การยึดครองเยอรมนีของสยาม
เขตยึดครองเยอรมนีของสยาม | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เขตยึดครองทางทหารของสยาม | |||||||||
2461 – 2462 | |||||||||
ที่ตั้งของเมืองน็อยชตัท อัน เดอร์ ไวน์สตราเซอในรัฐไรน์ลันท์-ฟัลทซ์ ประเทศเยอรมนีปัจจุบัน | |||||||||
เพลงชาติ | |||||||||
สรรเสริญพระบารมี | |||||||||
เมืองหลวง | น็อยชตัท อัน เดอ ไวน์สตราเซอ | ||||||||
สถานะ | ส่วนหนึ่งของการยึดครองไรน์ลันท์ | ||||||||
การปกครอง | |||||||||
• ประเภท | การยึดครองของทหาร | ||||||||
ผู้บัญชาการกองทหารอาสา | |||||||||
• 2461–2462 | พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) | ||||||||
ยุคทางประวัติศาสตร์ | สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง | ||||||||
• เริ่มต้นการยึดครอง | 2461 | ||||||||
• สิ้นสุดการยึดครอง | 2462 | ||||||||
| |||||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | เยอรมนี |
การยึดครองเยอรมนีของสยาม (อังกฤษ: Siamese Occupation of Germany) เป็นช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2461–2462[1] มีกองทหารอาสาสยามประจำการอยู่ที่เมืองน็อยชตัท อัน เดอร์ ไวน์สตราเซอ (Neustadt an der Weinstraße) ซึ่งอยู่ในเขตการดูแลของประเทศฝรั่งเศส[2] โดยเป็นกองกำลังเดียวของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วมในการยึดครองเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในทวีปยุโรป[3]
ประวัติ
[แก้]ปูมหลัง
[แก้]เมื่อวูดโรว์ วิลสัน ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศสงครามกับจักรวรรดิเยอรมนีเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2460 ทำให้สหรัฐเข้าฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เพราะจักรวรรดิเยอรมนีร่วมฝ่ายกับมหาอำนาจกลาง อันได้แก่จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิเยอรมนี ราชอาณาจักรบัลแกเรีย และจักรวรรดิออตโตมัน ในช่วงเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์สยาม ทรงดำเนินนโยบายเป็นกลาง เมื่อแรกเริ่มสงครามก็ทรงรักษาสัมพันธภาพอันดีกับจักรวรรดิเยอรมนีมาตลอด แต่พระองค์ทรงไตร่ตรองอย่างถ้วนถี่แล้วว่า หากเข้าฝ่ายสัมพันธมิตรจะเป็นคุณแก่สยามมากกว่า[1]
ก่อนหน้านี้สยามต้องเผชิญกับการเสียดินแดนในบังคับ อันได้แก่ ลาวและกัมพูชาแก่ฝรั่งเศส และดินแดนคาบสมุทรมลายูตอนบนบางส่วน คือ รัฐเกอดะฮ์ รัฐปะลิส รัฐกลันตัน รัฐตรังกานู และบางส่วนของรัฐเปรัก แก่จักรวรรดิบริเตน ทั้งยังถูกบีบบังคับให้เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่พลเมืองที่ถือสัญชาติสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอเมริกัน ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะใช้โอกาสนี้ในการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้เพื่อสิทธิประโยชน์ของฝ่ายสยาม[4]: 149
การเข้าร่วมสงคราม
[แก้]พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ทรงประกาศทำสงครามกับจักรวรรดิเยอรมนีและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2460 ท่ามกลางเสียงสนับสนุนและการต่อต้านจากพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรี[5]: 27–9, 149 กองทัพสยามได้ยึดเรือเดินสมุทรจำนวน 12 ลำ บริเวณน่านน้ำเยอรมนีเหนือเป็นค่าปฏิกรรมสงคราม[1][3]
ฝ่ายสยามส่งทหารอาสาในกำกับของพลตรี พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) จำนวน 1,284 นาย เข้าร่วมกองทัพบกของฝรั่งเศสและบริเตนในแนวรบด้านตะวันตก รวมทั้งส่งทหารไปยังกองกำลังการบินทหารบกด้วย[1][3] เมื่อทหารอาสาของสยามมาถึงฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2461 จึงเข้าฝึกที่โรงเรียนการบินของฝรั่งเศสที่เมืองอาวอร์ (Avord) และเมืองอิสทร์ (Istres) พบว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติด้านการบินจำนวน 95 นาย ส่วนทหารอาสาคนอื่น ๆ ถูกส่งไปศึกษาที่โรงเรียนปืนใหญ่บิซการอซ (Biscarrosse) โรงเรียนเครื่องบินทิ้งระเบิดเลอกรอตัว (Le Crotoy) โรงเรียนลาดตระเวนลาชาแปล-ลา-แรน (La Chapelle-la-Reine) นักบินชาวสยามได้ขึ้นบินครั้งแรกในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของสงคราม แต่บางแหล่งข้อมูลอ้างว่าสงครามสิ้นสุดลงก่อนที่ทหารอาสาเหล่านี้จะฝึกจนจบหลักสูตร[1][6]
การยึดครอง
[แก้]ยานพาหนะของกองกำลังทหารอาสาสยามอยู่ที่ฟัลทซ์ (Pfalz) ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2461 ถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2462 ส่วนใหญ่ยานพาหนะเหล่าจะออกปฏิบัติการในเมืองน็อยชตัท อัน เดอร์ ไวน์สตราเซอ (Neustadt an der Weinstraße)[6] เมื่อฝ่ายเยอรมนีพ่ายแพ้และลงนามสงบศึก ภาคีสมาชิกตกลงที่จะยึดครองดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำไรน์ต่อไป
กองกำลังรบนอกประเทศสยาม (The Siamese Expeditionary Forces) ได้จัดตั้งที่ทำการใหญ่ที่โรงแรมซุมเลอเวิน (Hotel zum Löwen) ใกล้สถานีรถไฟ ทั้งยังมีกองทหารกระจายอยู่ทั่วไป เช่น มุสบัค อัน เดอร์ ไวน์สตราเซอ (Mußbach an der Weinstraße) ไกน์ไชม์ (Geinsheim) โฮชชเปอแยร์ (Hochspeyer) มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตราความสงบเรียบร้อยของประชาชน เจ้าหน้าที่สยามเรียกร้องให้ชาวเยอรมันเคารพพวกเขา ทั้งยังต้องประพฤติตนด้วยความยับยั้งชั่งใจ ด้วยมีข้อจำกัดด้านภาษา และโดยทั่วไปจะใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษากลางในการสื่อสารกับประชากรในท้องถิ่น[7] ในช่วงเวลานั้นมีประชากรราว 20,000 คน อยู่ภายใต้การปกครองของสยาม[8] แม้จะมีอุปสรรคทางภาษา แต่ก็พบเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างทหารชาวสยามกับหญิงเยอรมันจำนวนหนึ่ง ไม่มีบันทึกเรื่องราวด้านความขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญระหว่างเจ้าหน้าที่ชาวสยามกับชาวเยอรมันในท้องถิ่น มีเพียงเรื่องราวเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ได้สลักสำคัญอันใด[7]
เจ้าหน้าที่ของกองกำลังรบนอกประเทศสยามเสียชีวิตลง 19 นาย ส่วนใหญ่ป่วยตายหลังการแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปน นอกนั้นเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และไม่มีทหารสยามเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากการสู้รบแม้แต่คนเดียว[3]
ถอนกำลัง
[แก้]หลังสงครามสิ้นสุดลง ทหารชาวสยามถอนตัวออกจากน็อยชตัท อัน เดอร์ ไวน์สตราเซอ ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2462 เพื่อร่วมเดินสวนสนามแห่แหนชัยชนะที่ประตูชัยกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 ก่อนเดินทางกลับสู่มาตุภูมิในเดือนกันยายนปีเดียวกัน สยามได้เข้าร่วมการประชุมสันติภาพปารีส และในเดือนมกราคม พ.ศ. 2463 สยามได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติ[1][3] โดยการเข้าประชุมสันนิบาตชาติทุกครั้ง คณะผู้แทนสยามได้ย้ำเตือนต่อคณะผู้แทนจากตะวันตกอย่างละมุนละม่อมว่า สยามไม่มีอิสระที่จะกำหนดนโยบายของตนในฐานะรัฐที่มีอธิปไตย เพราะยังมีข้อกำหนดของสนธิสัญญาไม่เสมอภาคดำรงอยู่[9]
การตัดสินพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในการเข้าฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มสัมฤทธิ์ผล เมื่อสหรัฐประกาศยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในเดือนกันยายน พ.ศ. 2463 จักรวรรดิญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2464 ต่อมาหลังการเจรจาต่อเนื่องยาวนานหลายปี ฝรั่งเศสประกาศยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตใน พ.ศ. 2467 และสหราชอาณาจักรประกาศยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน[1][3] ประเทศเนเธอร์แลนด์ใน พ.ศ. 2468 ราชอาณาจักรอิตาลี ประเทศเบลเยียม และประเทศนอร์เวย์ ใน พ.ศ. 2469 ส่วนประเทศเยอรมนี ประเทศออสเตรีย และประเทศฮังการี ผู้แพ้สงคราม สนธิสัญญาสันติภาพให้สยามพ้นจากข้อผูกมัดที่เสียเปรียบในสนธิสัญญาโดยปริยาย[10]
อนุสรณ์สถานสงครามในกรุงเทพมหานคร
[แก้]ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ซึ่งตั้งอยู่ ณ ถนนสามเหลี่ยมตรงมุมด้านทิศเหนือของท้องสนามหลวง ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นอนุสรณ์แก่ทหารไทยที่ไปร่วมรบในสมรภูมิยุโรป หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งอุบัติขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2457 โดยประเทศไทยร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร อันมีฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 ภายในบรรจุอัฐิทหารสยามที่เสียชีวิตจำนวน 19 นาย[1][6]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 Stearn, Duncan. "Thailand and the First World War". First World War. สืบค้นเมื่อ 27 May 2023.
- ↑ Stearn, Duncan (22 August 2009). "Thailand and the First World War". First World War.com. สืบค้นเมื่อ 19 July 2015.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Hell, Stefan. "Siam". International Encyclopedia of the First World War. สืบค้นเมื่อ 29 May 2023.
- ↑ Heather Streets-Salter (13 April 2017). World War One in Southeast Asia: Colonialism and Anticolonialism in an Era of Global Conflict. Cambridge University Press. ISBN 978-1-107-13519-2.
- ↑ Stefan Hell (2017). Siam and World War I: An International History. River Books. ISBN 978-616-7339-92-4.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 Whyte, Brendan; Whyte, Suthida. "The Inscriptions on the First World War Volunteers Memorial, Bangkok". Journal of the Siam Society. สืบค้นเมื่อ 29 May 2023.
- ↑ 7.0 7.1 Hell, Stefan (2017). Siam and World War I: An International History (ภาษาอังกฤษ). River Books. ISBN 978-616-7339-92-4. สืบค้นเมื่อ 29 May 2023.
- ↑ Tomczyk, Eddy B. (2009). Neustadt: Sa garnison française et le quartier Condé 1919 à 1930 et 1945 à 1992 (ภาษาฝรั่งเศส). Mémoires d'Hommes. ISBN 978-2-84367-059-6. สืบค้นเมื่อ 29 May 2023.
- ↑ รายงานกิจการประจำปี 2560 มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี (PDF). มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. 2560. p. 8.
- ↑ รายงานกิจการประจำปี 2560 มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี (PDF). มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. 2560. p. 9.
- รัฐและดินแดนที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2461
- สิ้นสุดในปี พ.ศ. 2462
- สยามในคริสต์ทศวรรษ 1910
- ประเทศสยามในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
- อาณาจักรรัตนโกสินทร์
- สงครามเกี่ยวข้องกับไทย
- สงครามเกี่ยวข้องกับอาณาจักรรัตนโกสินทร์
- ยุครัชกาลที่ 6
- ประวัติศาสตร์การทหารของไทย
- ประวัติศาสตร์การทหารของเยอรมนี
- การยึดครองทางทหารของไทย
- การยึดครองไรน์ลันท์
- หน่วยและรูปขบวนทหารไทย
- หน่วยการบริหารของประเทศไทยในอดีต
- ผลที่ตามมาหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในประเทศเยอรมนี
- ผลที่ตามมาหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในประเทศไทย
- ความสัมพันธ์ไทย–เยอรมนี