สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
ชื่อเดิม | โรงเรียนวิศวกรรม สปอ. SEATO Graduate School of Engineering |
---|---|
ชื่อย่อ | เอไอที / AIT |
คติพจน์ | Learning beyond Boundaries |
ประเภท | องค์การระหว่างประเทศ[1] |
สถาปนา | 8 กันยายน พ.ศ. 2502 (65 ปี) |
อธิการบดี | ศ.คาซูโอะ ยามาโมโตะ |
ผู้ศึกษา | 2,192 คน (2559) |
ที่ตั้ง | • ศูนย์หลัก 58 หมู่ 9 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120 ประเทศไทย • ศูนย์เวียดนาม อาคาร B3 มหาวิทยาลัยการสื่อสารและคมนาคม Lang Thuong Ward, Dong Da Dist. ฮานอย ประเทศเวียดนาม |
วิทยาเขต | 2 ศูนย์หลัก |
สี | |
เครือข่าย | LAOTSE, ASAIHL, GMSARN |
เว็บไซต์ | www.ait.ac.th |
สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (อังกฤษ: Asian Institute of Technology) หรือ เอไอที เป็นสถาบันการศึกษาที่มีสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศ[2] ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2502 โดยความร่วมมือจากกลุ่มประเทศสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีโต้ หรือ สปอ.) ในชื่อ โรงเรียนวิศวกรรม สปอ. (SEATO Graduate School of Engineering) ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นสถาบันอิสระในชื่อปัจจุบันเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2510 เปิดสอนระดับอุดมศึกษา (ปริญญาโท และปริญญาเอก) โดยเน้นทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการจัดการ ในสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย มีศูนย์กลางการบริหารงานตั้งอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีศูนย์การศึกษาในประเทศเวียดนามด้วย
สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เป็นสมาชิกของเครือข่าย LAOTSE ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยชั้นนำในเอเชียและยุโรป ตามกรอบความร่วมมืออาเซม โดยได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาบันการศึกษานานาชาติที่ดีที่สุดในโลกเมื่อปี พ.ศ. 2558 โดย U-Multirank[3] ขณะเดียวกันยังได้รับการประเมินจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยให้เป็นสถาบันที่มีผลงานวิจัยเป็นเลิศ[4]
ประวัติ
[แก้]เมื่อปี พ.ศ. 2500 องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มีแนวคิดที่จะก่อตั้งโรงเรียนวิศวกรรมขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกองค์กรซีโต้ ทั้งประเทศออสเตรเลีย ประเทศฝรั่งเศส ประเทศนิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐ รวมถึงประเทศสมาชิกในภูมิภาค ได้แก่ ประเทศปากีสถาน ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศไทย โดยแนวคิดนี้ได้รับการอนุมัติในการประชุมที่กรุงมะนิลาในปีถัดมา จนกระทั่งมีการประกาศก่อตั้งโรงเรียนวิศวกรรม สปอ. ขึ้นภายหลังจากการประชุมที่กรุงเวลลิงตันในปี พ.ศ. 2502 ต่อมาโรงเรียนวิศวกรรม สปอ. ได้เปลี่ยนสถานะเป็นสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียในปี พ.ศ. 2510 เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศให้กฎบัตรสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียมีผลตามกฎหมาย ซึ่งทำให้สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียเป็นสถาบันอิสระและไม่ขึ้นตรงกับหน่วยงานใด
เมื่อปี พ.ศ. 2532 สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ ในสาขาสันติภาพและความเข้าใจระหว่างประเทศ จากการพัฒนาทรัพยากรบุคคลยุคใหม่ โดยเฉพาะวิศวกรและผู้จัดการ ในทวีปเอเชีย โดยมีบรรยากาศการเรียนการสอนที่ดีเยี่ยมและมีความเป็นมิตร[5] ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียได้ลงบันทึกความร่วมมือกับรัฐบาลเวียดนามในการเปิดศูนย์เวียดนามที่กรุงฮานอย ทำให้หลังจากนั้นรัฐบาลเวียดนามได้มอบรางวัลเหรียญมิตรภาพให้สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียในปี พ.ศ. 2549[6] ซึ่งถือเป็นรางวัลที่สูงที่สุดที่มีการมอบในระดับระหว่างประเทศ และมีการเสนอไปยังสถาบันระหว่างประเทศที่กระจายการฝึกทักษะทรัพยากรบุคคลแก่เวียดนาม และการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับประเทศอื่น
จากการที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียเป็นสถาบันการศึกษาที่มีสถานะแตกต่างจากสถาบันการศึกษาอื่นในประเทศไทย เนื่องจากมีสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศ จึงไม่ได้เป็นทั้งสถาบันของรัฐบาลและเอกชน แต่มีสถานะเทียบเท่ากับสถาบันอิสระระหว่างประเทศ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2555 ได้เกิดประเด็นเกี่ยวกับการไม่รับรองในระบบราชการไทยขึ้นจากการที่ไม่ได้เป็นสถาบันการศึกษาเอกชน แต่ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขในเวลาต่อมา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) ได้ให้การรับรองคุณวุฒิจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียจัดอยู่ในการรับรองคุณวุฒิต่างประเทศ[7]
ทำเนียบอธิการบดี
[แก้]การศึกษา
[แก้]สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียมีการจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก[8] โดยทุกหลักสูตรของสถาบันจะใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด เนื่องจากเป็นสถาบันที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายประเทศ ทำให้นักศึกษาและบุคลากรของสถาบันส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ ซึ่งสถาบันเทคโน��ลยีแห่งเอเชียเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงอย่างมากในกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และการจัดการข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ[9] มีการจำแนกสำนักวิชาออกเป็น 3 คณะ ได้แก่ คณะวิศวกรรมและเทคโนโลยี คณะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการพัฒนา และคณะการจัดการ[10]
คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
[แก้]คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (School of Engineering and Technology) ประกอบด้วยภาควิชาและสาขาต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและโครงสร้างพื้นฐาน (Department of Civil and Infrastructure Engineering)[11]
- สาขาวิศวกรรมการก่อสร้างและการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน (Construction, Engineering and Infrastructure Management)
- สาขาวิทยาการเตรียมความพร้อมบรรเทาและจัดการภัยพิบัติ (Disaster Preparedness Mitigation and Management)
- สาขาวิศวกรรมธรณีเทคนิคและธรณีสิ่งแวดล้อม (Geotechnical and Earth Resources Engineering)
- สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง (Structural Engineering)
- สาขาวิศวกรรมการขนส่ง (Transportation Engineering)
- ภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Department of Information and Communication Technologies)[12]
- สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science)
- สาขาวิทยาการข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (Data Science and AI)
- สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information & Communication Technologies)
- สาขาการจัดการสารสนเทศ (Information Management)
- สาขาวิศวกรรมระบบไอโอที (Internet of Things (IoT) Systems Engineering)
- สาขาการสำรวจระยะไกลและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Remote Sensing and Geographic Information Systems)
- สาขาโทรคมนาคม (Telecommunications)
- ภาควิชาวิศวกรรมระบบอุตสาหการ (Department of Industrial Systems Engineering)[13]
- สาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุไบโอนาโน (Bio-Nano Materials Science and Engineering)
- สาขาวิศวกรรมอุตสาหการและการบริหาร (Industrial and Manufacturing Engineering)
- สาขาวิศวกรรมการแพทย์ (Medical Engineering)
- สาขาเมคคาทรอนิกส์และเครื่องกล (Mechatronics and Machine Intelligence)
- ภาควิชาทรัพยากรน้ำและวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (Department of Water Resources and Environmental Engineering)[14]
- สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการ (Environmental Engineering and Management)
- สาขาวิศวกรรมทางน้ำและการจัดการ (Water Engineering and Management)
คณะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการพัฒนา
[แก้]คณะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการพัฒนา (School of Environment, Resources, and Development) ประกอบด้วยภาควิชาและสาขาต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ภาควิชาการพัฒนาและความยั่งยืน (Department of Development and Sustainability)[15]
- สาขาการจัดการวางแผนพัฒนาและนวัตกรรม (Development Planning Management and Innovation)
- สาขาโครงการพัฒนาและความยั่งยืน (Development and Sustainability Program)
- สาขาการพัฒนาบทบาทหญิงชาย (Gender and Development Studies)
- สาขาเมืองเชิงนวัตกรรมและความยั่งยืน (Urban Innovation and Sustainability)
- ภาควิชาพลังงานและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Department of Energy and Climate Change)[16]
- สาขาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Climate Change and Sustainable Development)
- สาขาการเปลี่ยนแปลงพลังงานอย่างยั่งยืน (Sustainable Energy Transition)
- ภาควิชาอาหาร เกษตรกรรม และทรัพยากรธรรมชาติ (Department of Food, Agriculture and Natural Resources)[17]
- สาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการจัดการทรัพยากรทางน้ำ (Aquaculture and Aquatic Resources Management)
- สาขาการจัดการธุรกิจเกษตรกรรม (AgriBusiness Management)
- สาขาวิศวกรรมและระบบการเกษตร (Agricultural Systems & Engineering)
- สาขาวิศวกรรมอาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ (Food Engineering and Bioprocess Technology)
- สาขานวัตกรรมอาหาร โภชนาการ และสุขภาพ (Food Innovation, Nutrition and Health)
- สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources Management)
คณะการจัดการ
[แก้]คณะการจัดการ (School of Management) ประกอบด้วยสาขาวิชาต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- สาขาการบริหารธุรกิจ (Business Administration)
- สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business - Management of Technology)
หน่วยงานอื่น
[แก้]- ศูนย์เอไอทีเวียดนาม
- โครงการพัฒนาการจัดการ สวิส-เอไอที-เวียดนาม
- ศูนย์การศึกษาทางไกล
- ห้องสมุดเอไอที
- สถาบันภาษา
ที่ตั้งและวิทยาเขต
[แก้]ระยะแรกของการก่อตั้ง บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ สปอ. (ชื่อของสถาบันในขณะนั้น) ตั้งอยู่ในพื้นที่ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาได้รับการอนุมัติให้ใช้พื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐบาลไทย อยู่บริเวณติดกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตในปัจจุบัน จึงได้พัฒนาเป็นที่ตั้งจนถึงทุกวันนี้
ด้านหน้าของสถาบันฯ เป็นพื้นที่สีเขียวเป็นแนวกว้าง เดิมได้ออกแบบเพื่อเป็นพื้นที่ถอยร่นใช้กันเสียงและมลภาวะจากภายนอก และใช้เป็นพื้นที่สนามกอล์ฟ 9 ��ลุมสำหรับนักศึกษาและบุคลากรของสถาบันฯ จนเมื่อปี พ.ศ. 2546 ได้มีโครงการเปลี่ยนพื้นที่สนามกอล์ฟเป็นพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์เปิดให้บุคคลภายนอกได้ใช้ เป็นหนึ่งในพื้นที่สีเขียวที่สำคัญของจังหวัดปทุมธานี
นอกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว พื้นที่ติดกับสถาบันยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำคัญอย่าง อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
นอกจากศูนย์หลักที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยแล้ว ยังมีศูนย์เอไอทีเวียดนามที่ตั้งกระจายอยู่ตามเมืองสำคัญในประเทศเวียดนาม ได้แก่ กรุงฮานอย นครโฮจิมินห์ซิตี และเกิ่นเทอ ซึ่งเป็นศูนย์หลักในประเทศเวียดนามทั้ง 3 แห่ง และยังมีสำนักงานย่อยกระจายในเมืองต่างๆอีก 4 แห่ง โดยศูนย์เอไอทีเวียดนามนั้นก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ภายใต้ข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลเวียดนาม ทำให้เป็นสถาบันการศึกษานานาชาติแห่งแรกที่ตั้งอยู่ในประเทศเวียดนาม[18]
ชีวิตนักศึกษา
[แก้]ปัจจุบันสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียมีการเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก โดยจากรายงานประจำปี พ.ศ. 2559 พบว่า สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียมีนักศึกษาเข้าใหม่มาจากประเทศต่างๆในทุกปี สามารถแบ่งออกเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร้อยละ 60 เอเชียใต้และเอเชียตะวันตก ร้อยละ 27 เอเชียตะวันออกและเอเชียกลาง ร้อยละ 7 ทวีปยุโรป ร้อยละ 4 และทวีปแอฟริกา ร้อยละ 2 รวมมีนักศึกษารวมทุกระดับจำนวน 2,192 คน ที่มาจาก 49 ประเทศทั่วโลก เป็นนักศึกษาไทยเพียงร้อยละ 30 ส่วนเพศของนักศึกษาส่วนใหญ่เป็นเพศชายถึงร้อยละ 65 และเป็นเพศหญิงร้อยละ 35[19]
นักศึกษาในสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่มีผลการเรียนดี จึงได้รับทุนการศึกษาที่สถาบัน โดยแบ่งออกเป็นนักศึกษาที่ได้รับทุนให้เปล่าแบบเต็มจำนวน เช่น ทุนรัฐบาลไทย ทุนญี่ปุ่น ฯลฯ ร้อยละ 46 และมีเพียงนักศึกษาร้อยละ 20 เท่านั้น ที่ออกค่าใช้จ่ายในการศึกษาเองทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นนักศึกษาที่ได้รับทุนบางส่วน[20][21] โดยอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นนักเรียนทุนคือการที่สถาบันกำหนดค่าเล่าเรียนไว้ค่อนข้างสูง
อันดับและมาตรฐานมหาวิทยาลัย
[แก้]การประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
[แก้]สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้มีการประกาศผลการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2557 โดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียได้รับการประเมินให้เป็นสถาบันที่มีจำนวนหน่วยงานได้รับการประเมินในระดับ "ดีเยี่ยม" (TRF Index 5.0) มากที่สุดในสถาบันระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งสาขาที่ได้รับการประเมินในระดับดีเยี่ยม ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาเทคโนโลยีพลังงาน สาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม และสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ[22]
การจัดอันดับโดยเว็บโอเมตริกซ์ (Webometrics)
[แก้]การจัดอันดับโดยเว็บโอเมตริกซ์ (Webometrics) ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่าง ๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บไซต์ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก โดยบ่งบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ของสถาบัน เพื่อใช้ร่วมกับตัวชี้วัดอื่น ๆ ในการประเมินผลงานวิจัยของสถาบัน ซึ่งทางเว็บโอเมตริกซ์ได���จัดอันดับปีละ 2 ครั้งในเดือนมกราคม และกรกฎาคม โดยเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย อยู่ในอันดับที่ 1,104 ของโลก อันดับที่ 35 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันดับที่ 13 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย[23]
การจัดอันดับโดย U-Multirank
[แก้]สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียได้การจัดอันดับมหาวิทยาลัยนานาชาติยอดเยี่ยมของโลกจาก U-Multirank 2015 International Ranking ในฐานะมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นความเป็นนานาชาติเมื่อปี พ.ศ. 2558 โดยเป็นสถาบันการศึกษานานาชาติเพียงแห่งเดียวในทวีปเอเชียที่ได้รับการจัดระดับในระดับ A ครบทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ การเรียนการสอน การวิจัย การถ่ายทอดองค์ความรู้ การมุ่งเน้นความเป็นนานาชาติ และความเกี่ยวข้องในระดับภูมิภาค[24]
นอกจากนี้ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียยังได้รับการให้คะแนนระดับ A ถึง 11 ตัวชี้วัด จากทั้งหมด 31 ตัวชี้วัด ซึ่ง U-Multirank ให้การยกย่องว่าเป็นสถาบันที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพดีและมีความกว้างขวาง โดยเป็นสถาบันการศึกษาที่ดีที่สุดในประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 15 ของทวีปเอเชีย ในการวัดระดับในภาพรวม[25][26]
การเดินทาง
[แก้]นักศึกษา บุคลากร และบุคคลทั่วไปสามารถเดินทางมายังสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียได้หลายเส้นทาง เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่มีพื้นที่ติดต่อกัน โดยสามารถเดินทางได้ทั้งทางรถยนต์โดยผ่านถนนพหลโยธิน หรือ ทางพิเศษอุดรรัถยา และ ถนนกาญจนาภิเษก โดยผ่านถนนเชียงราก/ถนนคลองหลวง รถเมล์ สาย 29 39 และ 510 รถตู้โดยสารร่วม ขสมก. สาย ต.85 จาก อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และ สาย ต.118 จาก รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีหมอชิต/รถไฟฟ้ามหานคร สถานีสวนจตุจักร รถตู้โดยสารปรับอากาศท่าพระจันทร์–ศูนย์รังสิต และรถตู้โดยสารปรับอากาศจากฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต รวมทั้งสามารถเดินทางโดยรถไฟ มาลงที่สถานีรถไฟมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้อีกทางหนึ่ง สำหรับสถานีรถไฟมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างขึ้นเพื่อรองรับการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 โดยตั้งอยู่หลังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ปัจจุบันมีขบวนรถชานเมืองและธรรมดา หยุดรับส่งผู้โดยสาร 11 ขบวนต่อวัน
บุคคลที่มีชื่อเสียงจากสถาบัน
[แก้]ชาวไทย
[แก้]- สุบิน ปิ่นขยัน - อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และทบวงมหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้ง บริษัท เอ็มดีเอ็กซ์ จำกัด
- ศาสตราจารย์ ศรีศักดิ์ จามรมาน - อดีตหัวหน้าคณะทำงานหลายคณะในคณะกรรมการคอมพิวเตอร์ของรัฐ สำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งระบบอิเล็กทรอนิกส์ไทย
- ศาสตราจารย์ อาณัติ อาภาภิรม - อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ - ผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยคนแรก
- ประเสริฐ ภัทรมัย - ผู้ก่อตั้งบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด
- พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ - อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- ประสาร ไตรรัตน์วรกุล - อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
- รองศาสตราจารย์ กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย - อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น คนที่ 10
- พนิตา กำภู ณ อยุธยา - อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
- สามารถ ราชพลสิทธิ์ - อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายโยธาและจราจร
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพดล อินนา - อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักไทย และอดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ยงยุทธ ติยะไพรัช - อดีตประธานรัฐสภา และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร
- ห้างทอง ธรรมวัฒนะ - อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคประชากรไทย
- มณทิพย์ ศรีรัตนา - อดีตรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- โสภณ พรโชคชัย - นักวิชาการด้านอสังหาริมทรัพย์ การประเมินค่าทรัพย์สิน การพัฒนาเมือง
- อริยา อรุณินท์ - อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมออกแบบงานผังของ สวนหลวง ร.9
- รองศาสตราจารย์ ยงธนิศร์ พิมลเสถียร - อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในคณะอนุกรรมการอนุรักษ์ และพัฒนาเกาะกรุงรัตนโกสินทร์
- สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมจราจรและขนส่ง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่
- มานะ มหาสุวีระชัย - อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
- วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล-นักแสดง นักเขียน และผู้ผลิตรายการ
- ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคก้าวไกล
ชาวต่างประเทศ
[แก้]- เหมา จื้อกั๋ว - อดีตนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐจีน[27]
- Bindu Lohani - อดีตรองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย[28]
- Dang Hoang An - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม[29]
- ยู่ เสี่ยวกัง - นักสิ่งแวดล้อมชาวจีน และผู้ได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ 2009[30]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ รายชื่อองค์การระหว่างประเทศ เก็บถาวร 2018-04-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน| กระทรวงการต่างประเทศ
- ↑ INTERNATIONAL ORGANIZATIONS : AIT เก็บถาวร 2018-03-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน| กระทรวงการต่างประเทศ
- ↑ [1] RYT9
- ↑ สกว. ยืนยันว่า สถาบันเอไอที ยังเป็นมหาวิทยาลัยที่มีผลงานวิจัยเป็นเลิศในประเทศไทย ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
- ↑ The 1989 Ramon Magsaysay Award for International Understanding http://www.rmaf.org.ph/Awardees/Citation/CitationAIT.htm เก็บถาวร 2011-06-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "Vietnam bestows highest international relations honor to AIT". ait.asia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-04. สืบค้นเมื่อ 2014-04-12.
- ↑ การพิจารณารับรองคุณวุฒิและกำหนดอัตราเงินเดือนของผู้สำเร็จการศึกษาจาก Asian Institute of Technology เก็บถาวร 2017-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักงาน ก.พ.
- ↑ Eligibility Asian Institute of Technology
- ↑ Academics[ลิงก์เสีย] Asian Institute of Technology
- ↑ Schools Asian Institute of Technology
- ↑ "Department of Civil & Infrastructure Engineering (CIE) - Asian Institute of Technology". https://ait.ac.th/ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
{{cite web}}
: แหล่งข้อมูลอื่นใน
(help)|website=
- ↑ "Department of Information & Communications Technologies (ICT) - Asian Institute of Technology". https://ait.ac.th/ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
{{cite web}}
: แหล่งข้อมูลอื่นใน
(help)|website=
- ↑ "Department of Industrial Systems Engineering (ISE) - Asian Institute of Technology". https://ait.ac.th/ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
{{cite web}}
: แหล่งข้อมูลอื่นใน
(help)|website=
- ↑ "Department of Water Resources and Environmental Engineering (WREE) - Asian Institute of Technology". https://ait.ac.th/ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
{{cite web}}
: แหล่งข้อมูลอื่นใน
(help)|website=
- ↑ "Department of Development and Sustainability (DS) - Asian Institute of Technology". https://ait.ac.th/ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
{{cite web}}
: แหล่งข้อมูลอื่นใน
(help)|website=
- ↑ "Department of Energy and Climate Change (ECC) - Asian Institute of Technology". https://ait.ac.th/ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
{{cite web}}
: แหล่งข้อมูลอื่นใน
(help)|website=
- ↑ "Department of Food, Agriculture and Natural Resources (FANR) - Asian Institute of Technology". https://ait.ac.th/ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
{{cite web}}
: แหล่งข้อมูลอื่นใน
(help)|website=
- ↑ "About AIT-VN". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-23. สืบค้นเมื่อ 2018-05-19.
- ↑ Annual Report 2016
- ↑ ทุนเยอะ!เอไอทีเปิดบ้านโชว์หลักสูตร-แจงข้อมูลทุน[ลิงก์เสีย]
- ↑ Scholarships
- ↑ สกว.ประกาศผลประเมินคุณภาพผลงานวิชาการ เก็บถาวร 2017-11-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
- ↑ Ranking Web of World Universities เก็บถาวร 2009-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนTop South East Asia
- ↑ สถาบัน"เอไอที" ยอดเยี่ยมโลก ฐานะ"ม.อินเตอร์"[ลิงก์เสีย] ไทยโพสต์
- ↑ "เอไอที" ติดอันดับโลกเร่งเสริมจุดแข็ง ไทยรัฐออนไลน์
- ↑ AIT ranked ‘top international university’ in the world Inquirer
- ↑ AIT alumnus is Premier of Taiwan
- ↑ ADB names AIT alumnus Bindu Lohani as Vice-President
- ↑ AIT alumnus appointed Minister in Viet Nam
- ↑ AIT doctoral candidate Yu Xiaogang was one of six winners of this year’s Goldman Prize