ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี
ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี | |
---|---|
ข้อมูลทั่วไป | |
สถานะ | เปิดให้บริการ |
เจ้าของ | การรถไฟแห่งประเทศไทย |
ที่ตั้ง | จังหวัดราชบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี |
ปลายทาง | |
จำนวนสถานี | 1 |
การดำเนินงาน | |
รูปแบบ | รถไฟระหว่างเมือง |
ระบบ | รถไฟชานเมือง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย |
เส้นทาง | |
ผู้ดำเนินงาน | การรถไฟแห่งประเทศไทย |
ประวัติ | |
เปิดเมื่อ | 16 มิถุนายน พ.ศ. 2506 |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
ระยะทาง | 78 กิโลเมตร (48 ไมล์) |
รางกว้าง | 1,000 mm (3 ft 3 3⁄8 in) มีเตอร์เกจ |
ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี เป็นทางรถไฟสายหนึ่ง มีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมทางรถไฟสายเหนือและทางรถไฟสายใต้เข้าด้วยกัน โดยเริ่มสำรวจแนวทางการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2496 และเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2497 ต่อมาช่วงปี พ.ศ. 2501 - 2504 ทางรถไฟสายนี้ไม่ได้รับงบประมาณจึงหยุดการก่อสร้างชั่วคราว หลังจากนั้นเมื่อได้รับงบประมาณจึงทำการก่อสร้างต่อและเปิดเดินรถเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2506 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ในอดีตทางรถไฟสายนี้มีสถานีรายทางมากถึง 11 สถานี (ไม่รวมชุมทางหนองปลาดุก) คือ สถานีรถไฟยางประสาท สถานีรถไฟดอนขุนวิเศษ สถานีรถไฟกำแพงแสน สถานีรถไฟหนองฟัก สถานีรถไฟทะเลบก สถานีรถไฟสะพังเขิน สถานีรถไฟศรีสำราญ สถานีรถไฟหนองผักชี สถานีรถไฟบ้านมะขามล้ม สถานีรถไฟสะแกย่างหมู และสถานีรถไฟสุพรรณบุรี ปัจจุบันทางรถไฟสายนี้ได้ยุบสถานีรายทางเหลือเพียงสถานีเดียว คือ สถานีสุพรรณบุรี ที่เหลือมีฐานะเป็นเพียงที่หยุดรถ และป้ายหยุดรถ ประกอบด้วย ป้ายหยุดรถไฟทุ่งบัว ที่หยุดรถไฟโรงเรียนการบิน ที่หยุดรถไฟศรีสำราญ ป้ายหยุดรถไฟดอนทอง และที่หยุดรถไฟมาลัยแมน ในเส้นทางนี้มีขบวนรถไฟเพียงวันละ 2 ขบวน คือ ขบวนรถชานเมืองที่ 355/356 กรุงเทพ-สุพรรณบุรี-กรุงเทพ[1]
หมายเหตุ : ขบวนรถชานเมืองที่ 355 - 356 วันจันทร์-วันเสาร์ มีเดินเฉพาะตอน กรุงเทพ-ชุมทางหนองปลาดุก วันอาทิตย์ มีเดินจาก กรุงเทพ-สุพรรณบุรี และวันจันทร์มีเดินจาก สุพรรณบุรี-กรุงเทพฯ วันอังคาร-เสาร์ มีเดินเฉพาะตอน ชุมทางหนองปลาดุก-กรุงเทพฯ
ระเบียงภาพ
[แก้]-
อดีตสถานีรถไฟยางประสาท ตำบลบ้านยาง อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เปิดเป็นสถานีไม่มีทางสะดวกในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2506 และยุบลงเป็นที่หยุดรถเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2519 ปัจจุบันไม่มีขบวนรถไฟจอดแล้ว
-
อดีตสถานีรถไฟดอนขุนวิเศษ ตำบลห้วยหมอนทอง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เปิดเป็นสถานีไม่มีทางสะดวกในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2506 และยุบลงเป็นที่หยุดรถเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 ปัจจุบันไม่มีขบวนรถไฟจอดแล้ว
-
อดีตสถานีรถไฟกำแพงแสน ตำบลห้วยหมอนทอง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เปิดเป็นสถานีทางสะดวกในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2506 และยุบลงเป็นที่หยุดรถเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 ปัจจุบันไม่มีขบวนรถไฟจอดแล้ว
-
ที่หยุดรถไฟทุ่งบัว ตำบลรางพิกุล อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เปิดใช้งานเมื่ิอวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2527
-
อดีตสถานีรถไฟหนองฟัก ตำบลทุ่งบัว อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เปิดเป็นสถานีไม่มีทางสะดวกในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2506 เดิมชื่อสถานี "ทุ่งขวาง" และเปลี่ยนชื่อสถานีเป็น "หนองฟัก" และยุบลงเป็นที่หยุดรถเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ปัจจุบันไม่มีขบวนรถไฟจอดแล้ว
-
อดีตสถานีรถไฟทะเลบก ตำบลกระตีบ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เปิดเป็นสถานีไม่มีทางสะดวกในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2506 และเปิดเป็นสถานีทางสะดวก มีทางหลีก ทางตัน และชานบรรทุก เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2514 และยุบเป็นที่หยุดรถเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 ปัจจุบันไม่มีขบวนรถไฟจอดแล้ว
-
อดีตสถานีรถไฟสะพังเขิน ตำบลดอนมะนาว อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเป็นสถานีไม่มีทางสะดวกในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2506 และยุบเป็นที่หยุดรถเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2509 เนื่องจากเปิดที่หยุดรถไฟหนองวัลย์เปรียงขึ้นมาแทน ปัจจุบันไม่มีขบวนรถไฟจอดแล้ว
-
อดีตสถานีรถไฟศรีสำราญ ตำบลศรีสำราญ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเป็นสถานีทางสะดวกในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2506 และเป็นสถานีรายทางแห่งสุดท้ายก่อนยุบเป็นที่หยุดรถเมื่อปี พ.ศ. 2528 ปัจจุบันเป็นศูนย์รวมและกระจายการขนส่งสินค้าเกษตรทางรางศรีสำราญ เป็นศูนย์รวมขนส่งสินค้าเกษตรทางรางของภาคกลางที่กระจายสินค้าส่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ
-
อดีตที่หยุดรถไฟดอนสงวน ตำบลหัวโพธิ์ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เปิดใช้งานวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2508 ปัจจุบันไม่มีขบวนรถไฟจอดแล้ว
-
อดีตสถานีรถไฟหนองผักชี ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันไม่มีขบวนรถไฟจอดแล้ว
-
อดีตสถานีรถไฟบ้านมะขามล้ม ตำบลมะขามล้ม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ยุบเป็นที่หยุดรถเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 ปัจจุบันไม่มีขบวนรถไฟจอดแล้ว
-
อดีตสถานีรถไฟสะแกย่างหมู ตำบลมะขามล้ม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ยุบเป็นที่หยุดรถเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ปัจจุบันไม่มีขบวนรถไฟจอดแล้ว
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-12. สืบค้นเมื่อ 2010-03-10.
- แขวงบำรุงทางนครปฐม
- ทางรถไฟในจังหวัดสุพรรณบุรี
- เส้นทางรถไฟที่เปิดทำการในปี พ.ศ. 2506
- ทางรถไฟในจังหวัดนครปฐม
- ทางรถไฟในจังหวัดราชบุรี
- สิ่งก่อสร้างในอำเภอบ้านโป่ง
- สิ่งก่อสร้างในอำเภอเมืองนครปฐม
- สิ่งก่อสร้างในอำเภอกำแพงแสน
- สิ่งก่อสร้างในอำเภอสองพี่น้อง
- สิ่งก่อสร้างในอำเภอบางปลาม้า
- สิ่งก่อสร้างในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี
- ก่อตั้งในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2506