ข้ามไปเนื้อหา

การล้มล้างระบอบสุลต่านออตโตมัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินออกทางประตูห��ังของพระราชวังดอลมาบาแช

การล้มล้างระบอบสุลต่านออตโตมัน (ตุรกี: Saltanatın kaldırılması) โดยสมัชชาใหญ่แห่งชาติตุรกี ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 ถือเป็นจุดสิ้นสุดของจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งดำรงอยู่มาตั้งแต่ ค.ศ. 1299 ต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 อำนาจอธิปไตยเหนือตรุกีของสมัชชาใหญ่แห่งชาติภายใต้การบริหารของรัฐบาลอังโกรา (ปัจจุบันคืออังการา) ได้รับการรับรองในการประชุมที่โลซาน สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 6 สุลต่านออตโตมันพระองค์สุดท้ายเสด็จออกจากคอนสแตนติโนเปิล (ปัจจุบันคืออิสตันบูล) ราชธานีของจักรวรรดิออตโตมันในวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 และได้รับการรับรองสถานะทางกฎหมายในวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1923 ด้วยการลงนามในสนธิสัญญาโลซาน ตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ออตโตมัน ถูกยกเลิกตามไปในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1924 นับเป็นจุดสิ้นสุดของพระราชอำนาจแห่งราชวงศ์ออสมัน

ภูมิหลัง

[แก้]

จักรวรรดิออตโตมันเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในฐานะสมาชิกของฝ่ายมหาอำนาจกลาง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1914 นำไปสู่การรบในตะวันออกกลาง ซึ่งยุติลงด้วยการสงบศึกที่มูดรอส เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1918 และตามมาด้วยการยึดครองกรุงคอนสแตนติโนเปิล โดยกองกำลังบริติช ฝรั่งเศส และอิตาลีในวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918

การแบ่งจักรวรรดิออตโตมัน เริ่มมีการวางแผนมาตั้งแต่ในสนธิสัญญาลอนดอน[1] และดำเนินการต่อไปควบคู่กับข้อตกลงหลายประการ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการเห็นชอบฝ่ายเดียวของฝ่ายสัมพันธมิตร ทหารบริติชเริ่มเข้ายึดครองสถานที่สำคัญของจักรวรรรดิและทำการจับกุมนักชาตินิยม หลังจากที่สถาปนาการยึดครองโดยทหาร ในคืนของวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1920 ต่อมาในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1920 รัฐสภาออตโตมันได้ประชุมกันและส่งคำประท้วงการเข้าจับกุมสมาชิกสภา 5 คนของกองกำลังสัมพันธมิตรเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ การประชุมครั้งนั้นนับเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายและนับเป็นจุดจบของระบอบการเมืองออตโตมัน สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 6 ทรงมีรับสั่งให้ยุบสมัชชาใหญ่แห่งจักรวรรดิออตโตมัน ในวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1920 รัฐบาลคอนสแตนติโนเบิล ซึ่งยังคงมีโครงสร้างระบบข้าราชการ แต่ขาดรัฐสภา ยังสามารถดำรงอยู่ได้โดยมีองค์สุลต่านเป็นผู้ใช้อำนาจการปกครอง[2]

สนธิสัญญาเซเวร์ ซึ่งลงนามในวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1920 ถือเป็นจุดสิ้นสุดของกระบวนการการแบ่งจักรวรรดิ ในขณะนั้น นักการเมืองราว 150 คน ต่างถูกเนรเทศเป็นระลอก ๆ ไปยังมอลตา ในวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1920 ขบวนการชาตินิยมตรุกีนำโดย มุสทาฟา เคมัล ได้สถาปนาสมัชชาใหญ่แห่งชาติตุรกีขึ้นในอังการา

สมัชชาใหญ่แห่งชาติตุรกีได้เริ่มสงครามประกาศอิสรภาพตุรกี สงครามดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อต่อต้านรัฐบาลกษัตริย์นิยมคอนสแตนติโนเปิล[3] รัฐบาลคอนสแตนติโนเปิลซึ่งดำรงอยู่โดยไม่มีรัฐสภา ได้จัดตั้งกองกำลังคูวา-ยี อินซิบาติเย (Kuva-yi Inzibatiye) หรือ "กองทัพเคาะลีฟะฮ์" ซึ่งมีที่มาจากการที่สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 6 ทรงมีสถานะเป็นเคาะลีฟะฮ์ด้วย เพื่อต่อกรกับกองกำลังคูวา-ยี มิลิเย (Kuva-yi Milliye) ของฝ่ายสมัชชาใหญ่แห่งชาติตุรกี

การสู้รบเกิดขึ้นที่โบลู (Bolu) ดึซแจ (Düzce) เฮนเดก (Hendek) และอดาปาซาริ (Adapazarı) ควบคู่ไปกับการกบฎครั้งอื่น ๆ ระหว่างสงครามประกาศอิสรภาพตุรกี กองกำลังคูวา-ยี อินซิบาติเย ซึ่งจงรักภักดีต่อรัฐเคาะลีฟะฮ์ และได้รับการติดอาวุธโดยสหราชอาณาจักร ผู้มีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์เดียวกันกับฝ่ายเคาะลีฟะฮ์ คือ สกัดกั้นมิให้ฝ่ายชาตินิยมข้ามช่องแคบบอสพอรัสได้ แต่ในท้ายที่สุดกองทัพเคาะลีฟะฮ์ก็พ่ายแพ้ให้กับกองกำลังคูวา-ยี มิลิเย กระนั้น แม้กองกำลังคูวา-ยี มิลิเย จะถือเป็นก้าวแรกของฝ่ายต่อต้านในสงครามประกาศอิสรภาพตุรกี การสงครามไม่สม่ำเสมอ (Irregular warfare) ยุติลงในภายหลัง ก่อนที่สงครามกับกรีซจะเริ่มขึ้น กองกำลังคูวา-ยี มิลิเยได้กลายมาเป็นรากฐานให้กับการจัดระเบียบกองกำลังตุรกี ซึ่งพัฒนาไปเป็นกองทัพตุรกี ภายหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐ

กองกำลังฝ่ายสุลต่านซึ่งต่อสู้กับสมัชชาใหญ่แห่งชาติตุรกี
พระฉายาลักษณ์สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 6 ขณะประทับพระราชบัลลังก์ ถ่ายเมื่อประมาณ ค.ศ. 1920

การสิ้นสุดจักรวรรดิออตโตมัน

[แก้]

อำนาจอธิปไตยของจักรวรรดิออตโตมันมีรากฐานมาจากราชวงศ์ของสุลต่านออสมันที่ 1 ผู้ก่อตั้งและเป็นที่มาของชื่อจักรวรรดิ ราชวงศ์ออสมันของพระองค์ทรงสืบทอดการปกครองจักรวรรดิจากรุ่นสู่รุ่นอย่างไม่ขาดสายตลอดประวัติศาสตร์ของจักรวรรดิมาตั้งแต่ ค.ศ. 1299 องค์สุลต่านทรงคงไว้ซึ่งพระราชอำนาจเหนือหน่วยการเมืองของจักรวรรดิ ถือเป็นผู้บริหารของจักรวรรดิอย่างเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว ทรงเป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาล ทั้งมหาเสนาบดีและหน่วยการเมืองที่ถูกตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ ดำรงอยู่ตามพระราชอัธยาศัยขององค์สุลต่าน

ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ส่งคำเชิญไปให้กับทั้งรัฐบาลคอนสแตนติโนเปิลและรัฐบาลอังการาเข้าร่วมการประชุมที่โลซาน มุสทาฟา เคมัล ยืนยันว่าควรมีการเชิญให้ตัวแทนจากรัฐบาลอังการาเข้าร่วมประชุมเพียงฝ่ายเดียว[3]ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 สมัชชาใหญ่แห่งชาติตุรกีได้ออกประกาศว่ารัฐบาลสุลต่านที่คอนสแตนติโนเปิลไม่ใช่ผู้แทนของชาติตามกฎหมาย สมัชชาใหญ่ยังได้สรุปอีกว่าคอนสแตนติโนเปิลไม่ใช่เมืองหลวงของชาติอีกต่อไป นับตั้งแต่ถูกเข้ายึดครองโดยฝ่ายสัมพันธมิตร[3]นอกจากนี้พวกเขายังประกาศอีกว่าสถาบันสุลต่านจะถูกล้มล้าง[4] การประกาศล้มล้างระบอบสุลต่านถือเป็นจุดสิ้นสุดของจักรวรรดิออตโตมัน หลังจากทรงทราบข้อสรุปดังกล่าว สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 6 จึงเสด็จลี้ภัยไปกับเรือรบหลวงมาลายา ของสหราชอาณาจักรในวันที่ 17 พฤศจิกายน[5] ในขณะที่เหล่ารัฐมนตรีที่เหลือในคณะรัฐบาลของพระองค์ต่างยอมรับความเป็นจริงข้อใหม่ในทางการเมืองนี้ เนื่องจากไม่มีการออกเอกสารอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลออตโตมันหรือองค์สุลต่านว่าจักรวรรดิได้ยอมจำนนแล้ว ฝ่ายสมัชชาแห่งชาติจึงประกาศเอาเอง ในการประชุมที่โลซาน เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 ที่ประชุมได้รับรองอำนาจอธิปไตยรัฐบาลสมัชชาใหญ่แห่งชาติตุรกีว่าได้เข้ามาแทนที่จักรวรรดิออตโตมัน

รายชื่อจำนวน 600 ชื่อ ถูกนำขึ้นเสนอต่อที่ประชุม ณ โลซาน รายชื่อดังกล่าวคือ บุคคลไม่พึงปรารถนา ของรัฐบาลสมัชชาใหญ่แห่งชาติตุรกี รายชื่อดังกล่าวประกอบไปด้วยเหล่าคนใหญ่คนโต ของจักรวรรดิออตโตมัน การออกรายชื่อดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อกำจัดชนชั้นปกครองของจักรวรรดิเดิม การเจรจาต่อรองที่โลซานลดจำนวนรายชื่อลงเหลือเพียง 150 ราย และสนธิสัญญาฉบับใหม่ (สนธิสัญญาโลซาน) ได้รับการลงนามในวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1923 โดยมีผลแทนที่สนธิสัญญาเซเวร์

ราชวงศ์ออสมันทรงเกี่ยวพันกับตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 ในรัชสมัยของสุลต่านมูรัดที่ 1 ประมุขของราชวงศ์ออสมันทรงถือครองตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ ประมุขของชาวมุสลิมมาโดยตลอด หลังจากที่สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 6 เสด็จลี้ภัย พระราชภาดา (ลูกพี่ลูกน้องชาย) ของพระองค์จึงขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮ์แทนในพระนามอับดุล เมจิดที่ 2 แม้จักรวรรดิออตโตมันจะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่ราชวงศ์ออสมันก็ยังคงมีสถานะทางการเมือง-ศาสนาที่สืบทอดจากนบีมุฮัมมัด และถือเป็นประมุขของชาวมุสลิมทั้งมวล ตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ของราชวงศ์ออสมันเคยถูกอ้างสิทธิ์โดยพระเจ้าฮุสเซน บินห์ อะลี แห่งฮิญาซ ผู้นำของการกบฏอาหรับ ทรงออกมาประณามสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 5 แต่ราชอาณาจักรของพระองค์ก็พ่ายแพ้และถูกผนวกโดยสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลอะซีซ อิบน์ ซะอูด ใน ค.ศ. 1925

ชาวกรีก บัลแกเรีย และเซิร์บแยกตัวออกจากจักรวรรดิระหว่างยุคเสี่อมและการปรับตัวเป็นสมัยใหม่ของจักรวรรดิออตโตมัน (ค.ศ. 1828–1908) ในขณะที่ชาวอัลเบเนียและอาร์มีเนีย (ขบวนการชาตินิยมอาร์มีเนีย และต่อมาคือสาธารณรัฐอาร์มีเนียที่หนึ่ง) แยกตัวออกจากจักรวรรดิหรือถูกสังหารระหว่างช่วงความพ่ายแพ้และการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมัน (ค.ศ. 1908–1922) เมื่อถึง ค.ศ. 1922 ประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในบริเวณประเทศตุรกีปัจจุบันก็เหลือเพียงชาวมุสลิมเชื้อสายตุรกีหรือเคิร์ดเท่านั้น สมัชชาใหญ่แห่งชาติได้ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐตุรกีในวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1923

แม้จะมีการประกาศสถาปนาสาธารณรัฐแล้ว แต่ก็ยังคงมีเชื้อพระวงศ์ออตโตมันบางส่วนประทับอยู่ในประเทศตุรกี รายชื่อผู้ถูกสั่งเนรเทศถูกร่างขึ้นและได้รับการประกาศให้มีผลบังคับใช้โดยรัฐบาลสาธารณรัฐ[a] ในวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1924 (มีการแก้ไขเพิ่มเติมในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1924) โดยมีรายชื่อผู้ภักดีต่อราชวงศ์ออสมันรวมอยู่ด้วย 120 ชื่อ[6]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. การอภิปรายยกเลิกตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ในสมัชชาใหญ่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1924 หลังจากสถาปนาสาธารณรัฐมาแล้วหกเดือน[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. D. K. Fieldhouse (2008), War and Partition of Ottoman Empire, 1914–1922 – Oxford Scholarship (ภาษาอังกฤษ), Oxford Scholarship Online, doi:10.1093/acprof:oso/9780199540839.001.0001/acprof-9780199540839-chapter-2
  2. "Mehmed VI" (ออนไลน์). สารานุกรมบริแทนนิกา (ภาษาอังกฤษ). บริษัทสารานุกรมบริแทนนิกา. สืบค้นเมื่อ 2017-05-22.
  3. 3.0 3.1 3.2 "Turkish War of Independence". allaboutturkey.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2013-08-12.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. Finkel 2007, pp. 545
  5. Duffy, Michael (2009-08-22). "Who's Who – Sultan Mehmed VI". firstworldwar.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2013-08-12.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. 6.0 6.1 Finkel 2007, p. 546

บรรณานุกรม

[แก้]