ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา
ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา Sachsen-Coburg und Gotha Saxe-Coburg and Gotha | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
พ.ศ. 2369–พ.ศ. 2461 | |||||||||||||
เพลงชาติ: Heil unserm Herzog, heil | |||||||||||||
ดัชชีซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา | |||||||||||||
สถานะ | ดัชชี | ||||||||||||
เมืองหลวง | โคบวร์คและโกทา | ||||||||||||
ภาษาทั่วไป | ภาษาเยอรมัน | ||||||||||||
การปกครอง | ราชาธิปไตย | ||||||||||||
ประวัติศาสตร์ | |||||||||||||
• ก่อตั้ง | พ.ศ. 2369 | ||||||||||||
• การปฏิวัติเยอรมนี | 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 | ||||||||||||
พื้นที่ | |||||||||||||
พ.ศ. 2448 | 1,977 ตารางกิโลเมตร (763 ตารางไมล์) | ||||||||||||
ประชากร | |||||||||||||
242000 | |||||||||||||
|
ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา (เยอรมัน: Sachsen-Coburg und Gotha; อังกฤษ: Saxe-Coburg and Gotha) เป็นชื่อของดัชชีเยอรมันสองรัฐคือ ซัคเซิน-โคบวร์ค และ ซัคเซิน-โกทา ที่ตั้งอยู่ในประเทศเยอรมนี บริเวณรัฐบาวาเรียและรัฐทือริงเงินปัจจุบัน ซึ่งเข้ามารวมเป็นรัฐเดียวกันในระหว่างปี พ.ศ. 2369 ถึงปี พ.ศ. 2461
ชื่อ ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา อาจหมายถึงตระกูลหรือราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากมายและหลากหลายทางด้านประวัติศาสตร์การเมืองและราชสำนักยุโรปสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19
ดัชชี
[แก้]ดัชชีซัคเซิน-โคบวร์ค และ ซัคเซิน-โกทา เป็นส่วนหนึ่งในดัชชีซัคเซินที่ปกครองโดยราชวงศ์เวตตินเชื้อสายของเจ้าชายเออร์เนส ดัชชีซัคเซิน-โคบวร์คและโกทาเกิดจากการรวมตัวของทั้งสองรัฐนี้ภายใต้ผู้ปกครองคนเดียวกันเป็นรัฐร่วมประมุขในปี พ.ศ. 2369 หลังจากการสิ้นพระชนม์ของดยุกพระองค์สุดท้ายแห่งซัคเซิน-โกทา-อัลเทนบูร์ก (Duke of Saxe-Gotha-Altenburg) โดยปราศจากรัชทายาทชาย ญาติในราชวงศ์เวตตินจึงได้แบ่งแยกดินแดนกันอีกครั้ง และดยุกแอร์นส์ที่ 1 แห่งซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟลด์ (Duke Ernst I of Saxe-Coburg-Saalfeld) (อดีตพระสวามีในเจ้าหญิงหลุยส์แห่งซัคเซิน-โกทา-อัลเทนบูร์ก พระนัดดาหญิงองค์เดียวของดยุกพระองค์สุดท้าย) ได้ปกครองเมืองโกทา จึงเปลี่ยนพระยศเป็น ดยุกแห่งซัคเซิน-โกทา-อัลเทนบูร์ก แม้ว่าในทางหลักการทั้งสองรัฐยังคงแยกกันอยู่
ดยุกแอร์นส์ที่ 1 สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2387 และแอร์นส์ที่ 2 (Ernst II) ซึ่งเป็นพระโอรสและผู้สืบทอดทรงปกครองดินแดนต่อมาจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2436 โดยไร้รัชทายาท ราชบัลลังก์ดัชชีจึงตกทอดไปสู่พระโอรสในพระอนุชาคือเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญของดัชชีทั้งสองไม่อนุญาตให้พระมหากษัตริย์และรัชทายาทแห่งสหราชอาณาจักรสืบทอดราชบัลลังก์ดัชชีได้ ถ้ายังมีรัชทายาทผู้ชายที่เหมาะสมองค์อื่นอยู่ ดังนั้น เจ้าชายอัลเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ จึงทรงสละสิทธิ์การสืบทอดให้แก่พระอนุชาองค์ต่อไปคือ เจ้าชายอัลเฟรด ดยุกแห่งเอดินเบอระ พระโอรสองค์เดียวในเจ้าชายอัลเฟรด ซึ่งมีพระนามเดียวกันคือ เจ้าชายอัลเฟรดแห่งเอดินบะระ ได้ทรงกระทำอัตตวินิบาตกรรมในปี พ.ศ. 2442 เมื่อดยุกอัลเฟรดสิ้นพระชนม์ลงในปี พ.ศ. 2443 ราชบัลลังก์จึงสืบทอดต่อมาโดยเจ้าชายชาลส์ เอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งออลบานี พระโอรสพระชนมายุสิบเจ็ดชันษาในเจ้าชายลีโอโพลด์ พระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (เจ้าชายอาร์เธอร์ ดยุกแห่งคอนน็อตและสตราเธิร์น และ[เจ้าชายอาร์เธอร์พระโอรสมิทรงต้องการปกครองดัชชีซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา จึงได้ทรงประกาศการสละสิทธิ์การสืบราชสมบัติ) หลังจากการสืบทอดราชบัลลังก์โดยมีพระนามว่า คาร์ล เอดูอาร์ด และอยู่ภายใต้ระบอบผู้สำเร็จราชการอันนำโดยเจ้าชายรัชทายาทแห่งโฮเอ็นโลเฮ-แล็งเก็นบูร์กจนกระทั่งทรงบรรลุนิติภาวะในปี พ.ศ. 2448 พระองค์ยังคงดำรงพระอิสริยยศเป็นดยุกแห่งออลบานี เมื่อพระองค์ทรงต่อสู้ร่วมกับฝ่ายเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงทรงถูกถอดถอนพระอิสริยยศของอังกฤษออกทั้งหมดในปี พ.ศ. 2462
ดยุกคาร์ล เอดูอาร์ดทรงปกครองอยู่จนกระทั่งถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 เมื่อเหล่าสมัชชาแรงงานและทหารแห่งโกธาถอดถอนพระองค์ออกจากราชบัลลังก์ในช่วงการปฏิวัติเยอรมัน รัฐดยุกทั้งสองซึ่งสูญสลายโดยผู้ครองรัฐที่กลายเป็นสามัญชน ได้แยกออกจากกัน แต่หลังจากนั้นไม่นาน รัฐซัคเซิน-โคบวร์คก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาวาเรีย ส่วนรัฐซัคเซิน-โกทาก็ได้รวมเข้ากับรัฐเล็กอื่น ๆ เพื่อก่อตั้งเป็นรัฐใหม่คือรัฐทือริงเงินในสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic) เมื่อปี พ.ศ. 2463
เมืองหลวงของซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา คือ เมืองโคบวร์ค และ เมืองโกทา ในปี พ.ศ. 2457 พื้นที่และประชากรของรัฐดยุกทั้งสองมีรายละเอียดดังนี้
รัฐดยุก | พื้นที่ | ประชากร |
---|---|---|
ซัคเซิน-โคบวร์ค | 1415 กม.² | 74818 |
ซัคเซิน-โกทา | 562 กม.² | 182359 |
รวมทั้งสิ้น | 1977 กม.² | 257177 |
รัฐซัคเซิน-โคบวร์คและโกทาเป็นประเทศเดียวในทวีปยุโรปที่ได้แต่งตั้งกงสุลประจำสมาพันธรัฐอเมริกา (Confederate States of America) ในช่วงระหว่างสงครามกลางเมืองอเมริกา กงสุลท่านนี้มีชื่อว่า แอร์นส์ ราเวน ซึ่งได้รับมอบหมายให้ประจำอยู่ที่มลรัฐเท็กซัส ราเวนขออนุมัติหนังสือรับรองกงสุลจากรัฐบาลของสมาพันธรัฐอเมริกาในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2404 และได้รับการตอบรับ[1]
ราชวงศ์
[แก้]ราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทาเคยเป็นราชวงศ์ที่ครองราชบัลลังก์ในหลายประเทศของยุโรป และปัจจุบันมีสาขาสืบทอดที่ยังครองราชบัลลังก์เบลเยียม โดยผ่านทางเชื้อสายในสมเด็จพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 1 แห่งเบลเยียม และสหราชอาณาจักร รวมถึงเครือจักรภพโดยผ่านทางเชื้อสายในเจ้าชายอัลเบิร์ต ในสหราชอาณาจักร สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ได้เปลี่ยนชื่อราชวงศ์จากเดิมเป็นราชวงศ์วินด์เซอร์ ในปี พ.ศ. 2460 ราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทาเป็นสาขาหนึ่งของราชวงศ์ซัคเซิน เชื้อสายเวตติน
สมาชิกราชวงศ์พระองค์อื่น ๆ ทรงปกครองในหลายประเทศของทวีปยุโรป สมเด็จพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 1 แห่งเบลเยียม พระอนุชาในดยุกแอร์นส์ที่ 1 เสวยราชสมบัติเป็นกษัตริย์แห่งเบลเยียมในปี พ.ศ. 2374 และเชื้อสายของพระองค์ยังคงปกครองอยู่ในฐานะประมุขของประเทศ เจ้าหญิงชาร์ล็อตแห่งเบลเยียม พระราชธิดาเพียงองค์เดียวของพระองค์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีคาร์โลตาแห่งเม็กซิโก พระมเหสีในสมเด็จพระจักรพรรดิแม็กซิมิเลียนที่ 1 แห่งเม็กซิโกในทศวรรษที่ 1860 ราชบัลลังก์ของประเทศเม็กซิโก มีรากฐานจากราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกธา นอกจากนี้แล้วเจ้าชายแฟร์ดีนันด์แห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกธา พระนัดดาของดยุกแอร์นส์ยังได้อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีนาถมาเรียที่ 2 แห่งโปรตุเกส และเชื้อสายของพระองค์ทรงปกครองประเทศโปรตุเกสจนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐในปี พ.ศ. 2453
เชื้อสายอีกพระองค์หนึ่งในราชวงศ์มีพระนามเดียวกันว่า เฟอร์ดินานด์ ทรงเป็นเจ้าชายครองรัฐและต่อมาทรงเป็นกษัตริย์แห่งบัลแกเรีย รัชทายาทของพระองค์ยังคงปกครองจนถึงปี พ.ศ. 2489 ประมุขแห่งราชวงศ์บัลแกเรียปัจจุบันคือ อดีตสมเด็จพระราชาธิบดีซิมอนที่ 2 แห่งบัลแกเรีย (Simeon II of Bulgaria) ทรงเปลี่ยนพระนามเป็น ซิมอน ซักซ์โคบวร์คก็อตสกี (Simeon Sakskoburggotski) และทรงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบัลแกเรียเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่อดีตกษัตริย์ทรงกลับมามีอำนาจอีกครั้งโดยผ่านการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย
ในปี พ.ศ. 2369 เชื้อสายรองของราชวงศ์ได้สืบทอดทรัพย์สินของราชวงศ์โคฮารี (Kohary) ของประเทศฮังการี และเปลี่ยนมานับถือนิกายโรมันคาทอลิก เหล่าเจ้าชายแห่งโคฮารีทรงร่ำรวยและเป็นขุนนางแห่งฮังการี และเจ้าชายครองนครในจักรวรรดิออสเตรีย ทุกพระองค์สามารถจะอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงแห่งบราซิล อาร์คดัชเชสแห่งออสเตรีย เจ้าหญิงแห่งฝรั่งเศส เบลเยียมและแซ็กโซนีได้ สมาชิกของราชวงศ์ประกอบด้วยเชื้อสายผ่านทางพระโอรสทุกองค์ในโยฮันน์ แอร์นส์ ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟลด์ ที่กำเนิดอย่างถูกต้องตามกฎหมายจากการอภิเษกสมรสที่ฐานันดรศักดิ์เท่าเทียมกันทั้งชายและหญิง (จนกระทั่งอภิเษกสมรส) พระชายาจากการอภิเษกสมรสที่ฐานันดรศักดิ์เท่าเทียมกันหรือได้รับอนุญาต และพระชายาม่ายจนกระทั่งการอภิเษกสมรสใหม่อีกครั้ง
ตามกฎหมายราชวงศ์ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา พระอิสสริยยศแบบเต็มของดยุก คือ
- Wir, Ernst, Herzog zu Sachsen-Coburg und Gotha, Jülich, Cleve und Berg, auch Engern und Westphalen, Landgraf in Thüringen, Markgraf zu Meißen, gefürsteter Graf zu Henneberg, Graf zu der Mark und Ravensberg, Herr zu Ravenstein und Tonna usw.
- เรา แอนสท์ ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา ยือลิช เคลเฟอ และแบร์ค รวมถึงเอ็งเงิร์นและเว็สท์ฟาเลิน ลันท์กราฟในทือริงเงิน มาร์คกราฟแห่งไมเซิน กราฟผู้ปกครองแห่งเฮ็นเนอแบร์ค กราฟแห่งชายแดนและราเฟินส์แบร์ค ลอร์ดแห่งราเฟินชไตน์และโทนนา ฯลฯ
สายหลัก
[แก้]ดยุกครองรัฐ พ.ศ. 2369 - พ.ศ. 2461
[แก้]- แอร์นส์ที่ 1 ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา (Ernst I) (พ.ศ. 2369 - พ.ศ. 2387)
- แอร์นส์ที่ 2 ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา (Ernst II) (พ.ศ. 2387 - พ.ศ. 2436)
- อัลเฟรด ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา (Alfred) (พ.ศ. 2436 - พ.ศ. 2443)
- คาร์ล เอดูอาร์ด ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา (Carl Eduard) (พ.ศ. 2443 - พ.ศ. 2461)
ประมุขแห่งราชวงศ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2461
[แก้]- คาร์ล เอดูอาร์ด ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา (Carl Eduard) (พ.ศ. 2461 - พ.ศ. 2497)
- เจ้าชายฟรีดริช โยซิอาสแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา (Prince Friedrich Josias) (พ.ศ. 2497 - พ.ศ. 2541)
- อันเดรียส เจ้าชายแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา (Prince Andreas) (พ.ศ. 2541 - ปัจจุบัน)
สายอื่นๆ
[แก้]ราชอาณาจักรเบลเยียม
[แก้]- สมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโปลด์ที่ 1 แห่งเบลเยียม (Leopold I) (พ.ศ. 2374 - พ.ศ. 2408)
- สมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโปลด์ที่ 2 แห่งเบลเยียม (Leopold II) (พ.ศ. 2408 - พ.ศ. 2452)
- สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 1 แห่งเบลเยียม (Albert I) (พ.ศ. 2452 - พ.ศ. 2477)
- สมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโปลด์ที่ 3 แห่งเบลเยียม (Leopold III) (พ.ศ. 2477 - พ.ศ. 2494)
- สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงแห่งเบลเยียม (Boudewijn I/Baudouin I) (พ.ศ. 2494 - พ.ศ. 2536)
- สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 แห่งเบลเยียม (Albert II) (พ.ศ. 2536 - ปัจจุบัน)
ชื่อของราชวงศ์ประเทศเบลเยียม
[แก้]ในปี พ.ศ. 2463 สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 1 ทรงตัดสินพระทัยที่จะไม่ใช้ชื่อว่า ซัคเซิน-โคบวร์คและโกธา เป็นชื่อทางการของราชวงศ์เบลเยียมต่อไป การตัดสินพระทัยของพระองค์เป็นแบบลับๆ และไม่ได้ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา ดังนั้นจึงทำให้เกิดความสับสนในบางประเทศและแม้แต่ประเทศเบลเยียมว่าราชวงศ์เบลเยียมยังคงใช้ชื่อ ซัคเซิน-โคบวร์คและโกธา ชื่อของพระราชวงศ์เปลี่ยนเป็น van België, de Belgique และ von Belgien (แห่งเบลเยียม) เนื่องจากว่าประเทศเบลเยียมมีภาษาราชการสามภาษา จึงต้องใช้สามภาษาเป็นชื่อทางการของพระราชวงศ์โดยไม่มีการเลือกใช้อันใดอันหนึ่ง ทำให้เป็นราชวงศ์เดียวในโลกที่มีชื่อราชวงศ์ต่างกันสามชื่อแต่มีผลใช้ได้เท่ากัน ชื่อราชวงศ์นี้ใช้ในบัตรประจำตัวสมาชิกในพระราชวงศ์และเอกสารทางราชการต่างๆ (เช่น ทะเบียนสมรส ฯลฯ)
การขึ้นครองราชย์ของสมาชิกคนใดคนหนึ่งในราชวงศ์เบลเยียม ราชสกุลของพระองค์จะเปลี่ยนเป็น der Belgen, des Belges และ der Belgier แปลว่า แห่งชาวเบลเยียม เพื่อที่จะบ่งบอกว่าประเทศเบลเยียมมีระบอบกษัตริย์อันเป็นที่นิยมทั่วประเทศ
ราชอาณาจักรโปรตุเกส
[แก้]- หมายเหตุ: ในโปรตุเกส ราชวงศ์นี้ไม่ได้แยกออกจากราชวงศ์บราแกนซา (House of Bragança) เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงมีชื่อเรียกว่า ราชวงศ์บราแกนซา-เวตติน (House of Bragança-Wettin)
- สมเด็จพระราชาธิบดีเปโดรที่ 5 แห่งโปรตุเกส (Pedro V) (พ.ศ. 2396 – พ.ศ. 2404)
- สมเด็จพระราชาธิบดีหลุยส์ที่ 1 แห่งโปรตุเกส (Luis I) (พ.ศ. 2404 – พ.ศ. 2432)
- สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลอสที่ 1 แห่งโปรตุเกส (Carlos I) (พ.ศ. 2432 – พ.ศ. 2451)
- สมเด็จพระราชาธิบดีมานูเอลที่ 2 แห่งโปรตุเกส (Manuel II) (พ.ศ. 2451 – พ.ศ. 2453) (สวรรคต พ.ศ. 2475)
ราชอาณาจักรแห่งบัลแกเรีย (Tsardom of Bulgaria)
[แก้]- สมเด็จพระราชาธิบดีเฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งบัลแกเรีย (Ferdinand I) (พ.ศ. 2430 – พ.ศ. 2461)
- สมเด็จพระราชาธิบดีโบริสที่ 3 แห่งบัลแกเรีย (Boris III) (พ.ศ. 2461 – พ.ศ. 2486)
- สมเด็จพระราชาธิบดีซิมอนที่ 2 แห่งบัลแกเรีย (Simeon II) (พ.ศ. 2486 – พ.ศ. 2489) เมื่อทรงได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งบัลแกเรีย มีพระนาม ซิมอน ซัคเซิน-โคบวร์ค-โกธา (Simeon Saxe-Coburg-Gotha)
สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์
[แก้]- สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร (Edward VII) (พ.ศ. 2444 – พ.ศ. 2453)
- สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร (George V) (พ.ศ. 2453 – พ.ศ. 2479) จนถึงปี พ.ศ. 2460 เมื่อพระราชวงศ์เปลี่ยนชื่อเป็นราชวงศ์วินด์เซอร์
อย่างไรก็ดี จากเว็บไซต์ทางการของราชสำนักแห่งสหราชอาณาจักรกล่าวว่า "กษัตริย์อังกฤษเพียงพระองค์เดียวแห่งราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกธาคือ สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ซึ่งทรงอยู่ในราชสมบัติเป็นเวลาเก้าปี.......สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงเปลี่ยนชื่อราชวงศ์ที่ฟังดูเป็นเยอรมันมาเป็นราชวงศ์วินด์เซอร์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่วนชื่อซัคเซิน-โคบวร์คและโกธายังคงมีอยู่ในราชสำนักยุโรปหลายประเทศ รวมถึงโปรตุเกสและบัลแกเรีย และราชวงศ์เบลเยียมจนกระทั่งปี พ.ศ. 2463"[2]
ชื่อของราชวงศ์สหราชอาณาจักร
[แก้]เจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา พระโอรสพระองค์เล็กในดยุกแอร์นส์ที่ 1 เป็นพระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ซึ่งเป็นพระภาติยะในดยุกแอร์นส์ โดยผ่านทางเจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟลด์ พระกนิษฐา ด้วยเหตุนี้ จากการอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายอัลเบิร์ตและสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา จึงกลายมาเป็นชื่อราชวงศ์ของพระราชวงศ์อังกฤษ ตั้งแต่การเสวยราชสมบัติของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 เมื่อปี พ.ศ. 2444 จนกระทั่งเปลี่ยนเป็นราชวงศ์วินด์เซอร์ ในปี พ.ศ. 2460 โดยสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 เนื่องจากการใช้ชื่อเยอรมันนับว่าเป็นการไม่รักชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา ไม่ใช่ ราชสกุลส่วนพระองค์ ของทั้งเจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ต สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และพระโอรสและธิดา แต่อันที่จริงแล้วทั้งสองพระองค์ไม่ทรงรู้จักราชสกุลจริง (ราชวงศ์ไม่จำเป็นและไม่เคยต้องมีตัวบ่งบอกความเป็นราชวงศ์ทั่วไปเช่นนั้น) จนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อพระองค์มีพระประสงค์จะทราบถึงราชสกุลที่แท้จริง หลังจากการค้นหาอันเหน็ดเหนื่อย สภาที่ปรึกษาได้สรุปว่าเจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ต และสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (จากการอภิเษกสมรส) ทรงมีราชสกุลส่วนพระองค์ว่า เวตติน (Wettin)
สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงเปลี่ยนราชสกุลจากทั้ง เวตติน และ ซัคเซิน-โคบวร์คและโกธา เป็น วินด์เซอร์ อย่างไรก็ดี พระบรมราชโองการโดยคำแนะนำขององคมนตรีในปี พ.ศ. 2503 ได้แยกชื่อราชวงศ์และราชสกุลส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถและพระบรมวงศานุวงศ์ออกจากกัน จึงมีผลบังคับใช้ว่าขณะชื่อราชวงศ์ยังคงเป็น วินด์เซอร์ เชื้อสายในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ จะทรงใช้ราชสกุลว่า เมานท์แบ็ทเท็น-วินด์เซอร์ อย่างไรก็ดี เจ้าชายฟิลิปทรงอยู่ในราชวงศ์ชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซอนเดอร์บูร์ก-กลึกซ์บูร์ก (Schleswig-Holstein-Sonderburg-Glücksburg) และโดยหลักการยังรวมไปถึงเชื้อสายในพระโอรสอีกด้วย
อ้างอิง
[แก้]ดูเพิ่ม
[แก้]- ประเทศเยอรมนี
- รายพระนามกษัตริย์แห่งหมู่เกาะอังกฤษ
- พระราชสวามี และพระมเหสีในพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร
- ราชวงศ์วินด์เซอร์
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- The Ducal House of Saxe-Coburg and Gotha เก็บถาวร 2007-05-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ เป็นภาษาอังกฤษ (อังกฤษ)
- The Catholic Encyclopedia: Saxe-Coburg and Gotha บทความเกี่ยวกับดัชชีเขียนในปี พ.ศ. 2453 (อังกฤษ)