เกรียงไกร ศรีรักษ์
เกรียงไกร ศรีรักษ์ | |
---|---|
รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง | |
เริ่มดำรงตำแหน่ง 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 (0 ปี 140 วัน) ดำรงตำแหน่งร่วมกับ บุญส่ง น้อยโสภณ | |
ก่อนหน้า | พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร |
สมาชิกวุฒิสภา กลุ่มบริหารรัฐกิจ | |
เริ่มดำรงตำแหน่ง 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 | |
ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก | |
ดำรงตำแหน่ง 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 – 30 กันยายน พ.ศ. 2566 | |
แม่ทัพภาคที่ 4 | |
ดำรงตำแหน่ง 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 – 30 กันยายน พ.ศ. 2565 | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 25 มีนาคม พ.ศ. 2506 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเทศไทย |
พรรคการเมือง | อิสระ |
คู่สมรส | คนึงนิตย์ ศรีรักษ์ |
ทรัพย์สินสุทธิ | 17,947,683.98 บาท (พ.ศ. 2567) |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
สังกัด | กองทัพบก |
ยศ | พลเอก |
บังคับบัญชา | กองพลทหารราบที่ 5 กองทัพภาคที่ 4 |
ผ่านศึก | ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย |
พลเอก เกรียงไกร ศรีรักษ์ (25 มีนาคม พ.ศ. 2506) เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง เป็นสมาชิกวุฒิสภา[1] อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และอดีตประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย[2]
ประวัติ
[แก้]เกรียงไกร[3] เกิดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2506 ที่ตำบลบางใบไม้ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นบุตรดาบตำรวจสมาน นางเจตนา ศรีรักษ์ ด้านครอบครัวสมรสกับ คนึงนิตย์ ศรีรักษ์ (สกุลเดิม: วิตะเสวีระ) อดีตอุปนายกสมาคมแม่บ้านทหารบก เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2536 มีบุตร 3 คน คือ นางสาวอรพรรณ ศรีรักษ์, นายเก่งกาจ ศรีรักษ์ และเด็กหญิงญาดา ศรีรักษ์
สำเร็จโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 22 และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 33 รุ่นเดียวกับพลเอก พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ อดีตผู้บัญชาการทหารบก และสําเร็จการศึกษาหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 61 ร่วมรุ่นกับอนุทิน ชาญวีรกูล[4]
การทำงาน
[แก้]ราชการทหาร
[แก้]พลเอก เกรียงไกร เริ่มรับราชการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2529 ที่กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 25 จังหวัดสุราษฎร์ธานี[3]
เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531[4] กรมทหารพรานที่ 42 (จู่โจม) ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจกวาดล้างทำลายที่มั่นของโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา ตามแผนยุทธการทักษิณของกองกำลังผสมเฉพาะกิจไทย ซึ่งกรมทหารพรานที่ 42 (จู่โจม) ได้มอบหมายภารกิจดังกล่าวให้กองร้อยทหารพรานที่ 4203 มีร้อยโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ เป็นผู้บังคับกองร้อย
เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531[4] กองร้อยทหารพรานที่ 4203 สมทบด้วยชุดตรวจค้น เข้าทำการลาดตระเวนพิสูจน์ทราบตรวจค้น ค้นหา กวาดล้าง ทำลาย ที่ตั้งและแหล่งกำลังของโจรจีนคอมมิวนิสต์ ในพื้นที่ ตําบลธารน้ำทิพย์ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จนกระทั่งเมื่อเวลา 13.20 นาฬิกา ขณะทำการลาดตระเวนเข้าใกล้ที่หมายได้ถูกกองกำลังโจรจีนคอมมิวนิสต์ซุ่มยิง ร้อยโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ ผู้บังคับกองร้อย จึงได้สั่งการให้หน่วยดำเนินกลยุทธ์ยิงโต้ตอบ จนกระทั่งโจรจีนคอมมิวนิสต์ได้ล่าถอย ร้อยโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ จึงได้นำกำลังไล่ติดตามโจรจีนคอมมิวนิสต์กลุ่มดังกล่าวไป จนเกิดการปะทะกันอีกหลายครั้ง และสามารถยึดทำลายค่ายพักโจรจีนคอมมิวนิสต์ได้ จากนั้นชีวิตราชการเติบโตอยู่ในกองทัพภาคที่ 4 มาโดยตลอด เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ได้แก่[3]ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 42 เสนาธิการจังหวัดทหารบกปัตตานี ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 แม่ทัพภาคที่ 4
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เกิดอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ยูเอช-60 แบล็กฮอว์ก หรือ ฮ.ท.60 หมายเลข 0003 ตกที่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีผู้บาดเจ็บ 7 คนซึ่งมีพลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาค 4 ในขณะนั้น ได้รับบาดเจ็บกระดูกสะโพกขวาหัก มีเลือดออกภายใน[5]
ด้านการเมือง
[แก้]ภายหลังเกษียณอายุราชการในปลายปี 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นมีคำสั่งแต่งตั้ง พลเอก เกรียงไกร ศรีรักษ์ เป็นประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย[2]
ในปี พ.ศ. 2567 พลเอก เกรียงไกร ศรีรักษ์ ได้ลงสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภาไทย พ.ศ. 2567 ในกลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง โดยได้รับเลือกมาเป็นลำดับที่ 1[6] ต่อมาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง[7][8]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2566 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[9]
- พ.ศ. 2563 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[10]
- พ.ศ. 2532 – เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 2 ประเภทที่ 2 (ส.ช.)[11]
- พ.ศ. 2553 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)[12]
- พ.ศ. 2551 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "พล.อ.เกรียงไกร" รับเป็น สว.ทหาร ถนัดงานความมั่นคง
- ↑ 2.0 2.1 ‘อนุทิน’ เซ็นตั้ง ‘บิ๊กเกรียง’ อดีตแม่ทัพกระดูกเหล็ก เป็น ปธ.ที่ปรึกษามท. 1
- ↑ 3.0 3.1 3.2 เปิดประวัติ “แม่ทัพเกรียง” นายพลสายบู๊
- ↑ 4.0 4.1 4.2 เปิดประวัติ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เจ้าของฉายา ‘นักรบกล้าใต้สุดสยาม’
- ↑ ด่วน! เฮลิคอปเตอร์ตก "แม่ทัพภาค 4" บาดเจ็บ
- ↑ ราชกิจจาฯ ประกาศผลเลือก สว. 200 คน บัญชีสำรอง 99 คน
- ↑ เกรียงไกร นั่งรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ตามโผ ส.ว.สีน้ำเงินโหวตเป๊ะ 150 เสียง รวดเดียวจบ
- ↑ สว.น้ำเงินยึดสภาสูง เคาะ“มงคล”นั่งประธานวุฒิสภา “เกรียงไกร-บุญส่ง”รอง
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๖, เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๔ ข หน้า ๓๐, ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๓, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑ ข หน้า ๘๖, ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน, เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๑๐๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕๓, ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน, เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๐ ข หน้า ๑๙๗, ๘ กันยายน ๒๕๕๓