ศาสนาพุทธในประเทศภูฏาน
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
ประวัติยุคเริ่มต้น
[แก้]ช่วง พ.ศ. 1200 พระเจ้าจักกยาลโป สู้รบกับพระเจ้านวเช ทางตอนใต้ของภูฏาน ทำให้พระโอรสของพระเจ้าจักกยาลโปสิ้นพระชนม์ในสนามรบ พระองค์จึงเลิกบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะไม่ช่วยชีวิตพระโอรสของพระองค์ไว้ จากนั้นพระองค์ก็ประชวร เนื่องจากหัวหน้าภูติผีปีศาจจับวิญญาณของพระองค์ไว้ พระปัทมสัมภวะ ได้เดินทางมาจากเนปาลเพื่อช่วยปราบผีให้ โดยท่านขอ "ซุงมา" หรือตันตระเทวี ช่วยเหลือท่านในการปราบผี พระเจ้าจักกยาลโปจึงได้พระราชทานพระธิดาผู้มีลักษณะแห่ง "ฑากิณี" 21 ประการ จากนั้นท่านปัทมสัภวะจึงนำนางไปยังวัชรคูหา เพื่อทำพิธี 21 วัน ต่อมานางก็ได้ชื่อว่า "มาซิกพุมเดน" คือพระแม่องค์เดียวที่สามารถจะช่วยท่านบำเพ็ญศาสนกิจได้เป็นอย่างดี ดังนั้นพุทธศาสนาในภูฏาน จึงเป็นวัชรยาน เนื่องจากได้รับจากทิเบตโดยตรง
เมื่อเสร็จพิธีแล้ว พระเจ้าจักกยาลโปก็หายจากอาการพระประชวร จึงนิมนต์ให้ท่านปัทมสัมภวะพำนักที่เมืองพุมธัง และปวารณาทุกอย่างที่ท่านต้องการ แต่ท่านปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่าอยู่ประจำไม่ได้ เพราะโลกทั้งโลกเป็นที่อยู่ของท่าน ก่อนจากก็ให้กษัตริย์ทั้งสองฝ่ายประนีประนอมกันด้วยอำนาจตันตระ แล้วให้รับพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ จากนั้นท่านก็ได้จาริกในภูฏาน 20 แห่ง ประทับรอยบาทไว้เป็นปูชนียสถานของประเทศ ท่านปัทมสัมภวะเผยแผ่ด้วยการต่อสู้กับปีศาจร้ายจนตายหมด ที่เหลือก็เป็น "ธรรมบาล 8 ตน" ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาแล้วปกป้องคุ้มครองศาสนาด้วย
กำเนิดนิกายดรุกปะกัคยุ
[แก้]จากนั้นมา ปี พ.ศ. 1763 ลูกศิษย์ของอาจารย์สังปกยาเล เมืองดรุกราลุง ได้มาเผบแผ่หลักธรรม "นิกายดรุกปะกัคยุ"ในภูฏาน ในระหว่างทาง ท่านได้ปราบปีศาจที่ทำให้จามรีตัวหนึ่ง ออกลูกมีศีรษะเป็นงูได้สำเร็จ ชาวบ้านจึงเลื่อมใส และให้ท่านสอนหลักธรรมให้ จากนั้นท่านได้ไปเมืองทิมพู ท่านได้พบสตรีวัย 21 ปี ซึ่งมีลักษณะฑากิณี 21 ประการ จึงได้แต่งงานกับนาง แล้วพานางไปอยู่ที่ทิมพู มีบุตรชาย 5 คน บุตรี 1 คน ระหว่างนั้นท่านก็ได้สอนหลักธรรม และการปราบปีศาจ จนลูกชายได้ครองเมืองทั้ง 4 เป็นผู้นำศาสนจักร และอาณาจักรดั่งทิเบต และสร้าง ซอง สถานที่สำคัญประจำเมืองตน ท่านมรณภาพด้วยยาพิษของลูกศิษย์ลามะลักปะ คู่อริเก่าส่งมาแก้แค้น
ท่านงาวังนัมเยล
[แก้]ปี พ.ศ. 2112 ท่านงาวังนัมเยล ผู้นำนิกายดรุกปะกัคยุ เป็นอวตารของคุงเกนปัทมะการ์โป ระหว่างการนั่งสมาธิ 3 ปี มีรูปปั้นบิดา และเทพเจ้าปรากฏตัว และบอกให้ท่านรวบรวมอาณาจักรภูฏาน ให้เป็นหนึ่งเดียว ดังนั้นจึงได้เดินทางมายังภูฏาน ระหว่างทาง กอนวังโซเลม ผู้ครองนครกลาสา นิมนต์ให้ท่านสอนหลักธรรมและอวยพรให้ชาวเมืองของตน จากนั้นท่านก็ได้เดินทางต่อมายังทิมพู มีเทพเคนเยชาบามิเลนปรากฏตัวมาบอกท่านว่า ภูฏานต้องการให้ท่านอยู่เพื่อป้องกันศัตรูรุกราน ท่านเดินทางไปยังพาโรแล้วสอนหลักธรรมนิกายดรุกปะกัคยุอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีท่านสังเดสีโชนัมเยลที่เคยมาแย่งพระบรมสารีริกธาตุยกพลมารุกราน แต่ก็พ่ายแพ้ไปอย่างราบคาบ ชาวเมืองกล่าวว่ามีเทพช่วยบัญชาการรบ และก็เห็นงาวังนัมเยลออกบัญชาการรบขณะนั่งสมาธิ มีฝูงแร้งรอบินกินซากศพของทหารฝ่ายข้าศึก จากนั้นท่านก็ได้มอบทังคุซองจากท่านเทวังเทนซิน ท่านก็ได้ถวายพระอวโลกิเตศวร แกะสลักด้วยไม้จันทน์ตอบแทน รูปแกะสลักนี้ศักดิ์สิทธิ์เนื่องจากเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ ท่านสามารถรวบรวมเมืองน้อยใหญ่ได้ จนได้ฉายาว่า ซับดรุง ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่ทุกคนต้องยอมสิโรราบให้ จากนั้นก็ได้วางรากฐานการปกครองของภูฏานด้วยกฎหมายทางพุทธจักร และทางอาณาจักร เนื่องจากมีอำนาจทั้งสองด้าน ท่านได้สร้างสถานที่สำคัฐไว้หลายแห่งเช่น พูนาคาซอง (สถานที่ประกอบพิธีสถาปนาสังฆราช) เป็นต้น ส่วนกษัตริย์เนปาล ซึ่งเลื่อมใสได้ถวายสถูปโพธินาถ และสถูปสวยัมภูวนาถ ครั้งหนึ่งที่พระองค์ได้ไปสร้างซองที่ชื่อว่า "ซิมโทกาซอง" แล้วพำนักที่นั่นจนมีบุตรกับนางทรีชัม คอลการ์ ดอร์มา บุตรนั้นก็ศึกษาคำสอนของนิกายดรุกปะกัคยุ เช่นกัน พุทธศาสนานั้น ทำให้ชาวภูฏาน เต็มไปด้วยความโอบอ้อมอารี จริงใจ และน่าคบค้าสมาคม
การปกครองของคณะสงฆ์
[แก้]การปกครองของคณะสงฆ์ภูฏาน แบ่งออกเป็น 5 ชั้นปกครอง คือ
- เจเคนโป เป็นชั้นปกครองสูงสุด สมเด็จพระสงฆราช ชั้นสูงสุดนี้ห่มผ้าได้ทุกสี ชั้นสูงสุดนี้พระมหากษัตริย์จะสถาปนาในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของอาณาจักร และศาสนจักร ชาวภูฏานเรียกว่า พูนาคาซอง
- เคนโป เป็นชั้นรองมาจากสังฆราช หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งคือ รินโปเชผู้อวตารมาเกิด ห่มผ้าปนทุกสี
- ลามะ เป็นชั้นรองจากเคนโป เป็นอาจารย์ที่ทรงความรู้ ห่มผ้าสีเหลืองปนแดง
- โลแพน เป็นชั้นรองลงมาจากลามะ เป็นพระที่มความรู้บ้างแล้ว ห่มผ้าสีเหลือง
- เกลอง เป็นชั้นรองลงมาจากโลแพน เป็นชั้นสามัญ แต่ก็มีเกลองชั้น ตรี โท เอก ด้วย เกลองนี้ ห่มผ้าสีแดง
วิธีเลื่อนชั้นนี้ก็จะทำการสอบคัดเลือก แม้กา���ปกครองทางอาณาจักรจะเหมือนกับทิเบตในช่วงแรก จากนั้นมาก็มีการแยกปกครองทั้งฝ่ายพุทธจักร และอาณาจักร แต่ลามะก็มีที่นั้งในสภา 10 ที่นั่ง ทำให้ลามะมีบทบาทในการปกครองประเทศ
ความเชื่อของชาวภูฏาน
[แก้]ชาวภูฏานมีสัญลักษณ์หลายชนิด เช่น ปลาคู่ แจกันสมบัติ คือ พระธรรม และธงชัยเป็นต้น โดยเฉพาะธงชัยเป็นเครื่องหมายชนะมาร รวมทั้งสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะตั้งมั่นในภูฏานต้องสู้กับภูติผีปีศาจมากมาย แม้ชาวศรีลังกา และชาวไทยวนก็นิยมใช้ธงชัยนี้ ในพุทธพิธีเช่นเดียวกัน แต่เรียกว่า พระบฏ ซึ่งจะจารึกหลักธรรมไว้บนแผ่นผ้า แล้วติดไว้เป็นทิวในพุทธสถาน เพื่อเป็นการประกาศหลักธรรมให้ลอยไปกับสายลม หรือป้องกันปีศาจ
วัตรปฏิบัติของพระภิกษุในภูฏาน
[แก้]เริ่มจากตื่นนอนเวลา 4.00 น. สวดมนต์จนย่ำรุ่ง ฉันอาหารเช้าซึ่งเป็นนม น้ำชาและอาหารว่าง จากนั้นเรียนธรรมะจนเพลจึงฉันข้าวแล้วเรียนต่อจนถึงค่ำ โดยแทรกอาหารว่างได้ตั้งแต่เย็นถึงค่ำ อาหารว่างมักเป็นข้าวโพดอบ ข้าวเกรียบ ข้าวเม่า พระเณรนิยมฉันหมากแต่ห้ามสูบบุหรี่เด็ดขาด ส่วนเมรัยอาจดื่มได้บ้างตามฤดูกาล พระต้องเรียนพระธรรมอย่างน้อย 3 ปี 3 เดือน 3 วัน จึงจะออกสั่งสอนชาวบ้านได้
พระภิกษุในอดีตมีภรรยาได้ แต่ในปัจจุบันถ้าจะมีภรรยาต้องสึกเสียก่อน พระเณรทุกรูปได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเดือนละ 200 นูตรัม นอกจากรายได้จากการอุปถัมภ์ของรัฐบาลแล้ว พระยังมีรายได้จากจากการบริจาคในพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะพิธีที่เกี่ยวข้องกับการตาย ชาวภูฏานนิยมบริจาคมากจนบางครั้งกลายเป็นหนี้สิน รัฐบาลต้องออกกฎหมายควบคุมการบริจาค[1]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- เสฐียรพงษ์ วรรณปก,ความ(ไม่)รู้เรื่องพระพุทธศาสนาในภูฏาน,หน้า 58
- ดร.สุชาติ หงษา, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาจากอดีตสู่ปัจจุบัน, หน้า 86-88
- ↑ เมธา บรรณทัศน์. เปิดปูม คลายปม ภูฏาน. กทม. ชมรมเด็ก. 2550. หน้า 115-120