ภาษาดัตช์
ภาษาดัตช์ | |
---|---|
Nederlands เนเดอร์ลานด์ส | |
ออกเสียง | [ˈneːdərlɑnts] ( ฟังเสียง) |
ประเทศที่มีการพูด | เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ซูรินาม อารูบา กือราเซา ซินต์มาร์เติน อินโดนีเซีย และฝรั่งเศส |
ชาติพันธุ์ | ชาวดัตช์ ชาวอินโด |
จำนวนผู้พูด | 23 ล้านคน (2019) |
ตระกูลภาษา | |
รูปแบบก่อนหน้า | ภาษาดัตช์เก่า
|
ระบบการเขียน | อักษรละติน (อักษรดัตช์) |
สถานภาพทางการ | |
ภาษาทางการ | เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ซูรินาม สหภาพยุโรป |
ผู้วางระเบียบ | Nederlandse Taalunie (สหภาพภาษาดัตช์) |
รหัสภาษา | |
ISO 639-1 | nl |
ISO 639-2 | dut (B) nld (T) |
ISO 639-3 | nld |
ประเทศที่ใช้ภาษาดัตช์เป็นภาษาราชการ | |
Distribution of the Dutch language and its dialects in Western Europe |
ภาษาดัตช์ (Nederlands) เป็นกลุ่มภาษาเจอร์แมนิกตะวันตกที่มีคนพูดเป็นภาษาแม่ประมาณ 23 ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์และเบลเยียม ภาษาดัตช์เป็นภาษาราชการในประเทศเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ประเทศซูรินาม และดินแดนโพ้นทะเลของเนเธอร์แลนด์ในแถบแคริบเบียนอันได้แก่ อารูบา ซินต์มาร์เติน และกือราเซา
ภาษาดัตช์มีความใกล้เคียงมากที่สุดกับภ��ษาอาฟรีกานส์ซึ่งเป็นภาษาที่มีที่มาจากภาษาดัตช์ในประเทศแอฟริกาใต้ในศตวรรษที่ 17 และภาษาเยอรมันต่ำในประเทศเยอรมนีตอนเหนือ
ชื่อเรียก
[แก้]คำว่า "ดัตช์" (Dutch) เป็นคำคุณศัพท์ในภาษาอังกฤษที่หมายถึงประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นคำที่มีรากศัพท์เดียวกับคำภาษาเยอรมันว่า "ด็อยทช์" (deutsch) และคำภาษาดัตช์ "เดาท์ซ" (duits) ซึ่งในปัจจุบันเป็นคำคุณศัพท์ที่หมายถึงประเทศเยอรมนี คำนี้มีที่มาจากรากศัพท์ในภาษาเจอร์แมนิกดั้งเดิมว่า *þeudō ซึ่งหมายถึงกลุ่มชน ในยุคกลาง คำนี้ได้กลายมาเป็นคำเรียกแทนชนชาติและภาษาของตนเองในภาษาเจอร์แมนิกตะวันตกต่างๆ เช่น diutsch ในภาษาเยอรมันสูงยุคกลาง และ duutsc หรือ dietsc ในภาษาดัตช์ยุคกลาง โดยมีความหมายในลักษณะ "ภาษาของประชา" ที่ไม่ใช่ภาษาละติน ในภาษาอังกฤษสมัยศตวรรษที่ 15-16 คำว่า Dutch ในภาษาอังกฤษยังคงมีความหมายถึง "เยอรมัน" ในความหมายอย่างกว้าง (ที่รวมถึงเนเธอร์แลนด์) ก่อนที่จะมีความหมายเจาะจงถึงเนเธอร์แลนด์หลังจากที่สาธารณรัฐดัตช์กลายเป็นรัฐเอกราช[1]
คำเรียกภาษาดัตช์ในภาษาดัตช์ในปัจจุบันคือ "เนเดอร์ลันดส์" (Nederlands) ในประเทศเบลเยียมบางครั้งจะเรียกภาษาดัตช์ที่ใช้ในแฟลนเดอส์ว่า "ฟลามส์" (Vlaams; ภาษาเฟลมิช)
สัทวิทยา
[แก้]พยัญชนะ
[แก้]ภาษาดัตช์มาตรฐานมีหน่วยเสียงพยัญชนะดังต่อไปนี้[2][3]
ริมฝีปาก | ริมฝีปาก-ฟัน | ปุ่มเหงือก | หลังปุ่มเหงือก | เพดานอ่อน/ ลิ้นไก่ |
เส้นเสียง | |
---|---|---|---|---|---|---|
นาสิก | m | n | ŋ | |||
ระเบิด | p b | t d | k (ɡ) | |||
เสียดแทรก | f v | s z | (ʃ) (ʒ) | x ɣ | h | |
โรทิก | r | |||||
เปิด | ʋ | l | j |
เสียงหยุด เพดานอ่อน ก้อง /g/ เป็นหน่วยเสียงที่มีใช้เฉพาะในคำยืมจากภาษาต่างประเทศ เช่น goal หรือเป็นหน่วยเสียงย่อย ของเสียงไม่ก้อง /k/ หากว่าอยู่ติดกับเสียงพยัญชนะก้องอื่น เช่น zakdoek [zɑgduk] (ผ้าเช็ดหน้า)[3]: 7
เสียง /s, z, t/ หากว่าอยู่หน้าเสียง /j/ แล้ว จะกลายเป็นเสียงเพดานแข็ง [ʃ, ʒ, c] ตามลำดับ เสียงเหล่านี้อาจมีปรากฎในลักษณะหน่วยเสียงในคำยืมเช่นกัน เช่น chique [ʃik] และ jury [ʒyri] โดยสามารถวิเคราะห์ในเชิงสัทวิทยาได้ว่าเป็นหน่วยเสียงเดียวกับเสียงควบ /sj/ และ /zj/ ตามลำดับ[3]: 7
เสียงพยัญชนะระเบิด ไม่ก้อง ในภาษาดัตช์ /p, t, k/ ในภาษาดัตช์มีลักษณะเป็นเสียงไม่พ่นลม (เสียงสิถิล)[2]
ภาษาดัตช์ลดเสียงก้อง (devoicing) ของเสียงพยัญชนะสุดท้ายของคำ เช่น หน่วยเสียง /d/ และ /z/ จะออกเสียงเป็น [t] และ [s] ตามลำดับ การลดเสียงก้องนี้สามารถสังเกตได้โดยการเปรียบเทียบการออกเสียงรูปเอกพจน์และพหูพจน์ของหน่วยศัพท์เดียวกัน เช่น huizen (บ้าน) ในรูปพหูพจน์ เอกพจน์กลายเป็น huis เช่นเดียวกับ duiven (นกพิราบ) เอกพจน์กลายเป็น duif ในกรณีอื่นๆ โดยเฉพาะ p/b และ d/t แม้จะคงรูปพยัญชนะในเอกพจน์แต่ก็ยังมีการลดเสียงก้องเหมือนเดิม อาทิ baarden (เครา) รูปเอกพจน์คือ baard แต่อ่านเหมือน baart หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ribben (ซี่โครง) รูปเอกพจน์คือ rib แต่อ่านเหมือน rip
บ่อยครั้งที่พยัญชนะต้นของคำถัดไปก็ถูกลดเสียงก้องไปด้วย เช่น het vee (วัวควาย) ออกเสียงเป็น /(h)ətfe/ การลดเสียงก้องในกรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงในบางภูมิภาค (อาทิ อัมสเตอดัม, ฟรีสลันด์) ที่ซึ่งหน่วยเสียง /v/, /z/ และ /ɣ/ กำลังจะสูญหาย ในทางตอนใต้ของเนเธอร์แลนด์ หน่วยเสียงเหล่านี้ยังคงออกเสียงได้อย่างถูกต้องในตำแหน่งกึ่งกลางของคำ
สระ
[แก้]ภาษาดัตช์มีหน่วยเสียงสระเดี่ยวดังต่อไปนี้[3]: 4
หน้า | กลาง | หลัง | |||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ปากไม่ห่อ | ปากห่อ | ||||||
คลาย | เกร็ง | คลาย | เกร็ง | คลาย | เกร็ง | ||
ปิด | ɪ | i | ข้อผิดพลาด: {{IPA}}: ไม่รู้จักแท็กภาษา: ɵ | y | (ʊ) | u | |
ระดับกลาง | ɛ | eː | øː | ə | ɔ | oː | |
เปิด | ɑ | aː |
ภาษาดัตช์มีหน่วยเสียงสระประสมสามหน่วย ได้แก่ /ɛi/, /œy/ และ /ɔu/[3]: 4
การเน้นเสียงหนัก
[แก้]ภาษาดัตช์เป็นภาษาที่ออกเสียงเน้นหนัก (stress) บนตำแหน่งของคำ การเน้นหนักสามารถปรากฏได้ทุกแห่งในคำคำหนึ่ง แต่โดยปกติแล้วจะเน้นที่ต้นคำ ในคำประสมก็มักจะมีการเน้นระดับรองอยู่ด้วย มีเพียงบางกรณีเท่านั้นที่การเน้นหนักใช้แยกแยะความแตกต่างของความหมาย ตัวอย่างเช่น vóórkomen (ปรากฏ) และ voorkómen (ป้องกัน) การใส่เครื่องหมายเน้นหนัก (´) ในภาษาดัตช์นั้นไม่จำเป็นต้องกระทำ ไม่ได้เป็นข้อปฏิบัติ แต่บางครั้งก็แนะนำให้ใช้
สัทสัมผัส
[แก้]โครงสร้างพยางค์โดยทั่วไปของภาษาดัตช์คือ (C)(C)(C)V(C)(C)(C)(C) หมายความว่าสามารถมีพยัญชนะต้นได้ 3 ตัวเหมือนภาษาอังกฤษ เช่น straat (ถนน) และมีพยัญชนะสะกดได้ 4 ตัว เช่น herfst (ฤดูใบไม้ร่วง) interessantst (น่าสนใจที่สุด) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำวิเศษณ์รูปขั้นกว่าหรือขั้นสุด
จำนวนพยัญชนะที่มากที่สุดในหนึ่งคำพบได้ในคำว่า slechtstschrijvend (งานเขียนที่แย่ที่สุด) ซึ่งมีพยัญชนะติดกัน 9 ตัว ตามทฤษฎีจะมีเพียง 7 หน่วยเสียง เนื่องจาก ch ใช้แทนหน่วยเสียงเสียงเดียว แต่การพูดโดยทั่วไปอาจลดลงเหลือเพียง 5-6 หน่วยเสียง
การเขียน
[แก้]ภาษาดัตช์เขียนด้วยอักษรละตินมาตรฐาน 26 ตัว แต่มีทวิอักษร ij ที่ถือว่าเป็นตัวอักษรตัวหนึ่ง
ตัวพิมพ์เล็ก a - b - c - d - e - f - g - h - i - j - k - l - m - n - o - p - q - r - s - t - u - v - w - x - y - (ij) - z
ตัวพิมพ์ใหญ่ A - B - C - D - E - F - G - H - I - J - K - L - M - N - O - P - Q - R - S - T - U - V - W - X - Y - (IJ) - Z
สระในภาษาดัตช์มี 5 ตัว คือ a - e - i - o - u ซึ่งถ้าหากพิจารณารวมตัวอักษร ij ซึ่งเป็นได้ทั้งพยัญชนะและสระ ด้วยแล้ว จะมีสระรวมเป็น 6 ตัว
ตัวอักษร Q จะพบในคำที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศเท่านั้น และเช่นกัน อักษร X และ Y ส่วนมากจะใช้ในคำที่ยืมมา แต่ก็มีบ้างที่ใช้ในชื่อหรือคำเก่า ๆ เช่น hypnose (แปลว่า hypnosis ในภาษาอังกฤษ)
ตัวอักษร E เป็นตัวอักษรที่ใช้มากที่สุดในภาษาดัตช์ โดยเฉพาะหน้าที่เป็นสระ ส่วนตัวอักษรที่ใช้น้อยที่สุด ได้แก่ ตัวอักษร Q, X, และ Y
IJ
[แก้]อักษร ij (/ɛi/ แอย) เป็นตัวที่ค่อนข้างจะเป็นปัญหา โรงเรียนประถมหลายแห่งสอนให้นักเรียนท่อง x ij z แทนที่จะเป็น x y z และเรียกอักษร y ว่า "Griekse y" (หมายถึง "y กรีก") อักษร ij ไม่ใช่เป็นการนำ i และ j มารวมกัน อย่างไรก็ตามในพจนานุกรมจะพบตัวอักษร ij อยู่ระหว่าง ih กับ ik ส่วนในสมุดโทรศัพท์จะพบว่าอักษร ij จะอยู่แทนที่ตัวอักษร y เลย (เพราะว่านามสกุลหลายชื่อไม่มีมาตรฐานในการสะกด เช่น Bruijn อาจสะกดได้เป็น Bruyn)
ในการขึ้นต้นประโยคที่มี IJ เป็นตัวอักษรตัวแรก เช่น ijs (น้ำแข็ง) ให้เขียนตัว i และ j เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งสอง คือ IJs เพราะถือว่า ij คืออักษรตัวหนึ่ง อย่างไรก็ตามในภาษาถิ่นบางแห่งพิจารณา ij เป็นสระประสมเสียงเดียว (ตัว i กับ j ควบกัน) ทำให้เมื่อขึ้นต้นประโยคจะเขียน Ijs แทน IJs
อักษร ij ในการเขียนด้วยลายมือจะปรากฏคล้ายอักษร ÿ ส่วนยูนิโคดมีทวิอักษรแบบตัวเดียวคือ IJ (U+0132) และ ij (U+0133)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Dutch". Oxford English Dictionary Online. Oxford University Press. 2019. สืบค้นเมื่อ 2019-08-09.
- ↑ 2.0 2.1 Mees, Inger; Collins, Beverley (1982). "A phonetic description of the consonant system of Standard Dutch (ABN)". Journal of the International Phonetic Association. 12 (1): 2–12. doi:10.1017/S0025100300002358.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Booij, Geert (1995). The Phonology of Dutch. Oxford University Press. ISBN 978-0-19-823869-0.