ลานพระราชวังดุสิต
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
พระลานพระราชวังดุสิต หรือที่นิยมเรียกโดยทั่วไปว่า ลานพระบรมรูปทรงม้า เป็นลานกว้างอยู่ด้านหน้าของพระที่นั่งอนันตสมาคม และสวนอัมพร ในเขตพระราชวังดุสิต ถนนอู่ทองใน แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ "พระบรมรูปทรงม้า"
ประวัติ
[แก้]พระลานพระราชวังดุสิต สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมกับการสร้างพระราชวังดุสิต โดยเดิมยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2451 ในคราวพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 40 ปี มากที่สุดในประวัติศาสตร์สยามในขณะนั้น พระองค์โปรดให้จัดสร้างพระบรมรูปของพระองค์ในลักษณะประทับทรงมา ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ พระบรมรูปทรงม้า โดยนายช่างชาวฝรั่งเศสดำเนินการปั้นต้นแบบตามที่พระองค์ทรงประทับ ซึ่งแล้วเสร็จเรียบร้อยและส่งเข้ามาถึงประเทศสยามเป็นเวลาพอดีกับพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เจ้าพนักงานได้อัญเชิญพระบรมรูปขึ้นประดิษฐานบนแท่นรองซึ่งอยู่บนลานกว้างด้านหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ในเขตพระราชวังสวนดุสิต โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอ��พิธีเปิดด้วยพระองค์เอง การประดิษฐานพระบรมรูปทรงม้าไว้บริเวณดังกล่าว ทำให้ลานกว้างแห่งนี้มีชื่อเรียกไม่เป็นทางการอีกชื่อหนึ่งว่า ลานพระบรมรูปทรงม้า
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนชื่อพระราชวังสวนดุสิตเป็น "พระราชวังดุสิต" ส่งผลให้ลานกว้างด้านหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมได้รับการออกชื่อว่า พระลานพระราชวังดุสิต
ปัจจุบัน พระลานพระราชวังดุสิตเป็นเขตพระราชฐาน เนื่องจากอยู่ใกล้กับพระที่นั่งอัมพรสถานซึ่งเป็นพระที่นั่งที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี จึงมีการปรับปรุงพื้นที่เพื่อความปลอดภัยของเขตพระราชฐาน โดยมีการก่อสร้างรั้วขึ้นกั้นระหว่างพระลานและถนนศรีอยุธยา และปิดถนนอู่ทองในห้ามรถสัญจรผ่าน ทั้งนี้ ประชาชนยังสามารถเข้าสักการะบริเวณพระบรมรูปทรงม้าได้ตามปกติ[1][2]
สิ่งปลูกสร้าง
[แก้]พระบรมรูปทรงม้า
[แก้]พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งรู้จักในชื่อ พระบรมรูปทรงม้า สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยนำแบบอย่างมาจากพระบรมรูปของพระเจ้าหลุยส์แห่งฝรั่งเศส ที่กรุงปารีส ด้วยฝีมือนายช่างชาวฝรั่งเศส บริษัท ซุซเซอร์ เฟรสฟอร์เดอร์ ในวโรกาสการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2450 พระองค์เสด็จประทับเป็นแบบให้ช่างปั้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2450 พระบรมรูปสำเร็จเรียบร้อยส่งเข้ามาถึงกรุงเทพพระมหานครเมื่อวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 อันเป็นเวลาพอดีกับงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 40 ปี เจ้าพนักงานได้อัญเชิญพระบรมรูปทรงม้าขึ้นประดิษฐานบนแท่นรองหน้าพระราชวังดุสิต โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดด้วยพระองค์เอง
พระบรมรูปทรงม้า หล่อด้วยโลหะทองบรอนซ์ ยึดติดกับแท่นทองบรอนซ์ เป็นที่ม้ายืน หนาประมาณ 25 เซนติเมตร ประดิษฐานบนแท่นรอง ทำด้วยหินอ่อน สูงประมาณ 6 เมตร กว้าง 2 เมตรครึ่ง ยาว 5 เมตร
ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ในวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสวรรคต และภายหลังรัฐบาลไทยได้ประกาศให้เป็น "วันปิยมหาราช" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกรัชกาล พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือพระบรมรูปทรงม้า แห่งนี้เป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ แม้มิใช่วันปิยมหาราช ก็มีข้าราชการ พ่อค้า แม่ค้า และประชาชนจำนวนมากเดินทางมาสักการะ ณ พระบรมรูปทรงม้าอยู่เสมอ
หมุดคณะราษฎร
[แก้]บริเวณพระลานพระราชวังดุสิตด้านสนามเสือป่า เคยมีหมุดทองเหลืองฝังอยู่บนพื้นถนน บริเวณที่พระยาพหลพลพยุหเสนาได้อ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ เพื่อประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 นิยมเรียกกันว่า หมุดคณะราษฎร
ปัจจุบัน หมุดคณะราษฎรมีสถานะสูญหาย
กิจกรรม
[แก้]พิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ เนื่องในวันปิยมหาราช
[แก้]รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น "วันปิยมหาราช" เพื่อเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า "สมเด็จพระปิยมหาราช" หมายความว่า "พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน" [3]
นับแต่ปี พ.ศ. 2454 ในวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและวันปิยมหาราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกรัชกาล พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งตั้งอยู่ที่พระลานพระราชวังดุสิต เป็นประจำทุกปี[4] นอกจากนี้ ยังมีหน่วย��านราชการ เอกชน พ่อค้า แม่ค้า และประชาชนจากทั่วประเทศ ร่วมนำพวงมาลาหรือพุ่มดอกไม้มาถวายราชสักการะเช่นกัน [3]
พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์
[แก้]ปรากฎการจัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 สมัยที่จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยจัดให้มีขึ้นเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน และเพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วย เพื่อใช้แทนธงชัยเฉลิมพลเดิมที่ชำรุด
นับแต่ปี พ.ศ. 2500 มีการจัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นประจำทุกปี โดยที่บางปีได้มีการปรับเปลี่ยนวันและลำดับขั้นตอนตามความเหมาะสม โดยนับแต่ปี พ.ศ. 2504 จนถึงปี พ.ศ. 2540 กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 3 ธันวาคม และนับแต่ปี พ.ศ. 2541 จนถึงปี พ.ศ. 2551 กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 2 ธันวาคม จากนั้นนับแต่ปี พ.ศ. 2552 จนถึงปี พ.ศ. 2558 มีการปรับเปลี่ยนวัน ลำดับขั้นตอน และสถานที่จัดพิธีโดยลำดับ โดยย้ายออกจากพระลานพระราชวังดุสิต[5]
ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปี พ.ศ. 2559 พิธีได้ว่างเว้นมาเป็นเวลาหลายปี จนถึงปี พ.ศ. 2567 กองทัพไทยกำหนดจัดพิธีดังกล่าวขึ้นอีกครั้ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยกำหนดจัดพิธีในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ณ พระลานพระราชวังดุสิต นับเป็นการจัดพิธีครั้งแรกในรัชสมัย ทั้งนี้ ได้มีการปรับลำดับขั้นตอนให้มีการสวนสนามก่อนการถวายสัตย์ปฏิญาณตน จึงมีการออกชื่อพิธีนี้ใหม่ว่า "พิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์" [6]
พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล
[แก้]พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล สันนิษฐานว่ามีขึ้นครั้งแรกเท่าที่ปรากฎหลักฐาน เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2470 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพิธีดังกล่าวจัดขึ้นที่พระลานพระราชวังดุสิต โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธี
ในปี พ.ศ. 2500 มีการประกอบพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลร่วมกันของทั้งสามเหล่าทัพในเขตพระนครและธนบุรี จากนั้นกองทัพไทยได้กำหนดให้แต่ละเหล่าทัพประกอบพิธีภายในหน่วยของตน เพื่อลดปัญหาการจราจร โดยปัจจุบันจัดพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลขึ้นในวันที่ 18 มกราคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันกองทัพไทย
พระราชพิธี รัฐพิธีและกิจกรรมอื่น ๆ
[แก้]- วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 การเสด็จออกมหาสมาคมเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542
- วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 พระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และเสด็จออกมหาสมาคม เนื่องในโอกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี [7]
- วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555 การเสด็จออกมหาสมาคมเนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา พุทธศักราช 2555 [8]
- วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2558 กิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา 12 สิงหาคม 2558 "Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่" [9]
- วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558 กิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558 "ปั่นเพื่อพ่อ Bike for Dad" [10]
- วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2560 พิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดพิธีจากเดิมที่จัดที่ท้องสนามหลวงเป็นประจำทุกปี เนื่องจากท้องสนามหลวงอยู่ระหว่างการก่อสร้างพระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร [11]
- วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2561 กิจกรรม "อุ่นไอรัก คลายความหนาว" [12]
- วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2562 กิจกรรม “อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” [13]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ หนึ่ง (2024-09-19). "'เทพมนตรี' เปิดภาพล่าสุด 'ลานพระบรมรูปทรงม้า' ให้ข้อมูลเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง".
- ↑ "ในหลวงมีพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนสามารถเข้าสักการะพระบรมรูปทรงม้า". mgronline.com. 2022-07-31.
- ↑ 3.0 3.1 "วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม มีประวัติและความสำคัญอย่างไร". www.thairath.co.th. 2023-10-18.
- ↑ matichon (2024-10-23). "ในหลวง พระราชินี ทรงวางพวงมาลาพระบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ 5 เนื่องในวันปิยมหาราช".
- ↑ isarin (2024-11-22). "พิธีสวนสนามและถวายสัตย์ฯ ทหารรักษาพระองค์ ครั้งแรกในรัชกาลที่ 10". ประชาชาติธุรกิจ.
- ↑ สมพระเกียรติ ในหลวง เสด็จฯ พิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณ ครั้งแรกในรัชกาล
- ↑ ""ในหลวง" เสด็จฯ ออกมหาสมาคม เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี". mgronline.com. 2006-06-09.
- ↑ isranews (2012-12-05). "ประมวลภาพ ในหลวงเสด็จออกมหาสมาคม 5 ธ.ค.2555". สำนักข่าวอิศรา.
- ↑ กิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ "bike for MOM ปั่นเพื่อแม่"
- ↑ แจ๊ค (2021-12-08). "'ปั่นเพื่อพ่อ Bike For Dad'".
- ↑ "นายกฯ นำจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล "วันแม่ 12 ส.ค."". Thai PBS.
- ↑ "สุดยิ่งใหญ่สวนดอกไม้พระลานพระราชวังดุสิต "งานอุ่นไอรัก คลายความหนาว"". www.sanook.com/travel. 2018-02-05.
- ↑ "กิจกรรม อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์ | พระราชพิธีบรมราชาภิเษก". Phralan.in.th.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ ลานพระราชวังดุสิต
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์