ข้ามไปเนื้อหา

พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ระวังสับสนกับพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย
Thai Bank Museum
พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
แผนที่
ก่อตั้งพ.ศ. 2526
ที่ตั้ง9 อาคารเอสซีบีพาร์กพลาซา ถนนรัชดาภิเษก แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
เว็บไซต์www.thaibankmuseum.or.th

พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย (อังกฤษ: Thai Bank Museum) เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งขึ้นโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเก็บรวบรวมเอกสาร เครื่องมือเครื่องใช้อันบ่งบอกถึงวิวัฒนาการแห่งความเจริญก้าวหน้าในระบบการเงินการธนาคารของประเทศ จัดแสดงสิ่งของล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ด้านการเงินการธนาคารของชาติ สำหรับเป็นแหล่งค้นคว้าด้านวิชาการ อันเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง

ประวัติ

[แก้]

พิพิธภัณฑ์ เริ่มเปิดดำเนินการที่อาคารสำนักงานธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย เมื่อปี พ.ศ. 2526 ก่อนจะย้ายมาจัดแสดงที่เอสซีบีพาร์กพลาซา ย่านรัชโยธิน โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2539 และในโอกาสครบรอบ 100 ปี ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้มีการปรับปรุงและได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน มาทรงเยี่ยมชมอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2550 ในวาระครบรอบ 100 ปี ธนาคารไทยพาณิชย์[1]

การจัดแสดง

[แก้]
  1. วิวัฒนาการเงินตรา จัดแสดงและให้ข้อมูลถึงพัฒนาการในการติดต่อแลกเปลี่ยนสิ่งของระหว่างชุมชนมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนกระทั่งมีการพัฒนารูปแบบจนมีการใช้เงินสกุลต่าง ๆ
  2. วิวัฒนาการธนาคาร แสดงเส้นทางการค้าทางทะเลสมัยโบราณจากยุโรปสู่เอเชีย บอกเล่าวิวัฒนาการธนาคาร และสยามกับการเข้าสู่ระบบธนาคาร แสดงพระประวัติของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ตลอดจนการจัดตั้งบุคคลัภย์ ธนาคารพาณิชย์ทดลองดำเนินการในปี พ.ศ. 2447 ที่อาคารให้เช่าของกรมพระคลังข้างที่ ตำบลบ้านหม้อ
  3. ต้นแบบธนาคารไทย แสดงเอกสาร อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการดำเนินงานของบริษัทแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ตั้งแต่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้จัดตั้งบริษัทแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด พ.ศ. 2449 และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราอาร์มแผ่นดินเป็นตราประจำบริษัท เมื่อกิจการเจริญก้าวหน้า จึงมีการสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ที่ตำบลตลาดน้อย จัดตั้งสาขาขึ้นที่ต่างจังหวัด และก่อสร้างสำนักงานใหญ่ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่
  4. ไทยพาณิชย์กับการก้าวสู่ยุคปัจจุบัน นำเสนอเทคโนโลยี การใช้ข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัย ข้อมูลบริษัทในเครือ กิจกรรมเพื่อสังคม และพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานในงานฉลอง 50 ปี ธนาคารซึ่งธนาคารยังใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกิจการตลอดมา

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ประวัติพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-04-06. สืบค้นเมื่อ 2013-04-09.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]