ข้ามไปเนื้อหา

การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475
ส่วนหนึ่งของ สมัยระหว่างสงคราม
People gathering around a man standing on what is possibly a podium, reading a declaration, all of them wearing army- or related uniforms
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ปราศรัยต่อฝูงชนอาณาประชาราษฎร์ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
วันที่24 มิถุนายน พ.ศ. 2475; 92 ปีก่อน (2475-06-24)
สถานที่
ผล

การปฏิวัติสำเร็จ

คู่สงคราม
คณะราษฎร ราชวงศ์จักรี
อภิรัฐมนตรีสภา
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ

การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475[1] หรือบ้างก็เรียก การอภิวัฒน์สยาม[2] เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งมีผลทำให้ราชอาณาจักรสยามเปลี่ยนรูปแบบประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เกิดขึ้นจากคณะนายทหารและพลเรือนที่ประกอบกัน เรียกตนเองว่า "คณะราษฎร" โดยเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์โลก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองภายในประเทศ การปฏิวัติดังกล่าวทำให้ประเทศสยามมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก

เบื้องหลัง

[แก้]
ถนนซอเมอราร์ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่ประชุมครั้งแรกของผู้ก่อตั้งคณะราษฎร โดยได้รับอิทธิพลมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศส

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในหลายด้าน แต่การปฏิรูปรัฐธรรมนูญกลับเป็นไปอย่างเชื่องช้าซึ่งสร้างความไม่พอใจในหมู่พวกหัวก้าวหน้าและเสรีนิยม[3] ในปี พ.ศ. 2455 ได้เกิดกบฏ ร.ศ. 130 ซึ่งดำเนินการโดยคณะนายทหารหนุ่ม เป้าหมายของคณะคือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองและล้มล้างระบอบเก่าและแทนที่ด้วยระบบรัฐธรรมนูญตะวันตกที่ทันสมัย และอาจต้องการยกพระบรมวงศานุวงศ์​พระองค์อื่นเป็นพระมหากษัตริย์ แทนด้วย[4] อาจกล่าวได้ว่ากบฏ ร.ศ. 130 เป็นแรงขับดันให้คณะราษฎรปฏิวัติ โดยภายหลังยึดอำนาจแล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน) ได้เชิญผู้นำการกบฏ ร.ศ. 130 ไปพบและกล่าวกับขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ว่า "ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม" และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(ปรีดี พนมยงค์)ก็ได้กล่าวในโอกาสเดียวกันว่า "พวกผมถือว่าการปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องจากการกระทำเมื่อ ร.ศ. 130"[5] การปฏิวัติดังกล่าวล้มเหลวและผู้ก่อการถูกจำคุก นับแต่นั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว​ทรงเลิกความพยายามส่วนใหญ่ในการปฏิรูปรัฐธรรมนูญและทรงปกครองประเทศต่อไปภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช​ โดยมีข้อยกเว้นบ้างที่โปรดฯ แต่งตั้งสามัญชนบางคนสู่สภาองคมนตรีและรัฐบาล[6]

ต่อมาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา​ ทรงสืบราชสมบัติสืบต่อจากพระเชษฐาเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว​เสด็จสวรรคต พระองค์ทรงรีบจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นเป็นองค์กรหลักในการปกครองรัฐ เพื่อพยายามแก้ไขปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ สภานั้นประกอบด้วยเจ้านายอาวุโสมีประสบการณ์ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลก่อนมาแล้ว เจ้านายเหล่านั้นเร่งเปลี่ยนตัวสามัญชนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว​ในข้าราชการพลเรือนและทหารแล้วแทนที่ด้วยคนของพวกตน สภาถูกครอบงำโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ผู้ทรงได้รับการศึกษาจากเยอรมนี และเป็นพระเชษฐาร่วมสมเด็จพระบรมชนกนาถของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว​ พระองค์ยังเป็นรัชทายาทด้วย ตามกฎหมายการสืบราชสันตติวงศ์อันซับซ้อนของราชวงศ์จักรี​ กลายเป็นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว​เป็นพระมหากษัตริย์ผู้เห็นอกเห็นใจ ทรงตัดรายจ่ายในพระราชวังและเสด็จพระราชดำเนินทั่วประเทศอย่างกว้างขวาง และเมื่อเสด็จกลับมายังพระนคร พระองค์ทรงทำให้เป็นที่ยอมรับและโดดเด่นแก่หมู่ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานครซึ่งเติบโตขึ้นกว่าแต่ก่อนโดยทรงประกอบพระราชกรณียกิจสาธารณะหลายอย่าง จนถึงเวลานี้ นักเรียนหลายคนที่ถูกส่งไปศึกษาต่างประเทศเมื่อหลายทศวรรษก่อนเริ่มเดินทางกลับประเทศแล้ว แต่นักเรียนเหล่านี้กลับขาดโอกาส การยึดมั่นของเจ้านายและความล้าหลังเปรียบเทียบของประเทศ ส่วนมากจึงหูตาสว่างกับสถานะเดิม[7]

เมื่อถึง พ.ศ. 2473 สถานการณ์โลกหนักหนาเกินกว่าประเทศจะรับได้เมื่อตลาดหุ้นวอลล์สตรีทล่มและความล่มสลายทางเศรษฐกิจมาถึงสยามในที่สุด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว​ทรงเสนอให้จัดเก็บภาษีรายได้ทั่วไปและภาษีอสังหาริมทรัพย์เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนยากจน แต่นโยบายดังกล่าวถูกสภาปฏิเสธอย่างรุนแรง ซึ่งสภาเกรงว่าทรัพย์สินของพวกตนจะลดลง สภาหันไปลดค่าตอบแทนของข้าราชการพลเรือนและลดงบประมาณทางทหารแทน ทำให้อภิชนผู้ได้รับการศึกษาในประเทศส่วนใหญ่โกรธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่านายทหาร[8] และในปี 2474 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ลาออก พระองค์เจ้าบวรเดช​มิใช่สมาชิกอภิรัฐมนตรีสภา และสงสัยว่าความไม่ลงรอยกับสภาเรื่องการตัดงบประมาณนำไปสู่การลาออกนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว​ ผู้ทรงยอมรับว่าพระองค์ทรงขาดความรู้การคลังอย่างเปิดเผย พยายามต่อสู้กับเจ้านายที่อาวุโสกว่าในเรื่องนี้ แต่ก็สำเร็จเพียงเล็กน้อย[8]

(จากซ้ายไปขวา) พระยาทรงสุรเดช พระประศาสน์พิทยายุทธ พระยาพหลพลพยุหเสนา และ พระยาฤทธิอัคเนย์ 4 หัวหน้านักปฏิวัติ

ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงทุ่มความพยายามร่างรัฐธรรมนูญ อันจะนำประชาธิปไตยสู่สยามเป็นครั้งแรก ด้วยความช่วยเหลือจากเจ้านายอีกสองพระองค์และที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศชาวอเมริกัน เรย์มอนด์ บาร์ทเล็ตต์ สตีเฟนส์[9] แม้จะได้รับการกราบทูลทัดทานว่าประชาชนสยามยังไม่พร้อม แต่พระองค์ยังทรงมุ่งมั่นที่จะมอบรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนก่อนงานเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปีราชวงศ์จักรีในปี 2475[10] ทว่า เอกสารดังกล่าวได้ถูกเจ้านายในอภิรัฐมนตรีสภาปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง[10]

เมื่อสิ้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว​เสด็จออกจากกรุงเทพมหานครในช่วงเสด็จแปรพระราชฐานฤดูร้อน โดยทรงมอบหมายให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยพระองค์เสด็จไปประทับยังวังไกลกังวล ที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์[11]

เหตุการณ์วันที่ 23–24 มิถุนายน

[แก้]
ขบวนยานยนต์หุ้มเกราะที่พระลานพระราชวังดุสิต
กองกำลังทหารบนถนนระหว่างการปฏิวัติ

ถึงแม้ว่าจะมีการระมัดระวังล่วงหน้าและการเตรียมการไว้ทั้งหมดแล้วก็ตาม ข่าวของแผนการดังกล่าวก็ยังได้รั่วไหลไปถึงตำรวจ ในช่วงเย็นของวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อธิบดีตำรวจได้โทรศัพท์ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตโดยกราบทูลขออำนาจในการจับกุมและจำคุกทุกคนที่เกี่ยวข้องกับแผนการดังกล่าว[11] พระองค์ดำริว่าผู้ก่อการหลายคนเป็นผู้มีอิทธิพลและมีอำนาจมาก จึงทรงตัดสินพระทัยเลื่อนพระบรมราชโองการออกไปเป็นวันรุ่งขึ้น การเลื่อนคำสั่งนี้จะมีความสำคัญอย่างมากต่อผู้ก่อการทั้งหลาย[12]

ในช่วงเย็นวันเดียวกัน หนึ่งในกลุ่มผู้สนับสนุนของหลวงสินธุสงครามชัย ในกองทัพเรือได้เกณฑ์เรือปืนจากอู่เรือขึ้นมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาและเมื่อถึงตอนเช้าก็ได้เล็งปืนเรือตรงเข้าใส่พระราชวังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตในกรุงเทพมหานคร[12] ตัวหลวงสินธุฯ เองนั้นได้เกณฑ์กะลาสีเรือติดอาวุธ 500 นายพร้อมที่จะยึดพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งตั้งอยู่ ณ ใจกลางพระนครและเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต หลังจากนั้น ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี เป็นผู้มีอำนาจสั่งการนายทหารเสนาธิการหนุ่มและได้สั่งยึดที่ทำการไปรษณีย์และโทรเลขรอบจังหวัดพระนครซึ่งมีหลวงโกวิทอภัยวงศ์รวมอยู่ด้วย การสื่อสารทั้งหมดระหว่างพระบรมวงศานุวงศ์และสมาชิกฝ่ายบริหารอาวุโสจึงถูกตัดขาด[12] บ้านพักทั้งหมดยังได้อยู่ภายใต้การตรวจตราและเฝ้าระวังโดยสมาชิกคณะราษฎรทั้งพลเรือนและทหาร[12]

เมื่อถึงเวลาประมาณ 04.00 น. ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 24 มิถุนายน พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาพร้อมด้วยพันเอกพระยาทรงสุรเดชได้ดำเนินการตามแผนการในส่วนของตนเรียบร้อยแล้วพระยาพหลพลพยุหเสนาและผู้สนับสนุนบางส่วนได้รวมตัวกันใกล้กับพระที่นั่งและรอคอยสัญญาณขั้นต่อไป[13] ขณะที่พระยาทรงสุรเดชเดินทางไปกับผู้สมคบคิดจำนวนหนึ่งไปยังค่ายทหารของกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นที่เก็บยานยนต์หุ้มเกราะส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครเมื่อมาถึงพระยาทรงสุรเดชได้กล่าวตำหนินายทหารผู้รับผิดชอบค่ายที่กำลังหลับอยู่ขณะที่มีการลุกฮือของชาวจีนเกิดขึ้นในจังหวัดพระนครทั้งหมดเกิดขึ้นขณะกำลังเปิดประตูค่ายทหารและมีการระดมทหารทั้งหมด อุบายดังกล่าวเป็นผล และแม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางความสับสนและความโกลาหล พระประศาสน์พิทยายุทธสามารถจับกุมผู้บัญชาการกรมทหารได้และนำตัวไปคุมขัง หลวงพิบูลสงครามได้รับคำสั่งให้เฝ้านักโทษ[13] ยานยนต์หุ้มเกราะ รวมไปถึงรถถังจำนวนหนึ่ง ถูกเกณฑ์และทั้งหมดได้รับคำสั่งให้มุ่งหน้าไปยังพระที่นั่ง พระยาฤทธิ์อัคเนย์ หลังจากทราบข่าวความสำเร็จของพระยาทรงสุรเดชได้เดินทางไปยังค่ายทหารของกรมทหารราบที่ 1 และหลังจากเรียกระดมเหล่าทหารราบได้สำเร็จแล้ว ก็ได้มุ่งหน้าไปยังพระที่นั่งด้วยเช่นกัน[13] ทหารในพื้นที่ใกล้เคียงกรุงเทพมหานครได้เข้าร่วมกับผู้ก่อการด้วยเช่นกัน เนื่องจากได้รับคำสั่งหลายสัปดาห์ก่อนหน้านั้นแล้วว่ากำลังจะมีการฝึกซ้อมทางทหารเกิดขึ้น และไม่ทราบเลยว่าพวกตนจะเข้าไปมีส่วนในการปฏิวัติ[13] ทหารหน่วยอื่นที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ตัดสินใจที่จะไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ใด ๆ โดยการเก็บตัวอยู่ในกรมกอง[14]

ภาพเหตุการณ์พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า

เมื่อทหารราบและทหารม้ามาถึงลานพระราชวังดุสิตหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อเวลาราว 6.00 น. ก็ได้มีกลุ่มประชาชนเนืองแน่นเฝ้าดูทหารที่มาชุมนุมนั้น[13] ความสับสนเกิดขึ้นท่ามกลางผู้ที่มาชุมนุมนั้น หลายคนไม่เชื่อทั้งหมดว่ามีการลุกฮือของชาวจีนเกิดขึ้นจริง หรือว่าทหารมาชุมนุมที่จัตุรัสนี้เพื่อการฝึกซ้อมเท่านั้น พระยาพหลพลพยุหเสนาปีนขึ้นไปบนยอดรถหุ้มเกราะคันหนึ่งและอ่านประกาศคณะราษฎร ซึ่งเป็นแถลงการณ์ประกาศถึงจุดจบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และการสถาปนารัฐอันมีรัฐธรรมนูญขึ้นในสยาม ใจความบางตอนว่า:

ราษฎรทั้งหลาย เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อจากพระเชษฐานั้น ในขั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้คงจะปกครองให้ราษฎรได้ร่มเย็น แต่การก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจเหนือกฎหมายตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างและซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการแลกเปลี่ยนเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเข้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กฎขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะได้เห็นจากความตกต่ำในทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากิน [...]

[...] รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวง ไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าหลอกว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอย ๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกลับกล่าวคำหมิ่นประมาทราษฎร ผู้มีบุญคุณเสียภาษีให้เจ้ากิน ว่าราษฎรยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรยังโง่ คำพูดของรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่เจ้าก็โง่ เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังคน [...]

[...] ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่เป็นของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกล��ง บรรพบุรุษของเราเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศมีอิสรภาพพ้นจากมือข้าศึก พวกเจ้ามีแต่จะชุบมือเปิป...เงินเหลือเท่าใดก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย [...]

[...] คณะราษฎรเห็นว่า การที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลาย ๆ ความคิด ดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึ่งได้ขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงค์ตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน [...] ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธ หรือไม่ตอบภายในกำหนด โดยเห็นแก่ส่วนตนว่า จะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะชื่อว่า ทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปตัย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา [...]"

— พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา

เมื่อสิ้นเสียงประกาศ ผู้ก่อการเปล่งเสียงด้วยความยินดี ตามมาด้วยเหล่าทหาร นักวิชาการบางคนเชื่อว่าเป็นการคล้อยตามมากกว่าความเข้าใจในสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด[13]

แท้ที่จริงแล้วพระยาพหลพลพยุหเสนาเพียงแต่ขู่ขวัญเท่านั้น ความสำเร็จของการปฏิวัติยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่อื่นของกรุงเทพมหานคร พระประศาสน์พิทยายุทธถูกสั่งไปยังบ้านพักของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และสมาชิกระดับสูงคนอื่น ๆ ในรัฐบาลและพระบรมวงศานุวงศ์[15]สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตขณะกำลังทรงฉลองพระองค์บรรทมเมื่อพระองค์ทรงถูกจับกุม[16] ไม่มีผู้ใด ยกเว้นผู้บัญชาการเหล่าทหารบกที่หนึ่ง ต่อสู้ขัดขืนแม้เพียงเล็กน้อย มีการสู้กันเกิดขึ้นและนายทหารคนดังกล่าวได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย แต่สุดท้ายก็ถูกนำตัวไปคุมขัง และกลายมาเป็นบุคคลเพียงคนเดียวที่ได้รับบาดเจ็บอันเป็นผลมาจากการปฏิวัติ หากนับทั้งหมดแล้ว มีเจ้าหน้าที่ทางการเกือบ 40 คนถูกจับกุมและถูกกักขังไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคม เว้นเสนาบดีว่าการกระทรวงพาณิชย์และการสื่อสาร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้ซึ่งได้ทรงหลบหนีไปทางหัวรถจักรเพื่อไปกราบบังคมทูลเตือนพระมหากษัตริย์ที่หัวหิน[14] เมื่อถึงเวลา 8.00 น. ปฏิบัติการยึดอำนาจได้เสร็จสิ้นและผู้ก่อการประสบความสำเร็จ[15]

กองกำลังทหาร ในขณะรอรับคำสั่งการปฏิวัติ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

เจ้าหน้าที่รัฐทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนส่วนใหญ่ต่อสู้ขัดขืนเพียงเล็กน้อย เพราะพวกเขาคุ้นชินกับการรับคำสั่งและสายการสื่อสารถูกตัดขาด พวกเขาจึงไม่สามารถทำอะไรได้ ขั้นต่อไปของการปฏิวัติเหลือเพียงแต่สายพลเรือนของคณะราษฎร หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ด้วยความช่วยเหลือจากผู้สนับสนุน ได้แจกจ่ายใบปลิวและแผ่นพับโฆษณาชวนเชื่อ ตลอดจนการกระจายเสียงทางวิทยุซึ่งทั้งหมดสนับสนุนการปฏิวัติทั้งสิ้น[15] ข้อความในประกาศคณะราษฎรซึ่งเขียนขึ้นโดยหลวงประดิษฐมนูธรรมวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง

อารมณ์ของประกาศคณะราษฎรแตกต่างกันมากกับอารมณ์ของโทรเลขที่ถูกส่งไปให้แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งลงนามโดยพันเอกและทหารเสือทั้งสามนาย ได้แก่ พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช และพระยาฤทธิ์อัคเนย์ โทรเลขนี้ใช้ราชาศัพท์มีใจความว่าหากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้า��ยู่หัวไม่ทรงปรารถนาที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ คณะราษฎรจะเต็มใจถอดพระองค์ออกและแทนที่ด้วยพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น[17] แต่ถึงแม้ว่าจะใช้ราชาศัพท์ก็ตาม โทรเลขดังกล่าวย้ำพระองค์ด้วยถ้อยคำแข็งกร้าวว่าหากสมาชิกคณะราษฎรคนใดได้รับบาดเจ็บ พระบรมวงศานุวงศ์ที่ถูกคุมขังก็จะทรงทรมานไปด้วย[17]

ปฏิกิริยาในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

[แก้]
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้มอบอำนาจอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ

แม้ก่อนหน้าที่โทรเลขของเหล่าทหารเสือจะมาถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว​ พระองค์ก็ทรงทราบล่วงหน้าแล้วว่ามีเหตุการณ์บางอย่างกำลังเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร พระองค์กำลังทรงกีฬากอล์ฟอยู่ที่พระราชวังฤดูร้อนพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสนาบดีที่เป็นเจ้านายสองพระองค์ และข้าราชบริพารจำนวนหนึ่ง เมื่อข้อความด่วนมาถึง (ซึ่งพระองค์กำลังทรงเล่นอยู่ที่หลุมที่แปด) ภายหลัง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินทรงมาถึงเพื่อกราบรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพระนคร[17]

พระองค์กับเจ้านายอีกสองพระองค์ทรงปรึกษากันถึงทางเลือกหลายทาง ซึ่งรวมไปถึงการเสด็จลี้ภัยไปยังต่างประเทศ การจัดรัฐประหารซ้อนหรือการยอมจำนนเต็มตัว[17] อย่างไรก็ตาม เมื่อโทรเลขแท้จริงจากคณะราษฎรมาถึงแล้ว พระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัยแล้วเช่นกัน พระองค์ได้ทรงตอบอย่างรวดเร็วว่าพระองค์เต็มพระทัยที่จะอยู่ในราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญดังที่พระองค์ทรงสนับสนุนที่จะให้ประชาชนมีรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด[18] พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเขียนถึงการตัดสินพระทัยของพระองค์ที่ปฏิเสธจะต่อสู้ในภายหลังว่า "... ข้าพเจ้าไม่สามารถนั่งอยู่บนบัลลังก์ที่เปื้อนเลือดได้"[19] จุดหนึ่งที่พระองค์ทรงไม่ยอมรับคือเมื่อคณะราษฎรส่งเรือปืนมาเพื่อนำตัวพระองค์ไปยังกรุงเทพมหานคร พระองค์ทรงปฏิเสธและเสด็จกลับไปยังพระนครโดยรถไฟหลวง อันแสดงให้เห็นว่าพระองค์มิได้ตกเป็นเชลยของคณะราษฎร[18]

ขณะเดียวกัน ผู้ก่อการได้บีบบังคับให้เจ้านายลงพระนามในเอกสารประกาศพันธกรณีเพื่อให้เกิดสันติภาพและหลีกเลี่ยงการหลั่งเลือดใด ๆ[18] ในกรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกับรัฐประหารอีกหลายครั้งที่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา ที่ประชาชนแทบจะไม่มีท่าทีตอบสนองต่อรัฐประหารครั้งนี้เลย และชีวิตประจำวันของประชาชนได้กลับคืนสู่สภาพปกติก่อนที่จะจบวันที่ 24 มิถุนายนเสียอีก ส่วนที่เหลือของประเทศก็ไม่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน[18] ทำให้หนังสือพิมพ์เดอะไทมส์ในลอนดอนรายงานว่าการปฏิวัติดังกล่าวเป็นเพียง "การปรับปรุงใหม่เล็กน้อย" เท่านั้น[20]

การปกครองระบอบใหม่

[แก้]
ทหารและพลเรือนชุมนุมหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

เมื่อถึงช่วงเย็นของวันที่ 24 มิถุนายน ผู้ก่อการรู้สึกมั่นใจพอที่จะเรียกประชุมรัฐมนตรีอาวุโส ในการประชุมนั้น ปรีดีพยายามที่จะเกลี้ยกล่อมให้ข้าราชการพลเรือนอาวุโสสนับสนุนคณะราษฎร โดยขอการสนับสนุนคณะและบอกให้พวกเขายังคงสามัคคี มิฉะนั้นแล้วการแสดงออกซึ่งความสับสนอาจนำไปสู่การแทรกแซงจากต่างชาติได้[21] ปรีดีขอให้กระทรวงการต่างประเทศส่งข่าวไปยังคณะทูตต่างประเทศทั้งหมดโดยกล่าวว่าคณะราษฎรให้คำมั่นว่าจะคุ้มครองชีวิตและธุรกิจของชาวต่างชาติและบรรลุพันธกรณีตามสนธิสัญญาของสยาม[21]

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับถึงกรุงเทพมหานครในวันที่ 26 มิถุนายน สิ่งที่พระองค์ทรงทำในทันทีคือการเรียกผู้ก่อการเข้าพบ เมื่อสมาชิกเข้ามาถึงห้องแล้ว พระองค์ทรงลุกขึ้นประทับยืนและตรัสทักทายว่า "ข้าพเจ้ายืนขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่คณะราษฎร" นี่เป็นพระราชอิริยาบถที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากในวัฒนธรรมสยาม พระมหากษัตริย์จะทรงประทับนั่งเสมอและประชาชนจะถวายบังคม มิใช่กลับกัน[20] ปรีดีจึงได้กราบทูลพ��ะกรุณาจากพระองค์ที่ได้หมิ่นพระเกียรติในประกาศคณะราษฎร และหลังจากนั้น ประกาศคณะราษฎรทุกเล่มได้ถูกนำกลับ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตอบสนองพฤติการณ์ดังกล่าวโดยการประทับตราบนเอกสารพระราชทานอภัยโทษแก่สมาชิกคณะราษฎรทุกคนจากการปฏิวัติดังกล่าว[20]

จากนั้นคณะราษฎรได้ปล่อยตัวประกันทั้งหมดโดยยกเว้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้ซึ่งทางคณะพิจารณาว่ามีพระราชอำนาจมากเกินไปและกราบทูลขอให้พระองค์เสด็จออกนอกประเทศแทน พระองค์เสด็จไปยังเกาะชวาและไม่เคยเสด็จกลับมาประเทศเลย ส่วนเจ้านายพระองค์อื่นเสด็จออกนอกประเทศโดยสมัครใจไปยังประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ และบางพระองค์เสด็จไปยังทวีปยุโรป[20][./การปฏิวัติสยาม_พ.ศ._2475#cite_note-FOOTNOTEStowe199122-20 [20]][22]

พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก 'ถาวร' ของสยาม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

ผลที่ตามมาในทันทีหลังจากการปฏิวัติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและคณะราษฎรได้เริ่มจัดการเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับแรกแก่ประชาชนชาวสยาม พระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราวมีการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เมื่อเวลา 5.00 น. ซึ่งเป็นเอกสารร่างเขียนขึ้นล่วงหน้าไว้แล้วโดยปรีดี[23] ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม แม้ว่าจะยังเป็นเพียงฉบับชั่วคราวอยู่ก็ตาม ข้อความในรัฐธรรมนูญเริ่มต้นมาตรา 1 ความว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย" รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยยกเลิกพระราชอำนาจที่มีมาแต่โบราณ อาทิ พระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมาย การพระราชทานอภัยโทษ และพระราชสิทธิในการยืนยันผู้สืบราชสมบัติและรัชทายาท หรือจะกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวจำกัดอำนาจทั้งหมดของพระมหากษัตริย์ โดยยังมิได้ยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ไปเท่านั้น[24] รัฐธรรมนูญยังได้จัดตั้งคณะกรรมการราษฎรเป็นฝ่ายบริหาร และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาที่ได้มาจากการแต่งตั้ง 70 คน

อย่างไรก็ตาม "ประชาธิปไตย" สำหรับสยามนั้น ถูกมอบให้แก่ประชาชนในรูปของการผ่อน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นสามช่วง ช่วงแรก สมาชิกรัฐสภาทั้งหมดจะถูกแต่งตั้งโดยสี่ทหารเสือเท่านั้น (ซึ่งเป็นฝ่ายทหาร) สมาชิกรัฐสภาเหล่านี้จะใช้อำนาจแทนประชาชน และสมัยแรกมีกำหนดวาระหกเดือน[24] ช่วงที่สอง อันเป็นช่วงเวลาซึ่งประชากรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้จำต้องเรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง รัฐสภาจะถูกเปลี่ยนเป็นประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งอยู่กึ่งหนึ่ง และอีกกึ่งหนึ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาตามแบบประชาธิปไตยทางอ้อม แต่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจะต้องได้รับการตรวจสอบจากคณะราษฎรก่อนการเลือกตั้งทุกครั้ง ช่วงที่สามและช่วงสุดท้าย พระราชบัญญัติธรรมนูญบัญญัติว่าการเป็นตัวแทนประชาธิปไตยเต็มตัวในรัฐสภานั้นจะบรรลุได้เฉพาะเมื่อเวลาผ่านไปแล้วสิบปีหรือประชากรมากกว่ากึ่งหนึ่งสำเร็จการศึกษาเกินกว่าระดับประถมศึกษา แล้วแต่ว่าอย่างไหนจะเกิดก่อน[24]

สมัยประชุมแรกของรัฐสภาผู้แทนราษฎรประชุมกันในพระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475[25] อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติธรรมนูญดังกล่าวก็ไม่ได้มีอายุยาวนานอะไรนัก เมื่อถึงปลายปีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและมีความเป็นสายกลางมากขึ้น[26] ก็ได้มีผลใช้บังคับแทนเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้คืนพระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์หลายประการจากเดิมที่เคยถูกจำกัดภายใต้พระราชบัญญัติธรรมนูญฉบับก่อน เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระมหากษัตริย์นั้น "ศักดิ์สิทธิ์และจะล่วงละเมิดมิได้" สภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 156 คน เลือกตั้ง 76 คน และอีก 76 คนได้รับการแต่งตั้ง การจำกัดประชาธิปไตยถูกยกเลิกและรัฐบาลมีกำหนดจะจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476[27]

มรดก

[แก้]
พลเรือนชูป้ายได้เสมอภาคเพราะรัฐธรรมนูญ

แม้ว่าปรีดีจะมีอุดมการณ์อันสูงส่งและได้รับการศึกษาแบบตะวันตกมา แต่รูปแบบประชาธิปไตยของเขาได้เผชิญกับสถานการณ์ลำบากแบบเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเผชิญ ซึ่งเป็นปัญหาที่อธิบายได้ง่าย ๆ ว่า สยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรในชนบท ยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย[24] ในไม่กี่วัน คณะราษฎรได้เปลี่ยนสยามไปเป็นรัฐพรรคการเมืองเดียว โดยมีสถาบันที่ชื่อฟังเหมือนคอมมิวนิสต์ อย่างเช่น "สภาประชาชน" และตำแหน่ง "ประธานคณะกรรมการราษฎร"[28] อย่างไรก็ตาม คณะราษฎรแสดงออกซึ่งความเป็นสองพรรคเมื่อพวกเขาเสนอให้แต่งตั้งทนายความและองคมนตรี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานคณะกรรมการราษฎรคนแรก หรือนายกรัฐมนตรีคนแรกของสยาม ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจะออกนอกปฏิบัตินิยมและความเฉลียวฉลาดมากกว่าเจตนาอันมีเกียรติที่แท้จริง[25] ทว่า ความขัดแย้งภายในระหว่างรัฐบาลกับการกระทำของนายกรัฐมนตรีอนุรักษนิยมได้นำไปสู่รัฐประหารอีกครั้งในอีกหนึ่งปีต่อมา คือ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 นำไปสู่การแต่งตั้งพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สองของสยาม

การปฏิวัติดังกล่าวมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถูกจำกัดพระราชอำนาจและเอกสิทธิ์ที่มีมาแต่โบราณ แม้จะทรงได้รับถ้อยคำที่อบอุ่นและเป็นมิตร แต่พระองค์ก็ยังทรงอยู่ในความหวาดกลัวและทรงวิตกว่าการเผชิญหน้าระหว่างพระองค์กับคณะราษฎรในภายภาคหน้าจะทำให้พระองค์และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีจะทรงได้รับอันตราย เมื่อปลายปี พ.ศ. 2475 พระองค์ทรงมีลายพระหัตถเลขาถึงพระนัดดา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เกี่ยวกับการตัดสินพระทัยเสด็จกลับกรุงเทพมหานครว่า "... เราทั้งหมดต่างก็ค่อนข้างรู้ดีว่าเราอาจกำลังจะตาย"[19] บทบาทที่ไม่มั่นคงของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและความไม่พอใจต่อการยึดอำนาจของพระยาพหลพลพยุหเสนาลงเอยด้วยรัฐประหารซ้อน ที่เรียกว่า กบฏบวรเดช ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มนิยมเจ้าในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 นำโดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และเจ้านายอีกหลายพระองค์ที่สูญเสียอิทธิพลและตำแหน่งไปยังถาวรเนื่องจากการปฏิวัติและคณะราษฎร กบฏดังกล่าวล้มเหลว และแม้จะไม่มีหลักฐานว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าแทรกแซง แต่การวางพระองค์เป็นกลางและการตัดสินพระทัยที่ไม่เด็ดขาดระหว่างความขัดแย้งช่วงสั้น ๆ นี้ทำให้พระองค์สูญเสียความเชื่อมั่นและบารมี ทำให้สามปีหลังการปฏิวัติ พระองค์ทรงสละราชสมบัติและเสด็จออกนอกประเทศโดยไม่เสด็จกลับมาอีกเลย[29]

หมุดคณะราษฎร

[แก้]
หมุดคณะราษฎร อันมีข้อความว่า "ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ"

เพื่อเป็นที่ระลึกถึงจุดที่นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ประกาศเปลี่ยนระบบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย และอ่าน "ประกาศคณะราษฎร" ฉบับแรก เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้มีการนำหมุดกลมสีทองเหลือง ฝังลงบนพื้น กลางถนน ระหว่างฐานของพระบรมรูปทรงม้าและประตูทางเข้า (อดีตเป็น) กองบัญชาการทหารสูงสุด หมุดทองเหลืองนี้จารึกว่า "24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ"

จนกระทั่งเมื่อช่วงวันที่ 1-8 เมษายน 2560 ได้หายสาบสูญไปอย่างลึกลับ จนถึงปัจจุบันยังไม่ทราบว่าหายไปอยู่ที่ใดหรือถูกทำลายไปแล้วหรือไม่ เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2560 มีรายงานว่าหมุดคณะราษฎรถูกรื้อถอนไปจากตำแหน่างที่ตั้ง และถูกแทนที่ด้วย "หมุดหน้าใส" ที่สลักข้อความว่า 'ขอให้ประเทศสยามจงเจริญ ยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ความนับถือรักใคร่ในพระรัตรตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดีในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องคำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง' ข้อความดังกล่าวตรงกับคาถาภาษิตในพระราชลัญจกรประจำเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ซึ่งรัชกาลที่ 5 ได้จัดทำเพื่อเฉลิมพระเกียรติยศในรัชกาลที่ 1

คลังภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สำหรับการปฏิวัติ ชาวไทยทั่วไปนิยมเรียกโดยง่ายว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หรือเรียกโดยผิดจากความหมายที่แท้จริงว่า รัฐประหาร
  2. ยสินทร กลิ่นจำปา; ณขวัญ ศรีอรุโณทัย (6 มกราคม 2023). "อำนาจนาม อำนาจนำ และการช่วงชิงความหมาย จากกรณีนามพระราชทาน 'กรุงเทพอภิวัฒน์'". WAY Magazine. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 มกราคม 2023. มากไปกว่านั้น ยังบ่งบอกถึงความพยายามช่วงชิงความหมายของคำว่า ‘อภิวัฒน์สยาม’ หรือเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไปจากคณะราษฎรอีกครั้ง [...]
    ปนัดดา ฤทธิมัต (24 มิถุนายน 2022). "90 ปี 2475 อภิวัฒน์สยาม ประวัติศาสตร์การเมืองไทย". ประชาชาติธุรกิจ. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 กันยายน 2022.
    "89 ปีอภิวัฒน์สยามกับการชุมนุมครั้งแรกหลังออกจากเรือนจำของแกนนำ "ราษฎร"". BBC News ไทย. 24 มิถุนายน 2021. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 กรกฎาคม 2021.
    ฐิตินันท์ เสมพิพัฒน์ (24 มิถุนายน 2020). "กลุ่มประชาธิปไตยจัดกิจกรรม 'ลบยังไงก็ไม่ลืม' รำลึกครบรอบ 88 ปีการอภิวัฒน์สยาม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย". The Momentum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 เมษายน 2021.
    Haberkorn, Tyrell (25 มิถุนายน 2015). "ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น: ผู้หญิงก่อน-หลัง การอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475". ประชาไท. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 สิงหาคม 2022.
    "อภิวัฒน์สยาม 2475: อดีต ปัจจุบัน อนาคต". The101.world. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 กรกฎาคม 2022.
    อนุชา อชิรเสนา (22 มิถุนายน 2022). "ปรีดีศัพท์ : "อภิวัฒน์" "กษัตริย์" และ "ราษฎร"". สถาบันปรีดี พนมยงค์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 มกราคม 2023. ‘ปรีดี พนมยงค์’ เป็นผู้เสนอให้เรียกการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่า “อภิวัฒน์” ซึ่งมาจากคำว่า “อภิ” หมายถึง ยิ่ง วิเศษ เหนือ กับคำว่า “วัฒน์” หมายถึง ความเจริญ ความงอกงาม [...]
    นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (2010) [1992]. "อุดมคติและอุดมการณ์ของกลุ่มผู้นำทางความคิดในสมัยการปฏิวัติ". ใน ธนาพล อิ๋วสกุล; ชัยธวัช ตุลาธน; พัชรี อังกูรทัศนียรัตน์ (บ.ก.). การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. สยามพากษ์. Vol. 1 (3rd ed.). กรุงเทพมหานคร: ฟ้าเดียวกัน. p. 223. ISBN 9786169023852. [...] ด้วยเหตุดังนั้น นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้คิดและอธิบายในภายหลังว่าเหตุการณ์คราวนั้นหากจะพึงเรียกเสียใหม่ ก็ต้องเรียกว่า การ "อภิวัฒน์" คือการเปลี่ยนแปลงชนิดที่ก้าวหน้า ไม่ใช่การ "ปฏิวัติ" ซึ่งแปลว่าการหมุนกลับ
  3. Stowe 1991, p. 4.
  4. Kesboonchoo-Mead 2004, p. 155.
  5. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย 2475-2500. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 4. พ.ศ. 2549
  6. Stowe 1991, p. 7.
  7. Stowe 1991, p. 3.
  8. 8.0 8.1 Stowe 1991, p. 2.
  9. Department of Government, Faculty of Political Science, Chulalongkorn University. The Last Chance for Political Reform. Retrieved on 2009-03-14
  10. 10.0 10.1 Stowe 1991, p. 5.
  11. 11.0 11.1 Stowe 1991, p. 15.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 Stowe 1991, p. 16.
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 13.5 Stowe 1991, p. 17.
  14. 14.0 14.1 Chakrabongse 1957, p. 160.
  15. 15.0 15.1 15.2 Stowe 1991, p. 18.
  16. Chakrabongse 1957, p. 159.
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 Stowe 1991, p. 19.
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 Stowe 1991, p. 20.
  19. 19.0 19.1 Chakrabongse 1957, p. 161.
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 Stowe 1991, p. 22.
  21. 21.0 21.1 Stowe 1991, p. 21.
  22. Baker & Phongpaichit 2005, p. 111.
  23. Stowe 1991, p. 25.
  24. 24.0 24.1 24.2 24.3 Stowe 1991, p. 26.
  25. 25.0 25.1 Stowe 1991, p. 27.
  26. Stowe 1991, p. 33.
  27. Stowe 1991, p. 34.
  28. Chakrabongse 1957, p. 162.
  29. Stowe 1991, p. 71.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. การเมืองการปกครองไทย: พ.ศ. 1762 - 2500. สำนักพิมพ์เสมาธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 4. พ.ศ. 2549.
  • Baker, Christopher; Phongpaichit, Pasuk (2005). A History of Thailand. United Kingdom: Cambridge University Press. ISBN 0521816157.
  • Banomyong, Pridi (2000). A History of Thailand. แปลโดย Baker, Christopher; Phongpaichit, Pasuk. Thailand: Silkworm books. ISBN 974-7551-35-7.
  • Chakrabongse, HRH Chula, Prince of Thailand (1957). Twain Have Met: An Eastern Prince Came West. United Kingdom: G.T. Foulis & Co. Ltd.
  • Kesboonchoo-Mead, Kullada (2004). The Rise and Decline of Thai Absolutism. United Kingdom: Routledge Curzon. ISBN 0-415-29725-7.
  • Stowe, Judith (1991). Siam Becomes Thailand: A Story of Intrigue. United Kingdom: C. Hurst & Co. Publishers. ISBN 0-8248-1394-4.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]