ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า
ปกของฉบับแรกที่พิมพ์ โดยใช้ภาพเขียน พิซาโรเข้ายึดจักรวรรดิอินคาแห่งเปรู ของเซอร์จอห์น เอเวอเร็ตต์ มิลเลย์ | |
ผู้ประพันธ์ | แจเร็ด ไดมอนด์ |
---|---|
ประเทศ | สหรัฐอเมริกา |
ภาษา | ภาษาอังกฤษ |
หัวเรื่อง | ภูมิศาสตร์, การปฏิวัติทางสังคม, ชาติพันธุ์วิทยา, การแพร่วัฒนธรรม |
พิมพ์ | 1997 (W. W. Norton) |
ชนิดสื่อ | ปกแข็ง ปกอ่อน ซีดีเสียงอ่าน เทปเสียงอ่าน เสียงที่ดาวน์โหลดได้ |
หน้า | 480 หน้า (ฉบับแรก ปกแข็ง) |
ISBN | 0-393-03891-2 (ฉบับแรก ปกแข็ง) |
OCLC | 35792200 |
303.4 21 | |
LC Class | HM206 .D48 1997 |
ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า - ชะตากรรมของสังคมมนุษย์ (อังกฤษ: Guns, Germs, and Steel: The Fates of Human Societies) เป็นหนังสือสารคดีหลายสาขาวิชาของ ศ.ดร.แจเร็ด ไดมอนด์ ผู้เป็นศาสตราจารย์ทางภูมิศาสตร์และสรีรวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส ในปี 2541 หนังสือได้ชนะรางวัลหลายรางวัลรวมทั้งรางวัลพูลิตเซอร์สำหรับวรรณกรรมสารคดีทั่วไป ต่อมาในปี 2548 จึงมีภาพยนตร์สารคดีที่จัดถ่ายโดยสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิกและถ่ายทอดทางช่องพีบีเอ็ส[1]
หนังสือพยายามอธิบายว่าทำไมอารยธรรมยูเรเชีย (รวมทั้งแอฟริกาเหนือ) จึงอยู่รอดและพิชิตอารยธรรมอื่น ๆ ได้ และต่อต้านความคิดว่า อำนาจที่ครอบงำโลกของยูเรเชีย มีเหตุมาจากความเหนือกว่าของระดับเชาวน์ปัญญา ศีลธรรม หรือลักษณะทางพันธุกรรม และอ้างว่า ความแตกต่างของอำนาจและเทคโนโลยีระหว่างสังคมมนุษย์มาจากความแตกต่างของสิ่งแวดล้อม ซึ่งขยายเพิ่มกำลังโดยการป้อนกลับเชิงบวกในรูปแบบต่าง ๆ และเมื่อมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมหรือทางพันธุกรรมที่ทำให้คนยูเรเชียได้เปรียบจริง ๆ (เช่น ในเรื่องภาษาเขียน หรือภูมิคุ้มกันโรคประจำถิ่นต่าง ๆ) หนังสืออ้างว่า ความได้เปรียบเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะอิทธิพลทางภูมิประเทศต่อสังคมและวัฒนธรรม (เช่น ทำให้ติดต่อค้าขายกับวัฒนธรรมอื่น ๆ ได้สะดวก) ไม่ใช่เพราะจีโนมพิเศษของคนยูเรเชีย
สาระย่อ
[แก้]อารัมภบทของหนังสือกล่าวถึงการสนทนาระหว่าง ศ.ไดมอนด์กับนักการเมืองปาปัวนิวกินีคนหนึ่งคือนายยาลี เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างอำนาจและเทคโนโลยีของคนพื้นเมืองปาปัวนิวกินีและชาวยุโรปผู้ได้ครอบครองแผ่นดินมาเป็นเวลานานถึง 200 ปี เป็นความแตกต่างที่คนทั้งสองไม่คิดว่ามาจากความเหนือกว่าทางพันธุกรรมของคนยุโรป นายยาลีได้ถามว่า ทำไมคนผิวขาวจึงได้พัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ได้เป็นจำนวนมากแล้วนำมาสู่เกาะนิวกินี แต่คนพื้นเมืองผิวดำกลับมีสิ่งเหล่านี้น้อยกว่า[2]: 14 ศ.ไดมอนด์ จึงตระหนักรู้ในเวลานั้นว่า คำถามเช่นเดียวกันดูเหมือนจะใช้ได้ในที่อื่น ๆ คือ ทำไมคนที่มีแหล่งกำเนิดจากยูเรเชีย จึงได้ครองโลกทั้งในเรื่องทรัพย์สินและอำนาจ คนอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่ได้กำจัดความเป็นอาณานิคม ก็ยังล้าหลังกว่าในด้านทรัพย์สินและพลังอำนาจ และก็ยังมีคนพวกอื่น ๆ อีกที่ได้ "ถูกทำลายอย่างล้างผลาญ ถูกพิชิต และในบางกรณีถูกล้างเผ่าพันธุ์โดยนักล่าอาณานิคมชาวยุโรป"[2]: 15 คือ คนในเขตต่าง ๆ (เช่นคนแอฟริกาใต้สะฮารา ชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา ชนพื้นเมืองของออสเตรเลียและเกาะนิวกินี และชนพื้นเมืองในเอเชียอาคเนย์ก่อนยุคปัจจุบัน) ถูกพิชิต และถูกแทนที่ และยังมีกรณีที่สุด ๆ บางกรณี ซึ่งหมายถึงชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา ชนพื้นเมืองออสเตรเลีย และชนพื้นเมืองแอฟริกาใต้เผ่า Khoisan ที่ได้ถูกฆ่าไปจนเกือบหมดสิ้นโดยคนในสังคมเกษตรเช่นของคนยูเรเชียและคนบานทู ศ.ไดมอนด์เชื่อว่า นี้เป็นเพราะความได้เปรียบทางเทคโนโลยีและระบบภูมิคุ้มกัน ที่เป็นผลจากการเกิดขึ้นเร็วกว่าของระบบเกษตรกรรมหลังจากยุคน้ำแข็งล่าสุด
ชื่อหนังสือ
[แก้]ชื่อหนังสือมุ่งหมายถึงวิธีที่คนจากสังคมเกษตรได้พิชิตคนในเขตอื่น ๆ และธำรงรักษาความยิ่งใหญ่กว่า แม้ว่าบางครั้งจะมีคนน้อยกว่ามาก ซึ่งก็คือ
- อาวุธ (ปืน) ทำให้มีสมรรถภาพทางทหารที่เหนือกว่า
- โรคชาวยูเรเชีย (เชื้อโรค) กำจัดคนพื้นเมืองที่ไม่มีภูมิคุ้มกันหรือทำให้อ่อนแอ และทำให้ง่ายที่จะพิชิตและควบคุมได้
- ระบบการขนส่ง (เหล็กกล้า) ที่คงทนทำให้ธำรงระบบจักรวรรดินิยมไว้ได้
ศ.ไดมอนด์ได้อ้างว่า ลักษณะภูมิประเทศ อากาศ และสิ่งแวดล้อม ที่ช่วยให้เกิดพัฒนาการของสังคมเกษตรที่มั่นคงอย่างรวดเร็ว ในที่สุดเป็นเหตุให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อโรคที่ประจำอยู่กับปศุสัตว์ และพัฒนาการของรัฐที่ทรงพลังอำนาจและมีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเหตุทำให้สามารถเป็นใหญ่เหนือชนกลุ่มอื่น ๆ ได้
โครงสร้างทฤษฎี
[แก้]ศ.ไดมอนด์อ้างว่า อารยธรรมยูเรเชียไม่ใช่ผลของความเฉลียวฉลาด แต่เป็นผลของโอกาสและความจำเป็น นั่นก็คือ อารยธรรมไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคนฉลาดกว่า แต่เป็นผลของพัฒนาการแบบลูกโซ่ ซึ่งแต่ละห่วง ๆ เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะให้เกิดห่วงต่อไป
ขั้นแรกในการก้าวไปสู่ความเป็นอารยธรรมก็คือการเปลี่ยนจากการทำกินแบบล่าสัตว์-เก็บพืชผลที่ย้ายที่ไปเรื่อย ๆ ไปสู่สังคมเกษตรที่อยู่กับที่ และก็มีปัจจัยต่าง ๆ ที่จำเป็นที่จะทำก้าวแรกนี้ให้เป็นไปได้ คือ การมีพืชผักมีโปรตีนสูงที่ทนพอที่จะเก็บได้ ภูมิอากาศที่แห้งพอที่จะเก็บ และการมีสัตว์ที่มีคุณสมบัติเพื่อปรับเป็นสัตว์เลี้ยง และที่ยืดหยุ่นพอเพื่อจะดำรงอยู่ในชีวิตที่ถูกจับขังได้ สมรรถภาพในการควบคุมพืชผลและปศุสัตว์ก็จะนำไปสู่ภาวะที่มีอาหารเหลือ ซึ่งสร้างอิสรภาพให้กับบุคคลบางพวกเพื่อจะสร้างความชำนาญในกิจกรรมนอกเหนือไปจาการดำรงรักษาและสนับสนุนการเติบโตของประชากร ความชำนาญเฉพาะการและการเติบโตของประชากรรวมกันมีผลเป็นนวัตกรรมทางสังคมและเทคโนโลยีที่สนับสนุนส่งเสริมกันและกัน สังคมที่ใหญ่ขึ้น ๆ จึงพัฒนาคนชั้นปกครองและสนับสนุนระบบข้าราชการประจำ ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่การปกครองระดับรัฐชาติและจักรวรรดิ[2]
แม้ว่าระบบเกษตรกรรมจะเกิดขึ้นเองในที่ต่าง ๆ ในโลก ยูเรเชียได้เปรียบในเบื้องต้นเพราะมีพืชและสัตว์พันธุ์ที่เหมาะในการเพาะปลูกและการปรับนำมาเลี้ยงมากกว่า โดยเฉพาะก็คือ ยูเรเชียมีข้าวบาร์ลีย์ มีข้าวสาลีสองประเภท มีถั่วที่สมบูรณ์ไปด้วยโปรตีนเป็นอาหาร มีฝ้ายทำเป็นเสื้อผ้า มีแพะ แกะ และวัวเป็นปศุสัตว์ พืชผลยูเรเชียมีโปรตีนที่สมบูรณ์กว่า ง่ายกว่าที่จะหว่านปลูก และง่ายกว่าที่จะเก็บเมื่อเทียบกับข้าวโพดของชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา หรือกล้วยของคนในเขตร้อน
นอกจากนั้นแล้ว เมื่ออารยธรรมเอเชียตะวันตกเริ่มค้าขาย ก็ได้พบสัตว์ที่มีประโยชน์อื่น ๆ ในเขตข้างเคียง ที่สำคัญที่สุดก็คือม้าและลาที่ใช้ในการขนส่ง ศ.ไดมอนด์ได้ระบุสัตว์ใหญ่ 13 พันธุ์ที่หนักกว่า 100 ปอนด์ ที่ปรับมาเลี้ยงในยูเรเชีย เทียบกับพันธุ์เดียวในอเมริกาใต้ (คือนับยามาและอัลปากาเป็นสัตว์พันธุ์เดียวกัน) และกับที่อื่น ๆ ในโลกที่ไม่มีเลย ส่วนออสเตรเลียและอเมริกาเหนือไม่มีสัตว์ที่เป็นประโยชน์เพราะเหตุการสูญพันธุ์ โดยอาจจะเป็นเพราะการล่าสัตว์ของมนุษย์ในช่วงทันทีหลังจากสมัยไพลสโตซีน ส่วนสัตว์เลี้ยงในเกาะนิวกินีทั้งหมด มาจากเอเชียตะวันออกในยุคการย้ายถิ่นฐานของคนออสโตรนีเซียนเมื่อประมาณ 4-5 พันปีก่อน ส่วนสัตว์ตระกูลญาติของม้า รวมทั้งม้าลายและม้าสกุล "Equus hemionus" (onager) ไม่สามารถปรับนำมาเลี้ยงได้ และแม้ว่าช้างแอฟริกาจะเลี้ยงให้เชื่องได้ แต่ก็ยากมากที่จะเลี้ยงให้ออกลูกหลานในสถานะที่ถูกจับ[2][3] ศ.ไดมอนด์กล่าวถึงสัตว์พันธุ์ที่ปรับนำมาเลี้ยง 14 พันธุ์จาก 148 พันธุ์ที่อาจปรับได้ว่า แม้ว่าบางสปีชีส์ดูจะมีหวัง แต่ก็อาจจะมีองค์ประกอบอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างที่ทำให้ไม่สามารถปรับนำมาเลี้ยงได้
คนยูเรเชียได้เลี้ยงแพะและแกะเพื่อหนัง เสื้อผ้า และชีส, วัวตัวเมียเพื่อนม, วัวตัวผู้เพื่อการไถดินและการขนส่ง และสัตว์ไม่ดุร้ายอื่น ๆ เช่นหมูและไก่เพื่อเป็นอาหาร ส่วนสัตว์ที่ปรับนำมาเลี้ยงตัวใหญ่อื่น ๆ เช่นม้���และอูฐได้สร้างความได้เปรียบทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจเนื่องจากการขนส่งที่รวดเร็ว
ผลอย่างหนึ่งที่สำคัญแต่ไม่ได้ตั้งใจในการปรับสัตว์นำมาเลี้ยงก็คือ การแปรพันธุ์ของไวรัสสัตว์เลี้ยงมาเป็นไวรัสของมนุษย์ โรคเช่นโรคฝีดาษ โรคหัด และไข้หวัดใหญ่ เกิดจากความใกล้ชิดกันระหว่างสัตว์และมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันอย่างแออัด และเพราะการได้รับเชื้ออย่างต่อเนื่อง การมีโรคระบาดเป็นระยะ ๆ แบบไม่ถึงกับทำลายล้างเป็นศตวรรษ ๆ ชาวยูเรเชียได้พัฒนาภูมิคุ้มกันระดับหนึ่งต่อโรคเหล่านี้ และแม้ว่ามาลาเรียจะพิจารณาว่าเป็นจุลินทรีย์ที่อันตรายที่สุดต่อมนุษย์ แต่มันก็จำกัดอยู่เฉพาะเขต แต่ว่า โรคฝีดาษไม่จำกัดเขต ไม่ว่าชนยูเรเชียไปถึงที่ไหนก็ได้นำโรคนี้ไปด้วย
การมีแผ่นดินที่ใหญ่โตและความกว้างยาวในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตกเป็นสิ่งที่เพิ่มความได้เปรียบเหล่านี้ คือ ความกว้างใหญ่ของแผ่นดินทำให้มีพันธุ์พืชและสัตว์มากกว่าที่จะใช้เพาะปลูกและเลี้ยง และทำให้สามารถแลกเปลี่ยนทั้งนวัตกรรมและโรคกับชนเหล่าอื่น ๆ ได้ ส่วนความกว้างยาวของทิศทางในแนวตะวันออก-ตะวันตก ช่วยให้พันธุ์สัตว์และพืชที่ดัดแปรให้ปลูกให้เลี้ยงได้จากที่หนึ่ง สามารถนำไปใช้ได้อีกที่หนึ่งที่มีภูมิอากาศและฤดูกาลที่คล้าย ๆ กัน ส่วนทวีปอเมริกามีปัญหาในการแปรพืชที่ใช้เพาะปลูกในละติจูดหนึ่งไปใช้กับอีกละติจูดหนึ่ง (และในอเมริกาเหนือ ในการแปรพืชที่ปลูกทางด้านหนึ่งของเทือกเขาร็อกกีไปปลูกอีกด้านหนึ่ง) และก็คล้าย ๆ กัน แอฟริกาถูกแบ่งออกเป็นเขต ๆ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอย่างฉับพลันจากทิศเหนือไปสู่ใต้ และพืชผลและสัตว์ที่เจริญเติบโตได้ในบริเวณหนึ่ง ไม่สามารถถ่ายข้ามไปเขตอื่น ๆ ที่พวกมันสามารถเจริญเติบโตได้ เพราะว่าไม่สามารถอยู่รอดได้ในบริเวณในระหว่าง ๆ ยุโรปเป็นเขตที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดของความกว้างยาวในทิศทางตะวันออก-ตะวันตก คือ ในพันปีแรกก่อนคริสต์ศักราช บริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของยุโรปได้เริ่มใช้สัตว์ พืช และเทคนิคเกษตรกรรมของเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ และในพันปีต่อมาหลังคริสต์ศักราช ยุโรปที่เหลือก็ได้ทำเช่นเดียวกัน[2][3]
การมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์และประชากรที่แน่นหนาทำให้สามารถแบ่งผู้ชำนาญการเป็นส่วน ๆ ได้ ผู้ชำนาญการที่ไม่ใช่เกษตรกรเช่นช่างฝีมือและคนคัดลอกหนังสือ ได้เร่งความเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การได้เปรียบทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเช่นนี้ ทำให้คนยุโรปสามารถพิชิตคนพวกอื่น ๆ ในทวีปต่าง ๆ ในศตวรรษที่ผ่าน ๆ มาโดยใช้ปืนและเหล็กกล้าตามที่ตั้งชื่อหนังสือ
ความแออัดของประชากร การค้าขายอย่างกว้างขวาง และการใช้ชีวิตใกล้กับปศุสัตว์ มีผลให้โรคแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง รวมทั้งโรคจากสัตว์มายังมนุษย์ การคัดเลือกโดยธรรมชาติมีผลให้คนยูเรเชียพัฒนาภูมิคุ้มกันต่อโรคต่าง ๆ มากมาย และเมื่อคนยุโรปติดต่อกับคนอเมริกา โรคชนยุโรปที่คนอเมริกาไม่มีมีภูมิคุ้มกัน ได้ฆ่าคนพื้นเมืองอเมริกาจนเกือบหมดสิ้น โดยคนยุโรปไม่ได้ติดโรคจากคนอเมริกา ส่วนการแลกเปลี่ยนโรคระหว่างคนยุโรปกับคนแอฟริกาและคนเอเชียใต้สมดุลกันมากกว่า คือ เขตที่มีโรคประจำถิ่นคือมาลาเรียและไข้เหลือง ได้ชื่อว่าเป็น "สุสานของคนผิวขาว"[4] และซิฟิลิสก็อาจจะมีกำเนิดในทวีปอเมริกา[5] ดังนั้น โรค "ของคนยุโรป" คือเชื้อโรคดังที่เป็นชื่อของหนังสือได้ทำลายล้างประชากรเผ่าต่าง ๆ จนกระทั่งว่าชาวยุโรปแม้จำนวนน้อยก็ยังสามารถมีอำนาจเหนือกว่าได้[2][3]
ศ.ไดมอนด์ก็ยังเสนอคำอธิบายโดยภูมิประเทศว่า ทำไมสังคมชาวยุโรปตะวันตก แต่ไม่ใช่สังคมมหาอำนาจอื่น ๆ เช่นจีน ที่ได้เป็นผู้ล่าอาณานิคมหลัก[2][6] คืออ้างว่า ภูมิประเทศของยุโรปเป็นใจให้ชนต่าง ๆ แบ่งออกเป็นรัฐชาติเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้ ๆ กันโดยมีพรมแดนธรรมชาติเป็นภูเขา แม่น้ำ และฝั่งทะเล และภัยที่เกิดจากรัฐเพื่อนบ้านประกันรับรองว่า รัฐบาลที่มีนโยบายระงับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีจำต้องแก้นโยบายนั้น ไม่เช่นนั้นก็จะแข่งกับรัฐเพื่อนบ้านไม่ได้ และมีผลเป็นสถานะที่รัฐชาติที่มีอำนาจมากที่สุดมักจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ในขณะที่วัฒนธรรมล้ำหน้าในเขตอื่น ๆ มีภูมิประเทศที่เป็นใจให้กลายเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ สมานเป็นหนึ่งเดียว และอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว โดยไม่มีคู่แข่งที่สามารถมีอิทธิพลให้แก้นโยบายที่ผิดพลาดบางอย่างได้ เช่น นโยบายห้ามการสร้างเรือมหาสมุทรของจีน (เพื่อห้ามโจรสลัด) ยุโรปตะวันตกยังมีภูมิอากาศแบบอบอุ่น (temperate) ไม่เหมือนกับเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ที่เป็นเขตแห้งแล้ง (arid) หรือกึ่งแห้งแล้ง (semi-arid) ที่การเกษตรแบบไม่หยุดยั้งในที่สุดก็ทำสิ่งแวดล้อมให้เสียหาย ทำให้ทะเลทรายขยายตัว และทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดิน
เกษตรกรรม
[แก้]หนังสืออ้างว่า เมืองและนิคมต้องอาศัยแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ จึงต้องอาศัยเกษตรกรรม และเมื่อเกษตรกรเป็นผู้ผลิตอาหาร บุคคลอื่นจึงจะมีอิสระในการทำกิจอื่น ๆ เช่นทำเหมืองหรือทำการเกี่ยวกับภาษาเขียน
อุปสรรคที่ชี้ขาดของการพัฒนาระบบเกษตรกรรมก็คือการมีพันธุ์พืชที่รับประทานได้หลาย ๆ พันธุ์ที่สามารถนำมาเพาะปลูกได้ เกษตรกรรมเกิดขึ้นในบริเวณจันทร์เสี้ยวอันอุดม (Fertile Crescent) เพราะว่าบริเวณนั้นมีข้าวสาลีและถั่วป่าหลายพันธุ์ที่มีสารอาหารที่สมบูรณ์และง่ายต่อการนำมาเพาะปลูก โดยเปรียบเทียบกันแล้ว เกษตรกรในทวีปอเมริกาต้องพัฒนาข้าวโพดให้เป็นพืชผลที่ใช้เพาะปลูกได้ โดยน่าจะพัฒนามาจากพืชบรรพบุรุษที่เรียกว่า teosinte
ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการเปลี่ยนการใช้ชีวิตแบบล่าสัตว์-เก็บพืชผล ไปเป็นสังคมเกษตรที่อยู่ในเมืองก็คือ การมีสัตว์ที่ปรับนำมาเลี้ยงได้ขนาดใหญ่ เพื่อบริโภคเนื้อ เพื่อใช้ทำงาน และเพื่อการสื่อสารระยะไกล ศ.ไดมอนด์ได้ระบุสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่เพียง 14 ชนิดเท่านั้นจากทั่วโลก และที่มีประโยชน์มากที่สุด 5 อย่างคือวัว ม้า แกะ แพะ และหมู ซึ่งล้วนแต่เป็นสัตว์มีต้นตระกูลในยูเรเชีย และที่เหลืออีก 9 ประเภท มีเพียง 2 พันธุ์ คือยามาและอัลปากาในอเมริกาใต้เท่านั้น ที่อยู่ที่อื่นนอกเขตอบอุ่นของยูเรเชีย
เพราะว่าจะต้องมีปัจจัยพร้อมทุกอย่าง จึงมีสัตว์ไม่กี่อย่างเท่านั้นที่เหมาะสมในการปรับนำมาเลี้ยง ศ.ไดมอนด์ระบุปัจจัย 6 อย่างรวมทั้งเป็นสัตว์ค่อนข้างว่าง่าย อยู่เป็นกลุ่มได้ สามารถสืบพันธุ์แม้ถูกจับได้ และมีลำดับชั้นทางสังคม ดังนั้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในแอฟริกาเช่นม้าลาย แอนทิโลป ควายป่าแอฟริกัน และช้างแอฟริกา จึงไม่สามารถปรับนำมาเลี้ยงได้ คือแม้ว่าสัตว์บางชนิดจะเลี้ยงให้เชื่องได้ แต่ว่าจะไม่สืบพันธุ์ง่าย ๆ เมื่อถูกจับ เหตุการณ์ที่ยังเป็นไปในปัจจุบันที่เรียกว่า เหตุการณ์สูญพันธุ์สมัยโฮโลซีน (Holocene extinction event) กำจัดสัตว์ใหญ่ ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าไม่ได้สูญพันธุ์ไป ก็อาจจะเป็นสัตว์ที่ปรับนำมาเลี้ยงได้ และ ศ.ไดมอนด์อ้างว่า รูปแบบการสูญพันธุ์รุนแรงกว่าในทวีปที่สัตว์ไม่เคยมีประสบการณ์กับมนุษย์ แล้วมาประสบกับพวกมนุษย์ที่มีเทคนิคก้าวหน้าในการล่าสัตว์ (เช่นในทวีปอเมริกาและออสเตรเลีย)
แม้ว่าสัตว์ที่ปรับนำมาเลี้ยงอื่น ๆ เช่นสุนัข แมว ไก่ และหนูตะเภา อาจมีประโยชน์อื่น ๆ ต่อสังคมเกษตร แต่สัตว์เหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้มีหรือรักษาสังคมเกษตรขนาดใหญ่ได้ ตัวอย่างที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือการใช้สัตว์ใหญ่เช่นวัวและม้าในการไถดิน ทำให้มีพืชผลที่อุดมสมบูรณ์กว่า สามารถปลูกพืชได้หลายอย่างกว่า ในพื้นที่และในดินหลายอย่างกว่า ที่จะเป็นไปได้ถ้าใช้แต่กำลังมนุษย์อย่างเดียว สัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่ยังมีบทบาทสำคัญในการขนส่งสินค้าและมนุษย์ในระยะไกล ๆ ทำให้สังคมที่มีสัตว์ดังกล่าวได้เปรียบทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจ
ภูมิประเทศ
[แก้]ศ.ไดมอนด์อธิบายด้วยว่า ภูมิประเทศสามารถมีผลต่อการอพยพย้ายถิ่นฐานของมนุษย์อย่างไร โดยไม่เพียงแต่ทำให้การเดินทางยากลำบากขึ้นเท่านั้น (โดยเฉพาะโดยผ่านละติจูดต่าง ๆ) แต่มีผลต่อการแพร่กระจายของสัตว์เลี้ยงไปในเขตต่าง ๆ และมีผลต่อพืชที่สามารถขึ้นได้ง่ายในเขตที่มีแสงอาทิตย์เหมาะแก่ตนเท่านั้น มนุษย์ปัจจุบันเชื่อว่ามีแหล่งกำเนิดจากทางตะวันออกของหุบเขาเกรตริฟต์แวลลีย์ในทวีปแอฟริกา ไม่ใช่เวลาใดก็เวลาหนึ่ง (ดู การย้ายถิ่นฐานของมนุษย์) และทะเลทรายสะ���าราทำให้มนุษย์ไม่สามารถอพยพไปทางทิศเหนือสู่บริเวณจันทร์เสี้ยวอันอุดม (Fertile Crescent) จนกระทั่งต่อมาในเวลาที่หุบเขาแม่น้ำไนล์เดินทางได้สะดวกขึ้น ศ.ไดมอนด์ได้อธิบายประวัติพัฒนาการของมนุษย์มาจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน ผ่านพัฒนาการอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี และผลเสียหายที่มีต่อวัฒนธรรมล่าสัตว์-เก็บพืชผลต่าง ๆ ทั่วโลก ศ.ไดมอนด์กล่าวถึงว่า ทำไมประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดใน 500 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นประเทศยุโรปตะวันตกแทนที่จะเป็นเอเชียตะวันออก (โดยเฉพาะจีน) คือในเขตเอเชียที่อารยธรรมใหญ่ ๆ บังเกิดขึ้นมีลักษณะภูมิประเทศที่เหมาะสมกับการสร้างจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ เสถียร และโดดเดี่ยว ซึ่งไม่มีแรงกดดันจากภายนอกให้เปลี่ยนแปลงพัฒนา เปรียบเทียบกับยุโรปซึ่งมีเครื่องขวางกั้นทางธรรมชาติต่าง ๆ ที่ช่วยให้สามารถมีรัฐชาติต่าง ๆ ที่แก่งแย่งกัน ซึ่งมีผลให้สนับสนุนสร้างนวัตกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงความนิ่งตายของเทคโนโลยี
เชื้อโรค
[แก้]ในการยึดทวีปอเมริกาเป็นอาณานิคมของชาวยุโรป คนพื้นเมืองประมาณ 95% เชื่อว่าเสียชีวิตจากโรคที่คนยุโรปนำเข้าไป คำถามก็คือ แล้วทำไมโรคคนพื้นเมืองอเมริกาจึงไม่ฆ่าคนยุโรปที่เข้าไปยึดครอง ศ.ไดมอนด์เสนอว่า การมีประชากรที่แออัดยัดเยียดขึ้นที่สนับสนุนโดยเกษตรกรรม และการอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิดทำให้มนุษย์ติดโรคจากสัตว์ มีผลเป็นสังคมคนยุโรปที่ได้สะสมเชื้อโรคอันตรายเป็นจำนวนมาก ที่คนยุโรปได้สร้างภูมิคุ้มกันผ่านกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (เช่นแบล็กเดทและโรคระบาดอื่น ๆ) ในช่วงเวลาที่ยาวนานกว่าที่คนพื้นเมืองทวีปอเมริกาทั้งที่เป็นผู้ล่าสัตว์-เก็บพืชผล และที่เป็นเกษตรกรจะมีโอกาส แม้ว่าจะมีโรคเขตร้อน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาลาเรีย) ที่จำกัดการแพร่อาณานิคมของคนยุโรปเข้าไปในแอฟริกาเป็นข้อยกเว้น
ความสำเร็จและความล้มเหลว
[แก้]หนังสือเล่มนี้พุ่งความสนใจไปที่เหตุผลว่า ทำไมชนบางกลุ่มจึงประสบความสำเร็จ ส่วนหนังสือเล่มต่อมาของ ดร.ไดมอนด์ คือ ล้ม! วิธีที่สังคมเลือกที่จะล้มเหลวหรือประสบชัยชนะ (Collapse: How Societies Choose to Fail or Succeed) พุ่งความสนใจไปที่ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้สังคมบางสังคมล้มเหลว นี่เป็นหนังสือแบบเป็นสารเตือน
พื้นเพ
[แก้]ในคริสต์ทศวรรษ 1930 กลุ่มนักวิชาการสำนัก Annales School ในประเทศฝรั่งเศสได้ศึกษาโครงสร้างทางประวัติศาสตร์ในระยะยาว โดยสังเคราะห์ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และสังคมวิทยา คือตรวจสอบอิทธิพลของภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และการใช้พื้นที่ แม้ว่าภูมิศาสตร์จะเป็นสาขาวิชาที่เกือบจะสูญไปในประเทศสหรัฐอเมริกาหลังคริสต์ทศวรรษ 1960 แต่ก็มีทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ที่อ้างภูมิประเทศเป็นเหตุ ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990[7] รวมทั้งหนังสือเล่มนี้
การตอบรับหนังสือ
[แก้]หนังสือเล่มนี้ชนะรางวัลหลายรางวัลรวมทั้ง
- ในปี 1997 รางวัล Phi Beta Kappa Award in Science ที่ให้กับหนังสือสำคัญทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์[8]
- ในปี 1998 รางวัลพูลิตเซอร์สำหรับหนังสือสารคดีทั่วไป เพื่อแสดงการยอมรับวิธีการสังเคราะห์หลักวิชาสาขาต่าง ๆ ที่ทรงพลังของหนังสือ[9]
- ในปี 1998 รางวัลจากราชสมาคมแห่งลอนดอน "Royal Society Prizes for Science Books" สำหรับหนังสือวิทยาศาสตร์ยอดนิยมที่มุ่งผู้อ่านที่ไม่ใช่นักวิชาการ[10]
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2005 สมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิกจึงได้สร้างภาพยนตร์สารคดีมีชื่อเดียวกันกับและอาศัยข้อมูลในหนังสือ ที่ถ่ายทอดทางช่องพีบีเอ็ส[1]
การทบทวนโดยนักวิชาการ
[แก้]ในงานปฏิทัศน์หนังสือที่โดยทั่วไปเป็นการชม นักประวัติศาสตร์ผู้หนึ่งแย้งว่า "เพราะเป็นงานใหญ่ที่เขาตั้งให้กับตนเอง เป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้ที่ ศ.ไดมอนด์ได้ใช้ข้อมูลแบบกว้าง ๆ เพื่อจะสนับสนุนข้ออ้างของเขา"[11]
ส่วนนักประวัติศาสตร์อีกท่านหนึ่งซึ่งโดยทั่วไปก็ชมเหมือนกัน แย้งว่า ศ.ไดมอนด์ขายทฤษฎีภูมิประเทศที่ใช้เป็นเครื่องอธิบายประวัติศาสตร์มากเกินไป โดยให้ความสำคัญกับอิสรภาพทางวัฒนธรรมน้อยเกินไป[3][12]
ในหนังสือที่พิมพ์ในปี 2000 นักมานุษยวิทยาและภูมิศาสตร์ท่านหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์หนังสือว่า รื้อฟื้นทฤษฎีแบบนิยัตินิยมโดยสิ่งแวดล้อม (environmental determinism) แล้วเรียก ศ.ไดมอนด์ว่าเป็นตัวอย่างนักประวัติศาสตร์ที่ยกคนยุโรปให้เป็นศูนย์กลางในยุคปัจจุบัน[13] และวิจารณ์การใช้คำแบบไม่ระวัง รวมทั้ง "ยูเรเชีย" และ "มีความคิดก้าวหน้า" (innovative) ซึ่งเขาเชื่อว่าทำให้ผู้อ่านคิดเอาอย่างผิด ๆ ว่า ยุโรปตะวันตกเป็นผู้สร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในเขตตะวันออกลางและเอเชีย[14]
ส่วนนักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศท่านหนึ่งชมหนังสือว่า เป็นหนังสือที่อ่านแล้วตื่นเต้นกระชุ่มกระชวย แล้วยกให้เป็นหนึ่งในรายการหนังสือ 10 เล่มที่นักศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทุก ๆ คนควรอ่าน[15]
การพิมพ์
[แก้]หนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1997 แล้วต่อมาจึงพิมพ์ในสหราชอาณาจักรในปี 1998 โดยใช้ชื่อว่า ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า - ประวัติศาสตร์ย่อ ๆ เกี่ยวกับมนุษย์ทุกพวกใน 13,000 ปีที่ผ่านมา (Guns, Germs and Steel: A short history of everybody for the last 13,000 years[16]
ต่อมาในปี 2003 และ 2007 ผู้เขียนจึงพิมพ์หนังสือฉบับภาษาอังกฤษฉบับใหม่ ที่รวมข้อมูลที่ได้เพิ่มตั้งแต่การพิมพ์ครั้งแรก แต่ว่าข้อมูลใหม่ไม่ได้เปลี่ยนข้อสรุปของหนังสือฉบับแรกอะไรเลย[17]
ดูเพิ่ม
[แก้]เชิงอรรถและอ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Lovgren, Stefan (July 6, 2005). ""Guns, Germs and Steel": Jared Diamond on Geography as Power". National Geographic News. สืบค้นเมื่อ 2011-11-16.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 Diamond, J. (March 1997). Guns, Germs, and Steel: The Fates of Human Societies. W.W. Norton & Company. ISBN 0-393-03891-2.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 McNeill, J.R. (February 2001). "The World According to Jared Diamond" (PDF). The History Teacher. 34 (2). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ July 14, 2013. สืบค้นเมื่อ 2016-02-25.
- ↑ Ross, R., and MacGregor, W. (January 1903). "The Fight against Malaria: An Industrial Necessity for Our African Colonies". Journal of the Royal African Society. Oxford University Press. 2 (6): 149–160. JSTOR 714548.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ กำเนิดของซิฟิลิสยังไม่ชัดเจน
- นักวิชาการบางท่านเชื่อว่า เป็นโรคที่ฮิปพอคราทีสรู้จัก Keys, David (2007). "English syphilis epidemic pre-dated European outbreaks by 150 years". Independent News and Media Limited. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-22. สืบค้นเมื่อ 2007-09-22.
- บางพวกเชื่อว่าเป็นโรคที่นำมาจากทวีปอเมริกาโดยคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสหรือนักเดินทางสืบ ๆ มา MacKenzie, D. (January 2008). "Columbus blamed for spread of syphilis". NewScientist.com news service.
- ↑ Diamond, J. (July 1999). "How to get rich".
- ↑ Cohen, P. (March 21, 1998). "Geography Redux: Where You Live Is What You Are". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-07-09.
- ↑ "1997 Phi Beta Kappa Science Book Award". Phi Beta Kappa. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 21, 2010. สืบค้นเมื่อ 2014-02-16.
- ↑ "The Pulitzer Prizes for 1998". Columbia University. สืบค้นเมื่อ 2014-02-15.
- ↑ "Prizes for Science Books previous winners and shortlists". The Royal Society.
- ↑ Tomlinson, Tom (May 1998). "Review:Guns, Germs and Steer: The Fates of Human Societies". Institute of Historical Research. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 27, 2007. สืบค้นเมื่อ 2008-03-14.
Given the magnitude of the task he has set himself, it is inevitable that Professor Diamond uses very broad brush-strokes to fill in his argument
- ↑ Diamond, Jared; McNeill, William H. (in reply) (June 26, 1997). "Guns, Germs, and Steel". The New York Review of Books. 44 (11).
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Blaut, James M (2000). Eight Eurocentric Historians (2000-08-10 ed.). The Guilford Press. p. 228. ISBN 1-57230-591-6. สืบค้นเมื่อ 2008-08-05.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Blaut, J.M. (1999). "Environmentalism and Eurocentrism". The Geographical Review. American Geographical Society. 89 (3): 391. doi:10.2307/216157. JSTOR 216157. สืบค้นเมื่อ 2008-07-09. full text
- ↑ Johnson, Matt (April 9, 2009). "My "top ten" books every student of International Relations should read". Foreign Policy. สืบค้นเมื่อ 2016-01-02.
- ↑ Diamond, Jared (2005). Guns, Germs and Steel: A short history of everybody for the last 13,000 years. London: Vintage. ISBN 0-09-930278-0.
- ↑ "Guns, germs, and Steel: the fates of human societies". Jared Diamond. สืบค้นเมื่อ 2015-09-21.
หนังสืออธิบายประวัติศาสตร์อื่น ๆ
[แก้]- McNeill, William H (1976). Plagues and Peoples. New York: Anchor/Doubleday. ISBN 0-385-12122-9.
- Diamond, Jared M (2005). Collapse: How Societies Choose to Fail or Succeed. United States: Viking Press. ISBN 0-14-303655-6.
- Gladwell, Malcolm (2008). Outliers. US: Little, Brown and Company. ISBN 978-0-316-01792-3.
- McNeill, William Hardy (1992). The Rise of the West: A History of the Human Community. Canada: University of Chicago Press. ISBN 978-0-226-56141-7.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - Colinvaux, Paul A (1980). The Fates of Nations: A Biological Theory of History. United States: Simon & Schuster. ISBN 0-671-25204-6.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - Landes, David (1998). The Wealth and Poverty of Nations: Why Some are So Rich and Some So Poor. US. ISBN 0-393-04017-8.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- CS1 maint: uses authors parameter
- หนังสือ
- วรรณกรรมด้านประวัติศาสตร์
- วรรณกรรมภาษาอังกฤษ
- วรรณกรรมอเมริกัน
- ทฤษฎีทางประวัติศาสตร์
- เกษตรกรรม
- ประวัติศาสตร์ยุโรป
- ประวัติศาสตร์อเมริกา
- ประวัติศาสตร์เอเชีย
- ประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย
- ประวัติศาสตร์แอฟริกา
- ประวัติศาสตร์โบราณ
- ประวัติศาสตร์โลก
- หนังสือวิทยาศาสตร์
- วรรณกรรมในคริสต์ทศวรรษ 1990