ข้ามไปเนื้อหา

พระยาคำโสม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาคำโสม
พระยานครลำปาง
ครองราชย์พ.ศ. 2329 — พ.ศ. 2337
รัชสมัย9 ปี
ก่อนหน้าพระยากาวิละ
ถัดไปพระเจ้าดวงทิพย์
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
อุปราชพระยาดวงทิพย์
ประสูติพ.ศ. 2287
พิราลัยพ.ศ. 2337 (50 ปี)
ราชเทวีแม่เจ้าปทุมมาราชเทวี
แม่เจ้าจันทรา
แม่เจ้าจอมแก้ว
พระบุตร12 องค์
ราชสกุลณ ลำปาง
ราชวงศ์ทิพย์จักร
พระบิดาเจ้าฟ้าสิงหาราชธานีเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว
พระมารดาแม่เจ้าจันทาราชเทวี
ศาสนาเถรวาท

พระยาคำโสม (พ.ศ. 2287 — พ.ศ. 2337)[1] หรือ เจ้าคำสม เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 4 เป็นหนึ่งในเจ้าเจ็ดตน และเป็นราชบุตรองค์ที่ 2 ของเจ้าฟ้าสิงหาราชธานีเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว ได้ครองนครลำปางสืบต่อจากพระเชษฐา คือพระเจ้ากาวิละ ในระหว่างปี พ.ศ. 2329-2337 ถึงแก่กรรมขณะอายุได้ 50 ปี

พระประวัติ

[แก้]

พระยาคำโสม เกิดเมื่อปีชวด พ.ศ. 2287 มีเจ้าพี่เจ้าน้องรวม 10 องค์ หญิง 3 ชาย 7 เจ้าชายทั้ง 7 พระองค์ได้ทรงช่วยกันต่อสู้อริราชศัตรูขยายขอบขัณฑสีมาล้านนาออกไปอย่างเกรียงไกร เป็นเหตุให้มีพระสมัญญาว่า "เจ้าเจ็ดตน" มีพระนามตามลำดับ ดังนี้[2]

  1. พระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1 และเป็นเจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 3 ในทิพย์จักราธิวงศ์
  2. พระยาคำโสม เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 4
  3. พระยาธรรมลังกา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 2
  4. พระเจ้าดวงทิพย์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 5
  5. เจ้าศรีอโนชา พระอัครชายาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
  6. เจ้าหญิงสรีวัณณา (ถึงแก่กรรมแต่เยาว์)
  7. พระยาอุปราชหมูล่า พระราชมหาอุปราชานราธิบดีศรีสุวรรณฝ่ายหน้าหอคำนครลำปาง
  8. พระยาคำฟั่น เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 3 และ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 1
  9. เจ้าหญิงสรีบุญทัน (ถึงแก่กรรมแต่เยาว์)
  10. พระเจ้าบุญมา พระเจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 2

พระเจ้าคำโสม อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงปทุมมา ต่อมาคือ แม่เจ้าปทุมมาราชเทวี และมีชายาอีกหลายพระองค์ อาทิ แม่เจ้าจันทรา แม่เจ้าจอมแก้ว

ราชโอรส-ธิดา

[แก้]

พระเจ้าคำโสม มีราชโอรสหลายองค์ องค์ที่ได้ขึ้นครองนคร ได้แก่

  1. พระยาไชยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 6 เป็นโอรสองค์ที่ 1
  2. พระยาขัติยะ เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 7 เป็นโอรสองค์ที่ 2
  3. พระยาน้อยอินท์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 8 และเจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 3 เป็นโอรสองค์ที่ 3
  4. เจ้าราชวงศ์ (คำแสน ณ ลำปาง), เจ้าราชวงศ์นครลำปาง
  5. พระยาประเทศอุตรทิศ (พุทธวงศ์) (เจ้าน้อยพุทธวงศ์ ณ ลำปาง) เจ้าเมืองพะเยา องค์ที่ 1
  6. เจ้าวรญาณรังษี เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 9 เป็นโอรสองค์ที่ 4
  7. เจ้าหลวงมหายศ (เจ้าน้อยมหายศ ณ ลำปาง), พระญาประเทศอุดรทิศ เจ้าเมืองพะเยา องค์ที่ 2
  8. เจ้า��าชวงศ์แก้วมนุษย์ ณ ลำปาง, เจ้าราชวงศ์เมืองพะเยา
  9. เจ้าอุปราชหนานยศ ณ ลำปาง, เจ้าอุปราชเมืองงาว
  10. เจ้าสุริยวงศ์ (คำลือ ณ ลำปาง), เจ้าสุริยวงศ์เมืองงาว
  11. เจ้าราชบุตร (คำเครื่อง ณ ลำปาง), เจ้าราชบุตรนครลำปาง
  12. แม่เจ้าอุบลวรรณาเทวี (ณ ลำปาง) ใน เจ้าหลวงฟ้าเมืองแก้วขัตติยะ (ศีติสาร), พระญาประเทศอุดรทิศ เจ้าเมืองพะเยา องค์ที่ 3

พระราชกรณียกิจ

[แก้]

เมื่อปี พ.ศ. 2307 เจ้าฟ้าแก้ว ได้ครองนครลำปาง และเจ้าคำโสม ได้ช่วยงานราชการนครลำปาง ในปี พ.ศ. 2309 เจ้าคำโสม ได้นำกำลังไพร่พลจากนครลำปางเข้าสมทบกองทัพพม่าที่เกณฑ์กำลังหัวเมืองขึ้นทั้งปวงของพม่าในเวลานั้น เพื่อเข้าตีกรุงศรีอยุธยา

ในปี พ.ศ. 2317 พระยาคำโสมได้รับพระราชทานอาชญาสิทธิ์เป็นพระยาราชวงศ์นครลำปาง[3] ถึงปีมะเมีย อัฐศก จ.ศ. 1148 พ.ศ. 2329 เจ้าคำโสมได้รับแต่งตั้งเป็นพระยานครลำปาง[4] จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2336 พระยาคำโสมร่วมกับพระเจ้ากาวิละ และเจ้าพี่น้องรวมกัน 7 คน (ภายหลังได้รับสมัญญาว่า "เจ้าเจ็ดตน") และกองทัพเมืองแพร่ เมืองน่าน มีไพร่พล 10,000 ยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนล้อมเมืองอยู่ 2 เดือน จึงยึดเมืองได้

พระเจ้าคำโสม เมื่อว่างจากราชการสงครามได้ทำนุบำรุงพระศาสนาในนครลำปาง อาทิ สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ (พระเจ้าตนหลวง) การสร้างวัดหลวงกลางเวียง วิหารวัดป่าดัวะ วิหารวัดศรีเกิด วิหารวัดหมื่นกาด วิหารวัดปงสนุก วิหารวัดป่าพร้าว รวมทั้งสิ้น 8 วัด และสร้างรั้วรอบพระธาตุลำปางหลวง และพระธาตุเสด็จ[5]

พระยาคำโสมป่วยถึงแก่กรรมในปีขาลฉศก จ.ศ. 1156 (พ.ศ.2337) เป็นพระยานครได้ 9 ปี[4]

ราชตระกูล

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. หนานอินแปง. พระราชชายา เจ้าดารารัศมี. กรุงเทพฯ : บางกอกบุ๊ค, 2546
  2. คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์ , นาวาอากาศเอก. เจ้านายฝ่ายเหนือ. [1] เก็บถาวร 2021-05-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. วรชาติ มีชูบท (2556) เจ้านายฝ่ายเหนือ และตำนานรักมะเมียะ กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊ค หน้า 4
  4. 4.0 4.1 พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย, หน้า 92
  5. มงคล ถูกนึก. ไทยวน คนเมือง แห่งลุ่มแม่น้ำวัง. ลำ���าง : ลำปางบรรณกิจ. 2555
บรรณานุกรม
  • ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. 320 หน้า. ISBN 974-8150-62-3
  • ประชากิจกรจักร, พระยาพงศาวดารโยนก. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2557. 496 หน้า. ISBN 978-616-7146-62-1
  • มหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ), พระยา. พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2505. 35 หน้า. [พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระพิจิตรโอสถ (รอด สุตันตานนท์)]
  • อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และเดวิด เค วัยอาจ (ปริวรรต). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : ตรัสวิน, 2543. 220 หน้า. ISBN 9747047683
ก่อนหน้า พระยาคำโสม ถัดไป
พระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครลำปาง
(พ.ศ. 2329 — พ.ศ. 2337)
พระเจ้าดวงทิพย์