ลัทธิเหนือจริง
ลัทธิเหนือจริง หรือ เซอร์เรียลลิซึม (อังกฤษ: Surrealism) เป็น “ลัทธิ” หรือ “ขบวนการ” ทางวรรณศิลป์และทัศนศิลป์ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อ็องเดร เบรอตง (Andre Breton) เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มดาดา (Dadaism) ที่มีเป้าหมายใช้ความก้าวร้าวรุนแรงเพื่อต่อต้านสงคราม ต่อต้านค่านิยมของชนชั้นกลางทุกชนิดรวมทั้งคริสต์ศาสนา ต้องการทำลายขนบประเพณีที่ชนชั้นกลางสะสมไว้รวมทั้งศิลปวรรณคดีด้วย หลังจากร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มดาดาอยู่ระยะหนึ่ง เบรอตงกับเพื่อนก็แยกตัวออกมาตั้งกลุ่มใหม่ คือ กลุ่มเซอร์เรียลลิซึม ซึ่งยังรับเอาความก้าวร้าวมุ่งทำลายค่านิยมของชนชั้นกลางของดาดามาเป็นฐานแต่มุ่งสร้างค่านิยมใหม่
เอกลักษณ์ของเซอร์เรียลลิซึม
[แก้]เอกลักษณ์ของศิลปะเซอร์เรียลลิซึมก็คือการใช้สิ่งที่เรียกว่า ความบังเอิญ (Chance) มาเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอผลงานโดยเฉพาะการหยิบเอาสิ่งของสองอย่างหรือมากกว่านั้นซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกันมาวางไว้ด้วยกัน เหมือนเป็นการพบกันโดยบังเอิญที่ก่อให้เกิดความหมาย แม้แต่ละอย่างจะไม่มีความเกี่ยวเนื่องกันเลย แต่เมื่อมาอยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียวกัน ก็ย่อมจะกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดจินตนาการและความรู้สึกถึงเอกภาพแบบใหม่ ซึ่งไม่ขึ้นกับเหตุผลหรือตรรกะใด ๆ ในโลกกายภาพ รูปแบบผลงานศิลปะจะใช้วิธีการนำเอาสิ่งที่เป็นสภาวะปกติวิสัยตั้งแต่ 2 สิ่งที่ดูเข้ากันไม่ได้มาจัดร่วมประกอบกัน และแต่งเติมผสมผสานให้ดูเป็นสิ่งเดียวกันอย่างกลมกลืน รวมถึงการเชื่อมโยงความรู้สึกสัมผัสและประสบการณ์ทางการเห็นให้สอดคล้องกับความคิด เชื่อมโยงให้เป็นเรื่องใหม่
จุดเริ่มต้นของเซอร์เรียลลิซึม
[แก้]ก่อตั้งขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2459 ซึ่งพัฒนาต่อเนื่องมาจากกลุ่มดาดา โดยในปี พ.ศ. 2465 สมาชิกในกลุ่มดาดาได้แยกตัวออกไปและรวมกันใหม่อีกครั้งที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จากการแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเป็นลายลักษณ์อักษรชื่อว่า แถลงการณ์เซอร์เรียลลิซึม (Manifeste du Surrealisme) โดยเบรอตง ได้รับการเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2467 โดยนับเอาจากการรวมตัวกันของบรรดาผู้จัดทำวรรณกรรมที่พวกเซอร์เรียลลิสต์เป็นกองบรรณาธิการ ซึ่งตอนนั้นวารสารฉบับนี้ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของดาดาในฝรั่งเศสอันเป็นทัศนะเดียวกับที่วอลเทอร์ เบนจามิน ได้เสนอไว้ในบทความ Surrealism: The Last Snapshot of the European Intelligentssia ซึ่งเนื้อหาสำคัญในแถลงการณ์ คือ การขบถต่อค่านิยมของชนชั้นกลางตลอดจนขนบและกฎเกณฑ์ทุกชนิดเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพในการแสดงออกซึ่ง “ตัวตนภายใน” หรือ “ความคิดบริสุทธิ์” หรือ “จิตไร้สำนึก” ที่ถูกเก็บกดไว้ต้องการแสวงหรือบรรลุถึงความจริงสูงสุดอันเกิดจากการผสานรวมของความฝันกับความจริงแห่งโลกภายนอก กล่าวคือ ต้องการแสดงออกซึ่งความรู้สึกนึกคิดภายในออกมาอย่างเสรีในทุกรูปแบบ โดยปราศจากการควบคุมใด ๆ ทั้งสิ้น
อ็องเดร เบรอตง เป็นผู้ริเริ่มเผยแพร่แนวคิดของกลุ่มเซอร์เรียลลิซึม เขาเคยเป็นนักเรียนแพทย์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งทำให้ได้มีโอกาสศึกษาแนวคิดของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ที่เซอร์เรียลลิซึมต่างเห็นว่า ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตไร้สำนึกของฟรอยด์มีความสำคัญยิ่งต่อชีวิตและการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของมนุษย์ เบรอตงและพรรคพวกได้นำเอาวิธีการเชื่อมโยงเสรี (Free association) ของฟรอยด์มาประยุกต์ใช้กับศิลปะ โดยให้ศิลปินวาดรูปหรือเขียนสิ่งที่ลอยเข้ามาในความคิดโดยไม่ต้องสนใจเหตุผลตรรกะใด ๆ งานศิลปะของเซอร์เรียลลิซึมจึงเป็นทั้งเนื้อหาและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ผุดบังเกิดจากจิตไร้สำนึก (หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นการสร้างสรรค์จากโลกภายในของศิลปินและโลกที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ของโลกกายภาพ)
สิ่งที่ทำให้เซอร์เรียลลิซึมแตกต่างจากกลุ่มที่ไม่นิยมเหตุผลจิตสำนึกอย่างดาดา
[แก้]หลุยส์ อารากง (Louis Aragon) หนึ่งในแกนนำคนสำคัญเสนอว่า แนวคิดและวาทกรรมของเซอร์เรียลลิซึมนั้นเป็นผลผลิตที่เกิดจากเวลา ความแตกต่างในแง่นี้คือ เซอร์เรียลลิซึมเป็นกลุ่มที่เริ่มต้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เรียกว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางปรัชญาศิลปะ ที่แทรกตัวขึ้นมาท่ามกลางความวุ่นวายหายนะของอารยธรรม และเซอร์เรียลลิซึมต่อต้านความจริงที่เรารับมาจากการไตร่ตรองขนบคิดหาเหตุผล จนถึงองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรือปรัชญาแนวปฏิฐานนิยมด้วยว่า ความจริงเหล่านี้เป็นเพียงความจริงชั้นสองซึ่งไม่สลักสำคัญ หรือไม่อาจเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาใหญ่ ๆ ของมนุษยชาติ พวกเซอร์เรียลลิซึมจึงมองว่าสงครามที่พรากชีวิตคนนับล้านภายในระยะเวลาไม่กี่ปีเป็นผลมาจากระบบคิดหรือจิตสำนึกที่เป็นใหญ่เหนือมนุษย์ ดังนั้นหนทางเดียวที่จะหลีกเลี่ยงมิให้เกิดสงครามซ้ำรอย ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสำรวจหาเส้นทางใหม่ (ที่ดาดาได้เริ่มไว้) ซึ่งพวกเซอร์เรียลลิซึมพบว่ามันอยู่ในห้วงความฝัน หรือดำรงอยู่ในนิยามที่จิตสำนึกและเหตุผลของเราหลับใหล[1]
ศิลปินคนสำคัญในกลุ่มเซอร์เรียลลิซึม
[แก้]- จอร์โจ เดอ คิริโก (Giorgio de Chirico) (พ.ศ. 2431-2521) จิตรกรชาวอิตาลีที่พวกเซอร์เรียลลิซึมชื่นชมและยกย่องผลงานของเขา ในช่วงแรกที่เสนอทัศนียภาพหรือบรรยากาศของความเร้นลับ เหงา เศร้า และมีวัตถุที่มีความหมายบ่งชี้นัยทางเพศแต่เมื่อคิริโกเปลี่ยนแนวทางการวาดภาพ พวกเซอร์เรียลลิซึมผิดหวังมาก ไม่ยอมรับให้เข้ากลุ่ม แต่กระนั้นเบรอตงก็ยกย่องนวนิยายของคิริโก เรื่อง Hebdomeros พ.ศ. 2472 ว่าสะท้อนถึงการผจญภัยทางจิตในลักษณะซับซ้อนเข้าใจยากแต่จริงใจ และเป็นต้นแบบของนวนิยายเรื่อง Nadja ของเบรอตง
- เรอเน เครอแว็ล (René Crevel) (พ.ศ. 2443-2478) นักเขียน-กวีชาวฝรั่งเศส เป็นเซอร์เรียลลิซึมในยุคแรกซึ่งแยกตัวออกไปจากกลุ่มเพราะเบรอตงมองว่า “พฤติกรรมรักร่วมเพศ” ของเขาอาจบิดเบือนและทำลายเจตนาของกลุ่ม เครอแว็ลเข้าร่วมกับเซอร์เรียลลิซึมอีกครั้งในตอนที่เขาสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส เขาเป็นคนหนึ่งที่หาทางไกล่เกลี่ยและพยายามทำทุกวิถีทางที่จะให้เบรอตงและกลุ่มเซอร์เรียลลิซึมแสดงสุนทรพจน์ในที่ประชุม เมื่อไม่สำเร็จ เขาเสียใจมากประกอบกับความเจ็บป่วยจึงตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการรมแก๊ส
- ซัลบาดอร์ ดาลี (Salvador Dalí) (พ.ศ. 2447-2532) จิตรกรชาวฝรั่งเศส เข้าร่วมกลุ่มเซอร์เรียลลิซึมในปี พ.ศ. 2472 และกลายเป็นสมาชิกที่มีบทบาทสำคัญในกลุ่ม ในช่วงพ.ศ. 2473 ดาลีกระตุ้นให้กลุ่มเน้นความสัมพันธ์กับโลกภายนอกโดยปรับให้เข้ากับแรงปรารถนาหรือจินตนาการของศิลปิน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างงานศิลปะกับชีวิตระหว่างผลงานกับพฤติกรรมผู้สร้าง ดาลีสนใจพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะแขนงจิตวิเคราะห์และชีววิทยา และได้นำมาประยุกต์ในภาพวาดของเขา เขาชอบเล่นกับ ความขัดแย้ง ทั้งในผลงานและในพฤติกรรมของตนเองเพื่อยั่วยุและเรียกร้องความสนใจ แต่การกระทำเช่นนี้บางครั้งก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่กลุ่มและเบรอตง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงความชื่นชมต่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ในปี พ.ศ. 2477 ความไม่พอใจนี้ทวีขึ้นเรื่อย ๆ และถึงขั้นแตกหัก ในปี พ.ศ. 2483 เบรอตงไม่ยอมให้ดาลีอยู่ในกลุ่ม กล่าวหาว่าเขาแสวงหาความสำเร็จทางการค้ามากเกินไป ทั้งยังสร้างผลงานในระยะหลังที่ “เลียนแบบตัวเอง” เมื่อมีการแสดงนิทรรศการเซอร์เรียลิซึมนานาชาติที่นิวยอร์กในปี พ.ศ. 2485 เบรอตงไม่อนุญาตให้ดาลีนำผลงานของเขามาแสดงด้วยเพราะถือว่าเขาไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นสมาชิกของกลุ่ม
- ฌูอัน มิโร (Joan Miró) (พ.ศ. 2436-2526) จิตรกรประติมากรชาวสเปน เขาสามารถเสนอความฝันความคิดซ้ำย้ำภายในตัวออกมาอย่างฉับพลัน และเป็นอัตโนมัติในภาพวาดสีน้ำมันของเขาได้ นอกจากนี้ยังสามารถก้าวข้ามเขตแดนของจิตรกรรม ด้วยการทำ Papiers Colles คอลลาจประติมากรรม วัตถุ ในระหว่างที่เกิดสงครามกลางเมืองสเปนและสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาวาดภาพสัตว์ประหลาดที่ก้าวร้าวน่ากลัว และภาพชุด “ผู้หญิง” ที่ถูกแปรสภาพ รวมทั้งภาพชุด “Las Constellations” ด้วย ภาพชุดหลังนี้กลุ่มสนับสนุนให้จัดแสดงที่นิวยอร์กในปี พ.ศ. 2485 และต่อมาเบรอตงเขียนบทกวีร้อยแก้ว โดยใช้ชื่อเดียวกัน ภาพจิตรกรรมและบทกวีชุดนี้พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2501
- คาร์ล ยุง (Carl Jung) (พ.ศ. 2418-2504) จิตแพทย์ชาวสวิส พวกเซอเรียลส์ลิซึมเพิ่งมาสนใจแนวคิดของเขาเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะในแง่การเทียบเคียงจิตวิเคราะห์กับการเล่นแร่แปรธาตุ แต่ไม่ชอบทฤษฏีของเขาเกี่ยวกับ “จิตไร้สำนึกร่วม” และวิธีการวิเคราะห์ที่เชื่อมโยงกับเรื่องศาสนา นอกจากนี้พวกเขายังขุ่นเคืองที่ยุงร่วมมือกับพวกนาซีเพื่อทำลายทฤษฏีของฟรอยด์ ในช่วงปี พ.ศ. 2479-2483
- ฌ็อง อาร์ป (Jean Arp) (พ.ศ. 2430-2509) ประติมากร จิตรกร และกวีชาวฝรั่งเศส เป็นเพื่อนสนิทของแอร์นสท์ หลังจากเป็นสมาชิกกลุ่มดาดา ได้ส่งผลงานจิตรกรรมมาร่วมแสดงในนิทรรศการเซอร์เรียลลิซึมครั้งแรกในปี พ.ศ. 2468 และเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเป็นประจำนับตั้งแต่ย้ายมาตั้งหลักแหล่งในฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2469 แต่มิได้เข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม ในปี พ.ศ. 2474 เขาเริ่มทำงานประติมากรรมจริงจัง ทดลองทำ Pepies dechires และเริ่มเบนความสนใจไปในทาง abstraction โดยที่มิได้ตัดไมตรีกับเบรอตงและพวกเซอร์เรียลลิซึม สร้างศิลปะแอบสแตรคซึ่งมีผู้ที่ตั้งชื่อให้ว่า “art concret” โดยเน้นรูปทรงชีวภาพ นอกจากความสามารถทางทัศนศิลป์แล้ว อาร์พยังเขียนบทกวีได้ดีทั้งเป็นภาษาเยอรมันและฝรั่งเศส มีผู้เปรียบว่ากวีนิพนธ์ของเขาดูแปลก สนุกและมีลีลางดงามเปรียบได้กับ “ลวดลายดอกไม้ที่ประดับมงกุฎของเซอร์เรียลลิซึม”
- หลุยส์ อารากง (Louis Aragon) (พ.ศ. 2430-2525) กวีชาวฝรั่งเศส เดิมเป็นนักศึกษาแพทย์แต่ใจฝักใฝ่ทางอักษรศาสตร์เช่นเดียวกับเบรอตง หลังสงครามได้พบกับเบรอตงและชูโปล์ท์ที่ก่อตั้งวารสาร Litterature (พ.ศ. 2462) ร่วมกับกลุ่มดาดาและต่อมาร่วมก่อตั้งกลุ่มเซอร์เรียลลิซึม พ.ศ. 2467 สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2469 และเริ่มบ่ายเบนแนวคิดและกิจกรรมวรรณศิลป์จากแนวเซอร์เรียลลิซึมในที่ประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์ ในเมือง Khakov และแยกตัวออกจากกลุ่มเด็ดขาดในปี พ.ศ. 2478 ผลงานกวีนิพนธ์ที่สำคัญในช่วงที่เป็นสมาชิกกลุ่มเซอร์เรียลลิซึมได้แก่ Les Paysans de Paris พ.ศ. 2469 และผลงานวิจารณ์ศิลปะที่สำคัญในช่วงนี้ ได้แก่ La Peinture au defi พ.ศ. 2473 ซึ่งกล่าวถึงภาพคอลลาจและชี้ให้เห็นความแตกต่างของคอลลาจแบบคิวบิสต์และแบบเซอร์เรียลลิซึมตลอดจนความสำคัญของการสร้างสรรค์ anti-art เช่นในศิลปะสมัยใหม่
- และอีกมากมาย[2]
ตัวอย่างผลงานที่สำคัญของศิลปินในกลุ่มเซอร์เรียลลิซึม
[แก้]งานจิตรกรรม
[แก้]- The Great Masturbator (พ.ศ. 2472, oil on canvas: 110x150.5 cm. Museo Centro Nacional centro de Arte Reina Sofia, Marid) เป็นหนึ่งในงานชิ้นแรก ๆ ของ ซัลบาดอร์ ดาลี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตัวศิลปินและความรู้สึกสำนึกผิดหรือความกลัวเกี่ยวกับการลงโทษ โดยศีรษะที่ดูอ่อนนุ่มที่อยู่ทางด้านข้างหมายถึงตัวศิลปินเอง ส่วนปากมีตัวตั๊กแตนที่ส่วนท้องของมันกำลังถูกฝูงมดกันกิน ซึ่งสำหรับตัวศิลปิน ถือเป็นสัญลักษณ์ของการคอร์รัปชั่น หรือความไม่ซื่อสัตย์[3]
- Soft Construction with Boiled Beans: Premonition of Civil War (พ.ศ. 2479, The Louise and Walter Arensberg Collection. The Philadelphia Museum of Art, Pennsylvania) เป็นหนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงว่าเป็นภาพแห่งการต่อต้านสงคราม โดยเนื้อที่ดูนุ่มนิ่มของร่างกายผู้หญิงที่อยู่ตรงกลางภาพจะดูแตกต่างจากมือที่ดูคล้ายเขาสัตว์ซึ่งกำลังบีบรัดหน้าอกของหญิงสาวในขณะที่คนอื่น ๆ ที่อยู่บนพื้นดูเหมือนเป็นแค่รากไม้ของต้นองุ่น ในส่วนของด้านหลังเป็นภาพของผู้ชายตัวเล็ก ๆ ที่ดูธรรมดา ผู้ซึ่งตกเป็นเหยื่อของสงคราม[4]
- Sleep (พ.ศ. 2480, oil on canvas, 51x78 cm. Private Collection) ภาพนี้เป็นหนึ่งในผลงานที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของดาลี ศีรษะที่ดูมีเอกลักษณ์เช่นนี้หมายถึงตัวของศิลปินเอง การนอนหลับถือเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่สำคัญสำหรับดาลี เพราะไม่ใช่แค่เป็นช่วงเวลาที่ทำให้หลงลืมสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจในชีวิต แต่ยังเป็นขอบเขตของจิตใต้สำนึกในความหวาดระแวง ความเพ้อฝัน ซึ่งถูกซ่อนอยู่ในชีวิตจริงด้วย[5]
- Pieta or Revolution by Night (พ.ศ. 2466, Oil on canvas, 89 x 116 cm. London, Tate Gallery) ผลงานชิ้นเยี่ยมของมัคส์ แอ็นสท์ (Max Ernst) เป็นภาพลึกลับที่ดูเหมือนเกี่ยวข้องกับพื้นฐานความคิดของฟรอยด์ในความซับซ้อนแบบอีดิปัส ซึ่งผู้เป็นบุตรชายได้แข่งขันกับพ่อเพื่อที่จะแย่งความรับจากแม่ รวมถึงความกลัวจากการถูกทำหมันโดยพ่อของตน ภาพของพ่อที่คุกเข่าอุ้มบุตรชายไว้ในท่าที่เป็นได้ทั้งการบวงสรวงและแบบประเพณีอย่างปิเอต้า มีฝักบัวสีขาวหัวสีน้ำเงินเป็นสัญลักษณ์ของลึงค์ ด้านหลังภาพเป็นฉากเบลอ ๆ ดูเหมือนเงา ไม่เน้นให้มีความชัดเจน นอกจากนี้อาจแสดงถึงตัวแอ็นสท์กับพ่อของเขาและงานทั้งหมดเกี่ยวกับชีวิตลำเค็ญในวัยเยาว์ที่ผูกพันกับพ่อ เขาวาดภาพนี้เพื่อต่อต้านบิดาผู้เคร่งศาสนาโดยนำเสนอภาพบิดาที่กำลังโอบอุ้มตัวเขาซึ่งแข็งเป็นหิน เป็นการเลียนแบบภาพพระแม่อุ้มศพพระเยซูหลังจากถูกนำลงมาจากไม้กางเขน[6]
- The Two Mysteries (พ.ศ. 2509) ภาพกล้องยาสูบของ เรอเน มากริต แสดงถึงการดีไซน์ที่เรียบง่ายและตรงวัตถุประสงค์ของการสื่อความหมายที่ไม่ใช่เพียงตัววัตถุแต่เป็นการให้ความหมายด้วยภาษาที่เขียนกำกับไว้ใต้ภาพภาษาเป็นสิ่งที่ตีความได้ไม่สิ้นสุด และสั่นคลอนได้ง่าย ภาษาเป็นภาพตัวแทนของวัตถุในการจดจำ จริง ๆ แล้วสิ่งนี้อาจมีความหมายหรือไม่มีความหมาย เราไม่ได้ให้ความหมายกับสิ่งที่มันเป็นแต่เราให้ความหมายกับสิ่งที่เราใช้เรียกมัน ความหมายของวัตถุจึงเป็นสิ่งที่ถูกสร้าง เราให้ค่ากับสิ่งต่าง ๆ เพราะการเสพความหมายของมัน เป็นรูปแบบของมายาคติ[7]
งานประติมากรรม
[แก้]- Lobster Telephone (พ.ศ. 2479, Surrealist object; 15x17x30 cm. Tate Gallery, London) การสร้างวัตถุที่ดูเหนือจริงไม่ได้เป็นไอเดียใหม่��ี่เกิดขึ้นโดยดาลี แต่ดาลีได้สร้างแบบอย่างที่ดีเยี่ยมสำหรับการทำวัตถุเหล่านี้ให้ถูกยอมรับในฐานะที่เป็นงานศิลปะแบบเหนือจริง โทรศัพท์และกุ้งล็อบสเตอร์พลาสติกที่ใช้แทนหูโทรศัพท์นี้เป็นสิ่งของที่นำมาจัดแสดงที่งาน London Surrealist Exhibition ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2479 ในส่วนของการโฆษณางาน Exhibition นี้ ดาลีได้บรรยายเกี่ยวกับการค้นหาจิตใต้สำนึกในขณะที่กำลังสวมใส่ชุดนักประดาน้ำซึ่งเกือบจะทำให้เขาหายใจไม่ออกเลยทีเดียว[8]
- The Gift (พ.ศ. 2464) ผลงานชิ้นสำคัญของแมน เรย์ เป็นรูปทรงของสิ่งของในชีวิตประจำวันอย่างเตารีด แต่ประโยชน์และการใช้สอยของเตารีดถูกโยนทิ้งไป กลายมาเป็นรูปลักษณ์เตารีดที่ดูก้าวร้าว รุนแรง ด้วยการใส่แถวแนวตะปูแหลมลงไป [9]
- Venus restauree (พ.ศ. 2479) วีนัสซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความงามและพลังอันไม่มีที่สิ้นสุดของผู้หญิงได้กลายมาเป็นเรื่องของความหมกมุ่นโดยเฉพาะ และแมน เรย์ได้สร้างผลงานเป็น Series ขึ้นมา เพื่อค้นหารูปแบบและภาพลักษณ์ที่ถูกแยกออกเป็นส่วน ๆ ขององค์เทพี โดยผลงานชิ้นนี้ แมน เรย์ได้ผูกเชือกอย่างแน่นหนาเป็นตาข่ายบนปูนปลาสเตอร์ที่ทำเป็นรูปร่างกายส่วนบนของผู้หญิง[10]
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ กิตติพล สรัคคานนท์, วารสารใต้ดินฉบับที่ 14: เซอร์ (กรุงเทพฯ: Shine, 2550), 35-39.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, 131-138.
- ↑ Swinglehurst, Edmund, Salvador Dali: exploring the irrational (London: Tiger Books International, 1996), 15.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, 4.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, 56-57.
- ↑ สี แสงอินทร์, แมกซ์ แอร์นส์ท : ศิลปินเซอร์เรียลิซึมผู้ยิ่งใหญ่ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551), 117 – 118.
- ↑ อำพร อรุณนภาพร, “งานแสดงศิลปะย้อนหลังของ Rene Magritte, ” สารคดี 14, 160 (มิถุนายน 2541) : 133 – 138.
- ↑ Swinglehurst, Edmund, Salvador Dali: exploring the irrational, 51.
- ↑ จิระพัฒน์ พิตรปรีชา, โลกศิลปะ ศตวรรษที่ 20 (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2552), 220.
- ↑ Wood, Ghislaine, Surreal things : surrealism and design (London: V&A, 2007), 336.
บรรณานุกรม
[แก้]- กิตติพล สรัคคานนท์. วารสารใต้ดินฉบับที่ 14: เซอร์. กรุงเทพฯ : Shine, 2550.
- จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. โลกศิลปะ ศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2552.
- สี แสงอินทร์. แมกซ์ แอร์นส์ท : ศิลปินเซอร์เรียลิสม์ผู้ยิ่งใหญ่. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551.
- อำพร อรุณนภาพร. “งานแสดงศิลปะย้อนหลังของ Rene Magritte” สารคดี. 14 (160) : 133 – 138 : มิถุนายน 2541.
- Swinglehurst, Edmund. Salvador Dali: exploring the irrational. London : Tiger Books International, 1996.
- Wood, Ghislaine, Surreal things : surrealism and design (London: V&A, 2007), 336.