ข้ามไปเนื้อหา

เหรียญรัตนาภรณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหรียญรัตนาภรณ์
มอบโดย พระมหากษัตริย์ไทย
ประเภทเหรียญราชอิสริยาภรณ์อันเป็นบำเหน็จในพระองค์พระมหากษัตริย์
วันสถาปนาพ.ศ. 2412
ประเทศไทย ราชอาณาจักรไทย
จำนวนสำรับไม่จำกัดจำนวน
มอบเพื่อพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย
สถานะยังพระราชทานอยู่
ผู้สถาปนาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประธานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
สถิติการมอบ
รายแรกพระยาชลยุทธโยธินทร์
26 มกราคม พ.ศ. 2445
รายล่าสุดพล.อ.ต. วีระ สุรเศรณีวงศ์
16 สิงหาคม พ.ศ. 2567
ลำดับเกียรติ
สูงกว่าไม่มี (เหรียญบำเหน็จในพระองค์พระมหากษัตริย์ลำดับสูงสุด)
รองมาเหรียญราชรุจิ

เหรียญรัตนาภรณ์ เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์อันเป็นบำเหน็จในพระองค์พระมหากษัตริย์ สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2412 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับพระราชทานผู้ที่ทำความดีความชอบทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ทั้งส่วนราชการและส่วนพระองค์ เดิมชื่อ เหรียญรจนาภรณ์ และเปลี่ยนชื่อเป็นเหรียญรัตนาภรณ์ ในปี พ.ศ. 2416 มีทั้งหมด 5 ลำดับชั้น

ตามธรรมเนียมในอดีต ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ จะได้รับพระราชทานเครื่องยศประกอบในชั้นต่าง ๆ เหมือนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าด้วย ดังนี้

  • ชั้นที่ 1 ได้รับพระราชทาน พานหมากทองคำ และ หีบหมากทองคำ
  • ชั้นที่ 2 ได้รับพระราชทาน พานหมากทองคำ
  • ชั้นที่ 3 ได้รับพระราชทาน หีบหมากทองคำ
  • ชั้นที่ 4 ได้รับพระราชทาน หีบหมากเงินกะไหล่ทอง
  • ชั้นที่ 5 ได้รับพระราชทาน หีบหมากเงิน

ปัจจุบันได้ยกเลิกการพระราชทานเครื่องยศไปแล้ว

ประวัติ

[แก้]

เหรียญรัตนาภรณ์เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2412 สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในพระองค์และในการช่าง เดิมชื่อ "เหรียญรจนาภรณ์" ซึ่งเป็นชั้นที่1 และ เหรียญบุษปมาลาซึ่งเป็นชั้นที่2 ภายหลังจากการการตราพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2416 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "เหรียญรัตนาภรณ์" แต่การสถาปนาเหรียญรัตนาภรณ์ในครั้งนั้นก็ไม่ได้พระราชทานให้ผู้ใดมากกว่า 20 ปี[1]

จนกระทั่ง พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรารภถึงเจ้านายและข้าราชการ ซึ่งตามเสด็จประพาสเกาะชวาต้องลำบากตรากตรำ เพื่อช่วยกันพยาบาลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมขุนนครราชสีมา ซึ่งประชวรหนักอยู่เกือบเดือน พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญรัตนาภรณ์ขึ้นใหม่ โดยให้แบ่งออกเป็น 5 ขั้น เพื่อพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบแก่ผู้โดยเสด็จในครั้งนั้นทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน และพระราชทานแก่ผู้อื่นเป็นบำเหน็จความชอบอย่างอื่นต่อมา

ในปี พ.ศ. 2447 เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี วันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4 ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง สำหรับพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้รับราชการมาในรัชกาลที่ 4 หรือผู้เป็นสมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ หลังจากนั้น ได้มีการสถาปนาเหรียญรัตนาภรณ์ขึ้นในทุกรัชกาลจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะ

[แก้]

ลักษณะตัวเหรียญ

[แก้]

เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4

[แก้]
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4 ชั้นที่ 5

เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4 สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2447 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี วันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นวงกลม มีอักษรพระบรมนามาภิไธย ม.ป.ร. อยู่ในพวงมาลาเป็นรูปวงกลมและมีหูสำหรับร้อยแพรแถบ โดยแบ่งออกเป็น 5 ชั้น[2][3] ได้แก่

  • ชั้นที่ 1 ย่อว่า ม.ป.ร.๑ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ม.ป.ร. เรือนเงินประดับเพชรล้วน
  • ชั้นที่ 2 ย่อว่า ม.ป.ร.๒ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ม.ป.ร. ลงยาราชาวดีสีแดง ขอบพวงมาลาประดับเพชร
  • ชั้นที่ 3 ย่อว่า ม.ป.ร.๓ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ม.ป.ร. ลงยาราชาวดีสีแดง ขอบเป็นทองคำ
  • ชั้นที่ 4 ย่อว่า ม.ป.ร.๔ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ม.ป.ร. ทองคำล้วน
  • ชั้นที่ 5 ย่อว่า ม.ป.ร.๕ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ม.ป.ร. เงินล้วน

สำหรับสตรีใช้ผูกเป็นรูปแมลงปอ ส่วนบุรุษใช้กลัดอกเสื้อ

เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5

[แก้]
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 2

เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2444 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นวงกลม มีอักษรพระบรมนามาภิไธย จ.ป.ร. อยู่ในพวงมาลาเป็นรูปวงกลมและมีหูสำหรับร้อยแพรแถบ โดยแบ่งออกเป็น 5 ชั้น[4] ได้แก่

  • ชั้นที่ 1 ย่อว่า จ.ป.ร.๑ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย จ.ป.ร. เรือนเงินประดับเพชรล้วน
  • ชั้นที่ 2 ย่อว่า จ.ป.ร.๒ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย จ.ป.ร. ลงยาราชาวดีสีแดง ขอบพวงมาลาประดับเพชร
  • ชั้นที่ 3 ย่อว่า จ.ป.ร.๓ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย จ.ป.ร. ลงยาราชาวดีสีแดง ขอบเป็นทองคำ
  • ชั้นที่ 4 ย่อว่า จ.ป.ร.๔ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย จ.ป.ร. ทองคำล้วน
  • ชั้นที่ 5 ย่อว่า จ.ป.ร.๕ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย จ.ป.ร. เงินล้วน

เหมือนกันทั้ง 5 ชั้น สำหรับสตรีใช้ผูกเป็นรูปแมลงปอ ส่วนบุรุษใช้กลัดอกเสื้อ

เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6

[แก้]

เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2453 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นรูปไข่ มีอักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร. อยู่ในพวงมาลาและมีหูสำหรับร้อยแพรแถบ โดยแบ่งออกเป็น 5 ชั้น[5] ได้แก่

  • ชั้นที่ 1 ย่อว่า ว.ป.ร.๑ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร. เรือนเงินประดับเพชรล้วน
  • ชั้นที่ 2 ย่อว่า ว.ป.ร.๒ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร. ลงยาราชาวดีสีดำ ขอบพวงมาลาประดับเพชร
  • ชั้นที่ 3 ย่อว่า ว.ป.ร.๓ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร. ลงยาราชาวดีสีดำ ขอบลงยาราชาวดีสีแดง
  • ชั้นที่ 4 ย่อว่า ว.ป.ร.๔ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร. ทองคำ ขอบลงยาราชาวดีสีแดง
  • ชั้นที่ 5 ย่อว่า ว.ป.ร.๕ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร. ทอง ขอบสร่งเงิน

เหมือนกันทั้ง 5 ชั้น สำหรับสตรีใช้ผูกเป็นรูปแมลงปอ ส่วนบุรุษใช้กลัดอกเสื้อ

เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7

[แก้]

เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2469 โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นวงรี มีอักษรพระบรมนามาภิไธย ป.ป.ร. อยู่ในขอบวงรีหยิกทแยงสี่แง่และมีหูสำหรับร้อยแพรแถบ โดยแบ่งออกเป็น 5 ชั้น[6] ได้แก่

  • ชั้นที่ 1 ย่อว่า ป.ป.ร.๑ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ป.ป.ร. เรือนเงินประดับเพชรทั้งดวง หูทองคำ
  • ชั้นที่ 2 ย่อว่า ป.ป.ร.๒ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ป.ป.ร. ทองคำลงยาสีเขียว ขอบเรือนเงินประดับเพชร หูทองคำ
  • ชั้นที่ 3 ย่อว่า ป.ป.ร.๓ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ป.ป.ร. ทองคำลงยาสีเขียว ขอบเรือนเพชรสร่งเงิน หูทองคำ
  • ชั้นที่ 4 ย่อว่า ป.ป.ร.๔ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ป.ป.ร. ทองคำ ขอบเรือนเพชรสร่งเงิน หูทองคำ
  • ชั้นที่ 5 ย่อว่า ป.ป.ร.๕ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ป.ป.ร. เงิน ขอบเรือนเพชรสร่งเงิน หูทองคำ

เหมือนกันทั้ง 5 ชั้น สำหรับสตรีใช้ผูกเป็นรูปแมลงปอ ส่วนบุรุษใช้กลัดอกเสื้อ

เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8

[แก้]

เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2480 สำหรับพระราชทานเป็นส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร มีลักษณะเป็นวงกลม มีอักษรพระบรมนามาภิไธย อ.ป.ร. อยู่ในขอบวงกลมซึ่งมีรัศมีและมีหูสำหรับร้อยแพรแถบ โดยแบ่งออกเป็น 5 ชั้น[7] ได้แก่

  • ชั้นที่ 1 ย่อว่า อ.ป.ร.๑ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย อ.ป.ร. เรือนเงินประดับเพชรทั้งดวง หูทองคำ
  • ชั้นที่ 2 ย่อว่า อ.ป.ร.๒ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย อ.ป.ร. ทองคำลงยาสีแดง ขอบเรือนเงินประดับเพชร หูทองคำ
  • ชั้นที่ 3 ย่อว่า อ.ป.ร.๓ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย อ.ป.ร. ทองคำลงยาสีแดง ขอบเพชรสร่งเงิน หูทองคำ
  • ชั้นที่ 4 ย่อว่า อ.ป.ร.๔ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย อ.ป.ร. ทองคำ ขอบเพชรสร่งเงิน หูเงิน กาไหล่ทอง
  • ชั้นที่ 5 ย่อว่า อ.ป.ร.๕ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย อ.ป.ร. เงิน ขอบเพชรสร่งเงิน หูเงิน กาไหล่ทอง

เหมือนกันทั้ง 5 ชั้น สำหรับสตรีใช้ผูกเป็นรูปแมลงปอ ส่วนบุรุษใช้กลัดอกเสื้อ

เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9

[แก้]

เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2495 สำหรับพระราชทานเป็นส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีลักษณะเป็นวงกลม มีอักษรพระบรมนามาภิไธย ภ.ป.ร. อยู่ในขอบวงกลมซึ่งมีรัศมีและมีหูสำหรับร้อยแพรแถบ โดยแบ่งออกเป็น 5 ชั้น[8] ได้แก่

  • ชั้นที่ 1 ย่อว่า ภ.ป.ร.๑ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ภ.ป.ร. ขอบเรือนเงินประดับเพชรทั้งดวง
  • ชั้นที่ 2 ย่อว่า ภ.ป.ร.๒ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ภ.ป.ร. ทองคำลงยาสีขาว ขอบเรือนเงินประดับเพชร
  • ชั้นที่ 3 ย่อว่า ภ.ป.ร.๓ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ภ.ป.ร. ทองคำลงยาสีขาว ขอบเรือนทองคำ
  • ชั้นที่ 4 ย่อว่า ภ.ป.ร.๔ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ภ.ป.ร. ทองคำ ขอบเพชรสร่งเงิน
  • ชั้นที่ 5 ย่อว่า ภ.ป.ร.๕ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ภ.ป.ร. เงิน ขอบเพชรสร่งเงิน

สำหรับสตรีใช้ผูกเป็นรูปแมลงปอ ส่วนบุรุษใช้กลัดอกเสื้อ

เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบัน

[แก้]

เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบัน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2562 สำหรับพระราชทานเป็นส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน มีลักษณะเป็นวงกลม มีอักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร. อยู่ในขอบวงกลมซึ่งมีรัศมีและมีหูสำหรับร้อยแพรแถบ โดยแบ่งออกเป็น 5 ชั้น[9] ได้แก่

  • ชั้นที่ 1 ย่อว่า ว.ป.ร.๑ มีลักษณะเป็น อักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. ทองคำประดับเพชรทั้งดวง
  • ชั้นที่ 2 ย่อว่า ว.ป.ร.๒ มีลักษณะเป็น อักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. ทองคำลงยาสีขาว ขอบเรือนเงินประดับเพชร
  • ชั้นที่ 3 ย่อว่า ว.ป.ร.๓ มีลักษณะเป็น อักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. กาไหล่ทองลงยาสีขาว ขอบสร่งทองคำ
  • ชั้นที่ 4 ย่อว่า ว.ป.ร.๔ มีลักษณะเป็น อักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. กาไหล่ทอง ขอบสร่งเงิน
  • ชั้นที่ 5 ย่อว่า ว.ป.ร.๕ มีลักษณะเป็น อักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. เงิน ขอบสร่งเงิน

สำหรับสตรีใช้ผูกเป็นรูปแมลงปอ ส่วนบุรุษใช้กลัดอกเสื้อ

ลักษณะแพรแถบย่อ

[แก้]
แพรแถบย่อ ชื่อ ลักษณะ
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4 พื้นสีเหลือง ริมขลิบสีเขียวและสีแดง
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ริ้วสีขาวซึ่งอยู่ระหว่างกลางริ้วแดง 2 ข้างขนาดเท่ากัน
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 พื้นสีเหลือง มีริ้วดำ 2 ข้าง
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 พื้นสีเหลือง มีริ้วเขียว 2 ข้าง
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 พื้นสีเหลือง มีริ้วแดง 2 ข้าง
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 พื้นสีเหลือง มีริ้วขาว 2 ข้าง
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 พื้นสีเหลือง มีริ้วขาว 2 ริ้ว 2 ข้าง

การพระราชทาน

[แก้]

เหรียญรัตนาภรณ์จัดเป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์อันเป็นบำเหน็จในพระองค์พระมหากษัตริย์ นับเป็นเครื่องหมายในพระมหากรุณาส่วนพระองค์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานแก่ผู้ใดก็แล้วแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร ผู้ที่ได้รับพระราชทานจะได้รับประกาศนียบัตรทรงลงพระปรมาภิไธยและประทับพระราชลัญจกรประจำพระองค์กำกับไว้ หากได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ในชั้นที่สูงขึ้นต้องส่งเหรียญดวงเดิมคืน

หากผู้ได้รับพระราชทานเหรียญวายชนม์ จะพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทายาทเก็บเหรียญเอาไว้เป็นเกียรติยศ และ เป็นเครื่องหมายเพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณได้ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สามารถนำเหรียญร้อยสร้อยสวมคอหรือประดับโดยวิธีอื่นที่เหมาะได้ แต่จะนำไปร้อยแพร���ถบเพื่อเอาไปประดับกับเสื้อไม่ได้ นอกจากนี้ยังสามารถเขียนอักษรย่อของเหรียญที่ได้รับพระราชทานไว้ท้ายชื่อได้อีกด้วย

พัดรัตนาภรณ์

[แก้]

พัดรัตนาภรณ์เป็นพัดประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เริ่มมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อถวายพระสงฆ์ที่ทรงเคารพนับถือและทรงคุ้นเคยเป็นการส่วนพระองค์โดยเฉพาะ ในทำนองเดียวกันกับที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์แก่บุคคลทางฝ่ายอาณาจักร นอกจากนี้ยังทรงถวายพัดดังกล่าวแก่พระพุทธรูปสำคัญเพื่อเป็นพุทธบูชาอีกด้วย

พัดรัตนาภรณ์ถือว่าเป็นตาลปัตรพัดยศชนิดหนึ่ง ใช้ได้เฉพาะพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานเท่านั้น และใช้เฉพาะเมื่อถวายอนุโมทนาในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลเพียงงานเดียว ลักษณะของพัดโดยรวมเป็นพัดหน้านางรูปไข่ ลวดลายพัดจำลองมาจากลวดลายของเหรียญรัตนาภรณ์ในแต่ละรัชกาล และมีการแบ่งลำดับชั้นของพัดเช่นเดียวกับเหรียญรัตนาภรณ์

อ้างอิง

[แก้]
  1. สมเด็จกรมพระยาดำรงเดชานุภาพ, หน้า 174
  2. ราชกิจจานุเบกษา, การบำเพ็ญพระราชกุศล ในอภิลักขิตสมัย นับจำเดิมแต่วันพระบรมมหาประสูตรกาลในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบรรจบครบ ๑๐๐ ปี, เล่ม ๒๑, ตอน ๑๒, ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๗, หน้า ๕๖๐
  3. สมเด็จกรมพระยาดำรงเดชานุภาพ, หน้า 175
  4. สมเด็จกรมพระยาดำรงเดชานุภาพ, หน้า 176
  5. สมเด็จกรมพระยาดำรงเดชานุภาพ, หน้า 177
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๗ พุทธศักราช ๒๔๖๙, เล่ม ๔๓, ตอน ๐ ก, ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๙, หน้า ๕๐๓
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๘ พุทธศักราช ๒๔๘๐, เล่ม ๕๔, ตอน ๐ ก, ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๐, หน้า ๙๔๒
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๕, เล่ม ๖๙, ตอน ๕๕ ก ฉบับพิเศษ, ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๕, หน้า ๑
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๖๒ , เล่ม ๖๙, ตอน ๙๔ ก, ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒, หน้า ๑-๓

หนังสือ

[แก้]
  • สมเด็จกรมพระยาดำรงเดชานุภาพ, ตำนานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า, โรงพิมพ์พระจันทร์, พ.ศ. 2512