คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Faculty of Arts, Chulalongkorn University | |
ชื่อเดิม | คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ |
---|---|
สถาปนา | 26 มีนาคม พ.ศ. 2460 |
สังกัดการศึกษา | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
คณบดี | รองศาสตราจารย์ ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ |
ที่อยู่ | 254 อาคารบรมราชกุมารี ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 |
สี | สีเทา |
มาสคอต | พระสุรัสวดี เทวีอักษรศาสตร์ |
เว็บไซต์ | www |
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อังกฤษ: Faculty of Arts, Chulalongkorn University) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2460 โดยเป็นหนึ่งในสี่คณะที่กำเนิดขึ้นพร้อมกับการจัดตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อแรกเริ่มมีชื่อว่า "คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์" ทำหน้าที่สอนวิชาพื้นฐานด้านมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้แก่คณะอื่น ๆ ต่อมาได้รับภาระผลิตครูมัธยมสายอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในหลักสูตรประโยคครูมัธยม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2477 คณะอักษรศาสตร์จึงเริ่มเปิดหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต ในปัจจุบันคณะอักษรศาสตร์เปิดสอนหลักสูตรทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 1 ของไทยในสาขาภาษาร่วมสมัย (อันดับที่ 101–150 ของโลก) ภูมิศาสตร์ (อันดับที่ 101–150 ของโลก) และภาษาศาสตร์ (อันดับที่ 151–200 ของโลก) จากการจัดอันดับของ QS World University Rankings by Subject ปี ค.ศ. 2018[1]
ประวัติ
[แก้ไขต้นฉบับ]คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เดิมมีชื่อว่า "คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์" เป็นหนึ่งในสี่คณะที่ได้มีการจัดตั้งขึ้น (อีกสามคณะได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) และคณะรัฐประศาสนศาสตร์ (คณะรัฐศาสตร์)) โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ซึ่งเป็นอธิการบดีกรมมหาวิทยาลัยในกระทรวงธรรมการพระองค์แรก (กระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบัน) ได้ทรงจัดตั้งเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2460 ในระยะแรก การเรียนการสอนในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์จะเป็นการสอนรายวิชาให้กับนิสิตเตรียมแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นส่วนใหญ่ จนในปี พ.ศ. 2471 จึงได้เปิดสอนวิชาอักษรศาสตร์เป็นหลักสูตรแรก มีระยะเวลาการศึกษา 3 ปี โดยในสองปีแรกจะเป็นการเรียนวิชาอักษรศาสตร์และปีสุดท้ายจะเป็นการเรียนวิชาครู ซึ่งผู้สำเร็จตามหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรครูมัธยม ต่อมาในปี พ.ศ. 2473 จึงได้เปิดสอนวิชาวิทยาศาสตร์โดยมีระยะเวลาการศึกษาเท่ากับหลักสูตรวิชาอักษรศาสตร์
คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีการปรับปรุงด้านการบริหารและการเรียนการสอนหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2476 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแยกคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ออกจากกันเป็น 2 คณะ และคณะอักษรศาสตร์ได้แบ่งการบริหารออกเป็นแผนกอักษรศาสตร์และแผนกฝึกหัดครู แต่ในปีเดียวกันนั้นคณะอักษรศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ได้กลับรวมกันเป็นคณะเดียวกันอีก แต่���ีการแบ่งการบริหารใหม่ออกเป็น 9 แผนก ได้แก่ แผนกวิชาสารบรรณและหอสมุด แผนกวิชาเคมี แผนกวิชาฟิสิกส์ แผนกวิชาชีววิทยา แผนกวิชาคณิตศาสตร์ แผนกวิชาภาษาไทยและโบราณตะวันออก แผนกวิชาภาษาปัจจุบัน แผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ และแผนกวิชาฝึกครู และในปี พ.ศ. 2477 ได้เปิดสอนหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตในระดับปริญญาตรี และเปิดสอนในขั้นหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิตในปี พ.ศ. 2485
ในปี พ.ศ. 2486 ได้มีการแยกคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ออกเป็นสองคณะอีกครั้งหนึ่ง แต่ยังมีการบริหารรวมกันอยู่ และได้เปิดสอนหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตในปี พ.ศ. 2491 ขณะเดียวกันก็ได้เปลี่ยนชื่อคณะเป็น คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ และแบ่งการบริหารใหม่ออกเป็น 4 แผนกวิชา ได้แก่ แผนกวิชาภาษาไทยและโบราณตะวันออก แผนกวิชาภาษาต่างประเทศ แผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ และแผนกวิชาครุศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ยังคงมีการบริหารงานรวมกับคณะวิทยาศาสตร์จนถึงปี พ.ศ. 2493 จึงได้แยกการบริหารออกเป็นอิสระจากกัน และมีการก่อตั้งแผนกใหม่คือ แผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2498 กระทั่งปี พ.ศ. 2500 แผนกวิชาครุศาสตร์ได้รับการยกฐานะเป็นคณะครุศาสตร์และแยกตัวออกไป ทำให้คณะได้กลับมาใช้ชื่อคณะอักษรศาสตร์อีกครั้ง และมีแบ่งแผนกวิชาใหม่ออกเป็น 6 แผนกวิชา ได้แก่ แผนกวิชาภาษาไทย แผนกวิชาภาษาตะวันออก แผนกวิชาภาษาอังกฤษ แผนกวิชาภาษาตะวันตก แผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ และแผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ ตลอดจนก่อตั้งแผนกวิชาใหม่ ๆ ตามเวลา ได้แก่ แผนกวิชาปรัชญาในปี พ.ศ. 2514 แผนกวิชาศิลปการละครในปี พ.ศ. 2515 และแยกแผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ออกจากกัน[2]
อาคาร
[แก้ไขต้นฉบับ]-
หมู่อาคารของคณะอักษรศาสตร์และหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย -
อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ -
อาคารมหาวชิราวุธ -
อาคารบรมราชกุมารี -
กลุ่มอาคารทรงขอม คณะอักษรศาสตร์
- อาคารมหาจุฬาลงกรณ์
อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ หรือที่เรียกติดปากว่า "เทวาลัย" เป็นอาคารที่มีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไทย ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2457 ให้เป็นตึกบัญชาการของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ออกแบบโดย ดร.คาร์ล เดอห์ริง (Dr. Karl Dohring) นายช่างชาวเยอรมัน ซึ่งรับราชการในกระทรวงมหาดไทย และนายเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ (Mr. Edward Healey) นายช่างชาวอังกฤษ ซึ่งรับราชการในกระทรวงธรรมการ โดยนำศิลปะไทยโบราณที่สุโขทัยและสวรรคโลกมาคิดปรับปรุงขึ้นเป็นแบบของอาคาร ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมายังโรงเรียนข้าราชการพลเรือนที่กำลังก่อสร้างเพื่อทรงวางศิลาพระฤกษ์ หลังจากนั้นในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการสถาปนา "โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ขึ้นเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" อาคารดังกล่าวใช้เป็นสำนักงานบริหารและเป็นอาคารเรียนหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกว่า "ตึกบัญชาการ" ต่อมาอาคารดังกล่าวก็เปลี่ยนชื่อเป็น "ตึกอักษรศาสตร์ 1" และ "อาคารมหาจุฬาลงกรณ์" ตามลำดับ ตึกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. 2530[3]
- อาคารมหาวชิราวุธ
อาคารมหาวชิราวุธ เดิมมีชื่อว่า "ตึกอักษรศาสตร์ 2" เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเลียนแบบสถาปัตยกรรมอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ โดยมีทางเชื่อมกับอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ทำให้มีลักษณะเป็นรูปสมมาตร ตัวอาคารมีทั้งหมด 4 ชั้น โดยเพิ่มชั้นใต้ดินและชั้นใต้หลังคา ปัจจุบันใช้เป็นอาคารสำนักคณบดี แผนกธุรการต่าง ๆ ของคณะอักษรศาสตร์ และศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ (ห้องสมุดคณะอักษรศาสตร์)
- อาคารบรมราชกุมารี
อาคารบรมราชกุมารี เป็นอาคารเรียนรวมสายมนุษยศาสตร์ 15 ชั้น ถือเป็นอาคารเรียนหลักของคณะอักษรศาสตร์ นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งสำนักงานภาควิชา และหลักสูตรต่าง ๆ ของคณะอักษรศาสตร์ (ชั้น 7–13) และคณะศิลปกรรมศาสตร์ (ชั้น 14) ในการจัดสร้างอาคารบรมราชกุมารี ได้มีการทุบ "ตึกอักษรศาสตร์ 3" ซึ่งเป็นอาคารสูงเพียง 2 ชั้นตั้งอยู่ลานหน้าอาคารบรมราชกุมารีในปัจจุบัน เนื่องจากมีความทรุดโทรมและกีดขวางเส้นทางเข้าเขตก่อสร้างอาคารบรมราชกุมารี นิสิตอักษรศาสตร์จึงผูกพันเสมือนอาคารบรมราชกุมารีเป็นตึกอักษรศาสตร์ 3
- อาคารมหาจักรีสิรินธร
หากไม่นับอาคารบรมราชกุมารีซึ่งบริหารโดยส่วนกลางของมหาวิทยาลัย อาคารมหาจักรีสิรินธร ถือเป็นอาคารลำดับที่ 5 ของคณะอักษรศาสตร์ ซึ่งสร้างแทนที่ "ตึกอักษรศาสตร์ 4" ซึ่งมีความสูงเพียง 3 ชั้น ปัจจุบันใช้เป็นอาคารเรียนหลังที่สองของคณะอักษรศาสตร์ มีความสูง 9 ชั้น โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิ���าชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553 ภายในอาคารดังกล่าวประกอบด้วย ห้องบรรยาย ห้องเรียน ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ (สรรพศาสตร์สโมสร) ส่วนการวิจัย และศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล โรงละครแบล็กบอกซ์ของภาควิชาศิลปการละคร ซึ่งตั้งชื่อตามผู้ก่อตั้งภาควิชา และห้องกิจกรรมนิสิต
หน่วยงาน
[แก้ไขต้นฉบับ]
|
|
ภาควิชาภูมิศาสตร์
[แก้ไขต้นฉบับ]ใน พ.ศ. 2478 ได้มีการก่อตั้ง "แผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์" ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทยสังกัดคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2477 ต่อมาปริมาณงานของแผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ได้เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จึงได้แยกออกจากกันเป็น 2 แผนกวิชา คือ "แผนกวิชาภูมิศาสตร์" และ"แผนกวิชาประวัติศาสตร์" โดยแผนกวิชาภูมิศาสตร์ได้ถือเอาวันที่ 18 พฤษภาคม พศ. 2515 เป็นวันกำเนิดหรือวันก่อตั้งแผนกวิชา
ใน พ.ศ. 2522 ได้เปลี่ยนชื่อจาก "แผนกวิชาภูมิศาสตร์" เป็น "ภาควิชาภูมิศาสตร์" ตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2522 บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการแยกแผนกวิชาทั้งสองออกจากกัน ได้แก่ ศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ ศาสตราจารย์ไพฑูรย์ พงศะบุตร และศาสตราจารย์รัชนีกร บุญหลง โดยศาสตราจารย์ไพฑูรย์ พงศะบุตรได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิชาภูมิศาสตร์เป็นคนแรก และในขณะเดียวกันก็ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะอักษรศาสตร์ในระยะเวลาเดียวกันด้วย (พ.ศ. 2515-2519)
หลักสูตร
[แก้ไขต้นฉบับ]
หลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต (อ.บ.) ปรับปรุง พ.ศ. 2566
|
หลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต (อ.ม.) ปรับปรุงล่าสุด พ.ศ. 2564 [4]
|
หลักสูตรอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต (อ.ด.) ปรับปรุงล่าสุด พ.ศ. 2564 [5]
|
ทำเนียบคณบดี
[แก้ไขต้นฉบับ]บุคลากรที่มีชื่อเสียง
[แก้ไขต้นฉบับ]กิจกรรมนิสิต
[แก้ไขต้นฉบับ]- โครงการสานสัมพันธ์อักษรศิลป์ (One Arts)
งานกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 4 คณะวิชาด้านภาษาและมนุษยศาสตร์ ได้แก่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่เดิมใช้ชื่อว่า "งานสานสัมพันธ์อักษร" โดยเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 2 คณะอักษรศาสตร์ของประเทศไทย แต่ทางคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มาเข้าร่วมด้วยในภายหลัง จึงเปลี่ยนชื่อเป็นงาน Tri Arts และล่าสุด ทางคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลก็ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมด้วยเช่นกัน ทำให้มีมากกว่า 3 มหาวิทยาลัย จึงตั้งชื่อกิจกรรมขึ้นมาใหม่ว่างาน One Arts เพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันของทั้ง 4 มหาวิทยาลัย ภายในงานมีการแข่งขันกีฬา การแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ การเชียร์โต้ และโชว์เชียร์ลีดเดอร์จากแต่ละคณะ
พิพิธภัณฑ์
[แก้ไขต้นฉบับ]พิพิธพัสดุ์ไท–กะได ชั้น 1 ปีกซ้าย อาคารมหาวชิราวุธ คณะอักษรศาสตร์ เป็นแหล่งรวมผลงานจากการทำวิจัยภาคสนามของ ศ. ดร.ปราณี กุลละวณิชย์ และ ศ. ดร.ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ จาก 4 ประเทศ คือ ประเทศจีน (ยูนาน กวางสี ไกวโจว และไฮนัน) ลาว เวียดนาม และไทย อาจารย์ได้ศึกษาศิลปวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ และภาษา และได้รวบรวมเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย พร้อมเครื่องประดับของหญิงเผ่าไท–กะได และชนเผ่าในแขวงเขตเซกอง ลาวใต้ มามอบให้ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดเก็บอย่างเป็นระบบเพื่อเผยแพร่[7]
อ้างอิง
[แก้ไขต้นฉบับ]- ↑ https://www.topuniversities.com/subject-rankings/2018
- ↑ ประวัติความเป็นมาคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ↑ รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี 2530 : ตึกอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บถาวร 2005-02-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
- ↑ "หลักสูตรปริญญาโท – คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "หลักสูตรปริญญาเอก – คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ รายนามคณบดี (2551). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [1]. (เข้าถึงเมื่อ: 17 พฤศจิกายน 2552).
- ↑ Waemamu, Iklas. "พิพิธพัสดุ์ไท-กะได." พิพิธพัสดุ์ไท-กะได. Accessed March 26, 2017. http://hic.arts.chula.ac.th/index.php/accordion-a/level-21/13-2013-12-29-08-24-57/54-tai-ka-dai[ลิงก์เสีย].
ดูเพิ่ม
[แก้ไขต้นฉบับ]- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รายชื่อคณะมนุษยศาสตร์ในประเทศไทย
- รายชื่อคณะสังคมศาสตร์ในประเทศไทย
- โครงการพัฒนานักอักษรศาสตร์รุ่นใหม่
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้ไขต้นฉบับ]- เว็บไซต์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- เฟซบุ๊กคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ภาพถ่ายทางอากาศของ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแ��เปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์