คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Faculty of Architecture and Planning, Thammasat University | |
คติพจน์ | คุณภาพ คุณธรรม |
---|---|
สถาปนา | 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 |
คณบดี | ผู้ช่วยศาสตราจารย์อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ |
ที่อยู่ | ศูนย์รังสิต 99 หมู่ 18 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12121 |
วารสาร | J A R S (Journal of Architectural/Planning Research and Studies) |
สี | สีส้มอิฐ |
มาสคอต | หัวเม็ดทรงมัณฑ์ |
เว็บไซต์ | www.tds.tu.ac.th |
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อังกฤษ: Faculty of Architecture and Planning, Thammasat University) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2542 เปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สถาปัตยกรรมหลัก (วิทยาศาสตร์) ภูมิสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมภายใน สถาปัตยกรรมนวัตกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการออกแบบและพัฒนาผังเมืองเป็นต้น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้ระบบการศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์โดยอ้างอิงจากต่างประเทศจึงทำให้นักศึกษาปริญญาตรีใช้เวลาศึกษาเพียง 4 ปี เมื่อจบจะได้รับวุฒิวิทยาศาสตร์บัณฑิต และเมื่อศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท) จะได้รับวุฒิสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีระบบการจัดการหลักสูตรแบบโครงการพิเศษ จึงทำให้หลักสูตรระดับปริญญาตรีทั้งหมดเป็นโครงการพิเศษและจัดเก็บค่าธรรมเนียมตามอัตราโครงการพิเศษของทางคณะและมหาวิทยาลัยได้กำหนดไว้ อักษรตัวย่อของคณะสถาปัตย์ฯ มธ. คือ "สถ.มธ" หรือภาษาอังกฤษคือ AP.TU ปัจจุบันมีการรีแบรนด์ดิ้งคณะใหม่เพื่อให้ทันต่อสมัยโลก แต่เดิมชื่อคณะภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Faculty of Architecture and Planning ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Thammasat Design School เพื่อความเป็นสากล หรือ TDS นักศึกษาคณะนี้มักใช้คำเรียกแทนตัวเองว่า "ชาวเรา"[1]
ประวัติ
[แก้]คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เริ่มดำเนินการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2542 เป็นต้นมา โดยเป็นการจัดตั้งหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามความในมาตรา 18 (3) และ (10) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2531 เพื่อรองรับการจัดการศึกษาทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยมีโครงสร้างการบริหารงานลักษณะพิเศษที่เน้นความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพโดยอ้างอิงระเบียบข้อบังคับของทางราชการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานของคณะในช่วง 2 ปีแรกของการจัดการเรียนการสอน คณะได้ดำเนินการภายใต้ชื่อ โครงการจัดการศึกษาสาขาวิชาสถาปัตยกรรม โดยบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาระยะที่ 8 (พ.ศ. 2540–2544) ทำการเรียนการสอนอยู่ชั้นบนสุดของอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ และในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2544 สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีมติอนุมัติการจัดตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอนุมัติระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารงานคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ พ.ศ. 2544 และต่อมาใน พ.ศ. 2548 ได้มีการเปลี่ยนชื่อคณะเป็น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง พร้อมกันนี้ คณะได้กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง อีกด้วย
ปัจจุบัน คณะจัดการเรียนการสอนทั้งสิ้น 12 หลักสูตร ระดับปริญญาตรีมีหลักสูตรภาคภาษาไทย 5 หลักสูตร และหลักสูตรภาษาอังกฤษ 2 หลักสูตร ระดับปริญญาโทมีหลักสูตรภาคภาษาไทย 4 หลักสูตร และระดับปริญญาเอกมีหลักสูตรภาษาไทย 1 หลักสูตร จุดเด่นของการเรียนการสอนที่นี่ คือ หลักสูตรสาขาวิชาสถาปัตยกรรม 4+2 (ตรีควบโท) แห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย
หลักสูตรการศึกษา
[แก้]คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดการเรียนการสอนครอบคลุมทุกสาขาวิชาของสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองในทุกระดับปริญญา โดยสามารถแยกสาขาวิชาออกเป็นดังต่อไปนี้
- AR – Architecture
- IA – Interior Architecture
- UP – Urban Environmental Planning and Development
- LN – Landscape Architecture
- RD – Architecture for Real Estate Development
- UDDI – Urban Design and Development
- DBTM – Design, Business & Technology Management
- ISBE – Integrated Science of Built Environment
ระดับปริญญาตรี | ระดับปริญญาโท | ระดับปริญญาเอก |
---|---|---|
หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต
หลักสูตรสถาปัตยกรรมภายในบัณฑิต หลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต หลักสูตรการผังเมืองบัณฑิต หลักสูตรการออกแบบชุมชนเมืองบัณฑิต
|
หลักสูตรสถาปัตยกรรมมหาบัณฑิต
หลักสูตรสถาปัตยกรรมภายในมหาบัณฑิต หลักสูตรการผังเมืองมหาบัณฑิต หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
หลักสูตรการออกแบบชุมชนเมืองบัณฑิต
|
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
|
- ทุกหลักสูตรเป็นโครงการพิเศษ จัดเก็บอัตราค่าธรรมเนียมสูงกว่าปกติ
- หลักสูตรปริญญาตรีทุกหลักสูตร��ช้เวลาศึกษา 4 ปี ยกเว้น หลักสูตรตรีควบโทที่ต้องศึกษา 5 ปี (เว้นแต่ผู้ศึกษาไม่ต้องการต่อในระดับบัณฑิตศึกษา จะสามารถจบได้อย่างต่ำ 3.5 ปี)
- หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมเพื่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สาขาวิชาการจัดการออกแบบ ธุรกิจ และเทคโนโลยี ผู้เรียนสามารถต่อเลือกศึกษาต่อระดับปริญญาโทได้โดยทันทีและเมื่อจบการศึกษาจะได้วุฒิ สถาปัตยกรรมมหาบัณฑิต
สาขาวิชาการผังเมือง
[แก้]สาขาวิชาการผังเมือง เป็นหน่วยงานมีฐานะเทียบเท่าภาควิชา ก่อตั้งขึ้นพร้อมกับการสถาปนาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2544 เปิดสอนในระดับปริญญาบัณฑิตและมหาบัณฑิต หลักสูตรการผังเมือง ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
บุคคลสำคัญคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง
[แก้]- ศ.ดร.วิมลสิทธิ์ หรยางกูร (ผู้ก่อตั้งคณะ และอดีตคณบดี)
- รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น เงินทุนวิจัยรัชดาภิเษกสมโภช ประจำปี พ.ศ. 2537 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2538 สาขาปรัชญา คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ
- นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2540 สาขา ปรัชญา คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ
- รางวัลสถาปนิกดีเด่นที่อนุรักษ์พลังงาน ประจำปี พ.ศ. 2543 กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ร่วมกับสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีการอนุรักษ์พลังงาน
- รางวัลผลงานวิจัย รางวัลชมเชย ประจำปี พ.ศ. 2545 สาขาปรัชญา คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ
- รางวัลผู้นำวิทยาศาสตร์พลังงานทางเลือกดีเด่นแห่งชาติ สาขาเทคโนโลยี Eco–House โครงการการจัดการประชุมและนิทรรศการพลังงานทางเลือก นานาชาติ (WAESE 2009)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร (อาจารย์)
- บุคคลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2551 สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
- สถาปนิกดีเด่นด้านวิชาการ ประจำปี พ.ศ. 2552 สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
บุคคลที่มีชื่อเสียงคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง
[แก้]- จิรยศ เทพพิพิธ (ยศ) (ศิษย์เก่าสาขาวิชาสถาปัตยกรรม)
- ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโฟเฟด จำกัด
- อนุกรรมาธิการ สภาปฏิรูปแห่งชาติ
- อดีตนายกสมาคมศิษย์เก่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฟร์ พลัส ทู อาร์คิเทค จำกัด
- ภูวสิทธ์ พนมสิงห์ (พีท) (ศิษย์เก่าสาขาวิชาสถาปัตยกรรมเพื่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์)
- อดีต ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เสนา ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)
- อดีต ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและจัดซื้อที่ดิน บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)
- อดีต ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดสร้างสรรค์ บริษัท ออริจิ้น คอนโดมิเนียม จำกัด
- ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท คิด วิเคราะห์ แยกแยะ จำกัด
- Content Creator ด้านอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของช่อง TikTok : "สพีทโรเจอร์ส" และ FACEBOOK : "Urban Everywhere" (ขอบอสัง)
- อาจารย์พิเศษ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขานวัตกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
- ผู้ช่วยฯ นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาชน
- สมรรถพล ตาณพันธุ์ (อาจารย์เบล) (ศิษย์เก่า, อาจารย์ประจำสาขาวิชาสถาปัตยกรรม)
- เจ้าของร้าน FabCafe Bangkok
- วิบูลย์ศิริ วิบูลย์มา (โป้ง) (ศิษย์เก่าสาขาวิชาสถาปัตยกรรม)
- นักร้องนำวง กูดเซปเทมเบอร์ และ Managing director แห่ง iwa Design (Thailand) Co Ltd
- สุทัศนันท์ พิทักษ์วงศ์ (เจเจ) (ศิษย์เก่าสาขาวิชาสถาปัตยกรรม)
- เจ้าของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Sutasnan Pitakwong
- ณัฏฐณิชา เงินคำ (ผักบุ้ง) (ศิษย์เก่าสาขาวิชาสถาปัตยกรรม)
- สมาชิกวง Blues tape ตำแหน่ง มือกลอง
- จุฑาวัช พุทธรัตน์ (อั้ม) (ศิษย์เก่าสาขาวิชาสถาปัตยกรรม)
- สมาชิกวง LOSERPOP, LAIKA
- อนุชิต ปนัดเศรณี (มอส) (ศิษย์เก่าสาขาวิชาสถาปัตยกรรม)
- นักแสดง มีชื่อเสียงจากภาพยนตร์เรื่อง เด็กหอ
- สมภพ สิทธิอาจารย์ (ยอง) (ศิษย์เก่าสาขาวิชาสถาปัตยกรรม)
- นักแสดง มีชื่อเสียงจากภาพยนตร์เรื่อง ตั้งวง
- ลพัฎร์ฐิดา คงกระพันธ์ (มิ้นท์) (ศิษย์เก่าสาขาวิชาสถาปัตยกรรมภายใน)
- รองชนะเลิศมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2016
- ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ (คุง) (ศิษย์เก่าสาขาวิชาการผังเมือง)
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 21 พรรคก้าวไกล
- ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ (เต้) (ศิษย์เก่าสาขาวิชาสถาปัตยกรรม)
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พระนครศรีอยุธยา เขต 1 พรรคก้าวไกล
- ณัฐฐาสิณี ป้องขันธ์ (นัตโตะ) (ศิษย์เก่าการออกแบบพัฒนาชุมชนเมือง หลักสูตรนานาชาติ)
- ผู้เข้ารอบ 15 คนสุดท้าย จากรายการ The Face Thailand Season 2
- ญาณิศา พัฒนวงศ์ (ออง) (ศิษย์เก่าโครงการหลักสูตร Design, Business & Technology Management)
- นักแสดง มีชื่อเสียงจากละครซีรีส์เรื่อง Make It Right รักออกเดิน
- พิชนันท์ กาญจนะโภคิน (มิกกี้) (ศิษย์เก่าหลักสูตรการออกแบบพัฒนาชุมชนเมือง หลักสูตรนานาชาติ)
- สมาชิกวง SOUNDCITY, imhavingabadday.
- เมษา จีนะวิจารณะ (เมษา) (นักศึกษาระดับปริญญาตรีควบโท หลักสูตรการออกแบบพัฒนาชุมชนเมือง หลักสูตรนานาชาติ)
- อดีตสมาชิกวง บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต
- ประพัฒน์ธรณ์ จักขุจันทร์ (เจมส์) (นักศึกษาสาขาวิชาการผังเมือง)
- นักแสดง
- ตริษา ปรีชาตั้งกิจ (สตางค์)
- นักร้องค่าย คิดโด้ เรคคอร์ดส
- อดีตสมาชิกวง บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต
ถาปัดการละคอน
[แก้]ชมรมถาปัดการละคอนนั้น คาดว่าน่าจะเริ่มจากการที่กลุ่มนักศึกษาในคณะได้มีความสัมพันธ์อันดีกับคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน และ คณะศิลปกรรมศาสตร์ อีกทั้งยังได้รับอิทธิพลมาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ได้มีการผลิตละครเวทีออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มนักศึกษาคณะถาปัดที่สนใจในการทำละคอนเข้าไปช่วยทำละคอนวารสารฯ ในช่วงเวลาหนึ่ง เกิดการร่วมมือกันระหว่างนักศึกษาคณะถาปัด กับ คณะวารสารฯ ร่วมกันทำละคอนเวทีเป็นครั้งแรก และครั้งเดียว
หลังจากนั้นทางกลุ่มนักศึกษาในคณะก็ได้ก่อตั้ง ชมรมถาปัดการละคอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Architect Drama Association : ADA) เพื่อผลิตและจัดแสดงละครเวทีให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัย และบุคคลภายนอกได้รับชม โดยเริ่มผลิตละคอนของคณะเรื่องแรกจริงๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 และได้หายไปในช่วงเวลาหนึ่ง จนได้เริ่มกลับมาทำอย่างต่อเนื่องและจริงจังในปี พ.ศ. 2557 โดยมีชื่อเรื่อง ดังนี้
- ลำดับที่ 1 – พ.ศ. 25XX เคอบองเฮอ
- ลำดับที่ 2 – พ.ศ. 2549 Mourning After
- ลำดับที่ 3 – พ.ศ. 2552 ซูเหลียน ศึกชิงคัมภีร์พลิกแผ่นดิน
- ลำดับที่ 4 – พ.ศ. 2557 ซ่อมใจเด็กอู่
- ลำดับที่ 5 – พ.ศ. 2558 เล่งลี่ มาเฟียเซี่งไฮ้
- ลำดับที่ 6 – พ.ศ. 2559 อิไอ ใครฆ่าอาจารย์
- ลำดับที่ 7 – พ.ศ. 2560 อีทองอ่อน
- ลำดับที่ 8 – พ.ศ. 2562 แม็คก้า นัดนี้...พี่หวง!!
จุดเด่นของถาปัดการละคอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือการนำภูมิภาคมากำหนดเป็นธีมหลักของละคอน ส่วนมากเนื้อหาของละคอนจะเป็น romantic drama และ comedy โดยมีความสดของมุก การเพิ่มประเด็นสังคมต่างๆในปัจจุบัน และลูกเล่นต่างๆของบทที่ทำให้ถาปัดการละคอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกพูดถึงเป็นที่กว้างขวาง และได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆของละคอนเวทีทั้งหมดในมหาวิทยาลัย โดยมีการพัฒนาทั้งตัวบท ฉาก และการโปรโมทในทุกๆปี เพื่อให้ในอนาคตจะได้เทียบเท่าละคอนถาปัดที่อื่น และได้ไปอยู่ในใจของผู้ชม
ในปัจจุบันนั้นจัดแสดงที่ ห้องประชุมใหญ่ TCC LAND Auditorium ภายในคณะตั้งแต่ลำดับที่ 3 จะมีนักศึกษาชั้นปีที่ 4 เป็นแม่งานในการจัดการทุกอย่าง และยังเปิดรับนักศึกษาจากคณะอื่น สถาบันอื่นมาร่วมงานอีกด้วย ทำให้เป็นการเปิดรับผู้ที่จะมาร่วมสร้างเสียงหัวเราะ และความยิ่งใหญ่ของถาปัดการละคอนในแต่ละปี
กิจกรรมอื่น ๆ ของคณะ
[แก้]- เสวนาทางวิชาการ, นิทรรศการวิทยานิพนธ์, งานแสดงผลงานนักศึกษาในการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ
- กิจกรรมนอกหลักสูตรของนักศึกษา: ชมรมค่ายสร้างถาปัดอาสา, มนต์รัก สถ, ชมรมผู้นำเชียร์, ชมรมกีฬา (รักบี้, ฟุตบอล, บาสเก็ตบอล)