รายชื่อคลองในกรุงเทพมหานคร
คลองในกรุงเทพมหานคร มีจำนวน 1,161 คลอง และคูลำกระโดง จำนวน 521 คู รวมเป็น 1,682 คูคลอง ความยาว 2,604 กม.[1]
มีการขุดคลองมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แบ่งได้เป็น คลองรอบเมืองหรือคลองคูเมือง ขุดเพื่อป้องกันการรุกราน ของศัตรู มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ต่อมาคือคลองลัด ขุดขึ้นเพื่อย่นระยะเวลาในการเดินทาง และคลองเชื่อมแม่น้ำ ขุดขึ้น เพื่อประโยชน์ในการคมนาคมขนส่ง และดูแลหัวเมืองใกล้เคียง
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ถือได้ว่าเป็นยุคที่มีการขุดคลองมากที่สุดยุคหนึ่ง มีทั้งขุดคลองใหม่และขุดลอกคลองเก่า เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกและเส้นทางคมนาคมระหว่างกรุงเทพกับจังหวัดข้างเคียง ที่มีการผลิตข้าวและเป็นเส้นทางลำเลียงข้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศ ดังพระราชดำริที่กล่าวไว้ในประกาศเรื่องอนุญาตขุดคลอง "การขุดคลอง" เพื่อที่จะให้เป็นที่มหาชนทั้งปวงได้ไปมาอาศัย และเป็นทางที่จะให้สินค้าได้บรรทุกไปมาโดยสะดวก ซึ่งให้ผลแก่การเรือกสวนไร่นา ซึ่งจะได้เกิดทวีขึ้นในพระราชอาณาจักร เป็นการอุดหนุนการเพาะปลูกในบ้านเมืองให้วัฒนาเจริญยิ่งขึ้น"[2]
ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีคลองที่สำคัญเกิดขึ้นหลายสายเช่น คลองเปรมประชากร คลองนครเนื่องเขต คลองประเวศบุรีรมย์ คลองอุดมชลจร คลองราชมนตรี คลองทวีวัฒนา คลองนราภิรมย์ คลองรังสติประยูรศักดิ์ คลองประปา เป็นต้น
ต่อไปนี้เป็นรายชื่อคลองในกรุงเทพมหานคร
ฝั่งพระนคร
[แก้]- คลองบางซื่อ จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคันคลองประปา แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณใกล้กับท่าน้ำเกียกกาย ไปทางทิศตะวันออกในพื้นที่เขตบางซื่อและเขตดุสิต ตัดกับคลองเปรมประชากรและคลองประปา หลังจากนั้นลำคลองมีลักษณะตรงเข้าไปในพื้นที่เขตพญาไทและเขตดินแดง ก่อนไปบรรจบกับคลองลาดพร้าวในพื้นที่เขตห้วยขวาง ในอดีตคลองบางซื่อสามารถใช้สัญจรทางน้ำได้ตลอดทั้งสาย ปัจจุบันชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมคลองยังคงใช้เรือสัญจรไปมาอยู่บ้างในระยะทางใกล้ ๆ เนื่องจากมีแนวคลองประปากีดขวางและการสัญจรทางบกสะดวกขึ้นมาก สภาพของคลองในปัจจุบันมีความกว้างประมาณ 12-20 เมตร แต่น้ำมีสีขุ่นดำและมีสภาพเน่าเสีย
- คลองประปา เป็นคลองขุด เริ่มต้นจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ไหลเป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอปากเกร็ด และอำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี กับเขตดอนเมือง เขตหลักสี่ และเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร จากนั้นไหลเข้าสู่เขตบางซื่อ เขตดุสิต ไปจดคลองสามเสนที่เขตพญาไท
- คลองสามเสน จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงปลายคลองบางกระสัน เชื่อว่าเป็นคลองที่เ���ิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มิใช่ฝีมือมนุษย์ขุดขึ้น[3]
- คลองเปรมประชากร จากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงคลองบางซื่อ
- คลองผดุงกรุงเกษม จากปากคลองทางเหนือ ถึงปากคลองทางใต้
- คลองบางลำพู จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงปากคลองมหานาค
- คลองโอ่งอ่าง จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงปากคลองมหานาค
- คลองตลาด จากปากคลองทางทิศเหนือ ถึงปากคลอง
- คลองหลอด เชื่อมคลองคูเมืองเดิมออกไปบรรจบกับคลองรอบกรุง มี 2 คลอง คือ คลองหลอดวัดราชนัดดา และ คลองหลอดวัดราชบพิธ
- คลองวัดเทพธิดา จากคลองตลาด ถึงคลองโอ่งอ่าง
- คลองวัดราชบพิธ จากคลองตลาดถึงคลองโอ่งอ่าง
- คลองมหานาค จากคลองบางลำพู ถึงคลองผดุงกรุงเกษม
- คลองบางกะปิ จากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงเขตเทศบาลนครกรุงเทพฯ (หลักเขตที่ 6) แยกจากคลองแสนแสบฝั่งซ้าย โดยเริ่มต้น แยกจากคลองแสนแสบฝั่งซ้าย ไหลไปทางทิศเหนือ ก่อนไปบรรจบกับคลองสามเสน คลองบางกะปิสายปัจจุบันแต่เดิมเป็นคลองที่ใช้สำหรับสัญจรทางน้ำ ในปัจจุบันไม่ได้ใช้สัญจรแล้ว ลำคลองในปัจจุบันกว้างประมาณ 10-12 เมตร สภาพน้ำในคลองเน่าเสีย เนื่องจากมีคนมักง่ายชอบทิ้งขยะลงคลอง โดยล่าสุดทางกรุงเทพมหานครได้ติดป้ายสาปแช่งผู้ที่ทิ้งขยะลงคลองบางกะปิ โดยสาปแช่งให้ผู้ที่ทิ้งขยะลงคลองจงมีแต่ปัญหาและอุปสรรคตลอดเวลา[4]
- คลองแสนแสบ ขุดขึ้นเพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง
- คลองท่าวาสุกรี จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นคลองสายสั้น ๆ ที่ผ่านในบริเวณท่าวาสุกรี และวัดราชาธิวาสวิหาร แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณข้างๆท่าวาสุกรี และไหลไปทางถนนสามเสน ตลอดแนวคลองขนานไปกับรั้วท่าวาสุกรี และไปสิ้นสุดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา คลองท่าวาสุกรีมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า"คลองท่อ" ลำคลองมีความกว้างประมาณ 6-12 เมตร สภาพน้ำในคลองขึ้นอยู่กับระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันยังคงมีปลาเล็กปลาน้อยอาศัยอยู่ในคลอง (ซึ่งในบางครั้งอาจมีปลาบางชนิดที่หลงมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาอาศัยอยู่ในคลองด้วย) และเป็นที่อยู่อาศัยของตะกวดและตัวเงินตัวทองอีกด้วย
- คลองหัวลำโพง จากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงคลองเตย ในอดีตเป็นคลองสายสำคัญสายหนึ่ง โดยเป็นคลองที่ขุดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่4 เมื่อปี พ.ศ. 2400 โดยขุดจากคลองผดุงกรุงเกษม ไปทางทิศตะวันออก และไปบรรจบคลองเตยและคลองพระโขนง โดยนำดินที่ขุดคลองดังกล่าวมาถมสร้างเป็นถนนขนานไปกับคลอง นั่นคือ ถนนตรง หรือ ถนนพระรามที่ 4 ในปัจจุบัน ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายถนนพระรามที่ 4 และเป็นผลทำให้คลองหัวลำโพงที่ขนานอยู่ริมถนนต้องถูกถมทิ้งเพื่อขยายถนน ซึ่งทำให้ถนนพระรามที่ 4 มีขนาดกว้างใหญ่อย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้ ส่วนคลองหัวลำโพงในปัจจุบันปรากฏให้เห็นเพียงแค่ช่วงระหว่างคลองเตยถึงคลองพระโขนงเท่านั้น
- คลองสวนหลวง จากคลองนางหงษ์ ถึงคลองหัวลำโพง
- คลองอรชร จากคลองบางกะปิ ถึงคลองหัวลำโพง ปัจจุบันถูกถมเป็นถนนอังรีดูนังต์
- คลองราชดำริ จากคลองบางกะปิ ถึงถนนพระราม4
- คลองไผ่สิงห์โต จากคลองราชดำริ ถึงคลองหัวลำโพง
- คลองสีลม จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองหัวลำโพง
- คลองสาทร จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองหัวลำโพง
- คลองขื่อหน้า จากคลองบางกะปิ ถึงคลองสามเสน
- คลองวัดใหม่ จากคลองบางซื่อ ถึงวัดใหม่ทองเสน
- คลองข้างกรมช่างแสง จากคลองบางซื่อ ถึงโรงเรียนทหารสื่อสาร
- คลองบางกระบือ จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงปลายคลองวัดน้อย
- คลองวัดน้อย จากคลองเปรมประชากร ถึงปลายคลองบางกระบือ
- คลองบางทองหลาง จากคลองสามเสน ถึงถนนองครักษ์
- คลองส้มป่อย จากคลองสามเสน คลองบางกะปิ ถึงถนนราชวัตรเก่า ถนนเพชรบุรี
- คลองอั้งโล่ จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงโรงพยาบาลวชิระ
- คลองวัดส้มเกลี้ยง จากแม้น้ำเจ้าพระยา ถึงถนนขาว
- คลองวัดราชาธิวาส จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงถนนสามเสน
- คลองบ้านญวน จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงถนนสามเสน
- คลองบางขุนพรหม จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ถึงถนนวิสุทธิกษัตริย์ หลังโรงเรียนนายร้อยทหารบก
- คลองวัดมงกุฏกษัตริย์ (คือ มกุฏกษัตริย์) จากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงหลังวัดมงกุฏกษัตริย์
- คลองวัดโสมนัสวิหาร จากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงถนนจักรพรรดิพงษ์ หลังวัดโสมนัสวิหาร
- คลองวัดตรีทศเทพ จากคลองบางลำพู ถึงหลังวัดตรีทศเทพ และจากคลองบางลำพู ถึงข้างวัดตรีทศเทพ
- คลองบ้านหล่อ จากคลองบางลำภู ถึงถนนวิสุทธิกษัตริย์
- คลองวัดปริณายก จากคลองบางลำพู ถึงหลังวัดปริณายก
- คลองจุลนาค จากคลองมหานาค ถึงถนนนครสวรรค์
- คลองวัดคอกหมู จากคลองมหานาค ถึงหลังวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแค)
- คลองวัดสมณานัมบริหาร (คือวัดญวน) จากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงถนนพิษณุโลก และจากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงหลังวัดสมณานัมฯ
- คลองลำปรัก จากคลองวัดสมณานัมฯ ถึงคลองวัดขื่อหน้า
- คลองวัดรังษี จากคลองบางลำพู ถึงถนนดินสอ
- คลองวัดบวรนิเวศน์ จากคลองบางลำพู ถึงถนนบ้านแขก
- คลองนางชี จากคลองมหานาค ถึงสะพานแม้นศรี
- คลองวัดเทพศิรินทร์ จากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงถนนพลับพลาไชย
- คลองศาลเจ้าเก่า จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงถนนทรงวาด
- คลองวัดปทุมคงคา จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงวัดปทุมคงคา
- คลองวัดสระบัว จากคลองบางกะปิ ถึงถนนพระรามที่ 1
- คลองนางหงษ์ จากคลองบางกะปิ ถึงคลองวัดสระบัว
- คลองข้าวัดใหม่ จากคลองบางกะปิ ถึงถนนพระรามที่ 1
- คลองพญาไท จากคลองบางกะปิ ถึงถนนเพชรบุรี
- คลองสวนน้อย จากคลองบางกะปิ ถึงตำบลพญาไท
- คลองซุง เป็นคลองสายสั้นๆในเขตบางซื่อ อยู่ในบริเวณเชิงสะพานพระราม 6 ฝั่งพระนคร เป็นคลองที่ขุดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อใช้สำหรับพักท่อนซุงที่ขนโดยเรือมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนลำเลียงขึ้นรถไฟ โดยขุดจากแม่น้ำเจ้าพระยา ลึกเข้าไปประมาณ 500 เมตร โดยแนวคลองขนานไปกับทางรถไฟสายใต้ คลองซุงมีความกว้างประมาณ 12-16 เมตร ยาวประมาณ 500 เมตร สภาพน้ำในคลองสะอาด คลองซุงเคยถูกการทางพิเศษแห่งประเทศไทยถมไปครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2557 เพื่อสร้างทางพิเศษประจิมรัถยา ปัจจุบันได้ถูกขุดขึ้นมาใหม่ โดยยังคงมีสภาพน้ำในคลองที่สะอาดเช่นเดิม แต่มีขนาดเล็กลงจากเดิมครึ่งหนึ่ง
- คลองฆ่าเด็ก เป็นคลองน้ำเสียที่ไหลมาจากจุดบรรจบคลองบางซ่อน คลองวัดเสาหินและคลองสาธารณประโยชน์ ไหลลงมาทางทิศใต้ และไปบรรจบคลองบางโพ เหตุที่ได้ชื่อว่าคลองฆ่าเด็ก เพราะในสมัยก่อนเคยมีคดีฆ่าเด็กชายวัย 4-5 ขวบและนำศพมาทิ้งไว้ในคลองดังกล่าว แต่ตำรวจไม่สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้ คลองฆ่าเด็กมีความกว้างประมาณ 3-4 เมตร
- คลองบางกระสัน จากคลองบางกะปิ ถึงคลองสามเสน
- คลองเตย จากปากคลองหัวลำโพง ถึงปลายคลอง เป็นคลองที่แยกออกจากฝั่งซ้ายของคลองพระโขนงที่เขตพระโขนง โดยต่อเป็นแนวเดียวกับคลองหัวลำโพง ซึ่งขุดมาจากคลองผดุงกรุงเกษม บริเวณสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) โดยคลองเตยเป็นชื่อเรียกคลองในช่วงตั้งแต่ตลาดคลองเตย จนถึงคลองพระโขนง
- คลองหัวลำโพงเก่า จากตรงตรอกสะพานสว่าง ถึงถนนสี่พระยา
- คลองช่องนนทรี จากถนนสี่พระยา ถึงเขตเทศบาลนครกรุงเทพฯ ระหว่างหลักเขตที่ 9-10 เป็นเกาะกลางของถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นคลองที่แยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่เขตยานนาวา ผ่านแยกพระรามที่ 3 - นราธิวาส จากนั้นลำคลองทั้ง 2 ฝั่งขนานไปกับถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ตัดกับถนนจันทน์เก่า เข้าสู่พื้นที่เขตสาทร ลำคลองยังคงขนานไปกับถนนนราธิวาสฯ จากนั้นตัดกับถนนสาทร เข้าสู่เขตบางรัก คลองสายนี้จึงไปสิ้นสุดที่แยกนราธิวาส ซึ่งเป็นช่วงที่ถนนนราธิวาสฯ ตัดกับถนนสุรวงศ์ คลองช่องนนทรีมีความกว้างช่วงปากคลองประมาณ 20 เมตร ส่วนช่วงที่เลียบไปกับถนนนราธิวาสฯ มีความกว้างประมาณ 6-8 เมตร สภาพน้ำในคลองช่วงปากคลองสะอาด ส่วนสภาพน้ำในคลองช่วงเลียบถนนนราธิวาสฯ มีสภาพเน่าเสียเป็นบางช่วง
- คลองสาทร ขุดแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณใกล้วัดยานนาวาไปบรรจบคลองหัวลำโพง ซึ่งในปัจจุบันถูกถมเป็นถนนพระรามที่ 4
- คลองข้างบ้านหมอเฮย์ จากคลองสีลม ถึงคลองสาธร
- คลองข้างป่าช้าจีน จากคลองสาธร ถึงป่าช้าจีน
- คลองวัดยานนาวา จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงปลายคลอง
- คลองกรวย จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงเขตเทศบาลกรุงเทพฯ ระหว่างหลักเขตที่ 10-11
- คลองบางขวาง จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงเขตเทศบาลนครกรุงเทพฯ ระหว่างหลักเขตที่ 10-11
- คลองบ้านใหม่ จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงเขตเทศบาลนครกรุงเทพฯ หลักเขตที่ 10-11
- คลองสวนหลวง จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงปลายคลอง
- คลองวัว จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงสุเหร่าแขก
- คลองบางคอแหลม จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงปลายคลอง
- คลองถนน เริ่มจากการไหลขึ้นมาทางทิศเหนือของปลายคลองบางบัว โดยจุดเริ่มต้นของคลองถนนอยู่ที่จุดตัดกับคลองบางเขน จากนั้นไหลไปทางทิศเหนือผ่านถนนแจ้งวัฒนะ จากนั้นไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไปสิ้นสุด���ริเวณสะพานใหม่โดยมีแนวคลองที่ตรงต่อเนื่องไปคือคลองสอง ปัจจุบันคลองถนนไม่มีการสัญจรทางน้ำแล้วเนื่องจากการสัญจรทางบกสะดวกขึ้นและสภาพน้ำในคลองเน่าเสีย
- คลองกะจะ เป็นคลองที่คาดว่าน่าจะเป็นคลองสายต่อจากคลองสามเสน เนื่องจากปากคลองของทั้ง 2 คลองในด้านออกคลองแสนแสบนั้นมีที่ตั้งเยื้องๆกัน สำหรับคลองกะจะนี้แยกจากคลองแสนแสบฝั่งขวา ลำคลองไหลผ่านพื้นที่เขตสวนหลวง เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ และเขตสะพานสูง ก่อนไปออกคลองหัวหมาก คลองกะจะมีความกว้างประมาณ 6-14 เมตร
- คลองกุ่ม เป็นคลองที่แยกออกจากฝั่งซ้ายของคลองแสนแสบเชื่อมต่อไปยังบึงเสรีไทยและบึงกุ่ม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตบึงกุ่ม
- คลองคูเมืองเดิม เป็นคลองคูเมืองออกแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านเหนือที่ท่าช้างวังหน้า ด้านใต้ที่ปากคลองตลาด
- คลองจั่น เป็นคลองที่แยกออกจากฝั่งซ้ายของคลองแสนแสบ และเป็นเส้นแบ่งเขตการแกครองระหว่างแขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กับ แขวงวังทองหลาง และแขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง ที่มาของชื่อคลองจั่น คือ ในสมัยก่อนบริเวณคลองจั่นด้านที่เชื่อมกับคลองแสนแสบมีต้นจั่นจำนวนมาก ผู้คนจึงเรียกคลองนี้ว่าคลองจั่น
- คลองชวดใหญ่ เป็นคลองสายหนึ่งในเขตห้วยขวางที่มีขนาดใหญ่ แยกจากคลองสามเสนฝั่งซ้าย ไหลขึ้นไปทางทิศเหนือผ่านถนนพระราม 9 จากนั้นโค้งไปทางทิศตะวันออกและไปบรรจบคลองลาดพร้าว คลองชวดใหญ่ในอดีตสามารถใช้สัญจรทางน้ำได้ ลำคลองในปัจจุบันกว้างประมาณ 8-16 เมตร สภาพน้ำในคลองเน่าเสีย เนื่องจากรับน้ำมาจากคลองลาดพร้าวและคลองแสนแสบซึ่งเป็นคลองน้ำเสียโดยตรง
- คลองทรงกระเทียม เป็นคลองสาขาของคลองลาดพร้าว แยกจากคลองลาดพร้าวบริเวณใกล้ ๆ กับวัดลาดพร้าว ผ่านโรงพยาบาลเปาโลสยาม ถนนโชคชัย 4 ถนนนาคนิวาส ถนนประดิษฐ์มนูธรรม ไปบรรจบกับคลองจั่น ในปัจจุบันลำคลองกว้างประมาณ 6-13 เมตร มีสภาพตื้นเขิน เมื่อฝนตกมักจะเกิดน้ำท่วมเสมอ
- คลองน้ำแก้ว เป็นคลองสายรองที่แยกมาจากคลองพญาเวิก ไหลผ่านถนนรัชดาภิเษก ถนนลาดพร้าว ก่อนไปบรรจบคลองลาดพร้าว คลองน้ำแก้วมีความกว้างประมาณ 4-8 เมตร สภาพน้ำในคลองเน่าเสีย เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างเขตดินแดงและเขตห้วยขวาง กับเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
- คลองพญาเวิก เป็นคลองในพื้นที่เขตดินแดงและเขตจตุจักร แยกออกจากคลองบางซื่อ ไหลไปทางทิศเหนือก่อนไปสิ้นสุดที่ถนนลาดพร้าว คลองพญาเวิกมีความกว้างประมาณ 3-7 เมตร สภาพน้ำเน่าเสีย
- คลองบางเขน เป็นคลองที่แยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออก ในช่วงแรกลำคลองมีลักษณะเป็นคลองคดเคี้ยวคล้ายกับคลองพระโขนง หลังจากนั้นลำคลองมีลักษณะตรงมากขึ้น ตัดผ่านคลองสายสำคัญได้แก่ คลองบางเขนใหม่ คลองประปา คลองลาดโตนด และคลองเปรมประชากร ก่อนจะไปบรรจบกับคลองบางบัว ปัจจุบันคลองบางเขนเป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างตำบลสวนใหญ่ ตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี กับแขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร และระหว่างแขวงทุ่งสองห้อง แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กับแขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
- คลองบางเขนใหม่ เป็นคลองที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร เขตบางซื่อ จากนั้นไหลขึ้นไปทางทิศเหนือและไปบรรจบกับคลองบางเขน ปัจจุบันลำคลองกว้างประมาณ 10-16 เมตร ปัจจุบันใช้สำหรับการระบายน้ำจากคลองบางเขนเมื่อเกิดน้ำท่วม นอกจากนี้ คลองบางเขนใหม่ยังเป็นคลองที่ใช้สำหรับแข่งเรือยาวประเพณีของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
- คลองบางซ่อน เป็นคลองในเขตบางซื่อ แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งขวา ไหลผ่านถนนประชาราษฎร์สาย 1 ไปบรรจบท้ายคลองวัดเสาหิน ในขณะเดียวกันคลองวัดเสาหินนี้ก็มีชื่อเรียกว่าคลองบางซ่อนเหมือนกัน จึงถือว่าคลองวัดเสาหินก็เป็นคลองบางซ่อนช่วงที่ 2 โดยไหลไปบรรจบกับคลองบางเขน ส่วนคลองบางซ่อนช่วงที่ 1 (ช่วงแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปบรรจบคลองวัดเสาหิน) ก็มีชื่อเรียกอีกชื่อคือ คลองกระดาษ คลองบางซ่อนมีความกว้างในปัจจุบันประมาณ 10-13 เมตร ช่วงท้ายคลองน้ำเน่าเสีย
- คลองบางตลาด เป็นคลองในจังหวัดนนทบุรีและกรุงเทพมหานคร แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกที่จังหวัดนนทบุรี โดยไหลไปทางทิศตะวันออก ผ่านโรงพยาบาลชลประทาน สำนักงานชลประทานที่ 11 ถนนติวานนท์ ถนนเลี่ยงเมืองปากเกร็ด จากนั้นแนวคลองขนานไปกับถนนสามัคคี จากนั้นตัดกับคลองประปา เข้าสู่พื้นที่เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร และไปสิ้นสุดที่คลองเปรมประชากร ลำคลองกว้างประมาณ 8-13 เมตร โดยคลองนี้เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างตำบลท่าทรายและตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี กับตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
- คลองบางนา โดยเริ่มจากการแยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณใกล้ ๆ กับกรมสรรพาวุธทหารเรือ ไหลผ่านถนนทางรถไฟสายเก่า ถนนสุขุมวิท ไหลผ่านถนนลาซาล (สุขุมวิท 105) จากนั้นไหลตรงเข้าไปทางทิศตะวันออก ก่อนจะเป็นเส้นแบ่งระหว่างเขตบางนา กรุงเทพมหานคร กับอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ หลังจากนั้นไหลผ่านถนนศรีนครินทร์ ก่อนจะไหลไปทางทิศเหนือ และไหลผ่านถนนบางนา-ตราด และไปสิ้นสุดที่จุดตัดระหว่างคลองเคล็ดและคลองสาหร่าย คลองบางนาในปัจจุบันนี้มีความกว้างต่ำสุดที่ 2 เมตร และมีความกว้างสูงสุดประมาณ 12-14 เมตร ลำคลองในปัจจุบันตื้นเขินและมีสภาพน้ำเน่าเสีย ไม่สามารถใช้สัญจรทางน้ำหรือใช้อุปโภคบริโภคได้อีก
- คลองบางบัว เป็นคลองที่เชื่อมระหว่างคลองลาดพร้าวกับคลองถนน โดยคลองสายนี้มีจุดเริ่มต้นจากการไหลต่อเนื่องมาจากปลายคลองลาดพร้าว ซึ่งอยู่ระหว่างสะพานเสนานิคม 1 กับสะพานถนนประเสริฐมนูกิจ จากนั้นไหลผ่านกรมทหารราบที่ 11 รัก��าพระองค์ ถนนพหลโยธิน และไปสิ้นสุดที่จุดตัดคลองบางเขน โดยมีคลองที่ไหลต่อเนื่องขึ้นไปคือคลองถนน คลองบางบัวมีความกว้างประมาณ 17-25 เมตร สภาพน้ำในคลองเน่าเสีย ในอดีตใช้สำหรับการสัญจรทางน้ำ
- คลองบ้านม้า เป็นคลองสายสำคัญในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เริ่มต้นโดยแยกมาจากคลองประเวศบุรีรมย์ จากนั้นตัดกับคลองบึง (คลองบ้านม้าสายเก่า) ไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ไหลผ่านถนนศรีนครินทร์ ตั้งแต่ไหลผ่านบริเวณนี้เป็นต้นไปมีชื่อเรียกว่า "คลองหัวหมาก" จากนั้นไหลขึ้นไปทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไหลผ่านถนนศรีนครินทร์อีกครั้ง และไหลผ่านทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์) ไปทางทิศเหนือและทิศตะวันตก จากนั้นตัดกับคลองกะจะ และไหลไปทางทิศเหนือ ตั้งแต่ช่วงนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "คลองลำสาลี" ก่อนจะหักไปทางทิศตะวันตก และไหลโค้งไปทางทิศตะวันออกและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "คลองหัวหมากน้อย" จากนั้นจึงกลับมาเป็นคลองบ้านม้าเช่นเดิม ก่อนลอดผ่านถนนรามคำแหงและเลียบไปกับถนนศรีบูรพา และไปออกคลองแสนแสบ คลองบ้านม้ามีความกว้างตลอดสายประมาณ 5-22 เมตร สภาพน้ำในคลองสะอาดร้อยละ 60 และเน่าเสียร้อยละ 40 ปัจจุบันยังคงมีชาวบ้านที่เป็นชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมอาศัยอยู่ริมคลองนี้อยู่บ้าง ในอดีตใช้สำหรับการสัญจรทางน้ำและใช้ในการอุปโภคบริโภค
- คลองประเวศบุรีรมย์ เป็นคลองขุด ต่อจากคลองพระโขนงไปเชื่อมกับ แม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
- คลองพระโขนง เชื่อมกับคลองด่าน ออกสู่แม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
- คลองพลับพลา เป็นคลองสำคัญในพื้นที่เขตวังทองหลาง แยกจากคลองแสนแสบฝั่งซ้าย ไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ไหลผ่านด้านหลังของสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง จากนั้นไหลผ่านถนนประดิษฐ์มนูธรรม และไปออกคลองลาดพร้าว คลองพลับพลาในอดีตมีความกว้างประมาณ 4-8 เมตร สภาพน้ำในคลองสะอาด ต่อมาทางกรุงเทพมหานครได้เข้ามาขุดลอกและขยายคลอง เนื่องจากคลองแคบและตื้นเขิน ทำให้ในปัจจุบันมีความกว้างประมาณ 8-11 เมตร โดยสภาพน้ำในคลองยังคงสะอาดเช่นเดิม
- คลองรอบกรุง ขุดขนานไปกับแนวคูเมืองเดิม เริ่มจากริมแม่น้ำตอนบางลำพู วกไปออกแม่น้ำข้างใต้ บริเวณเหนือวัดสามปลื้ม
- คลองลาดพร้าว เป็นคลองในพื้นที่เขตห้วยขวางและเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร มีจุดเริ่มต้นแยกจากคลองแสนแสบ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศเหนือ ตัดกับทางน้ำสำคัญคือ ลำรางยมราช คลองพลับพลา คลองบางซื่อ คลองทรงกระเทียม คลองน้ำแก้ว และคลองเสือน้อย ไปสิ้นสุดบริเวณระหว่างสะพานถนนเสนานิคม 1 กับสะพานถนนประเสริฐมนูกิจ โดยมีแนวคลองที่ตรงต่อเนื่องไปคือคลองบางบัว ช่วงตั้งแต่วัดลาดพร้าวขึ้นไปจนถึงคลองบางบัวนั้นเดิมมีชื่อเรียกว่า "คลองวังหิน" แต่ปัจจุบันทางการได้เรียกรวมเป็นส่วนหนึ่งของคลองลาดพร้าว
- คลองลำพังพวย เป็นคลองในพื้นที่เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ และเขตวังทองหลาง เป็นคลองที่ยาวมาก และกินอาณาเขตถึง 3 เขต โดยคลองลำพังพวยนี้เป็นคลองที่รับน้ำมาจากคลองแสนแสบเมื่อเกิดน้ำท่วม ตามแนวพระราชดำริโครงการแก้มลิง ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อนำไปเก็บกักไว้ที่บึงลำพังพวย เขตบึงกุ่ม
- คลองวัดบึงทองหลาง เป็นคลองขุดที่เชื่อมระหว่างคลองจั่น ที่เป็นคลองสาขาของคลองแสนแสน กับคลองตาหนัง ในบริเวณหน้าวัดและหลังวัดบึงทองหลาง ไปเชื่อมกับคลองจั่นอีกครั้ง
- คลองเจ้าคุณสิงห์ เชื่อมกับคลองแสนแสบ ที่เป็นจุดกั้นระหว่างเขตบางกะปิ กับเขตวังทองหลาง
- คลองวัดศรีบุญเรือง เป็นคลองในพื้นที่เขตบางกะปิ โดยไหลแยกมาจากคลองแสนแสบบริเวณหน้าวัดศรีบุญเรือง ไหลผ่านถนนรามคำแหง ก่อนไปออกคลองบ้านม้า คลองวัดศรีบุญเรืองมีความกว้างประมาณ 7-11 เมตร สภาพน้ำในคลองสะอาด ในอดีตใช้สัญจรทางน้ำ
- คลองวัดเสาหิน เป็นคลองน้ำเน่าที่แยกมาจากคลองบางเขน ไหลผ่านถนนวงศ์สว่าง ก่อนไปสิ้นสุดที่ท้ายคลองบางซ่อน คลองวัดเสาหินนี้เป็นคลองสายต่อของคลองบางซ่อน จึงมีบางคนเรียกคลองนี้ว่า คลองบางซ่อน เช่นกัน คลองมีความกว้าง 3-5 เมตร
- คลองสามวา เป็นคลองซึ่งเชื่อมระหว่างคลองหกวา กับคลองแสนแสบ ปากคลองฝั่งเหนืออยู่ในพื้นที่ของอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ผ่านเขตคลองสามวา และไปบรรจบคลองแสนแสบ ที่เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร มีคลองซอยหลัก 8 คลองแบ่งเป็นสองฟากคือ คลองหนึ่งตะวันออก คลองหนึ่งตะวันตก คลองสองตะวันออก คลองสองตะวันตก คลองสามตะวันออก คลองสามตะวันตก คลองสี่ตะวันออก และคลองสี่ตะวันตก
- คลองหลอแหล เป็นคลองในพื้นที่เขตสะพานสูง โดยแยกจากบึงแห่งหนึ่งบริเวณถนนเสรีไทย ไหลลงมาทางทิศใต้ ตัดกับคลองแสนแสบ ผ่านถนนรามคำแหง ก่อนไปสิ้นสุดในบริเวณที่เรียกว่า "สามแยกคลองหลอแหล" ที่มีคลองหลอแหล คลองบางเลา และคลองบัวคลี่ มาบรรจบกัน คลองหลอแหล สันนิษฐานกันว่า ชื่อคลองนั้นมาจากคำว่า "รอนแรม" จนในเวลาต่อมาเพี้ยนเป็น "หลอแหล" ปัจจุบันลำคลองกว้างประมาณ 11-17 เมตร สภาพน้ำในคลองสะอาด ในอดีตคลองนี้เคยมีตลาดน้ำชื่อดังในชื่อ"ตลาดน้ำคลองหลอแหล" แต่ต่อมาตลาดน้ำแห่งนี้เริ่มซบเซา และปิดกิจการไปเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา
ฝั่งธนบุรี
[แก้]- คลองบางกอกน้อย จากแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่าน ถนนอรุณอัมรินทร์ ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนบรมราชชนนี ถึงสุดเขตเทศบาล
- คลองบางขุนศรี ตั้งแต่สี่แยกคลองมอญ ถึงคลองบางกอกน้อย
- คลองลัดบางขุนศรี จากคลองบางขุนศรี ถึงคลองบางกอกน้อย
- คลองชักพระ ไหลแยกจากคลองบางกอกน้อยบริเวณวัดสุวรรณคีรีไปเชื่อมกับบริเวณที่คลองมอญตัดกับคลองบางกอกใหญ่
- คลองบางขุนนนท์ จากคลองบางกอกน้อย ถึงคลองลัดบางขันสี เป็นคลองน้ำเสียที่แยกจากคลองบางกอกน้อยฝั่งซ้าย ไหลผ่านถนนบางขุนนนท์ ถนนเลียบทางรถไฟ ถนนจรัญสนิทวงศ์ และไปบรรจบท้ายคลองวัดยางสุทธาราม ลำคลองกว้างประมาณ7-9 เมตร
- คลองวัดมะ จากคลองบางขุนสี ถึงคลองบางขุนนนท์
- คลองมอญ จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงสี่แยกบางกอกใหญ่
- คลองบ้านขมิ้น จากคลองมอญถึงทางรถไฟสายบางกอกน้อย
- คลองวัดอรุณ จากคลองอมญ ถึงแม่น้ำเจ้าพระยา
- คลองวัดราชสิทธิ จากคลองบางกอกใหญ่ ถึงคลองวัดอรุณ
- คลองวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม ปัจจุบัน) จากคลองบางใหญ่ ถึงคลองมอญ
- คลองบางกอกใหญ่ จากแมน้ำเจ้าพระยา ถึงสี่แยกปากคลองมอญ
- คลองวัดบุปผาราม จากคลองบางกอกใหญ่ ถึงคลองสาน
- คลองกุดีจีน จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองวัดบุปผาราม
- คลองสาน จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองบางไส้ไก่
- คลองสมเด็จเจ้าพระยา เป็นคลองที่แยกออกจากฝั่งซ้ายของคลองสานในเขตคลองสาน เป็นคลองที่ขุดผ่านบริเวณบ้านของสมเด็จเจ้าพระยาทั้ง 3 ท่านคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เดิมทีเรียกว่า "คลองสามพระยา" เพื่อใช้ในการสัญจรทางน้ำ ลำคลองเลียบไปกับถนนสมเด็จเจ้าพระยาในปัจจุบัน ผ่านหน้าวัดพิชยญาติการาม ลอดผ่านถนนประชาธิปกเข้าพื้นที่เขตธนบุรี ผ่านข้างมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีและมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ไปบรรจบคลองบางไส้ไก่ซึ่งจะไปทะลุออกคลองบางกอกใหญ่ (บางหลวง) ในบริเวณใกล้ ๆ กัน คลองสมเด็จเจ้าพระยาในปัจจุบันมีความกว้างประมาณ 4-13 เมตร สภาพน้ำในคลองมีสีขุ่น
- คลองบางไส้ไก่ จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองบางกอกใหญ่
- คลองบางลำภูล่าง จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองบางไส้ไก่
- คลองต้นไทร จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองบางไส้ไก่ เป็นคลองเล็ก ๆ ที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรีบริเวณใกล้ ๆ กับสะพานตากสิน เป็นที่มาของชื่อแขวงคลองต้นไทร ในเขตคลองสาน คลองมีความกว้างประมาณ 6-10 เมตร ยาวประมาณ 400-600 เมตร ในอดีตคลองนี้สามารถไหลไปทะลุคลองบางไส้ไก้ได้ และยังเคยเป็นเกาะกลางของถนนกรุงธนบุรี แต่ในเวลาต่อมาได้มีการสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอสตรงเกาะกลางของถนนกรุงธนบุรี จึงเป็นผลทำให้คลองต้นไทรในส่วนที่อยู่ตรงเกาะกลางถนนถูกถมทิ้ง จนทำให้คลองต้นไทรมีระยะทางสั้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน สภาพน้ำในคลองช่วงต้นคลองสะอาด และมีปลาเล็กปลาน้อยอาศัยอยู่
- คลองบางน้ำชน ตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองบางกอกใหญ่
- คลองบางสะแก จากคลองบางกอกใหญ่ ถึงคลองบางค้อ
- คลองบางค้อ จากคลองดาวคะนอง ถึงคลองด่าน
- คลองด่าน จากคลองบางกอกใหญ่ ถึงสุดเขตเทศบาล
- คลองสำเหร่ แยกจากคลองบางกอกใหญ่ฝั่งซ้ายไหลลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นหักไปทางทิศตะวันออก และไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา คลองสำเหร่กว้างประมาณ 6-15 เมตร ในอดีตใช้สำหรับสัญจรทางน้ำ แต่ในปัจจุบันไม่ได้ใช้สัญจรแล้ว
- คลองดาวคะนอง จากแม่น้ำเจ้าพระยา ลอดผ่าน ถนนเจริญนคร และ ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน บรรจบกับคลองบางขุนเทียน
- คลองบางหว้า จากคลองด่าน ถึงสุดเขตเทศบาล เป็นคลองที่แยกจากคลองบางจากฝั่งซ้าย บริเวณใกล้ ๆ กับวัดจันทร์ประดิษฐาราม เขตภาษีเจริญ ไหลผ่านถนนเพชรเกษม ตัดกับคลองภาษีเจริญ ไหลผ่านถนนกัลปพฤกษ์เข้าสู่เขตจอมทองจากนั้นไหลผ่านวัดศาลาครืน วัดหนังราชวรวิหาร และวัดราชโอรสาราม ก่อนไปบรรจบกับคลองบางหลวงน้อย คลองบางหว้าในปัจจุบันมีความกว้างประมาณ 7-13 เมตร สภาพของน้ำในคลองสะอาด คลองนี้ในอดีตใช้สำหรับสัญจรทางน้ำ โดยสามารถสัญจรไปออกคลองสนามชัยและคลองดาวคะนองได้ เนื่องจากในละแวกนี้มีคลองสาขาที่แยกจากคลองใหญ่ๆหลายคลอง แต่ในปัจจุบันไม่มีการสัญ���รทางน้ำแล้ว
- คลองภาษีเจริญ จากคลองบางกอกใหญ่ ถึงสุดเขตเทศบาล
- คลองบางจาก จากคลองบางกอกใหญ่ ถึงสุดเขตเทศบาล โดยแยกจากคลองบางกอกใหญ่ฝั่งซ้ายที่เขตภาษีเจริญ ไหลผ่านถนนราชพฤกษ์ ถนนพุทธมณฑลสาย 1 ตัดกับคลองพระยาราชมนตรี เข้าสู่พื้นที่เขตบางแค จากนั้นไหลผ่านถนนกาญจนาภิเษก และถนนพุทธมณฑลสาย 2 ก่อนไปบรรจบคลองทวีวัฒนาที่เขตหนองแขม คลองบางจากมีความกว้างประมาณ 9-13 เมตร (ช่วงพื้นที่เขตภาษีเจริญ) และ 5-10 เมตร (ตั้งแต่ช่วงพื้นที่เขตบางแคเป็นต้นไป) สภาพน้ำในคลองช่วงที่ไหลผ่านพื้นที่เขตภาษีเจริญสะอาด แต่เมื่อผ่านตั้งแต่เขตบางแคเป็นต้นไปจึงเริ่มมีสภาพเน่าเสีย ปัจจุบันคลองบางจากยังสามารถใช้สำหรับการสัญจรทางน้ำได้
- คลองวัดประดู่ จากคลองภาษีเจริญ ถึงคลองบางจาก เป็นคลองที่ขุดเชื่อมระหว่างคลองบางจากกับคลองภาษีเจริญ แนวคลองขนานไปกับแนวถนนราชพฤกษ์ ลอดใต้ถนนเพชรเกษมบริเวณทางแยกต่างระดับเพชรเกษม จากนั้นไหลผ่านสถานีบางหว้า ของรถไฟฟ้าบีทีเอส และสถานีสถานีบางหว้า ของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ก่อนไปออกคลองภาษีเจริญที่อยู่ในบริเวณใกล้ ๆ กัน คลองวัดประดู่เป็นคลองที่ชาวบ้านขุดขึ้นเพื่อใช้สัญจรทางน้ำ ไม่ใช่คลองที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยสามารถสัญจรจากคลองบางจากไปออกคลองภาษีเจริญได้โดยตรง โดยไม่ต้องสัญจรไปทางคลองบางหว้าซึ่งต้องอ้อมและใช้เวลานาน คลองนี้ไม่มีการระบุแน่ชัดว่าขุดเมื่อปีใด แต่คาดว่าน่าจะขุดขึ้นหลังจากคลองภาษีเจริญขุดแล้วเสร็จประมาณช่วงต้นสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันสภาพน้ำในคลองเน่าเสียและไม่มีการสัญจรทางน้ำแล้ว เนื่องจากมีการสร้างทางเดินลอยฟ้า (Ska Walk) เหนือแนวคลองวัดประดู่ โดยสร้างเชื่อมระหว่างท่าน้ำเพชรเกษมที่คลองภาษีเจริญกับสถานีบางหว้าของรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล
- คลองวัดปรก จากคลองภาษีเจริญ ถึงคลองด่าน
- คลองรางบัว จากคลองภาษีเจริญ ถึงคลองบางหว้า
- คลองวัดเพลง จากคลองภาษีเจริญ ถึงคลองวัดปรก
- คลองตาแผลง จากคลองด่าน ถึงคลองรางบัว
- คลองคูบัว หรือ คลองบัว เป็นคลองสายหนึ่งในละแวกเขตตลิ่งชัน โดยเริ่มแยกมาจากคลองบ้านไทรฝั่งเหนือ ไหลผ่านสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ ถนนสวนผัก ไปบรรจบกับคลองมหาสวัสดิ์
- คลองทวีวัฒนา เริ่มต้นจากคลองภาษีเจริญในรอยต่อเขตบางแคและเขตหนองแขม ขุดเป็นเส้นตรงไปในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านเขตทวีวัฒนา ออกจากกรุงเทพมหานคร เป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างอำเภอบางกรวย อำเภอบางใหญ่ และอำเภอไทรน้อยของจังหวัดนนทบุรี กับอำเภอพุทธมณฑลและอำเภอบางเลนของจังหวัดนครปฐม ไปสิ้นสุดที่แม่น้ำท่าจีนในเขตอำเภอบางเลน
- คลองบางแค หรือ คลองราษฎร์สามัคคี เป็นคลองที่แยกออกจากคลองพระยาราชมนตรีบริเวณแขวงบางแค เขตบางแค กรุงเทพมหานคร และไปสิ้นสุดที่บริเวณคลองทวีวัฒนาที่แขวงหนองแขม เขตหนองแขม คลองบางแคถือเป็นคลองที่เก่าแก่ที่ขุดขึ้นตั้งแต่อดีต ในอดีตคลองแห่งนี้ยังเคยใช้ในการค้าขาย แต่ปัจจุบันไม่มีการค้าขายแล้ว
- คลองบางคูเวียง เป็นคลองในจังหวัดนนทบุรีและกรุงเทพมหานคร และเป็นคลองที่แยกมาจากคลองบางกอกน้อยในท้องที่ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย ไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อผ่านท้องที่ตำบลปลายบางและตำบลศาลากลางมีชื่อเรียกว่า "คลองปลายบาง" จากนั้นตัดกับคลองมหาสวัสดิ์เข้าสู่ท้องที่แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา จากนั้นไหลไปในแนวตรง และไปสิ้นสุดที่คลองทวีวัฒนา คลองบางคูเวียงมีความกว้างตลอดสายประมาณ 5-13 เมตร สภาพน้ำในคลองสะอาด ระบบนิเวศในคลองยังอยู่ในระดับดี ปัจจุบันมีการสัญจรทางน้ำเฉพาะในเขตจังหวัดนนทบุรีเท่านั้น
- คลองบางเชือกหนัง เป็นคลองสายสำคัญในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เขตภาษีเจริญ เขตบางแค และเขตทวีวัฒนา ไหลแยกจากคลองบางน้อยฝั่งซ้าย ไหลผ่านถนนราชพฤกษ์ ถนนพุทธมณฑลสาย 1 ถนนกาญจนาภิเษก ถนนพุทธมณฑลสาย 2 และถนนพุทธมณฑลสาย 3 ก่อนไปบรรจบกับคลองทวีวัฒนา คลองบางเชือกหนังมีความกว้างประมาณ 10-14 เมตร น้ำในคลองสะอาด ปัจจุบันใช้สำหรับการสัญจรทางน้ำและการท่องเที่ยว
- คลองลัดวัดฉิม เป็นคลองที่เชื่อมระหว่างคลองบางเชือกหนังและคลองบางแวก โดยแยกมาจากคลองบางเชือกหนังฝั่งซ้าย ไหลลงมาทางทิศใต้ ผ่านคลองขี้หมูไหล และไหลลงมาเรื่อยๆ และไปออกคลองบางแวก คลองลัดวัดฉิมมีความกว้างประมาณ 8-12 เมตร สภาพน้ำในคลองสะอาด ปัจจุบันยังคงมีการสัญจรทางน้ำในคลองอยู่บ้างประราย
- คลองบางด้วน เป็นคลองในละแวกแขวงบางด้วน เขตภาษีเจริญ โดยแยกจากคลองบางจาก บริเวณวัดจันทร์ประดิษฐาราม ไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ก่อนไปบรรจบคลองพระยาราชมนตรี ปัจจุบันคลองบางด้วนมีกว้างประมาณ 6-13 เมตร สภาพน้ำในคลองสะอาด ปัจจุบันยังมีชาวบ้านบางคนใช้เรือสัญจรไปมาในคลองอยู่บ้าง และยังมีการทอดแหจับปลาในคลองอยู่
- คลองบางบำหรุ เป็นคลองสายหนึ่งในเขตบางกอกน้อยและเขตบางพลัด แยกออกจากคลองบางกอกน้อยฝั่งขวา ไหลผ่านเซ็นทรัลพลาซ่า ปิ่นเกล้า ถนนบรมราชชนนี ถนนสิรินธร ก่อนไปสิ้นสุดที่ทางรถไฟสายใต้ คลองบางบำหรุมีความกว้างประมาณ 4-7 เมตร สภาพน้ำในคลองเน่าเสีย
- คลองบางพระครู เป็นคลองที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรีในเขตบางพลัด ลำคลองไหลผ่านถนนจรัญสนิทวงศ์ แนวคลองขนานไปกับสำนักงานเขตบางพลัดจากนั้นลำคลองได้ไหลเข้าไปในชุมชนต่างๆ ไปจนสุดคลอง คลองบางพระครูมีความกว้างประมาณ 5 - 8 เมตร
- คลองบางยี่ขัน เป็นคลองสายหนึ่งที่แยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่านวัดอมรคีรี ถนนอรุณอมรินทร์ วัดน้อยนางหงส์ วัดบางยี่ขัน ถนนจรัญสนิทวงศ์ ผ่านหลังเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ปิ่นเกล้า ก่อนบรรจบกับคลองบางบำหรุ คลองบางยี่ขันมีความกว้างประมาณ 5-9 เมตร สภาพน้ำในคลองเน่าเสีย ยกเว้นช่วงที่ไหลผ่านวัดน้อยนางหงษ์มีสภาพน้ำในคลองที่สะอาด และจุดนี้มีปลาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จนมีบางคนเรียกว่า วังมัจฉา วัดน้อยนางหงษ์
- คลองผักหนาม หรือที่ในอดีตเรียกว่า คลองบางผักหนาม เป็นคลองที่แยกมาจากคลองบางกอกน้อย ในพื้นที่เขตบางกอกน้อย จากนั้นไหลผ่านถนนบรมราชชนนี เข้าสู่เขตบางพลัด และไปบรรจบกับคลองบางยี่ขัน คลองผักหนามมีความกว้างประมาณ 5-7 เมตร สภาพน้ำในคลองเน่าเสีย
- คลองพระยาราชมนตรี หรือที่เรียกกันสั้น ๆ คือ คลองราชมนตรี เป็นคลองใช้สำหรับการระบายน้ำ การสัญจรทางน้ำ และการท่องเที่ยว โดยคลองนี้เป็นคลองที่ขุดโดยพระยาราชมนตรี (ภู่ ภมรมนตร���) ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยขุดแยกจากคลองบางเชือกหนัง เชื่อมกับคลองสนามชัย ในเวลาต่อมาได้มีการขุดคลองภาษีเจริญตัดกับคลองนี้ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ทำให้การค้าขายและการคมนาคมสะดวกขึ้น โดยคลองพระยาราชมนตรีในปัจจุบันนี้มีความกว้างประมาณ 10-25 เมตร ระยะทางตั้งแต่คลองบางเชือกหนังถึงคลองสนามชัยประมาณ 15 กิโลเมตร สภาพน้ำในคลองสะอาด สำหรับคลองนี้ถือเป็นคลองเก่าแก่ที่ควรอนุรักษ์ไว้สืบไป
- คลองภาษีเจริญ เริ่มต้นที่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่และคลองบางขุนศรีมาบรรจบกัน ลอดผ่านถนนราชพฤกษ์ ถนนบางแค ถนนกาญจนาภิเษก ถนนบางบอน 3 ไปเชื่อมแม่น้ำท่าจีนที่ตำบลดอนไก่ดี จังหวัดสมุทรสาคร
- คลองมหาสวัสดิ์ หรือคลองชัยพฤกษ์ เป็นคลองที่เริ่มต้นจากคลองลัดบางกรวยหรือคลองบางกอกน้อย ใกล้วัดชัยพฤกษมาลา ไหลผ่านเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี กับเขตตลิ่งชันและเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ผ่านอำเภอพุทธมณฑล ไปออกแม่น้ำท่าจีนที่ตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
- คลองลัดมะยม เป็นคลองสายสำคัญอีกสายในเขตตลิ่งชัน ซึ่งใช้สำหรับการสัญจรทางน้ำและการท่องเที่ยว โดยคลองดังกล่าวได้แยกมาจากคลองบ้านไทร ไหลลงมาทางทิศใต้ ตัดกับคลองบางระมาด คลองบางพรม คลองบางน้อย ก่อนไปสิ้นสุดที่คลองบางเชือกหนัง คลองลัดมะยมมีความกว้างประมาณ 5-9 เมตร สภาพน้ำในคลองสะอาด เป็นที่ตั้งของตลาดน้ำคลองลัดมะยม ซึ่งเป็นตลาดน้ำที่มีชื่อเสียงในเขตตลิ่งชัน และในปัจจุบันยังคงเปิดกิจการอยู่
- คลองวัดทอง หรือ คลองจักรทอง เป็นคลองสายหนึ่งในเขตบางกอกน้อย แยกออกจากคลองบางกอกน้อยบริเวณข้างวัดสุวรรณาราม (วัดทอง) ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตัดกับคลองบางขุนนนท์ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตัดกับคลองวัดยาง ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้และทิศตะวันตก (ตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไปเคยมีชื่อเรียกว่า คลองลัดบางขุนศรี ในอดีต) ก่อนจะไปบรรจบกับคลองชักพระ คลองนี้เคยมีข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกับสำนักงานเขตบางกอกน้อยในเรื่องของชื่อคลอง เนื่องจากคนเฒ่าคนแก่ในละแวกนี้มักจะเรียกชื่อคลองนี้ว่า "คลองวัดทอง" ซึ่งชาวบ้านบางคนก็เรียกคลองนี้ในชื่อดังกล่าวเหมือนกัน แต่ป้ายแจ้งชื่อคลองระบุชื่อคลองว่า "คลองจักรทอง" จนเป็นที่มาของข้อพิพาทครั้งนี้ จนเมื่อปี พ.ศ. 2548 สำนักงานเขตบางกอกน้อย จึงได้เปลี่ยนป้ายแจ้งชื่อคลองเป็นคลองวัดทองตามคำเรียกร้องของชาวบ้านที่ต้องการให้ชื่อคลองเป็นชื่อเดิมที่เรียกกันมาตั้งแต่อดีต แต่คนส่วนใหญ่จะรู้จักคลองสายนี้ในชื่อ"คลองจักรทอง" ปัจจุบันลำคลองกว้างประมาณ 6-8 เมตร ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร น้ำในคลองสีดำสนิทและเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว
- คลองวัดยางสุทธาราม เป็นคลองแยกจากฝั่งขวาของคลองชักพระ ไหลผ่านถนนจรัญสนิทวงศ์ เข้าพื้นที่วัดยางสุทธาราม จากนั้นไหลขึ้นไปทางทิศเหนือ ไปบรรจบคลองวัดทอง ลำคลองมีความกว้างเพียง 2-3 เมตร
- คลองสนามชัย หรือ คลองมหาชัย เริ่มต้นของคลองอยู่ต่อจากคลองด่าน บริเวณแยกคลองบางขุนเทียน ในเขตจอมทอง แล้วไปออกแม่น้ำท่าจีนที่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
- คลองพระจุ้ย หรือ คลองผ้าลุ่ย เป็นคลองที่อยู่ในพื้นที่เขตตลิ่งชัน โดยแยกมาจากคลองชักพระฝั่งซ้าย ไหลเข้ามาทางทิศตะวันตก จากนั้นหักลงไปทางทิศใต้ และไปออกคลองบางน้อย คลองพระจุ้ยมีความกว้งประมาณ 3-8 เมตร
- คลองขุด ในเขตทวีวัฒนา เป็นคลองขุดขึ้นในอดีต แยกมาจากคลองบางคูเวียง ลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านถนนบรมราชชนนี ถนนอุทยาน ไปจดคลองบางพรม คลองขุดเป็นคลองที่ไม่ทราบว่าขุดในสมัยใดและปีใด แต่ไม่มีการตั้งชื่อคลองในเบื้องแรก ในเวลาต่อมาชาวบ้านในละแวกนี้เห็นว่าคลองนี้ไม่มีชื่อ จึงเรียกว่า "คลองขุด" คลองสายนี้มีความกว้างประมาณ 7-12 เมตร
- คลองบางปะแก้ว เป็นคลองในพื้นที่เขตจอมทองและเขตราษฎร์บูรณะ แยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ไหลผ่านถนนราษฎร์บูรณะ ถนนสุขสวัสดิ์ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ก่อนไปสิ้นสุดที่จุดบรรจบระหว่างคลองยายจำปีและคลองลัดขี้เหล็ก คลองบางปะแก้วมีความกว้างประมาณ 12 - 19 เมตร สภาพน้ำในคลองสะอาด ในอดีตใช้สำหรับการสัญจรทางน้ำและใช้สำหรับอุปโภคบริโภค
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สถานการณ์คุณภาพน้ำคลอง ปี 2555 เก็บถาวร 2021-05-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักการระบายน้ำ
- ↑ "คลองขุดสมัยร.5 เส้นทางระบายน้ำสำคัญแห่งกทม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-13. สืบค้นเมื่อ 2015-03-31.
- ↑ "สามเสน...ประวัติศาสตร์บรรพชนคนนานาชาติ ต้นกำเนิดการประปาแห่งกรุงรัตนโกสินทร์". พินิจนคร. 2012-05-04.
- ↑ "เปิดตัวเจ้าของไอเดีย ป้ายสาปแช่งคนทิ้งขยะ อึ้ง! ได้ผลกว่าจับปรับ". ไทยรัฐ. 2014-10-02.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ข้อมูลคลอง คู ลำราง ลำกระโดงของกรุงเทพมหานคร เก็บถาวร 2014-07-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักการระบายน้ำ