หลวงอรรถพรพิศาล (อัมพร สูตะบุตร)
หลวงอรรถพรพิศาล (อัมพร สูตะบุตร) (พ.ศ. 2447 - พ.ศ. 2520)[1] เป็นอดีตรัฐมนตรีที่ไม่ประจำกระทรวง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม[2] ในรัฐบาลของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม และจอมพลถนอม กิตติขจร และเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราดหลายสมัย
ประวัติ
[แก้]หลวงอรรถพรพิศาล หรือ อัมพร สูตะบุตร เป็นนักการเมืองในจังหวัดตราด เคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป มกราคม พ.ศ. 2489 ต่อมาเมื่อมีการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 ได้มีการรวมตัวจัดตั้งพรรคประชาชนขึ้น หลวงอรรถพรพิศาล จึงได้เข้าร่วมกับพรรคในครั้งนั้นด้วย[3] และได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2491 ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี[4] ในรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในปี พ.ศ. 2492 และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม[5] ในปีถัดมา และในปี พ.ศ. 2494 จึงปรับย้ายไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม[6] และสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เนื่องจากคณะบริหารประเทศชั่วคราวนำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยึดอำนาจการปกครอง
หลวงอรรถพรพิศาล ได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2495 และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ในนามพรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม หลังจากนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 และจัดให้มีการเลือกตั้งอีกครั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ธันวาคม พ.ศ. 2500 หลวงอรรคพรพิศาล ได้รับเลือกตั้งในนามพรรคสหภูมิ ของสุกิจ นิมมานเหมินท์ ซึ่งต่อมาได้ยุบรวมกับพรรคเสรีมนังคศิลา เป็นพรรคชาติสังคม ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจัดตั้งรัฐบาลนำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร
หลวงอรรถพรพิศาล ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม ในการปรับคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2501
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. ไม่ปรากฏ – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ วิชัย สนธิสุวรรณ. เมื่อท่านไปต่างประเทศโดยเครื่องบิน. กรุงเทพ : สนิทพันธ์การพิมพ์. 2521. 100 หน้า
- ↑ รายนามรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
- ↑ สุทิน ตันติกุล. รัฐประหาร พ.ศ. 2490 กรุงเทพ : มติชน. 2515
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๒๖ ราย)
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง (จำนวน ๗ ราย)
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี (นายปฐม โพธิแแก้ว นายเขมชาติ บุณยรัตนพันธุ์ นายเลียง ไชยกาล หลวงอรรถพรพิศาล นายเสมอ กัณฑาธัญ)