ถนนโชคชัย 4
ถนนโชคชัย 4 | |
---|---|
ถนนโชคชัย 4 บริเวณปากถนนที่แยกจากถนนลาดพร้าว ด้านขวาคือแฟลตตำรวจ | |
ข้อมูลของเส้นทาง | |
ความยาว | 4 กิโลเมตร (2.5 ไมล์) |
ประวัติ | |
ทางแยกที่สำคัญ | |
ปลายทางทิศใต้ | แยกโชคชัย 4 ในเขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร |
ปลายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ | แยกบ่อปลา ในเขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร |
ถนนโชคชัย 4 เป็นถนนสายหนึ่งในพื้นที่เขตวังทองหลางและเขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร มีลักษณะเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ไม่มีเกาะกลาง ระยะทางยาวประมาณ 4 กิโลเมตร เริ่มต้นจากทางแยกโชคชัย 4 ซึ่งเป็นจุดตัดกับถนนลาดพร้าวในพื้นที่แขวงสะพานสอง เขตวังทองหลาง ไปทางทิศตะวันออกและทิศเหนือ ตัดกับถนนสังคมสงเคราะห์ ข้ามคลองทรงกระเทียมและเข้าพื้นที่แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว ตัดกับถนนลาดพร้าววังหิน ตัดกับถนนสตรีวิทยา 2 ข้ามคลองเสือน้อย เมื่อถึงปากซอยโชคชัย 4 ซอย 84 จึงวกไปทางทิศตะวันตก ก่อนจะไปสิ้นสุดที่ทางแยกบ่อปลาซึ่งเป็นจุดตัดกับถนนลาดพร้าววังหินและซอยลาดพร้าววังหิน 79
บริเวณปากถนนโชคชัย 4 ที่แยกจากถนนลาดพร้าว ในอดีตเป็นที่ตั้งของตลาดโชคชัย 4 ซึ่งมีเนื้อที่ 16 ไร่ 66 ตารางวา และมีตึกแถวจำนวนกว่า 100 คูหา บริษัท ลาดพร้าวโชคชัยพัฒนา จำกัด ได้เช่าที่ดินนี้นานกว่า 30 ปี แต่หลังจากหมดสัญญาลงเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 จึงได้รื้อถอนตึกแถวเหล่านั้น บริเวณนั้นยังเป็นที่ตั้งของสถานีโชคชัย 4 ในเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ด้านหน้าของตลาดโชคชัย 4 (เดิม) เป็นบันไดขึ้นลงสถานี[1]
ในอดีตถนนโชคชัย 4 มีฐานะเป็นซอยแยกย่อยของถนนลาดพร้าวโดยได้รับการกำหนดเป็น ซอยลาดพร้าว 53 สภาพโดยรอบมีลักษณะเป็นทุ่ง ตลาดโชคชัย 4 เมื่อแรกเริ่มเป็นป่าบอน[2] ต่อมาได้รับการพัฒนาเป็นอาคารพาณิชย์และที่พักอาศัย[3] จนในปัจจุบันกลายเป็นแหล่งชุมชนที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ มีร้านค้าและร้านอาหารจำนวนมาก มีโรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4 (เดิมชื่อโรงพยาบาลเปาโล สยาม) เปิดรักษาผู้ป่วยครั้งแรกในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2513[4] ในซอยโชคชัย 4 ซอย 39 ยังเป็นที่ตั้งของตำหนักพระแม่กวนอิมซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ. 2526 ภายในประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิมพันเนตรพันกรองค์[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ปิดตำนานตลาดโชคชัย 4 ที่ดินแปลงใหญ่เปลี่ยนมือ หลังรถไฟฟ้าสายสีเหลืองพาดผ่าน". วอยซ์ทีวี.
- ↑ "รุมชิงที่ 'ตลาดโชคชัย 4' ขายยกแปลง 36 ไร่ กว่า 3 พันล้าน รับรถไฟฟ้าสีเหลือง". ฐานเศรษฐกิจ.
- ↑ "ทำเลทอง ที่กลายเป็นฝันร้ายของชาวลาดพร้าว". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ "โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4". โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4.
- ↑ "ตำหนักเจ้าแม่กวนอิม ศรัทธาแห่งความรัก". โพสต์ทูเดย์.