วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร | |
---|---|
พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร มุมมองจากทิศตะวันออก | |
ชื่อสามัญ | วัดเบญจมบพิตร |
ที่ตั้ง | 69 ถนนพระรามที่ 5 แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร |
นิกาย | เถรวาท มหานิกาย |
พระประธาน | พระพุทธชินราช (จำลอง) |
พระพุทธรูปสำคัญ | พระหริภุญชัยบรมโพธิสัตว์ พระฝาง |
เจ้าอาวาส | พระธรรมวชิราธิบดี (ฉ่ำ ปุญฺญชโย) |
ความพิเศษ | เป็นวัดประจำพระราชวังดุสิต |
เวลาทำการ | ทุกวัน 8.30-17.30 |
จุดสนใจ | พระอุโบสถ และ พิพิธภัณฑ์ฯวัดเบญจฯ |
กิจกรรม | บวชสามเณรภาคฤดูร้อน (เม.ย.) บวชชาวเขา (ก.ค.) ตานก๋วยสลาก (ต.ค.) |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร[1] ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด เดิมชื่อ วัดแหลม หรือ วัดไทรทอง ภายหลังได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใหม่ว่า วัดเบญจบพิตร ซึ่งหมายถึง วัดของเจ้านาย 5 พระองค์ที่ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างสวนดุสิตขึ้น พระองค์ทรงทำผาติกรรมสถาปนาวัดขึ้นใหม่และพระราชทานามว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อันหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๕
ประวัติ
[แก้]วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เดิมเป็นวัดราษฎรวัดแหลม หลังจากปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์แล้ว พระองค์เจ้าพนมวัน พร้อมพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกันอีก 4 พระองค์ คือ
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษเทเวศร์ (ต้นราชสกุลกุญชร)
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ (ต้นราชสกุลทินกร)
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทนิล
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงศ์
มีพระประสงค์ที่จะร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแหลม พร้อมทั้งทรงสร้างพระเจดีย์เรียงรายไว้หน้าวัด 5 องค์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดเบญจบพิตร หมายความว่า วัดของเจ้านาย 5 พระองค์[2]
ในปี พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงคลองสามเสนเพื่อสร้างที่ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถส่วนพระองค์ โดยพระราชทานนามว่า "สวนดุสิต"[3] (พระราชวังดุสิต ในปัจจุบัน) ซึ่งบริเวณที่ดินที่ทร��ซื้อนั้นมีวัดโบราณ 2 แห่ง คือ วัดดุสิตซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรมโดยถูกใช้เป็นที่สร้างพลับพลา และวัดร้างอีกแห่งซึ่งจำเป็นต้องใช้ที่ดินของวัดสำหรับตัดเป็นถนน พระองค์จึงทรงกระทำผาติกรรม สร้างวัดแห่งใหม่เพื่อเป็นการทดแทนตามประเพณี โดยทรงเลือกวัดเบญจมบพิตรเป็นวัดที่ทรงสถาปนาตามพระราชดำริว่า การสร้างวัดใหม่หลายวัดยากต่อการบำรุงรักษา ถ้ารวมเงินสร้างวัดเดียวให้เป็นวัดใหญ่ และทำโดยฝีมือประณีตจะดีกว่า จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ทรงออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถและถาวรวัตถุอื่น ๆ และมีพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นนายช่างก่อสร้าง ติดกับโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมายังวัด ในการนี้มีพระบรมราชโองการประกาศพระบรมราชูทิศถวายที่ดินให้เป็นเขตวิสุงคามสีมาของวัด พร้อมทั้งพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดเบญจมบพิตร อันหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5 และเพื่อแสดงลำดับรัชกาลในพระบรมราชจักรีวงศ์[4] ต่อมา พระองค์ได้ถวายที่ดินซึ่งพระองค์ขนานนามว่า ดุสิตวนาราม ให้เป็นที่วิสุงคามสีมาเพิ่มเติมแก่วัดเบญจมบพิตร และโปรดฯ ให้เรียกนามรวมกันว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม[5]
เมื่อมีการจัดระเบียบพระอารามหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2458 วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามจัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร[1] ดังนั้น ชื่อวัดจึงมีสร้อยนามต่อท้ายด้วย "ราชวรวิหาร" ดังเช่นในปัจจุบัน
สิ่งก่อสร้างสำคัญ
[แก้]พระอุโบสถ
[แก้]เป็นแบบจตุรมุข มุขด้านตะวันออกขยายยาว ด้านเหนือและใต้มีมุขกระสันต่อกับพระระเบียง หลังคา ๔ ชั้น ด้านมุขกระสันทิศเหนือและทิศใต้ ๕ ชั้น มีพระระเบียงโอบรอบด้านหลังด้านหน้าพระอุโบสถ มีกำแพงแก้ว บนมุมกำแพงแก้วซ้าย-ขวา มีเสาคอนกรีตหัวเสาเป็นศิลาสลักรูปดอกบัวตูม คือเครื่องหมาย "สีมา" สำหรับด้านหน้า ส่วนสีมาด้านหลังพระอุโบสถ สลักรูปเสมาธรรมจักรที่แผ่นหินแกรนิตปูพื้นภายในกำแพงแก้ว ปูหินแกรนิตสีชมพูอ่อนและสีเทา โดยมีพระพุทธชินราช (จำลอง) ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
ศาลาสี่สมเด็จ
[แก้]ศาลาสี่สมเด็จ เป็นศาลาจตุรมุขพื้นศิลา หลังคาประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา สร้างขึ้นจากพระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวร่วมกับสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอและสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอร่วมพระราชชนนีอีก 3 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ และสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช โดยพระองค์พระราชทานนามศาลาแห่งนี้ว่า ศาลาสี่สมเด็จ ไว้เป็นที่พักผ่อนสำหรับพระสงฆ์และสามเณร[5] ปัจจุบัน ศาลาสี่สมเด็จใช้เป็นหอกลอง
บริเวณหน้าบันทั้ง 4 ด้านของศาลาสี่สมเด็จได้จำหลักลายไทยเป็นตราประจำพระองค์ของแต่ละพระองค์ไว้ ได้แก่ ตราพระเกี้ยว พระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตราจันทรมณฑล ตราประจำพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ ตราจักร ตราประจำพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ และ ตราสุริโยทัย ตราประจำพระองค์ในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จากเว็บไซต์วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
พระที่นั่งทรงธรรม
[แก้]เป็นตึก ๒ ชั้น ก่ออิฐถือปูนตลอด พื้นชั้นล่างและบันไดปูหินอ่อน ชั้นบนปูไม้ หลังคา ๒ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบสี ช่อฟ้าใบระกาลงรักปิดทองทึบ หน้าบันทั้ง ๔ ด้าน จำหลักภาพต่าง ๆ ปิดทองประดับกระจก ภายในผนังเสมอกรอบหน้าต่าง ประกบแผ่นหินอ่อนสีขาว เสาเขียนลายรดน้ำเทพนม ตั้งธรรมาสน์กลางห้อง ด้านใต้กั้นพระฉากดีบุกฉลุลายไทยเทพนมและกุมภัณฑ์ เพื่อเป็นที่ประทับของฝ่ายใน พระที่นั่งทรงธรรมนี้ "สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า" ทรงสร้างอุทิศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อ พ.ศ. 2445 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ใช้เป็นที่ประทับแรมเวลาทรงธรรมรักษาอุโบสถศีล ต่อมาได้เคยใช้เป็นที่ประชุมสังฆมนตรี, ที่ศึกษาพระปริยัติธรรม จัดงานประจำปีของวัด ตั้งพระศพและศพบุคคลสำคัญของชาติ ในเวลาตั้งพระศพศาลาแห่งนี้มีศักดิ์เป็นรองจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เช่น
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร
- พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ
- สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปลด กิตฺติโสภโณ)
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา
- จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี
- พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร อดีตประธานองคมนตรี
- หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ อดีตประธานองคมนตรี
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร
- พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ
- นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานองคมนตรี
- พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ
ปัจจุบันคงใช้ในกิจกรรมของวัด และตั้งพระศพหรือศพบุคคลสำคัญ[6]
หอระฆังบวรวงศ์
[แก้]หอระฆังบวรวงศ์ เป็นหอระฆังทรงไทยประกอบหินอ่อน สร้างขึ้นโดยพระบรมวงศานุวงศ์ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และข้าราชการ ระฆังภายในหอนั้นนำมาจากวัดบวรสถานสุทธาวาส ซึ่งเป็นวัดประจำพระราชวังบวรสถานมงคล หน้าบันของหอระฆังจำหลักลายไทยประกอบภาพตราประจำตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล โดยหน้าบันทิศตะวันตกเป็นภาพ "พระลักษณ์ทรงหนุมาน" ซึ่งเป็นตราประจำตำแหน่งองค์เดิม ส่วนหน้าบันทิศตะวันออก เป็นภาพ "พระนารายณ์ทรงปืน" ซึ่งเป็นตราประจำตำแหน่งองค์ที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นใหม่ จากเว็บไซต์วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการเปิดและฉลองหอระฆังเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2445 พร้อมทั้งพระราชทานามว่า หอระฆังบวรวงศ์[7]
สถานที่อื่น ๆ
[แก้]พระที่นั่งผนวช
[แก้]เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้รื้อมาจากพระพุทธรัตนสถาน เป็นหมู่กุฏิประกอบด้วย "พระที่นั่งทรงผนวช" อยู่ด้านทิศเหนือ "พระกุฏิ" อยู่ด้านทิศใต้ กับกุฏิ ๒ ห้อง ๒ หลัง อยู่ด้านตะวันออกและตะวันตก มีหอเสวยกลาง มีลานหินอ่อนโดยรอบมีช่อฟ้า ใบระกา ลำยอง ลงรักปิดทองทึบหลังด้านทิศใต้คือ "พระกุฏิ" หน้าบันจำหลักลายประกอบ "พัดยศ" ลงรักปิดทองประดับกระจก มีความหมายว่าเป็นที่ประทับของสมเด็จพระอุปัชฌาย์ เมื่อพระองค์ทรงผนวชส่วนหลังทิศเหนือคือ '"พระที่นั่งทรงผนวช"' เป็นตรีมุข ประตูหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำตรา "เครื่องราชอิสริยาภรณ์" ที่ทรงปรับปรุงขึ้นใหม่เป็น 5 สาย 5 ชั้น ด้านในเขียนภาพเทวดาถือดอกไม้เหนือคนแคระหน้าบันทั้ง ๓ ด้านจำหลักลายไทยประกอบตรา "พระเกี้ยว" ซึ่งเป็นตราประจำของพระองค์ ลงรักปิดทองประดับกระจก หมายถึงพระที่นั่งองค์นี้ เป็นที่ประทับเมื่อคราวพระองค์ทรงผนวชภายในพระที่นั่งทรงผนวช มีพระแท่นบรรทม พระบรมรูปเมื่อทรงผนวช พระบรมรูปสลักหินอ่อน พระพุทธรูป พระเสลี่ยงน้อย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายเพื่อเป็นธรรมาสน์แสดงธรรมและแสดงพระปาติโมกข์ครั้งแรกในวัดเบญจมบพิตร เครื่องลายครามต่าง ๆ
ศาลาบัณณรศภาค
[แก้]เป็นศาลาจตุรมุข สร้างด้วยทุนทรัพย์ของพระมเหสี เจ้าจอม พระราชโอรส พระราชธิดาและพระญาติในรัชกาลที่ 5 รวม 15 พระองค์ ปัจจุบัน ใช้เป็นที่ตั้งศพบุคคลสำคัญ เช่น
- สมเด็จพระวันรัต (จ่าย ปุณฺณทตฺโต)
- หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์ (หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์)
- หม่อมเจ้าบุญจิราธร จุฑาธุช
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร
- เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5
- หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร
- หม่อมเจ้าวงศานุวัตร เทวกุล
- นายจรูญพันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตองคมนตรี
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา
- หม่อมหลวงมณีรัตน์ บุนนาค
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธวงษวิจิตร
- หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล
- หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร
- พันโทหญิง หม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา
- นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี
- นายสวัสดิ์ วัฒนายากร อดีตองคมนตรี
- นายจำรัส เขมะจารุ อดีตองคมนตรี
- นายขวัญแก้ว วัชโรทัย อดีตรองเลขาธิการพระราชวัง
- หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช
- หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี
- ท่านผู้หญิงทัศนีย์ บุณยคุปต์
- หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์
พระวิหารสมเด็จ
[แก้]เป็นตึกจตุรมุข 2 ชั้น แต่มุขด้าน���ต้เชื่อมต่อกับมุขกุฏิสมเด็จ มุขด้านตะวันออกและตะวันตกขยายยาวเป็นชั้นเดียว บันไดพื้นชั้นล่างปูหินอ่อน ชั้นบนปูไม้ความงามของพระวิหารนี้อยู่ที่ประตูหน้าต่างที่เขียนลายไทยรดน้ำทั้งชั้นล่างและชั้นบน หน้าบันและซุ้มประตูหน้าต่าง ปั้นลายก้านขดประกอบตราพระนามาภิไธยย่อ'"ส.ผ."'(เสาวภาผ่องศรี) ลงรักปิดทองประดับกระจกข้างบันไดขึ้นด้านหน้าหล่อราชสีห์ประดับ 2 ตัว
ศาลาอุรุพงศ์
[แก้]เป็นศาลาทรงไทย จตุรมุข หลังเล็ก ๆ ก่ออิฐถือปูน พื้นคอนกรีต หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ตั้งอยู่สนามหญ้าหลังพระอุโบสถ ด้านทิศเหนือต้นพระศรีมหาโพธิ์ สันนิษฐานว่าหลังเดิมสร้างแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณ พ.ศ. 2453 เป็นศาลาเครื่องไม้ทั้งหมด ต่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ ในปี พ.ศ. 2459 ถูกพายุพัดหักลง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯให้ซ่อมขึ้นใหม่ แต่คงเป็นศาลาเครื่องไม้เช่นเดิมต่อมาเจ้าจอมมารดาเลื่อน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้บริจาคทรัพย์เปลี่ยนศาลาจากเดิมให้เป็นจตุรมุข ผูกเหล็กหล่อคอนกรีตทั้งหลังศาลาหลังนี้เป็นที่บรรจุพระอังคารของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภชพระราชโอรสในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาเลื่อน
ศาลาธรรมชินราชปัญจบพิธ
[แก้]เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ๔ ชั้น มีดาดฟ้าเป็นชั้นที่๕สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเจริญพระชนมมายุครบ ๒๕ ชันษา เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๘ สร้างเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๒๔ ศาลาธรรมชินราชปัญจบพิธ เป็นศาลาอเนกประสงค์ ที่รวมหน่วยงานสำคัญต่าง ๆ ของวัด
โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร
[แก้]พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรขึ้นด้วยทุนทรัพย์ซึ่งเป็นสมบัติของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอิศริยาภรณ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรสิริประสาธน์ และเจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เกสร ในรัชกาลที่ 5 เมื่อ ร.ศ. 121 โดยมีพระราชประสงค์ให้สร้างขึ้นเพื่อ "สอนศิษย์ซึ่งเป็นคฤหัสถ์" ปัจจุบัน ทางการได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น "โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร" เปิดสอนเฉพาะนักเรียนชาย
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ วัดเบญจมบพิตร
[แก้]พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ วัดเบญจมบพิตร เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อจัดแสดงพระพุทธรูปทั้งในและนอกประเทศ
ลำดับเจ้าอาวาส
[แก้]ลำดับที่ | รูป | รายนาม | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ |
1 | สมเด็จพระวันรัต (จ่าย ปุณฺณทตฺโต) | พ.ศ. 2443 | พ.ศ. 2471 | |
2 | สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปลด กิตฺติโสภโณ) | พ.ศ. 2471 | พ.ศ. 2505 | |
3 | สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) | พ.ศ. 2505 | พ.ศ. 2537 | |
4 | พระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ) | พ.ศ. 2537 | พ.ศ. 2549 | |
5 | พระพุทธวรญาณ (ทอง สุวณฺณสาโร) | พ.ศ. 2549 | พ.ศ. 2557 | |
6 | พระธรรมวชิราธิบดี (ฉ่ำ ปุญฺญชโย) | พ.ศ. 2557 | ปัจจุบัน |
ระเบียงภาพ
[แก้]-
มุมมองพระอุโบสถ มุมมองจากทิศตะวันตก
-
มุมมองพระอุโบสถจากทางเข้า
-
บริเวณด้านหน้าทางเข้าพระอุโบสถในยามกลางคืน
-
ศาลาตรีมุขสะพานน้ำ
อ้างอิงแก้
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่อง จัดระเบียบพระอารามหลวง เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ก, ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๒๘๔
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์, วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เก็บถาวร 2009-06-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2598, ปีที่ 50, ประจำวันอังคารที่ 3 สิงหาคม 2547
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความเรื่องสวนดุสิต, เล่ม ๑๕, ตอน ๕๐, ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๑, หน้า ๕๔๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ พระบรมราชูทิศที่แผ่นดินวิสุงคามสีมาวัดเบ็ญจมบพิตร, เล่ม ๑๖, ตอน ๕๐, ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒, หน้า ๖๙๔
- ↑ 5.0 5.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ พระบรมราชูทิศถวายที่สงฆกับปิยภูมิ์เขตรพระอารามแลกุฎีสังฆเสนาศน์ วัดเบ็ญจมบพิตร, เล่ม ๑๗, ตอน ๓๙, ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๓, หน้า ๕๕๔
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2014-03-13.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การเปิดหอระฆัง สะพานท่าน้ำ และสะพานข้ามคลองในวัดเบญจมบพิตร, เล่ม ๑๙, ตอน ๔๐, ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๕, หน้า ๗๕๙
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์