ข้ามไปเนื้อหา

สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เปรียญธรรม 6 ประโยค)
สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง
Royal Pali Studies Office

วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นที่ตั้งของสำนักงาน
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้งพ.ศ. 2471
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่ตึกเมตตาพุทธิ
วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
เขตภาษีเจริญ
กรุงเทพมหานคร
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
ต้นสังกัดหน่วยงานคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม
เว็บไซต์www.infopali.net

สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง (อังกฤษ: Royal Pali Studies Office[1]) เป็นหน่วยงานจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย และคณะสงฆ์อื่น ในการบังคับบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยอาศัยมติการเห็นชอบของมหาเถรสมาคม (มส.) และคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม (กศป.) (คู่กับสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง) ซึ่งอยู่ในความอุปถัมภ์ของรัฐบาลไทย หน้าที่หลักคือกำหนดเปลี่ยนแปลงการใช้คัมภีร์เรียนในหลักสูตรเปรียญธรรม 1-9 ให้เหมาะสมกับชั้นเรียนของแต่ละประโยค รวมทั้งการจัดสอบประเมินผลการศึกษาบาลีระดับชาติ โดยมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการของรัฐบาลทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม (กศป.)รับสนองงานอุดหนุนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้

การจัดประเมินผลการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีระดับประเทศ (จัดสอบบาลีสนามหลวง)

[แก้]

การสอบบาลีสนามหลวง หมายถึง การสอบไล่เพื่อวัดผลบาลีเพื่อเลื่อนชั้นเปรียญธรรมประจำปีของชาติ พระสงฆ์เจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวงมีหน้าที่วางแผน, วางนโยบาย, ประเมินและดำเนินการเพื่อให้การศึกษาของสงฆ์ตามหลักสูตรเปรียญธรรมของชาติมีประสิทธิภาพและคุณภาพ

การจัดสอบวัดผลบาลีสนามหลวงนั้นจัดให้มีการสอบปีละ 2 ครั้ง[2]

  • ครั้งที่ 1 จะตรงกับวันขึ้น 2, 3 ค่ำ เดือน 3 จัดสอบเปรียญธรรม 6- 7 และวันขึ้น 4, 5, 6 ค่ำ เดือน 3 จัดสอบเปรียญธรรม 8-9
  • ครั้งที่ 2 ตรงกับวันแรม 10, 11, 12 ค่ำ เดือน 3 จัดสอบประโยค 1-2 ถึงเปรียญธรรม 5 ประโยค

การเปิดสนามสอบส่วนภูมิภาค

[แก้]

สำหรับการจัดประเมินผลในส่วนภูมิภาคหรือต่างจังหวัดนั้น แม่กองบาลีสนามหลวงมอบให้เจ้าคณะภาคต่างๆ แต่งตั้งคณะกรรมการนำข้อสอบจากส่วนกลางไปยังสนามสอบทุกแห่ง เฉพาะประโยค ป.ธ. 1-2, 3 และ 4 เพื่อเปิดสอบพร้อมๆ กันทั่วประเทศ

การเปิดสนามสอบส่วนกลาง

[แก้]
พัดยศเปรียญธรรม 6 ประโยค

ประโยค 5-6-7-8-9 เปิดสอบในส่วนกลาง ตั้งแต่เปรียญธรรม 5 ประโยค ถึงเปรียญธรรม 9 ประโยค ทั้งประเทศจะมีการรวมจัดสอบเฉพาะในกรุงเทพมหานคร โดยแบ่งจัดสนามสอบไปตามวัดต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เฉพาะ ปธ. 7 - ปธ. 9 จะรวมสอบที่วัดสามพระยาเพียงแห่งเดียว

การตรวจข้อสอบ

[แก้]

เมื่อสอบเสร��จทุกสนามสอบนำใบตอบมารวมส่งแม่กองบาลีสนามหลวงดำเนินการตรวจ โดยนิมนต์พระภิกษุเถรานุเถระมาประชุมตรวจพร้อมกัน ณ สถานที่ๆ แม่กองบาลีสนามหลวงกำหนดขึ้น

การประกาศผลสอบบาลีระดับประเทศ

[แก้]

เมื่อคณะกรรมการได้ทำการตรวจใบกระดาษคำตอบและรวบรวมผลสอบเรียบร้อยแล้ว แม่กองบาลีสนามหลวงจะทำการประกาศผลสอบบาลี โดยจะจัดการ ประกาศผลในวัน แรม 6 ค่ำ เดือน 4 โดยมีการประกาศผลสอบบาลีชั้น ป.ธ. 7 ประโยค ถึงชั้น ป.ธ. 9 ประโยค ที่ศาลาอบรมสงฆ์วัดสามพระยา เวลา 14.00 น. และติดประกาศผลสอบทุกประโยค ณ บริเวณพระอุโบสถ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ประมาณเวลาหนึ่งทุ่ม และนำผลผู้สอบประโยคบาลีได้ ลงในเว็บไซต์ของแม่กองบาลีสนามหลวงหลังจากการประกาศอย่างเป็นทางการ 2-3 วัน [3]

ผู้สอบได้เปรียญธรรมบาลี

[แก้]
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นประธานในพิธีทรงตั้งเปรียญธรรม แก่พระภิกษุสงฆ์สามเณรผู้สอบไล่ได้ เปรียญธรรม 3 ประโยค ในเขตคณะสงฆ์หนเหนือ ประจำปี พ.ศ. 2539 ณ พระวิหารพระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา

เมื่อพระภิกษุสามเณรรูปใดสอบไล่ได้ตั้งแต่ เปรียญธรรม 3 ประโยค ขึ้นไป จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งให้เป็น "เปรียญ" และได้รับพระราชทานพัดยศเปรียญธรรม รวมทั้งมีคำนำหน้าชื่อยกย่องพระภิกษุผู้นั้นว่า "พระมหา" ซึ่งนับว่า ตำแหน่ง "เปรียญธรรม" นั้น เป็นสมณศักดิ์ทางวิชาการของพระสงฆ์ไทย ที่องค์พระประมุขของชาติ พระราชทานเพื่อเป็นการยกย่องถวายกำลังใจ แก่พระภิกษุและสามเณรผู้ศึกษาฝ่ายปริยัติธรรมมาตั้งแต่โบราณ [4]

พระมหาเปรียญ, สามเณรเปรียญ

[แก้]
  • พระภิกษุ เมื่อสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไป จะใช้คำ "พระมหา" นำหน้า
  • สามเณร เมื่อสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยคจะใช้คำว่า "เปรียญ" ตามหลังชื่อและนามสกุล ไม่มี มหา นำหน้าเหมือนพระภิกษุ[5]

การจัดการศึกษา

[แก้]
  • สำนักเรียนส่วนกลาง ได้แก่ สำนักเรียนวัด,สำนักศาสนศึกษาวัด
  • สำนักเรียนส่วนภูมิภาค ได้แก่ สำนักเรียนคณะจังหวัด,สำนักศาสนศึกษาวัด
  • สำนักเรียนบาลีออนไลน์ (นวัตกรรมยุค 4.0)

รายชื่อแม่กองบาลีสนามหลวง

[แก้]
ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 สมเด็จพระวันรัต (แพ ติสฺสเทโว) พ.ศ. 2471 พ.ศ. 2474
2 สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) พ.ศ. 2474 พ.ศ. 2476
3 สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น สุจิตฺโต) พ.ศ. 2477 พ.ศ. 2488
4 สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) พ.ศ. 2489 พ.ศ. 2502
5 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) พ.ศ. 2503 พ.ศ. 2531
6 สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) พ.ศ. 2531 พ.ศ. 2537
7 สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) พ.ศ. 2538 พ.ศ. 2558
8 พระพรหมโมลี (สุชาติ ธมฺมรตโน) พ.ศ. 2558 ปัจจุบัน

ที่ตั้งของสำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง

[แก้]

สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง ตั้งอยู่ที่ ตึกเมตตาพุทธิ วัดปากน้ำภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

คณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม (กศป.) ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หน้า 13, เล่ม 136, ตอนที่ 50 ก, 16 เมษายน 2562 ดูแลควบคุมการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ 4 แผนก 1.แผนกบาลีสนามหลวง 2.แผนกธรรมสนามหลวง 3.แผนกสามัญศึกษา 4.แผนกพระปริยัตินิเทศก์


อินทรธนูของพนักงาน ลูกจ้างเจ้าหน้าที่การศึกษาพระปริยัติธรรม(จศป.) ตามประกาศคณะกรรมการบริหารงานบุคคลการศึกษาพระปริยัติธรรม ว่าด้วยเรื่องเครื่องแบบเจ้าหน้าที่การศึกษาพระปริยัติธรรมฝ่ายคฤหัสถ์ พ.ศ.2567

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระมหากฤษดา (2024-03-30). "อัพเดตรายชื่อผู้สอบผ่านบาลี-บาลีศึกษาทุกประโยค". www.pariyat.com.
  2. กำหนดการสอบบาลีสนามหลวง
  3. ประกาศผลสอบบาลีประจำปี
  4. "การศึกษาของสงฆ์ไทยในสมัยอยุธยา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-07. สืบค้นเมื่อ 2007-03-10.
  5. "การศึกษาของพระ ป.ธ.3 ถึง ป.ธ. 9 คืออะไร ? (จุลสารพระธรรมทูตวัดไทยลาสเวกัส)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-21. สืบค้นเมื่อ 2007-03-11.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]