ข้ามไปเนื้อหา

สงครามพม่าตีเชียงใหม่ พ.ศ. 2340 และ 2345

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามพม่าตีเชียงใหม่ พ.ศ. 2340 และ 2345
ส่วนหนึ่งของ สงครามพม่า-สยาม

ยุทธศาสตร์ยกทัพบุกเชียงใหม่
วันที่พ.ศ. 2340–2345
สถานที่
ผล สยามได้ชัยชนะ
คู่สงคราม
ราชวงศ์โก้นบอง (พม่า) อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สยาม)
นครเชียงใหม่
นครลำปาง
อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระเจ้าปดุง
อินแซะหวุ่น เนเมียวจอดินสีหสุระ
ชิดชิงโป
ปไลโว
มะเดมะโยงโกงดอรัด
นามิแลง
ตองแพกะเมียวุ่น
มะยอแพกะเมียวุ่น
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์
พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา
พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์
กรมขุนสุนทรภูเบศร์
เจ้าอนุวงศ์
พระยากลาโหมราชเสนา
พระยายมราช (บุญมา)
พระยากาวิละ
กำลัง
55,000 คน 60,000 คน
ความสูญเสีย
ไม่ทราบ ไม่ทราบ

สงครามพม่าตีเชียงใหม่ พ.ศ. 2345 เป็นสงครามระหว่างสยามอาณาจักรรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และอาณาจักรพม่าในสมัยพระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์โก้นบอง เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเหนืออาณาจักรล้านนาระหว่างสยามและพม่า พระเจ้าปดุงแห่งพม่าส่งทัพเข้ารุกรานเมืองเชียงใหม่ พระบ��ทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีพระราชโองการให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทยกทัพจากกรุงเทพขึ้นไปช่วยเหลือพระยากาวิละแห่งเชียงใหม่ในการต่อสู้กับพม่า ผลของสงครามนี้สยามได้รับชัยชนะสามารถขับทัพพม่าออกไปได้ การรุกรานเชียงใหม่ของพม่าในปี พ.ศ. 2345 นี้ เป็นการรุกรานล้านนาของพม่าครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ไทย และนำไปสู่สงครามเชียงแสนใน พ.ศ. 2347

เหตุการณ์นำ

[แก้]

ล้านนาแยกตัวจากพม่ามาขึ้นกับสยาม

[แก้]

นับตั้งแต่การเสียเมืองเชียงใหม่ให้แก่พระเจ้าบุเรงนองในพ.ศ. 2101 อาณาจักรล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นเวลาประมาณสองร้อยปี ในพ.ศ. 2312 สะโตมังถาง (Thado Mindin သတိုးမင်းထင်)[1] หรือโป่มะยุง่วน (Po Myo Wun ဗိုလ်မြို့ဝန်) มาเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ สมัยการปกครองของโป่มะยุง่วนเป็นสมัยแห่งการกดขี่ พม่ามีคำสั่งให้ชายชาวล้านนาทั้งปวงสักขาดำตามแบบพม่า และหญิงล้านนาให้เจาะหูแบบพม่า เรียกว่า “สักขาถ่างหู”[2] พญาจ่าบ้าน (บุญมา) แห่งเชียงใหม่ และนายกาวิละ บุตรของเจ้าฟ้าชายแก้วเจ้าเมืองลำปาง เกิดความขัดแย้งกับโป่มะยุง่วน ในเรื่องที่โป่มะยุง่วนลิดรอนอำนาจของขุนนางล้านนาพื้นเมืองเดิม[3] พญาจ่าบ้านและนายกาวิละไปเข้าเฝ้าพระเจ้ามังระแห่งพม่าราชวงศ์โก้นบองที่กรุงอังวะ เพื่อร้องเรียนการใช้อำนาจบาตรใหญ่ของโป่มะยุง่วน พระเจ้ามังระพระราชทานท้องตราให้แก่พญาจ่าบ้านมายังเมืองเชียงใหม่ มีพระราชโองการให้โป่มะยุง่วนคืนอำนาจให้แก่ขุนนางล้านนา แต่โป่มะยุง่วนไม่รับท้องตรา ยกทัพมาจับกุมตัวพญาจ่าบ้าน (บุญมา) จึงเกิดการปะทะกันระหว่างพญาจ่าบ้านและโป่มะยุง่วนขึ้นที่เมืองเชียงใหม่ พญาจ่าบ้านสู้ไม่ได้จึงหลบหนีไปหาโปสุพลา (เนเมียวสีหบดี) ที่เมืองหลวงพระบาง โปสุพลาจึงนำพญาจ่าบ้านกลับคืนมาเมืองเชียงใหม่

ในพ.ศ. 2317 โปสุพลาเตรียมการยกทัพพม่าจากเชียงใหม่ลงมาโจมตีธนบุรี พญาจ่าบ้าน (บุญมา) และนายกาวิละแห่งลำปางมีความคิดที่จะเข้าสวามิภักดิ์ต่อสยาม พญาจ่าบ้านขออาสา[2]ต่อโปสุพลาไปขุดลอกเส้นทางแม่น้ำปิงเพื่อเตรียมการให้ทัพเรือพม่ายกลงไป เมื่อพญาจ่าบ้าน (บุญมา) เดินทางลงไปถึงเมืองฮอด ก็เข้าสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินที่เมืองตาก ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่สองในพ.ศ. 2317 เจ้าพระยาจักรียกทัพไปถึงเมืองลำปาง นายกาวิละจึงลุกฮือขึ้นสังหารขุนนางและทหารพม่าในลำปางไปจนเกือบหมดสิ้น นายกาวิละนำทางทัพของเจ้าพระยาจักรีไปถึงเมืองเชียงใหม่ เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์สามารถเข้ายึดเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ นับตั้งแต่นั้นหัวเมืองล้านนาได้แก่เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแพร่ จึงแยกตัวจากพม่ามาอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม ในขณะที่หัวเมืองล้านนาฝ่ายเหนือได้แก่เชียงแสน เชียงราย ฝาง พะเยา ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าอยู่ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งให้พญาจ่าบ้าน (บุญมา) เป็นพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ และนายกาวิละขึ้นเป็นพระยากาวิละเจ้าเมืองลำปาง เมืองเชียงแสนจึงกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจของพม่าในดินแดนล้านนา

ในพ.ศ. 2318 พระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) ยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน แต่ปรากฏว่าในเวลานั้น พระเจ้าจิงกูจา (Singu Min) แห่งพม่าส่งทัพจำนวนถึง 90,000 คน[2] มาเข้าโจมตีเมืองเชียงใหม่ พระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) เจ้าเมืองเชียงใหม่มีกำลังพลไม่เพียงต่อการป้องกันเมืองเชียงใหม่ จึงละทิ้งเมืองเชียงใหม่ถอยไปอยู่ที่เมืองตาก ทัพพม่ายกไปตีเมืองลำปาง พระยากาวิละต้านทานทัพพม่าไม่ได้เช่นกัน จึงทิ้งเมืองลำปางลงใต้ไปอยู่ที่เมืองสวรรคโลก จากนั้นทัพพม่าจึงกลับไป พระยากาวิละกลับมาครองเมืองลำปางในปีต่อมาพ.ศ. 2319 พระยาวิเชียรปราการพยายามที่จะรื้อฟื้นเมืองเชียงใหม่ขึ้นอีกครั้งแต่ไม่สำเร็จ เดินทางไปธนบุรีแล้วกลับขึ้นมาใหม่โยกย้ายไปมาหลายแห่ง สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีท้องตราเรียกตัวพระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) ลงมาสอบสวนที่ธนบุรี พระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) ถูกจำคุกถึงแก่กรรมในคุกนั้น นับแต่นั้นมาเมืองเชียงใหม่จึงกลายเป็นเมืองรกร้างปราศจากผู้คนป่าขึ้นทึบสัตว์ป่ามาอาศัยอยู่ บ้านเมืองล้านนาโดยรวมตกอยู่ในสภาพ “บ้านห่าง นาห่าง บ้านอุก เมืองรก ไพทางใต้ค็กลัวเสือไพทางเหนือค็กลัวช้าง บ้านเมืองบ่หมั่นบ่เที่ยง[4]

สงครามกับพม่า

[แก้]

พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงแต่งตั้งพระยากาวิละเป็นพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้นายน้อยธรรมน้องชายของพระยากาวิละเป็นอุปราชเมืองเชียงใหม่ แต่ในเวลานั้นเมืองเชียงใหม่ยังคงเป็นเมืองร้างยังไม่สามารถตั้งเมืองอยู่ได้ พระยากาวิละจึงมาตั้งมั่นที่เวียงป่าซาง (หรือป่าช้าง) เพื่อรวบรวมผู้คนไปตั้งเมืองเชียงใหม่ เมืองลำปางและเวียงป่าซางของพระยากาวิละกลายเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของล้านนาและสยามในการต้านทานการรุกรานของพม่า ในสงครามเก้าทัพ พ.ศ. 2328 เจ้าชายปะกันแมงสะโดสิริมหาอุจนาพระอนุชาของพระเจ้าปดุงยกทัพหัวเมืองไทใหญ่มาที่เมืองเชียงแสน เจ้าชายสะโดสิริมหาอุจนาและธาปะระกามะนี (Abaya-Kamani အဘယကာမဏိ) (พื้นเมืองเชียงแสนเรียก พะแพหวุ่น) ยกทัพพม่าจากเมืองเชียงแสนจำนวน 30,000 คน เข้าโจมตีและล้อมเมืองลำปาง นำไปสู่การล้อมเมืองลำปาง นอกจากนี้ ฝ่ายพม่ายังยกทัพไปตีเมืองแพร่จับกุมตัวพระยาแพร่มังไชยเจ้าเมืองแพร่กลับไปเป็นเชลย พญากาวิละรักษาเมืองลำปางอยู่ได้เกือบสามเดือน[2] ทางฝ่ายกรุงเทพฯ จึงส่งทัพขึ้นมานำโดยพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา และเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ช่วยเหลือขับไล่พม่าให้พ้นไปจากเมืองลำปางได้สำเร็จใน พ.ศ. 2329 กองทัพพม่าถอยทัพกลับไป แต่ตั้งให้ธาปะระกามะนีเป็นเจ้าเมืองเชียงแสน

ในพ.ศ. 2319 พระยากาวิละส่งคนขึ้นไปเกลี้ยกล่อมหัวเมืองทางเหนือต่อล้านนาต่าง ๆให้เป็นกบฏแยกตัวจากพม่า เจ้าฟ้าเมืองยอง (Mong Yawng) เจ้าเมืองฝาง และพระยาแพร่มังไชยซึ่งถูกจับกุมตัวไปไว้ที่เชียงแสนตั้งแต่สงครามเก้าทัพ จึงลุกฮือขึ้นก่อกบฏต่อพม่า ปีต่อมาในพ.ศ. 2330 พระเจ้าปดุงส่งทัพมาปราบเมืองฝางได้ และตั้งทัพที่เมืองฝางเตรียมเข้ารุกรานลำปางต่อไป ธาปะระกามะนีนำกองทัพเข้ามาสมทบก่อนกลับเมืองเชียงแสน เจ้าอัตถวรปัญโญเจ้าเมืองน่านเข้าขอสวามิภักดิ์ต่อสยาม พระยาแพร่มังไชยอยู่ที่เมืองยองร่วมมือกับเจ้าฟ้ากองเมืองยอง ยกทัพเข้าโจมตีเมืองเชียงแสน ธาปะระกามะนีหลบหนีไปเมืองเชียงราย พระยาเพชรเม็ง (น้อยจิตตะ) เจ้าฟ้าเมืองเชียงรายจับตัวธาปะระกามะนีส่งให้แก่พระยากาวิละ พระยากาวิละจึงส่งตัวธาปะระกามะนีลงมาที่กรุงเทพฯ [5][6] ฝ่ายพม่าตีเมืองเชียงแสนคืนไปได้และยกทัพจากเชียงแสนและเมืองฝาง เข้าโจมตีเมืองลำปางและยกมาทางเมืองยวม (อำเภอแม่สะเรียง) เข้าตีเมืองป่าซาง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มีพระราชโองการให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกทัพขึ้นมาช่วยเมืองลำปาง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสามารถขับทัพพม่าออกไปจากลำปางได้สำเร็จ หลังจากที่เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองร้างเป็นเวลาประมาณสิบเอ็ดปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีพระราชโองการให้ตั้งเมืองเชียงใหม่ขึ้นอีกครั้งให้เรียบร้อย เพื่อเป็นเมืองสำหรับการรับศึกพม่าทางเหนือ ให้พระยากาวิละรวบรวมผู้คนจากลำปางมาตั้งเมืองเชียงใหม่ พระยากาวิละยังคงอยู่ที่เวียงป่าซางอยู่จนถึง พ.ศ. 2339 จึงเข้าครองเมืองเชียงใหม่

พม่าตีเชียงใหม่ พ.ศ. 2340

[แก้]

พระเจ้าปดุงแห่งพม่ายังคงทรงมีขัตติยมานะในการกอบกู้หัวเมืองล้านนาทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำคงให้กลับไปคืนแก่พม่า พระเจ้าปดุงทรงแต่งทัพเข้ารุกรานเมืองเชียงใหม่ในพ.ศ. 2340 แม่ทัพพม่าคืออินแซะหวุ่นเนเมียวจอดินสีหสุระ (Einshe Wun Nemyo Kyawdin Thihathu) แม่ทัพพม่าผู้ซึ่งได้เอาชนะทัพฝ่ายไทยในการรบที่เมืองทวายเมื่อพ.ศ. 2337 เนเมียวจอดินสีหสุระยกทัพจำนวน 55,000 คน[3] มาทางเมืองนายและแบ่งทัพออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งยกมาทางเมืองปั่น (Mong Pan) และอีกส่วนหนึ่งยกมาทางเมืองหางหรือเมืองแหง (Mong Hin)[1] ลงมาล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ และส่งทัพบางส่วนไปตั้งมั่นที่เมืองลำพูนและเมืองลี้ พระยากาวิละนำญาติพี่น้องจัดทัพออกรบต่อการกับพม่า แต่ฝ่ายพม่าเข้าตีเมืองเชียงใหม่หลายครั้งอย่างต่อเนื่อง จึงให้คนถือศุภอักษรลงไปกรุงเทพฯ ขอพระราชทานทัพมาช่วยเมืองเชียงใหม่ รายละเอียดการรบระหว่างสยามและพม่าในครั้งนี้ ปรากฏในเพลงยาวพระยาสุนทรพิทักษ์[3] พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีพระราชโองการให้จัดทัพขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่จำนวน 20,000 คน[3] ดังนี้;

นอกจากนี้ เจ้าอุปราชอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ อนุชาของพระเจ้าอินทวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ยกทัพลาวเวียงจันทน์จำนวน 20,000 คน เพื่อมาช่วยเมืองเชียงใหม่อีกด้วย

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จยกทัพไปถึงเมืองเถิน จากนั้นมีพระราชบัณฑูรให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ กรมขุนสุนทรภูเบศร์ พระยากลาโหมราชเสนา และพระยายมราช (บุญมา) ยกทัพล่วงหน้าไปตั้งที่เมืองลำปางก่อน ให้พระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัตเสด็จยกทัพไปสู้กับพม่าที่เมืองลี้[2] จากนั้นทัพฝ่ายวังหน้าและวังหลวงจากเมืองลำปางจึงแข่งขันกัน[3]เข้ายึดเมืองลำพูนจากพม่า กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราชยกทัพวังหลวงไปตั้งที่ทางใต้ของเมืองลำพูน ส่วนกรมขุนสุนทรภูเบศร์และพระยากลาโหมราชเสนายกทัพวังหน้าไปตั้งทางตะวันตกเฉียงเหนือของลำปางทางเมืองป่าซาง ทั้งทัพวังหน้าและวังหลวงเข้าโจมตีเมืองลำพูน นำไปสู่การรบที่ลำพูน ฝ่ายทัพพม่าที่เมืองลี้ยกมาโจมตีทัพไทยที่ลำพูน ทัพฝ่ายไทยสามารถเข้ายึดเมืองลำพูนได้สำเร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2341 ฝ่ายพม่าที่ลำพูนแตกพ่ายกลับไปเมืองเชียงใหม่

ทัพของทั้งวังหน้าและวังหลวงยกจากลำพูนขึ้นไปโจมตีพม่าที่เชียงใหม่ นำไปสู่การรบที่เชียงใหม่ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2341 ในเวลานั้น ทัพลาวเวียงจันทน์ของเจ้าอนุวงศ์จำนวน 20,000 คนมาถึงเมืองเชียงใหม่ ทัพหลวงของกรมพระราชวังหลังฯ และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นจักรเจษฎา จำนวนอีก 20,000 คน ได้ยกมาสมทบที่เชียงใหม่เช่นกัน กรมหลวงเทพหริรักษ์ทรงยกทัพเข้าตีทัพพม่าทางตะวันตกของเชียงใหม่ กรมขุนสุนทรภูเบศร์ยกเข้าตีทางแม่น้ำปิงทางตะวันออก เจ้าอนุวงศ์ยกเข้าตีทางห้วยแม่ข่า กรมพระราชวังหลังและกรมหลวงจักรเจษฎาทรงยกเข้าตีทางวังตาล พระยากาวิละยกทัพออกมาตีจากในเมืองเชียงใหม่ ทัพพม่าแตกพ่ายยับเยินถอยร่นกลับไป แม่ทัพพม่าคนหนึ่งชื่อว่าเนเมียวจอดินสีหสุระ (Nemyo Kyawdinthihathu) ถูกสังหารในที่รบ แม่ทัพพม่าชื่อว่าอุบากอง (Upagaung) ถูกจับเป็นเชลย[1] เมื่อมีชัยชนะเหนือพม่าแล้ว กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงยกทัพเสด็จคืนพระนคร

เชียงใหม่ตีเมืองสาดและเชียงตุง

[แก้]

อาณาจักรล้านนาเปรียบเสมือนเป็นเมืองหน้าด่านรัฐกันชนระหว่างสยามและพม่า หัวเมืองล้านนาต่าง ๆมีข้อเสียเปรียบพม่าประสบปัญหาขาดแคลนกำลังคนเนื่องจากสงครามที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน พระยากาวิละแห่งเชียงใหม่และเจ้าเมืองล้านนาอื่น ๆ ต่างดำเนินนโยบาย”เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง”[7] ยกทัพออกไปโจมตีเมืองต่าง ๆเพื่อกวาดต้อนกำลังพลเข้ามาในเมืองล้านนา ในพ.ศ. 2345 พระเจ้าปดุงทรงแต่งตั้งให้นายจอมหง ซึ่งเป็นชาวจีนจากมณฑลยูนนาน ให้เป็นเจ้าฟ้าเจ้าเมืองสาด (Mong Hsat) และพระเจ้าปดุงทรงประกาศยกย่องราชาจอมหงแห่งเมืองสาดให้เป็นเจ้าเหนือหัวเมืองล้านนาทั้งปวงทั้งห้าสิบเจ็ดหัวเมือง พระยากาวิละแห่งเชียงใหม่จึงมีคำสั่งให้อุปราชน้อยธรรม ยกทัพเชียงใหม่ขึ้นไปโจมตีเมืองสาดในเดือนเมษายนพ.ศ. 2345 อุปราชน้อยธรรมสามารถเข้ายึดเมืองสาดได้อุปราชน้อยธรรมจับกุมตัวราชาจอมหง รวมทั้งจับกุมทูตพม่าซึ่งได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้ายาล็องแห่งเวียดนาม[8] จากนั้นอุปราชน้อยธรรมจึงยกทัพเลยไปโจมตีเมืองเชียงตุง เมืองเชียงตุงเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาในสมัยราชวงศ์มังราย ประชากรเมืองเชียงตุงเป็นชาวไทเขิน อุปราช���้อยธรรมจึงยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงตุง เข้ายึดเมืองเชียงตุงได้อีกเช่นกัน เจ้าฟ้าศิริไชยเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงหลบหนีไป อุปราชน้อยธรรมกวาดต้อนชาวไทเขินจากเมืองเชียงตุงจำนวน 6,000 คน และจากเมืองสาดอีก 5,000 คน[8] มาไว้ที่เมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงตุงถูกทำลายและว่างร้างลง[7]

พระเจ้าปดุงทรงพิโรธพระยากาวิละแห่งเชียงใหม่ที่ยกทัพไปตีเมืองเชียงตุงและเมืองสาดและจับทูตพม่าไป จึงมีพระราชโองการให้จัดทัพพม่าเข้าตีเมืองเชียงใหม่อีกเป็นครั้งที่สอง

สงคราม

[แก้]

พระเจ้าปดุงทรงจัดทัพพม่าเข้ารุกรานเชียงใหม่อีกครั้งในพ.ศ. 2345 โดยมีอินแซะหวุ่นเนเมียวจอดินสีหสุระ แม่ทัพคนเดิมซึ่งได้ยกทัพมาตีเชียงใหม่ครั้งก่อนเมื่อพ.ศ. 2340 มาเป็นโบชุกหรือแม่ทัพใหญ่อีกครั้ง ทัพพม่าประกอบด้วยทัพย่อยนำโดย;

  • ชิดชิงโป
  • ปไลโว
  • มะเดมะโยงโกงดอรัด
  • นามิแลง
  • ตองแพกะเมียวุ่น
  • มะยอแพกะเมียวุ่น

เนเมียวจอดินสีหสุระนำทัพพม่าเข้ายึดเมืองลำพูนแล้วล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ทั้งสี่ด้านจำนวนเจ็ดค่าย ทำค่ายล้อมเมืองเชียงใหม่อย่างแน่นหนาวางแผนที่จะล้อมเมืองเชียงใหม่อยู่เป็นเวลานาน

ในระหว่างก่อนหน้านี้ พระยากลาโหมราชเสนาคนเก่า และพระยาจ่าแสนยากร (ทุเรียน) ได้ถึงแก่กรรมลง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงทรงแต่งตั้งพระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน) ขึ้นว่าที่กลาโหมราชเสนา และแต่งตั้งพระยามหาวินิจฉัยขึ้นว่าที่จ่าแสนยากร[8]

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีพระราชโองการให้จัดทัพขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่อีกครั้งดังนี้;[8]

  • ฝ่ายพระราชวังบวร: กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พร้อมทั้งพระโอรสคือพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัต พร้อมทั้งกรมขุนสุนทรภูเบศร์ พระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน) ว่าที่กลาโหมราชเสนา
  • ฝ่ายพระราชวังหลวงและทัพหัวเมือง: พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พร้อมทั้งพระยายมราช (บุญมา)

เจ้าอนุวงศ์อุปราชแห่งเวียงจันทน์ยกทัพลาวมาเข้าร่วมการต่อสู้กับทัพพม่าในครั้งนี้อีกเช่นกัน

การยกทัพไปโจมตีพม่าที่เชียงใหม่ในครั้งนี้ ใช้เส้นทางเดินทัพคล้ายคลึงกับเมื่อพ.ศ. 2340 กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จยกทัพไปถึงเมืองเถิน ทรงพระประชวรโรคนิ่ว พระอาการมากมีพิษร้อนต้องแช่อยู่ในสาคร[8] เสด็จยกทัพขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่มิได้ จึงมีพระราชบัณฑูรให้เจ้าบำเรอภูธรกรมขุนสุนธรภูเบศร์ พร้อมทั้งพระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน) ยกทัพฝ่ายพระราชวังบวรฯ ไปที่เมืองลี้ก่อน ในครั้งนี้ฝ่ายหลักของไทยยกทัพไปทางเมืองลี้ (เส้นทางตะวันตก) แทนที่ยกไปทางเมืองลำปาง (เส้นทางตะวันออก) เหมือนครั้งก่อน ทัพของกรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราชนั้นด้วยเหตุบางประการรั้งรอล่าช้า[8]ยกทัพฝ่ายวังหลวงติดตามหลังทัพฝ่ายวังหน้าไป เมื่อไปถึงเมืองลี้แล้วได้ข่าวว่าทัพพม่าจะยกทัพมาจากทางเมืองป่าซาง กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราชเห็นว่าทัพไม่พร้อมเพรียงจึงถอยทัพ[3]ลงไปอยู่หลังทัพของวังหน้า

ฝ่ายพระยากาวิละอยู่รักษาป้องกันเมืองเชียงใหม่ ได้ข่าวว่ากรมพระราชวังบวรฯ ประชวรอยู่ที่เมืองเถิน จึงให้ท้าวมหายักษ์[8]ผู้มีร่างกายแข็งแรงนำความข้อราชการไปกราบทูลที่เมืองเถิน ท้าวมหายักษ์เดินทางผ่านวงล้อมของพม่าออกไปโดยปราศจากการต่อต้าน ไปเข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ ที่เมืองเถิน กรมพระราชวังบวรฯ ทรงมีตราให้ท้าวมหายักษ์ไปมอบให้แก่พระยากาวิละว่า ฝ่ายกรุงเทพได้ยกทัพขึ้นมาช่วยเมืองเชียงใหม่แล้ว

กองทัพวังหน้าและวังหลวงยกทัพผ่านเมืองลี้ขึ้นไปถึงเมืองลำพูน พระยาเสน่หาภูธรมีใบบอกลงมากราบทูลกรมพระราชวังบวรฯ ที่เมืองเถินว่า พระยามหาวินิจฉัยว่าที่จ่าแสนยากรนั้นอ่อนแอ ของพระราชทานตั้งพระไกรภพ (บุญรอด) ขึ้นว่าที่จ่าแสนยากรแทน กรมพระราชวังบวรฯ จึงทรงแต่งตั้งให้พระไกรภพ (บุญรอด) ขึ้นว่าที่จ่าแสนยากร ทัพฝ่ายไทยเข้าโจมตียึดเมืองลำพูนได้สำเร็จ

ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อทรงทราบว่าสมเด็จพระอนุชาธิราชประชวรอยู่ที่เมืองเถิน เสด็จนำทัพขึ้นไปเชียงใหม่ไม่ได้ จึงมีพระราชโองการให้กรมพระราชวังหลังฯ ยกทัพขึ้นไปเชียงใหม่แทน กรมพระราชวังหลังฯ เข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ ที่เมืองเถิน กรมพระราชวังบวรฯ พระราชทานพระแสงดาบให้แก่กรมพระราชวังหลังฯ เป็นอาญาสิทธิ์[8]ให้กรมพระราชวังหลังฯ ทรงมีพระอำนาจบัญชาทัพฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ได้

ทัพฝ่ายไทยยกจากลำพูนเข้าโจมตีทัพพม่าที่เชียงใหม่ กรมพระราชวังหลังฯ เสด็จถึงเมืองเชียงใหม่ กรมพระราชวังหลังฯ เชิญท้องตรารับสั่งให้แก่แม่ทัพนายกอง และมีพระบัญชาให้แม่ทัพนายกองเข้าหักตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้ภายในวันรุ่งขึ้น ไปกินข้าวในเมืองเชียงใหม่ มิฉะนั้นจะมีโทษ ทัพทั้งฝ่ายวังหน้าวังหลวงยกเข้าตีเชียงใหม่ กรมหลวงเทพหริรักษ์ยกทัพฝ่ายวังหลวงเข้าตีเชียงใหม่ตั้งแต่สามยาม ฝ่ายพม่ายิงปืนใส่อย่างหนัก ฝ่ายไทยหลบอยู่ตามคันนา พระยาพิชัย (โต) ร้องว่า “ไล่ฟันไล่แทงเถิดแตกดอก[8] พระยาพิชัย (โต) นำทัพไทยฝ่ากระสุนของพม่าเข้าไป ฝ่ายพม่าสู้ไม่ได้แตกหนี ทัพวังหน้าวังหลวงฝ่ายไทยเข้าระดมโจมตีเมืองเชียงใหม่จากทุกทิศทาง จนสามารถตีทัพพม่าแตกถอยไปได้ เนเมียวจอดินสีหสุระจึงพ่ายแพ้ให้แก่ทัพไทยที่เชียงใหม่เป็นครั้งที่สอง พระยากาวิละให้กองกำลังเมืองเชียงใหม่ออกติดตามสังหารฝ่ายพม่าที่กำลังหลบหนีได้จำนวนมาก

เมื่อขับไล่ทัพพม่าไปจากเขียงใหม่ได้แล้ว เจ้านายทุกพระองค์แม่ทัพนายกองจึงมาเข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทที่เมืองเถิน ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ยกทัพลาวเวียงจันทน์มาถึงเมืองเชียงใหม่ไม่ทัน มาถึงเมืองเชียงใหม่หลังจากที่พม่าแพ้ไปแล้วเจ็ดวัน กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงพิโรธ[3]กองทัพฝ่ายวังหลวง กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราช ที่ถอยทัพไปอยู่หลังทัพของวังหน้าท��่เมืองลี้ และทรงพระพิโรธเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ที่ยกทัพมาไม่ทันการรบ จึงทรงมีพระราชบัณฑูรปรับโทษให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช (บุญมา) และเจ้าอนุวงศ์ ยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนจากพม่าให้ได้ จากนั้นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทและกรมพระราชวังหลังฯ จึงเสด็จกลับพระนคร

บทสรุปและเหตุการณ์สืบเนื่อง

[แก้]

การรุกรานเชียงใหม่ของพม่าในพ.ศ. 2345 นี้ เป็นการรุกรานล้านนาของพม่าเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ไทย ทางฝ่ายกรุงเทพสามารถจัดทัพขึ้นไปช่วยพระยากาวิละเมืองเชียงใหม่ ขับไล่ทัพฝ่ายพม่ากลับไปได้เฉกเช่นทุกครั้ง หลังจากที่ได้ชัยชนะเหนือพม่าที่เชียงใหม่ในพ.ศ. 2345 นี้ กรมหลวงเทพหริรักษ์ พร้อมทั้งพระยายมราช (บุญมา) และเจ้าอนุวงศ์ ประทับอยู่ที่เมืองล้านนาเพื่อจัดเตรียมทัพเข้าโจมตีเมืองเชียงแสน นำไปสู่สงครามเชียงแสนในพ.ศ. 2347

พระยากาวิละนำตัวราชาจอมหงเมืองสาดลงไปกรุงเทพไปเข้าเฝ้าฯ ในเดือนกันยายนพ.ศ. 2345 ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีพระราชโองการให้สถาปนาพระยากาวิละ ผู้ซึ่งมีความชอบป้องกันเมืองเชียงใหม่และล้านนาจากการรุกรานของพม่าไว้ได้หลายครั้ง ขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ พระราชทานพระนามว่า พระบรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์องค์อินทรสุริยศักดิ์สมญา มหาขัตติยราชชาติราไชยสวรรย์ เจ้าขัณฑสีมาพระนครเชียงใหม่ราชธานี[2][8] เป็นเจ้าประเทศราชเป็นอธิบดีในหัวเมืองล้านนาทั้งห้าสิบเจ็ดเมือง

เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จกลับพระนครแล้ว อาการพระประชวรทุเลาลง ทรงแต่งตั้งพระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน) ว่าที่กลาโหมราชเสนา ขึ้นเป็นพระยากลาโหมราชเสนา ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2346 อาการพระประชวรกำเริบขึ้นมาอีก กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสิ้นพระชนม์เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2346 ต่อมาอีกสามเดือน เกิดความว่าพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัต พระโอรสในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงร่วมมือกับพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน) วางแผนการกบฏ[8] จึงมีพระราชโองการลงพระราชอาญาสำเร็จโทษพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัตด้วยท่อนจันทน์ และให้ประหารชีวิตพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน)

ในพ.ศ. 2347 กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช (บุญมา) ทัพฝ่ายไทย เจ้าอนุวงศ์ทัพฝ่ายลาวเจียงจันทน์ พร้อมทั้งเจ้าอุปราชน้อยธรรมเมืองเชียงใหม่ เจ้าคำโสมเมืองลำปาง ฝ่ายล้านนา และเจ้าอัตวรปัญโญเมืองน่าน ยกทัพโดยพร้อมกันเข้าโจมตีเมืองเชียงแสน จนสามารถยึดเมืองเชียงแสนจากพม่าได้ หัวเมืองล้านนาทางเหนือที่อยู่ภายใต้การปกครองของพม่าจึงมาอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม อำนาจของพม่าในหัวเมืองล้านนาจึงหมดสิ้นไปอย่างถาวร

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Phraison Salarak (Thien Subindu), Luang. Intercourse between Burma and Siam as recorded in Hmannan Yazawindawgyi. Bangkok; July 25, 1919.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 ประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค), พระยา. พงศาวดารโยนก. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. 2478.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงธนฯ แลกรุงเทพฯ.
  4. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ ๗๐๐ ปี. ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, พ.ศ. 2538.
  5. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๔.พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เถ้าแก่ทองดี ปาณิกบุตร์ จ.จ.เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒.
  6. สุเนตร ชุตินธรานนท์. พม่ารบไทย ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับพม่า . พิมพ์ครั้งที่ 15. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562
  7. 7.0 7.1 Grabowsky, Volker. Forced Resettlement Campaigns in Northern Thailand during the Early Bangkok Period. Journal of Siamese Society, 1999.
  8. 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 8.10 ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖.