พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว | |||||
สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม | |||||
ครองราชย์ | 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 – 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 (9 ปี 96 วัน) | ||||
ราชาภิเษก | 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 (นับแบบปัจจุบัน) | ||||
ก่อนหน้า | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว | ||||
ถัดไป | พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร | ||||
ผู้สำเร็จราชการ | |||||
นายกรัฐมนตรี | |||||
พระราชสมภพ | 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 พระที่นั่งสุทธาศรีภิรมย์ พระบรมมหาราชวัง เมืองพระนคร ประเทศสยาม | ||||
สวรรคต | 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 (47 พรรษา) เซอร์รีย์ ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร | ||||
ถวายพระเพลิง | 3 มิถุนายน พ.ศ. 2484 สุสานโกลเดอร์ส-กรีน กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร | ||||
บรรจุพระอัฐิ | พระวิมานทองกลาง บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท | ||||
อัครมเหสี | สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี (สมรส พ.ศ. 2461) | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | จักรี | ||||
พระราชบิดา | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | ||||
พระราชมารดา | สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง | ||||
ศาสนา | พุทธเถรวาท | ||||
ลายพระอภิไธย |
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 – 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484) เป็นพระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี และเป็นรัชกาลที่ 51 ตามประวัติศาสตร์ไทย เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ แรม 14 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง เบญจศก จ.ศ. 1255 เวลา 12.25 น. หรือตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 96 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระองค์ที่ 15 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขึ้นเสวยราชสมบัติเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 และสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 รวมดำรงราชสมบัติ 9 ปี เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 สิริพระชนมพรรษา 47 พรรษา
พระองค์ปฏิบัติพระราชกรณี��กิจที่สำคัญหลายด้าน เช่น ด้านการปกครอง โปรดให้ตั้งสภากรรมการองคมนตรี ทรงตรากฎหมายเพื่อควบคุมการค้าขายที่เป็นสาธารณูปโภคและการเงิน ระบบเทศบาล ด้านการศาสนา การศึกษา ประเพณีและวัฒนธรรมนั้น พระองค์โปรดให้สร้างหอพระสมุด ทรงปฏิรูปการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ มีการปรับปรุงการศึกษาจนยกระดับมาตรฐานถึงปริญญาตรี ทรงตั้งราชบัณฑิตยสภา โปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยสมบูรณ์ ชื่อว่า “พระไตรปิฎกสยามรัฐ” เป็นต้น
สำหรับชีวิตส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ (ต่อมาเฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี) ไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดา แต่มีพระราชโอรสบุญธรรมคือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต หลังสวรรคต พระองค์ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 เนื่องในวโรกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 100 ปี พระองค์ทรงได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์บางส่วนว่าเป็น "กษัตริย์นักประชาธิปไตย" เนื่องจากทรงยินยอมสละพระราชอำนาจของพระองค์ให้เป็นของประชาชน และลดพระราชฐานะของพระองค์ให้เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญพระองค์แรก
พระราชประวัติ
ขณะทรงพระเยาว์
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชสมภพแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ แรม 14 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง เบญจศก จ.ศ. 1255 ตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 ณ พระที่นั่งสุทธาศรีภิรมย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามเมื่อการสมโภชเดือนว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ชเนศรมหาราชาธิราช จุฬาลงกรณนารถวโรรส อุดมยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภัยปักษนาวิล อสัมภินชาติพิสุทธ์ มหามงกุฎราชพงษบริพรรต บรมขัตติยมหารชดาภิสิญจนพรรโษทัย มงคลสมัยสมากร สถาวรวรัจฉริยคุณ อดุลยราชกุมาร[1] พระนามทั่วไปเรียกว่า "ทูลกระหม่อมเอียดน้อย"[2]
พระองค์มีพระโสทรเชษฐาและพระโสทรเชษฐภคินีรวม 7 พระองค์ ได้แก่
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย
เมื่อพระองค์เจริญวัยครบกำหนดที่จะตั้งการพิธีโสกันต์และพระราชทานพระสุพรรณบัฏตามขัตติยราชประเพณีแล้ว พร้อมกันนี้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช ก็มีพระชนม์ครบกำหนดโสกันต์เช่นกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการโสกันต์และเฉลิมพระนามของทั้งสองพระองค์ขึ้นพร้อมกันบริเวณพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2448[3] โดยพระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ชเนศรมหาราชาธิราช จุฬาลงกรณ์นารถวโรรส อุดมยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภัยปักษนาวิล อสัมภินชาติพิสุทธ์ มหามงกุฎราชพงษ์บริพัตร บรมขัตติยมหารัชฎาภิสิญจน์พรรโษทัย มงคลสมัยสมากร สถาวรวรัจฉริยคุณ อดุลยราชกุมาร กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา[4]
การศึกษา
เมื่อพระองค์เจริญพระชันษาพอสมควรทรงเข้ารับการศึกษาตามประเพณีขัตติยราชกุมาร และจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษ ต่อมา ครั้นทรงโสกันต์แล้วเสด็จไปศึกษาวิชาการที่ประเทศอังกฤษ เมื่อกรกฎาคม พ.ศ. 2449 ในขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 13 ปี ทรงเริ่มรับการศึกษาในวิชาสามัญในวิทยาลัยอีตันซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมชั้นหนึ่งของประเทศ เมื่อสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยอีตันแล้ว ทรงสอบเข้าศึกษาต่อวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อยทหาร (Royal Military Academy) ณ เมืองวูลิช ทรงเลือกศึกษาวิชาทหารแผนกปืนใหญ่ม้า แต่ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2453 พระองค์จึงได้เสด็จกลับประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และได้ถวายงานครั้งสุดท้ายแด่สมเด็จพระบรมชนกนาถ ด้วยการประคองพระบรมโกศคู่กับสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ขณะเชิญพระบรมศพเวียนพระเมรุมาศ [5] แล้วจึงเสด็จกลับไปศึกษาต่อในปี พ.ศ. 2456 ภายหลังทรงเข้าประจำการ ณ กรมทหารปืนใหญ่ม้าอังกฤษอยู่ที่เมืองอัลเดอร์ชอต (Aldershot) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2456 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2457 ซึ่งเป็นช่วงเวลาการซ้อมรบ โดยรัฐบาลอังกฤษตามความเห็นชอบของที่ประชุมกองทหาร (Army Council) และได้รับอนุญาตให้ทรงเครื่องแบบนายทหารอังกฤษสังกัดใน “L” Battery Royal Horse Artillery ทรงได้รับสัญญาบัตรเป็นนายทหารยศร้อยตรีกิตติศักดิ์แห่งกองทัพอังกฤษ และในกาลที่พระองค์สำเร็จการศึกษา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งพระยศนายร้อยตรีนอกกอง สังกัดกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นนายร้อยโทและนายทหารนอกกอง สังกัดกรมทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์[6]
ในปี พ.ศ. 2457 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งขึ้นในยุโรป แต่เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ยังไม่สำเร็จศึกษาวิชาการทหาร หากจะกลับมาเมืองไทยก็ยังทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองยังไม่ได้เต็มที่ ดังนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤษดากร ทรงจัดหาครูเพื่อสอนวิชาการเพิ่มเติมโดยเน้นวิชาที่จะเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง ในวิชากฎหมายระหว่างประเทศ พงศาวดารศึก และยุทธศาสตร์การศึก
ครั้งสงครามได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก และการหาครูมาถวายพระอักษรก็ลำบาก เนื่องด้วยนายทหารที่มีความสามารถต้องออกรบในสงคราม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอพระราชดำเนินกลับประเทศไทย แต่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอมีความประสงค์ที่จะเสด็จร่วมรบกับพระสหายชาวอังกฤษ หากแต่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร ไม่สามารถทำตามพระราชประสงค์ เนื่องด้วยพระองค์เป็นคนไทยซึ่งเป็นประเทศเป็นกลางในสงคราม สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอจึงจำเป็นต้องเสด็จกลับประเทศไทยในเดือนเมษายน พ.ศ. 2458
เข้ารับราชการ
ครั้นเมื่อเสด็จกลับประเทศไทย พระองค์เข้ารับราชการในตำแหน่งนายทหารคนสนิทพิเศษของจอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งเป็นพระเชษฐาในพระองค์ ต่อมาพระองค์ได้เลื่อนเป็นผู้บังคับกองร้อยทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์และเป็นร้อยเอกต่อมาเสด็จเข้ารับราชการประจำกรมบัญชาการกองพันน้อยที่ 2 ในตำแหน่งนายทหารเสนาธิการ และต่อมาวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2462 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายพันตรี[7] แล้วเป็นพันโทบังคับการโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอทรงปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งหน้าที่การงานต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยมาโดยตลอด ต่อมาทรงลาราชการเพื่อผนวช ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อปี พ.ศ. 2460 โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ (ต่อมาคือพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ แล้วเสร็จประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร[8] ทรงได้รับฉายาว่า "ปชาธิโป" ในระหว่างที่ผนวชนั้น สมเด็จพระอุปัชฌาย์ทรงปรารภว่า พระองค์นั้นเป็นพระอนุชาพระองค์เล็ก ถึงอย่างไรก็คงไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นแน่ ดังนั้น จึงทรงชวนให้พระองค์อยู่ในสมณเพศตลอดไป เพื่อจะได้ช่วยปกครองสังฆมณฑลสืบไป แต่พระองค์ได้ปฏิเสธ เนื่องจากในขณะนั้นพระองค์ทรงพอพระทัยที่จะอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ มากกว่า[9][10]
เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอลาผนวชและเสด็จเข้ารับราชการแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสขอหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ ต่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสพระราชทาน โดยมีพิธีขึ้นตำหนัก ณ วังศุโขทัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินให้และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักขึ้นพระราชทานเป็นเรือนหอ และมีพระราชพิธีอภิเษกสมรส ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 ซึ่งนับเป็นการอภิเษกสมรสครั้งแรกหลังจากการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ รวมทั้ง ยังเป็นการแต่งงานแบบตะวันตกอย่างแท้จริง กล่าวคือมีการถามความสมัครใจของคู่บ่าวสาวด้วย[11][12]
พระองค์ทรงพระประชวรเรื้อรังจึงจำเป็นต้องลาราชการไปพักรักษาพระองค์ในสถานที่ที่มีอากาศเย็นตามความเห็นของคณะแพทย์ พระองค์จึงเสด็จไปรักษาพระองค์ที่ทวีปยุโรปในปี พ.ศ. 2463 ครั้นพระองค์ทรงหายจากอาการประชวรแล้ว ทรงเข้าศึกษาวิชาการในโรงเรียนนายทหารฝ่ายเสนาธิการฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส จนสำเร็จการศึกษาเสด็จกลับประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2464 หลังจากนั้นอีก 4 ปี ทรงเข้ารับราชการอีกครั้ง โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการในตำแหน่งปลัดกรมเสนาธิการทหารบก และเลื่อนพระยศขึ้นเป็นนายพันเอก ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 2 และเป็นผู้บังคับการพิเศษกรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 ในคราวเดียวกัน
พระองค์ทรงปฏิบัติราชการโดยพระวิริยะอุตสาหะ ปรากฏพระเกียรติคุณและสติปัญญาจนสามารถรับราชการสำคัญสนองพระเดชพระคุณต่างพระเนตรพระกรรณได้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการให้เลื่อนกรมขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ชเนศรมหาราชาธิราช จุฬาลงกรณนาถวโรรส อุดมยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภัยปักษนาวิล อสัมภินชาติพิสุทธิ์ มหามกุฎราชพงศบริพัตร บรมขัตติยมหารัชฎาภิสิญจน์พรรโษทัย มงคลสมัยสมากร สถาวรวรัจฉริยคุณ อดุลยราชกุมาร กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468[6] ก่อนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จสวรรคตเพียงไม่กี่วัน
ขึ้นครองราชสมบัติ
ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคตได้มีพระราชหัตถเลขานิติกรรมเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติไว้ ความตอนหนึ่งว่า
...หากมีพระราชโอรส ก็ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาทรงเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์จนกว่าพระมหากษัตริย์จะทรงบรรลุนิติภาวะ แต่ถ้าไม่มีพระราชโอรสก็ใคร่ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาทรงรับรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ตามราชประเพณี...[13]
ขณะที่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี มีพระประสูติการพระราชธิดาพระองค์เดียว (สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในปัจจุบัน) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรและเสด็จสวรรคตในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ได้เสด็จ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ทรงแจ้งข่าวสวรรคตต่อที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์เสนาบดีและองคมนตรีผู้ใหญ่แล้ว เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวังในขณะนั้น ได้อัญเชิญพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอ่านในที่ประชุม เสร็จแล้วผู้เข้าประชุมได้พร้อมกันถวายอาเศียรวาทแต่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ซึ่งรับเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำเร็จราชการแผ่นดินสืบราชสันตติวงศ์ต่อไป[14] ทั้งที่ไม่ได้ทรงเต็มพระทัยที่จะทรงรับราชสมบัติ ด้วยทรงเห็นว่าพระองค์ไม่แก่ราชการเพียงพอและเจ้านายที่มีอาวุโสพอจะรับราชสมบัติก็ยังน่าจะมี[15]
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับพระบรมราชาภิเษกโดยมีพระนามอย่างย่อว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[b]
ในการนี้พระองค์ได้สถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระวรราชชายา ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี[16][17] ซึ่งนับเป็นพระอัครมเหสีพระองค์แรกที่ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินีในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก[18]
หลังจากนั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะอภิรัฐมนตรี อันประกอบด้วย สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ซึ่งมีหน้าที่ถวายคำปรึกษาราชการแผ่นดินและราชการในพระองค์ระหว่างที่ยังทรงใหม่ต่อหน้าที่[19]
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ในขณะที่พระองค์ขึ้นครองราชสมบัตินั้น ฐานะทางการคลังของสยามและสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในภาวะตกต่ำอย่างมาก พระองค์ได้ตัดลดงบประมาณในส่วนต่าง ๆ เช่น งบประมาณส่วนพระมหากษัตริย์ งบประมาณด้านการทหาร รวมถึง การการยุบหน่วยราชการและปลดข้าราชการออกเป็นจำนวนมากเพื่อลดรายจ่ายของประเทศ ทำให้เกิดความไม่พอใจอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสยามในเวลาต่อมา[20] พระราชกรณียกิจประการหนึ่งที่ คือ พระองค์มีพระราชปรารภจะพระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองให้แก่สยาม โดยพระองค์ได้มอบหมายให้นายเรย์มอนด์ บาร์ทเล็ตต์ สตีเฟนส์ ที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศชาวอเมริกัน และพระยาศรีวิสารวาจา ร่วมกันทำบันทึกความเห็นในเรื่องดังกล่าว [20] แต่ถูกทักท้วงจากพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่จึงได้ระงับไปก่อน[21]
ร่างรัฐธรรมนูญของเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์และพระยาศรีวิสารวาจา พ.ศ. 2474 ที่เรียก An outline of changes in the form of government มีใจความว่า ให้พระมหากษัตริย์ยังคงเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารและรัฏฐาธิปัตย์ นายกรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งของและต้องรับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์ มีสภานิติบัญญัติซึ่งสมาชิกมาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์และการเลือกตั้งอย่างละเท่า ๆ กัน กรณีที่เกิดข้อพิพาทระหว่างสภากับนายกรัฐมนตรีให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ตัดสิน พระมหากษัตริย์มีอำนาจยับยั้ง และสามารถออกกฎหมายฉุกเฉินได้โดยไม่ต้องผ่านสภา[22]
ภายหลังงานเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 150 ปี พระองค์เสด็จแปรพระราชฐานไปยังวังไกลกังวล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในระหว่างนั้นเองคณะราษฎรได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และได้เข้ายึดสถานที่สำคัญของทางราชการได้ รวมทั้ง ได้เชิญสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้สำเร็จราชการพระนคร พร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อเป็นตัวประกัน[23]
เมื่อพระองค์ทรงทราบถึงเหตุการณ์ดังกล่าว พระองค์ตรัสเรียกพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีที่อยู่ที่หัวหินให้เข้าประชุมกันที่วังไกลกังวลเพื่อทรงหารือแนวทางต่าง ๆ ที่จะรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในที่ประชุมนั้นแสดงความเห็นออกเป็นสองฝ่ายทั้งสนับสนุนให้ต่อสู้กับคณะราษฎรและฝ่ายที่เห็นว่าไม่ควรสู้ หลังจากนั้น พระองค์ตรัสว่า "เมื่อได้ฟังความเห็นของเจ้านายและเสนาบดีทั้งสองฝ่ายแล้ว ทรงเห็นว่าถ้าจะสู้ก็คงสู้ได้ แต่จะเสียเลือดเนื้อข้าแผ่นดินซึ่งเป็นคนไทยด้วยกัน"[24] สุดท้ายทรงตัดสินพระทัยที่จะอยู่ในราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญดังที่พระองค์ทรงสนับสนุนที่จะให้ประชาชนมีรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด[25]
การต่อต้านคณะราษฎร
พระองค์เสด็จกลับพระนครและได้พระราชทานพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อย่างไรก็ดี ทรงต่อรองให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพราะไม่พอพระราชหฤทัยในบทบัญญัติเกี่ยวกับพระราชอำนาจ และข้อที่ว่าสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิฟ้องร้องกษัตริย์[26]: 11 การร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนั้นมีขุนนางกษัตริย์นิยมร่วมร่างหลายคน และมีการร่วมมือกับพระองค์อย่างใกล้ชิด จนมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายประการตามพระราชประสงค์คือ เปลี่ยนจากความคิดว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนมาเป็นความคิดแบบ "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ" (สมมติว่ากษัตริย์มาจากมติของปวงชน)[26]: 12 ทรงเสนอให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ควรเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น ข้าราชการ และให้กษัตริย์มีอำนาจยับยั้ง[26]: 17 ในภายหลังพระองค์ทรงกล่าวหาคณะราษฎรว่าขัดพระราชประสงค์ซึ่งจะให้ ส.ส. ประเภทที่ 2 มาจากการเลือกตั้ง แต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม กล่าวในสภาฯ ว่า ที่การเลือกตั้ง ส.ส. ประเภทที่ 2 ช้ากว่าที่คณะราษฎรตั้งไว้ไป 10 ปีนั้นเป็นไปตามพระราชประสงค์[26]: 17–8
ในเดือนเมษายน 2476 ทรงร่วมกับนายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในกฎหมายปิดสภาฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อขัดขวางกระบวนการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจ พ.ศ. 2475 (สมุดปกเหลือง) ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่[26]: 19 เนื่องจากเค้าโครงการดังกล่าวมีแผนเปลี่ยนให้รัฐบาลเป็นเจ้าของที่ดินทำให้พระองค์ทรงวิตก[26]: 19–20 เมื่อก่อการเสร็จแล้วก็ผ่านกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 ผลักดันหลวงประดิษฐ์มนูธรรมออกนอกประเทศ และทรงสนับสนุนให้เผยแพร่สมุดปกขาวซึ่งเป็นเอกสารวิจารณ์สมุดปกเหลืองในพระปรมาภิไธยโดยไม่มีผู้สนองพระบรมราชโองการ[26]: 21 พระองค์ยังทรงตำหนินายกรัฐมนตรีว่าจัดการกับคณะราษฎรได้ไม่เด็ดขาดพอ และลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการประหารชีวิตสมาชิกคณะราษฎรไว้ล่วงหน้า[26]: 21 ทรงตั้งหน่วยสืบราชการลับส่วนพระองค์เพื่อถวายรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ[26]: 23–4 เกิดเป็นเครือข่ายต่อต้านการปฏิวัติใต้ดินระหว่างกลุ่มกษัตริย์นิยม พรรคการเมือง และหนังสือพิมพ์ที่มีวังไกลกังวลเป็นศูนย์กลาง[26]: 27 ในการเตรียมการกบฏบวรเดชนั้นมีเช็คสั่งจ่ายเงินของพระคลังข้างที่แก่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชจำนวน 200,000 บาท[26]: 27 นอกจากนี้ สายลับส่วนพระองค์ยังลงมือลอบสังหารผู้นำคณะราษฎรหลายครั้งระหว่างปี 2476–78 รวมทั้งมีคำสั่งฆ่าตัดตอนมือปืนชุดหนึ่งเพื่อไม่ให้สืบสาวมาถึงสายลับด้วย[26]: 32–3
พระองค์ทรงใช้อำนาจยับยั้งร่างกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้แยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ต้องเสียภาษีมรดกเนื่องจากทรงไม่ประสงค์เสียภาษี ทรงคัดค้านการแก้ไขกฎหมายให้กำหนดระยะเวลาฎีกาของนักโทษประหารที่เดิมกษัตริย์มีอำนาจวินิจฉัยสุดท้ายเหนือศาลยุติธรรม[26]: 34–5 หลังจากทรงเพลี้ยงพล้ำหลายครั้งแก่คณะราษฎร ทรงเปลี่ยนกลับมาแสดงท่าทีสนับสนุนประชาธิปไตย[26]: 35–6 ทำให้ผู้แทนราษฎร ร้อยโท ทองคำ คล้ายโอกาส กล่าวในสภาฯ ว่า
"...พระราชบันทึกของพระองค์ พระองค์ต้องการให้ประเทศเรามีการปกครองอย่างประชาธิปไตยอย่างอังกฤษแท้ ๆ แต่พระองค์ก็บอกไว้ในนั้นเอง บอกแย้งในนั้นเองว่า จะให้ฉันทำอย่างพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ [ให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขึ้นกับรัฐบาลและต้องเสียภาษีพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์] ไม่ได้ ทีการปกครองละก็จะเอาอย่างอังกฤษ [กษัตริย์มีอำนาจแต่งตั้งสภาขุนนาง] แต่ไม่อยากจะเป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ [ในเรื่องทรัพย์สิน] เพราะฉะนั้นก็เหลือที่จะทนทานเหมือนกัน"[26]: 36
สละราชสมบัติ
พระองค์ทรงโยกย้ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าบัญชีส่วนพระองค์จำนวน 6 ล้านบาท[26]: 33 เป็นเหตุให้เกิดคดียึดทรัพย์พระองค์ ข้อขัดแย้งก่อนสละราชสมบัติระหว่างพระองค์กับรัฐบาลยังมีเรื่องอำนาจการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกึ่งหนึ่งของสภา[27]: 161 วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 (นับแบบเก่า) พระองค์เสด็จออกนอกประเทศสยามเพื่อไปรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ พระองค์ทรงต่อรองกับรัฐบาลเรื่องพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ และเรื่องพระราชทรัพย์และผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ แต่ผู้แทนรัฐบาลปฏิเสธ[27]: 163 โดยเฉพาะกรณีมีพระประสงค์ให้แก้ไขมาตรา 39 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ให้กฎหมายใดที่ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยต้องเป็นอันตกไป และสภาผู้แทนราษฎรที่เสนอร่างกฎหมายนั้นต้องถูกยุบ เมื่อรัฐบาลไม่ยินยอมจึงมีพระราชดำริที่จะสละราชสมบัติ[28] ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำริว่าตราบที่ประเทศสยามยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ พระมหากษัตริย์ก็ต้องมีพระราชอำนาจส่วนหนึ่ง แต่คณะราษฎรเห็นว่าพระมหากษัตริย์ถือเป็นประมุขเฉพาะในทางพิธีการอย่างพระมหากษัตริย์อังกฤษเท่านั้น[27]: 164 รัฐบาลจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นหนึ่งคณะโดยมีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ประธานสภาผู้แทนราษฎร ณ ขณะนั้น เป็นประธานคณะกรรมการ พร้อมกับพลเรือตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) และนายดิเรก ชัยนาม เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และไกล่เกลี่ยเพื่อกราบบังคมทูลให้เสด็จกลับประเทศไทย แต่การเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จ[29] พระองค์ทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 ในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัตินั้น ปรากฏข้อความที่ใช้อ้างอิงกันเสมอในเวลาต่อมาว่า
ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของ ข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดย สิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร... ...บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้า ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียง ในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้ เป็นอันหมดหนทาง ที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แต่บัดนี้เป็นต้นไป[30][31]
หลังจากมีพระราชหัตเลขาสละราชสมบัติ พระองค์ทรงกลับไปใช้พระนามและพระราชอิสริยยศเดิม ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา มีคำนำหน้าพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชปิตุลา[32] และไม่ทรงตั้งรัชทายาท เพื่อพระราชทานวโรกาสให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้คัดเลือกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เอง คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงได้อัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระราชนัดดา (หลาน) พระองค์เดียวในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ไทยตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ขึ้นทรงราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไป ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478[33]
พระชนมชีพหลังสละราชสมบัติ
หลังการสละราชสมบัติ พระองค์ยังคงเก็บความรู้สึกไม่พอพระราชหฤทัยคณะราษฎรไว้ ที่ทรงไม่มีอำนาจแม้แต่ตั้งราชสกุลวงศ์ใหม่ ทรงมีบันทึกว่า
เรื่องนี้ [การตั้งราชสกุลวงศ์] ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ในวันหนึ่ง และถ้าเราตายกันหมดแล้ว ก็หวังว่าหนูเดชน์ [พระราชนัดดา] จะจัดการได้ เพราะกว่ามันจะโต พวกห่าโลกต่าง ๆ คงตายไปแล้ว[26]: 38
ทรงดำรงพระชนมชีพอย่างเงียบ ๆ และสำราญพระอิริยาบถกับพระบรมวงศานุวงศ์ใกล้ชิด อาทิ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 และ สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งเสด็จไปประทับที่พระตำหนักแฟร์ฮิลล์ ซึ่งห่างไปราว 40 กิโลเมตร พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระภาติยะ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระโอรสบุญธรรม และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช โดยทรงโปรดกีฬากอล์ฟและเทนนิส โดยทรงโปรดให้จัดการแข่งขันเทนนิสขึ้นเป็นประจำที่ตำหนักเวอร์จิเนียวอเตอร์ โดยโปรดให้พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ใน ร.6 นำอาหารมาออกร้านพระราชทานเลี้ยงแก่บรรดาข้าราชการสถานทูตที่มาร่วมงาน เป็นที่สนุกสนาน[34]
สวรรคต
หลังจากที่พระองค์ทรงสละราชสมบัติแล้ว พระองค์ยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ แต่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนือง ๆ โดย พ.ศ. 2480 พระองค์ทรงพระประชวรมากด้วยโรคตัวบิดเข้าไปอยู่ในพระยกนะ (ตับ) แต่แพทย์ได้รักษาจนเป็นปกติ พระอาการประชวรของพระองค์กำเริบหนักขึ้นโดยลำดับตั้งแต่ธันวาคม พ.ศ. 2483 แต่ก็เริ่มทุเลาขึ้นเรื่อยมา กระทั่งวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระองค์เสด็จสวรรคตโดยฉับพลันด้วยพระหทัยวาย ขณะที่มีพระชนมพรรษา 48 พรรษา[35]
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงจัดการพระบรมศพเป็นการภายในโดยอัญเชิญพระบรมศพประดิษฐาน ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน โดยรัฐบาลอังกฤษได้อนุญาตเป็นกรณีพิเศษในการประดิษฐานพระบรมศพเป็นเวลา 4 วันเพื่อให้ประยูรญาติที่อยู่ห่างไกลมาถวายบังคมลา การจัดการพระบรมศพนั้นเป็นไปอย่างเงียบ ๆ[36]
หลังจากทราบข่าวการเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นที่พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหารตามราชประเพณี โดยมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์[37]
งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
ในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ก็ได้อัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนรถไปยังสุสานโกดเดอร์สกรีน (Golders Green) ซึ่งอยู่ทางเหนือของกรุงลอนดอน เมื่อเจ้าหน้าที่อัญเชิญพระบรมศพเข้าสู่ฐานที่ตั้ง และผู้ที่ตามเสด็จเข้าประทับและนั่งเก้าอี้แถวโดยลำดับแล้ว อาร์. ดี. เครก (R. D. Craig) ชาวอังกฤษ ซึ่งเคยรับราชการอยู่เมืองไทยและเป็นพระสหายของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อ่านสุนทรพจน์สรรเสริญพระเกียรติคุณ มีการบรรเลงเพลงเมนเดลโซน ไวโอลิน คอนแชร์โต (Mendelssohn Violin Concerto) ซึ่งเป็นเพลงที่พระองค์โปรดเป็นพิเศษ ถวาย[38] จากนั้นพระบรมอัฐิและพระบรมสรีรางคารถูกอัญเชิญกลับไปประดิษฐานยังพระตำหนักคอมพ์ตันอันเป็นที่ประทับของพระองค์
การอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับสู่ประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ขอพระราชทานให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่ประเทศไทย เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ร่วมกับสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมมหาราชวัง ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีทักษิณานุปทานอุทิศถวายตามพระราชประเพณี หลังจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ หอพระบรมอัฐิ ซึ่งอยู่ชั้นบนของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท[39] ส่วนพระบรมสรีรางคารนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุไว้ที่พระพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรสภายในพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร[40]
พระราชกรณียกิจ
ด้านการทำนุบำรุงบ้านเมือง
เศรษฐกิจ สืบเนื่องจากผลของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ประเทศทั่วโลกประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจ ตกต่ำ ซึ่งมีผลกระทบกระเทือนมาสู่ประเทศไทย พระองค์ได้ทรงพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การควบคุมงบประมาณ ตัดทอนรายจ่าย ลดอัตราเงินเดือนข้าราชการ รวมถึงการลดจำนวนข้าราชการ ปรับปรุงระบบภาษี การเก็บภาษีเพิ่มเติม ยุบรวมจังหวัด เลิกมาตรฐานทองคำเปลี่ยนไปผูกกับค่าเงินของอังกฤษ เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมกิจการสหกรณ์ให้ประชาชนได้มีโอกาสร่วมกันประกอบกิจการทางเศรษฐกิจ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471 ขึ้น
การสุขาภิบาลและสาธารณูปโภค โปรดให้ปรับปรุงงานสุขาภิบาลทั่วราชอาณาจักรให้ทัดเทียมอารยประเทศ ด้านการสื่อสารและการคมนาคมนั้น ได้มีการอัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของพระองค์จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง ถ่ายทอดเสียงทางวิทยุเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในพิธีเปิดสถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พระราชวังพญาไท[41] ในส่วนกิจการรถไฟ ขยายเส้นทางรถทางทิศตะวันออกจากทางจังหวัดปราจีนบุรี จนกระทั่งถึงต่อเขตแดนประเทศกัมพูชา
ในปี พ.ศ. 2475 เป็นวาระที่กรุงเทพมหานครมีอายุครบ 150 ปี ทรงจัดงานเฉลิมฉลองโดยทำนุบำรุงบูรณปฏิสังขรณ์สิ่งสำคัญอันเป็นหลักของกรุงเทพมหานครหลายประการ คือ บูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง, สร้างปฐมบรมราชานุสรณ์และสะพานพระพุทธยอดฟ้าเชื่อมฝั่งกรุงเทพมหานครและฝั่งธนบุรีเพื่อเป็นการขยายเขตเมืองให้กว้างขวาง[42][43] เป็นต้น สำหรับในเขตหัวเมือง ทรงได้จัดตั้งสภาจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลทิศตะวันตกขึ้น เพื่อทำนุบำรุงหัวหินและใกล้เคียงให้เป็นสถานที่ตากอากาศชายทะเล
ด้านการปกครอง
พบหลักฐานว่าพระองค์ทรงรับรู้ทั้งสนับสนุน "คณะกู้บ้านกู้เมือง" และมีพระราชดำรัส "ประเทศนี้พร้อมแล้วหรือยังที่จะมีการปกครองแบบมีผู้แทน… ตามความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าขอย้ำว่าไม่" ทั้งทรงขัดขวางเค้าโครงการเศรษฐกิจปี 2475 ของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งรูปแบบเนื้อหาเอนเอียงทางคอมมิวนิสต์[44] อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสยาม ยาสุกิจิ ยาตาเบ กล่าวว่า "ประชาชนสยามไม่เคยได้รับการฝึกฝนทางการเมือง ไม่มีอิสรภาพในการพูด หากไม่มีการปฏิวัติและรอให้พระปกเกล้าฯ ปฏิรูปการเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น รอไปอีกหนึ่งร้อยปีก็ไม่มีทางสำเร็จ"[45] สำหรับความข้องแวะในกบฏบวรเดชนั้นก็ปรากฏหลักฐานว่าทรงให้เงินและกำลังใจแก่คณะกบฏ[45]
ด้านการศาสนา การศึกษา ประเพณีและวัฒนธรรม
ทรงส่งเสริมการศึกษาของชาติทั้งส่วนรวมและส่วนพระองค์ โปรดให้สร้างหอพระสมุดสำหรับพระนคร เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าศึกษาได้อย่างเสรี ทรงตั้งราชบัณฑิตยสภา เพื่อมีหน้าที่บริหารและเผยแพร่วิชาการด้านวรรณคดี โบราณคดี และศิลปกรรม ในด้านวรรณกรรม โปรด ตราพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมใน พ.ศ. 2475 พระราชทานเงินส่วนพระองค์ เป็นรางวัลแก่ผู้แต่งหนังสือยอดเยี่ยม และให้ทุนนักเรียนไปศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์จากต่างประเทศ การศาสนา ทรงปลูกฝังเยาวชนให้มีคุณธรรมดีงาม โดยยึดหลักคำสอนของศาสนาพุทธ โปรดให้ราชบัณฑิตยสร้างหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก ซึ่งนับว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงสร้างหนังสือสำหรับเด็ก ส่วนการศึกษาในพระพุทธศาสนานั้น โปรดให้สร้างหนังสือพระไตรปิฎกภาษาบาลี เรียกว่า ฉบับสยามรัฐ โดยหนึ่งชุดมีจำนวน 45 เล่ม เพื่อเป็นอนุสาวรีย์เชิดชูพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[46][47]
ในด้านศิลปวัฒนธรรมของชาตินั้น พระองค์ทรงสถาปนาราชบัณฑิตย์สภาขึ้น (เดิมคือ กรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร) เพื่อจัดการหอพระสมุดสำหรับพระนครและสอบสวนพิจารณาวิชาอักษรศาสตร์ เพื่อจัดการพิพิธภัณฑสถานตรวจรักษาโบราณสถานและโบราณวัตถุ และเพื่อจัดการบำรุงรักษาวิชาช่าง[48] ผลงานของราชบัณฑิตสภาเป็นผลดีต่อการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของชาติเป็นอย่างมาก เช่น การตรวจสอบต้นฉบับเอกสารโบราณออกตีพิมพ์เผยแพร่ มีการส่งเสริมสร้างสรรค์วรรณกรรมรุ่นใหม่ด้วยการประกวดเรียบเรียงบทประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง
ทรงอนุรักษ์ดนตรีไทยไว้ด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้เพราะได้ทรงสนพระราชหฤทัยในวิชาดนตรีไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เข้าถวายการฝึกสอนจนสามารถ พระราชนิพนธ์ทำนองเพลงไทยได้ ถึง 3 เพลง คือ เพลงราตรีประดับดาวเถา เพลงเขมรลออองค์เถา และเพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง[49]
ทางด้านวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรม ทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์ปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โปรดฯให้เขียนภาพพงศาวดาร สมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้ที่ผนังพระวิหาร
ทรงพยายามสร้างค่านิยมให้มีสามีภรรยาเพียงคนเดียว โปรดให้ตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ. 2473 ริเริ่มให้มีการจดทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า ทะเบียนรับรองบุตร อันเป็นการปลูกฝังค่านิยมแบบใหม่ทีละน้อยตามความสมัครใจ นอกจากนี้ยังทรงปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างโดยทรงมีแต่พระบรมราชินีเพียงพระองค์เดียว
นอกจากนี้แล้ว เมื่อทรงว่างจากพระราชภารกิจ พระองค์โปรดในการถ่ายภาพนิ่งและถ่ายภาพยนตร์ ทรงมีกล้องถ่ายภาพและภาพยนตร์จำนวนมากที่ทรงสะสมไว้ สะท้อนให้เห็นพระอุปนิสัยโปรดการถ่ายภาพและภาพยนตร์ ภาพยนตร์ทรงถ่ายมีเนื้อหาทั้งที่เป็นสารคดีและที่ให้ความบันเทิง ในจำนวนภาพยนตร์เหล่านี้ เรื่องที่เป็นเกียรติประวัติของวงการภาพยนตร์ไทยและแสดงพระราชอัจฉริยภาพดีเยี่ยมในการสร้างโครงเรื่อง กำกับภาพ ลำดับฉาก และอำนวยการแสดง คือ เรื่องแหวนวิเศษ นับได้ว่าพระองค์เป็นหนึ่งในบุคคลที่บุกเบิกวงการภาพยนตร์ไทยอีกพระองค์หนึ่ง นอกจากนี้ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งนับเป็นโรงภาพยนตร์ทันสมัยในสมัยนั้น นับเป็นโรงมหรสพแห่งแรกในเอเชียที่มีเครื่องปรับอากาศระบบไอน้ำ[50]
ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
ในต้นรัชสมัยได้ทรงดำเนินกิจการสำคัญที่ทรงเกี่ยวข้องกับต่างประเทศที่ค้างมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้สำเร็จลุล่วงไป เช่น การให้สัตยาบันสนธิสัญญาต่าง ๆ นอกจากนี้ยังทรงทำสัญญาใหม่ ๆ กับประเทศเยอรมนีหลังสถาปนาความสัมพันธ์ขั้นปกติ เมื่อ พ.ศ. 2471 และทำสนธิสัญญากับประเทศฝรั่งเศสเกี่ยวกับดินแดนในลุ่มแม่น้ำโขง เรียกว่าสนธิสัญญาอินโดจีน พ.ศ. 2469 โดยกำหนดให้ มีเขตปลอดทหาร 25 กิโลเมตร ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำโขงแทนที่จะมีเฉพาะฝั่งสยามแต่เพียงฝ่ายเดียว[51][52]
มรดก
เมื่อปี 2556 ที่ประชุมใหญ่ของยูเนสโก (UNESCO) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ประกาศยกย่องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นบุคคลสำคัญของโลกในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ในการประกอบพระราชกรณียกิจในไทยหลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับจากการศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ[53]
พระบรมราชานุสรณ์
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการจึงมีการสร้างพระบรมราชานุสรณ์หลายแห่งเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ เช่น
- วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
คณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้วันที่ 30 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระองค์เป็น "วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว" เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติให้เป็นที่ประจักษ์และเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อปวงชนชาวไทยนานัปการ [54]
วังศุโขทัย ตั้งอยู่มุมถนนขาวและถนนสามเสน โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นของขวัญในการอภิเษกสมรสของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา (พระยศขณะนั้น) กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ (พระยศขณะนั้น) เมื่อปี พ.ศ. 2461 โดยได้รับพระราชทานนามวังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "วังศุโขไทย"[55]
ถนนประชาธิปก เป็นถนนที่เริ่มตั้งแต่สะพานพระพุทธยอดฟ้าถึงวงเวียนใหญ่ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตั้งชื่อถนนถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "ถนนพระปกเกล้า" หรือ "ถนนประชาธิปก" เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าและถนนเพื่อเชื่อมฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี โดยพระองค์พระราชทานนามถนนนี้ว่า "ถนนประชาธิปก"[56]
สถาบันพระปกเกล้า เป็นสถาบันพัฒนาประชาธิปไตยที่จัดตั้งขึ้นในวโรกาสครบรอบ 100 ปี วันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนชาวไทย โดยได้���ับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรให้เชิญพระนามของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเป็นชื่อของสถาบัน[57]
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นมหาวิทยาลัยเปิดโดยใช้ระบบการศึกษาทางไกล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยตามพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศที่ "กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา" นอกจากนี้ ยังพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 7 นำมาประกอบกับเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอาณาจักรสุโขทัยเป็นตราประจำมหาวิทยาลัยด้วย[58]
โรงพยาบาลพระปกเกล้า เดิมชื่อ โรงพยาบาลจันทบุรี คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลพระปกเกล้าเพื่อน้อมเกล้าถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2496 นอกจากนี้ ยังมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและตึกต่าง ๆ เช่น อาคารประชาธิปก อาคารประชาธิปกศักดิเดชน์ ภายในโรงพยาบาล รวมทั้ง มีการจัดตั้งโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยขึ้นที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า ปัจจุบัน คือ วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์จัดตั้ง "ทุนประชาธิปก" (ต่อมาเปลี่ยนเป็น มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี) เพื่อสนับสนุนกิจการของโรงพยาบาลพระปกเกล้า, วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี [59]
พระบรมราชานุสาวรีย์
- พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัฐสภา)
ตั้งอยู่หน้าอาคารรัฐสภาไทย ใกล้กับพระราชวังดุสิต มีขนาดหนึ่งเท่าครึ่งพระองค์จริง ทรงเครื่องพระบรมราชภูษิตาภารณ์ฉลองพระองค์ครุยสวมพระชฎามหากฐินปักขนนกการเวก เสด็จประทับเหนือพระที่นั่งพุดตาญจนสิงหาสน์ พระหัตถ์วางเหนือพระเพลาทั้งสองข้าง ออกแบบโดยนาวาเอกสมภพ ภิรมย์ โดยจะมีพิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ในวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญ เป็นประจำทุกปี[60] ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ทำการย้ายออกไปบูรณะที่สำนักช่างสิบหมู่ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และเมื่อแล้วเสร็จ จะนำไปตั้งไว้หน้าอาคารรัฐสภาไทยแห่งใหม่ คือสัปปายะสภาสถาน[61]
- พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (โรงพยาบาลพระปกเกล้า)
ตั้งอยู่หน้าอาคารประชาธิปกศักดิเดชน์ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี มีขนาด 2 เท่าของพระองค์จริง สูง 3.14 เมตร ฐานสูง 20 เซนติเมตร แท่นฐานสูง 2.60 เมตร โดยมีพันโทนภดล สุวรรณสมบัติ เป็นประติมากร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในการเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2551[59]
- พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช)
ตั้งอยู่ ณ อุทยานการศึกษารัชมังคลาภิเษก มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ม��าภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 ในโอกาสครบ 100 ปี วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ
- พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (การไฟฟ้าฝ่ายผลิต แม่เมาะ จังหวัดลำปาง)
พิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพิพิธภัณฑ์ในความดูแลของสถาบันพระปกเกล้า ตั้งที่อาคารกรมโยธาธิการเดิม บริเวณสี่แยกผ่านฟ้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าได้บูรณะเพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จัดแสดงภาพถ่าย เอกสาร และพระราชประวัติของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร) เสด็จฯ แทนพระองค์ทรงเปิดพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2545 [62]
- พิพิธภัณฑ์อาคารที่ประทับประชาธิปกศักดิเดชน์
พิพิธภัณฑ์อาคารที่ประทับประชาธิปกศักดิเดชน์ ตั้งอยู่ในกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน เป็นอาคารที่พำนักของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยที่พระองค์ทรงรับราชการเป็นนายทหารเหล่าทหารปืนใหญ่ (พ.ศ. 2458 - พ.ศ. 2464) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2463 เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง หลังคามุงด้วยกระเบื้องลูกว่าว แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ด้านหน้าจะมี 3 ห้อง คือ ห้องทรงงาน ห้องบรรทม และห้องพระกระยาหาร ส่วนด้านหลังเป็นห้องเตรียมพระกระยาหารและยังมีชานโล่งสำหรับพักผ่อนภายนอก อาคารนี้ได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2541 เพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เผยแพร่พระเกียรติคุณและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ [63]
- พิพิธภัณฑ์สถาน พระปกเกล้ารำไพพรรณี เฉลิมพระเกียรติ
พิพิธภัณฑ์สถาน พระปกเกล้ารำไพพรรณี เฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่ที่วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี สร้างขึ้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ที่มีพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ชาวจังหวัดจันทบุรีและวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทำพิธีเปิดแพรคลุมป้ายพิพิธภัณฑ์ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2551 [64]
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
ในปี พ.ศ. 2567 ได้มีการสร้างแอนิเมชันเรื่อง ๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ โดยมีตัวละคร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พากย์เสียงโดย ฉัตรชัย เปล่งพานิช
พระบรมราชอิสริยยศและพระเกียรติยศ
ธรรมเนียมพระยศของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
---|---|
พระราชลัญจกร | |
ธงประจำพระอิสริยยศ | |
ตราประจำพระองค์ | |
การทูล | ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | พระพุทธเจ้าข้าขอรับ/เพคะ |
พระบรมราชอิสริยยศ
- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ (8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 - 4 มีนาคม พ.ศ. 2448)
- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา (4 มีนาคม พ.ศ. 2448 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453)
- สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468)
- สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา (15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 - 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468)
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา[65] (26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 - 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469)
- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 - 2 มีนาคม พ.ศ. 2478)
- สมเด็จพระบรมราชปิตุลา เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 (2 มีนาคม พ.ศ. 2478 - 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484)[37]
ภายหลังสวรรคต
- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[66] (24 พฤษภาคม พ.ศ. 2492-ปัจจุบัน)
พระราชลัญจกร
พระราชลัญจกรประจำพระองค์ เรียกว่า พระแสงศร เป็นรูปพระแสงศร 3 องค์ วางอยู่บนราวพาดที่เบื้องบนเป็นตรามหาจักรีบรมราชวงศ์ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ เบื้องซ้ายและเบื้องขวาของราวพาดพระแสงศร ตั้งบังแทรกสอดแทรกด้วยลายกระหนกอยู่บนพื้นตอนบนของดวงตรา
พระราชลัญจกรองค์นี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบ โดยทรงนำพระบรมนามาภิไธยเดิมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ ประชาธิปกศักดิเดชน์ ซึ่งคำว่า เดชน์ แปลว่า ลูกศร มาใช้ในการออกแบบ ดังนั้น พระราชลัญจกรประจำพระองค์จึงเป็นรูปพระแสงศร อันประกอบด้วย พระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรประลัยวาต และพระแสงศรอัคนีวาต ซึ่งเป็นพระแสงศรที่ใช้ในพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล (พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา)[67][68]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2448 – เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.) (ฝ่ายหน้า)[69]
- พ.ศ. 2454 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.) (ฝ่ายหน้า)[70]
- พ.ศ. 2458 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ (ป.จ.ว.)[71]
- พ.ศ. 2461 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ (ร.ว.) (ฝ่ายหน้า)[72]
- พ.ศ. 2468 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 1 เสนางคะบดี (ส.ร.)
- พ.ศ. 2468 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[73]
- พ.ศ. 2468 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
- พ.ศ. 2470 – เหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการแผ่นดิน (ร.ด.ม.(ผ))[74]
- พ.ศ. 2470 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)[75]
- พ.ศ. 2454 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 1 (จ.ป.ร.1)[76]
- พ.ศ. 2453 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1 (ว.ป.ร.1)[77]
- พ.ศ. 2469 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 1 (ป.ป.ร.1)
- พ.ศ. 2441 – เหรียญราชินี (ส.ผ.)[78]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
- ญี่ปุ่น :
- พ.ศ. 2469 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันสูงส่งยิ่งดอกเบญจมาศ ชั้นสังวาล[16]
- เดนมาร์ก :
- พ.ศ. 2469 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้าง[16]
- เนเธอร์แลนด์ :
- พ.ศ. 2469 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์สิงโตเนเธอร์แลนด์ ชั้นประถมาภรณ์[16]
- บริเตนใหญ่ :
- พ.ศ. 2469 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์บาธ ชั้นที่ 1[16]
- เบลเยียม :
- พ.ศ. 2469 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์เลออปอล ชั้นที่ 1[16]
- ฝรั่งเศส :
- พ.ศ. 2469 - เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ ชั้นกร็อง-ครัว[79]
- อิตาลี :
- พ.ศ. 2469 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดเดลลา ซานติสซิมา อันนุนซีอาตา[79]
- สวีเดน :
- พ.ศ. 2469 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์เซราฟีม[79]
- โมนาโก :
- พ.ศ. 2477 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์นักบุญคาร์ล ชั้นที่ 1[16]
- ฮังการี :
- พ.ศ. 2477 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์กิตติคุณฮังการี ชั้นที่ 1[79]
- เชโกสโลวาเกีย :
- พ.ศ. 2477 - เครื่องอิสริยาภรณ์ราชสีห์ขาว ชั้นที่ 1[79]
พระยศ
พระยศทหาร
- 12 ธันวาคม พ.ศ. 2456: นายร้อยโท[80]
- พ.ศ. 2462: นายพันตรี
- 24 เมษายน พ.ศ. 2463: นายพันโท[81]
- 6 มกราคม พ.ศ. 2468 (นับแบบปัจจุบัน): นายพันเอก[82]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2468: จอมพล จอมพลเรือ [83][84][85]
พระยศเสือป่า
พงศาวลี
เชิงอรรถ
- ↑ ไม่มีวัดประจำรัชกาลตามประกาศพระบรมราชโองการ แต่ถือกันว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเป็นวัดประจำรัชกาลโดยอนุโลม เพราะเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร
- ↑ พระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก มหันตเดชนดิลกรามาธิบดี เทพยปรียมหาราชรวิวงศ อสัมภินพงศพีระกษัตร บุรุษรัตนราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสำสุทธเคราหณีจักรีบรมนาถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร มหามกุฏวงศวีรสูรชิษฐ ราชธรรมทศพิธอุต์กฤษฎนิบุญ อดุลยฤษฎาภินิร์หาร บูรพาธิการสุสาธิตธันยลักษณ์วิจิตรเสาวภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคมานท สนธิมตสมันตสมาคม บรมราชสมภาร ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติคุณ อดุลยศักดิเดช สรรพเทเวศปริยานุรักษ มงคลลัคนเนมาหวัย สุโขทัยธรรมราชา อภิเนาวศิลปศึกษาเดชนาวุธ วิชัยยุทธศาสตรโกศล วิมลนรรยพินิต สุจริตสมาจาร ภัทรภิชญาณประดิภานสุนทร ประวรศาสโนปสดมภก มูลมุขมาตยวรนายกมหาเสนานี สราชนาวีพยูหโยธโพยมจร บรมเชษฐโสทรสมมต เอกราชยยศสธิคมบรมราชสมบัติ นพปฏลเศวตฉัตราดิฉัตร ศรีรัตโนปลักษณ มหาบรมราชาภิเษกาภิษิกต์ สรรพทศทิศวิชิตเดโชไชย สกลมไหศวรยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชันยาศรัย พุทธาทิไตรรัตนศรณารักษ วิศิษฎศักตอัครนเรศวราธิบดี เมตตากรุณาศีตลหฤทัย อโนปไมยบุณยการ สกลไพศาลมหารัษฎราธิบดินทร์ ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว"[16]
อ้างอิง
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสมโภชเดือนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ, เล่ม ๑๐, ตอน ๔๘, ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๑๘๙๓, หน้า ๕๑๕
- ↑ "พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2468 - 2477) (ย่อความจาก "พระราชประวัติพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์" โดย ม.ร.ว. แสงสูรย์ ลดาวัลย์), เข้าถึงวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-15. สืบค้นเมื่อ 2007-08-04.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชพิธีมหามลคลการโสกันต์ และพระราชทานพระสุพรรณบัฏ เฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์และโสกันต์ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช, เล่ม 22, ตอน 50, 11 มีนาคม พ.ศ. 2448, หน้า 1140
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเฉลิมพระนาม, เล่ม 22, ตอน 50, 11 มีนาคม พ.ศ. 2448, หน้า 1148
- ↑ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2550
- ↑ 6.0 6.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาเลื่อนกรมตั้งกรม และตั้งเจ้าพระยา เก็บถาวร 2011-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 42, ตอน 0 ก, 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468, หน้า 216
- ↑ "พระราชทานยศทหารบก" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 36: 251. 4 พฤษภาคม 2462. สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2563.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การผนวช สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสุโขไทยธรรมราชา พระพุทธศักราช ๒๔๖๐, เล่ม 34, ตอน ง, 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2460, หน้า 1056
- ↑ ส. พลายน้อย, หน้า 27
- ↑ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, หน้า 117
- ↑ สำนักพระราชวัง, พระราชวังบางปะอิน, พิมพ์ครั้งที่ 1, พ.ศ. 2548
- ↑ พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, หน้า 7-8
- ↑ ส.พลายน้อย, หน้า 43
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต, เล่ม 42, ตอน 0 ง, 6 ธันวาคม พ.ศ. 2468, หน้า 2704
- ↑ พระยาประกาศอักษรกิจ (เสงี่ยม รามนันทน์), หน้า ช
- ↑ 16.0 16.1 16.2 16.3 16.4 16.5 16.6 16.7 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชพิธี บรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร ปีฉลูสัปตศก พุทธศักราช ๒๔๖๘ เก็บถาวร 2011-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 42, ตอนพิเศษ 0 ก, 3 มีนาคม พ.ศ. 2468, หน้า 154-155
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี, เล่ม 42, ตอน 0 ก, 3 มีนาคม พ.ศ. 2468, หน้า 355
- ↑ พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, หน้า 15
- ↑ พระยาประกาศอักษรกิจ (เสงี่ยม รามนันทน์), หน้า ญ
- ↑ 20.0 20.1 ส.พลายน้อย, หน้า 95
- ↑ Stowe P.5
- ↑ ธนพงษ์ โสดานา. 2474 ร่างรัฐธรรมนูญ ของนาย เรมอนด์ บี สตีเวนส์ และพระยาศรีวิสารวาจา พ.ศ. 2474
- ↑ พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, หน้า 67
- ↑ ส.พลายน้อย, หน้า 101
- ↑ Stowe p.20
- ↑ 26.00 26.01 26.02 26.03 26.04 26.05 26.06 26.07 26.08 26.09 26.10 26.11 26.12 26.13 26.14 26.15 26.16 ใจจริง, ณัฐพล (2556). ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) (1 ed.). ฟ้าเดียวกัน. ISBN 9786167667188.
- ↑ 27.0 27.1 27.2 เกษตรศิริ, ชาญวิทย์ (2551). ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสยาม พ.ศ. 2475–2500. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. ISBN 978-974-372-972-0.
- ↑ พระปกเกล้าฯ กับคณะราษฎร, หน้า (๕) - (๘)
- ↑ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, หน้า 214
- ↑ พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระปกเปล้าเจ้าอยู่หัว[ลิงก์เสีย]
- ↑ ธงทอง จันทรางศุ, แผ่นดินพระปกเกล้า[ลิงก์เสีย] , สถาบันพระปกเกล้า, เข้าถึงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554
- ↑ พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, หนังสืออนุสรณ์งานพระบรมศพทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานประชาชนในงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2528
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ สภาผู้แทนราษฎรรับทราบในการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติและลงมติเห็นชอบในการอัญเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นทรงราชย์, เล่ม 51, ตอน 0ก, 7 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 1330
- ↑ คุณหญิงวนิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร, ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า, อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552, ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ บุคคลสำคัญของโลก ปีพุทธศักราช ๒๕๕๖
- ↑ ส.พลายน้อย, หน้า 210
- ↑ 37.0 37.1 ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานอุทิศถวาย สมเด็จพระบรมราชปิตุลา เจ้าฟ้าฯกรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ มิถุนายน ๒๔๘๔, เล่ม 58, ตอน 0 ง , 10 มิถุนายน พ.ศ. 2484, หน้า 1770
- ↑ ส.พลายน้อย, หน้า 211-213
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, กำหนดการ ที่ ๖/๒๔๙๒ รับพระบรมอัฎฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและการพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ๒๔๙๒, เล่ม 66, ตอน 29 ง, 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2492, หน้า 2262
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, กำหนดการ ที่ ๙/๒๔๙๒ บรรจุพระบรมราชสริรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๔๙๒, เล่ม 66, ตอน 34 ง, 28 มิถุนายน พ.ศ. 2492, หน้า 2931
- ↑ 120 ปี พระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, เดลินิวส์, สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สร้างปฐมบรมราชานุสรณ์, เล่ม 44, ตอน 0 ก, 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470, หน้า 324
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินเพื่อสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ และสร้างคมนาคมเชื่อมจังหวัดพระนครกับธนบุรี, เล่ม 45, ตอน 0 ก, 28 ธันวาคม พ.ศ. 2471, หน้า 236
- ↑ ทวีศักดิ์ ตั้งปฐมวงศ์. การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 : การปฏิวัติที่ถูกนิยามใหม่ The Changing of the ruling in 1932 : The new definition revolution. วารสารมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีที่ 31 ฉบับที่ 3. หน้า 43.
- ↑ 45.0 45.1 “ชิงสุกก่อนห่าม” วาทกรรมซัดกลับคณะราษฎร ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความการสร้างพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ เป็นอนุสาวรีย์เชิดชูพระเกียรติยศ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, เล่ม 42, ตอน 0 ง, 27 ธันวาคม พ.ศ. 2468, หน้า 2981
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, รายงานการสร้างพระไตรปิฎก, เล่ม 44, ตอน ง, 4 มีนาคม พ.ศ. 2470, หน้า 3927
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ ตั้งราชบัณฑิตย์สภา, เล่ม 43, ตอน 0 ก, 25 เมษายน พ.ศ. 2469, หน้า 102
- ↑ ส.พลายน้อย, หน้า 201
- ↑ อันเนื่องมาจากความรักของพระปกเกล้าฯ เก็บถาวร 2016-12-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, สืบค้นวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
- ↑ "รายงานการวิจัยเรื่อง อธิปไตยเหนือแมน้ำโขงจากพ.ศ. 2436 ถึง ปจจุบัน การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์" (PDF). สุวิทย ธีรศาศวัต. มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 2551. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ปัญหาพรมแดนด้านประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว" (PDF). รศ.ดร.จุมพล วิเชียรศิลป. มหาวิทยาลัยราชภัฏบ��รีรัมย์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ยูเนสโก ยกย่อง "ร.7-พระศรีพัชรินทราฯ-หม่อมงามจิตต์" เป็นบุคคลสำคัญของโลกปี 56". mgronline.com. 2010. สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน 2022.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (วันที่ ๓๐ พฤษภาคมของทุกปี)" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 2545. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-06-06. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชทานนามวัง, เล่ม 35, ตอน 0 ก, 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461, หน้า 247
- ↑ พจนานุกรมวิสามานยนามไทย วัด วัง ถนน, ราชบัณฑิตยสถาน, หน้า 250
- ↑ สถาบันพระปกเกล้า : ประวัติความเป็นมา เก็บถาวร 2010-02-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า, เข้าถึงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554
- ↑ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช : ความเป็นมา เก็บถาวร 2017-12-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บไซต์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, เข้าถึงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554
- ↑ 59.0 59.1 หนังสือ ๗๒ ปี โรงพยาบาลพระปกเกล้า. บริษัทจามจุรีโปรดักท์ 26. 2555. ISBN 978-616-11-1165-6.
- ↑ ส.พลายน้อย, หน้า 221
- ↑ จส. 100 (5 มกราคม 2562). "อัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 บูรณะก่อนอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จะสร้างเสร็จ". www.js100.com. สืบค้นเมื่อ 2 มกราคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ประวัติอาคารพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว". สถาบันพระปกเกล้า. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ "รีวิวของพิพิธภัณฑ์อาคารที่ประทับประชาธิปกศักดิเดชน์". ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ "พิพิธภัณฑ์สถาน พระปกเกล้ารำไพพรรณี เฉลิมพระเกียรติ". วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-10. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ประกาศ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 42 (0 ก): 230. 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468. สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2560.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา, กำหนดการ ที่ ๖/๒๔๙๒ รับพระบรมอัฎฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและการพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ๒๔๙๒, เล่ม 66, ตอน 29 ง, 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2492, หน้า 2262
- ↑ พระราชลัญจกรประจำรัชกาล, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ↑ พระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เก็บถาวร 2011-09-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์, เล่ม 22, ตอน 50, 11 มีนาคม ร.ศ. 124, หน้า 1449
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 28, ตอน 0 ง, 9 เมษายน ร.ศ. 130, หน้า 48
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม 32, ตอน 0 ง, 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458, หน้า 1895
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานตรารัตนวราภรณ์, เล่ม 34, ตอน 0 ง, 13 มกราคม พ.ศ. 2460, หน้า 2992
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม 42, หน้า 0 ง, 11 ตุลาคม พ.ศ. 2468, หน้า 2199
- ↑ "ทูลเกล้าถวายเหรียญดุษฎีมาลา" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-02-10. สืบค้นเมื่อ 2021-08-31.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญจักรมาลา เล่ม 44, ตอน 0 ง, 5 มิถุนายน 2470, หน้า 679
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๕, เล่ม 28, ตอน 0 ง, 9 เมษายน พ.ศ. 2454, หน้า 49
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม 27, ตอน 0 ง, 19 มีนาคม พ.ศ. 2453, หน้า 3095
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญราชินี, เล่ม 15, ตอน 26, 21 กันยายน ร.ศ. 117, หน้า 283
- ↑ 79.0 79.1 79.2 79.3 79.4 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
- ↑ พระราชทานยศนายร้อยโท
- ↑ พระราชทานยศทหารบก
- ↑ พระราชทานยศนายพันเอก
- ↑ "พระราชทานยศจอมพล" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-08-14. สืบค้นเมื่อ 2018-06-15.
- ↑ "พระราชทานยศจอมพลเรือ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-08-14. สืบค้นเมื่อ 2018-06-15.
- ↑ "พระราชทานยศจอมทัพไทย" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-08-14. สืบค้นเมื่อ 2018-06-15.
- ↑ พระราชทานยศนายหมวดโท
- ↑ พระราชทานยศนายกองตรี
บรรณานุกรม
- หนังสือ
- สมบัติ พลายน้อย, ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ : มติชน, 2550 (ISBN 974-02-0044-4)
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เกิดวังปารุสก์ : สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์-สมัยประชาธิปไตย, พิมพ์ครั้งที่ 13, กรุงเทพ : ริเวอร์ บุ๊คส์, 2552 (ISBN 978-974-9863-71-8)
- พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, หนังสืออนุสรณ์งานพระบรมศพทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานประชาชนในงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2528
- พระยาประกาศอักษรกิจ (เสงี่ยม รามนันทน์), จดหมายเหตุบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๔๖๘, สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์เป็นที่ระลึกในการเชิญพระบรมอัฐิเสด็จคืนเข้าสู่พระนคร พุทธศักราช ๒๔๙๒
- สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, เจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์, ซิลค์เวอร์ม บุคส์, พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2549, 450 หน้า, (ISBN 974-7047-55-1)
- หม่อมเจ้าพู��พิศมัย ดิศกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าได้พบเห็น (ภาคต้น), สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2543
- โพยม โรจนวิภาต (อ.ก. รุ่งแสง), พ. 27 สายลับพระปกเกล้า พระปกเกล้าฯ (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2547
- วิโรจน์ ไตรเพียร, 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรี, สำนักพิมพ์ คลังศึกษา,2543,หน้า 90-105
- ศิลปชัย ชาญเฉลิม, เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ, กรุงเทพ, 2530
- สุพจน์ ด่านตระกูล. พระปกเกล้าฯ กับคณะราษฎร. กรุงเทพฯ : สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม (ประเทศไทย), 2544. 385 หน้า.
- Stowe, Judith (1991). Siam Becomes Thailand: A Story of Intrigue. United Kingdom: C. Hurst & Co. Publishers. ISBN 0-8248-1394-4.
- เอกสารชั้นต้น
- รายงานประจำปีกรมรถไฟหลวง พ.ศ. 2470 (เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
- รายงานประจำปีกรมรถไฟหลวง พ.ศ. 2472 (เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
- รายงานประจำปีกรมรถไฟหลวง พ.ศ. 2473 (เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
- รายงานประจำปีกรมรถไฟหลวง พ.ศ. 2474 (เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
- รายงานประจำปีกรมรถไฟหลวง พ.ศ. 2475 (เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
- รายงานประจำปีกรมรถไฟหลวง พ.ศ. 2476 (เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
- รายงานประจำปีกรมรถไฟหลวง พ.ศ. 2477 (เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
- จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ภาคต้น พิมพ์โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, กรุงเทพ 2537
- จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ภาคปลาย พิมพ์โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, กรุงเทพ 2537
ดูเพิ่ม
ก่อนหน้า | พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว | พระมหากษัตริย์สยาม (26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 - 2 มีนาคม พ.ศ. 2477) |
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร | ||
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมงกฏราชกุมาร | ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (พ.ศ. 2468) |
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต |
- บทความคัดสรร
- ชาวไทยที่ได้รับการฉลองวาระครบรอบโดยยูเนสโก
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2436
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2484
- พระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรี
- พระมหากษัตริย์ไทยในคริสต์ศตวรรษที่ 20
- พระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงสละราชสมบัติ
- รัชกาลที่ 7
- พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5
- เจ้าฟ้าชาย
- จอมพลชาวไทย
- จอมพลเรือชาวไทย
- บุคคลในวงการภาพยนตร์ไทย
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.จ.ก.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ น.ร.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.จ.ว.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ร.ว.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ส.ร.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ จ.ป.ร.1
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ ว.ป.ร.1
- บุคคลจากวิทยาลัยอีตัน
- เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว
- ชาวไทยที่เสียชีวิตในประเทศอังกฤษ
- สมาชิกกองเสือป่า
- อาณาจักรรัตนโกสินทร์
- ผู้ลี้ภัยชาวไทย
- บุคคลในประวัติศาสตร์ไทย พ.ศ. 2411–2475
- บุคคลในประวัติศาสตร์ไทย พ.ศ. 2475–2516