โรงเรียนสุราษฎร์ธานี
โรงเรียนสุราษฎร์ธานี Suratthani School | |
---|---|
ป้ายโรงเรียนสุราษฎร์ธานี | |
ที่ตั้ง | |
88 ถนนดอนนก ตำบลตลาด อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84000 | |
ข้อมูล | |
ประเภท | โรงเรียนประจำจังหวัดของรัฐ |
คำขวัญ | นิมิตฺตํ สาธุ รูปานํ กตญฺญู กตเวทิตา (ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี) |
สถาปนา | พ.ศ. 2450 |
ผู้อำนวยการ | นายเกรียงไกร แก้วมีศรี |
ระดับชั้น | มัธยมศึกษา |
สี | ชมพู เขียว |
เพลง | เพลงประจำโรงเรียนสุราษฎร์ธานี มาร์ชโรงเรียนสุราษฎร์ธานี |
สัญลักษณ์ | เสือ |
ต้นไม้ | ต้นกัลปพฤกษ์ |
อักษรย่อ | ส.ธ./ ST |
เว็บไซต์ | http://www.st.ac.th/ |
โรงเรียนสุราษฎร์ธานี มักจะเรียกกันด้วยชื่อสั้น ๆ ว่า "โรงเรียนจังหวัด" เป็นโรงเรียนสหศึกษาระดับมัธยมศึกษาในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ใช้อักษรย่อว่า "ส.ธ." ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2450 ณ บริเวณวัดธรรมบูชา ตำบลตลาด อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยในระยะแรกใช้อักษรย่อว่า ส.ฎ.1 ตราบถึงเวลาปัจจุบันได้แบ่งยุคของสถานที่ตั้งโรงเรียนเป็นสามยุค คือ ยุคดอนเลียบ (ตั้งตามสถานที่ตั้งในวัดเลียบ ชื่อเดิมวัดธรรมบูชา) ยุคดอนครูรุ่ง (ตรงข้ามวัดเลียบ ปัจจุบันคือ โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา) และยุคดอนนกในปัจจุบัน หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองไชยา เป็น สุราษฎร์ธานี และเปลี่ยนชื่อมณฑลชุมพร เป็น มณฑลสุราษฎร์ เมื่อปี พ.ศ. 2485 จึงได้ใช้ชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนตัวอย่างมณฑลสุราษฎร์ และใน พ.ศ. 2469 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ประวัติ
[แก้]โรงเรียนสุราษฎร์ธานีเป็นโรงเรียนรัฐบาลสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 11 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย แบบสหศึกษา ตั้งอยู่เลขที่ 88 ถนนดอนนก ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี บนเนื้อที่ประมาณ 35 ไร่ จำนวนห้องเรียน 72 ห้อง โรงเรียนสุราษฎร์ธานี มีที่มาสืบต่อจากโรงเรียนประถมศรีสวัสดิ์มงคล ซึ่งตั้งอยู่ในวัดธรรมบูชา (วัดเลียบ) มีพระสอน โสภโณ เป็นครูใหญ่ จากหลักฐานปรากฏว่า เดือนสิงหาคม 2450 พระมหาวรรณ (สกุลมันตราภรณ์) กับเจ้าอธิการกลับ (สกุลปาลิต) ได้สร้างอาคารถาวรขึ้นหลังหนึ่ง ด้วยทุนทรัพย์ ของผู้มีจิตศรัทธากับการศึกษา (รื้อลงในปี พ.ศ. 2499 เพราะทรุดโทรมมาก)
ในเดือนมิถุนายน 2451 กระทรวงธรรมการ ได้ส่งขุนประกาศวุฒิสาร มาเป็นข้าหลวงธรรมการประจำมณฑลชุมพรคนแรก เพื่อดำเนินการจัดการศึกษาให้เข้าระเบียบแผนใหม่ ขุนประกาศวุฒิสารจึงจัดให้อาคารที่พระมหาวรรณกับเจ้าอธิการกลับสร้างไว้เป็นโรงเรียนตัวอย่างมณฑลชุมพร โดยได้แยกนักเรียนชั้นสูงมาเรียน บนอาคารเรียนที่สร้างใหม่ มีนายเฟื่อง ตุวินันท์ ผู้ช่วยข้าหลวงธรรมการ มณฑลชุมพร ทำการแทนครูใหญ่
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2452 กระทรวงธรรมการ ได้ส่ง นายเปลื้อง อายณโยธิน มาเป็นครูใหญ่โรงเรียนตัวอย่างมณฑลชุมพร มีหน้าที่ดูแลโรงเรียนประถมศรีสวัสดิ์มงคลและโรงเรียนศรีสุพรรณดิษฐ์ ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดพระโยค มีขุนศรเกษตรศึกษากร (รุ่ง ศรเกษตริน) เป็นครูใหญ่
วันที่ 10 กรกฎาคม 2457 ได้ย้ายนักเรียนโรงเรียนศรีสุพรรณดิษฐ์และโรงเรียนประถมศรีสวัสดิ์มงคล มารวมกับโรงเรียนตัวอย่างมณฑลชุมพร และต่อมาในวันที่ 19 กรกฎาคม 2458 มีการเปลี่ยนนามมณฑลสุราษฎร์ และเปลี่ยนนามเมืองไชยาเป็น สุราษฎร์ธานี ดังนั้นชื่อโรงเรียนจึงได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนตัวอย่างมณฑลสุราษฎร์ และต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงเรียนประจำมณฑลสราษฎร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2459 ได้รวมโรงเรียนบำรุงดรุณี และโรงเรียนกุมารีวิทยาเข้ามาร่วมด้วย โรงเรียนประจำมณฑลสุราษฎร์จึงกลายเป็นโรงเรียนสหศึกษา
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2469 รัฐบาลประกาศยุบมณฑลสุราษฎร์ เปลี่ยนเป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชื่อโรงเรียนจึงเปลี่ยนเป็น โรงเรียนประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี พ.ศ. 2485 โรงเรียนประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้จัดการเรียนใหม่ โดยแยกนักเรียนหญิงไปเรียนที่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนักเรียนชายไปเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2499 โรงเรียนได้ขยายการเรียนการสอนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในรูปแบบสหศึกษา ใช้ชื่อว่า "ขั้นเตรียมอุดมศึกษาแผนกวิทยาศาสตร์" เมื่อปี พ.ศ. 2507 ย้ายโรงเรียนมาตั้งที่ถนนดอนนก ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียนในปัจจุบัน
การเรียนการสอน
[แก้]โรงเรียนสุราษฎร์ธานี เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาที่มีขนาดใหญ่พิเศษ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และยังเป็นโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนมีมาตรฐานและคุณภาพ มีศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จมากมาย ทางโรงเรียนเปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาดังนี้
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
[แก้]- โครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ตามแนวทางสสวท. (ห้อง 1)
- โครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางด้านคณิตศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์ (ห้อง 2)
- โครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และเทคโนโลยี (Mathematics Science English and Technology : MSET) (ห้อง 3 – 4)
- จัดการศึกษาทั่วไปตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ห้อง 5 – 11)
- หลักสูตรการจัดการเรียนการสอนเน้นภาษาอังกฤษ English program (ห้อง 12 )
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
[แก้]- โครงการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ (Gifted) ห้อง 1
- ภาษาไทย (Gifted Thai) (วิทย์ – คณิต)
- ภาษาต่างประเทศ (Gifted English) (วิทย์ – คณิต)
- คณิตศาสตร์ (Gifted Math) (วิทย์ – คณิต)
- โครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ พสวท. (สมทบ) ห้อง 2
- โครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (SMTE) ห้อง 3
- โครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และเทคโนโลยี (Mathematics Science English and Technology : MSET) ห้อง 4
- โครงการส่งเสริมความสามารถด้านศิลปศาสตร์ (ศิลป์ – ภาษา) ห้อง 12
- โครงการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ (Gifted) ห้อง 10 และ 11
ห้อง 10 (เลือกเรียนภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาฝรั่งเศส) ห้อง 11 (เลือกเรียนภาษาจีน)
- ภาษาไทย (Gifted Thai) (ศิลป์ – ภาษา)
- ภาษาต่างประเทศ (Gifted English) (ศิลป์ – ภาษา)
- การเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (วิทย์ – คณิต ทั่วไป) ห้อง 1, 5 – 8
- การเรียนรู้ทางด้านศิลปศาสตร์ (ศิลป์ทั่วไป) ห้อง 9 – 11
- ศิลป์คำนวณ ห้อง 9
- ศิลป์ญี่ปุ่นและฝรั่งเศส ห้อง 10
- ศิลป์จีน ห้อง 11
เกียรติยศและความสำเร็จ
[แก้]- โรงเรียนรางวัลพระราชทาน ระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ ปี 2541
- โรงเรียนรางวัลพระราชทาน ระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ ปี 2549
- โรงเรียนรางวัลพระราชทาน ระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ ปี 2554
- โรงเรียนต้นแบบสภานักเรียน ระดับประเทศ ปี 2560
ศิษย์เก่า
[แก้]- บัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตรองนายกรัฐมนตรี
- ดร.ธวัช วิชัยดิษฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอดีตผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาค
- สุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
- ประกาศ วัชราภรณ์ อุปนายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์
- พิมล แจ่มจรัส (แคน สังคีต) นักประพันธ์ นักแปล
- อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ผู้กำกับภาพยนตร์
- วิชา การพิศิษฎ์ ครูขุน ครูใหญ่
- อภิชาติ ทวีเฉลิมดิษฐ์ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติ
- เอกพันธ์ อินทเสน นักฟุตบอลทีมชาติ
- วัชระ เพชรทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- จารุพงษ์ ทองสินธุ์ ผู้นำนักศึกษาธรรมศาสตร์ สูญหายในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
- จิระพงศ์ มีนาพระ นักกรีฑาทีมชาติไทย
- ณัฐชยกานต์ ปากหวาน นักแสดง
- ธนาภา ภูมิดิษฐ์ นักแสดง
- ศิวกร เลิศชูโชติ นักแสดง
กีฬาสี
[แก้]กีฬาสีโรงเรียนสุราษฎร์ธานี แบ่งออกเป็น 5 คณะสี ได้แก่
- สีเหลือง จันทรา
- สีแดง สุริยัน
- สีม่วง จาตุรนต์
- สีน้ำเงิน ไพลิน
- สีฟ้า เอราวัณ