ข้ามไปเนื้อหา

สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ หรือที่เรียกกันติดปากว่า มหาวิทยาลัยนอกระบบ คือ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีการบริหารการจัดการอิสระแยกจากระบบราชการ (autonomous university) แต่ยังได้รับเงินอุดหนุนทั่วไป (block grant) ที่รัฐจัดสรรให้เป็นรายปีโดยตรง เพื่อใช้จ่ายตามความจำเป็นในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย และเพื่อประกันคุณภาพการศึกษา

ประวัติ

[แก้]

แนวความคิดที่จะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2507 จากกลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่ง และได้เสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2514 แต่เรื่องก็ชะงักลงเพราะบุคลากรในมหาวิทยาลัย��่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย จอมพล ถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีจากการปฏิวัติในสมัยนั้น ก็เลื่อนการพิจารณาไป เพียงแต่ได้มีการจัดตั้ง "ทบวงมหาวิทยาลัย" (ปัจจุบันคือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ) ขึ้น เพื่อดูแลมหาวิทยาลัยต่าง ๆ แทนสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนั้นในยุคนี้ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จึงได้ย้ายไปสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย จากเดิมที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยก็ยังคงอยู่ภายใต้กฎหมายระเบียบของระบบราชการเช่นเดิม ซึ่งทำให้ขาดความคล่องตัวในการดำเนินงาน จึงได้มีความพยายามที่จะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการเรื่อยมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 แนวคิดดังกล่าวก็ถูกรื้อฟื้นอีกครั้งเมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการวางพื้นฐานเพื่อการปฏิรูปการศึกษา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ[1]

จนกระทั่ง พ.ศ. 2530 ทบวงมหาวิทยาลัยริเริ่มโครงการจัดทำแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี (พ.ศ. 2533–2547) ขึ้น ซึ่ง 1 ใน 6 ข้อเสนอระบุว่า "รัฐบาลพึงให้การสนับสนุนการปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญากับรัฐ โดยพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้วให้มีความเป็นอิสระ คล่องตัว มีประสิทธิภาพ และสามารถบรรลุความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยปรับเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่เป็นส่วนราชการ ส่วนสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่จะจัดตั้งใหม่ ให้มีฐานะและรูปแบบเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตั้งแต่แรกตั้ง"

จากแผนดังกล่าว ประเทศไทยจึงเกิดมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแต่แรกตั้งอยู่ 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2533 สมัยพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2534 สมัยพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2541 สมัย นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี

และในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2541 นโยบายการออกนอกระบบก็ได้เป็นข้อตกลงหนึ่งที่ผูกพันกับสัญญาการกู้ยืมเงินกับธนาคารพัฒนาเอเชีย โดยรัฐบาลมุ่งหมายลดงบประมาณในส่วนราชการให้สามารถเลี้ยงตนเองและบริหารงบประมาณเองได้ ในช่วงปี พ.ศ. 2542 เริ่มมีการเสนอให้มหาวิทยาลัยหรือคณะวิชาที่ตั้งขึ้นใหม่ "ออกนอกระบบ" ราชการ และมีการหยุดรับข้าราชการเข้ามาในมหาวิทยาลัยรัฐเดิมทั้งหมด ตำแหน่งที่บรรจุเข้ามาใหม่ เรียกว่า "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" ซึ่งมีกรอบเงินเดือนและสวัสดิการแตกต่างจากข้าราชการเดิม และหากผู้ที่เกษียณราชการไปให้ตำแหน่งและเงินเดือนนั้นเปลี่ยนเป็นตำแหน่งพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาในตำแหน่งเริ่มบรรจุใหม่เท่านั้น

ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เริ่มมีความพยายามนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบอีกครั้งแต่มีการคัดค้าน ดังนั้นจึงยังไม่มีการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในช่วงนี้ ต่อมาในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้เสนอคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ผ่านร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐของแต่ละมหาวิทยาลัยอีกครั้ง

รายชื่อสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ

[แก้]

ในประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ 29 แห่งที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบราชการหรือไม่อยู่ในสายการบังคับบัญชาของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยในจำนวนนี้มี 7 แห่งที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐตั้งแต่ก่อตั้ง ส่วนที่เหลือนั้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐโดยการแปรสภาพด้วยผลของกฎหมาย ทั้งนี้มีเฉพาะมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชแห่งเดียวที่อยู่ในกำกับของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่น ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ จะอยู่ในกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นราชการส่วนกลาง

ลำดับที่ ชื่อสถาบันอุดมศึกษา วันที่มีผลบังคับ มหาวิทยาลัยในกำกับฯ ตั้งแต่ก่อตั้ง อ้างอิง
1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 ใช่ [2]
2 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 8 เมษายน พ.ศ. 2535 ใช่ [3]
3 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 2 ตุลาคม พ.ศ. 2540 [4]
4 มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 2 ตุลาคม พ.ศ. 2540 [5]
5 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 26 กันยายน พ.ศ. 2541 ใช่ [6]
6 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 7 มีนาคม พ.ศ. 2541 [7]
7 มหาวิทยาลัยมหิดล 17 ตุลาคม พ.ศ. 2550 [8]
8 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2550 [9]
9 มหาวิทยาลัยบูรพา 10 มกราคม พ.ศ. 2551 [10]
10 มหาวิทยาลัยทักษิณ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 [11]
11 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 [12]
12 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2551 [13]
13 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 8 มีนาคม พ.ศ. 2551 [14]
14 มหาวิทยาลัยพะเยา 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ใช่ [15]
15 มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ใช่ [16]
16 สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ใช่ [17]
17 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 [18]
18 มหาวิทยาลัยขอนแก่น 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 [19]
19 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 [20]
20 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2558 [21]
21 สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ 18 เมษายน พ.ศ. 2559 [22]
22 วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ 18 เมษายน พ.ศ. 2559 ใช่ [23]
23 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 [24]
24 มหาวิทยาลัยศิลปากร 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 [25]
25 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 [26]
26 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 [27]
27 สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 [28]
28 สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 [29]
29 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 [30]

สถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในขั้นตอนการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

[แก้]

สถาบันอุดมศึกษาที่มีร่างพระราชบัญญัติของสถาบันอยู่ในขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

ร่างพระราชบัญญัติ อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา คณะรัฐมนตรีรับหลักการแล้ว อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี อยู่ระหว่างการพิจารณาของมหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา พ.ศ. ...  
ร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. ...  [31]
ร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ...  
ร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. ...  
ร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. ...  
ร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ. ...  
ร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี พ.ศ. ...  
ร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเพชรบูรณ์ พ.ศ. ...
ร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พ.ศ. ...  

การวิพากษ์วิจารณ์

[แก้]

การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้น เป็นประเด็นขัดแย้ง มีการล่ารายชื่อคัดค้าน[32] จนกระทั่งวาระสุดท้ายของการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กรรมการสภาคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คัดค้านสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการผ่านร่างพระราชบัญญัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ... อย่างเร่งรีบโดยไม่ฟังเสียงประชาคมจุฬาฯ นอกจากนี้ยังเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งนักวิชาการ นักการศึกษา รวมถึงนิสิต นักศึกษา ประชาชนโดยทั่วไป โดยประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์นั้นจะวิเคราะห์ถึงข้อดีและข้อเสียของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ[33]

ข้อดี

[แก้]
  • เพื่อเกิดความคล่องตัวในการบริหารมหาวิทยาลัยมากขึ้น
  • เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล
  • มหาวิทยาลัยสามารถเปิดหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้

ข้อเสีย

[แก้]
  • ค่าเล่าเรียนอาจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการตัดโอกาสทางการศึกษาของผู้มีรายได้น้อยทางอ้อม
  • คณะหรือหลักสูตรที่ไม่คุ้มทุนในการเปิดสอนอาจจะต้องปิดตัวลง
  • การบริหารงานของฝ่ายบริหารอาจจะไม่โปร่งใส ตรวจสอบได้ยาก
  • เนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติมีลักษณะเป็นกฎหมายบริหารจัดการ "ทรัพย์สินที่ดิน" ไม่ได้เป็นการบริหารจัดการ "การศึกษา" แต่อย่างใด[34]

อ้างอิง

[แก้]
  1. มหาวิทยาลัยนอกระบบ(1): จุดเริ่มต้นสู่ปัจจุบัน?, ThaiPublica ไทยพับลิก้า: กล้าพูดความจริง
  2. พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ. ๒๕๓๓, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๑๓๑ ฉบับพิเศษ หน้า ๙๓ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๓๓
  3. พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ. ๒๕๓๕, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๔๐ หน้า ๑ ๗ เมษายน ๒๕๓๕
  4. พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๐, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๕๑ ก หน้า ๒๔ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๐
  5. พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๐, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๕๑ ก หน้า ๔ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๐
  6. พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พ.ศ. ๒๕๔๑, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๖๕ ก หน้า ๑ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๑
  7. พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พ.ศ. ๒๕๔๑, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๑๑ ก หน้า ๑ ๖ มีนาคม ๒๕๔๑
  8. พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๕๐, ราชกิจจานุเบกษา ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๖๘ ก หน้า ๔ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๐
  9. พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พ.ศ. ๒๕๕๐, ราชกิจจานุเบกษา ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๙๘ ก หน้า ๑ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๐
  10. พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. ๒๕๕๐, ราชกิจจานุเบกษา ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๕ ก หน้า ๘ ๙ มกราคม ๒๕๕๑
  11. พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยทักษิณ พ.ศ. ๒๕๕๑, ราชกิจจานุเบกษา ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๒๘ ก หน้า ๔๗ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
  12. พระราชบัญญัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑, ราชกิจจานุเบกษา ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๒๙ ก หน้า ๕๖ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
  13. พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๑, ราชกิจจานุเบกษา ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๔๔ ก หน้า ๒๘ ๖ มีนาคม ๒๕๕๑
  14. พระราชบัญญัติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. ๒๕๕๑, ราชกิจจานุเบกษา ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๔๕ ก หน้า ๙๕ ๗ มีนาคม ๒๕๕๑
  15. พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. ๒๕๕๓, ราชกิจจานุเบกษา ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๔๔ ก หน้า ๔ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓
  16. พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๕๓, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๖๙ ก หน้า ๑ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
  17. พระราชบัญญัติ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา พ.ศ. ๒๕๕๕, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๔๕ ก หน้า ๑ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕
  18. พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ เก็บถาวร 2015-07-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๖๖ ก หน้า ๑ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘
  19. พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. ๒๕๕๘, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๖๖ ก หน้า ๒๕ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘
  20. พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ.ศ. ๒๕๕๘, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๖๖ ก หน้า ๗๘ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘
  21. พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๖๖ ก หน้า ๔๙ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘
  22. พระราชบัญญัติ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ เก็บถาวร 2016-04-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓ ตอนที่ ๗ ก หน้า ๑ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๙
  23. พระราชบัญญัติ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ เก็บถาวร 2016-04-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓ ตอนที่ ๗ ก หน้า ๑ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๙
  24. พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๕๙, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓ ตอนที่ ๓๓ ก หน้า ๑๐ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๙
  25. พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. ๒๕๕๙, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓ ตอนที่ ๔๙ ก หน้า ๑ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๙
  26. พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. ๒๕๕๙, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓ ตอนที่ ๕๓ ก หน้า ๑ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๙
  27. พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พ.ศ. ๒๕๖๐, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๙ ก หน้า ๑ ๕ เมษายน ๒๕๖๐
  28. พระราชบัญญัติ สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย พ.ศ. ๒๕๕๙, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓ ตอนที่ ๑๐๙ ก หน้า ๓ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๙
  29. พระราชบัญญัติ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา พ.ศ. ๒๕๖๑, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๑ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๑
  30. พระราชบัญญัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (พ.ศ. ๒๕๖๒) เก็บถาวร 2019-04-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอนที่ ๕๐ ก หน้า ๑๗๗ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๒
  31. ร่าง พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. ... เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชสู่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
  32. ""คุณหญิงจารุวรรณ"นำทัพค้านจุฬาฯ ออกนอกระบบ". ผู้จัดการออนไลน์. 21 November 2007. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-19. สืบค้นเมื่อ 20 September 2020.
  33. เอกสารเผยแพร่ ม.นอกระบบ โดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
  34. "สนช.มีมติเอกฉันท์ให้ "จุฬาฯ-ลาดกระบัง-เชียงใหม่" ออกนอกระบบ". ผู้จัดการออนไลน์. 19 December 2007. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-01. สืบค้นเมื่อ 20 September 2020.

ดูเพิ่ม

[แก้]