สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว)
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว) | |
---|---|
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก | |
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก | |
ดำรงพระยศ | 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 - 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487 (6 ปี 11 วัน) |
สถาปนา | 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร |
ก่อนหน้า | พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า |
ถัดไป | สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ |
พรรษา | 68 |
สถิต | วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร |
ประสูติ | 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2399 จังหวัดธนบุรี แพ |
สิ้นพระชนม์ | 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487 (88 ปี) วัดสุทัศน์ |
พระบิดา | นุตร พงศ์ปาละ |
พระมารดา | อ้น พงษ์ปาละ |
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ พระนามเดิม แพ พงษ์ปาละ ฉายา ติสฺสเทโว เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481[1] ในรัชสมัยพระสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ 6 ปี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487 ขณะพระชันษาได้ 88 ปี 14 วัน
พระประวัติ
[แก้]สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช มีพระนามเดิมว่าแพ ประสูติในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2399 เป็นชาวสวนบางลำภูล่าง อำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี พระชนกชื่อนุตร พงษ์ปาละ พระชนนีอ้น พงษ์ปาละ[2]
เมื่อพระชันษาได้ 7 ปี ได้ไปศึกษาอักษรสมัยกับสมเด็จพระวันรัตน์ (สมบุรณ์) ขณะยังเป็นเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ กรุงเทพมหานคร เมื่อสมเด็จพระวันรัตน์ (สมบุรณ์) ย้ายไปครองวัดราชบุรณราชวรวิหาร พระองค์ได้ย้ายตามไปด้วย ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี พ.ศ. 2411 โดยมีสมเด็จพระวันรัตน์ (สมบุรณ์) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อสมเด็จพระวันรัตน์ (สมบุรณ์) ย้ายไปครองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ก็ให้รับพระองค์ไปอยู่ด้วย ขณะอยู่วัดพระเชุตพนฯ พระองค์ได้ศึกษากับสมเด็จพระวันรัตน์เป็นหลัก นอกจากนี้ก็ศึกษากับเสมียนตราสุขบ้าง พระโหราธิบดี (ชุ่ม) บ้าง อาจารย์โพบ้าง ได้เข้าสอบครั้งแรกที่พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาทในปี พ.ศ. 2419 แต่สอบไม่ผ่าน[2]
พ.ศ. 2419 ท่านอายุครบอุปสมบท แต่สมเด็จพระวันรัต (สมบุรณ์) อาพาธ พระองค์อยู่พยาบาลจนกระทั่งท่านมรณภาพ จึงไปฝากตัวเป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) วัดสุทัศนฯ ตามที่สมเด็จพระวันรัต (สมบุรณ์) ฝากฝังไว้ ในปีเถาะ พ.ศ. 2422 จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเศวตฉัตร โดยมีสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วย้ายมาอยู่วัดสุทัศนฯ ศึกษากับสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) เป็นหลัก และไปศึกษากับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) บ้าง เข้าสอบอีกครั้งที่พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาทในปีมะเมีย พ.ศ. 2425 ได้เปรียญธรรม 4 ประโยค ต่อมาปีระกา พ.ศ. 2428 เข้าสอบที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แปลเพิ่มได้อีก 1 ประโยค เป็นเปรียญธรรม 5 ประโยค[3]
ลำดับสมณศักดิ์
[แก้]ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช | |
---|---|
ตราประจำพระองค์ | |
การทูล | ฝ่าพระบาท |
การแทนตน | เกล้ากระหม่อม/เกล้ากระหม่อมฉัน |
การขานรับ | เกล้ากระหม่อม พะย่ะค่ะ/เพคะ |
- พ.ศ. 2423 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูฐานานุกรมในพระธรรมวโรดม (แดง สีลวฑฺฒโน) ในตำแหน่งพระครูใบฎีกา พระครูมงคลวิลาส และพระครูวินัยธร ตามลำดับ[3]
- 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2432 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระศรีสมโพธิ มีนิตยภัตเดือนละ 4 ตำลึง[4]
- พ.ศ. 2439 ได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเสมอพระราชาคณะชั้นเทพ[3]
- พ.ศ. 2441 ได้เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระเทพโมลี ตรีปิฎกธรา มหาธรรมกถึกคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี[5]
- พ.ศ. 2443 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระธรรมโกษาจารย์ สุนทรญาณนายก ตรีปิฎกมุนี มหาคณาธิบดีสมณิศร บวรสังฆารามคามวาสี[6]
- พ.ศ. 2455 ได้รับพระราชทานหิรัญบัฏเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองคณะกลางที่ พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณ ตรีปิฎกธรรมาลังการวิภูษิต มัชฌิมคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี สังฆนายก[7]
- 30 ธันวาคม พ.ศ. 2458 โปรดให้ย้ายมาเป็นเจ้าคณะรองหนใต้[8]
- 14 มีนาคม พ.ศ. 2458 โปรดให้บัญชาคณะมณฑลที่ขึ้นกับคณะใต้แทนสมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทโย)[9]
- พ.ศ. 2466 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสีที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชา สัปตวิสุทธิจริยาสมบัติ นิพัทธธุตคุณ ศิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกคณฤศร สมณนิกรมหาปรินายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ สรรพสมณคุณ วิบุลยประสิทธิ์ บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี มหาสังฆนายก[10]
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2472 ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะทักษิณมหาคณิศวราธิบดีที่ สมเด็จพระวันรัต ปริยัตติพิพัฑฒนพงศ์ วิสุทธสงฆปรินายก ตรีปิฎกโกศล วิมลคัมภีรญาณสุนทร มหาทักษิณคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี[11]
- 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช[1]
- 19 กันยายน พ.ศ. 2482 ได้รับเฉลิมพระนามตามสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมวิธานธำรง สกลสงฆปรินายก ตรีปิฎกกลากุศโลภาส อานันทมหาราชพุทธมามกาจารย์ ติสสเทวภิธานสังฆวิสสุต ปาวจนุตตมโศภน วิมลศีลสมาจารวัตร พุทธศาสนิกบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ อดุลคัมภีรญาณสุนทร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญญวาสี[12]
เมื่อมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เมื่อปี พ.ศ. 2484 เพื่อประสานนโยบายฝ่ายพุทธจักรและอาณาจักรให้เป็นไปด้วยดี พระองค์ก็ได้บริหารงานคณะสงฆ์ให้ลุล่วงไป โดยแต่งตั้งพระมหาเถรานุเถระในสังฆสภา ให้ดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติ แห่ง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ฉบับดังกล่าวโดยครบถ้วนด้วยดีทุกประการ
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระวันรัต ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช, เล่ม ๕๕, ตอน ๐ ก, ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑, หน้า ๖๖๙
- ↑ 2.0 2.1 เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒, หน้า 7
- ↑ 3.0 3.1 3.2 เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 226
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 6, 19 พฤษภาคม 2432, หน้า 63
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 15, ตอน 34, 20 พฤศิกายน 2441, หน้า 353
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 17, หน้า 731
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองกา��� ประกาศตั้งพระราชาคณะ, เล่ม 29, ตอน ก, 13 พฤศจิกายน 2455, หน้า 233-5
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี พระราชทานตราตำแหน่งย้ายเจ้าคณะรอง, เล่ม 32, ตอน 0 ง, วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2458, หน้า 2826
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ ย้ายตำแหน่งเจ้าคณะ, เล่ม 32, ตอน 0 ง, 19 มีนาคม 2458, หน้า 3170
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 40, 25 พฤศจิกายน 2466, หน้า 2591
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 46, 26 กุมภาพันธ์ 2472, หน้า 359-360
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 52, 25 กันยายน 2482, หน้า 1783
- บรรณานุกรม
- กรมศิลปากร. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 450 หน้า. หน้า 7-17. ISBN 974-417-530-3
- สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. หน้า 225-229. ISBN 974-417-530-3
ก่อนหน้า | สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า |
สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2481 - พ.ศ. 2487) |
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ |