โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์
โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ Benchamaracharungsarit School | |
---|---|
โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ในปี พ.ศ. 2556 | |
เลขที่ 222 ถนนชุมพล ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา 24000 | |
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | บ.ฉ. / BRR |
ประเภท | โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ |
คำขวัญ | สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี ความพร้อมเพรียงแห่งหมู่คณะนำมาซึ่งความสุข |
สถาปนา | 20 มิถุนายน พ.ศ. 2435 |
ผู้ก่อตั้ง | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ผู้อำนวยการโรงเรียน | นายชัชชัย พุทธสุวรรณ์ |
ระดับชั้น | มัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 |
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอน | ภาษาไทย อังกฤษ IEP, แผนอังกฤษ - จีน ภาษาจีน แผนอังกฤษ - จีน |
วิทยาเขต | เบญจมราชรังสฤษฎิ์ ศูนย์บางเตย |
ขนาดวิทยาเขต | 34 ไร่ 82 ตารางวา |
สี | น้ำเงิน-เหลือง |
เพลง | มาร์ชเบญจมราชรังสฤษฎิ์ |
สังกัด | สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ (เดิม : สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 6) |
ศิษย์เก่า | สมาคมศิษย์เก่าเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา |
ดอกไม้ | ดอกแก้วเจ้าจอม |
เว็บไซต์ | www |
โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ (อังกฤษ: Benchamaracharungsarit School) (อักษรย่อ : บ.ฉ. / BRR) เป็นโรงเรียนรัฐบาลสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่เลขที่ 222 ถนนชุมพล ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์เป็นโรงเรียนสหศึกษาระดับมัธยมศึกษา ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2435 เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ
เดิมโรงเรียนนี้เคยเป็นโรงเรียนประจำมณฑลปราจีนบุรี[1] และใช้ชื่อว่า โรงเรียนเบญจมราชูทิศ[1]
ประวัติโรงเรียน
[แก้]โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เริ่มก่อตั้งครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2435 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[2]
เส้นเวลาโดยสรุป
[แก้]- ก่อตั้ง โรงเรียนสายชล ณ รังสี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พุทธศักราช 2435
- เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนอณัตยาคม เมื่อปีพุทธศักราช 2446
- เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ เมื่อปีพุทธศักราช 2450
- เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนเบญจมราชูทิศ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พุทธศักราช 2456[1]
- แยกนักเรียนหญิง แล้วตั้งโรงเรียนใหม่โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนดัดดรุณี เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2458 จนถึงปัจจุบัน
- แยกนักเรียนบางส่วน แล้วตั้งโรงเรียนใหม่โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนฉะเชิงเทรารังสฤษฎิ์ เมื่อปีพุทธศักราช 2463
- ยุบ โรงเรียนฉะเชิงเทรารังสฤษฎิ์ และเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนเบญจมฉะเชิงเทรา เมื่อปีพุทธศักราช 2478
- เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา “เบญจมราชรังสฤษฎิ์” เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พุทธศักราช 2482 ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเปลี่ยนชื่อโรงเรียนรัฐบาลเพื่อความเหมาะสม ลงวันที่ 1 มิถุนายน พุทธศักราช 2494
- เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา “เบญจมราชรังสฤษฎิ์” จังหวัดฉะเชิงเทรา ตามหนังสือของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 16542/2494 ลงวันที่ 20 มิถุนายน พุทธศักราช 2494 ในสมัยนายเลียง ไชยกาล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ เมื่อปีพุทธศักราช 2501 สืบมาจนปัจจุบันนี้
พ.ศ. 2435–2449: วัดสายชล ณ รังษี (แหลมบน)
[แก้]พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในกรุงเทพฯ หลายแห่ง ให้ตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรเป็นแห่งแรกที่วัดมหรรณพาราม เมื่อ พ.ศ. 2427 และจัดตั้งโรงเรียนกระจายไปตามหัวเมืองต่าง ๆ
ต่อมาประกาศตั้งกรมศึกษาธิการขึ้น เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 เพื่อให้ดูแลจัดการการศึกษาโดยเฉพาะ และเมื่อมีโรงเรียนเพิ่มมากยิ่งขึ้น จึงฐานะกรมศึกษาธิการเป็นกระทรวงธรรมการ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 และทรงมีพระราชปรารภว่ายังสามารถให้การศึกษาแก่ราษฎรได้อย่างทั่วถึง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศตั้ง “โรงเรียนมูลสามัญศึกษา” ขึ้นเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2435 ครูผู้สอนในสมัยนั้น ได้แก่พระภิกษุที่อยู่ในวัดและจัดสอนตามหลักสูตรสามัญ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ โรงเรียนมูลสามัญชั้นต่ำ โรงเรียนมูลสามัญชั้นสูง
โดยส่วนหนึ่งในประกาศระบุว่า “บรรดาโรงเรียนซึ่งตั้งในพระอารามแลวัดต่าง ๆ ประกาศนี้ ถ้าสอนตามแบบเรียนหลวงแล้ว ให้นับเป็นโรงเรียนหลวงทั้งสิ้น”[3] จากประกาศฉบับนี้มีผลทำการตั้งโรงเรียนขึ้นตามวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งจังหวัดฉะเชิงเทราด้วย จึงนับว่าการประกาศตั้งโรงเรียนมูลสามัญศึกษาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2435 หมายรวมถึงที่วัดสายชล ณ รังษี (แหลมบน) จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็ฯโรงเรียนมูลสามัญศึกษาโรงเรียนหนึ่งของเมืองฉะเชิงเทรา โดยใช้ชื่อโรงเรียนตามชื่อวัด ใช้ศาลาการเปรียญของวัดเป็นสถานศึกษาเล่าเรียนเปิดสอนทั้งชั้นมูลและชั้นประถม โรงเรียนวัดสายชล ณ รังษี (แหลมบน) จึงเป็นโรงเรียนหลวงของเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งขณะนั้นเจ้าคณะจังหวัด คือ ครูญาณรังษีมุนีวงษ์ (พระครูมี) ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ต่อมามีประชาชนส่งบุตรหลานมาเรียนมากขึ้น จึงใช้โรงทึมที่หลวงอาณัติจีนประชาสร้างขึ้นเพื่อบำเพ็ญกุศลศพของพระวิสูตรจีนชาติแล้วถวายให้วัดเมื่อ พ.ศ. 2438
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิรูปการปกครองพร้อมกันไปด้วย โดยจัดแบ่งหัวเมืองออกเป็นมณฑล (มณฑลเทศาภิบาล) และได้จัดตั้งมณฑลปราจีนขึ้นในปี พ.ศ. 2437 ต่อมามีพระราชปรารภว่า “เมืองฉะเชิงเทรามีราชการมากกว่าเมืองอื่นๆ ทั้งยังมีทางรถไฟ และเป็นเมืองท่ามกลางมณฑล สมควรย้ายที่ว่าการมณฑลมาตั้งที่เมืองฉะเชิงเทราจะเป็นการสะดวกแก่การปกครองและการบังคับบัญชา” จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ว่าการมณฑลมาตั้งทีเมืองฉะเชิงเทราตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2445
จากนั้นทร��มีพระราชประสงค์ที่จะจัดการการศึกษาให้เป็นแบบแผนเดียวกันทั่วทั้งประเทศ จึงทรงมอบให้กระทรวงธรรมการดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ โดยให้มีการศึกษาตาม “โครงการจัดการการศึกษาตามแบบอย่างอังกฤษ พ.ศ. 2441” กล่าวคือแบ่งการศึกษาเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ชั้นมูล ชั้นประถม ชั้นมัธยม และอุดมศึกษา และจัดให้การศึกษาในโรงเรียนเพื่อให้เป็นแบบอย่างเฉพาะในเมืองที่เป็นที่ตั้งมณฑลขึ้นก่อน กระทรวงธรรมการจึงได้ส่ง ขุนวิธานดรุณกิจ ออกมาจัดการการศึกษาในมณฑลปราจีนบุรี ฉะเชิงเทราเป็นคนแรก โดยมีท่านเจ้าคุณทักษิณคณิศร แม่กองการศึกษาและแม่กองสอบไล่มาเป็นประธานร่วมด้วย เมื่อร่วมกันพิจารณากันว่าเห็นพ้องกันว่า “โรงเรียนวัดสายชล ณ รังษี (แหลมบน)” มีความเหมาะสมที่จะเป็นตัวอย่างมากกว่าโรงเรียนวัดอื่น ๆ ในละแวกเดียวกัน จึงแจ้งให้กระทรวงธรรมการทราบ และได้รับเลือกและยกฐานะขึ้นเป็นโรงเรียนรัฐบาลตัวอย่างประจำมณฑลปราจีน เมื่อปี พ.ศ. 2446[4] แบ่งนักเรียนตามประเภทความรู้ได้ 2 ระดับ คือชั้นมูลและชั้นประถม จากนั้นกระทรวงธรรมการส่งครูมาให้ 2 คน คือ ครูมั่ง พระปัญญา และครูต่ำ (ไม่ทราบนามสกุล) จึงได้แยกนักเรียนชั้นประถมลงมาที่โรงทึม และตั้งชื่อใหม่เป็น “โรงเรียนอณัตยาคม” โดยชื่อสกุลของพระวิสูตรจีนชาติ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เจ้าสกุลสืบนับว่า โรงเรียนวัดสายชล ณ รังษี (แหลมบน) เป็นโรงเรียนที่เป็นรากฐานอันสำคัญในด้านการศึกษาของเมืองฉะเชิงเทรา
หลังจากเปิดทำการสอนได้ 2 ปี โรงเรียนอาณัตยาคม กลายเป็นสนามสอบไล่ตามคำสั่งของท่านเจ้าคุณทักษิณคณิศร เจ้าอาวาสวัดบางยี่เรือใต้ คลองบางกอกใหญ่ ธนบุรี ซึ่งเป็นเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรีด้วย ได้มีคำสั่งให้ครูโรงเรียนต่างในจังหวัดฉะเชิงเทรา มาสมทบสอบไล่ที่โรงเรียนอาณัตยาคม และท่านเจ้าคุณทักษิณคณิศรได้พาข้าหลวงและพนักงานสอบไล่มาทำการสอบเมื่อเดือนพฤษภาคมพ.ศ. 2488 โดยมีหลวงบำนาญวรญาณเป็นหัวหน้าคณะสอบ โรงเรียนที่มาสอบไล่ ประกอบไปด้วย
- โรงเรียนเทพพิทยาคม วัดเทพนิมิตร
- โรงเรียนอุคมพิทยา วัดสมาน
- โรงเรียนดรุณพิทยาคาร วัดแหลมล่าง
- โรงเรียนอณัตยาคม วัดสายชล ณ รังษี
แม้จะเปิดทำการสอน แต่อยู่ได้ไม่นานนักก็จำเป็นต้องย้ายด้วยอุปสรรคทางด้านการคมนาคม
พ.ศ. 2450–2480: เบญจมราชูทิศ
[แก้]ในปี พ.ศ. 2449 ได้มีการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพมาถึงจังหวัดฉะเชิงเทรา ทำให้มีการวางผังเมืองใหม่ให้สอดรับกับการพัฒนาที่จะตามมา ทำให้กระทรวงธรรมการได้มีคำสั่งย้ายโรงเรียนประจำมณฑลปราจีน มาตั้งที่วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ (วัดเมือง) ในปี พ.ศ. 2450 โดยใช้ศาลาการเปรียญเป็นสถานที่เรียน รวมถึงย้ายครูที่กระทรวงได้ส่งมาประจำก่อนหน้านี้มาประจำที่วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ด้วย ซึ่งนักเรียนบางส่วนได้ย้ายตามมาเรียนยังที่ตั้งแห่งใหม่ แต่บางส่วนยังคงเรียนอยู่ที่ตั้งเดิม จนมีนักเรียนมากขึ้น หลวงพ่อแก้วหรือพระอธิการแก้วซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสขณะนั้นได้ให้ใช้เงินของท่านสร้างเรือนไม้ทรงปั้นหยา 2 ชั้น เพื่อเป็นที่สำหรับเรียนเพิ่มเติม ชั้นบนเป็นของนักเรียนมัธยม ชั้นล่างเป็นของนักเรียนประถม 2 และ 3 ส่วนศาลาการเปรียญเป็นที่เรียนของชั้นมูลและชั้นประถม 1 โรงเรียนได้รับการตั้งชื่อตามวัดคือโรงเรียนปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ มีครูใหญ่คนแรกที่กระทรวงธรรมการส่งมาชื่อว่าแปลก
ต่อมา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑล มีความคิดที่จะหาพื้นที่สำหรับจัดตั้งโรงเรียนที่กว้างขวางและมั่นคงให้เหมาะกับการเรียนการสอนของประชาชน จึงได้มอบหมายให้ขุนวิธานดรุณกิจ เป็นผู้หาเงินสร้างโรงเรียนใหม่ ด้วยการรับบริจาคและเรี่ยไรจากข้าราชการ พ่อค้าและประชาชน จนกระทั่งเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2453 รวบรวมเงินได้ 1,433.66 บาท ก็ยังไม่พอต่อการก่อสร้าง พอดีกับขุนวิธานดรุณกิจ ได้ย้ายไปรับราชการที่อื่น จึงได้มอบหมายให้ขุนบรรหารวรอรรถ มาดำรงตำแหน่งแทน จนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2455 รวบรวมเงินได้เพิ่มอีก 2,205.43 บาท รวมกับเงินก้อนแรกเป็นจำนวน 3,639.09 บาท ก็ยังไม่พอเพียงแก่การสร้างอาคารเรียน กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลในขณะนั้นจึงได้โปรดอนุญาตประทานเงินที่เหลือจากการทำสังเค็ด (ของที่ถวายแก่พระสงฆ์เมื่อเวลาปลงศพ) เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช เป็นเงิน 2,930.32 บาท กับเงินของพระอธิการแก้ว เจ้าอาวาสวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ (เวลามรณภาพแล้ว) ซึ่งเป็นเงินสงฆ์อีก 2,888.82 บาท และได้ประทานกระแสรับสั่งว่ายินดีจะสละทรัพย์ส่วนพระองค์เข้าร่วมสมทบกับเงินที่เหลืออยู่เพื่อให้การก่อสร้างสำเร็จ
ธรรมการมณฑล (ขุนบรรหารวรอรรถ) จึงได้เริ่มประกวดราคาการก่อสร้างในวงเงิน 9,458.23 บาท ซึ่งมีผู้เสนอราคา 9,000 บาท จึงได้เซ็นสัญญาและเริ่มก่อสร้างโรงเรียนแห่งใหม่ขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 ในพื้นที่ที่ได้จัดหาไว้ (ปัจจุบันคือพื้นที่ของสระว่ายน้ำของโรงเรียน) โดยก่อสร้างเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวใต้ถุนเตี้ย ระหว่างก่อสร้างเกิดพายุหนักทำให้โครงสร้างถล่มลงมาทั้งหลัง การก่อสร้างจึงล่าช้า และแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2456 เสด็จในกรม (กรมขุนมรุพงษ์ฯ) จึงได้แจ้งไปทางกระทรวงธรรมการเพื่อนำความกราบขึ้นบังคมทูลพระราชกรุณาขอพระราชทานนามโรงเรียนหลังนี้ และในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2456 กระทรวงธรรมการแจ้งกลับมาว่า ได้นำความกราบขึ้งบังคมทูลแล้ว พระองค์ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนว่า “เบญจมราชูทิศ”[5]
ต่อมา ขุนบรรหารวรอรรถ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้เกิดโรงเรียน เบญจมราชูทิศ ขึ้นมาต้องย้ายไปรับราชการตำแหน่งข้าหลวงตรวจการศึกษาภาคตะวันออกในช่วงต้นปี พ.ศ. 2460 ธรรมการจังหวัด คือ หลวงอำนวยศิลปศาสตร์ จึงได้ขึ้นมารับตำแหน่งธรรมการมณฑล ซึ่งท่านเป็นผู้สนใจงานในด้านการศึกษาเช่นกัน จึงได้พัฒนาการศึกษาในจังหวัดฉะเชิงเทราจนเจริญขึ้นตามลำดับ เป็นเหตุให้โรงเรียนเบญจมราชูทิศที่มีอยู่เดิมไม่เพียงพอ ถึงแม้จะมีโรงเรียนปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์อยู่เดิมแล้วเช่นกัน ธรรมการมณฑลจึงมีความคิดที่จะสร้างโรงเรียนเพิ่มขึ้นอีกแห่งเพื่อไม่ให้นักเรียนเกิดอุปสรรค์จากการเรียนเนื่องจากพื้นที่ไม่เพียงพอ จึงนำความขึ้นทูล หม่อมเจ้าธำรงสิริ ศรีธวัช (สมุหเทศาภิบาล) และได้รับความเห็นชอบ และประมูลการรับเหมาก่อสร้างโรงเรียนแห่งใหม่ได้ในราคา 20,000 บาท ดำเนินการก่อสร้างในด้านตะวันออกของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2462 (บริเวณสนามฟุตบอลของโรงเรียนในปัจจุบัน) และเปิดอาคารเรียนในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2463 เป็นอาคารเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวมีมุขกลางใต้ถุนสูงโปร่ง มีบันไดขึ้นลงสองข้างมุข หม่อมเจ้าธำรงสิริ ศรีธวัช จึงแจ้งไปยังกระทรวงธรรมการเพื่อนำความกราบขึ้นบังคมทูลขอพระทานนามโรงเรียน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “ฉะเชิงเทรารังสฤษฎิ์”[4] และได้ฉลองการเปิดโรงเรียนใหม่ โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จมาชักแพรเปิดป้าย
ในปี พ.ศ. 2478 หลวงอาจวิชาสรร ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ และข้าหลวงตรวจการศึกษาธิการ ได้ปรึกษากับนายสุบิน พิมพยะจันทร์ ธรรมการจังหวัด ว่าโรงเรียนทั้งสอง คือ โรงเรียนเบญจมราชูทิศและโรงเรียนฉะเชิงเทรารังสฤษฎิ์ ก่อตั้งมานานพอสมควร ตัวอาคารมีการชำรุดทรุดโทรม ประกอบกับนักเรียนที่มากขึ้นทั้งสองโรงเรียน สมควรจที่จะยุบรวมโรงเรียนทั้งสองและสร้างใหม่ในที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และรวมชื่อโรงเรียนทั้งสองหลังเป็นตั้งใหม่เป็น “เบญจมฉะเชิงเทรา” โดยใช้ชื่อเก่าจากโรงเรียนทั้งสองมารวมกัน
พ.ศ. 2480–ปัจจุบัน: เบญจมราชรังสฤษฎิ์
[แก้]ในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2479 หลวงอาจวิชาสรร ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งเลขานุการกรมการศาสนา จึงได้มีการแต่งตั้งนายศิริพล (ย้อย) วรสินธุ์ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทน จึงได้สานงานต่อกับที่ได้ปรึกษากับนายสุบิน พิมพยะจันทร์ ธรรมการจังหวัด ได้รื้อโรงเรียนทั้งสองหลังลงมาเมื่อ พ.ศ. 2480 เพื่อนำวัสดุต่าง ๆ ไปก่อสร้างร่วมกับตัวโรงเรียนหลังใหม่
ระหว่างนั้นที่ตัวโรงเรียนไม่มีอาคารเรียน โรงเรียนประกอบไปด้วยครูจำนวน 13 คน นักเรียนจำนวน 310 คน โรงเรียนได้รับความเมตตาจาก ร้อยเอกหลวงกำจัดไพริน ผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ 2 (ค่ายศรีโสธร) ให้ใช้เรือนนอนทหารจำนวน 1 หลัง เป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอนตลอดปีการศึกษา พ.ศ. 2481 โดยตัวอาคารเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง และสามารถย้ายกลับมาเรียนในอาคารเรียนหลังใหม่ได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม พ.ศ. 2481 จากนั้นนายสุบิน พิมพยะจันทร์ ธรรมการจังหวัดได้ทำสัญญากับนายสุวรรณ แสงส่งเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2481 เพื่อกั้นฝาผนังอาคารชั้นล่างด้วยเงินการจรอีก 1,895.00 บาท รวมถึงทาสีอาคารทั้งอาคาร โดยว่าจ้างนายเค็งคุน แซ่อุ๊ย ด้วยเงินการจรอีก 2,650.00 บาท จนกระทั่งตัวอาคารนั้นเสร็จสมบูรณ์ โรงเรียนประกอบไปด้วยอาคารเรียนที่มี 2 ชั้น จำนวน 20 ห้อง มีห้องประชุมอยู่กลางอาคาร
โดยในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2482 หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการได้มาเป็นประธานพิธีชักแพรเปิดป้ายนามโรงเรียน โดยใช้ชื่อเต็มว่า โรงเรียนประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา “เบญจมราชรังสฤษฎิ์” จากนั้นในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา “เบญจมราชรังสฤษฎิ์” จังหวัดฉะเชิงเทรา[6][7]
ในปี พ.ศ. 2496 โรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายปรับปรุงขององค์การส่งเสริมการศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบไปด้วยวิชาเลือกสำหรับแยกเรียน 4 แผนก ประกอบไปด้วย แผนกวิสามัญ (แผนกหนังสือ) แผนกช่าง แผนกพาณิชย์ และแผนกเกษตร โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศซึ่งประจำองค์การสหประชาชาติ ชื่อว่า ดร.ออสเซี่ยน ฟล้อค (Dr. Ossian Flock) คอยให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมีชื่อเรียกในยุคนั้นว่า โรงเรียนมัธยมวิสามัญแบบประสม (Comprehensive High School)[8] เป็นโรงเรียนแรกของประเทศไทยที่ได้รับการปรับปรุงทางด้านการศึกษา
จากนั้นในปี พ.ศ. 2501 ได้เปิดให้มีการเรียนการสอนในระดับเตรียมอุดมศึกษา แผนกวิทยาศาสตร์ในรูปแบบสหศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจึงได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากเดิม เป็น "โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์" และใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2511 โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนมัธยมแบบประสม[8] (ค.ม.ส.) รุ่นที่ 2 เป็นโรงเรียนที่ 7 ของโครงการที่ใช้หลักสูตร ค.ม.ศ. ในระดับ มศ.ต้น และในปี พ.ศ. 2515 เริ่มใช้งานหลักสูตร ค.ม.ส. ในระดับ มศ.ปลาย แผนกทั่วไป รวมถึงเริ่มต้นรับนักเรียนในรูปแบบสหศึกษาตั้งแต่ระดับชั้น มศ.1 เป็นต้นมา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ได้เริ่มใช้งาน หลักสูตรมัธยมศึกษาตอลปลาย พ.ศ. 2518 ในชั้น ม.ศ.4 ปี พ.ศ. 2521 เริ่มใช้งาน หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พ.ศ. 2521 ปี พ.ศ. 2524 เริ่มใช้หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ. 2524 ในชั้น ม.4 และปรับเปลี่ยนหลักสูตรตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้ใช้งานจนถึงปัจจุบัน[2]
สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน
[แก้]ตราสัญลักษณ์
[แก้]ตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ประกอบไปด้วย ตราพระเกี้ยวเปล่งรัศมีด้านบน ด้านล่างเป็นวงกลมภายในมีอักษรย่อ บ.ฉ. 5 ด้านล่างมีแพรแถบข้อความชื่อโรงเรียน มีความหมายดังนี้[9]
- ตระพระเกี้ยวเปล่งรัศมี เป็นตราประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ก่อตั้งและพระราชทานนามโรงเรียน
- หมาลเลข 5 หมายถึงเลขประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- อักษรย่อ บ.ฉ. ย่อมาจาก เบญจมราชูทิศ ฉะเชิงเทรารังสฤษฎิ์ ซึ่งเป็นชื่อพระราชทานของโรงเรียนก่อนจะยุบรวมกัน
- แพรแถบด้านล่าง มีข้อความว่า โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์
อักษรย่อ
[แก้]แต่เดิมโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ใช้อักษรย่อว่า ฉ.ช.1 เนื่องจากเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด ตามในประกาศของกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียนเมื่อปี พ.ศ. 2486[10] ก่อนจะปรับมาใช้ บ.ฉ. ซึ่งย่อมาจากเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา[11] และใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ดอกไม้ประจำโรงเรียน
[แก้]โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ได้มีการกำหนดดอกไม้ประจำโรงเรียนขึ้นจากคราวการประชุมหารือร่วมกันกับสมาคมศิษย์เก่า (โดยการนำเสนอจากครูสมเกียรติ เหล่าวิทยากุล และนายศรายุธ อ่อนหวาน) ในปี พ.ศ. 2566 โดยกำหนดให้ดอกแก้วเจ้าจอม เป็นดอกไม้ประจำโรงเรียน เนื่องจากมีชื่อที่เป็นมงคล คือคำว่าเจ้าจอม สื่อความหมายในการรำลึกถึงรัชกาลที่ 5 และมีความหมายว่าไม้แห่งชีวิต จากการสร้างชีวิตด้วยการให้การศึกษากับศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันมาโดยตลอด[12] ซึ่งมีการทำพิธีปลูกต้นแก้วเจ้าจอมในวันสถาปนาโรงเรียนครบรอบ 131 ปี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2566[13]
เครื่องแบบนักเรียน
[แก้]โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ประกอบไปด้วยเครื่องแบบหลัก 2 รูปแบบด้วยกันคือ ชุดนักเรียน และชุดพลศึกษา โดยแบ่งเป็น 2 ระดับชั้น คือ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย
มัธยมศึกษาตอนต้น
[แก้]ชุดนักเรียน ปัก ชื่อ – นามสกุล ที่หน้าอกด้านซ้ายด้วยไหมสีน้ำเงิน เหนือชื่อ - นามสกุลปักจุดบอกระดับชั้น 1 - 3 บ่งบอกถึง ม.1 - 3 ตามลำดับ หน้าอกด้านขวาปักอักษรย่อ บ.ฉ. ด้านบน และปักรหัสประจำตัวนักเรียนด้านล่างด้วยไหมสีน้ำเงินเช่นกัน โดยนักเรียนชายใช้เสื้อเชิ้ตคอตั้งแขนสั้นสีขาว กางเกงสีกากีแบบนักเรียนขาสั้น[14] นักเรียนหญิงใช้เสื้อแขนสั้นสีขาวคอปกกะลาสีแบบนักเรียน กระโปรงมีจีบสีกากี
ชุดพลศึกษา เป็นชุดวอร์มเฉพาะของโรงเรียน ประกอบด้วยเสื้อสีเหลือง ปัก ชื่อ - นามสกุล ที่หน้าอกด้านซ้ายด้วยไหมสีน้ำเงิน เหนือชื่อ - นามสกุล ปักจุดบอกระดับชั้น 1 - 3 บ่งบอกถึง ม.1 - 3 ตามลำดับ และกางเกงวอร์มขายาวสีน้ำเงิน ทั้งนักเรียนชายและนักเรียนหญิง
มัธยมศึกษาตอนปลาย
[แก้]ชุดนักเรียน ปัก ชื่อ – นามสกุล ที่หน้าอกด้านซ้ายด้วยไหมสีน้ำเงิน ปกเสื้อด้านซ้ายปักจุดบอกระดับชั้น 1 - 3 บ่งบอกถึง ม.4 - 6 ตามลำดับ หน้าอกด้านขวาปักตราพระเกี้ยวสัญลักษณ์โรงเรียนด้านบน ด้านล่างปักอักษรย่อ บ.ฉ. ด้วยไหมสีน้ำเงินเช่นกัน โดยนักเรียนชายใช้เสื้อเชิ้ตคอตั้งแขนสั้นสีขาว กางเกงสีกากีแบบนักเรียนขาสั้น[14] นักเรียนหญิงใช้เสื้อสีขาวคอปกแบบนักเรียน กระโปรงมีจีบสีกากี และเก็บชายเสื้อไว้ในกระโปรง
ชุดพลศึกษา เป็นชุดวอร์มเฉพาะของโรงเรียน ประกอบด้วยเสื้อสีน้ำเงน ปัก ชื่อ - นามสกุล ที่หน้าอกด้านซ้ายด้วยไหมสีเหลือง เหนือชื่อ - นามสกุล ปักจุดบอกระดับชั้น 1 - 3 บ่งบอกถึง ม.4 - 6 ตามลำดับ และกางเกงวอร์มขายาวสีน้ำเงิน ทั้งนักเรียนชายและนักเรียนหญิง
สำหรับนักเรียนที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการนักเรียน จะประดับเข็มสัญลักษณ์ประจำโรงเรียน
หลักสูตรที่เปิดสอน
[แก้]ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
[แก้]- ห้องเรียนพิเศษ[15]
- ห้องเรียนปกติ[17]
- แผนการเรียนวิทย์ – คณิต (เสริมพื้นฐานสอบเตรียมทหาร) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
- แผนการเรียนวิทย์ – คณิต (เสริมพื้นฐานวิศวะ – สถาปัตย์) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
- แผนการเรียนวิทย์ – คณิต (เสริมพื้นฐานแพทย์ – พยาบาล) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
- แผนการเรียนวิทย์ – คณิต (ทั่วไป) ระดับชั้นละ 3 ห้อง (120 คน)
- แผนการเรียนอังกฤษ – จีน (เสริมพื้นฐานทักษะภาษาสู่สากล) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
- แผนการเรียนทั่วไป (ศิลปะ – กีฬา) ศูนย์บางเตย ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
- แผนการเรียนทั่วไป (เกษตร/งานช่าง) ศูนย์บางเตย ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
[แก้]- ห้องเรียนพิเศษ[15]
- ห้องเรียนปกติ[17]
- แผนการเรียนวิทย์ – คณิต (เสริมพื้นฐานสอบเตรียมทหาร) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
- แผนการเรียนวิทย์ – คณิต (เสริมพื้นฐานวิศวะ – สถาปัตย์) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
- แผนการเรียนวิทย์ – คณิต (เสริมพื้นฐานแพทย์ – พยาบาล) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
- แผนการเรียนวิทย์ – คณิต (เสริมทักษะดิจิทัล – หุ่นยนต์) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
- แผนการเรียนวิทย์ – คณิต (เสริมพื้นฐานโลจิสติกส์) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
- แผนการเรียนวิทย์ – คณิต (ทั่วไป) ระดับชั้นละ 6 ห้อง (240 คน)
- แผนการเรียนศิลป์ – คำนวณ (ภาษา – คณิต) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
- แผนการเรียนอังกฤษ – จีน (เตรียมทักษะภาษาสู่สากล) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
- แผนการเรียนอังกฤษ – ไทย – สังคม ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
ชีวิตในโรงเรียน
[แก้]โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ประกอบด้วยการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1 - ม.3) และมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4 - ม.6) โดยแบ่งเป็นห้องเรียนพิเศษ และห้องเรียนปกติทั้งสองระดับชั้น
ในการมาเรียนในแต่ละวัน จะใช้ระบบเช็คการมาเข้าเรียนด้วยการสแกนลายนิ้วมือ[19] และมีการเปิดเพลง เบญจมราชรังสฤษฎิ์ (เพลงกฤษณ์กังวาน) ระยะเวลาประมาณ 5 นาที[20] พร้อมเสียงบอกระยะเวลาที่เหลือก่อนจะจบเพลง เพื่อเป็นสัญญาณในการเตรียมรวมแถวเพื่อทำกิจกรรมหน้าเสาธง เริ่มใช้งานมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา[20]
ปัจจุบันระเบียบเกี่ยวกับทรงผม โรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนสามารถไว้ผมยาวได้ตามความเหมาะสม โดยนักเรียนหญิงที่ไว้ผมยาวจะต้องใช้โบว์ในการผูกรวบผม
ด้านวิชาการ
[แก้]โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์มีนักเรียนได้รับรางวัลจากการแข่งขันทางวิชาการ จากโอลิมปิกวิชาการ ทั้งในระดับประเทศ[21] และในระดับนานาชาติ ทั้งเหรียญทอง[22]เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง[23][24] นอกจากนี้โรงเรียนยังได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์ สอวน. วิชาดาราศาสตร์[25] ซึ่งเป็น 1 ใน 12 แห่งทั่วประเทศ และศูนย์โรงเรียนขยายผล สอวน. กลุ่ม 7 ภาคตะวันออก ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยบูรพา ในวิชาฟิสิกส์[26] ร่วมกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี
กิจกรรมภายในโรงเรียน
[แก้]ชมรมและกิจกรรมชุมนุม
[แก้]ลูกเสือกองเกียรติยศ โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ลูกเสือกองร้อยพิเศษเบญจมราชรังสฤษฎิ์ มีคำขวัญว่า "เกียรติ วินัย หน้าที่ สามัคคี กล้าหาญ มั่นคง ตรงต่อเวลา" เป็นกิจกรรมเพื่อพัฒนาตนเองให้มีความพร้อมในการเป็นผู้นำในการปฏิบัติงานด้านลูกเสือ มีอักษรย่อว่า BRR SCout[27] โดยผู้เข้ารับการฝึกจะได้รับการฝึกทักษะในด้านต่าง ๆ ตามหลักสูตรทางลูกเสือซึ่งจะได้รับเครื่องหมายวิชาพิเศษ โดยจะมีเครื่องหมายแสดงคุณวุฒิทางลูกเสือแสดงถึงความสามารถตามลำดับ อีกทั้งยังมีหน้าที่ปฏิบัติงานจิตอาสาต่าง ๆ ของโรงเรียน[28] และเป็นวิทยากรในการฝึกอบรมลูกเสือ โดยลูกเสือกองร้อยพิเศษเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ได้แข่งขันชนะการประกวดระเบียบแถวลูกเสือ เนตรนารี ระดับจังหวัด ได้รับคัดเลือกไปร่วมแข่งขันระดับประเทศ[29] ในการเดินสวนสนามในพิธีทบทวนคำปฏิญาณและสวนสนามของลูกเสือ เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติทุกปี[29]
ด้านดนตรี
[แก้]วงดนตรีโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา (BRR Band) มีความโด่ดเด่นในการแสดงศักยภาพทางด้านดนตรีของนักเรียน โดยได้ร่วมแสดงในกิจกรรมทั้งระดับจังหวัด ในงานนมัสการหลวงพ่อโสธร และงานประจำปี จังหวัดฉะเชิงเทราทุก ๆ ปี และได้ร่วมการแข่งขันทั้งในระดับประเทศ[30] และระดับนานาชาติจนได้รับรางวัล อาทิ ชนะเลิศ DRUM BATTLE ในการแข่งขัน 2019 Marching In Okayama[31] ชนะเลิศการแข่งขัน DRUM BATTLE การประกวดวงโยธวาทิตนักเรียน ประจำปี 2563 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี[30]
ด้านกีฬา
[แก้]ทีมกีฬาชักกะเย่อเบญจมราชรังสฤษฎิ์ (ชมรม TUG OF WAR จังหวัดฉะเชิงเทรา) เป็นทีมชักกะเย่อระดับทีมชาติไทย ผ่านการแข่งขันรายการต่าง ๆ ในประเทศไทย และได้รับการคัดเลือกให้ไปแข่งขันระดับนานาชาติในรายการต่าง ๆ เช่น[32] การแข่งขัน Tug of War World Indoor Championships, Netherlands 2016 ได้รับรางวัลอันดับ 4 ของทวีปเอเชีย และอันดับ 3 ของโลก รุ่น Senior U23 ทีมชายและหญิงในการแข่งขัน 2018 TWIF WORLD Indoor Championship XUZHOU CHINA ณ ประเทศจีน[33]
สถานที่ภายในโรงเรียน
[แก้]โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ มีเนื้อที่ทั้งหมด 33 ไร่ 3 งาน 93 ตารางวา ประกอบด้วยกลุ่มอาคารเรียน ลานกิจกรรม สนามกีฬา และสวนหย่อมสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ มีอาณาเขตติดต่อกับถนนชุมพล ถนนมหาจักรพรรดิ์ และถนนนรกิจ[34]
สถานที่สำคัญ
[แก้]- พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานอยู่บริเวณด้านหน้าอาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ฝั่งตะวันออก[35][36] สร้างขึ้นในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 และประกอบพิธีเปิดโดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2547[a]
- หอพระประวัติศาสตร์ 129 ปี อยู่บริเวณด้านหน้าอาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ฝั่งตะวันตก เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโสธร 2 องค์ และพระพุทธเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 1 องค์[37] สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสโรงเรียนครบรอบ 129 ปีเมื่อปี พ.ศ. 2564 โดยสมาคมศิษย์เก่าเบญจมราชรังสฤษฎิ์ แต่เดิมหอพระหลังเก่ามีเพียงแค่พระพุทธเบญจมราชรังสฤษฎิ์
- หอนาฬิกากฤษณ์กังวาน สร้างขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2522 โดยคณะศิษย์เก่าฯ[b] เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ครูกฤษณ์ มุสิกุล ที่ได้อุทิศกายใจให้กับโรงเรียนตลอดอายุราชการกว่า 40 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2478 - 2517[c] โดยตัวหอนาฬิกาติดตั้งคู่กับเสาธงเพื่อส่งสัญญาณเปลี่ยนคาบเรียนของนักเรียน จะดังทุก ๆ 50 นาทีจนถึงเวลาเลิกเรียน[20]
อาคารเรียน
[แก้]ปัจจุบันโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ มีอาคารหลักภายในโรงเรียนจำนวนทั้งสิ้น 10 อาคาร ประกอบไปด้วย
- อาคาร 1 มีความสูง 3 ชั้น
- ชั้น 1 เป็นที่ตั้งของห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และชั้นนี้ยังเป็นที่ตั้งของห้องสมุดของกลุ่มสาระการเรียนรู้นี้
- ชั้น 2 เป็นห้องเรียนวิทย์-คณิตและห้องพระพุทธศาสนา
- ชั้น 3 เป็นห้องเรียนวิทย์-คณิต
- อาคาร 2 หรืออีกชื่อหนึ่งว่า อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา มีความสูง 7 ชั้น
- ชั้น 1 โรงอาหาร
- ชั้น 2 ห้องสมุด ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ห้องสมุดที่รวบรวมหนังสือ ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ และห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก
- ชั้น 3 เป็นชั้นที่มีการเรียนการสอนวิชาเคมี มีห้องพักครูและห้องปฏิบัติการเคมี
- ชั้น 4 เป็นชั้นที่มีการสอนวิชาชีววิทยา มีห้องพักครูสาขาวิชาชีววิทยา
- ชั้น 5 เป็นชั้นที่มีการสอนวิชาฟิสิกส์ มีห้องพักครูสาขาวิชาฟิสิกส์
- ชั้น 6 เป็นชั้นที่มีการสอนวิชาวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มีห้องพักครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
- ชั้น 7 เป็นที่ตั้งของห้องเรียนสีเขียว ห้องเรียนรวม เป็นชั้นที่มีการสอนวิชาดาราศาสตร์
- ดาดฟ้า มีหอดูดาวเป็นทรงกลมโดมติดตั้งอยู่[38]
- อาคาร 3 มีความสูง 2 ชั้น
- ชั้น 1 เป็นที่เรียนของกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี สาระการเรียนรู้ย่อยคหกรรมศาสตร์ ห้องศูนย์เพื่อนใจและห้องชมรม TO BE NUMBER ONE
- ชั้น 2 เป็นที่ตั้งของห้องเรียนวิทย์-คณิต
- อาคาร 4 มีความสูง 4 ชั้น เป็นอาคารสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ โดยชั้น 2 ของอาคารเป็นที่ตั้งของห้องพักครู ห้อง Sound Lab ห้อง Multimedia และห้องสมุดของกลุ่มสาระการเรียนรู้นี้
- อาคาร 5 มีความสูง 4 ชั้น
- ชั้น 1 เป็นที่ตั้งของห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ซึ่งรวมทั้งห้องปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์และห้องสมุดของกลุ่มสาระการเรียนรู้ รวมทั้งห้องปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ ซึ่งด้านข้างของอาคารเป็นที่ตั้งของร้านถ่ายเอกสาร
- ชั้น 2 เป็นที่ตั้งของห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาระการเรียนรู้ย่อยคอมพิวเตอร์ รวมทั้งห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์
- อาคาร 6 หรืออีกชื่อหนึ่งว่า อาคารอนุสรณ์ อาจารย์สุบิน พิมพยะจันทร์ มีความสูง 2 ชั้น เป็นอาคารสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี จำนวน 2 สาระการเรียนรู้ย่อย
- ชั้น 1 เป็นที่ตั้งของกลุ่มสาระการเรียนรู้ย่อยเกษตรกรรม ร้านสหกรณ์โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ธนาคารโรงเรียน และห้องพยาบาล
- ชั้น 2 เป็นที่ตั้งของกลุ่มสาระการเรียนรู้ย่อยอุตสาหกรรมศิลป์ ห้องประชุมคุณปู่สุบิน - คุณย่าส้มเช้า พิมพยะจันทร์ และห้องเรียนประจำชั้นของนักเรียน ม.3
- อาคาร 7 มีความสูง 3 ชั้น
- ชั้น 1 เป็นที่ตั้งของห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย และห้องดนตรีสากล
- ชั้น 2 เป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย และห้อง���ักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปศึกษา รวมทั้งห้องนาฏศิลป์
- ชั้น 3 เป็นห้องปฏิบัติการดนตรี และห้องเรียนวิทย์ - คณิต
- อาคาร 8 มีความสูง 4 ชั้น โดยชั้น 1 เป็นห้องประชุมธรรมมังคลาจารย์ ชั้น 2 3 และ 4 เป็นห้องเรียนสำหรับนักเรียนห้องพิเศษคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และห้องพักครูกลุ่มห้องพิเศษเหล่านี้
- อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ มีความสูง 2 ชั้น
- ชั้น 1 เป็นที่ตั้งของห้องแนะแนว ห้องวิชาการ ห้องธุรการ ห้องประชาสัมพันธ์ ห้องปกครอง และห้องพักรองผู้อำนวยการ
- ชั้น 2 เป็นที่ตั้งของห้องพักผู้อำนวยการ ห้องประชุม และห้องเกียรติยศ ซึ่งรวบรวมผลงานและชื่อเสียงของนักเรียนโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
- อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีความสูง 3 ชั้น
- ชั้น 1 เป็นที่ตั้งของลานอเนกประสงค์ ห้องสภานักเรียน และร้านถ่ายเอกสาร
- ชั้น 2 เป็นที่ตั้งของห้องโสตทัศนศึกษา และงานเทคโนโลยีทางการศึกษา
- ชั้น 3 เป็นห้องประชุมใหญ่
- กลุ่มอาคารฝึกวิชาชีพ ประกอบไปด้วย
- เรือนเพาะชำ
- โรงฝึกงาน
ลานกิจกรรมและกีฬา
[แก้]โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ มีพื้นที่กิจกรรมและสนามกีฬาที่หลากหลาย เช่น
- สนามฟุตบอลกลางแจ้งขนาดมาตรฐาน
- สระว่ายน้ำเบญจมราชรังสฤษฎิ์ สระว่ายน้ำขนาดมาตรฐาน ใช้สำหรับการเรียนวิชาพลศึกษา และจัดการแข่งขันต่าง ๆ
- โรงยิมเนเซียม บริเวณหน้าสระว่ายน้ำ เป็นสนามวอลเลย์บอลและลานกิจกรรมในร่ม
- โรงยิมเนเซียมและลานกีฬาในร่ม บริเวณด้านข้างและใต้อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประกอบไปด้วยสนามบาสเกตบอล สนามแบดมินตัน สนามปิงปอง และกลุ่มอาคารพลศึกษา ประกอบไปด้วย
- อาคารพลศึกษา อาจารย์สุบิน พิมพยะจันทร์ เป็นที่ตั้งของสนามบาสเกตบอล
- อาคารอำพล เหรียญสุวรรณ เป็นที่ตั้งของโรงยิมนาสติก
- ลานกิจกรรมกลางแจ้ง
สวนพักผ่อนหย่อนใจ
[แก้]พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจภายในโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ มีกระจายอยู่ทั่วไปโดยรอบบริเวณโรงเรียน โดยพื้นที่หลักประกอบไปด้วย
- สวนบริเวณข้างสนามฟุตบอล ประกอบไปด้วยศาลาพักผ่อนและสวนหย่อม
- สวนลูกเสือกองเกียรติยศ บริเวณข้างอาคาร 7 ติดประตู 1 (ทางออก)
- สวนบริเวณหน้าอาคาร 4 ประกอบไปด้วยสวนหย่อม และศาลาพักผ่อน
บรรยากาศสถานที่ในโรงเรียน
[แก้]-
ศาลาพักผ่อนหน้าอาคาร 4 ต่อเนื่องไปถึงอาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
-
สระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกของโรงเรียน
-
ลานกีฬาข้างอาคารพลศึกษา อาจารย์สุบิน พิมพยะจันทร์
-
อาคาร 2 และทางเชื่อมมีหลังคาไปยังอาคาร 1 และอาคาร 4
-
สนามฟุตบอลของโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์
-
หอนาฬิกากฤษณ์กังวานและหอพระหลังเก่าในปี พ.ศ. 2554
เกร็ด
[แก้]ประตูทางเข้าโรงเรียนฝั่งถนนชุมพลมีชื่อว่า ประตูฤทธิประศาสน์ มีที่มาจาก นายชูสง่า ฤทธิประศาสน์ ศิษย์เก่าของโรงเรียนซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครอง ได้บริจาคเงินเพื่อสร้างประตูโรงเรียนเมื่อปี พ.ศ. 2516 จึงได้นำนามสกุลมาตั้งเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึง[39][40]
ผู้อำนวยการโรงเรียน
[แก้]โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ประกอบด้วยครูใหญ่และผู้อำนวยการรายนามดังนี้[41]
ลำดับที่ | รายนาม | วาระการดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|
1 | นายแปลก | ไม่พบหลักฐาน |
2 | ขุนกิตติวิทย์ (ฮะเซี้ยง ตีระวณิช) | 18 มีนาคม 2455 |
3 | ขุนพูลคุณสมบัติ (สวาสดิ์ คัยนันทน์) | 15 สิงหาคม 2462 |
4 | ขุนอภิรามจรรยา (ลำดวน สมิตัย) | 16 กุมภาพันธ์ 2466 |
5 | นายประเสริฐ (เซ่งฮั้ว ปาณฑุรังคานนท์) | 18 มีนาคม 2470 |
6 | นายสุบิน พิมพะยะจันทร์ | 28 กุมภาพันธ์ 2473 |
7 | หลวงอาจวิชาสรร (ทอง ชัยปาณี) | 1 พฤษภาคม 2477 |
8 | นายศิริพล (ย้อย) วรสินธุ์ | 23 ตุลาคม 2479 |
9 | นายชอบ จุลศรีไกวัล (รักษาการแทน) | 22 พฤศจิกายน 2488 |
10 | นายสุรินทร์ สอนสิริ | 19 เมษายน 2489 |
11 | นายมงคลชัย เหมริด | 1 กันยายน 2490 |
12 | นายเทพ เวชพงศ์ | 12 สิงหาคม 2493 |
13 | นายไพบูลย์ รัตนมังคละ | 10 กุมภาพันธ์ 2496 |
14 | นายชวน สุวรรณรอ | 1 มิถุนายน 2499 |
15 | นายชื้น เรืองเวช | 1 พฤษภาคม 2507 |
16 | นายอุเทน เจริญกูล | 1 ตุลาคม 2509 |
17 | นายเสนาะ จันทร์สุริยา | 1 พฤศจิกายน 2517 |
18 | นายกมล ธิโสภา | 24 กรกฎาคม 2519 |
19 | นายถนอม ทัฬหพงศ์ | 7 มิถุนายน 2520 |
20 | นายจงกล เมธาจารย์ | 27 ตุลาคม 2520 |
21 | นายพัลลภ พัฒนโสภณ | 12 พฤศจิกายน 2522 |
22 | นายสมศักดิ์ ศรีสุวรรณ | 12 พฤศจิกายน 2527 |
23 | นายเผดิม สุวรรณโพธิ์ | 7 ธันวาคม 2530 |
24 | นายอร่าม รังสินธุ์ | 19 ตุลาคม 2533 – 2541 |
25 | นายบุญส่ง ชิตตระกูล | 9 มกราคม 2541 – 9 ธันวาคม 2542 |
26 | นายสมบูรณ์ ธุวสินธุ์ | 20 มกราคม 2543 – 2547 |
27 | นายอำนาจ เดชสุภา | 1 ตุลาคม 2547 – 2557 |
28 | นายชาติชาย ฟักสุวรรณ | 22 มิถุนายน 2558 – 2559 |
29 | ดร.วีระชัย ตนานนท์ชัย | 9 มีนาคม 2560 – 2561 |
30 | นายศักดิ์เดช จุมณี | 18 มีนาคม 2563 – 2564 |
31 | นายชัชชัย พุทธสุวรรณ์ | ปัจจุบัน |
เบญจมราชรังสฤษฎิ์ ศูนย์บางเตย
[แก้]เบญจมราชรังสฤษฎิ์ ศูนย์บางเตย ตั้งอยู่ที่ ตำบลบางเตย อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา
ประวัติ
[แก้]เดิมเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ศูนย์บางเตย คือโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 4 ก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 โดยการประสานงานของผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดในขณะนั้นคือนายประสิทธิ์ แสนสุข บนที่ดินของวัดราษฎร์บำรุงวนาราม (วัดเกาะ) เนื้อที่ประมาณ 34 ไร่ 82 ตารางวา ซึ่งพระครูถาวรพัฒนาคุณ เจ้าอาวาสได้อนุญาตให้ใช้เพื่อเป็นสถานศึกษาของเด็กในพื้นที่ตำบลบางเตย และตำบลใกล้เคียง เพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการส่งเด็กในพื้นที่เข้าไปเรียนในตัวเมือง ซึ่งห่างจากพื้นที่ประมาณ 13 กิโลเมตร โดยมีผู้บริหารคนแรกคือ นายสุธี ปั้นบัว และกรรมการสถานศึกษาคนแรกคือ ผู้ใหญ่สุขันธ์ โลหิตกุล[42]
ต่อมาโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษ 4 ได้ถูกยุบเลิกตามมติที่ประชุมของกรรมการเขตพื้นที่การศึกษามัธยม เขต 6 ครั้งที่ 3/2556 ลงวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2556 เนื่องจากไม่มีนักเรียนเพียงพอที่จะจัดการเรียนการสอนได้[43] จึงโอนการดูแลทุกอย่างไปอยู่กับโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ โดยคณะกรรมการสภานักเรียน ปีการศึกษา 2555 - 2556 และศิษย์เก่าสภานักเรียน ได้ดำเนินการเข้าปรับปรุงพื้นที่และเตรียมความพร้อมพื้นที่[44] เพื่อเปิดการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ระดับชั้นละ 2 ห้องเรียน และพัฒนาพื้นที่สำหรับใช้ดำเนินกิจกรรมนอกห้องเรียน เช่น ค่ายลูกเสือและเนตรนารี ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โดยได้ดำเนินกาารับมอบพื้นที่ ทรัพย์สิน และเอกสารสำคัญอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557[45]
อาคารสถานที่
[แก้]อาคารสถานที่ของโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ศูนย์บางเตย มีเนื้อที่ประมาณ 34 ไร่ 82 ตารางวา[42] ประกอบด้วยอาคารเดิมจากโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 4 ที่ได้รับมอบมาอยู่ในการดูแล และอาคารสถานที่ที่ได้รับการปรับปรุงและสร้างขึ้นมาใหม่ ประกอบไปด้วย
- อาคาร 1 เป็นอาคารเรียน 2 ชั้น
- ชั้น 1 เป็นเวทีและลานกิจกรรม
- ชั้น 2 เป็นห้องเรียน
- อาคาร 2 เป็นอาคารเรียน 1 ชั้น
- ชั้น 1 เป็นห้องเรียน
- อาคารโลหิตกุลอนุสรณ์ เป็นอาคารหลังแรกของโรงเรียนในขณะที่ยังใช้ชื่อว่าโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 4
- หอพระ เป็นการอัญเชิญหอพระหลังเก่าจากโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ มาก่อสร้างขึ้นใหม่หน้าอาคาร 1
- อาคารอเนกประสงค์ เป็นอาคารมีหลังคาขนาดใหญ่ ใช้สำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงลานกีฬาในร่ม
- สนามฟุตบอล
- ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
- ศูนย์ฝึกอบรมลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด "เบญจมธรรมวาที"
ศูนย์ฝึกอบรมลูกเสือ เบญจมธรรมวาที
[แก้]ศูนย์ฝึกอบรมลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด "เบญจมธรรมวาที" เป็นพื้นที่ค่ายฝึกลูกเสือภายในพื้นที่ของโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ศูนย์บางเตย ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยกว้างขวาง เหมาะกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในกิจการลูกเสือ โดยเปิดฝึกอบรมให้ทั้งนักเรียนของของโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์เอง และสถานศึกษาอื่น ๆ[46][47]
องค์กร
[แก้]มูลนิธิเบญจมราชรังสฤษฎิ์
[แก้]ชื่อย่อ | ม.น.บ.ฉ. |
---|---|
ก่อตั้ง | 2 มีนาคม พ.ศ. 2535 |
ประเภท | มูลนิธิ |
สํานักงานใหญ่ | โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ถนนชุมพล ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา 24000 |
ประธานกรรมการ | สุทนต์ พรหมนิยม |
มูลนิธิเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ก่อตั้งขึ้นโดยคณะครูของโรงเรียนในปี พ.ศ. 2535 โดย นายอร่าม รังสินธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนในขณะนั้นได้เป็นผู้ยื่นขอจดจัดตั้งมูลนิธิ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2535 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความประพฤติที่ดีหรือนักเรียนที่ขาดแคลน ทุนค่าแต่งกาย ทุนค่าอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลน และดำเนินการต่าง ๆ ที่เป็นการสนับสนุนการศึกษาและนักเรียนของโรงเรียน โดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง โดยคณะกรรมการชุดแรกมี นายอร่าม รังสินธุ์ เป็นประธานกรรมการ และนายบุญส่ง ชิตตระกูล เป็นรองประธานกรรมการ มีเงินทุนเริ่มแรกเป็นเงินสด จำนวน 500,000 บาท[48][49]
ประธานกรรมการคนปัจจุบันคือ นายสุทนต์ พรหมนิยม ได้รับการคัดเลือกจากการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ซึ่งคณะกรรมการแต่ละชุดจะมีวาระในการดำรงตำแหน่งครั้งละ 4 ปี[49]
ปัจจุบันมูลนิธิมีทรัพย์สินมาจาก 3 แหล่งคือ[49]
- เงินจากการบริจาคเพื่อการก่อตั้งมูลนิธิ โดยประสงค์ให้มูลนิธิจ่ายเฉพาะส่วนของดอกผลจากการก่อตั้งมูลนิธิ
- เงินจากการบริจากเข้ากองทุนของมูลนิธิ โดยประสงค์ให้มูลนิธิใช้เงินที่บริจาคพร้อมกับดอกผล
- ทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้โดยพินัยกรรม หรือผ่านนิติกรรมอื่น ๆ ที่ไม่มีเงื่อนไขผูกพันรับผิดชอบหนี้สิน
มูลนิธิได้มีการมอบเงินทุนการศึกษาให้กับนักเรียนของโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์เป็นประจำอยู่ทุก ๆ ปี[50][51] รวมถึงเปิดรับบริจาคในช่วงวันสำคัญต่าง ๆ ของโรงเรียน ซึ่งเงินบริจาคให้กับม��ลนิธินั้นสามารถนำไปขอหักลดหย่อนภาษีได้[52]
สมาคมศิษย์เก่าเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา
[แก้]สมาคมศิษย์เก่าเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา เป็นสมาคมที่จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2503 ซึ่งเกิดจากการปรึกษาหารือกันของศิษย์เก่าในขณะนั้นที่ต้องการรวมตัวกันให้เป็นปึกแผ่น โดยได้ปรึกษากันตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2502 เป็นต้นมา แต่ก็ยังไม่เป็นรูปร่างสักที จนกระทั่งครูกฤษณ์ มุสิกุล ได้ยื่นขอจดทะเบียนเป็นสมาคมต่อทางราชการเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2503 โดยมีนายจุมพล พรหมเจริญ (ครูผิน) เป็นผู้ร่างข้อบังคับต่าง ๆ ของสมาคมขึ้นมา โดยมีอาจารย์สุบิน พิมพยะจันทร์ เป็นนายกสมาคมคนแรกในการจดทะเบียน[53]
จากนั้นได้มีการชุมนุมศิษย์เก่าขึ้นในปี พ.ศ. 2504 และได้มีการประชุมสมาคมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2503 โดยคณะกรรมการชุดแรกได้ลาออก เพื่อให้ที่ประชุมได้ลงคะแนนเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ โดยมีมติเลือก พลตรี ศิริ สิริโยธิน เป็นนายกสมาคมศิษย์เก่า และอาจารย์สุบิน พิมพยะจันทร์ เป็นนายกกิตติมศักดิ์ชุดแรกจากการเลือกตั้ง[53]
สมาชิกของสมาคมศิษย์เก่า
[แก้]สำหรัสมาชิกของสมาคมตามข้อบังคับนั้น ประกอบไปด้วยผู้ที่เคยศึกษาในโรงเรียนซึ่งเป็นชื่อของโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ในอดีตที่เคยมีการเรียนการสอนมา มีสถานะเป็นสมาชิกสามัญ ประกอบไปด้วย[53]
- โรงเรียนอณัตยาคม (วัดสายชล ณ รังษี) วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์
- โรงเรียนเบญจมราชูทิศ
- โรงเรียนประจำมลฑลปราจีนบุรี "ฉะเชิงเทรารังสฤษฎิ์"
- นักเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรมณฑล
- นักเรียนฝึกหัดครูมูล
- นักเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัด ซึ่งมีสถานศึกษาอยู่ในโรงเรียนประจำมณฑลปราจีนบุรี "ฉะเชิงเทรารังสฤษฎิ์" มาแต่แรก
- โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงคนที่เคยเป็นครู อาจารย์ ผู้บริหาร หรือบุคลากรที่ปฏิบัติงานตาม 7 ข้อที่กล่าวไปข้างต้น[53]
สมาคมผู้ปกครองและครูเบญจมราชรังสฤษฎิ์
[แก้]Parents & Teacher Benchamaratcharungsarit Association | |
ชื่อย่อ | ส.ป.ค.บ. / P.T.B.A. |
---|---|
ประเภท | สมาคม |
สํานักงานใหญ่ | 222/42 ถนนชุมพล ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา 24000 |
สมาคมผู้ปกครองและครูเบญจมราชรังสฤษฎิ์ เป็นสมาคมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อใช้ในการประสานงานระหว่างครูและผู้ปกครองในการดูแลนักเรียนที่เข้าศึกษาในโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ทั้งในส่วนของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการแก้ไขปัญหาระหว่างครูและผู้ปกครอง การดูแลสวัสดิภาพและความช่วยเหลือต่าง ๆ ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดีแต่ไม่มีคุณทรัพย์ การต่อต้านยาเสพติดทั้งในและนอกสถานศึกษา และกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์ตามที่กรรมการเห็นชอบ[54]
สมาชิกของสมาคมผู้ปกครองและครู
[แก้]สำหรับสมาชิกของสมาคมตามข้อบังคับนั้น มี 2 รูปแบบ[55][56] คือ
- สมาชิกกิตติมศักดิ์ ที่สร้างคุณประโยชน์หรือสนับสนุนสมาคมและได้รับการรับรองจากคณะกรรมการบริหาร
- สมาชิกสามัญ จะต้องมีคุณสมบัติประกอบไปด้วย จะต้องบรรลุนิติภาวะ มีความประพฤติดี เป็นผู้ปกครอง บิดา มารดา ครูของนักเรียนโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ หรือเคยเป็น เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์
การจัดสร้างพระพุทธโสธร
[แก้]เนื่องจากโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา ทำให้มีความผูกพันกับหลวงพ่อโสธร (พระพุทธโสธร) ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองประจำจังหวัดเช่นกัน จึงได้มีการจัดทำวัตถุมงคลซึ่งเป็นพระพุทธโสธรในวาระโอกาสต่าง ๆ ของโรงเรียน ดำเนินการโดยสมาคมศิษย์เก่าเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา และสมาคมผู้ปกครองและครูเบญจมราชรังสฤษฎิ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ระลึกในโอกาสนั้น ๆ และเพื่อนำปัจจัยดังกล่าวมาทะนุบำรุงการศึกษาของโรงเรียน เช่น
- หลวงพ่อโสธร รุ่น 100 ปี โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ปี พ.ศ. 2535 โดย สมาคมศิษย์เก่าเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา[57] จัดสร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอนุสรณ์ในวาระครบรอบ 100 ปี หรือ 1 ศตวรรษของโรงเรียน และเป็นเงินทุนในการก่อสร้างอาคารเรียน 1 อาคาร[57]
- หลวงพ่อโสธร รุ่น 111 ปี โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ ปี พ.ศ. 2546 โดย สมาคมศิษย์เก่าเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา[58] จัดสร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อการศึกษาและโรงเรียน เป็นอนุสรณ์เนื่องในวาระครบรอบ 111 ปีของโรงเรียน และช่วยเหลือสนับสนุนโรงเรียน[58]
- หลวงพ่อโสธร รุ่น "12 นักษัตร" สร้างขึ้นในวาระครบรอบ 121 ปี โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ปี พ.ศ. 2557[59] โดย สมาคมศิษย์เก่าเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา[60]
- หลวงพ่อโสธร รุ่น ประวัติศาสตร์ 129 ปี เบญจมราชรังสฤษฎิ์ ปี พ.ศ. 2564 โดย สมาคมผู้ปกครองและครูเบญจมราชรังสฤษฎิ์[61] จัดสร้างเพื่อนำเงินไปปรับปรุงอาคารเรียน ภูมิทัศน์[62] และสร้างหอพระประวัติศาสตร์ 129 ปี เบญจมฯ[37]
เพลง
[แก้]โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์มีเพลงมาร์ชประจำโรงเรียนคือ มาร์ชเบญจมราชรังสฤษฎิ์ และเพลงที่ใช้สำหรับการรวมแถวเคารพธงชาติ คือ เบญจมราชรังสฤษฎิ์ (เพลงกฤษณ์กังวาน) นอกจากนี้ยังมีบทเพลงที่แต่งขึ้น เพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบไปด้วย[63]
ลำดับ | ชื่อเพลง | เนื้อเพลง | ทำนอง | ขับร้อง | ยาว |
---|---|---|---|---|---|
1. | "มาร์ชเบญจมราชรังสฤษฎิ์" (มาร์ชเบญจมฯ) | ผอ.พัลลภ พัฒนโสภณ | ผอ.พัลลภ พัฒนโสภณ | ขับร้องหมู่ | 1:55 |
2. | "เบญจมราชรังสฤษฎิ์" (กฤษณ์กังวาน) | อโศก สุขศิริพรฤทธิ์ วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ | ใหญ่ นภายน วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ | ศรีสุดา - อโศก วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ | 2:53 |
3. | "คอยเพื่อน" | ผอ.เผดิม สุวรรณโพธิ์ | ครูสุเทพ สนธิศรี | ครูทักษิณ แสนอิสระ | |
4. | "เบญจมกลองยาว" (2536) | ครูณรงค์ นันทิวิจตร | 2:44 | ||
5. | "เบญจมฯ ออปบิท" | วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ | วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ | 1:21 | |
6. | "เบญจมฯ ซะอย่าง" | 1:23 | |||
7. | "วัดสายชลจนรังสฤษฎิ์" | ผอ.เผดิม สุวรรณโพธิ์ | ผอ.เผดิม สุวรรณโพธิ์ | เรืองศิลป์ จิระวัฒน์ | 3:37 |
8. | "เบญจมาศ" | ผอ.เผดิม สุวรรณโพธิ์ | ผอ.เผดิม สุวรรณโพธิ์ | ครูวิษณุ พุ่มประดิษฐ์ | 2:44 |
9. | "สุขในบ้านเบญจมฯ" | วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ | วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ | 2:26 | |
10. | "มั่นในสัญญา" (2536) | ครูณรงค์ นันทวิจิตร | ครูณรงค์ นันทวิจิตร | ครูเกศสิรี ประเทือง | 3:15 |
11. | "รับขวัญ" | ผอ.เผดิม สุวรรณโพธิ์ | ผอ.เผดิม สุวรรณโพธิ์ | ครูเกศสิรี ประเทือง | 3:22 |
12. | "รอเพื่อน" | ผอ.เผดิม สุวรรณโพธิ์ | ครูสุเทพ สนธิศรี | ครูทักษิณ แสนอิสระ | 2:38 |
13. | "ทำไมรักกันไม่ได้" (2536) | ผอ.เผดิม สุวรรณโพธิ์ | ผอ.เผดิม สุวรรณโพธิ์ | ครูวินัย แถบทอง | 2:45 |
14. | "คืนสู่เหย้า" | วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ | วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ | วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ | 3:59 |
15. | "วัยเรียนวัยรัก" (2536) | ผอ.เผดิม สุวรรณโพธิ์ | ครูสุเทพ สนธิศรี | ครูสุกัลยา ธุปพงษ์ | 2:29 |
16. | "บิดาแห่งเบญจมฯ" | คัดไว้ และยอดนิยม | คัดไว้ และยอดนิยม | เสียงประสาน | 2:20 |
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
[แก้]ศาสนา
[แก้]- พระราชเวที (สุรพล ชิตญาโณ) - เจ้าคณะภาค 12 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
- พระราชภาวนาพิธาน (ศิริวัฒน์ สิริวฑฺฒโน) - เจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร และเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา
องคมนตรี และข้าราชการในสำนักพระราชวัง
[แก้]- นายจรูญพันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นองคมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 2 สมัย
- พลตำรวจตรี อรรถสิทธิ์ สิทธิสุนทร หรือหลวงอรรถสิทธิ์สิทธิสุนทร (ผวน ทองสยาม) - อัยการ ข้าราชการพลเรือนและนายตำรวจชาวไทย อดีตองคมนตรี ในรัชกาลที่ 9 อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการหลายจังหวัด เช่น จันทบุรี, เพชรบุรี, สุพรรณบุรี, และอุบลราชธานี
- พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท - องคมนตรี, ผู้บัญชาการทหารบก คนที่ 40
- นายสรรชัย เทียมทวีสิน ที่ปรึกษาสำนักพระราชวัง และอดีตรองผู้อำนวยการกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง
วิชาการ
[แก้]- ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.เกษม สุวรรณกุล (บ.ฉ.53) - กรรมการกฤษฎีกา อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน และอดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ - เจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ. 2544 สาขาควอนตัมฟิสิกส์
- นายแพทย์วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ - แพทย์ชนบทดีเด่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
ข้าราชการทหาร
[แก้]- พลอากาศเอก สนั่น ทั่วทิพย์ - ผู้บัญชาการทหารอากาศ[64] และนายกสมาคมศิษย์เก่าเบญจมราชรังสฤษฎิ์
- พลเอก เชษฐา ฐานะจาโร ผู้บัญชาการทหารบก คนที่ 30[65]
- พลเอก ดร.ประสาท สุขเกษตร - สมาชิกวุฒิสภา
- พลเอก ปรีชา สุวัณณะศรี - อดีตประธานที่ปรึกษากองทัพบกและอดีตแม่ทัพภาค 4
- พลเอก รณชัย มัญชุสุนทรกุล - อดีตผู้อำนวยการทหารผ่านศึก
- พลเรือโท รณรงค์ สิทธินันทน์ - อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (ผบ.นย.) อดีตผู้บัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด (ผบ.กปช.จต.)
ข้าราชการตำรวจ
[แก้]- พลตำรวจเอก อรรถพล แช่มสุวรรณวงศ์ - อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- พลตำรวจเอก สนั่น ตู้จินดา - อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ
- พลตำรวจเอก พลโท วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ - อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ อดีตรองเสนาธิการทหารบก
- พลตำรวจเอก ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร - ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- พลตำรวจโท ธีระชัย เหรียญเจริญ - อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1
- พลตำรวจโท พิสัณห์ จุลดิลก - อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3
- พลตำรวจโท โยธิน มัธยมนันท์ - อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล
- พลตำรวจโท ประหยัชว์ บุญศรี - จเรตำรวจ
- พลตำรวจโท นิพนธ์ ศิริวงศ์ - อดีตผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
- พลตำรวจโท สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8
ข้าราชการพลเรือน
[แก้]- กฤษฎา บุญราช (บ.ฉ.83) - อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยคนแรกที่จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และกรรมการอิสระ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
- นายชลอ วนะภูติ - อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย
- นายเฉลิมพร พิรุณสาร - อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ - อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตอธิบดีกรมสามัญศึกษา
- นายประจักษ์ บุญยัง - ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
- ร้อยตรี เบญจกุล มะกะระธัช - อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย
- ศาสตราจารย์พิเศษ ไพจิตร โรจวาณิช - อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ และรองปลัดกระทรวงการคลัง
- นายณรงค์ รัตนานุกูล - อดีตเลขาธิการคณะกรรมการปราบปรามยาเสพติด และสมาชิกวุฒิสภา
- นายสุทธิชัย สังขมณี - อดีตอธิบดีกรมสรรพากรและผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง
- นายเฉลิม บุญธรรมเจริญ - อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ
- ม.ร.ว.กำลูนเทพ เทวกุล - อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และอดีตสมาชิกวุฒิสภา
- นายสุจินต์ กิตติยารักษ์ - อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา
- นายสำเริง ปุณโยปกรณ์ - อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย
- นายประสิทธิ์ พรรณพิสุทธิ์ - อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์
- นายชวพงษ์ วัฒน์สินธุ์ - อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์
- นายธงชัย วงษ์เหรียญทอง - อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน
- นายไมตรี ไตรติลานันท์ - อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย
- นายธานินทร์ ผะเอม - อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
- นายธวัช เบญจาทิกุล - อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
- นายสุหะ ถนอมสิงห์ - อดีตอธิบดีกรมชลประทาน
- นายวิชาญ ทวิชัย - อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง
- นายวันชัย พนมชัย - เลขาธิการคณะกรรมการมาตรฐานอุตสาหกรรม
- นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงษ์ - อธิบดีกรมขนส่งทางราง
ข้าราชการตุลาการ
[แก้]- นายสุจินต์ จุฑาธิปไตย - ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
- นายเสน่ห์ บุญทมานพ - ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
- นายภิทเวทย์ ดลอารมย์ - ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานี
- นายสันต์ชัย ล้อมณีนพรัตน์ - ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฏีกา
- นายเลิศลภ กิตติถนอม - ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์
- นางพนารัตน์ คิดจิตต์ - ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนาญพิเศษ
- นายศักดา เรืองจันทร์ - ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงจังหวัดอุบลราชธานี
- นางน้ำทิพย์ อ่อนชด - ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์
- นายสมพงศ์ เผือกประดิษฐ์ - ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลอุทธรณ์ ภาค2
- นาย��งอาจ แน่นหนา - รองประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 3
- นายวิทยา ยิ่งวิริยะ - ผู้พิพากษาศาลฎีกา
- นายนรพัฒน์ สุจิวรกุล - ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
- นายอิศเรจน์ ปรางทอง - ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุทัยธานี
- นายดิษพล รัตนโสภณ - ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเก็ต
- นายประยุทธ ประชุมชน - ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลแขวงดอนเมือง
- นายเลิศพงศ์ อินทรหอม. ตำแหน่ง ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ ภาค 1
- นางสาวสมรศรี ตีระวัฒนานนท์ - ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา
- นายกิตติพงศ์ ทองปุย - ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลจังหวัดนนทบุรี
- นายพงศนาถ เลาหภิชาติชัย - ผู้พิพากษาศาลจังหวัดบัวใหญ่
ข้าราชการอัยการ
[แก้]- นายฉกาจ ชะระภิญโญ - อัยการอาวุโส สำนักงานคดีปกครองนครสวรรค์
- นายกิจจา ศิริติกูล - อัยการพิเศษฝ่าย (ข้าราชการอัยการชั้น 6) สำนักงานคุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน
- นายศศิน ศุขจรัส - อัยการพิเศษฝ่าย (ข้าราชการอัยการชั้น 6) ฝ่ายประเมินผลและฝึกอบรม สถาบันพัฒนาข้าราชการอัยการ
- นายสันไชย ฉายวิเชียร - อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ (ข้าราชการอัยการชั้น๖)อัยการศาลสูงจังหวัดสระแก้ว
- นายอาคม นวพิพัฒน์ - อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ (ข้าราชการอัยการชั้น๖)สำนักงานอัยการสูงสุด
- นายสมชาย ธรรมสุวินัย - อัยการจังหวัดกบินทร์บุรี
- พันตำรวจตรีหญิง อรชุน กนกทิพย์พรชัย - อัยการจังหวัดฉะเชิงเทรา
- นายอนันต์ เผือกพูลผล - อัยการจังหวัดฉะเชิงเทรา
- พันตำรวจโท จารุวัตร วัฒนะพูนสิน - รองอัยการจังหวัดพัทยา
นักการเมือง
[แก้]- พลตรี ศิริ สิริโยธิน - อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรไทย อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง และเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี 5 สมัย
- พันเอก ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม หรือ หลวงเชวงศักดิ์สงคราม - อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
- นายณรงค์ รัตนานุกูล - อดีตเลขาธิการคณะกรรมการปราบปรามยาเสพติด และสมาชิกวุฒิสภา
- นายชูสง่า ฤทธิประศาสน์ - อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย 2 สมัย สังกัดพรรคชาติไทย อดีตอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
- นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ - อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี
- นายชาญชัย ไพรัชกุล - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่
- นายสงวน ตุลารักษ์ - นักการเมืองไทย อดีตรัฐมนตรี และสมาชิกผู้นำของเสรีไทย
- นายบุญเลิศ ไพรินทร์ - อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา
- นายกิตติชัย เรืองสวัสดิ์ - อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต 1
- นายชาญชัย ไพรัชกุล - อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่
- นายไตรเทพ งามกมล - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์
ศิลปิน
[แก้]- คมน์ อรรฆเดช - อดีตนักแสดง, ผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์[66]
- รุ่งเรือง อนันตยะ - นักแสดง[67]
- ธนพล นิ่มทัยสุข - นักแสดง[68]
- ปรัชญา ดุลยสิทธิ์ (บ.ฉ.123) - มือกลองของเดอะทอยส์[69] ฉายา มือกลองอัจฉริยะ[70]
- พรสวรรค์ ญาณวโร - ผู้ชนะรายการเดอะวอยซ์คิดส์ ซีซัน 2
ด้านอื่น ๆ
[แก้]- ทรงชัย รัตนสุบรรณ - โปรโมเตอร์มวย[71]
- ศิริมงคล ลูกศิริพัฒน์ - นักมวยไทย แชมป์มวยไทย รุ่นเฟเธอร์เวทและไลท์เวท เวทีมวยลุมพินี
- มนต์ชัย สุภจิรกุล - หัวหน้าผู้ฝึกสอนวอลเลย์บอลชายทีมชาติไทย
- พลตรี อำนาจ พุกศรีสุข - ผู้ฝึกสอนมวยไทยสายโคราช ผู้สืบทอดวิชาจากครูบัว วัดอิ่ม (ร้อยโท บัว นิลอาชา)
โรงเรียนในเครือเบญจมราชรังสฤษฎิ์
[แก้]โรงเรียนในจังหวัดฉะเชิงเทราที่ใช้ชื่อเบญจมราชรังสฤษฎิ์เช่นเดียวกัน ตามนโยบายของอธิบดีกรมสามัญศึกษาในสมัยนั้น คือ นายโกวิท วรพิพัฒน์[72][73] ประกอบไปด้วย
โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2
[แก้]โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 ตั้งอยู่เลขที่ 111 หมู่ 12 ตำบลบางตีนเป็ด อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา[74]
โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 3 ชนะสงสารวิทยา
[แก้]โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 3 ชนะสงสารวิทยา ตั้งอยู่เลขที่ 64/8 หมู่ 7 ตำบลคลองนครเนื่องเขต อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา[75]
โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 4
[แก้]โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 4 ตั้งอยู่ที่ ตำบลบางเตย อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ปัจจุบันคือ เบญจมราชรังสฤษฎิ์ ศูนย์บางเตย[45]
โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 5
[แก้]โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 5 ตั้งอยู่เลขที่ 19/1 หมู่ 2 ตำบลบางขวัญ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา[76]
หมายเหตุ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 "เกี่ยวกับชื่อโรงเรียน - Benchamarachuthit Chanthaburi School, Thailand". www.bj.ac.th.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 2.0 2.1 "BRR WEBSITE - History of BEN : อดีตที่ไม่มีวันลืม". www.brr.ac.th.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 9 ร.ศ. 111 (พ.ศ. 2435) หน้า 93-95 ตอนหนึ่ง
- ↑ 4.0 4.1 Phamornsuwan, Wilawan; Sriwongchay, Namthip; Wichianpradist, Ornchulee; Kirdsiri, Kreangkrai; Tangpoonsupsiri, Tippawan; Chitsutthiyan, Supot; Janyaem, Kittikhun; Buranaut, Isarachai (2020). "องค์ประกอบของเมืองเก่า และการประกาศขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าฉะเชิงเทรา". NAJUA: Architecture, Design and Built Environment. 35 (2): C23–C41. ISSN 2697-4665.
- ↑ "ฝากเรื่องราวไว้กับน้อง ๆ (๑๖๒) : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๓๔)". ftp.vajiravudh.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-21. สืบค้นเมื่อ 2021-12-21.
- ↑ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเปลี่ยนชื่อโรงเรียนรัฐบาลเพื่อความเหมาะสม ลงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2494
- ↑ หนังสือของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 16542/2494 ลงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2494
- ↑ 8.0 8.1 วศินสรากร, วรวิทย์ (1985). "โรงเรียนมัธยมแบบประสม". สารานุกรมศึกษาศาสตร์ (Encylopedia of Education) (ภาษาอังกฤษ). 1 (0).
- ↑ "พิธีเจิมตราพระเกี้ยวสีทอง เตรียมติดตั้งบนอาคารสมเด็จพระเทพฯ รร.เบญจมฯ". komkhaotuathai.com. 2022-03-16.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ 4) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พุทธศักราช 2482. เก็บถาวร 2016-03-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ตอนที่ 28 เล่ม 60, วันที่ 25 พฤษภาคม 2486, หน้า 878
- ↑ Guru, Wordy (2020-11-10). "บ.ฉ. ย่อมาจาก โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา | อักษรย่อ". www.xn--12c0ecxsex2q.com.
- ↑ หนังสือสมาคมศิษย์เก่าเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา ที่ สบค. 4/2566 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 เรื่อง ขอเชิญชวนร่วมสนับสนุนปลูกต้นไม้ประจำสถาบัน
- ↑ "BRR Website - News: งานวันสถาปนาครบรอบ 131 ปี". www.brr.ac.th.
- ↑ 14.0 14.1 "ม.4 เบญจมราชรังสฤษฎิ์ แตกต่างกับ ม.4เซนต์หลุยส์ อย่างไง | Dek-D.com". Dek-D.com > Board (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ 15.0 15.1 "BRR Website - Discussion Forum: ประกาศรับสมัครนักเรียนห้องเรียนพิเศษ 2564". www.brr.ac.th.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 16.0 16.1 ประกาศโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ เรื่อง การรับนักเรียนเข้าเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ประเภทห้องเรียนพิเศษ ปีการศึกษา ๒๕๖๔ http://www.brr.ac.th/forum/viewthread.php?thread_id=1363&getfile=848
- ↑ 17.0 17.1 "BRR Website - Discussion Forum: ประกาศรับสมัครนักเรียนห้องเรียนปกติและความสามาถรพิเศษ 2564". www.brr.ac.th.
- ↑ 18.0 18.1 ประกาศโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ เรื่อง การรับนักเรียนเข้าเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ประเภทห้องเรียนพิเศษ ปีการศึกษา ๒๕๖๔ http://www.brr.ac.th/forum/viewthread.php?thread_id=1363&getfile=849
- ↑ "BRR Website - News: เก็บข้อมูลลายนิ้วมือนักเรียนใหม่-และถ่ายรูปติดบัตร". www.brr.ac.th.
- ↑ 20.0 20.1 20.2 "BRR Website - Articles: วินัยสร้างได้ง่ายๆ..ถ้าไม่สับสน". www.brr.ac.th.
- ↑ "BRR Website - News: รับรางวัลจากการแข่งขันเคมีโอลิมปิก ระดับชาติ ครั้งที่ 17". www.brr.ac.th.
- ↑ Siriwongthawan, Ketkaew. "ผลการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครั้งที่ 18 (18th IJSO)".
- ↑ matichon (2018-03-30). "เด็กไทยเจ๋ง! คว้า 1 ทอง 5 เงิน 6 ทองแดง แข่งคณิตโอลิมปิกมัธยมที่เวียดนาม". มติชนออนไลน์.
- ↑ "เด็กไทยสุดเจ๋ง คว้า 14 รางวัล 24 เหรียญ "คณิตศาสตร์โอลิมปิก" ที่กรุงฮานอย". www.thairath.co.th. 2019-04-06.
- ↑ "ดาราศาสตร์ - มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา".
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ขยายผลสู่โรงเรียน - มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา".
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "(1) ลูกเสือกองร้อยพิเศษเบญจมราชรังสฤษฎิ์ [ฉะเชิงเทรา เขต 1] - Thai-school.net". www.thai-school.net.
- ↑ matichon (2018-11-25). "เหล่าลูกเสือ-เนตรนารี น้อมรำลึก 'วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า'". มติชนออนไลน์.
- ↑ 29.0 29.1 การสวนสนามเนื่องในพิธีทบทวนคำปฏิญาณแล��เดินสวนสนาม ณ สนามศุภชลาศัย ลูกเสือกองร้อยพิเศษเบญจมราชรังสฤษฎิ์ "สารานุกรมลูกเสือ 100 ปี ลูกเสือไทย - ดาวน์โหลดหนังสือ | 1-50 หน้า | PubHTML5". pubhtml5.com. หน้า 25
- ↑ 30.0 30.1 "ชื่นชมวง'BrrBand'สร้างชื่อ กวาดรางวัลระดับนานาชาติ". dailynews. 2020-02-02.
- ↑ "'เด็กฉะเชิงเทรา...มือตี' เจ๋งจนมีดีกรี 'รางวัลอินเตอร์'". dailynews. 2018-12-02.
- ↑ "ศูนย์ฝึกทีมชาติไทยเบญจมฯโกอินเตอร์ กีฬาชักกะเย่อแห่งประเทศไทย ชิงแชมป์โลกประเทศเนเธอร์แลนด์ - TOPNEWS" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2022-09-07.
- ↑ "ศูนย์ฝึกทีมชาติไทยเบญจมฯโกอินเตอร์ กีฬาชักกะเย่อแห่งประเทศไทย ชิงแชมป์โลกประเทศเนเธอร์แลนด์ - TOPNEWS" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2022-09-07.
- ↑ แผนผังโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา (www.brr.ac.th)
- ↑ "BRR Website - News: วันปิยมหาราช ประจำปี 2564". www.brr.ac.th.
- ↑ matichon (2018-11-25). "เหล่าลูกเสือ-เนตรนารี น้อมรำลึก 'วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า'". มติชนออนไลน์.
- ↑ 37.0 37.1 "BRR Website - News: พิธีอัญเชิญองค์พระประดิษฐาน ณ หอพระประวัติศาสตร์ 129 ปี". www.brr.ac.th.
- ↑ "BRR Website - News: หอดูดาวสร้างเสร็จแล้ว". www.brr.ac.th.
- ↑ บันทึกความทรงจำ - ประตูฤทธิประศาสน์ | Facebook | By บันทึกความทรงจำ, สืบค้นเมื่อ 2022-07-09
- ↑ "เบญจมฯเกียรติยศ ผู้ที่เป็นที่มาของชื่อประตูโรงเรียน - สมาคมศิษย์เก่าเบญจมราชรังสฤษฎิ์ | Facebook". www.facebook.com.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "BRR Website - Photo Albums: ทำเนียบผู้บริหาร". www.brr.ac.th.
- ↑ 42.0 42.1 "ประวัติโรงเรียนโดยสังเขป". web.archive.org. 2005-01-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-01-16. สืบค้นเมื่อ 2022-07-29.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "BRR Website - News: แถลงข่าวยุบรวมเบญจมฯ4 เข้ากับเบญจมฯ". www.brr.ac.th.
- ↑ "BRR Website - News: จิตอาสาร่วมพัฒนาศูนย์เบญจมฯบางเตย". www.brr.ac.th.
- ↑ 45.0 45.1 "BRR Website - บันทึกเรื่องเบญจมฯศูนย์บางเตย". www.brr.ac.th.
- ↑ "20160725 ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่โรงเรียนศรีวรการเข้าร่วมกิจกรรม "เข้าค่ายลูกเสือต้านภัยยาเสพติด"'s photos". Sriworakarn School.
- ↑ "ข่าวสารการศึกษาเครือข่ายโรงเรียน e-Networkสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา". 110.78.114.132.[ลิงก์เสีย]
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้อำนาจจัดตั้ง "มูลนิธิเบญจมราชรังสฤษฎิ์" เป็นนิติบุคคล. เล่ม 109 ตอนที่ 39, 20 มีนาคม 2535. หน้า 36-38
- ↑ 49.0 49.1 49.2 ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดฉะเชิงเทรา เรื่อง จดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของมูลนิธิ [มูลนิธิเบญจมราชรังสฤษฎิ์]. เล่ม 139 ตอนที่ 80 ง, 20 ตุลาคม 2565. หน้า 166-172
- ↑ "BRR Website - News: มูลนิธิเบญจมราชรังสฤษฎิ์ มอบทุนการศึกษ��". www.brr.ac.th.
- ↑ "BRR Website - News: มูลนิธิเบญจมราชรังสฤษฎิ์ มอบทุนการศึกษา". www.brr.ac.th.
- ↑ "มูลนิธิ สมาคม สถานสาธารณกุศล (สถานพยาบาล สถานศึกษา สภากาชาดไทย วัดวาอาราม ) ที่ผู้มีเงินได้มีสิทธิขอหักลดหย่อนเงินบริจาค". rdsrv2.rd.go.th.
- ↑ 53.0 53.1 53.2 53.3 สมาคมศิษย์เก่าเบญจมราชรังสฤษฎิ์ (2562). ข้อบังคับสมาคมศิษย์เก่าเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา.
- ↑ "วัตถุประสงค์". สมาคมผู้ปกครองและครูเบญจมราชรังสฤษฎิ์. 2017-04-23.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศนายทะเบียนสมาคม ประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา เรื่อง จดทะเบียนแก้ไขข้อบังคับของสมาคม. เล่ม 123 ตอนที่ 54 ง, วันที่ 1 มิถุนายน 2549. หน้า 152-161
- ↑ "สมาคมผู้ปกครองและครูเบญจมราชรังสฤษฎิ์". สมาคมผู้ปกครองและครูเบญจมราชรังสฤษฎิ์.
- ↑ 57.0 57.1 "หลวงพ่อโสธร 100 ปีโรงเรียนเบญจมฯ ของดีเมืองแปดริ้ว - ร้าน ABBY28 | Taradpra.com". www.taradpra.com.
- ↑ 58.0 58.1 "พระยอดธง หลวงพ่อโสธร รุ่น 111 ปี โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ เนื้อเงิน ปี 2546 (1 ใน 3000 องค์)". www.longlivethekingshop.com.
- ↑ "ขอเชิญสั่งจอง พระพุทธโสธร รุ่น ๑๒ นักษัตร ที่ระลึกในวาระ 121 ปี โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา". pokae.tarad.com.
- ↑ "BRR Website - News: สมาคม ศก. บ.ฉ. แถลงข่าวสร้างพระพุทธโสธร รุ่น เบญจมฯ121 ปี". www.brr.ac.th.
- ↑ "ศิษย์หลวงพ่อทบ พระเครื่อง". sitluangporthob.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-06-12. สืบค้นเมื่อ 2022-08-02.
- ↑ "กระดานข่าว www.g-pra.com : แสดงรายละเอียดในกระทู้". www2.g-pra.com.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "BRR Website - Downloads". www.brr.ac.th.
- ↑ "BRR Website - News: เยี่ยมเยือนอำนวยพรศิษย์เก่าอาวุโส". www.brr.ac.th.
- ↑ "อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 ที่เป็นผู้บัญชาการทหารบก – กองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2)".
- ↑ admin (2022-08-09). "โคลีเซี่ยม อินเตอร์กรุ๊ป' ทำบุญอุทิศส่วนกุศล 9 ปี 'คมน์ อรรฆเดช'". ThailandMOVEment.
- ↑ "ภาพยนตร์ไทย". thaimovie.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-05-26. สืบค้นเมื่อ 2023-05-26.
- ↑ "ประวัติ เติ้ล ธนพล นิ่มทัยสุข". entertainment.trueid.net.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "เปิดตัว น้องเซฟ มือกลองอัจฉริยะวัย 17 ปี ที่กำลังดังในเน็ต". kapook.com. 2015-03-03.
- ↑ fmone (2020-08-18). ""เซฟ ปรัชญา" มือกลองคู่ใจ "The TOYS" สปิริตแรงตีกลองมือเดียวตลอดโชว์". FM ONE 103.5 (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ ""ทรงชัย รัตนสุบรรณ" โปรโมเตอร์ขาใหญ่ ของวงการมวยไทย". showpra.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-05-26. สืบค้นเมื่อ 2023-05-26.
- ↑ "โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ๒". www.ben2.ac.th.
- ↑ "ประวัติความเป็นมาของโรงเรียน". โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 3 ชนะสงสารวิทยา (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ๒". www.ben2.ac.th.
- ↑ "ประวัติความเป็นมาของโรงเรียน" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์5". www.bch5.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-30. สืบค้นเมื่อ 2022-07-30.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- บทความที่มีลิงก์เสียตั้งแต่ตุลาคม 2024
- Infoboxes without native name language parameter
- โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ
- โรงเรียนในจังหวัดฉะเชิงเทรา
- โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง
- โรงเรียนที่มีอายุเกิน 100 ปีในประเทศไทย
- โรงเรียนที่สร้างขึ้นเป็นพระบรมราชานุสรณ์แห่งรัชกาลที่ 5
- โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา
- โรงเรียนที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2435
- สถานศึกษาในอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา