โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร Wat Phrasri Mahadhat Secondary Demonstration School, Phranakhon Rajabhat University | |
---|---|
ที่ตั้ง | |
พิกัด | 13°52′37″N 100°35′34″E / 13.877008°N 100.592789°E |
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | พ.ม. (P.M.) |
ประเภท | โรงเรียนสาธิต (สหศึกษา) ขนาดกลาง |
คำขวัญ | สร้างเด็กดี มีปัญญา ทรงคุณค่าต่อสังคม สุสิกโข ลภเต ปญฺญํ (ผู้ศึกษาดี ย่อมมีปัญญา) |
ก่อตั้ง | 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 (โรงเรียนวัดพระศรีมหาธาตุ) |
ผู้ก่อตั้ง | จอมพลแปลก พิบูลสงคราม |
หน่วยงานกำกับ | กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม |
รหัส | 1410051202 |
ระดับปีที่จัดการศึกษา | มัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 |
จำนวนนักเรียน | 1,000 คน |
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอน | ไทย |
สี | สีเหลือง สีชมพู |
เพลง | "พ.ม.ก้าวไกล" |
ผู้อำนวยการ | อาจารย์ดร.สุธีร์ คำแก้ว |
ต้นไม้ | ต้นสน |
เว็บไซต์ | www |
อาคารสาธิต 1 |
โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เป็นโรงเรียนสาธิตระดับมัธยมศึกษา ในกำกับของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตั้งอยู่ ณ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ก่อตั้งเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 โดยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม[1]
โรงเรียนก่อตั้งขึ้นตามดำริของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ภายหลังจากการสร้างวัดประชาธิปไตย (ปัจจุบันคือ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร) เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ดำเนินมาแล้วสิบสองปี ตามแนวคิดในการสร้างโรงเรียนคู่กับวัด เพื่อพัฒนาองค์กรชุมชนตามหลัก "บ-ว-ร" (บ้าน - วัด - โรงเรียน) โดยใช้ที่ดินของวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารส่วนหนึ่ง เป็นที่ตั้งสถานศึกษาจนถึงปัจจุบัน อยู่ในพื้นที่เดียวกันกับวิทยาลัยการฝึกหัดครู ภายในพื้นที่โรงเรียนมีอาคารเรียนหลัก 3 อาคาร โดยอาคารแรก (อาคารสาธิต 1) สร้างขึ้นพร้อมโรงเรียนในปี พ.ศ. 2496 และนอกจากนี้ยังมี ศูนย์ฝึกกีฬา สำหรับ บาสเกตบอล เทนนิส เปตอง และกีฬาอื่น ๆ
ตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนคือ พระพิฆเนศ และ พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 9 โดยสีประจำโรงเรียนคือ เหลือง-ชมพู และต้นไม้ประจำโรงเรียนคือ ต้นสน
โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ได้รับการประเมินคุณภาพจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ในปี พ.ศ. 2550 ได้รับคุณภาพในระดับดีมากใน ด้านผู้เรียน ด้านผู้บริหาร และด้านครู
ประวัติ
[แก้]โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ก่อตั้งขึ้นจากการปรึกษาหารือกันระหว่างจอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี พลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น และพลอากาศเอก หลวงเชิดวุฒากาศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น พร้อมกับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร ขณะที่ท่านยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมปิฎก ได้เห็นความสำคัญของการศึกษา กับ ความสะดวกที่ไม่ต้องไปเรียนในเขตพระนคร
โรงเรียนได้เริ่มจัดการเรียนการสอน เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 โดยเปิดชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 2 ห้องเรียน สังกัด กรมวิสามัญศึกษา มีนักเรียนทั้งหมด 50 คน ครู 5 คน มีอาจารย์สุวรรณ วิณวันก์ เป็นครูใหญ่ โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนวัดพระศรีมหาธาตุ[2]
ต่อมาทางโรงเรียนได้โอนย้ายมาสังกัดของวิทยาลัยครูพระนคร ให้เป็นโรงเรียนสาธิตของวิทยาลัยครูพระนครเมื่อปี พ.ศ. 2513 และใช้ชื่อว่า โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ วิทยาลัยครูพระนคร โดยเปลี่ยนตามสายการบริหารงานของวิทยาลัยครูพระนคร[2]
ในปี พ.ศ. 2538 เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538[3] ทำให้วิทยาลัยครูพระนครได้รับการยกสถานะเป็นสถาบันราชภัฏพระนคร และโรงเรียนซึ่งอยู่��นสังกัดสถาบันราชภัฏฯ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ สถาบันราชภัฏพระนคร[2]
ในปี พ.ศ. 2547 เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547[4] ทำให้สถาบันราชภัฏพระนครได้รับการยกสถานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และโรงเรียนซึ่งอยู่ในสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร[2]
อาคารและสิ่งปลูกสร้างภายในโรงเรียน
[แก้]อาคารเรียน
[แก้]อาคารสาธิต 1 (อาคาร 31)
[แก้]หรือ ที่เรียกกันว่า "ตึกเก่า" เป็นอาคารที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับการก่อตั้งโรงเรียน โดยมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 3 เป็นประธานการจัดสร้างและวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 แล้วจึงลงมือสร้างในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2496 โดยบริษัทบริการส่งเสริมอาชีวศึกษา (บ.ส.อ.) ทำพิธีเปิดโดยพลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2497 มีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทย 2 ชั้น 22 ห้องเรียน ภายในอาคารปัจจุบันประกอบด้วยห้องต่าง ๆ ดังนี้
|
|
อาคารสาธิต 2 (อาคาร 32)
[แก้]เป็นอาคารเรียน 4 ชั้น ขนาด 18 ห้องเรียน ปรับปรุงอาคารครั้งล่าสุดโดยการซ่อมแซมโครงสร้าง และทาสีอาคารใหม่ ในปีการศึกษา 2551 ประกอบด้วยห้องต่าง ๆ ดังนี้
|
|
อาคารปฏิบัติการ (อาคาร 49)
[แก้]เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2548 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2550 ทำพิธีเปิดอาคารอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2551เป็นอาคารอเนกประสงค์ 6 ชั้น ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการในกลุ่มสาระวิชาต่าง ๆ ดังนี้
|
|
นอกจากนี้ โรงเรียนยังถูกใช้เป็นฉากในภาพยนตร์ ละคร โฆษณา และรวมถึงมิวสิควีดีโอหลายชิ้น เช่น มอ ๘, แก๊งชะนีกับอีแอบ, เพื่อนเฮี้ยน..โรงเรียนหลอน ตอน เสียงตามสาย, ภาพยนตร์สั้นโตไปไม่โกง ตอน ผู้ตัดสิน, ละคร เรื่อง คู่กรรม, ละคร เรื่อง ทองเนื้อเก้า, ละครซิทคอม จุดนัดภพ, ภาพยนตร์ อวสานโลกสวย, มิวสิควีดีโอเพลง ยาวนานเพียงใด ของ SIX C.E, มิวสิควีดีโอเพลง ยากยิ่งนัก ของ เรนโบว์, มิวสิควีดีโอเพลง เธอยัง ของ โปเตโต้, มิวสิควีดีโอเพลง แชร์ ของ โปเตโต้, มิวสิควีดีโอเพลง กรุณาพูดดัง ๆ ของ ซีต้า ซาไลย์ เป็นต้น
สิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ
[แก้]- หอประชุมสาธิตราชภัฏพระนคร (อาคาร 39) ก่อสร้างขึ้นพร้อมกับการก่อตั้งโรงเรียน มีการปรับปรุงครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2545 บรรจุผู้เข้าประชุมได้ประมาณ 1,000 คน
- ศูนย์ฝึกกีฬามัธยมสาธิตฯ เป็นที่ใช้สำหรับดำเนินกิจกรรมกีฬาต่าง ๆ เช่น บาสเกตบอล วอลเล่ย์บอล หรือฟุตซอล เป็นต้น
- ศูนย์ฝึกกีฬาเปตอง ตั้งอยู่ด้านหลังอาคารสาธิต 1 มีอยู่ 2 เลน ใช้สำหรับให้อาจารย์ นักเรียน และผู้สนใจทั่วไปสามารถเล่นกีฬาเปตองได้
- ศูนย์ฝึกกีฬาเทเบิลเทนนิส ตั้งอยู่ด้านหลังอาคารสาธิต 1 มีโต๊ะใช้สำหรับเล่นและฝึกซ้อมกีฬาเทเบิลเทนนิสกว่า 10 โต๊ะ
- สนามเทนนิส ลานโพธิ์ ตั้งอยู่ด้านข้างอาคารสาธิต 1 ฝั่งตะวันตก เดิมเป็นที่รกร้าง ก่อนปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2549 มีคอร์ดรูปแบบมาตรฐานสำหรับเล่นเทนนิส 1 คอร์ด
- ศูนย์ศึกษาพันธุ์สัตว์น้ำและพรรณไม้เฉลิมพระเกียรติ ดำเนินแผนโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เพื่อใช้ในการศึกษาและวิจัยพันธุ์สัตว์น้ำและพันธุ์พืช ตามโครงการการเรียนรู้แบบบูรณาการ
- ศูนย์ปฏิบัติงานฝีมือ เป็นสถานที่สำหรับปฏิบัติการทางการงานอาชีพ เช่น งานประดิษฐ์ งานไม้ งานช่าง งานโภชนาการ งานออกแบบ เป็นต้น
- แปลงเกษตรสาธิต เป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตร มีการเพาะปลูกพันธุ์ไม้ต่าง ๆ เช่น ไม้ยืนต้น ไม้ล้มลุก และแปลงผักสวนครัว เป็นต้น
- บ้านพักนักการ
ทำเนียบผู้บริหารโรงเรียน
[แก้]ลำดับ | ชื่อ สกุล | ตำแหน่ง | วาระการดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|---|
1 | อาจารย์สุวรรณ วิณวันก์ | ครูใหญ่ | พ.ศ. 2496 – 2506 |
2 | อาจารย์ชุบ กายสิทธิ์ | ครูใหญ่ | พ.ศ. 2506 – 2507 |
3 | อาจารย์อรุณ ทีปะปาน | ครูใหญ่ | พ.ศ. 2507 – 2509 |
4 | อาจารย์เฉลิมลักษณ์ บุญเกตุ | ครูใหญ่ | พ.ศ. 2509 – 2512 |
5 | อาจารย์บังอร คชะสุต | อาจารย์ใหญ่ | พ.ศ. 2512 – 2513 |
6 | อาจารย์ประเยาว์ ศักดิ์ศรี | อาจารย์ใหญ่ | พ.ศ. 2513 – 2517 |
7 | ท่านผู้หญิงพึงใจ สินธวานนท์ | อาจารย์ใหญ่ | พ.ศ. 2517 – 2519 |
8 | อาจารย์นิรมล ศังขะฤกษ์ | อาจารย์ใหญ่ | พ.ศ. 2519 – 2521 |
9 | อาจารย์ถนิม สุขพรหม | อาจารย์ใหญ่ | พ.ศ. 2521 – 2523 (วาระที่ 1) |
ผู้อำนวยการ | พ.ศ. 2529 – 2530 (วาระที่ 2) | ||
10 | ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาญชัย ศรีไสยเพชร | อาจารย์ใหญ่ | พ.ศ. 2523 – 2525 |
11 | ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประทุม แป้นสุวรรณ | ผู้อำนวยการ | พ.ศ. 2525 – 2529 |
12 | รองศาสตราจารย์ชวนพิศ ทองทวี | ผู้อำนวยการ | พ.ศ. 2530 – 2532 |
13 | ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นาถลดา สาลีนุกุล | ผู้อำนวยการ | พ.ศ. 2532 – 2536 |
14 | ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิพงษ์ ดำรงพร | ผู้อำนวยการ | พ.ศ. 2536 – 2538 |
15 | รองศาสตราจารย์สมคิด บางโม | ผู้อำนวยการ | พ.ศ. 2538 – 2541 |
16 | ผู้ช่วยศาสตราจารย์พูนเกียรติ ประถมบุตร | ผู้อำนวยการ | พ.ศ. 2541 – 2548 |
17 | ศาสตราจารย์ศรีณัฐ (อุไรวรรณ) ไทรชมภู | ผู้อำนวยการ | พ.ศ. 2548 – 2549 |
18 | ผู้ช่วยศาสตราจารย์เกษม ช่วยพนัง | ผู้อำนวยการ | พ.ศ. 2549 – 2552 |
19 | อาจารย์พีลาภ วงษ์พานิชย์ (ฝ่ายวิชาการ) อาจารย์ปกรชัย เมืองโคตร (ฝ่ายกิจการนักเรียน) อาจารย์ ดร.ประพันธ์ ล้ำนาค (ฝ่ายบริหารจัดการ) |
ผู้อำนวยการ | พ.ศ. 2552 - 2557 |
20 | อาจารย์พีลาภ วงษ์พานิชย์ | ผู้อำนวยการ | พ.ศ. 2557 - 2564 |
21 | อาจารย์ ดร.สุธีร์ คำแก้ว | ผู้อำนวยการ | พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน |
หลักสูตรที่เปิดสอน
[แก้]โรงเรียนเปิดทำการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นชั้นละ 4 ห้องเรียน และระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ชั้นละ 3 ห้องเรียน สามารถแบ่งออกได้คือ
- ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
ทุกห้องเรียนดำเนินการเรียนด้วยหลักสูตรพิเศษ "Intensive English Program" อันเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพนักเรียนให้มีความสามารถในภาษาอังกฤษแก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยเรียนกับอาจารย์เจ้าของภาษา 5 คาบต่อสัปดาห์ และชั่วโมงภาษาอังกฤษกับครูชาวไทย 1 คาบต่อสัปดาห์ เพื่อส่งเสริมให้มีทักษะความเป็นเลิศในภาษาอังกฤษเพื่อนำใปใช้จริงในอนาคต
- ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเปิดสอน 4 แผนการเรียน คือ
- วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์
- ภาษาอังกฤษ-คณิตศาสตร์
- ภาษาอังกฤษ-ภาษาญี่ปุ่น
- ภาษาอังกฤษ-ภาษาจีน
ระบบการคัดเลือกเข้าศึกษา
[แก้]สำหรับการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อยังโรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มีอยู่ 2 ประเภทคือ
ประเภทโควตาพิเศษ
[แก้]คัดเลือกจากนักเรียนโรงเรียนระดับประถมศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียงของโรงเรียนมัธยมสาธิตฯ (กรุงเทพมหานคร, จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี บางส่วน) โรงเรียนละ 3 คน ดำเนินการสอบคัดเลือกด้วยชุดทดสอบทางวิชาการของโรงเรียนฯอีกครั้ง เพื่อให้ได้นักเรียนระบบโควตาพิเศษเพียง 30 คนต่อปีการศึกษา การคัดเลือกประเภทนี้จะรับเฉพาะการเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 (โครงการ Intensive English Program) เท่านั้น
โดยการสอบประเภทนี้จะประกาศรับสมัครในช่วงเดือนธันวาคม และจัดสอบในช่วงเดือนมกราคม ของทุกปีการศึกษา
ประเภทคัดเลือกทั่วไป
[แก้]เป็นการสอบคัดเลือกรูปแบบปกติ ดำเนินการสอบคัดเลือกด้วยชุดทดสอบทางวิชาการของโรงเรียนฯ โดยแบ่งจำนวนการรับนักเรียนดังนี้
- มัธยมศึกษาปีที่ 1 ดำเนินการเรียนการสอนในรูปแบบการสอนภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น (Intensive English Program) ทั้งหมด รับประมาณ 180 คน ต่อปี
- มัธยมศึกษาปีที่ 4 (แผนการเรียนคณิตศาสตร์ - ภาษาอังกฤษ แผนการเรียนภาษาอังกฤษ - ภาษาญี่ปุ่น และแผนการเรียนภาษาอังกฤษ - ภาษาจีน) รับประมาณ 5 คน ต่อแผนการเรียน
โดยการสอบประเภทนี้จะประกาศรับสมัครในช่วงเดือนมกราคม และจัดสอบในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปีการศึกษา
ชีวิตในโรงเรียน
[แก้]โรงเรียนมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่พัฒนาทักษะทางวิชาการและกิจกรรมเสริมศักยภาพทั้งในและนอกห้องเรียน ดังต่อไปนี้
- กีฬาคณะสีสัมพันธ์
กีฬาคณะสีจะจัดขึ้นในภาคเรียนที่ 1 ของทุกปีการศึกษา คณะสีของโรงเรียนเป็นชื่อของพรรณไม้ไทย ใช้วิธีแบ่งนักเรียน มัธยมศึกษาตอนต้นที่เข้าใหม่ด้วยการจับสลากเลือกคณะสี โดยจะต้องจับสลากเปลี่ยนคณะสีใหม่อีกครั้งเมื่อขึ้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีทั้งหมด 4 คณะสี อันประกอบด้วย
- ██ คณะชัยพฤกษ์ (Chaiyaphruek) สีเขียว
- ██ คณะพุทธชาด (Bhudhachad) สีแดง
- ██ คณะราชพฤกษ์ (Rajaphruek) สีเหลือง
- ██ คณะบัวหลวง (Bualuang) สีชมพู
อันมีบทกลอนที่กล่าวถึง คณะสีทั้งสี่ไว้ว่า
- ชัยพฤกษ์กึกก้องต้องตรึงจิต
- พุทธชาดวาดชีวิตศิษย์สุขสันต์
- ราชพฤกษ์นึกภิรมย์ชมชื่นกัน
- บัวหลวงนั้นพลันเรื่อยลั่นกังสดาล
- มองสีเขียวเหลียวไปให้ใจชื่น
- แดงระรื่นหมื่นรสาซ่าซ่านหวาน
- เหลืองเรืองรุ่งจุ่งสรัญทุกวันวาน
- ชมพูมาลย์นานหอมพยอมจริง
- เรียงพยัญชน์สันสีปรีดามาก
- อย่ายุ่งยากบากแยกสรรพ์ศฤง
- ทั้งเขียวเหลืองเยื่องแดงชมพูพริง
- เปนหนึ่งสิ่งเดียวแดด้วย พ.ม.
ในกิจกรรมนี้ทำให้นักเรียนเกิดความมีส่วนร่วมในการฝึกการทำงานเป็นหมู่คณะ ตลอดจนก่อให้เกิดความสนุกสนานระหว่างกลุ่มเพื่อนฝูง สร้างความสามัคคีกลมเกลียวระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง และส่งเสริมการออกกำลังกาย เพื่อพลานามัยที่สมบูรณ์
- กิจกรรมชมรมและชุมนุม
กิจกรรมชมรมและชุมนุมต่าง ๆ เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมตามความสนใจของตน ภายใต้แนวคิดและเหตุผลเชิงสร้างสรรค์ สร้างความรู้จัก และพบปะกันมากยิ่งขึ้น โดยภายในโรงเรียนฯ ได้มีการก่อตั้งชุมนุมขึ้นเป็นจำนวนมาก ตามความสนใจของนักเรียนที่มีหลากหลาย เช่น ภาษา กีฬา สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สังคม คหกรรม คอมพิวเตอร์ ศิลปศึกษา เป็นต้น โดยนักเรียนสามารถเลือกชมรมได้ตามความสนใจของนักเรียน ไม่จำกัดชั้นปี โดยมีชุมนุมให้นักเรียนเลือกมากกว่า 30 ชุมนุม
- กิจกรรมรับน้องออก
เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยรุ่นพี่ที่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีก่อน ๆ ได้ โดยมีการแนะแนวสาขาการเรียนในคณะหรือมหาวิทยาลัยที่ตนเองสนใจ เพื่อให้น้องเตรียมพร้อมสู่การสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา
- กิจกรรมทางศาสนา
โรงเรียนได้จัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรในวันสำคัญทางศาสนา และเทศกาลวันสำคัญต่าง ๆ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เพื่อให้นักเรียนได้เข้าถึงและศรัทธาในพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมแห่เทียนพรรษา, กิจกรรมค่ายพุทธบุตร ณ วัดพระศรีมหาธาตุ และกิจกรรมทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษา เพื่อนำเงินที่ได้จากการทำบุญมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน และสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน
- พิธีประดับเข็มพระราชลัญจกร
พิธีประดับเข็มพระราชลัญจกรเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อประดับเข็มให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่เข้าปีการศึกษาใหม่ทุกคนในวันไหว้ครูของโรงเรียน เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้สถาปนานาม "มหาวิทยาลัยราชภัฏ" โดยการติดเข็มพระราชลัญจกรนั้นสำหรับนักเรียนชายจะติดหน้าอกเบื้องซ้ายของเสื้อนักเรียน เหนือชื่อและนามสกุล และนักเรียนหญิงจะติดบนเนคไท
- พิธีถวายพวงมาลาและราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5
พิธีถวายพวงมาลาและราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 จัดขึ้นในวันปิยมหาราช เพื่อถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงสถาปนาโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ในปี พ.ศ. 2435 อันเป็นฐานรากของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครในปัจจุบัน โดยโรงเรียนมีความเกี่ยวข้องในฐานะที่เป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครมาตลอด โดยพิธีจัดขึ้น ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ซึ่งประดิษฐานอยู่ด้านหน้าสำนักอธิการบดี
- วันวิชาการสาธิตราชภัฏพระนคร
เป็นการแสดงผลงานทางวิชาการด้านต่าง ๆ ของอาจารย์และนักเรียนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ ตลอดจนเป็นเวทีกลาง ในการแลกเปลี่ยนทรรศนะ และแสดงความคิดเห็นแนวคิดทางวิชาการต่าง ๆ โดยให้บุคคลภายในและภายนอกโรงเรียนฯ ได้เล็งเห็นถึงความสามารถของบุคลากรของโรงเรียน โดยกำหนดวันจัดงานอยู่ในช่วงภาคเรียนที่ 1 (ปลายเดือนกรกฎาคม)
- วันสถาปนาโรงเรียน
จัดขึ้นทุกวันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี มีกิจกรรมบำเพ็ญกุศลทางศาสนา และกิจกรรมมอบรางวัลเกียรติคุณแก่ผู้อุปการะคุณต่อโรงเรียน
- วันสายสัมพันธ์ พ.ม.
งานสายสัมพันธ์ พ.ม. เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ของศิษย์เก่า พ.ม. ตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงรุ่นปัจจุบัน อีกทั้งเป็นงานเลี้ยงฉลองสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เหน็ดเหนื่อยจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยลักษณะเป็นงานเลี้ยงโต๊ะจีน ภายในงานมีกิจกรรมการแสดงของนักเรียนและอาจารย์รุ่นปัจจุบัน การบรรเลงดนตรี การมอบรางวัลแก่ศิษย์เก่าดีเด่นที่สร้างคุณประโยชน์และชื่อเสียง ต่อโรงเรียนและประเทศชาติ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมและเกมส์ต่างๆที่สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยงานจะจัดขึ้นราวเดือนมีนาคม - เมษายน ของทุกปี ณ สนามฟุตบอลโรงเรียน
สาธิตราชภัฏสัมพันธ์เป็นการแข่งขันกีฬา การประกวดขบวนพาเหรด กองเชียร์ และผู้นำเชียร์ระหว่างโรงเรียนมัธยมสาธิตในสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีงาม โดยจะจัดขึ้นทุกปีการศึกษาราวเดือนธันวาคมของทุกปี ปัจจุบันจัดการแข่งขันมาแล้ว 31 ครั้ง ซึ่งโรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เคยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันถึง 4 ครั้ง ได้แก่ครั้งที่ 6 ครั้งที่ 11 ครั้งที่ 19 ภายใต้ชื่อการแข่งขันว่า "พระศรีเกมส์" ณ สนามกีฬากองทัพอากาศ (จันทรุเบกษา) และสนามกีฬากองทัพอากาศ (ธูปะเตมีย์) กรุงเทพมหานคร[5] และล่าสุดครั้งที่ 29 ภายใต้ชื่อการแข่งขันว่า "เพชรพระศรีเกมส์" ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) จังหวัดปทุมธานี [6]
การเดินทาง
[แก้]โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มีประตูทางเข้าออก 2 เส้นทาง การเดินทางมายังโรงเรียนสามารถเดินทางมาได้ ดังนี้
- ประตูถนนแจ้งวัฒนะ (ประตูหลัก) รถโดยสารประจำทางที่ผ่านถนนแจ้งวัฒนะ ของ ขสมก. ได้แก่ สาย 51(รถเอกชนร่วมบริการ), 59, 95 ก, 150 (รถเอกชนร่วมบริการ), 356 (รถร่วม), 513, 524 (รถเอกชนร่วมบริการ), 554[7] 1-31 และรถประจำทางสวัสดิการกองทัพอากาศ (ปากเกร็ด - ดอนเมือง - สะพานใหม่)
- ประตูหลังมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร รถโดยสารประจำทางที่ผ่านถนนพหลโยธิน เขตบางเขน (วัดพระศรีมหาธาตุ)[8] ของ ขสมก. ได้แก่ สาย 26, 29, 34, 39, 51, 59, 95, 107, 114, 126, 129, 185, 503, 522 และ 543 โดยลงที่ป้ายวัดพระศรีมหาธาตุ ผ่านเข้าไปทางด้านหลังวัดพระศรีมหาธาตุเพื่อเข้าสู่ประตูด้านหลังที่เชื่อมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร (บริเวณหอพักนักศึกษา พระนครนิเวศ)
- รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ให้ลงที่สถานีราชภัฏพระนคร
- รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท ให้ลงที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
[แก้]- พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก ลำดับที่ 35 อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และอดีตรองนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์
- พลอากาศเอกปอง มณีศิลป์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ ลำดับที่ 18
- พลอากาศเอกคณิต สุวรรณเนตร รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ นายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนวัดพระศรีมหาธาตุ เลขานุการประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ
- พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ลำดับที่ 58
- พลเอกวรวิทย์ พรรณสมัย ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก อดีตผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
- พิษณุ นิลกลัด พิธีกร, ผู้ประกาศข่าว, ผู้บรรยายการแข่งขันกีฬา และคอลัมนิสต์
- จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ พิธีกร, ผู้ประกาศข่าว
- ถั่วแระ เชิญยิ้ม ดาวตลกชื่อดัง
- หนูดี วนิษา เรซ ผู้เชี่ยวชาญด้านอัจฉริยภาพคนแรกของเมืองไทย
- พล่ากุ้ง วรชาติ ธรรมวิจินต์ นักจัดรายการวิทยุ Hotwave 91.5 MHz
- แทน ธนารัตน์ พัฒนศิริ อดีตนักจัดรายการวิทยุ SEED F.M. 97.5 MHz / พิธีกร
- บอส เดชบดินทร์ ฉายทองดี พิธีกรรายการโทรทัศน์ / นักแสดงค่าย Exact
- แนน วาทิยา รวยนิรัตน์ นักร้อง วง Cream สังกัด GMM Grammy
- บอม ณพวัชร คชาชีวะ นักดนตรี (เบส) วง Retrospect สังกัด GMM Grammy
- น๊อต ธนพล ศรีกาญจนา นักดนตรี(กีต้าร์) วง Retrospect สังกัด GMM Grammy
- ใหม่ ปณิตา เครือวงศ์ นักร้อง วง Zig-Zag (พ.ศ. 2546)
- ตวง พัชวัตร อากาศบดี ประธานนักเรียนรุ่นที่ 47 / ผู้เข้าแข่งขันรายการ Coffee Master
- มิคกี้ กฤตนาท พัฒนถาบุตร รองชนะเลิศอันดับ 4 การประกวด DOMON MAN 2009 / นักแสดง
- เอ๋ย ณัฐพร สุทธิสว่างวงศ์ 1 ใน 4 กัปตัน Dek-d BRAND'S Admission Reality ปี4
- เปา ธนาคม สิทธิอัฐกร ผู้ออกแบบชุดประจำชาติ 'นาฏยมาลี' ในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2013
- มะมิ้ว ณัฐรชา วิริยะสัทธา นางแบบ
- เถิกศักดิ์ แหลมสกุล นักดนตรี (กีต้าร์,นักร้องนำ) วง Duck
- จิด้า จิดาภา ศิริบัญชาวรรณ ศิลปินสังกัด MBO Teen Entertainment ในเครือ GMM Grammy
- ปลื้ม พงษ์พิศาล นักแสดงสังกัด GMM TV
ดูเพิ่ม
[แก้]- สาธิตราชภัฏสัมพันธ์ การแข่งขันกีฬาและกิจกรรมต่างๆระหว่างโรงเรียนมัธยมสาธิตในสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 9 แห่ง
- โรงเรียนสาธิตในสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏ
- วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ข้อมูลจำเพาะ: คู่มือนักเรียน ปีการศึกษา 2550 หน้า12-13
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 http://www.wpm.ac.th/history/
- ↑ http://archive.ssru.ac.th/document/449.pdf
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-06-14. สืบค้นเมื่อ 2020-06-14.
- ↑ สาธิตสัมพันธ์ "พระศรีเกมส์" 6-7 ธันวาคม จาก เด็กดี.คอม
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-14. สืบค้นเมื่อ 2020-06-14.
- ↑ ขสมก. สายรถ 554 เก็บถาวร 2008-07-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
- ↑ ขสมก. รถประจำทางสายที่ผ่าน "บางเขน (วัดพระศรีมหาธาตุ)"[ลิงก์เสีย] (ข้อมูลคลาดเคลื่อน เนื่องจากแหล่งอ้างอิงไม่มีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูล) จาก เว็บไซต์องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ