สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
Royal Society of Thailand | |
เครื่องหมายราชการของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา | |
ภาพรวมหน่วยงาน | |
---|---|
ก่อตั้ง | 19 เมษายน พ.ศ. 2469 |
หน่วยงานก่อนหน้า |
|
ประเภท | ส่วนราชการ |
สำนักงานใหญ่ | สนามเสือป่า แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร |
บุคลากร | 92 คน (พ.ศ. 2566) |
งบประมาณต่อปี | 97,687,400 บาท (พ.ศ. 2568)[1] |
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน |
|
เอกสารหลัก | |
เว็บไซต์ | ราชบัณฑิตยสภา และสำนักงานราชบัณฑิตยสภา |
ราชบัณฑิตยสภา เป็นองค์การในรัฐบาลไทย สำหรับค้นคว้าและวิจัยเพื่อเผยแพร่ ส่งเสริม แลกเปลี่ยนความรู้ พัฒนา อนุรักษ์ และให้บริการทางวิชาการให้เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน[2] มีหน่วยธุรการชื่อว่า สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ซึ่งเป็นส่วนราชการอิสระในฝ่ายบริหารของรัฐบาล มีฐานะเป็นกรม[2]
ในทางประวัติศาสตร์นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงก่อตั้งราชบัณฑิตยสภาขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2469 เพื่อเป็นสมาคมปราชญ์ประจำประเทศสยามเฉกเช่นเดียวกับในต่างประเทศ[3] ภายหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างราชบัณฑิตยสภาในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2476 โดยแยกออกเป็นราชบัณฑิตยสถานกับกรมศิลปากรเพื่อให้ทำงานวิชาการได้อย่างเต็มที่[4] ราชบัณฑิตยสถานมีการทำงาน 2 ส่วน คือสภาราชบัณฑิตทำหน้าที่ด้านวิชาการ และข้าราชการประจำทำหน้าที่ธุรการสนับสนุนงานของสภาราชบัณฑิต[5] ต่อมาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอีกครั้งโดยเปลี่ยนชื่อราชบัณฑิตยสถานเป็นสำนักงานราชบัณฑิตยสภา และเปลี่ยนชื่อสภาราชบัณฑิตเป็นราชบัณฑิตยสภาตามชื่อดั้งเดิมสมัยรัชกาลที่ 7[5]
ตามโครงสร้างปัจจุบัน ราชบัณฑิตยสภามีสมาชิก 3 ประเภท คือภาคีสมาชิก ราชบัณฑิต และราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ภาคีสมาชิกเป็นบุคคลที่ราชบัณฑิตยสภาคัดเลือกและแต่งตั้งขึ้นจากผู้มีสัญชาติไทยและมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด ราชบัณฑิตเป็นบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบรรดาภาคีสมาชิกเมื่อมีคำกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรีตามคำแนะนำของราชบัณฑิตยสภา และราชบัณฑิตกิติมศักดิ์เป็นบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิเมื่อมีคำกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรีตามคำแนะนำของราชบัณฑิตยสภา[6]
ราชบัณฑิตยสภาจัดแบ่งงานวิชาการของตนออกเป็นสำนัก ได้แก่สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง สำนักวิทยาศาสตร์ และสำนักศิลปกรรม[7] แต่งานวิชาการซึ่งเป็นที่รู้จักที่สุดของราชบัณฑิตยสภามักเป็นงานเนื่องในการวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับภาษาไทย เช่น การจัดทำพจนานุกรม โดยเฉพาะ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน การจัดทำสารานุกรม อักขรานุกรม อนุกรมวิธาน และการบัญญัติศัพท์วิชาการ[8]
ประวัติ
[แก้]การก่อตั้งราชบัณฑิตยสภา
[แก้]รัชกาลที่ 7 ทรงก่อตั้งราชบัณฑิตยสภาขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2469 โดยทรงรวมหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งรับผิดชอบหอสมุด พิพิธภัณฑสถาน งานวรรณกรรม งานวิศวกรรม และงานโบราณคดี เข้าด้วยกันเป็นหน่วยงานอันหนึ่งอันเดียว เพื่อให้ประเทศสยามได้มีส��าคมปราชญ์ประจำประเทศเฉกเช่นในต่างประเทศ[3] ทรงตั้งชื่อหน่วยงานนี้ว่าราชบัณฑิตยสภา ตามชื่อกรมราชบัณฑิต ซึ่งเป็นหน่วยงานในกระทรวงธรรมการสมัยโบราณ[3]
การปรับโครงสร้างเป็นราชบัณฑิตยสถาน
[แก้]ภายหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 คณะราษฎรผู้ก่อการปฏิวัติดังกล่าวได้ปรับโครงสร้างราชบัณฑิตยสภาเสียใหม่ตามการเสนอแนะของปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในสมาชิกคณะ โดยมีประกาศในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2476 ให้ยุบราชบัณฑิตยสภาลงเพื่อแยกไปก่อตั้งเป็นหน่วยงานใหม่ 2 แห่ง คือราชบัณฑิตยสถาน (เมื่อก่อตั้งเขียนว่าราชบัณฑิตสถาน) และกรมศิลปากร[4]
หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) เลขาธิการคนแรกของราชบัณฑิตยสถาน กล่าวถึงเหตุผลในการปรับโครงสร้างว่า "ราชบัณฑิตยสภาของเราได้ตั้งมาแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2469 แต่ไม่ได้วางรูปโครงให้ตรงกับที่ควรวางไว้ คือแทนที่จะให้ราชบัณฑิตสภาเป็นที่ค้นคว้าวิชาการดังรูปร่างราชบัณฑิตสถานในเวลานี้ กลับเอางานธุรการไปบรรทุกเข้าไว้ให้กรรมการราชบัณฑิตสภาต้องเสียเวลาทำงานฝ่ายธุรการเป็นส่วนมาก เหลือเวลาที่จะค้นคว้าทางวิชาการแต่น้อย และก็ไม่มีกฏหมายหรือข้อบังคับอื่นใดที่บัญญัติให้กรรมการราชบัณฑิตสภาต้องทำการค้นทางวิชาการ…แต่ถ้าได้วางรูปการตราแบบราชบัณฑิตสถานที่แท้จริงแล้ว ผู้ที่ได้รับเลือกเข้าครองตำแหน่งในราชบัณฑิตสถานย่อมมีหน้าที่ที่ต้องทำการค้นคว้าในทางวิชา ความรู้ของเราจะงอกงามขึ้นโดยเร็ว…ต่อไปภายหน้าเราจะมีคนที่สามารถในเชิงสรรพวิชาพอที่จะทำการแลกเปลี่ยนความรู้กับราชบัณฑิตหรืออาคาเดมีเซียงของต่างประเทศ จะเป็นที่เชิดชูเกียรติของไทย จะให้ความสะดวกแก่การการค้นคว้าวิชาการ จะช่วยลดความจำเป็นในการจ้างชาวต่างประเทศ"[4]
การปรับโครงสร้างครั้งนี้ดำเนินตามโครงสร้างของสถาบันฝรั่งเศส (Institut de France) ซึ่งแบ่งกิจการออกเป็นสำนัก (académie) ต่าง ๆ มีปรีดี พนมยงค์ กับหม่อมเจ้าวรรณ ไวทยากร ร่างระเบียบการในการปรับโครงสร้าง[4] ครั้นวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2477 จึงมีประกาศเรื่องโครงสร้างของราชบัณฑิตยสถาน โดยให้แบ่งกิจการออกเป็นสำนักต่าง ๆ 3 สำนัก คือสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง สำนักวิทยาศาสตร์ และสำนักศิลปกรรม พร้อมแต่งตั้งภาคีสมาชิกประจำสำนักแต่ละแห่ง[4]
ในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2477 มีการประชุมภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถานเป็นครั้งแรก จัดที่ศาลาสหทัยสมาคม มีพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน[4] พระยาพหลพลพยุหเสนากล่าวเปิดประชุมว่า "ทุกประเทศที่เจริญแล้วย่อมมีราชบัณฑิตสถาน ผู้ที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็นสมาชิกแห่งราชบัณฑิตสถานย่อมถือว่าได้รับความยกย่องอันสูงสุดที่จะพึงได้รับในเชิงวิชาการ...ราชบัณฑิตสถานของเราไม่ใช่เครื่องมือหรือเครื่องบำรุงความสูงศักดิ์ของบุคคลผู้หนึ่งผู้ใด แต่เป็นเครื่องเชิดชูเกียรติของชาติและระบอบรัฐธรรมนูญ ถ้าหากจะมีนามอันหนึ่งอยู่คู่ไปกับราชบัณฑิตสถาน นามอันนั้นจะไม่ใช่นามของบุคคล แต่เป็นนามของสภาผู้แทนราษฎร นามของรัฐธรรมนูญ ถ้าหากจะมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่คนในชั้นหลังจะต้องระลึกคู่กันไปกับราชบัณฑิตสถาน สิ่งนั้นก็คือรัฐธรรมนูญ"[4] ในการประชุมครั้งนี้ หม่อมเจ้าวรรณ ไวทยากร ทรงได้รับเลือกตั้งเป็นนายกคนแรกของราชบัณฑิตยสถาน พระเรี่ยมวิรัชชพากย์ (เรี่ยม ทรรทรานนท์) ได้รับเลือกตั้งเป็นอุปนายกคนแรกของราชบัณฑิตยสถาน และหลวงวิจิตรวาทการได้รับเลือกตั้งเป็นเลขาธิการคนแรกของราชบัณฑิตยสถาน[4]
งานที่โดดเด่นของราชบัณฑิตยสถานในช่วงนี้ มีการปรับปรุงปทานุกรม (พจนานุกรม) ซึ่งเป็นงานที่รับโอนมาจากกระทรวงธรรมการ และงานจัดทำสารานุกรมและอักขรานุกรม งานบัญญัติศัพท์ทางวิชาการ และงานจัดวางระเบียบการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน[5]
การปรับโครงสร้างเป็นราชบัณฑิตยสภา
[แก้]ใน พ.ศ. 2556 สภาราชบัณฑิตเ��็นว่า ในโอกาสครบรอบ 120 ปีพระประสูติกาลของรัชกาลที่ 7 ใน พ.ศ. 2558 นั้น สมควรเปลี่ยนชื่อหน่วยงานกลับเป็นราชบัณฑิตยสภาเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ ภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 จึงมีการเสนอกฎหมายไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งต่อมาได้รับการตราขึ้นเป็นพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2558 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558[6] นอกจากการเปลี่ยนชื่อดังกล่าวแล้ว พระราชบัญญัตินี้ยังให้ปรับเปลี่ยนราชบัณฑิตยสถานเป็นหน่วยธุรการของสภาราชบัณฑิต เรียกชื่อว่าสำนักงานราชบัณฑิตยสภา และเพิ่มอำนาจหน้าที่หลายประการให้แก่หน่วยงาน เป็นต้นว่าการมอบใบรับรองคุณวุฒิเช่นประกาศนียบัตร การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการสำหรับสมาชิกของหน่วยงาน และการอนุญาตให้หน่วยงานเก็บรักษารายได้ไว้เพื่อใช้ภายในโดยไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง[6]
สมาชิกหลายคนของราชบัณฑิตยสถานคัดค้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เนื่องจากไม่มีการจัดทำประชาพิจารณ์[9]
ที่ตั้ง
[แก้]เดิมราชบัณฑิตยสภาตั้งอยู่ที่วังบางขุนพรหม ต่อมาย้ายไปยังหอพระสมุดวชิราวุธที่ถนนหน้าพระลาน กระทั่ง พ.ศ. 2531 จึงย้ายไปยังอาคารราชวัลลภในพระบรมมหาราชวัง[5] ครั้น พ.ศ. 2549 จึงย้ายไปยังสถานที่ปัจจุบัน ณ สนามเสือป่าใกล้ลานพระราชวังดุสิตในกรุงเทพมหานคร[5]
-
ที่ตั้งเดิมในพระบรมมหาราชวัง
-
ที่ตั้งปัจจุบัน ณ สนามเสือป่า
เครื่องหมาย
[แก้]เครื่องหมายของราชบัณฑิตยสภาเป็นรูปพระขรรค์เปล่งรัศมีอยู่บนตำราที่เปิดอ้า มีคำในภาษาบาลีว่า "ปณฺฑิโต" และมีมงกุฏลอยอยู่เบื้องบนพระขรรค์ พร้อมแถบผ้าปรากฏนามหน่วยงานอยู่ภายใต้ตำรา[10]
พระขรรค์และตำราดังกล่าวมีที่มาจากสุภาษิตว่า "ปัญญาประดุจดังอาวุธ" รัศมีของพระขรรค์สื่อถึงแสงแห่งปัญญา มงกุฏสื่อถึงพระมหากษัตริย์[10]
การบริหาร
[แก้]ราชบัณฑิตยสภามีการดำเนินงาน 2 ส่วน คืองานวิชาการและงานธุรการ[7]
งานวิชาการ
[แก้]งานวิชาการแบ่งออกเป็นสำนัก แต่ละสำนักมีหัวหน้าเรียกว่าประธานสำนัก และมีเลขานุการเรียกว่าเลขานุการสำนัก[11]
สำนักแรกเริ่ม
[แก้]สำนักแรกเริ่มใน พ.ศ. 2477 ประกอบด้วยสำนัก 3 สำนัก และสาขาวิชาย่อยต่าง ๆ ดังนี้[4]
สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง[แก้]
|
สำนักวิทยาศาสตร์[แก้]
|
สำนักศิลปกรรม[แก้]
|
สำนักในปัจจุบัน
[แก้]งานธุรการ
[แก้]งานธุรการมีผู้รับผิดชอบคือสำนักงานราชบัณฑิตยสภา มีหัวหน้าสำนักงานเรียกว่าเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา และแบ่งการงานออกเป็นกอง 3 กอง คือกองธรรมศาสตร์และการเมือง กองวิทยาศาสตร์ และกองศิลปกรรม[12]
สมาชิก
[แก้]สมาชิกของราชบัณฑิตยสภา มี 3 ประเภทดังนี้
ราชบัณฑิต
[แก้]ราชบัณฑิต ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง โดยราชบัณฑิตจากทุกสำนักจะเป็นผู้คัดเลือกจากภาคีสมาชิก แล้วนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง มีได้จำกัดจำนวน 118 ตำแหน่ง ปัจจุบันมีราชบัณฑิตจำนวน 110 คน[13]
ภาคีสมาชิก
[แก้]ภาคีสมาชิก ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง ที่สมัครเข้าทำการร่วมกับราชบัณฑิตยสภา และราชบัณฑิตยสภาได้รับสมัครเป็นภาคีสมาชิกของสำนักใดสำนักหนึ่งแล้ว จำนวนภาคีสมาชิกมีจำกัดได้ไม่เกิน 84 คน แบ่งเป็น สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง 33 คน สำนักวิทยาศาสตร์ 55 คน สำนักศิลปกรรม 30 คน ปัจจุบันมีภาคีสมาชิก 74 คน[13]
ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์
[แก้]ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของราชบัณฑิตยสภา ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยไม่จำกัดจำนวน ปัจจุบันมีราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ จำนวน 8 คน เรียงตามลำดับการได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ดังนี้
คำนำหน้าชื่อ | รายชื่อ | ปีที่ได้รับแต่งตั้ง | สาขาวิชา | อ้างอิง |
---|---|---|---|---|
พลตรี | เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ | 2486 | - | [14] |
พลตรี | ประยูร ภมรมนตรี | 2486 | - | [14] |
พลอากาศโท | มุนี มหาสันทนะ เวชยันตรังสฤษฏ์ | 2486 | - | [14] |
พลตรี | วิจิตร วิจิตรวาทการ | 2486 | - | [14] |
หม่อมหลวง | เดช สนิทวงศ์ | 2486 | - | [14] |
ศาสตราจารย์ | เดือน บุนนาค | 2486 | - | [14] |
พลโท | หลวงละออภูมิลักษณ์ (ลออ บุนนาค) | 2521 | - | [15] |
พระอัพภันตราพาธพิศาล (กำจร พลางกูร) | 2524 | - | [16] | |
หม่อมหลวง | ปิ่น มาลากุล | 2529 | วรรณศิลป์ | [17] |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ | เฟื้อ หริพิทักษ์ | 2529 | วิจิตรศิลป์ | [18] |
บุญมา วงศ์สวรรค์ | 2536 | เศรษฐศาสตร์ทั่วไป | [19] | |
ศาสตราจารย์ | ประเวศ วะสี | 2548 | แพทยศาสตร์ | [20] |
ศาสตราจารย์ | สิปปนนท์ เกตุทัต | 2548 | ฟิสิกส์ | [20] |
ศาสตราจารย์พิเศษ | สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) | 2550 | ศาสนศาสตร์ | [21] |
มีชัย ฤชุพันธุ์ | 2550 | นิติศาสตร์ | [21] | |
ศาสตราจารย์ คุณหญิง | กุหลาบ มัลลิกะมาส | 2550 | วรรณคดีเปรียบเทียบ | [21] |
ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิง | พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา | 2552 | ศึกษาศาสตร์ | [22] |
ศาสตราจารย์ | ยงยุทธ ยุทธวงศ์ | 2552 | เคมี | [22] |
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ | พูนพิศ อมาตยกุล | 2552 | ดุริยางคกรรม | [22] |
ศาสตราจารย์ | พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) | 2552 | อัคฆวิทยา | [23] |
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ | กุสุมา รักษมณี | 2562 | วรรณศิลป์ | [24] |
ศาสตราจารย์ | ไพรัช ธัชยพงษ์ | 2563 | วิศวกรรมศาสตร์ | [25] |
ผู้ได้รับแต่งตั้งที่ยังมีชีวิตอยู่
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "พระราชบัญญัติงบประมาณร่ายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 141 (59 ก): 83. 2024-09-30.
- ↑ 2.0 2.1 "พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2558". ราชบัณฑิตยสภา. 132 (10 ก): 1–11. 2015-02-13.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 "กำเนิดราชบัณฑิตยสภา". สถาบันพระปกเกล้า. 2016.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 4.8 ""ราชบัณฑิตยสถาน" มรดกคณะราษฎร ก่อตั้งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475". Arts and Culture Magazine. 2024-06-24.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 "ประวัติความเป็นมา". orst.go.th. 2020.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 บุศรา เข็มทอง (2015). "ราชบัณฑิตยสภา". parliament.go.th.
- ↑ 7.0 7.1 "แผนผังการบริหารราชบัณฑิตยสภาและสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ตามพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๕๘". royalsociety.go.th. n.d.
- ↑ "ราชบัณฑิตยสภา". thairath.co.th. 2015-02-27.
- ↑ "ยื่น สนช. ค้านเปลี่ยน���ื่อ "ราชบัณฑิตยสถาน"". Post Today. 2014-10-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-19. สืบค้นเมื่อ 2015-04-16.
- ↑ 10.0 10.1 ราชบัณฑิตยสถาน (2007). "เครื่องหมายราชการของราชบัณฑิตยสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-16. สืบค้นเมื่อ 2015-02-16.
- ↑ "แผนภูมิการแบ่งส่วนราชการ พุทธศักราช 2564". orst.go.th. n.d.
- ↑ "แบ่งส่วนราชการสำนักงานราชบัณฑิตยสภา". orst.go.th. n.d.
- ↑ 13.0 13.1 รายชื่อราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกปัจจุบัน
- ↑ 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 14.5 ประกาศสำนักนายกรัฐมนต���ี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์
- ↑ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-02-25. สืบค้นเมื่อ 2018-01-18.
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (นายเฟื้อ หริพิทักษ์)
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (นายบุญมา วงศ์สวรรค์)
- ↑ 20.0 20.1 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศาสตราจารย์ประเวศ วะสี, ศาสตราจารย์สิปปนนท์ เกตุทัต)
- ↑ 21.0 21.1 21.2 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พระพรหมคุณาภรณ์ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ศาสตราจารย์ คุณหญิงกุหลาบ มัลลิกะมาส)
- ↑ 22.0 22.1 22.2 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ศาสตราจารย์ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ศาสตราจารย์พูนพิศ อมาตยกุล)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์, เล่ม 126, ตอนพิเศษ 62 ง, 23 เมษายน 2552, หน้า 31
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์, เล่ม 136, ตอนพิเศษ 115 ง, 10 พฤษภาคม 2562, หน้า 11
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์, เล่ม 137, ตอนพิเศษ 222 ง, 23 กันยายน 2563, หน้า 2