สมณศักดิ์
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
สมณศักดิ์ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายความว่า ยศพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานมีหลายชั้น แต่ละชั้นมีพัดยศเป็นเครื่องกำหนด อาจกล่าวได้ว่า สมณศักดิ์ คือบรรดาศักดิ์ หรือยศที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่ภิกษุผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบให้ดำรงมั่นอยู่ในสมณเพศ เพื่อเป็นกำลังสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาและเพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปโดยเรียบร้อย เพราะการที่พระภิกษุรูปใดได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ย่อมได้รับมอบหมายภาระหน้าที่ในการปกครองหมู่คณะแห่งสงฆ์ไปพร้อมกันด้วย
ความเป็นมาของสมณศักดิ์
ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ทรงใช้จิตวิทยาในการปกครองพระสงฆ์สาวก โดยการยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง ป้องปรามผู้ที่ควรป้องปราม ดังจะเห็นได้จากทรงยกย่องพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวก ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา และทรงตั้งเอตทัคคะ กล่าวคือ ทรงยกย่องพระสาวกอีกส่วนหนึ่งว่ามีความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวยังมิได้ถือว่าเป็นสมณศักดิ์
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว เพื่อสามารถสืบทอดเจตนารมณ์ของพระพุทธศาสนา พระประมุขแห่งประเทศต่าง ๆ ที่นับถือพุทธศาสนา จึงได้มีการพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ โดยปรากฏหลักฐานว่ามีการพระราชทานสมณศักดิ์ และพัดยศพร้อมทั้งเครื่องประกอบสมณศักดิ์อื่น ๆ ได้รับแบบอย่างมาจากประเทศศรีลังกา
สำหรับประเทศไทยนั้นระบบสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ เริ่มใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย พระองค์ได้โปรดให้ราชบัณฑิตไปอาราธนาพระมหาสามีสังฆราชมาจากประเทศลังกาเพื่อให้ประกาศพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในกรุงสุโขทัย พระมหาสามีสังฆราชคงจะได้ถวายพระพรให้พระมหาธรรมราชาลิไททรงตั้งสมณศักดิ์ถวายแด่พระสงฆ์ตามราชประเพณีที่ถือปฏิบัติในประเทศลังกา ระบบสมณศักดิ์ในสมัยสุโขทัยไม่สลับซับซ้อนเพราะมีเพียง 2 ระดับชั้นเท่านั้น คือ พระสังฆราชและพระครู พอมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาระบบสมณศักดิ์ได้รับการปรับให้มีระดับชั้นเพิ่มขึ้นเป็น 3 ระดับคือ สมเด็จพระสังฆราช พระสังฆราชคณะหรือพระราชาคณะ และพระครู
ทำเนียบสมณศักดิ์ไทยในปัจจุบัน
- สมเด็จพระสังฆราช 1 พระองค์
- สมเด็จพระราชาคณะ 10 รูป
- พระราชาคณะเจ้าคณะรอง 23 รูป
- พระราชาคณะชั้นธรรม 50 รูป
- พระราชาคณะชั้นเทพ 100 รูป
- พระราชาคณะชั้นราช 210 รูป
- พระราชาคณะชั้นสามัญ 510 รูป
- พระครูสัญญาบัตรชั้นตรี-โท-เอก-พิเศษ(ไม่จำกัดจำนวน)
- พระครูฐานานุกรม ตั้งได้ตามจำนวนที่ปรากฏในสัญญาบัตรของพระราชาคณะ
- พระครูประทวนสมณศักดิ์ (พระครูผู้อุปการะการศึกษา)(ไม่จำกัดจำนวน)
- พระเปรียญ ป.ธ.9 - ป.ธ.8 - ป.ธ.7 - ป.ธ.6 - ป.ธ.5 - ป.ธ.4 - ป.ธ.3
ลำดับเกียรติ ชั้นพัดยศสมณศักดิ์ ฐานานุกรม เปรียญในงานพระราชพิธี - รัฐพิธี
ปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2567 โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมในการประชุมครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567[1]
- พระราชาคณะ
- 4. รองสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นหิรัญบัฏ
- 5. รองสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสัญญาบัตร (ปัจจุบันถูกยกเลิกไปแล้ว)
- 6. พระราชาคณะชั้นธรรม
- 7. พระราชาคณะชั้นเทพ
- 8. พระราชาคณะชั้นราช
- 9. พระราชาคณะชั้นสามัญ
- - พระราชาคณะปลัดขวา-ปลัดซ้าย-ปลัดกลาง (พระสมุหวรคณิสสรสิทธิการ วัดพระเชตุพนฯ เป็นพระปลัดกลาง รูปแรก)
- - พระราชาคณะ รองเจ้าคณะภาค
- - พระราชาคณะ เจ้าคณะจังหวัด
- - พระราชาคณะ รองเจ้าคณะจังหวัด
- - พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
- - พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ป.ธ.9 - ป.ธ.8 - ป.ธ.7 - ป.ธ.6 - ป.ธ.5 - ป.ธ.4 - ป.ธ.3
- - พระราชาคณะชั้นสามัญเทียบเปรียญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
- - พระราชาคณะชั้นสามัญเทียบเปรียญ
- - พระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
- - พระราชาคณะชั้นสามัญยก
- พระครูสัญญาบัตร
- 10. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะจังหวัด (จจ.)
- 11. พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าคณะจังหวัด (รจจ.)
- 12. พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก (จล.ชอ.)
- 13. พระครูสัญญาบัตร ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอ ชั้นพิเศษ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (ทป.จอ.ชพ.วิ.)
- 14. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นพิเศษ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (จอ.ชพ.วิ)
- 15. พระครูสัญญาบัตร เทียบเจ้าคณะอำเภอ ชั้นพิเศษ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (ทจอ.ชพ.วิ)
- 16. พระครูสัญญาบัตร ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอ ชั้นพิเศษ (ทป.จอ.ชพ)
- 17. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นพิเศษ (จอ.ชพ.)
- 18. พระครูสัญญาบัตร เทียบเจ้าคณะอำเภอ ชั้นพิเศษ (ทจอ.ชพ)
- 19. พระครูปลัดของสมเด็จพระราชาคณะ
- 20. พระเปรียญธรรม 9 ประโยค
- 21. พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นโท (จล.ชท.)
- 22. พระครูสัญญาบัตร ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (ทป.จอ.ชอ.วิ.)
- 23. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (จอ.ชอ.วิ.)
- 24. พระครูสัญญาบัตร เทียบเจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (ทจอ.ชอ.วิ.)
- 25. พระครูสัญญาบัตร ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก (ทป.จอ.ชอ.)
- 26. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก (จอ.ชอ.)
- 27. พระครูสัญญาบัตร เทียบเจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก (ทจอ.ชอ.)
- 28. พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นตรี (จล.ชต.)
- 29. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นโท (จอ.ชท.)
- 30. พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก (รจล.ชอ.)
- 31. พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นโท (รจล.ชท.)
- 32. พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นตรี (รจล.ชต.)
- 33. พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นพิเศษ ฝ่ายวิปัสสนาธุร��� หรือเทียบเท่า (ผจล.ชพ.วิ. หรือ ทผจล.ชพ.วิ.)
- 34. พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นพิเศษ หรือเทียบเท่า (ผจล.ชพ. หรือทผจล.ชพ.)
- 35. พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ หรือเทียบเท่า(ผจล.ชอ.วิ. หรือ ทผจล.ชอ.วิ.)
- 36. พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก หรือเทียบเท่า (ผจล.ชอ. หรือทผจล.ชอ.)
- 37. พระครูปลัดของพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ
- 38. พระครูปลัดของพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นสัญญาบัตร
- 39. พระครูฐานานุกรมชั้นเอกของสมเด็จพระสังฆราช
- 40. พระเปรียญธรรม 8 ประโยค
- 41. พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นโท หรือเทียบเท่า (ผจล.ชท. หรือทผจล.ชท.)
- 42. พระเปรียญธรรม 7 ประโยค
- 43. พระครูปลัดของพระราชาคณะชั้นธรรม
- 44. พระครูฐานานุกรมชั้นโท ของสมเด็จพระสังฆราช (พระครูปริตร)
- 45. พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก (รจอ.ชอ.)
- 46. พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าคณะอำเภอ ชั้นโท (รจอ.ชท.)
- 47. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (จต.ชอ.วิ.)
- 48. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นเอก (จต.ชอ.)
- 49. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นโท ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (จต.ชท.วิ.)
- 50. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นโท (จต.ชท.)
- 51. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นตรี (จต.ชต.)
- 52. พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (จร.ชอ.)
- 53. พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นเอก (จร.ชอ.)
- 54. พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโท ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (จร.ชท.วิ.)
- 55. พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโท (จร.ชท.)
- 56. พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นตรี (จร.ชต.)
- 57. พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ (รจร.)
- 58. พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ (ผจร.)
- 59. พระเปรียญธรรม 6 ประโยค
- 60. พระเปรียญธรรม 5 ประโยค
- 61. พระครูปลัดของพระราชาคณะชั้นเทพ
- 62. พระครูปลัดของพระราชาคณะชั้นราช
- 63. พระครูวินัยธร
- 64. พระครูธรรมธร
- 65. พระครูคู่สวด
- 66. พระเปรียญธรรม 4 ประโยค
- 67. พระปลัดของพระราชาคณะชั้นสามัญ
- 68. พระเปรียญธรรม 3 ประโยค
- 69. พระครูรองคู่สวด
- 70 พระครูสังฆรักษ์
- 71 พระครูสมุห์
- 72 พระครูใบฎีกา
- 73 พระสมุห์
- 74 พระใบฎีกา
- 75 พระพิธีธรรม
- หมายเหตุ
- พระปลัดฐานานุกรมในเจ้าคณะจังหวัด หรือเจ้าคณะอำเภอ, พระวินัยธร, พระธรรมธร และพระครูประทวนสมณศักดิ์ ที่สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระบัญชาแต่งตั้ง ไม่ปรากฏในประกาศฉบับนี้
การพิจารณาแต่งตั้งสมณศักดิ์
ในอดีต การพิจารณาแต่งตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์เป็นพระราชอำนาจและเป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ เมื่อทรงเห็นหรือทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณว่า พระภิกษุรูปใดมีความรู้ความเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก มีศีลาจารวัตรน่าเลื่อมใส มีความสามารถในการปกครองหมู่คณะให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งยังเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาของประชาชนแล้ว ก็จะพระราชทานสมณศักดิ์เพื่อเป็นเกียรติและกำลังใจ ในการจะได้ช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาสืบไป
ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นช่วงเวลาที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายกอยู่นั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกรัชกาล จะโปรดพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์รูปใด ก็จะทรงปรึกษากับสมเด็จพระมหาสมณเจ้าก่อนทุกครั้ง ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทรงให้พระสงฆ์ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาเสนอความคิดเห็นได้
ปัจจุบัน เป็นหน้าที่ทางคณะสงฆ์จะช่วยกันพิจารณาให้ความเห็นชอบตามลำดับขั้น คือ จากเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค และเจ้าคณะใหญ่ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากเจ้าคณะผู้ปกครองตามลำดับแล้ว สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงได้เสนอเรื่องเพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานสมณศักดิ์ ตามระเบียบของทางราชการต่อไป แต่ในการพระราชทานสมณศักดิ์ชั้นสูง เช่น สมเด็จพระสังฆราชหรือสมเด็จพระราชาคณะ ทางคณะสงฆ์ชอบที่จะถวายพระเกียรติแด่องค์พระมหากษัตริย์ด้วยการเสนอนามพระเถระที่เห็นสมควรขึ้นไปหลายรูปเพื่อให้ทรงพิจารณาตามพระราชอัธยาศัย เป็นธรรมเนียมปฏิบัติเสมอมา เพราะพระราชอำนาจส่วนนี้เป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกรัชกาลเพียงพระองค์เดียว
พิธีทรงตั้งสมณศักดิ์
การพระราชทานทรงตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จะมีการพระราชทานฯ ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ของทุกปี หรือในกรณีพิเศษ เช่น ในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549 ในวันที่ 9 มิถุนายน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 การพระราชทานตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์นั้นเป็นไปโดยพระราชอัธยาศัย หรือเป็นกรณีพิเศษ และมหาเถรสมาคมมีกำหนดในการขอพระราชทานสมณศักดิ์สำหรับพระสังฆาธิการผู้บริหารกิจการคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย มหานิกาย จีนนิกาย อนัมนิกาย ตั้งแต่ พระครูสัญญาบัตร พระราชาคณะ พระราชาคณะเจ้าคณะรอง จนถึงสมเด็จพระราชาคณะ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 สิงหาคม ของทุกปี
ซึ่งการพระราชทานสมณศักดิ์นั้น เฉพาะการทรงตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์สำหรับพระราชาคณะขึ้นไป จะทรงตั้งในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะพระราชทานสุพรรณบัฏ หิรัญบัฏ หรือสัญญาบัตร แล้วแต่กรณี พร้อมพัดยศด้วยพระองค์เอง หรือจะทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระยศในขณะนั้น) เป็นผู้แทนพระองค์พระราชทานแทน
ในรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ในการเชิญสุพรรณบัฏ หิรัญบัฏ สัญญาบัตร ไปถวายพระภิกษุที่ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ สถาปนาสมณศักดิ์
สำหรับการพระราชทานสมณศักดิ์เฉพาะระดับพระครูสัญญาบัตรนั้น ในปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดถวายสมเด็จพระสังฆราช เป็นผู้แทนพระองค์ หรือสมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระบัญชาให้ สมเด็จพระราชาคณะ หรือเจ้าคณะใหญ่ ในหนนั้น ๆ ปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานสัญญาบัตร พัดยศ ผ้าไตร แก่พระสังฆาธิการผู้บริหารกิจการคณะสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตร ในวัดในเขตการปกครองของเจ้าคณะใหญ่หนนั้น ๆ ตามแต่มหาเถรสมาคมจะกำหนด
อ้างอิง
- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช), พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
- เว็บไซต์ธรรมะ เกตเวย์ เก็บถาวร 2007-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "302 ลำดับพัดยศสมณศักดิ์ ฐานานุกรม เปรียญ ในงานพระราชพิธี และรัฐพิธีฯ" (PDF). สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม. สืบค้นเมื่อ 2024-04-23.