ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอิศรวงศ์วรราชกุมาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอิศรวงศ์วรราชกุมาร
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 5
พระองค์เจ้าชั้นเอก
ประสูติ4 กันยายน พ.ศ. 2413
สิ้นพระชนม์5 มิถุนายน พ.ศ. 2415 (1 ปี)
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาเจ้าจอมมารดาแสง ในรัชกาลที่ 5

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอิศรวงศ์วรราชกุมาร (4 กันยายน พ.ศ. 2413 – 5 มิถุนายน พ.ศ. 2415) เป็นพระราชโอรสพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแสง ในรัชกาลที่ 5

พระประวัติ

[แก้]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอิศรวงศ์วรราชกุมาร เป็นพระราชโอรสพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแสง ในรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2413 มีพระยศเมื่อแรกประสูติที่ “พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอิศรวงศ์วรราชกุมาร“ มีพระโสทรอนุชาและพระโสทรกนิษฐา 3 พระองค์ ได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภางค์นิพัทธพงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภัทรายุวดี และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเจริญศรีชนมายุ

พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอิศรวงศ์วรราชกุมาร สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2415 สิริพระชันษา 1 ปีเศษ การสิ้นพระชนม์ของพระองค์นำมาซึ่งความเสียพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นพระราชโอรสพระองค์แรกที่ประสูติใน "เศวตฉัตร"[1]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอิศรวงศ์วรราชกุมาร เป็นเจ้านายพระองค์แรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่สิ้นพระชนม์ในวันที่ 31 พฤษภาคม ซึ่งแปดปีต่อมาในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 ได้มีเหตุการณ์สำคัญทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถือเอาวันที่ 31 พฤษภาคม เป็นวันเคราะห์ร้ายอย่างยิ่งของพระองค์ นั่นคือเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ล่มที่ตำบลบางพูด ทำให้สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ที่ทรงพระครรภ์อยู่ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดาพระชันษาได้ 2 ปีสิ้นพระชนม์ นับแต่นั้นมาก็ปรากฏว่า พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิ้นพระชนม์ในวันที่ 31 พฤษภาคม อีกหลายพระองค์ ทำให้วันที่ 31 พฤษภาคมเป็นวันถือในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะเป็นที่รู้กันอยู่ในบรรดาพระราชวงศ์และผู้ใกล้ชิดพระองค์เท่านั้น เมื่อใดที่ไม่ได้เสด็จอยู่ในพระนคร เมื่อนั้นก็หมายความว่าทรงระแวงถึงเหตุร้ายอันจะพึงบังเกิดแก่พระองค์ในวันนั้น จึงแปรพระราชฐานไปประทับยังที่อื่น เป็นการสะเดาะเคราะห์โดยปริยาย และถ้าในวันที่ 31 พฤษภาคมใด ผ่านไปโดยไม่ได้มีเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้นแก่พระองค์ ก็จะมีการถวายพระพรชัยแด่พระองค์[2]

ภายหลังจากงานพระราชเพลิงพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์แล้ว ในวันถัดมาก็มีการบำเพ็ญพระราชกุศลเกี่ยวกับพระอัฐิตามพระราชประเพณี ซึ่งปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ฉบับประจำวันที่ 4504 วันพฤหัสบดีแรม 3 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง โทศก จุลศักราช 1242 ตรงกับวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2423 ว่า[3]

"...เจ้าพนักงานเชิญพระอังคารขึ้นยานุมาศมีกระบวนแห่เทวดาเครื่องสูงกลองชะนะไปลงท่าพระ เชิญพระอังคารลงเรือชัย ๒ ลำมีเรือแห่ไปลอยที่หน้าวัดปทุมคงคาตามอย่างโบราณประเพณี แล้วกระบวนแห่ซึ่งเชิญพระอังคารไปส่งลงเรือ แล้วกลับเข้ามารับพระบรมอัฐิจากพระบรมมหาราชวัง เชิญออกพระที่นั่งทรงธรรมสดับปกรณ์ดังเช่นแต่ก่อน พระบรมอัฐิที่เชิญออกมาวันนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๑ สมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ๑ เชิญสถิตบนบุษบกทองคำเปลวกลางพระที่นั่งทรงธรรม สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย พระองค์เจ้าอิศรวงศ์วรราชกุมาร พระองค์เจ้านภางค์พิพัทธพงศ์ เชิญสถิตในบุษบกห้ายอดแล้วพระราชทานรางวัลเจ้านายข้าราชการที่ถวายของในการพระเมรุ แล้วเสด็จขึ้นข้างใน…"

พระอนุสรณ์

[แก้]

กุฏิอิศรวงศ์ ณ คณะ 3 วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2555 เดิมใช้เป็นกุฏิรับรองรับเถระผู้ใหญ่ ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ศึกษาพระปริยัติธรรม โดยในการจัดสร้างได้อัญเชิญพระนามของพระองค์มาเป็นชื่อกุฏิ เนื่องจากพระองค์เป็นเจ้านายที่มีเชื้อสายสกุลกัลยาณมิตร และเพื่อเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ด้วย[4]

พระอิสริยยศ

[แก้]
ธรรมเนียมพระยศของ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอิศรวงศ์วรราชกุมาร
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ
  • พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอิศรวงศ์วรราชกุมาร (4 กันยายน พ.ศ. 2413 – 5 มิถุนายน พ.ศ. 2415)

ภายหลังสิ้นพระชนม์

  • พระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้าอิศรวงศ์วรราชกุมาร (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453)
  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอิศรวงศ์วรราชกุมาร (10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478)

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ลาวัณย์ โชตามระ. รักแรกของรัชกาลที่ 5. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ดวงกมล, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2521. 223 หน้า. หน้า หน้าที่.
  2. 31 พฤษภาคม "วันถือ" ของรัชกาลที่ 5 วันพฤหัสบดี ที่ 23 ตุลาคม 2557 เวลา 00:17 น. โดย thaireform
  3. แก้วใจจุลจอม : พระเมรุมาศ (3) วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559 โดย Golftime
  4. อาคารเจ้าพระยานิกรบดินทร เชิดชูเกียรติประวัติ ต้นสกุลผู้สร้างวัด "กัลยาณมิตร"[ลิงก์เสีย] สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560