ข้ามไปเนื้อหา

คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
Faculty of Fine-Applied Arts and Cultural Science, Mahasarakham University
ชื่อย่อศปว. / FACS
คติพจน์ศิลปะและวัฒนธรรม สร้างสรรค์สังคมและพัฒนาชาติ
สถาปนาวิชาเอกศิลปศึกษา คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
· 29 มิถุนายน พ.ศ. 2523 (44 ปี)
คณะศิลปกรรมศาสตร์
· 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 (22 ปี)
สังกัดการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม
คณบดีผศ.ดร. พีระ พันลูกท้าว
ที่อยู่
อาคารศิลปกรรมศาสตร์ เลขที่ 41 หมู่ 20 ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม 44150
อาคารวัฒนธรรมศาสตร์ เลขที่ 269 ถนนนครสวรรค์ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม 44000
วารสารวารสารวิถีทรรศน์ศิลปะและวัฒนธรรม
สี  สีทอง
  สีเงิน
มาสคอต
พระพิฆเนศ
เว็บไซต์facs.msu.ac.th

คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (อังกฤษ : Faculty of Fine-Applied Arts and Cultural Science, Mahasarakham University) เป็นหน่วยงานระดับคณะวิชาสังกัดมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 11 ของมหาวิทยาลัยโดยมติสภามหาวิทยาลัยมหาสารคามเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 แต่เดิมคือวิชาเอกศิลปศึกษา ภาควิชาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง สังกัดคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ซึ่งก่อตั้งในปี 2523 ต่อมาได้พัฒนาเป็นคณะศิลปกรรมศาสตร์ในปี 2545 และในภายหลังได้รวมกับคณะวัฒนธรรมศาสตร์ โดยคณะฯ ตั้งอยู่ทั้ง 2 วิทยาเขต ได้แก่ อาคารศิลปกรรมศาสตร์ ตั้งอยู่ที่เขตพื้นที่ขามเรียง (ม.ใหม่) และอาคารวัฒนธรรมศาสตร์ ตั้งอยู่ที่ เขตพื้นที่ในเมือง (ม.เก่า) ปัจจุบันได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนครอบคลุมทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก

ประวัติ

[แก้]

วิชาเอกศิลปศึกษา คณะมนุษยศาสตร์

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2512 ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เดิมชื่อวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม ในขณะนั้น) ได้มีการจัดการเรียนการสอนวิชาศิลปะกับมนุษย์เป็นวิชาพื้นฐานของสถาบัน ต่อโดยสังกัดคณะวิชามนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์ และได้พัฒนาสู่การเปิดสอนเป็นวิชาโทศิลปศึกษาในปี พ.ศ. 2516

ต่อมาเมื่อวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคามยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2517[1] ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการจัดตั้งให้เป็นคณะ จึงได้มีการแยกคณะวิชามนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์ออกเป็น 2 คณะ คือ "คณะมนุษยศาสตร์ (Faculty of Humanities)" และ"คณะสังคมศาสตร์ (Faculty of Social Sciences)" โดยขึ้นตรงกับสำนักงานคณบดีที่ตั้งอยู่ประสานมิตร (ที่ตั้งหลักของคณะ)[2] วิชาโทศิลปศึกษาจึงได้โอนย้ายมาสังกัดคณะมนุษยศาสตร์และได้พัฒนาเป็นวิชาเอกศิลปศึกษา (สาขาศิลปศึกษา) ในปี พ.ศ. 2523 ถึงปีการศึกษา 2541

ภาควิชาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

[แก้]

ต่อมามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคามได้ยกฐานะเป็น "มหาวิทยาลัยมหาสารคาม" ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2537 จึงได้มีการควบรวมคณะมนุษยศาสตร์และคณะสังคมศาสตร์เข้าด้วยกันเป็นหน่วยงานเดียวคือ "คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม" ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Faculty of Humanities and Social sciences, Mahasarakham University"[3][4] คณาจารย์สาขาศิลปศึกษา ก็ได้เปิดหลักสูตรสาขาวิชาจิตรกรรมขึ้น��ีกหลักสูตรหนึ่งซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีนิสิตและบัณฑิตเพียงรุ่นเดียวด้วย

ในปีการศึกษา 2539 หลักสูตรจิตรกรรมได้ถูกปรับเป็นหลักสูตรทัศนศิลป์ และในปีเดียวกันนี้เอง สาขาวิชาศิลปศึกษาได้รวมกันกับสาขาวิชาดุริยางคศิลป์ ตั้งเป็น “ภาควิชาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง” สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์[5] และได้สร้างหลักสูตรสาขานาฏศิลป์ขึ้นมาในภาควิชาในปี พ.ศ. 2540 นั่นเอง ทำให้ภาควิชาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง จึงมี 3 กลุ่มสาขาวิชา คือ ทัศนศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และนาฏศิลป์

คณะศิลปกรรมศาสตร์

[แก้]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ภาควิชาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดงได้ร่วมกับสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในสังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อนำเสนอ “โครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” โดยเปิดหลักสูตรจัดการศึกษา 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาทัศนศิลป์ สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ สาขาวิชานาฏยศิลป์ สาขาวิชานฤมิตศิลป์ และสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์

ในปี พ.ศ. 2541 หลักสูตรสาขาวิชานฤมิตศิลป์และสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้ขอแยกตัวออกไปและจัดตั้งเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์[6] และได้รับอนุมัติจัดตั้งเป็น “คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์” ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 โครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ จึงดำเนินการโดย 3 สาขาวิชาหลัก คือ ทัศนศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และนาฏศิลป์ และได้เสนอขอเป็นคณะวิชา ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายกสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ออกประกาศมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 เรื่อง “จัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์” โดยไม่เป็นส่วนราชการตามความในมาตร 6 และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ. 2537 ความว่า

“โดยที่เป็นการสมควรให้จัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 (4) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ. 2537 และมติสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 2 / 2545 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 อนุมัติ ให้จัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Faculty of Fine and Applied Arts” โดยไม่เป็นส่วนราชการตามความในมาตร 6 และ มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ. 2537 ให้มีหน้าที่จัดการศึกษาทำนองเดียวกันกับคณะ”

ส่งผลให้ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 สภามหาวิทยาลัยมหาสารคามได้มีมติให้จัดตั้ง “คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Faculty of Fine and Applied arts, Mahasarakham University ”[7] และให้ถือว่าวันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันสถาปนาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในปีการศึกษา 2549 ได้มีการจัดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขวิชาทัศนศิลป์ และดุริยางคศิลป์

ในปีการศึกษา 2550 หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ และหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ ได้ขอแยกตัวออกไปเพื่อจัดตั้งเป็นวิทยาลัยดุริยางคศิลป์

คณะวัฒนธรรมศาสตร์

[แก้]
ตราสัญลักษณ์คณะวัฒนธรรมศาสตร์

ปี พ.ศ. 2553 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงคุณ จันทจร และคณาจารย์  ได้ดำเนินการริเริ่มและดำเนินการขอจัดตั้งคณะวัฒนธรรมศาสตร์ จากเดิมที่เป็นสาขาวิชาวัฒนธรรมศาสตร์ โดยได้ดำเนินการตามขั้นตอนการขอจัดตั้งส่วนงานภายในจนสามารถจัดตั้งคณะวัฒนธรรมศาสตร์ได้เป็นที่สำเร็จ ในปี พ.ศ. 2554 การจัดตั้งคณะวัฒนธรรมศาสตร์โดยมีบุคคลสำคัญที่ให้การสนับสนุน คือ ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สมัปปิโต และท่านนายกสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ท่านอำนวย ปะติเส ซึ่งบุคคลทั้งสามถือได้ว่าเป็นบุคคลริเริ่มในการก่อตั้งคณะวัฒนธรรมศาสตร์ โดยมหาวิทยาลัยมีมติให้จัดตั้งคณะวัฒนธรรมศาสตร์เป็นส่วนงานภายในของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหาสารคามครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554 ให้มีชื่อเรียกว่า “คณะวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” ภาษาอังกฤษคือ “Faculty of Cultural science, Mahasarakham University” และถือได้ว่าเป็นวันก่อตั้งคณะวัฒนธรรมศาสตร์ นับเป็นคณะวัฒนธรรมศาสตร์คณะแรกของประเทศไทยและเป็นหน่วยงานลำดับที่ 19 ของมหาวิทยาลัย[8]

คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์

[แก้]

ปีการศึกษา 2563 มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีมติให้ยุบคณะวัฒนธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งโอนกิจการภายในของคณะไปรวมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์[9] และเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” ภาษาอังกฤษคือ “Faculty of Fine-Applied Arts and Cultural Science, Mahasarakham University”[10] ตามประกาศมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ปัจจุบัน คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ เป็นหน่วยงานนอกระบบราชการในกำกับของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม แบ่งการบริหารงานออกเป็นสำนักเลขานุการคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ และภาควิชาจำนวน 3 ภาควิชา สามารถอำนวยการสอนได้ 5 หลักสูตร 9 สาขาวิชาในระดับปริญญาตรี โทและเอก ในปีการศึกษา 2563 คณะมีบุคคลากรทั้งหมดรวม 79 คนและนิสิตจำนวน 1,195 คน[11] ทำการเรียนการสอนที่อาคารศิลปกรรมศาสตร์ เขตพื้นที่ขามเรียงและอาคารวัฒนธรรมศาสตร์ เขตพื้นที่ในเมือง

อัตลักษณ์

[แก้]
  • สัญลักษณ์

คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชาทั้งสองพื้นที่ กล่าวคือ พระพิฆเนศวร องค์สำเร็จนิรันดร์ ปั้นต้นแบบโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สันติสุข แหล่งสนาม ปั้นต้นแบบจากภาพร่างเดิมของศาสตรเมธี นนทิวรรธน์ จันทะนะผลิน หล่อด้วยโลหะเนื้อดี ขนาดหน้าตักกว้าง 113 เซนติเมตร สูง 215 เซนติเมตร ประดิษฐาน ณ พระแท่นประทับประกอบป้ายศาสตร์และศิลป์ของคณะเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2563 และประกอบพิธีบวงสรวง เบิกเนตร และเทวาภิเษกอย่างยิ่งใหญ่ ในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 12 เวลา 13.00-16.30 น. โดยพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสีพราหมณกุล) เป็นผู้ดำเนินพิธีเทวาภิเษก นอกจากนี้ ยังได้รับความเมตตาจะพระเถรานุเถระสำคัญของภาคอีสาน มาทำพิธีพุทธาภิเษกองค์พระพิฆเนศวรเช่นกัน กอปรด้วย หลวงปู่หนูอินทร์ กิตติสาธร หลวงปู่จื่อ พันธมุตโต หลวงปู่ขำ เกสาโร หลวงปู่เจ (บุญมา) กตปุญโญ พระอาจารย์มนูญชัย มนุญญพโล เป็นต้น

ส่วนคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์พื้นที่ในเมือง มีพระพุทธรูปโลหะสำริดแบบอีสานล้านช้างปางเปิดโลก ที่งดงาม ศักดิ์สิทธิ์ และมีเอกลักษณ์ที่สะท้อนตัวตนของศิลปวัฒนธรรมอีสานล้านช้าง ขนาดความสูง 3 เมตร ประทับบนพระแท่นประกอบป้ายคณะ พระแท่นดังกล่าวถูกออกแบบให้แฝงคติธรรม เปิดแผ่นหลังองค์พระปฏิมา ให้พุทธศาสนิกชนและสาธารณชนทั่วไปได้เคารพสักการะ พร้อมกับมา “ปิดทองหลังองค์พระปฏิมา” ตามกระแสพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงตรัสไว้เป็นแนวทางการกระทำความดีแก่ปวงชนชาวไทย

  • สาขาทัศนศิลป์ สาขาศิลปะการแสดง สาขาวิชาการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสาขาวิชาการวิจัยและสร้างสรรค์ศิลปกรรมศาสตร์

  สีทอง

  • สาขาการจัดการวัฒนธรรม และสาขาวัฒนธรรมศาสตร์

  สีเทาเงิน

หน่วยงานภายใน

[แก้]

คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ แบ่งการบริหารหน่วยงานภายในได้ดังนี้


การบริหารงานภายในคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ด้านการบริหารงาน ด้านการเรียนการสอน ด้านการวิจัยและพัฒนา
  • สำนักงานเลขานุการคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์
    • กลุ่มงานบริหาร
    • กลุ่มงานวิชาการและพัฒนานิสิต
  • ภาควิชาทัศนศิลป์
  • ภาควิชาศิลปะการแสดง
  • ภาควิชาวัฒนธรรมและการออกแบบ
  • วงโปงลางศิลป์อีสาน
  • หอศิลป์พระพิฆเนศวร
  • โรงละครกันทรา เธียร์เตอร์
  • งานวารสารวิถีทรรศน์ศิลปะและวัฒนธรรม

หลักสูตร

[แก้]

หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ภาควิชา ระดับปริญญาบัณฑิต ระดับปริญญามหาบัณฑิต ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต
ภาควิชาทัศนศิลป์ หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต (ศป.บ.)
  • สาขาวิชาทัศนศิลป์
    • วิชาเอกจิตรกรรม
    • วิชาเอกประติมากรรม
    • วิชาเอกศิลปะภาพพิมพ์
    • วิชาเอกศิลปะไทย
    • วิชาเอกศิลปะสื่อประสม
หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (ศป.ม.)

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.)

  • สาขาวิชาการวิจัยและสร้างสรรค์ศิลปกรรมศาสตร์
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)
  • สาขาวิชาการวิจัยและสร้างสรรค์ศิลปกรรมศาสตร์
  • สาขาวิชาทัศนศิลป์ (นานาชาติ)
ภาควิชาศิลปะการแสดง หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต (ศป.บ.)
  • สาขาวิชาศิลปะการแสดง
    • วิชาเอกนาฏยศิลป์ไทย
    • วิชาเอกนาฏยศิลป์พื้นเมือง
    • วิชาเอกนาฏยศิลป์ตะวันตก
    • วิชาเอกศิลปะการละคร
หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (ศป.ม.)
  • สาขาวิชาศิลปะการแสดง
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต

(ปร.ด.)

• สาขาวิชา ศิลปะการ แสดง

ภาควิชาวัฒนธรรมและการออกแบบ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.)
  • สาขาวิชาการจัดการวัฒนธรรม

หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต (ศป.บ.)

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.)
  • สาชาวิชาวัฒนธรรมศาสตร์
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)
  • สาขาวิชาวัฒนธรรมศาสตร์

ทำเนียบคณบดี

[แก้]

รายนามคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีดังนี้


ทำเนียบผู้บริหารคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม[12]
คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณบดีคณะวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. นายนนธิวรรธน์ จันทนะผะลิน พ.ศ. 2546 - 2554 (สองวาระ) 1. ผศ.ดร.ทรงคุณ จันทจร พ.ศ. 2554 - 2558
2. ผศ.พีระพงศ์ เสนไสย พ.ศ. 2554 - 2558 2. ผศ.ดร.ซิสิกกา วรรณจันทร์ พ.ศ. 2558 - 2561
3. รศ.ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์ (รักษาการแทนฯ) พ.ศ. 2558 3. ผศ.ดร.ปฐมพงศ์ ณ จัมปาศักดิ์ พ.ศ. 2561 - 2562
4. รศ.ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์ พ.ศ. 2558 - 2563 (รักษาการแทนฯ) 4. นายปรีชา ประเทพา (รักษาการแทนฯ) พ.ศ. 2562 - 2563
คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. รศ.ดร.ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์ พ.ศ. 2563 - 2565
2. ผศ.ดร. พีระ พันลูกท้าว พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี เป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น

สถานที่ตั้งและพื้นที่

[แก้]
อาคารเรียนรวมคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์
อาคารวิชาวัฒนธรรมศาสตร์

คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามตั้งอยู่ทั้ง 2 เขตพื่นที่โดยส่วนคณะศิลปกรรมศาสตร์ ตั้งอยู่ที่เขตพื่นที่ขามเรียง เลขที่ 41 หมู่ 20 จำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย ระหว่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯและคณะการบัญชีและการจัดการ และส่วนคณะวัฒนธรรมศาสตร์ ตั้งอยู่ที่เขตพื้นที่ในเมือง เลขที่ 269 หมู่ 2 ถนนนครสวรรค์ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ระหว่างคณะศึกษาศาสตร์และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2540 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ก่อสร้างอาคารเรียนรวมคณะศิลปกรรมศาสตร์ ขึ้น สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2544 วงเงินก่อสร้าง 97,000,000 บาท ผู้ออกแบบโดยบริษัท CAPE บริษัทผู้รับจ้าง หจก. กำจรกิจก่อสร้าง การใช้ประโยชน์ใช้เป็นอาคารเรียนของคณะศิลปกรรมศาสตร์ ลักษณะอาคาร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 4 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 12,000 ตารางเมตร

ปัจจุบันอาคารเรียนรวมศิลปกรรมศาสตร์ ได้เป็นที่ทำการสำนักงานคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์

  • ชั้น 1 สำนักงานคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์
  • ชั้น 2 ภาควิชาศิลปะการแสดง
  • ชั้น 4 ภาควิชาทัศนศิลป์

วงโปงลางศิลป์อีสาน

[แก้]

วงโปงลางศิลป์อีสานเดิมชื่อวงแคนเงิน พ.ศ. 2544 ก่อตั้งขึ้นจากสโมสรนิสิต คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรของมหาวิทยาลัย[13] โดยการรวมกลุ่มของนิสิตสาขาดุริยางคศิลป์ สาขาศิลปะการแสดง และสาขาทัศนศิลป์ ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ ในช่วงปี พ.ศ. 2549 สำนักนันทนาการ กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้จัดการประกวดดนตรีพื้นบ้านขึ้น ผลการประกวดในปีนี้วงโปงลางศิลป์อีสานซึ่งเป็นการเข้าร่วมเป็นครั้งแรกได้รับรางวัลชนะเลิศ จากนั้นวงศิลป์อีสานจึงได้ร่วมแข่งขันในทุก ๆ จนปี พ.ศ. 2557 วงโปงลางศิลป์อีสานก็ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดอีกครั้งหนึ่ง[14]

สานสัมพันธ์ 3 ศิลป์

[แก้]

“โครงการสานสัมพันธ์ 3 ศิลป์”[15] เป็นโครงการที่จัดขึ้นจากความร่วมมือของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น พิธีบายศรี สู่ขวัญ กีฬาสานสัมพันธ์ และงานเลี้ยงต้อนรับให้กับนิสิตใหม่ บริเวณคอร์ดกลางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ เพื่อให้คณาจารย์และนิสิตรุ่นพี่ได้แสดงความต้อนรับให้กับนิสิตใหม่ การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ สร้างความสมัครสมานสามัคคี และเป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม ระหว่าง 3 คณะต่อไป

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลั��ศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๑๗. เก็บถาวร 2022-03-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2564.
  2. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย. การแบ่งส่วนราชการภายในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๒๙. สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2564.
  3. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. ประวัติโดยย่อ. สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2564.
  4. สำนักงานอธิการบดี. พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๘. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2564.
  5. กลุ่มงานประชุม. ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม. 19 เมษายน 2565.
  6. คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. "ประวัติคณะศิลปกรรมศาสตร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-04. สืบค้นเมื่อ March 31, 2019.
  7. "ระเบียบมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ว่าด้วยคณะศิลปกรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๕" (PDF). กองแผนงาน สำนักงานอธิการบดี. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. สืบค้นเมื่อ July 27, 2021.
  8. คณะวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. "ประวัติคณะวัฒนธรรมศาสตร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-29. สืบค้นเมื่อ March 30, 2019.
  9. ประกาศมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรื่อง การยุบเลิกคณะวัฒนธรรมศาสตร์ เพื่อรวมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ พ.ศ. 2563. สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2564.
  10. ประกาศมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรื่อ การเปลี่ยนชื่อคณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็น คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์. สื่บค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2564.
  11. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : สถิติจำนวนบุคลากรและนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามปีการศึกษา 2563 โดย กองแผนงาน สำนักงานธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เก็บถาวร 2021-04-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สืบค้นเมื่อ 19 เมษายน 2564.
  12. ทำเนียบคณบดี คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์, 23 มีนาคม 2564
  13. วารสารศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. กระบวนการสร้างสรรค์ดนตรีพื้นบ้านวงโปงลางในภาคอีสาน Creative Process of Ponglang Folk Music Ensemb. 21 เมษายน 2565.
  14. ข่าวประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. วงศิลป์อีสาน มมส คว้ารางวัลชนะเลิศ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประจำปี 2557. เก็บถาวร 2022-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 21 เมษายน 2565.
  15. ข่าวประชาสัมพันธ์ มมส. มมส จัดโครงการสานสัมพันธ์ 3 ศิลป์. เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 6 ตุลาคม 2565.
  16. ประวัติตุกกี้ ชิงร้อย สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2564.
  17. ธิติ ศรีนวล (ต้องเต) 21 เมษายน 2565.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]