ข้ามไปเนื้อหา

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

พิกัด: 13°45′04″N 100°30′04″E / 13.751078°N 100.501138°E / 13.751078; 100.501138
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดสุทัศน์เทพวราราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดสุทัศน์เทพวราราม
ที่ตั้ง146 ถนนบำรุงเมือง แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
ประเภทเถรวาทมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระพรหมวชิรมุนี (เชิด จิตฺตคุตฺโต)
ความพิเศษพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร 1 ใน 6 ของไทยเลย
หมายเหตุ
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนวัดสุทัศนเทพวราราม
ขึ้นเมื่อ22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000005
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดสุทัศนเทพวราราม [สุ-ทัด-เทบ-พะ-วะ-รา-ราม] หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า วัดสุทัศน์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งของประเทศไทย และถือเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร(รัชกาลที่ 8)เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเขตพระนครชั้นใน และอยู่มีสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นคือ เสาชิงช้า อยู่บริเวณหน้าวัด

ประวัติ

[แก้]

ในต้นยุคกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1[1]โปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างวัดขึ้นในพื้นที่พระนครชั้นใน ในปี พ.ศ. 2350 เดิมพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” โดยมีพื้นที่ตั้งอยู่ในดงสะแก เป็นที่ลุ่มจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถมที่และสร้างเป็นวัด และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย แต่สิ้นรัชกาลก่อนที่จะประดิษฐานเป็นสังฆาราม จึงเรียกกันว่า วัดพระโต, วัดพระใหญ่ หรือวัดเสาชิงช้าบ้าง จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อ และทรงจำหลักบานประตูพระวิหารด้วยพระองค์เอง แต่ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อนที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ การก่อสร้างวัด มาเสร็จบริบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2390 และพระราชทานนามว่า "วัดสุทัศน์เทพวราราม" ปรากฏในจดหมายเหตุว่า "วัดสุทัศน์เทพธาราม" และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผูกนามพระประธานในพระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ ให้คล้องกันว่า "พระศรีศากยมุนี", "พระพุทธตรีโลกเชษฐ์" และ "พระพุทธเสรฏฐมุนี"

ต่อมาในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 กรมศิลปากรได้กำหนดเขตโบราณสถานของวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ให้มีพื้นที่โบราณสถานจำนวน 28 ไร่ 76 ตารางวา[2]

เขตพระวิหารหลวง

[แก้]

อยู่ในเขตพุทธาวาสประกอบด้วยพระวิหารหลวงเป็นอาคารประธานล้อมด้วยระเบียงคดเป็นเเนวเขต

พระวิหารหลวง

[แก้]
พระวิหารหลวง ด้านหน้าตรง

พระวิหารหลวงเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี มีหลังคา 2 ซ้อน 4 ตับ มีมุขลดทรงโถงด้านหน้าเเละหลัง เสาอาคารด้านนอกเป็นเสาย่อมุมไม้สิบสองบัวหัวเสาประดับเป็นบัวแวง มีคันทวยรับชายหลังคา เสาร่วมในเป็นเสาทรงเหลี่ยมทึบตัน ซุ้มประตูเเละซุ้มหน้าต่างเป็นทรงบรรพแถลง หน้าบันเป็นไม้แกละสลักปิดทองประดับกระจกมีการเเบ่งลายในกรอบสามเหลี่ยมเป็น 2 ชั้น ชั้นในแกะสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณล้อมด้วยลายกระหนกก้านขดเเละกระหนกเปลว ปลายกระหนกเปลวแต่ละวงเป็นเทพพนม ชั้นนอกประดับเป็นลายกระหนกก้านขดเเละกระหนกเปลว ปลายกระหนกเปลวแต่ละวงเป็นเทพพนมเช่นกัน หน้าบันมุขลดเป็นไม้แกะสลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑล้อมด้วยลายกระหนกเปลว ฐานพระวิหารยกสูง 3 ชั้น ชั้นที่ 1 มีประติมากรรมสำริดรูปม้าอยู่ที่มุมของฐาน ชั้นที่ 2 มีเจดีย์แบบจีนล้อมรอบทั้งพระวิหารทั้งหมด 28 องค์ โดยบริเวณเขตพระวิหารหลวงทั้งหมดล้อมด้วยระเบียงคด[3] พระวิหารเริ่มสถาปนาตั้งเเต่สมัยรัชกาลที่ 1 ในคราวที่มีการอัญเชิญพระศรีศากยมุณีจากเมืองสุโขทัยลงมาประดิษฐานในวัดนี้ แต่ในสมัยรัชกาลที่ 1 สร้างได้เพียงรากฐานเท่านั้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้สร้างวิหารเพิ่มเติม เเละได้สร้างประตูคู่บานกลางด้านหน้า ตามประวัติกล่าวว่าได้ทรงดำริให้ช่างเขียนอย่างเส้นลายบานประตูวัดพนัญเชิงเเละพระองค์มีส่วนร่วมในการออกแบบเเละแกะสลักด้วยพระองค์เอง แต่ต่อมาในวันที่ 13 พฤษจิกายน 2502 บานประตูได้ถูกไฟไหม้ชำรุดเสียหายจึงได้ถอดประตูคู่กลางด้านหลังมาใส่แทนดังที่เห็นในปัจจุบันเเละบานประตูคู่กลางด้านหน้าเดิมได้ถอดไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร เเต่การก่อสร้างอาคารพระวิหารยังไม่เเล้วเสร็จทั้งหมด โดยการก่อสร้างมาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 3[3]

พระศรีศากยมุนี

[แก้]
พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง

พระศรีศากยมุนีเป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสามาธิราบ หน้าตักกว้าง 6.25 เมตร สูงประมาณ 8 เมตร ถือเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยสุโขทัยเท่าที่เหลือหลักฐานสมบูรณ์ที่สุด เเต่เดิมเป็นพระประธานในวิหารหลวง วัดมหาธาตุ สุโขทัย รัชกาลที่ 1 ได้อัญเชิญลงมากรุงเทพฯ เมื่อคราวสร้างวัดสุทัศน์เเละประดิษฐานในวิหาร เเต่คราวนั้นก่อสร้างได้เพียงฐานราก รัชกาลที่ 1 ก็ทรงสวรรคตเสียก่อน เนื่องจากพระพุทธรูปนี้มีขนาดใหญ่โตจึงเรียกกันว่า "พระโต" จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามว่า "พระศรีศากยมุนี" ในสมัยรัชกาลที่ 2 มีบันทึกกล่าว่า พระองค์ทรงเห็นว่าพระเศียรของพระศรีศากยมุนีมีขนาดเล็กไป พระวรกายไม่สมกัน จึงให้ช่างถอดออกหล่อพระเศียรพระพักตร์ให้ใหญ่ขึ้น เเละนิ้วพระหัตถ์ของเดิมนั้นมีความสั้นยาวไม่เท่ากันก็โปรดให้ต่อนิ้วพระหัตถ์ให้ยาวเท่ากัน การที่รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าให้พอกพระพักตร์ให้ใหญ่ขึ้นอาจจะเนื่องเเต่เดิมในสมัยสุโขทัยพระศรีศากยมุนีตั้งอยู่บนฐานเตี้ยๆ จึงมีสัดส่วนที่ลงตัวเมื่อคนดูมองขึ้นไป แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์นิยมประดิษฐานพระพุทธรูปบนแท่นสูงเมื่อคนดูเงยหน้ามองพระพุทธรูปทำให้พระพักตร์ดูเล็กไป ไม่ได้สัดส่วนกับพระวรกาย ส่วนการต่อนิ้วพระหัตถ์ให้ยาวเท่ากันเป็นความนิยมในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อพิจารณาจากลักษณะศิลปกรรม จัดได้ว่าพระศรีศากยมุนีเป็นพระพุทธรูปในหมวดใหญ่ของสุโขทัย คือ การทำพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว ชายสังฆาฏิเป็นแผ่นเล็กยาวลงมาจรดพระนาภี เเต่มีพระพักตร์ค่อนข้างกลมเเละพระวรกายที่อวบอ้วนกว่าซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 2[4] ด้านหลังบัลลังก์พระศรีศากยมุนีมีแผ่นศิลาจำหลักศิลปะทวารวดี รูปปางยมกปาฏิหาริย์ และ ปางประทานเทศนาในสวรรค์ เดิมมีการปิดทองเเต่ปัจจุบันได้มีการลอกทองออกหมดให้เห็นชั้นเนื้อหิน เป็นงานประติมากรรมเเกะสลักนูนต่ำศิลปะทวารวดีที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดใยไทย

เปรตวัดสุทัศน์

[แก้]
จิตรกรรม พระสงฆ์พิจารณาสังขารเปรต วัดสุทัศนเทพวราราม

ที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร มีเรื่องเล่าขานกันถึงเปรต สัตว์ที่เกิดในอบายภูมิตามความเชื่อของพุทธศาสนาและชาวไทย ว่ามีเปรตเคยปรากฏอยู่ที่นี่ โดยเรื่องนี้อาจมีที่มาจากภายในพระวิหารมีภาพวาดบนเสาด้านข้างขวาขององค์พระศรีศากยมุนี เป็นภาพจิตรกรรมที่วาดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรูปหนึ่งเป็นรูปเปรตตนหนึ่งนอนพาดกายอยู่และมีพระสงฆ์กำลังยืนพิจารณาสังขาร ซึ่งภาพนี้มีชื่อเสียงมากในสมัยอดีต เป็นที่ร่ำลือกันว่าหากใครได้มีโอกาสไปกราบไหว้พระศรีศากยมุนีในพระวิหารหลวง ต้องไปดูรูปจิตรกรรม "เปรตวัดสุทัศน์" ที่ขึ้นชื่อนี้ จนมีคำกล่าวคล้องจองกันว่า "แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์" นอกจากนี้แล้วยังมีเรื่องเล่ากันจากปากต่อปากว่า ในอดีตที่บริเวณหน้าพระวิหารหลวงนี้ มีผู้พบเห็นเปรตในเวลาค่ำคืนบ่อย ๆ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) ขณะที่ยังทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ ในเวลาประมาณ 3 ทุ่ม ยังเคยเปรยกับเปรต ความว่า "อยู่ด้วยกันนะ อย่าให้ชาวบ้านได้เดือดร้อน" จากนั้นเปรตก็ไม่มาปรากฏอีก นอกจากนี้มีความเป็นไปได้ว่า เปรตวัดสุทัศน์ อาจเป็นความเข้าใจผิดของผู้ที่มองเห็นเสาชิงช้าที่อยู่บริเวณหน้าวัดในเวลาเช้ามืดที่หมอกลง หรือทัศนวิสัยไม่ดี แล้วสำคัญผิดว่าเป็นเปรต หรืออาจจะมีที่มาจากพระราชนิพนธ์องค์หนึ่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเคยนิพนธ์เรื่อง "เปรตสะพานหัน" ที่ทรงเปรียบขอทานที่สะพานหันว่าเหมือนเปรต และมีการนำไปเปรียบเทียบกับขอทานที่อาศัยอยู่หน้าเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ที่อยู่ใกล้เคียง[5]

พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8

[แก้]

ภายเขตพระวิหารหลวงประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร อยู่บริเวณมุมระเบียงคตด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ วัสดุสำริด ตั้งบนฐานหินอ่อน และได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีเมื่อ พ.ศ. 2493 และมีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรในวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี

รูปภาพอื่น ๆ ภายในเขตพระวิหาร

[แก้]

เขตพระอุโบสถ

[แก้]

อยู่ในเขตพุทธาวาสประกอบด้วยพระอุโบสถเป็นอาคารประธานล้อมด้วยกำแพงเเก้วเป็นเเนวเขต

พระอุโบสถ

[แก้]
พระอุโบสถ

พระอุโบสถของวัดสุทัศน์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 มีเครื่องหลังคาที่เป็นแบบประเพณีนิยมที่ยังมีเครื่องลำยองได้แก่ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง หน้าบันเป็นงานไม้แกะสลักประดับกระจกลวดลายแบบไทย มีเสาเฉลียงหรือพาไล เสาเป็นเเท่งสีเหลี่ยมทึบไม่ย่อมุม ไม่ประดับบัวหัวเสา ไม่มีคันทวย ซึ่งนิยมใช้ในรัชกาลที่ 3 เสาลักษณะนี้ทำให้สามารถสร้างอาคารที่มีขนาดใหญ่ทั้งกว้างเเละสูง เเละมีความมั่นคงเเข็งแรง รอบพระอุโบสถมีกำเเพงเเก้วล้อมรอบ บนกำแพงแก้วด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีเกยอยู่ด้านละ 4 เกย ซึ่งใช้เป็นที่สำหรับประทับโปรยทานแก่ประชาชนในงานพระราชพิธี เรียกว่า "เกยโปรยทาน" หน้าบันพระอุโบสถเป็นไม้แกะสลักประดับกระจก หน้าบันด้านหน้าทางทิศตะวันออกเป็นแกะสลักเป็นรูปพระอาทิตย์ทรงราชรถเทียมราชสีห์พื้นหลังประดับกระจกสีแดง หน้าบันด้านหลังทางทิศตะวันตกเป็นรูปพระจันทร์ทรงราชรถเทียมม้าพื้นหลังประดับกระจกสีเงิน[6] ซุ้มประตูเเละหน้าต่างทำเป็นรูปทรงที่ผสมระหว่างซุ้มทรงปราสาทยอดเเละซุ้มทรงบรรพเเถลงเรียกว่า ซุ้มทรงมงกุฏ ซึ่งเป็นเเนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 3

พระพุทธตรีโลกเชษฐ์

[แก้]
พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ พระประธานในพระอุโบสถ

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานนามว่า พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นเป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 10 ศอก 8 นิ้ว เบื้องหน้าพระพุทธตรีโลกเชษฐ์ประดิษฐานพระอสีติมหาสามวก 80 รูปนั้งประนมมือฟังพระโอวาทสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 สร้างเป็นปูนปั้นลงสีเเทนที่ตำเเหน่งพระศรีศาสดาเดิมที่อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร พุทธลักษณะของพระพุทธตรีโลกเชษฐ์เป็นรูปแบบเฉพาะของพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 อย่างเเท้จริง ประกอบด้วย มีพระวรกายเพรียวบาง สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่จรดพระนาภี พระพักตร์ค่อนข้างกลมกึ่งไข่ ขมวดพระเกษาเล็ก มีพระรัสมีเป็นเปลว พระขนงโก่ง พระเนตรเปิดเเละมองตรง พระนาสิกค่อนข้างเล็กเเละโด่ง พระโอษฐ์เล็กแย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย เส้นพระโอษฐ์โค้งเล็กน้อยเกือบเป็นเส้นตรง เรียกว่า "พระพักตร์อย่างหุ่น" คือมีลักษณะคล้ายหุ่นละคร อันเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปในสมัยรัชกาลที่ 3[7]

ซุ้มสีมา

[แก้]
ซุ้มสีมาพระอุโบสถ

ตั้งอยู่บนกำแพงแก้วพระอุโบสถ เป็นทรงเรือนมีส่วนฐานรองรับ ส่วนกลางเป็นห้อง เเละส่วนยอดที่เป็นยอดเเหลม ส่วนฐานยกสูงมีการเเกะสลักลวดลาย ตัวเรือนเจาะเป็นช่อง 4 ด้าน ภายในประดิษฐานสีมาคู่ ส่วนยอดทำเป็นทรงมงกุฏหรือพระเกี้ยวหล่อด้วยสำริดมีฐานเป็นวงแหวนซ้อนกันเป็นชั้นๆ คล้ายมาลัยเถา เเต่ในหมายรับสั่งรัชกาลที่ 3 เรียกส่วนยอดนี้ว่า เจดีย์ ดังมีข้อความระบุว่า "โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระเจดีย์หลังซุ้มสีมาวัดสุทัศนเทพวราราม" ใน พ.ศ. 2387[8] ส่วนฐานของยอดมีกระทงล้อมรอบทิศทั้ง 4 ด้าน เป็นหินอ่อนแกะสลักลวดลายอย่างเทศ[9] ใบสีมาทำจากหินอ่อนสีเทาสลักเป็นภาพช้าง 3 เศียร งวงชูดอกบัวตูมเศียรละ 1 ดอก เบื้องบนมีดอกบัวบาน 3 ดอก โดยการสร้างซุ้มในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้น ถ้าพระอุโบสถเป็นตามแบบพระเพณีนิยมจะมียอดซุ้มเป็นอย่างไทย เเต่หากเป็นพระอุโบสถวัดที่สร้างแบบพระราชนิยมที่เป็นอิทธิพลศิลปะจีน ซุ้มสีมาจะสร้างเป็นอย่างเทศคือเป็นแบบจีนผสมตะวันตก

ซุ้มประตูกำแพงแก้ว

[แก้]

ซุ้มประตูกำแพงเเก้วขึ้นสู่ลานพระอุโบสถมีอยู่ด้านละ 2 ซุ้ม รวมทั้งหมด 8 ซุ้ม เป็นซุ้มประตูยอดที่มีลักษณะผสมระหว่างศิลปะไทยกับศิลปะตะวันตก ตัวซุ้มสร้างด้วยหินอ่อนเซาะร่อง ประดับบัวหัวเสาด้วยลายใบไม้แบบตะวันตกเรียกว่า ลายใบอะเเคนทัส ส่วนยอดมีลักษณะเป็นเค้าโครงของมงกุฏหรือพระเกี้ยว เหนือกรอบประตูมีทับหลังเป็นหินอ่อนเเกะสลักปิดทองเป็นรูปแบบลายอย่างเทศประกอบด้วยดอกเเละใบโบตั๋น มีประติมากรรมทวารบาลเป็นรูปทหารเเต่งกายแบบตะวันตกอยู่ด้านข้างซุ้มประตูทุกประตู บานประตูทาสีเขียวเขียนจิตรกรรมรูปครุฑยุดนาคทุกด้าน[9]

รูปภาพอื่น ๆ ภายในเขตพระอุโบสถ

[แก้]

ศิลปกรรมอื่น ๆ

[แก้]

ศาลาการเปรียญ

[แก้]
ศาลาการเปรียญ

สร้างขึ้นปี พ.ศ. 2397 เป็นอาคารที่ตั้งอยู่ในเขตสังฆาวาส รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบพระราชนิยมไทยผสมจีน ภายในใช้ใช้เสาเหลี่ยมตันขนาดใหญ่รับน้ำหนักหลังคา ไม่มีระเบียงโดยรอบ หลังคาทำ 2 ซ้อน หน้าบันเป็นแบบก่ออิฐถือปูนไม่มีเครื่องลำยองลวดลายหน้าบันเป็นลายปูนปั้นลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ภายในไม่มีการเขียนจิตรกรรมฝาผนังเป็นผนังทาสีขาวทึบ บานประตูเเละหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์นาคขบ ด้านในเขียนเป็นลายกอบัว ดอกบัว นก เเละผีเสื้อ[10]

พระพุทธเสรฏฐมุนี

[แก้]
พระพุทธเสรฏฐมุนี

เป็นพระประธานในศาลาการเปรียญ ปางมารวิชัย รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นด้วยทองเหลืองกลักฝิ่น ซึ่งได้มาจากการปราบปรามฝิ่นครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2382 เดิมไม่มีพระนามต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า พระพุทธเสรฏฐมุนี ลักษณะของพระพุทธเสรฏฐมุนีมีลักษ��ะเช่นเดียวกับพระพุทธตรีโลกเชษฐ์คือ มีพระวรกายเพรียวบาง สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่จรดพระนาภี พระพักตร์ค่อนข้างกลมกึ่งไข่ ขมวดพระเกษาเล็ก มีพระรัสมีเป็นเปลว พระขนงโก่ง พระเนตรเปิดเเละมองตรง พระนาสิกค่อนข้างเล็กเเละโด่ง พระโอษฐ์เล็กแย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย เส้นพระโอษฐ์โค้งเล็กน้อยเกือบเป็นเส้นตรง เรียกว่า "พระพักตร์อย่างหุ่น"[10]

สัตตมหาสถาน

[แก้]

สัตตมหาสถานเป็นสถานที่สำคัญ 7 แห่ง ในพุทธประวัติกล่าวถึงสถานที่หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ 7 แห่งที่ทรงเสวยวิมุตติสุข สถานที่แห่งละ 7 วัน รวม 49 วัน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างจำลองสัตตมหาสถานไว้ภายในวัดสุทัศน์ฯ ในเขตพุทธาวาสทางด้านทิศตะวันออกนอกเขตพระวิหาร โดยการสร้างสัตตมหาสถานเป็นการสร้างขึ้นแทนพระธาตุเจดีย์ โดยพระพุทธรูปที่ประดิษฐานในสัตตมหาสถานบางปางเป็นปางรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นให้สอดคล้องกับในพุทธประวัติ โยมีการสร้างชุดพระพุทธรูป 3 ชุดคือ ชุดที่ 1 สลักจากหินอ่อน อยู่ในพระอุโบสถ ชุดที่ 2 หล่อจากสำริด อยู่ในพระวิหาร ชุดที่ 3 หล่อจากสำริดลงรักปิดทอง ประดิษฐานในสัตตมหาสถานแบบในปัจจุบัน[11] โดยในกลุ่มสัตตมหาสถานประกอบด้วยเหตุการณ์ 8 เหตุการณ์ ดังนี้

รัตนบัลลังก์

[แก้]

เป็นเหตุการณ์ในช่วงเวลาก่อนตรัสรู้ถึงตอนตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มีกองทัพพญามารเข้ามาขัดขวางพระพุทธเจ้า แสดงด้วยพระพุทธรูปปางมารวิชัย หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ประดิษฐานอยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ฐานที่รองรับเป็นเเท่นสี่เหลี่ยม ด้านหน้าประดับปูนปั้นพระเเม่ธรณีบีบมวยผม รอบฐานต้นโพธิ์ตั้งตุ๊กตาจีนเเทนด้วยกองทัพพญามาร มีหัวเป็นสัตว์ต่างๆ ลำตัวเป็นคนสวมชุดเกราะแบบจีนถืออาวุธมุ่งเข้าทำร้ายพระพุทธเจ้า ซึ่งสถานที่นี้ สร้างขึ้นเพิ่มเติมจากสตตมหาสถานอื่นในภายหลัง[12]

สัปดาห์ที่ 1 ต้นพระศรีมหาโพธิ์

[แก้]

เป็นเหตุการณ์หลังพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วทรงเสวยวิมุตติสุขภายในร่มโพธิ์เป็นเวลา 7 วัน แสดงด้วยพระพุทธรูปปางสมาธิ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ประดิษฐานอยู่บนแท่นเสากลมใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์[12]

สัปดาห์ที่ 2 อนิมิสเจดีย์

[แก้]

เป็นเหตุการณ์หลังพระพุทธเจ้าเสด็จออกจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วหันกลับมายืนทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์โดยไม่กระพริบพระเนตรตลอด 7 วัน แสดงด้วยการนำเก๋งจีนศิลาสลักรูปปราสาทแบบจีนมาเป็นอนิมิสเจดีย์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางถวายเนตรหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก[13]

สัปดาห์ที่ 3 รัตนจงกรม

[แก้]

เป็นเหตุการณ์หลังจากทรงทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์ ได้ทรงเนรมิตที่จมกรมขึ้นมาระหว่างต้นโพธิ์กับอนิมิสเจดีย์เเละเสด็จจงกรมเป็นเวลา 7 วัน เเสดงด้วยพระพุทธรูปปางจงกรมแก้ว เป็นประพุทธรูปประทับยืนพระบาทเหลื่อมกันในลักษณะก้าวเดิน ประดิษฐานบนแท่นก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยมเเทนรัตนจงกรมเจดีย์[13]

สัปดาห์ที่ 4 รัตนฆรเจดีย์

[แก้]

เป็นเหตุการณ์หลังพระพุทธเจ้าทรงเดินจงกรมเป็นเวลา 7 วัน ได้ประทับในเรือนแก้วที่เทวดาเนรมิตถวายทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เเล้วทรงพิจารณาพระอภิธรรมตลอด 7 วัน แสดงด้วยพระพุทธรูปนั่งประสานพระหัตถ์ไว้ที่พระอุระ ประดิษฐานในศาลาศิลาแบบจีนเเทนเรือนแก้วหรือรัตนฆรเจดีย์[14]

สัปดาห์ที่ 5 ต้นอชปาลนิโครธ (ต้นไทร)

[แก้]

เป็นเหตุการณ์หลังพระุทธเจ้าทรงพิจารณาพระอภิธรรมตลอด 7 วัน ได้เสด็จไปทางทิศตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ประทับเสวยวิมุตติสุขใต้ต้นไทรเป็นเวลา 7 วัน ในคราวนั้นพญามารได้มาอาราธนาให้เสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน แต่ทรงปฏิเสธ พญามารจึงให้ธิดาทั้ง 3 มาเต้นรำยั่วยวนพระองค์ แต่พระองค์ทรงห้าม พญามารเเละธิดาจึงพ่ายแพ้กลับไป แสดงด้วยพระพุทธรูปปางนั่งยกพระหัตถ์ขวาคือ ปางห้ามมาร ประดิษฐานใ��้ต้นไทรหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก[15]

สัปดาห์ที่ 6 ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก)

[แก้]

เป็นเหตุการณ์พระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ประทับนั่งใต้ต้นจิก ได้เกิดพายุฝนตกตลอด 7 วัน พญานาคมุจลินทร์ได้แผ่พังพานกันฝนและลม แสดงด้วยพระพุทธรูปปางนาคปรกโดยมีความพิเศษ คือ ขดนาคมีความสูงถึงพระอุระ ต่างจากพระพุทธรูปนาคปรกทั่วไปที่ขดนาคจะเป็นฐานของพระพุทธรูป[16] โดยหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกประดิษฐานอยู่บนเเท่นเสากลมใต้ต้นจิก มีอ่างศิลาแบบจีนวางไว้หลังต้นจิกเเทนที่อยู่ของพญานาคมุจลินทร์[12]

สัปดาห์ที่ 7 ต้นราชายตนะ (ต้นเกด)

[แก้]

เป็นเหตุการณ์พระพุทธเจ้าเสด็จไปทางทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ประทับเสวยวิมุตติสุขใต้ต้นเกดเป็นเวลา 7 วัน พระอินทร์ได้นำผลสมออันเป็นทิพยโอสถมาถวาย พระองค์จึงรับมาเสวย จากนั้นมีพ่อค้า 2 คน คือ ตปุสสะเเละภัลลิกะได้นำข้าวสัตตุก้อน สัตตุผงมาถวาย เเละได้แสดงตนเป็นอุบาสกคู่เเรกของพระพุทธศาสนา แสดงโดยพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัถต์ซ้ายหงายบนพระเพลาถือผลสมอ พระหัตถ์ขวาผงายบนพระชานุ คือพระพุทธรูปปางรับผลสมอ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก ประดิษฐานบนแท่นเท้าสิงห์ใต้ต้นเกด มีตุ๊กตาจีนรูปเกวียนเทียมม้าเเละวัวตั้งอยู่รอบต้นเกด เเทนขบวนเกวียนของตปุสสะเเละภัลลิกะ[16]

ประติมากรรมตอนปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์

[แก้]
ประติมากรรมตอนปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์

ประติมากรรมปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 องค์สร้างขึ้นพร้อมสัตตมหาสถาน แสดงให้เห็นพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 3 ที่ต้องการให้มีเรื่องราวพุทธประวัติต่อเนื่องกับสัตตมหาสถาน โดยเป็นเรื่องราวหลังสัปดาห์ที่ 7 ของสัตตมหาสถาน พระพุทธองค์ตันสินพระทัยจะแสดงธรรมโปรดเเก่คนทั่วไป พระองค์จึงรำลึกถึงปัญจวัคคีย์ที่เคยปรนนิบัติพระองค์ขณะบำเพ็ญทุกรกิริยาจึงไปโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตรมฤคทายวันเป็นปฐมเทศนา ประติมากรรมปัญจวัคคีย์นี้มี 3 ชุด โดยอีก 2 ชุดประดิษฐานไว้ในพระวิหารเเละพระอุโบสถเช่นเดียวกับพระพุทธรูปในสัตตมหาสถาน โดยพระพุทธรูปที่ประดิษฐานเป็นประธานนี้ที่ไม่ใช่ลักษณะศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่เป็นศิลปะแบบคันธารราฐของอินเดีย ซึ่งเป็นความนิยมแบบใหม่ในรัชกาลที่ 5 จึงสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในภายหลัง [17]

หอระฆังเเละหอกลอง

[แก้]
หอระฆังเเละหอกลอง

หอระฆังเเละหอกลองตั้งอยู่ในเขตสังฆาวาสข้างศาลาการเปรียญด้านทิศตะวันออก เเละใกล้หอพระไตรปิฎก มีรูปแบบเเตกต่างจากหอระฆังทั่วไป คือ เป็นอาคารทรงสูง 2 ชั้น อยู่ในผังแปดเหลี่ยม มีการเจาะช่องหน้าต่างเป็นวงโค้ง ประดับลวดลายแบบศิลปะตะวันตก มีลักษณะคล้ายป้อมปราการหรืออาคารแบบศิลปะมุสลิมหรือศิลปะตะวันตก[18]

ลำดับเจ้าอาวาส

[แก้]
ลำดับ เจ้าอาวาส[19] วาระ (พ.ศ.)
1 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อู่) 2386 — 2401
2 พระพิมลธรรม (อ้น) 2401 — 2420
3 สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) 2420 — 2443*
4 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) 2443* — 2487
5 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โสม ฉนฺโน) 2489 — 2505
6 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จนฺทสิริ) 2506 — 2527
7 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี) 2527 — 2559
8 พระพรหมวชิรมุนี (เชิด จิตฺตคุตฺโต) 2559 — ปัจจุบัน

*เดือนมกราคม พ.ศ. 2443 นับอย่างปัจจุบันเป็นต้นปี พ.ศ. 2444

อ้างอิง

[แก้]
  1. lovethailand.org
  2. ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน
  3. 3.0 3.1 ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 184-190
  4. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 191-192
  5. Lineกนก (2017-07-19). "Lineกนก แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์ 16 กรกฎาคม 2560". เนชั่นทีวี. สืบค้นเมื่อ 2018-03-08.
  6. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 200-201
  7. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 204-205
  8. หมายรับสั่งรัชกาลที่ 3 เรื่องหมายกำหนดการ จ.ศ.1206 เรื่องเทศนาปฐมสมโพธิ์, สำเนาเอกสารหอสมุดแห่งชาติ เลขที่ 6 ตู้ 118 ชั้น 1/1 มัดที่3.
  9. 9.0 9.1 ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 201-203
  10. 10.0 10.1 ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 216-217
  11. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 210-211
  12. 12.0 12.1 12.2 ป้ายอธิบายสัตตมหาสถาน ภายในวัดสุทัศน์เทพวราราม
  13. 13.0 13.1 ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 212
  14. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 213
  15. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 213-214
  16. 16.0 16.1 ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 214
  17. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 215
  18. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 218
  19. ประวัติวัดสุทัศนเทพวราราม

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°45′04″N 100°30′04″E / 13.751078°N 100.501138°E / 13.751078; 100.501138