พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร | |
---|---|
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ ชั้น 4 พระองค์เจ้าชั้นโท | |
ประสูติ | 8 สิงหาคม พ.ศ. 2396 |
สิ้นพระชนม์ | 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456 (60 ปี) |
พระชายา | หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระมารดา | เจ้าจอมมารดาขลิบ |
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร (พระนามเดิม พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์; 8 สิงหาคม พ.ศ. 2396 — 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาขลิบ
พระประวัติ
[แก้]พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาขลิบ ธิดาหลวงราชนรารักษ์ (คุณชายอิ่ม ศิลานนท์; บุตรของพระยาประชาชีพ (ศิลา)) มีพระโสทรกนิษฐภคินีพระองค์เดียวคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิลัยทรงกัลยา
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร เสกสมรสกับหม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ประสูติแต่หม่อมราชวงศ์ดวงใจ ปราโมช แต่ภายหลังก็ได้เลิกรากันไปโดยไม่มีพระโอรสธิดาด้วยกัน
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร ประชวรพระวาโย สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456 สิริพระชันษา 61 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จสรงน้ำพระศพของหลวงแทนพระองค์ มีประโคมแตรสังข์กลองชนะตามพระเกียรติยศ พระบรมวงศานุวงศ์สรงน้ำพระศพแล้ว เจ้าพนักงานทรงเครื่องพระศพเสร็จเชิญลงลองใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงสวมพระชฎาแล้ว เจ้าพนักงานเชิญขึ้นตั้งบนพานแว่นฟ้าที่พระตำหนัก ประกอบพระโกศไม้สิบสอง แวดล้อมด้วยเครื่องสูงตามพระเกียรติยศ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2457[1]
การทรงงาน
[แก้]พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร เป็นนายช่างประดิษฐ์หัวโขนในสมัยรัชกาลที่ 5 และมีพระปรีชาในด้านจิตรกรรม ทรงร่วมปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเตรียมการฉลองพระนครครบ 100 ปี นอกจากนี้ยังเป็นผู้ช่วยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในการบูรณะวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
ในรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาเป็น พระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร[2] เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 โดยทรงประกาศยกย่องในราชกิจจานุเบกษาความตอนหนึ่งว่า[3]
"...ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณาวงศ์ ทรงเจริญวัยวุฒิประสูติร่วมปีพระชนมายุ ได้ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พร้อมกันกับเวลาที่ทรงผนวช จึงทรงเป็นที่คุ้นเคยแต่นั้นมา ทรงปรีชาชำนาญในการจิตรกรรม แม่นยำในแบบอย่างหลักฐานของการช่างเขียนแบบโบราณ ทรงอุตสาหทำการอันวิจิตรด้วยฝีพระหัตถ์เป็นอันมาก ยากที่จะหาผู้เสมอได้ในเวลานี้ สมควรที่จะเลื่อนพระเกียรติยศขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม ในอุดมมงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาพิเศษนี้ได้..."
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2449 – เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.) (ฝ่ายหน้า)[4]
- พ.ศ. 2446 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)[5]
- พ.ศ. 2436 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายหน้า)[6]
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[5] (ชื่อเดิม:จุลสุราภรณ์)
- พ.ศ. ไม่ปรากฎ – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4 ชั้นที่ 4 (ม.ป.ร.4)[5]
- พ.ศ. 2454 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 3 (จ.ป.ร.3)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2019-03-20.
- ↑ กรมศิลปากร. เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (เล่ม 2) . โรงพิมพ์กรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 3 (กองทัพเรือจัดพิมพ์ถวาย). 2538.
- ↑ กรมศิลปากร. จดหมายเหตุทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์เล่ม 1. กรุงเทพฯ .รุ่งศิลป์การพิมพ์ ปีพ.ศ. 2545. 508 หน้า
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม 23, ตอน 27, 30 กันยายน พ.ศ. 2449, หน้า 679
- ↑ 5.0 5.1 5.2 โรงเรียนมหาดเล็ก. บาญชีพระบรมวงษานุวงษ์ฝ่ายน่าฝ่ายใน ศก 128. กรุงเทพ : โรงพิมพ์สามมิตร, พ.ศ. 2452. 70 หน้า. หน้า หน้าที่ 6.
- ↑ ถวายบังคมพระบรมรูป แลพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2019-05-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 10 หน้า 368