ข้ามไปเนื้อหา

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
Chiang Mai Rajabhat University
ที่ทำการของมหาวิทยาลัย
ชื่อเดิมสถาบันราชภัฏเชียงใหม่
ชื่อย่อมร.ชม. / CMRU
คติพจน์การศึกษาเป็นหัวใจของการพัฒนาท้องถิ่น
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
สถาปนา15 มิถุนายน พ.ศ. 2547; 20 ปีก่อน (2547-06-15)
สังกัดการศึกษากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สังกัดวิชาการคณะวิชา
งบประมาณ714,730,500 บาท
(พ.ศ. 2568)[1]
นายกสภาฯสว่าง ภู่พัฒน์วิบูลย์
อธิการบดีรองศาสตราจารย์ ชาตรี มณีโกศล (รักษาราชการแทน)
อาจารย์611 คน (พ.ศ. 2566)[2]
บุคลากรทั้งหมด1,077 คน (พ.ศ. 2566)
ผู้ศึกษา17,038 คน (พ.ศ. 2565)
ที่ตั้ง
วิทยาเขตวิทยาเขต
เพลงราชภัฏสดุดี
ต้นไม้เสี้ยวดอกขาว
สี████ สีดำ สีเหลือง
เว็บไซต์เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (อังกฤษ: ChiangMai Rajabhat University; ชื่อย่อ: มร.ชม. - CMRU) เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของภาคเหนือ เป็นวิทยาลัยครูแห่งแรกที่ก่อตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาค และเป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2467 ในนาม "โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำมณฑลพายัพ" มีบทบาทและความรับผิดชอบในฐานะสถาบันการศึกษาและวิจัยที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อการศึกษาวิชาการในสาขาวิชาต่าง ๆ ตามความต้องการของท้องถิ่น และผลิตครูบุคลากรทางการศึกษา ทำการวิจัยส่งเสริมวิทยฐานะของครู อาจารย์ และบุคลากรประจำการ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และให้บริการทางวิชาการแก่สังคม

ในปี พ.ศ. 2518 "โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำมณฑลพายัพ" หรือ "โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่" ได้ยกฐานะขึ้นเป็น "วิทยาลัยครูเชียงใหม่" ตาม "พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518"[3]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามวิทยาลัยครูทั่วประเทศว่า "สถาบันราชภัฏ" แปลว่า "ผู้ที่อยู่ใกล้พระราชา" ทั้งยังได้พระราชทานตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ เป็นตราประจำสถาบันราชภัฏ และเมื่อได้ประกาศใช้ "พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ"[4] ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2538 "วิทยาลัยครูเชียงใหม่" จึงมีชื่อเป็น "สถาบันราชภัฏเชียงใหม่"

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมลงพระปรมาภิไธยใน "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547"[5] อันมีผลให้สถาบันราชภัฏ 41 แห่งทั่วประเทศ เปลี่ยนชื่อเป็น "มหาวิทยาลัยราชภัฏ" และมีสถานภาพเป็นนิติบุคคลโดยสมบูรณ์ ยังความปลาบปลื้มยินดีแก่ชาวราชภัฏทุกคน

ประวัติ

[แก้]

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้พัฒนามาจาก "โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำมณฑลพายัพ" ซึ่งสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2467 โดยได้มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนสถาบันมาโดยลำดับ เป็นระยะเวลารวมกว่า 90 ปี ดังรายละเอียดประวัติที่สรุปพอสังเขป ดังนี้[6]

โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำมณฑลพายัพ

[แก้]

เมื่อปี พ.ศ. 2466 มหาเสวกโท พระยาสุรบดินทร์สุรินทรภาไชย (อุปราช) อำมาตย์เอกพระยาพายัพพิริยะกิจ (สุมหเทศาภิบาล) และอำมาตย์ตรีหลวงวิสณห์ดรุณการ (ศึกษาธิการมณฑลพายัพ) ได้ร่วมกันเพื่อเตรียมการจัดตั้ง "โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำมณฑลพายัพ" ขึ้น ตามแนวคิดหลักของกระทรวงธรรมการในขณะนั้น จึงได้ซื้อที่ดิน ณ บ้านเวียงบัว ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1 แปลง มีเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ พร้อมด้วยเรือนไม้ 1 หลัง เพื่อเตรียมจัดตั้งโรงเรียน ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 นายร้อยเอกเจ้าราชภาติกวงษ์ เสนาวังจังหวัดเชียงใหม่ (ยศขณะนั้น:ต่อมาได้เลื่อนเป็น นายพันตรีเจ้าราชภาติกวงษ์ นามเดิมคือ คำตัน ณ เชียงใหม่) ได้ยกที่ดินด้านทิศเหนือของบริเวณที่ซื้อไว้เดิมพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ ให้แก่มณฑลพายัพ เพื่อรวมเป็นพื้นที่จัดตั้งโรงเรียน เมื่อได้สถานที่พอที่จะดำเนินการได้ กระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่ง (ตามหนังสือลงวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2466) เห็นควรให้ "นายชื่น สิโรรส" ซึ่งดำรงตำแหน่งศึกษาธิการอำเภอแม่ริมอยู่ในขณะนั้นมาเป็นครูใหญ่

เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2467 "นายชื่น สิโรรส" ครูใหญ่ "โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำมณฑลพายัพ" ได้เริ่มก่อสร้างอาคารเรียนและหอนอนหนึ่งหลัง ลักษณะอาคารเป็นเรือนไม้ไผ่ชั่วคราวพร้อมทั้งโรงอาหาร การปลูกสร้างได้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2467 และได้เริ่มทำการสอนเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2467 นักเรียนรุ่นแรกมีจำนวน 28 คน คัดเลือกมาเรียนจากจังหวัดเชียงราย 6 คน จังหวัดลำพูน 5 คน จังหวัดแม่ฮ่องสอน 1 คน และจังหวัดเชียงใหม่ 16 คน การคัดเลือกนักเรียนได้ยึดตามระเบียบการของโรงเรียนกสิกรรมส่วนกลาง

ในปี พ.ศ. 2468 ได้เริ่มมีหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนตามแนวของโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมอย่างแท้จริง โดยได้เปิดสอนตามหลักสูตรครูมูลกสิกรรมขึ้น ต่อมาในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 ได้ซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีก 3 แปลงเป็นที่สวนเก่าติดกับเนื้อที่ของโรงเรียนทางด้านทิศตะวันออก แต่ยังไม่มีตัวอาคารเรียนที่เป็นเรือนถาวรเกิดขึ้น จำนวนนักเรียนลดลงเหลือเพียง 22 คน การศึกษายังคงเน้นหนักให้ผู้เรียนปฏิบัติงานกสิกรรมอย่างจริงจังเรื่อยมา ทำให้มีผลผลิตทางการเกษตรออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปเป็นประจำ

โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรมณฑลพายัพ

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2470 มณฑลพายัพได้รวมเอาการฝึกหัดครูสามัญชั้นต่ำประจำมณฑลแผนกชาย ซึ่งอยู่���ี่โรงเรียนประจำมณฑล (ปัจจุบันคือ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย) มาไว้ที่ "โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำมณฑลพายัพ" เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในขณะนั้น โดยทางราชการได้แต่งตั้งให้ "หลวงพิพัฒน์คุรุกิจ" มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ และเปลี่ยนชื่อใหม่เรียกว่า "โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรมณฑลพายัพ" ซึ่งนักเรียนทั้งหมดเป็นนักเรียนชาย และสอนเน้นหนักด้านการเกษตร จึงทำให้คนทั่วไปเรียกกันติดปากว่า "โรงเรียนกสิกรรมช้างเผือก" กิจกรรมของโรงเรียนที่สำคัญคือ การจัดงานประจำปีของโรงเรียนที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นที่มาของการจัดงานฤดูหนาวประจำปีของจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน

"หลวงพิพัฒน์คุรุกิจ" ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ "โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรมณฑลพายัพ" จนถึงปี พ.ศ. 2480 จึงได้เกษียณอายุราชการ สภาพการจัดการเรียนการสอนสมัยนั้นยังคงเป็นการผลิตครู ทั้งสายครูสามัญและสายครูกสิกรรมควบคู่กันไป อาคารเรียน บ้านพักครูสำเร็จขึ้นด้วยฝีมือของนักเรียนและครูช่วยกันปลูกสร้างโรงเรียนเอง และได้เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปทั้งมณฑลพายัพและทั่วภาคเหนือ มีนักเรียนจากจังหวัดต่าง ๆ เช่น จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงราย จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดเชียงใหม่ เข้าศึกษาเป็นจำนวนมาก ทางราชการก็เริ่มเห็นความสำคัญของการฝึกหัดครูมากขึ้น โดยได้สร้างอาคารเรียนขึ้นเป็นเรือนถาวรหลังหนึ่ง แต่การปลูกสร้างยังไม่ทันได้เริ่มในสมัยของ "หลวงพิพัฒน์คุรุกิจ" เมื่อ "นายสนิท ศิริเผ่า" ได้ย้ายมาเป็นครูใหญ่สืบต่อเมื่อปี พ.ศ. 2480 จึงได้เริ่มปลูกสร้างเป็นเรือนไม้สองชั้นฐานคอนกรีต หันหน้าไปทางทิศตะวันตก (ซึ่งยังใช้อยู่จนถึง พ.ศ. 2513 จึงได้รื้อและสร้างอาคาร 1 ขึ้นแทนในสถานที่เดิม หรืออาคารสำนักงานอธิการบดีในปัจจุบัน)

โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2490 สมัยครูใหญ่ "นายทวี โปธาฌานนท์" ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับงานผลิตครูที่ดำเนินการอยู่ โดยเรียกว่า "โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่" เริ่มใช้สีดำและเหลืองเป็นสีประจำโรงเรียน ใช้สัญลักษณ์ "พระพิฆเนศวร เทพเจ้าแห่งปัญญา" เป็นสัญลักษณ์ประจำโรงเรียน และได้หล่อรูปพระพิฆเนศวรนั่งบนแท่นไว้เป็นเครื่องสักการะแก่ครูและนักเรียน ใช้คติพจน์ประจำโรงเรียนว่า "นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา" ซึ่งแปลว่า "ไม่มีแสงสว่างใดเสมอด้วยปัญญา"

"โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่" เป็นที่นิยมแก่ชาวภาคเหนืออย่างยิ่ง โดยได้ส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก ซึ่งตามสถิติในปี พ.ศ. 2493 อันเป็นปีที่ "นายทวี โปธาฌานนท์" ได้ขอย้ายไปโรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยานั้น มีนักเรียนประจำชายถึง 147 คน กล่าวกันว่ามีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ และในปีเดียวกันนี้ทางราชการได้แต่งตั้งให้ "นายประยุทธ สวัสดิสิงห์" เป็นครูใหญ่ของโรงเรียนสืบต่อมา ในระหว่างนี้ได้มีการปรับปรุงด้านอาคารสถานที่หลายหลัง อาทิ หอพักชาย โรงอาหาร บ้านพักครู โรงฝึกงานด้านหัตถกรรม เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2496 "นายประยุทธ สวัสดิสิงห์" ครูใหญ่ ได้ย้ายไปรับราชการประจำกรมการฝึกหัดครู ทางราชการได้สั่งให้ "นายพิษณุ ชัชวาลย์ปรีชา" มาเป็นครูใหญ่สืบแทน ในปีการศึกษานี้ "โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่" ได้เริ่มจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.) เป็นรุ่นแรก มีนักเรียนจากส่วนกลางคัดเลือกมาเรียน 36 คน ทั้งนี้ตามความต้องการของกรมประชาศึกษา (ปัจจุบันคือ กรมสามัญศึกษา) และยังมีนักเรียนในท้องถิ่นภาคเหนือมาเรียนอีกจำนวนหนึ่ง มีครูสอนจำนวน 6 คน นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งนับแต่ได้สถาปนาโรงเรียนนี้เป็นต้นมา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 "โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่" ได้เริ่มใช้หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) เป็นปีแรก และได้ใช้หลักสูตรนี้มาจนถึงปี พ.ศ. 2521 จึงได้งดสอนไป ในปี พ.ศ. 2499 ได้รวมแผนกฝึกหัดครูสตรีของโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดเชียงใหม่ (โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ) และรวมแผนกฝึกหัดครูการเรือนของโรงเรียนคำเที่ยงอนุสรณ์ มาจัดเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูแบบสหศึกษา แต่ยังเรียก "โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่" เหมือนเดิม

วิทยาลัยครูเชียงใหม่

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2502 "นายพิษณุ ชัชวาลย์ปรีชา" ครูใหญ่ "โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่" ได้ย้ายไปรับราชการที่กรุงเทพมหานคร และ "นายศิริ ศุขกิจ" ได้ย้ายมาเป็นหัวหน้าสถานศึกษาแห่งนี้แทน โดยเรียกตำแหน่งนี้ใหม่ว่า "อาจารย์ใหญ่" ทั้งนี้เพราะได้เตรียมการยกฐานะของโรงเรียนให้เปิดถึงขั้นประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) ซึ่งเทียบเท่ากับประโยคครูมัธยมเดิมและอนุปริญญา ในปี พ.ศ. 2503 ได้เรียกชื่อสถานศึกษาใหม่ว่า "วิทยาลัยครูเชียงใหม่" และได้เริ่มงานตามโครงการฝึกหัดครูชนบท โดยได้ส่งนักศึกษาในระดับ ป.กศ. ออกฝึกสอนในโรงเรียนประถมศึกษา 5 โรงเรียน ในท้องที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งการนี้ได้รับความชื่นชมจากชาวจังหวัดเชียงใหม่อย่างยิ่ง ชาวบ้านหวังอยู่เสมอว่า "วิทยาลัยครูเชียงใหม่" จะส่งนักศึกษาไปฝึกสอนในโรงเรียนท้องถิ่นของตนบ้าง

ในปี พ.ศ. 2506 "นางบุญฉวี พรหโมปกรณ์กิจ" ได้ย้ายมาเป็นอาจารย์ใหญ่อยู่ปีหนึ่ง จากนั้นปี พ.ศ. 2507 "นายศิริ ศุขกิจ" ก็ย้ายกลับมาเป็นอาจารย์ใหญ่อีกหนึ่งปี ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ ระหว่างที่รออาจารย์ใหญ่คนใหม่ ในช่วงปี พ.ศ. 2508 ทางราชการได้มอบหมายให้ "นางประชุมพร อมาตยกุล" เป็นผู้รักษาราชการแทนอาจารย์ใหญ่ และในช่วงปีการศึกษานี้ ทางราชการได้ยกระดับผู้บริหารขึ้นถึงชั้นพิเศษ และเรียกตำแหน่งผู้บริหารว่า "ผู้อำนวยการ" ผู้อำนวยการท่านแรกของ "วิทยาลัยครูเชียงใหม่" คือ "นายประสิทธิ์ สุนทโรทก" ซึ่งเข้ามารับตำแหน่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509

ในปี พ.ศ. 2515 "นายประสิทธิ์ สุนทโรทก" ผู้อำนวยการ ได้ย้ายเข้าไปรับตำแหน่งอธิบดีกรมการฝึกหัดครู ทางราชการได้แต่งตั้งให้ "นางสาวบุญจันทร์ วงศ์รักมิตร" เป็นผู้อำนวยการสืบต่อมา

ในปี พ.ศ. 2517 "วิทยาลัยครูเชียงใหม่" ได้เปิดสอนระดับปริญญาตรี โดยใช้หลักสูตรของวิทยาลัยวิชาการศึกษา 3 วิชาเอก คือ ภาษาอังกฤษ เคมี และวิทยาศาสตร์ทั่วไป โดยมุ่งหวังว่าจะให้ได้รับวุฒิประกาศนียบัตรประโยคครูอุดมศึกษา (ป.อ.) แต่ก็ได้เลิกไปเมื่อ พ.ศ. 2518 เมื่อมีการประกาศใช้ "พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518" โดยที่กำหนดให้การบริหารงานของวิทยาลัยครูทุกแห่งขึ้นอยู่กับ "สภาการฝึกหัดครู" และได้กำหนดให้เรียกชื่อผู้บริหารเป็น "อธิการ" จึงนับได้ว่า "นางสาวบุญจันทร์ วงศ์รักมิตร" เป็น "อธิการ" คนแรกของ "วิทยาลัยครูเชียงใหม่"

ในปี พ.ศ. 2524 "นายวิเชียร เมนะเศวต" ได้เข้ารับตำแหน่งอธิการสืบต่อ จนถึงปี พ.ศ. 2528 ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ กรมการฝึกหัดครู อธิการคนต่อมา คือ "รองศาสตราจารย์ ดร.มังกร ทองสุขดี" ซึ่งดำรงตำแหน่งจนถึงปี พ.ศ. 2534 "ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สายสมร สร้อยอินต๊ะ" จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง "อธิการ" และในปี พ.ศ. 2535 ได้เปลี่ยนการเรียกชื่อผู้บริหารจาก "อธิการ" เป็น "อธิการบดี" จึงนับได้ว่า "ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สายสมร สร้อยอินต๊ะ" เป็น "อธิการบดี" คนแรก

สถาบันราชภัฏเชียงใหม่

[แก้]

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามวิทยาลัยครูทั่วประเทศว่า "สถาบันราชภัฏ" แปลว่า "ผู้ที่อยู่ใกล้พระราชา" แต่หลายท่านให้ความหมายเป็นนัยว่า "นักปราชญ์ของพระราชา" โดยมีตราประจำสถาบันเป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ชาวราชภัฏทุกคนจึงถือเอาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น "วันราชราชภัฏ" โดยถือเป็นวันสถาปนาของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ)

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

[แก้]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมลงพระปรมาภิไธย ใน "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547" เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 อันมีผลให้ "สถาบันราชภัฏ" เปลี่ยนชื่อเป็น "มหาวิทยาลัยราชภัฏ" และมีสถานภาพเป็นนิติบุคคลโดยสมบูรณ์ ยังความปลาบปลื้มยินดีแก่ชาวราชภัฏทุกคน

และในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2547 "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547" ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นชาวราชภัฏทั้ง 41 แห่ง จึงร่วมใจพิธีถวายราชสดุดี เฉลิมฉลองนาม "มหาวิทยาลัยราชภัฏ" พร้อมกัน ในวันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 เวลา 09.09 น. พร้อมกันทั่วประเทศ

การพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ในอนาคต

[แก้]

หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ

[แก้]

หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ ตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอาคารเอนกประสงค์ขนาด 3,500 ที่นั่ง ที่มีความสมบูรณ์สำหรับใช้เป็นสถานที่จัดพิธีเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรทุกประการ เป็นห้องประชุมและประทับรับรอง หรือให้บริการหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งประชาชนทั่วไป โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไว้อย่างสมบูรณ์ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามหอประชุมแห่งนี้ว่า " ทีปังกรรัศมีโชติ " ซึ่งสร้างความปลาบปลื้มแก่ชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง และเมื่อวันที่ 17 เดือนเมษายน พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารหอประชุมทีปังกรรัศมีโชติอย่างเป็นทางการ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และหอประชุมแห่งนี้ยังใช้เป็นสถานที่จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตร โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญาบัตรแก่บัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคเหนือทั้ง 8 แห่งเป็นประจำทุกปี โดยบัณฑิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏดังต่อไปนี้...

ชุดครุยวิทยฐานะ

[แก้]

ครุยวิทยฐานะมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ทำด้วยผ้าสีดำ เย็บเป็นเสื้อคลุมยาวเหนือเข่าพอประมาณ ตัวเสื้อผ่าอกตลอด แขนเสื้อยาวตกข้อมือ ตอนกลางแขนทั้งสองข้างมีแถบกำมะหยี่สีดำ ขลิบด้วยเชือกเกลียวสีทอง พับปลายแถบเป็นมุมแหลม (ครุยดุษฎีบัณฑิต จำนวน 3 แถบ ครุยมหาบัณฑิต จำนวน 2 แถบ และครุยบัณฑิต จำนวน 1 แถบ) เรียงไว้ตอนกลางของแขนเสื้อทั้งสองข้าง และให้มีผ้าคล้องคอ ด้านในทำด้วยผ้าต่วนสีเหลืองทอง ด้านนอกทำด้วยผ้าหรือแพรสีดำเช่นเดียวกับตัวเสื้อ ด้านหน้าเย็บเป็นมุมแหลม มีแถมผ้าต่วนสีเหลืองทองเย็บติดที่ริมทั้งสองข้าง ระหว่างผ้าต่วนสีเหลืองทองทั้งสองข้างมีแถบกะมะหยี่สีประจำสาขาวิชา สีประจำสาขาวิชามีดังต่อไปนี้...

  • สาขาวิชาการบัญชี : สีฟ้าเทา
  • สาขาวิชาการศึกษา : สีฟ้า
  • สาขาวิชานิติศาสตร์ : สีขาว
  • สาขาวิชานิเทศศาสตร์ : สีน้ำเงิน
  • สาขาวิชาบริหารธุรกิจ : สีชมพู
  • สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ : สีน้ำตาล
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ : สีเหลือง
  • สาขาวิชาศิลปศาสตร์ : สีแสด
  • สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ : สีเขียวหัวเป็ด
  • สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ : สีชมพูส้ม

ด้านหลังเย็บเป็นสี่เหลี่ยม มีแถบผ้าต่วนสีเหลืองทองเย็บติดด้านบนและด้านล่าง ด้านซ้ายแล้วด้านขวาพับเป็นจีบซ้อนกัน จำนวนสองทบ มีเชือกเกลียวสีทอง ผูกด้วยเงื่อนพิรอดตรงกลางแผ่นหลัง และมีพู่ห้อยสีทอง มีตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยทำด้วยผ้า และปักด้วยด้ายสีตามตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยติดบนผ้าต่วนสีเหลืองทองรูปวงรี ปิดทับรอยต่อของผ้าคล้องคอด้านหน้าและด้านหลังทั้งสองข้าง

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

[แก้]
  • ตราประจำมหาวิทยาลัย เป็นรูปวงรีสองวงล้อมตราพระราชลัญจกรของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานให้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏ ภายในวงรีด้านบนเป็นอักษรภาษาไทยเขียนว่า "มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่" ด้านล่างเป็นอักษรภาษาอังกฤษเขียนว่า "CHIANG MAI RAJABHAT UNIVERSITY" ตรานี้มี 5 สี มีความหมายดังนี้...
    •   สีน้ำเงิน แทนค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ให้กำเนิดและพระราชทานนาม "มหาวิทยาลัยราชภัฏ" อันแปลว่า "นักปราชญ์แห่งพระราชา"
    •   สีเขียว แทนค่าแหล่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัย ในแหล่งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม
    •   สีทอง แทนค่าความเจริญรุ่งเรืองทางภูมิปัญญา
    •   สีส้ม แทนค่าความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
    •   สีขาว แทนค่าความคิดอันบริสุทธิ์ของนักปราชญ์แห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
  • พระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย ได้แก่ พระพุทธมหาคุณากร ประดิษฐานอยู่ ณ ศาลาพระพุทธจตุรทิศ
  • สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย ได้แก่ พระพิฆเนศวร เทพเจ้าแห่งปัญญา
  • ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย ได้แก่ ดอกเสี้ยวขาว บางที่เรียกว่า ชงโคดอกขาว
  • ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ได้แก่ ต้นหูกวาง หรือ ต้นกระโดน
  • สีประจำมหาวิทยาลัย ได้แก่ สีดำ-เหลือง
  • เข็ม-เนคไทนักศึกษาประจำมหาวิทยาลัย
    • เข็ม : เป็นเหรียญโลหะรูปตราประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กลัดที่เสื้อนักศึกษาหญิงตรงอกด้านซ้าย
    • เนคไท : เป็นผ้าสีกรมท่า มีเข็มตุ้งติ้งรูปตราประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ติดตรงกึ่งกลางของเนคไท ใช้ผูกในเครื่องแบบของนักศึกษาชาย

รายนามผู้บริหารและอธิการบดี

[แก้]

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มีผู้บริหารและอธิการบดี นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2467 จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2556) มีรายนามดังต่อไปนี้[7]

รายนามผู้บริหารและอธิการบดี
ลำดับ
(สมัย)
รายนาม ตำแหน่ง สถานะสถานศึกษา วาระการดำรงตำแหน่ง
1 เจ้าชื่น สิโรรส ครูใหญ่ โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำมณฑลพายัพ พ.ศ. 2467 - พ.ศ. 2470
2 หลวงพิพัฒน์คุรุกิจ ครูใหญ่ โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรมณฑลพายัพ พ.ศ. 2470 - พ.ศ. 2480
3 นายสนิท ศิริเผ่า ครูใหญ่ โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรมณฑลพายัพ พ.ศ. 2480 - พ.ศ. 2484
4 นายเปรม เปรมศิริ ครูใหญ่
(รักษาการแทน)
โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรมณฑลพายัพ พ.ศ. 2484 - พ.ศ. 2485
5 นายทวี โปธาฌานนท์ ครูใหญ่ โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรมณฑลพายัพ
และ โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่
พ.ศ. 2485 - พ.ศ. 2493
6 นายประยุทธ สวัสดิสิงห์ ครูใหญ่ โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่ พ.ศ. 2493 - พ.ศ. 2496
7 นายพิษณุ ชัชวาลย์ปรีชา ครูใหญ่ โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่ พ.ศ. 2496 - พ.ศ. 2502
8
(1)
นายศิริ ศุขกิจ อาจารย์ใหญ่ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ พ.ศ. 2502 - พ.ศ. 2506
9 นางบุญฉวี พรหโมปกรณ์กิจ อาจารย์ใหญ่ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ พ.ศ. 2506 - พ.ศ. 2507
8
(2)
นายศิริ ศุขกิจ อาจารย์ใหญ่ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ พ.ศ. 2507 - พ.ศ. 2508
10 นางประชุมพร อมาตยกุล อาจารย์ใหญ่
(รักษาการแทน)
วิทยาลัยครูเชียงใหม่ พ.ศ. 2508 - พ.ศ. 2509
11 นายประสิทธิ์ สุนทโรทก ผู้อำนวยการ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ พ.ศ. 2509 - พ.ศ. 2515
12 นางสาวบุญจันทร์ วงศ์รักมิตร ผู้อำนวยการ
และ อธิการ
วิทยาลัยครูเชียงใหม่ พ.ศ. 2515 - พ.ศ. 2524
13 นายวิเชียร เมนะเศวต อธิการ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ พ.ศ. 2524 - พ.ศ. 2528
14 รศ.ดร.มังกร ทองสุขดี อธิการ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2534
15 ผศ.ดร.สายสมร สร้อยอินต๊ะ อธิการ
และ อธิการบดี
วิทยาลัยครูเชียงใหม่
และ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่
พ.ศ. 2534 - พ.ศ. 2542
16 รศ.ว��รณวดี ม้าลำพอง อธิการบดี สถาบันราชภัฏเชียงใหม่ พ.ศ. 2542 - พ.ศ. 2546
17 ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดี สถาบันราชภัฏเชียงใหม่
และ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
พ.ศ. 2546 - พ.ศ. 2555
18 รศ.ดร.ประพันธ์ ธรรมไชย อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน

คณะและวิทยาลัย

[แก้]

หลักสูตรการศึกษา

[แก้]

ระดับปริญญาตรี

[แก้]

คณะครุศาสตร์

[แก้]

คณะวิทยาการจัดการ

[แก้]

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

[แก้]

คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์

[แก้]

คณะเทคโนโลยีการเกษตร

[แก้]

วิทยาลัยนานาชาติ

[แก้]

ระดับปริญญาโท และ ระดับปริญญาเอก

[แก้]

บัณฑิตวิทยาลัย

[แก้]

วิทยาเขต

[แก้]

บุคคลที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๒๒, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  2. สรุปข้อมูลบุคลากร (สายวิชาการ) มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ประจำเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๖
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. ๒๕๑๘, เล่ม ๙๒, ตอน ๔๘ ก ฉบับพิเศษ, ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘, หน้า ๒๓
  4. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. ๒๕๓๘ (ยกเลิกพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. ๒๕๑๘ และบัญญัติขึ้นใหม่), เล่ม ๑๑๒, ตอน ๔ ก, ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๘, หน้า ๑๑๒
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. ๒๕๔๗, เล่ม ๑๒๑, ตอนพิเศษ ๒๓ ก, ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗ หน้า ๑
  6. "ประวัติมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-01. สืบค้นเมื่อ 2010-06-03.
  7. "คนเก่าเล่าความหลัง จากวิทยาลัยครูสู่ราชภัฏ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-04. สืบค้นเมื่อ 2010-06-01.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]