สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
The Research Institute of Northeastern Arts and Culture, Mahasarakham University | |
ชื่อย่อ | RINAC |
---|---|
คติพจน์ | ยุ้งฉางแห่งภูมิปัญญา พัฒนาสังคมแบบยั่งยืน |
สถาปนา | 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 |
สังกัดการศึกษา | มหาวิทยาลัยมหาสารคาม |
คณบดี | นายทม เกตุวงษา |
ที่อยู่ | เลขที่ 269 หมู่ 2 ถนนนครสวรรค์ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม |
วารสาร | วารสารวิถีทรรศน์ศิลปะและวัฒนธรรม |
สี | สีน้ำตาลแดง |
เว็บไซต์ | https://rinac.msu.ac.th |
สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน (อังกฤษ: The Research Institute of Northeastern Arts and Culture) เป็นสถาบันหนึ่งในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นหน่วยงานสนับสนุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่มีฐานะเทียบเท่าคณะวิชา เปิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 โดยพัฒนามาจากศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประวัติ
[แก้]สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน เริ่มก่อตั้งในนาม ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีที่ตั้งอยู่ ณ ภาควิชาศิลปะและวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม จนกระทั่งวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ อนุมัติในหลักการให้จัดตั้งเป็น “สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน” และในวันที่ 12 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ทบวงมหาวิทยาลัยประกาศให้ “ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เป็น “สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน” โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษเล่ม 103 ตอนที่ 198 หน้า 9-10 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 ซึ่งถือเป็นหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ[1][2]
สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 42 ล้านบาท สร้างอาคารของสถาบันฯ เป็นอาคารทรงไทยอีสานประยุกต์ 4 ชั้นซึ่งมีเอกลักษณ์แสดงถึงความงามทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมของชาวอีสาน เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทางศิลปะและวัฒนธรรมอีสานการวิจัยและเผยแพร่ตามนโยบายการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม[3]
พ.ศ. 2547 ได้รับอนุมัติให้เปิดสอนในหลักสูตรศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต แบ่งเป็น 3 แขนงวิชาคือ 1.สาขาการบริหารทางวัฒนธรรม 2.สาขาวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว 3.สาขาการวิจัยทางวัฒนธรรม ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 สถาบันฯ ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยให้เปิดสอนในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ศิลกรรมปศาสตร์) สาขาวิชาวัฒนธรรมศาสตร์ และสามารถเปิดรับนิสิตรุ่นแรกระดับปริญญาเอกในปี พ.ศ. 2554 ต่อมาสาขาวิชาวัฒนธรรมศาสตร์ได้แยกเป็น “คณะวัฒนธรรมศาสตร์” ในปี 2551 (ปัจจุบันได้ยุบรวมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์เป็น คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์)
หลักสูตร
[แก้]สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสานได้จัดโครงการหลักสูตรระยะสั้น ด้านศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ที่บุคลากรได้ทำการวิจัยศึกษาค้นคว้ามาถ่ายทอดให้แก่ผู้สนใจได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และอนุรักษ์องค์ความรู้ได้สืบทอดต่อไปแก่ชนรุ่นหลัง และสามารถนำองค์ความรู้ไปพัฒนาต่อยอดในการสร้างอาชีพให้เกิดรายได้แก่ตัวเองต่อไปได้ โดยมีทั้งหมด 11 หลักสูตรคือ
หลักสูตรที่เปิดสอนในสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม[4] | |||
---|---|---|---|
ระดับประกาศนียบัตร | ระดับปริญญาตรี | ระดับปริญญาโท | ระดับปริญญาเอก |
หลักสูตรระยะสั้นด้านศิลปะและวัฒนธรรม
|
หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (ศป.ม.)
|
หลักสูตปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)
|
พิพิธภัณฑ์ศิลปะและวัฒนธรรม
[แก้]พิพิธภัณฑ์ศิลปะและวัฒนธรรม เริ่มดำเนินการครั้งแรกในรูปของการวิจัยด้านศิลปะและวัฒนธรรมอีสานที่นำโดยอาจารย์อาคม วรจินดา ร่วมกับคณาจารย์และนิสิต และได้ก่อตั้ง "ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" เมื่อปี พ.ศ. 2513 ตั้งอยู่ ภาควิชาศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ในปี พ.ศ. 2523 จัดตั้งเป็น "ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน" ได้รับการยกฐานะเป็น "สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน" ในปี พ.ศ. 2529[5] และในปี พ.ศ. 2535 ได้รับการจัดสรรงบประมาณให้ก่อสร้างอาคารเป็นทรงเล้าข้าว (ไทยอีสานประยุกต์) ออกแบบโดย รศ.ดร.วิโรฒ ศรีสุโร
ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ได้รวมหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเข้าร่วมในการดำเนินงานเพื่อสร้าง พัฒนา และส่งเสริมการวิจัย งานด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและบริการวิชาการให้มีความโดดเด่น เพื่อพัฒนาท้องถิ่นและสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ ที่เชื่อมโยงเครือข่ายการศึกษาด้านศิลปะ สังคม วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และอีสานศึกษา ตลอดจนการจัดตั้ง "ศูนย์เรียนรู้" เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมอีสานอย่างกว้างขวาง
พิพิธภัณฑ์ศิลปะและวัฒนธรรม มีพื้นที่เรียนรู้ต่างๆ ดังนี้
- ชั้น 1 "หอศิลป์จำปาศรี" ส่วนจัดแสดงผลงานด้านศิลปะ จัดนิทรรศการหมุนเวียน และจัดกิจกรรมการเรียนรู้
- ชั้น 2 "ห้องนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมอีสาน" จัดแสดงนิทรรศการลักษณะกึ่งถาวร นำเสนอข้อมูลด้านศิลปะและวัฒนธรรมอีสานด้านต่างๆ ที่มีความหลากหลาย ได้แก่ เกลืออีสาน พื้นที่กับวิถีชีวิตชาวอีสาน ประวัติศาสตร์อีสาน ผู้คนในอีสาน ฮีตสิบสอง เรือนอีสาน และศาสนาพุทธในอีสาน (กำลังปรับปรุงการจัดแสดง)
- ชั้น 3 แบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 2 ส่วน คือ
- "ห้องธรรมเจดีย์นิทรรศ" นิทรรศการที่นำเสนอองค์ความรู้เรื่องเอกสารโบราณ เช่น ใบลาน สมุดข่อย อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ห้องปฏิบัติการ อนุรักษ์และห้องสืบค้น ดำนเนินการโดยกลุ่มงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ
- "นิทรรศการผ้าทอในวิถีชีวิต" นิทรรศการที่นำเสนอองค์ความรู้เรื่องผ้าทอ วิถีชีวิตของผู้คน (มหาสารคาม) ผ้าทอ เส้นใย และเครื่องมือเครื่องใช้ ดำเนินการโดยกลุ่มงานวิจัย
- ชั้น 4 "ห้องนิทรรศการศิลปินพื้นบ้านอีสาน" นิทรรศการที่นำเสนอข้อมูลและเรื่องราวของศิลปินพื้นบ้านและผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ภาคอีสาน ซึ่งเป็นการนำเสนอจากฐานข้อมูลของผู้ที่ได้รับรางวัล "นาคราช" จากสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสานในแต่ละปี
ผู้อำนวยการ
[แก้]ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มีผู้อำนวยการ ตามวาระ ดังนี้[6]
ลำดับ | รายนาม | ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|
1 | อาจารย์อาคม วรจินดา | พ.ศ. 2529 - 2538 |
2 | ผู้ช่วยศาสตราจารย์มุณี พันทวี | พ.ศ. 2538 - 2542 |
3 | อาจารย์อาคม วรจินดา | พ.ศ. 2542 - 2546 |
4 | ดร.ทรงคุณ จันทจร | พ.ศ. 2546 - 2550 |
5 | ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงคุณ จันทจร | พ.ศ. 2550 - 2554 |
6 | รองศาสตราจารย์ ดร.ปฐม หงษ์สุวรรณ | พ.ศ. 2554 - 2563 |
7 | อาจารย์ทม เกตุวงษา | พ.ศ. 2563 - ปัจจุบัน |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา : ราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษเล่ม 103 ตอนที่ 198 หน้า 9-10 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2529 1 กันยายน 2564.
- ↑ RINAC : ประวัติความเป็นมาของสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน เก็บถาวร 2020-09-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 1 กันยายน 2564.
- ↑ annaontour.com : ข้อมูลสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน 1 กันยายน 2564.
- ↑ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน : หลักสูตรระยะสั้นด้านศิลปะและวัฒนธรรม 1 กันยายน 2564.
- ↑ www.museumthailand.com. ข้อมูลพิพิธภัณฑ์. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2565.
- ↑ สำนักงานอธิการบดี, กลุ่มงานประชุม กองกลาง : ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยศิลปและวัฒนธรรมอีสาน 1 กันยายน 2564.