พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปุก
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปุก | |
---|---|
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 2 พระองค์เจ้าชั้นเอก | |
ประสูติ | 31 ตุลาคม พ.ศ. 2335 |
สิ้นพระชนม์ | 11 สิงหาคม พ.ศ. 2416 (80 ปี) |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย |
พระมารดา | เจ้าจอมมารดาสั้น ในรัชกาลที่ 2 |
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปุก (31 ตุลาคม พ.ศ. 2335 – 11 สิงหาคม พ.ศ. 2416) พระราชธิดาพระองค์ที่ 11 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสั้น
พระประวัติ
[แก้]พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปุก ประสูติเมื่อวันพุธ เดือน 12 แรม 2 ค่ำ ปีชวด จัตวาศก จ.ศ. 1154 ตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2335 เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสั้น
ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริจะสร้างพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลในราชวงศ์จักรีไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ให้เหมือนหอพระเทพบิดรในวัดพระศรีสรรเพชญ์ ในกรุงศรีอยุธยา แต่ยังมิทันได้ทำก็เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ทำต่อมาตามพระราชดำรินั้น แต่ ณ ขณะนั้นเหลือผู้ที่เคยเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพียง 4 คน คือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปุก เจ้าพระยาธรรมติกรณ์ (มั่ง สนธิรัตน์) และเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี บูรณศิริ) จึงโปรดให้เชิญมาบอกระหว่างช่างปั้น ส่วนพระบรมรูปรัชกาลต่อ ๆ มา พระราชโอรส พระราชธิดายังทรงพระชนม์อยู่โดยมาก การปั้นและการหล่อพระบรมรูป สำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อปี พ.ศ. 2414[1] เรื่องนี้ปรากฏใน "ความทรงจำ" พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตอนที่ 4 เรื่องสร้างพระบรมรูปสี่รัชกาลว่า
"การสร้างพระบรมรูป ๔ พระองค์นั้น โปรดฯ ให้พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ อธิบดีกรมช่างสิบหมู่ และเป็นช่างอย่างดีในพระองค์เองด้วย เป็นผู้อำนวยการ เมื่อปั้นหุ่นนั้นรู้พระลักษณะได้แน่แต่ขนาดพระองค์ว่าสูงเท่าใด เพราะมีพระพุทธรูปฉลองพระองค์อยู่เป็นหลัก แต่ส่วนพระรูปโฉมนั้นนอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมรูปปั้นอยู่แล้ว ต้องอาศัยไต่ถามผู้ที่ได้เคยเห็นพระองค์ให้บอกพระลักษณะและคอยติให้ช่างแก้ไขไปแต่แรกจนแล้ว ก็ในเวลานั้นผู้ที่เคยเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีอยู่มาก แต่ผู้เคยเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หาได้แต่ ๔ คน คือ พระองค์เจ้าหญิงปุก พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๒ พระองค์ ๑ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังองค์ ๑ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) คน ๑ กับเจ้าพระยาธรรมาฯ (ลมั่ง สนธิรัตน) คน ๑ ปั้นพระรูปสำเร็จได้หล่อเมื่อเดือนอ้าย ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔"
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปุก ทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์กุลเชษฐ์แห่งพระบรมวงศานุวงศ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเวลาเกือบ 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2412 ต่อจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายี่สุ่น พระเชษฐภคินีต่างพระมารดา ตราบจนสิ้นพระชนม์ เมื่อวันจันทร์ เดือ��� 9 แรม 3 ค่ำ ปีระกา เบญจศก จ.ศ. 1235 ตรงกับวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2416 สิริพระชันษา 80 ปี พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร[2]
พระอิสริยยศ
[แก้]ธรรมเนียมพระยศของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปุก | |
---|---|
การทูล | ใต้ฝ่าพระบาท |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | พ่ะย่ะค่ะ/เพคะ |
- 31 ตุลาคม พ.ศ. 2335 – พ.ศ. 2349 : หม่อมเจ้าปุก
- พ.ศ. 2349 – 7 กันยายน พ.ศ. 2352 : พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าปุก
- 7 กันยายน พ.ศ. 2352 – 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 : พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าปุก
- 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 – 2 เมษายน พ.ศ. 2394 : พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าปุก
- 2 เมษายน พ.ศ. 2394 – 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 : พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าปุก
- 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 – 11 สิงหาคม พ.ศ. 2416 : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปุก
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ไทยรัฐ. พระเทพบิดร. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2560.
- ↑ คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ กรมศิลปากร ราชสกุลวงศ์ พิมพ์ครั้งที่ 4; กรุงเทพฯ, สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์: 2554
ก่อนหน้า | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปุก | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายี่สุ่น | กุลเชษฐ์ในราชวงศ์จักรี (14 กันยายน พ.ศ. 2412 – 11 สิงหาคม พ.ศ. 2416) |
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ |