2506 โดยในช่วงเวลานี้ไม่มีการเลือกตั้ง และประชาชนไม่มีเสรีภาพทางการเมือง เหตุการณ์เริ่มมาจากการที่จอมพล ถนอม กิตติขจร รัฐประหารตัวเอง ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ซึ่งนักศึกษาและประชาชนมองว่า เป็นการสืบทอดอำนาจตนเองจากจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นอกจากนี้ จอมพล ถนอม กิตติขจร จะต้องเกษียณอายุราชการเนื่องจากอายุครบ 60 ปี แต่กลับต่ออายุราชการตนเองในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกไป ทั้งพลเอก ประภาส จารุเสถียร บุคคลสำคัญในรัฐบาล ที่มิได้รับการยอมรับเหมือนจอมพล ถนอม กิตติขจร กลับจะได้รับยศจอมพล และตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ประกอบกับข่าวคราวเรื่องทุจริตในวงราชการ สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนอย่างมาก[4]
การพบซากสัตว์ป่าสงวน
[แก้]ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2516 เฮลิคอปเตอร์ทหารหมายเลข ทบ.6102 เกิดอุบัติเหตุตกกลางทุ่งนาที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม มีนักแสดงหญิงชื่อดังในขณะนั้นคือ เมตตา รุ่งรัตน์ โดยสารไปด้วย มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6 คน ในซากเฮลิคอปเตอร์นั้นพบซากสัตว์เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นซากกระทิงล่ามาจากทุ่งใหญ่นเรศวรซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวน สร้างกระแสไม่พอใจในหมู่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก หลังจากนั้น ปลายเดือนพฤษภาคมและต้นเดือนมิถุนายน นิสิตนักศึกษากลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติฯ 4 มหาวิทยาลัยได้ออกหนังสือชื่อ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" จำหน่ายราคา 5 บาท จำนวน 5,000 เล่ม[5] เปิดโปงเกี่ยวกับกรณีนี้ ผลการตอบรับออกมาดีมาก จนขายหมดในเพียงเวลาไม่กี่ชั่วโมง และได้รับการขยายผลโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงในชมรมคนรุ่นใหม่ออกหนังสือชื่อ "มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ" ที่มีเนื้อหาตอนท้ายเสียดสีนายกรัฐมนตรี เป็นผลให้ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดี สั่งลบชื่อนักศึกษาแกนนำ 9 คนซึ่งเป็นผู้จัดทำหนังสือ ออกจากสถานะนักศึกษา ทำให้เกิดการประท้วงจนนำไปสู่การชุมนุมระหว่างวันที่ 21–27 มิถุนายน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ท้ายสุด ดร.ศักดิ์ต้องยอมคืนสถานะนักศึกษาทั้ง 9 คน และ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ ได้ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
การเริ่มต้นการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ
[แก้]6 ตุลาคม 2516 มีบุคคลร่วมลงชื่อ 100 คน เพื่อเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพ เช่น นักวิชาการ นักการเมือง นักคิด นักเขียน นิสิต นักศึกษา เป็นต้น จากนั้น บุคคลเหล่านี้ราว 20 คน นำโดย นายธีรยุทธ บุญมี ได้เดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร เช่น ประตูน้ำ สยามสแควร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยอ้างถึงใจความในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ส่งถึงรัฐบาลเกี่ยวกับสาเหตุที่ทรงสละราชสมบัติ แต่ทางตำรวจนครบาลนำโดย พลตำรวจตรีชัย สุวรรณศร ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล[6] จับได้เพียง 11 คน และจับทั้ง 11 คนนี้ขังไว้ที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน และนำไปขังต่อที่เรือนจำกลางบางเขน ก่อนหน้านั้นตั้งข้อหามั่วสุมชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนภายหลังจากนั้น ตั้งข้อหาร้ายแรงว่า เป็นคอมมิวนิสต์ โดยห้ามเยี่ยมห้ามประกันเด็ดขาด จากนั้น ได้มีการประกาศจับนาย ก้องเกียรติ คงคา นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และตามจับนาย ไขแสง สุกใส อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนมอีก เป็นผู้ต้องถูกจับทั้งหมด 13 คน โดยกล่าวหาว่า นาย ไขแสง สุกใส อยู่เบื้องหลังการแจกใบปลิวครั้งนี้ บุคคลทั้ง 13 นี้ถูกเรียกขานว่าเป็น "13 ขบถรัฐธรรมนูญ" เหตุการณ์เหล่านี้สร้างความไม่พอใจครั้งใหญ่แก่มวลนักศึกษาและประชาชนอย่างมาก นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งขณะนั้นกำลังสอบกลางภาค แต่ทางองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ประกาศและติดป้ายขนาดใหญ่ไว้ว่า "งดสอบ" พร้อมทั้งยื่นคำขาดให้รัฐบาลปล่อยบุคคลทั้ง 13 ก่อนเที่ยงวันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม แต่เมื่อถึงเวลาแล้ว รัฐบาลก็หาได้ยอมกระทำไม่ และพลตรีประกอบ จารุมณี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เรียกผู้แทนหนังสือพิมพ์เข้า ไปกำชับเกี่ยวกับรายงานข่าว ในตอนบ่าย ของวันที่ 13 ตุลาคม 2516
โดยก่อนหน้านี้ใน วันที่ 10 ตุลาคม 2516 รัฐบาลมีมติให้ตั้งศูนย์ปราบจลาจลที่กองอำนวยการป้องกันและปราบปราม คอมมิวนิสต์สวนรื่นฤดี โดยมีจอมพล ประภาส จารุเสถียร รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และพลเอก กฤษณ์ สีวะรา เป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ฯ เพื่อดำเนินการปราบปรามจลาจล และการก่อความไม่สงบที่อาจเกิดขึ้น
ก่อนหน้านั้น มีนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้เข้าพบ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อดีตผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ณ บ้านพักที่ย่านเอกมัย เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ได้เสนอว่า หากจะจัดการชุมนุม ควรจะจัดในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เพราะจะตรงกับวันที่มีตลาดนัดที่สนามหลวงด้วย จะทำให้ได้แนวร่วมเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก[7]
เหตุการณ์จลาจลและการสั่งปราบการชุมนุม
[แก้]การเดินขบวนครั้งใหญ่จึงเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ออกไปตามถนนราชดำเนิน สู่ลานพระบรมรูปทรงม้า มีแกนนำเป็นนักศึกษาและมีประชาชนเข้าร่วมด้วยหลายแสนคน (เชื่อว่ามากกว่า 400,000 คน) เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม รัฐบาลรีบตกลงรับข้อเรียกร้องและสัญญาว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2515 ผู้ชุมนุมบางส่วนยอมสลายตัว แต่มีนักศึกษาราว 200,000 คนปฏิเสธไม่ยอมสลายตัว และผู้นำคือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ตัดสินใจพาผู้ชุมนุมไปพระบรมมหาราชวังเพื่อขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[8]
วันที่ 14 ตุลาคม นักศึกษาเคลื่อนขบวนถึงพระบรมมหาราชวังและพบกับผู้แทนพระองค์ ซึ่งถ่ายทอดพระราชกระแสขอให้นักศึกษาสลายตัว ซึ่งนักศึกษายินยอม ฝ่ายรองผู้บัญชาการตำรวจสั่งให้ตั้งสิ่งกีดขวางเพื่อให้นักศึกษาออกได้ทางเดียว ทำให้นักศึกษาที่มีจำนวนมากออกจากพื้นที่ได้ลำบาก ทั้งนี้ ไม่ทราบรายละเอียดแน่ชัดว่าความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ในช่วงเช้าตรู่ เกิดระเบิดขึ้นแถวพระบรมมหาราชวังและตำรวจเริ่มต้นปราบปรามนักศึกษาอย่างรุนแรง ต่อมาในช่วงสาย เกิดเหตุทำลายทรัพย์สินและความรุนแรงเมื่อสถานการณ์บานปลาย รัฐบาลระดมรถถัง เฮลิคอปเตอร์และทหารราบเพื่อช่วยตำรวจ[8][9] มีผู้เสียชีวิต 77 คน และได้รับบาดเจ็บ 857 คน อาทินาย พีระศักดิ์ จิตต์วิมลกุล ถูกยิงขาขาดหนึ่งข้าง และอาคารหลายหลังใกล้กับถนนราชดำเนินถูกวางเพลิง รวมทั้งกรมประชาสัมพันธ์ กรมสรรพากร โรงแรมรัตนโกสินทร์ กองสลากกินแบ่งรัฐบาล กองตำรวจนครบาลผ่านฟ้า[4]
จำนวนผู้ประท้วงเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 500,000 คนอย่างรวดเร็วเมื่อผู้เห็นใจฝ่ายนักศึกษาเข้ามาช่วย สุดท้ายทหารถอนกำลังออกในเวลาเย็น ต่อมาเวลา 19.15 น. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยประกาศว่า จอมพล ถนอม กิตติขจร ขอลาออกจากตำแหน่งแล้ว และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[8][9] แต่เหตุการณ์ยังไม่สงบ กลุ่มทหารเปิดฉากยิงปืนเข้าใส่นักศึกษาและประชาชนอีกครั้ง หลังจากพระราชดำรัสทางโทรทัศน์เพียงหนึ่งชั่วโมง นักศึกษาพยายามพุ่งรถบัสที่ไม่มีคนขับ เข้าใส่กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยผู้ชุมนุมนับพันยังไม่วางใจในสถานการณ์ จึงประกาศท้าทายกฎอัยการศึก ในเวลา 22:00 นาฬิกา และประกาศว่าจะปักหลักชุมนุม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตลอดทั้งคืน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้ถูกหลอกอีกครั้ง[10]
ทั้งนี้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้เขียนบันทึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าอ่านบันทึกจบลง ต้องวางมือจากการเขียนและจมนิ่งอยู่ในสภาพที่สงบอย่างช่วยไม่ได้เพราะเหตุการณ์ต่าง ๆ ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ได้ฉายเข้ามาในความทรงจำเป็นตอน ๆ ภายในสวนจิตรลดาเท่าที่จะกล่าวถึงได้ ได้เห็นถึงความเศร้าสลดพระราชหฤทัยของทั้งสองพระองค์ได้เห็นถึงการตัดสินพระทัยให้ทหารรักษาการณ์ประตูสวนจิตรลดาปลดแมกกาซีนออกจากปืนทั้งหมด ปืนทุกกระบอกจึงวางพาดอยู่ที่ราวปืนโดยปราศจากกระสุนเปิดประตูรับผู้ที่ถูกแก๊สน้าตาเข้ามาหลบภัยในสวนจิตรลดา ตลอดจนนักศึกษาทั้งหลายที่ยืนประกาศ พร้อมทั้งเครื่องกระจายเสียงอยู่รอบสวนจิตรลดา ถ้าผู้ใดหิวกระหาย ไม่สบาย เข้ามารับอาหารและเยียวยาได้ ในที่สุดสวนจิตรลดาได้เปิดรับทั้งหมด ตลอดจนประชาชนเข้ามาพักผ่อนรับประทานอาหารใครบาดเจ็บฟกช้าดำเขียวก็มีแพทย์คอยให้ความช่วยเหลือจากข้าราชบริพารที่เข้ามาอยู่อย่างพร้อมเพรียงก็ได้ช่วยให้ความสะดวกทุกอย่าง มิได้ถือว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ ใครที่ได้รับความทุกข์ร้อน หน้าที่คือให้ความช่วยเหลือทันที ฉะนั้น สวนจิตรลดาจึงเป็นเขตปลอดภัยยามเมื่อผู้มีภัยหมดที่พึ่งแล้วและเข้ามายึดเขตพระราชฐานเป็นที่พึ่ง”[ต้องการอ้างอิง]
ในเวลาหัวค่ำของวันที่ 15 ตุลาคม ได้มีประกาศว่าจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร เดินทางออกนอกประเทศแล้ว เหตุการณ์จึงค่อยสงบลง และวันที่ 16 ตุลาคม 2516 ผู้ชุมนุมและประชาชน ต่างพากันช่วยทำความสะอาด พื้นถนนและสถานที่ต่างๆ ซึ่งได้รับความเสียหาย[11][4]
หลังเหตุการณ์
[แก้]ภายหลังเหตุการณ์นี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บตามโรงพยาบาลต่าง ๆ และสำหรับผู้เสียชีวิต ได้พระราชทานเพลิงศพที่ทิศเหนือท้องสนามหลวง และอัฐินำไปลอยอังคารด้วยเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพอากาศและกรมตำรวจที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา อ่าวไทย[12][4]
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประชาชนต่าง ๆ จากหลายภาคส่วน โดยไม่มีนักการเมืองร่วมอยู่ด้วยเลย และใช้สนามม้านางเลิ้งเป็นที่ยกร่าง เรียกกันว่า "สภาสนามม้า" นำไปสู่การเลือกตั้งในต้นปี พ.ศ. 2518 ช่วงนั้นเรียกกันว่าเป็นยุค "ฟ้าสีทองผ่องอำไพ" แต่เหตุการณ์ต่าง ๆ ในประเทศยังไม่สงบ มีการเรียกร้องและเดินขบวนของกลุ่มชนชั้นต่าง ๆ ในสังคม ประกอบกับสถานการณ์ความมั่นคงในประเทศรอบด้านจากการรุกคืบของลัทธิคอมมิวนิสต์และผลกระทบจากสงครามเวียดนาม แม้รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่มีเสถียรภาพเพียงพอที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้ นำไปสู่เหตุนองเลือดอีกครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือ เหตุการณ์ 6 ตุลา ปี 2519
ชะตาของสามทรราช
[แก้]ประมาณเดือนสิงหาคม 2519 จอมพลประภาสเดินทางกลับประเทศได้โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารไปต้อนรับ แต่สาธารณชนคัดค้านจนต้องเดินทางกลับนอกประเทศ โดยก่อนกลับได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เดือนกันยายน 2519 จอมพลถนอมเดินทางกลับประเทศในฐานะสามเณร เนื่องจากสมัคร สุนทรเวชแจ้งว่าราชสำนักอนุญาต[13]: 234 และได้บวชเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหารโดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดซึ่งเป็นพระพี่เลี้ยงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเป็นผู้อุปสมบทให้[3]: 248 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จฯ เยี่ยมพระถนอมที่วัดด้วย[14]: 151
เดือนธันวาคม 2539 มีคำสั่งกระทรวงกลาโหมคืนเบี้ยหวัดแก่พันเอกณรงค์ กิตติขจร และในเดือนกุมภาพันธ์ 2542 มีประกาศแต่งตั้งจอมพลถนอมเป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์[15]: 5
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ ได้เปิดตัวหนังสือมา 2 เล่ม ชื่อ "ลอกคราบ 14 ตุลา ดักแด้ประวัติศาสตร์การเมืองไทย" และ "พันเอกณรงค์ กิตติขจร 30 ปี 14 ตุลา ข้อกล่าวหาที่ไม่สิ้นสุด" โดยมีเนื้อหาอ้างอิงจากเอกสารราชการลับในเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งมีเนื้อหาว่าทั้งพันเอกณรงค์ และจอมพลถนอม มิได้เป็นผู้สั่งการในเหตุการณ์ 14 ตุลา[16] ณรงค์ยังกล่าวหาพลเอกกฤษณ์ สีวะรา ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่ ทั้งนี้ ขัดแย้งกับคำอ้างของโอสถ โกศิน อดีตรัฐมนตรี ซึ่งระบุว่า เขาเป็นบุคคลสำคัญที่ไม่ยอมให้มีการปฏิบัติการขั้นรุนแรงแก่นักศึกษา[4]
อนุสรณ์
[แก้]คณะรัฐมนตรีมีมติให้ก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ขึ้นที่ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง มีการวางศิลาฤกษ์ในปี 2518 แต่กว่าจะแล้วเสร็จก็ล่วงมาถึงปี 2541 ธงชัย วินิจจะกูลเขียนว่า เป็นเพราะเหตุการณ์ 6 ตุลาทำให้เกิดการตีความการเคลื่อนไหวของนักศึกษาใหม่ว่าเป็นความวุ่นวาย และที่จริงในตอนแรกอนุสรณ์สถานดังกล่าวตั้งใจจะให้รวมผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลาและพฤษภาทมิฬด้วย แต่ถูกขัดขวาง[3]: 268–9
พ.ศ. 2546 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์กำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันประชาธิปไตย" เป็นวันสำคัญของชาติ ในโอกาสครบรอบเหตุการณ์ 30 ปี[17]
รายชื่อ 13 ขบถรัฐธรรมนูญ
[แก้]- ก้องเกียรติ คงคา นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ไขแสง สุกใส อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม
- ชัยวัฒน์ สุรวิชัย อดีตอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตกรรมการบริหารศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทวี หมื่นนิกร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ธัญญา ชุนชฎาธาร นักศึกษา ปี 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ธีรยุทธ บุญมี อดีตเลขานุการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
- นพพร สุวรรณพานิช นักหนังสือพิมพ์มหาราษฎร์
- บัณฑิต เอ็งนิลรัตน์[18] นักศึกษาปี 4 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- บุญส่ง ชเลธร นักศึกษาปี 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ประพันธ์ศักดิ์ กมลเพ็ชร อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตนักการเมืองแห่งขบวนการรัฐบุรุษ
- ปรีดี บุญซื่อ นักศึกษาปี 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- มนตรี จึงศิริอารักษ์ นักศึกษาปี 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นักหนังสือพิมพ์สังคมศาสตร์ปริทัศน์
- วิสา คัญทัพ นักศึกษาปี 3 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ดูเพิ่ม
[แก้]เชิงอรรถ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Ashayagachat, Achara (3 October 2016). "Few crisis lessons learned". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 3 October 2016.
- ↑ 14 ต.ค. ครบรอบ 41 ปี 'วันมหาวิปโยค' เรียกร้องประชาธิปไตยไทย, ไทยรัฐ .วันที่ 14 ต.ค. 2557
- ↑ 3.0 3.1 3.2 Thongchai Winichakul (2002). "Remembering/ Silencing the Traumatic Past". In Shigeharu Tanabe and Charles F. Keyes eds., Cultural Crisis and Social Memory: Modernity and Identity in Thailand and Laos. Honolulu: University of Hawaii Press.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 วีรชน 14ตุลา, ประชาธิปไตย. "14 ตุลาคม"วันประชาธิปไตย"เรียกร้องรัฐธรรมนูญจากเผด็จการ". สำนักข่าวหนังสือพิมพ์. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2564..
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "e-book บันทึกลับจากทุ่งใหญ่, 2516". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-21. สืบค้นเมื่อ 2012-10-12.
- ↑ การเริ่มต้นการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ
- ↑ ชีวลิขิต โดย หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช : กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2548 ISBN 9789749353509
- ↑ 8.0 8.1 8.2 Ross Prizzia and Narong Sinsawasdi, "Evolution of the Thai student Movement (1940–1974)", Asia Quarterly, vol 1, 1975.
- ↑ 9.0 9.1 Kraiyudht Dhiratayakinant, ed., Thailand—Profile 1975, Bangkok: Voice of the Nation, 1975
- ↑ อึ้ง!'เสก'โพสต์รำลึก'14ตุลา'-โจ๋ดันอวยพรวันเกิด
- ↑ ประวัติศาสตร์การศึกษา วันมหาวิปโยค 14 ตุลา 16 - 6 ตุลา 19 โดย แปลก เข็มพิลา ISBN 974-7753-87-1
- ↑ รัชกาลที่ 9 กับ 14 ตุลาคม 2516 บันทึกความทรงจำของ พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร
- ↑ Handley, Paul M. The King Never Smiles: A Biography of Thailand's Bhumibol Adulyadej. Yale University Press. ISBN 0-300-10682-3.
- ↑ อึ๊งภากรณ์, ใจ; ยิ้มประเสริฐ, สุธาชัย; และคณะ (2544). อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง (PDF). คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519. ISBN 9748858626. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-07-19. สืบค้นเมื่อ 2020-10-14.
- ↑ ก้องกีรติ, ประจักษ์ (2548). และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ... การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา (PDF) (1 ed.). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ISBN 9745719366. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-10-19. สืบค้นเมื่อ 2020-10-14.
- ↑ "ณรงค์โยนพล.อ.กฤษณ์ ต้นเหตุความรุนแรง14ต.ค." คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-24. สืบค้นเมื่อ 2016-08-11.
- ↑ สภาฯกำหนด 14 ตุลาคม เป็น "วันประชาธิปไตย" ผู้จัดการรายวัน 22 พ.ค. 2546
- ↑ วีรชน 14 ตุลา
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
- บันทึกความทรงจำ
- สรุปเหตุการณ์ 14 ตุลา ให้เข้าใจง่าย, คลิปของเวิร์กพอยต์ทูเดย์