ข้ามไปเนื้อหา

การปฏิวัติยุคหินใหม่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนที่เอเชียตะวันตกเฉียงใต้แสดงแหล่งโบราณคดีหลัก ๆ ของวัฒนธรรมยุคหินใหม่ก่อนเครื่องปั้นดินเผาประมาณ 7,500 ปีก่อนคริสตกาลในเขต "พระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์" สี่เหลี่ยมดำเป็นแหล่งโบราณคดีเกษตรกรรม

การปฏิวัติยุคหินใหม่ (อังกฤษ: neolithic revolution) หรือ การปฏิวัติเกษตรกรรมครั้งที่หนึ่ง (อังกฤษ: first agricultural revolution) เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวัฒนธรรมมนุษย์หลายแห่งในช่วงยุคหินใหม่ในทวีปแอฟโฟร-ยูเรเชีย จากสังคมคนเก็บของป่าล่าสัตว์ (สังคมแบบยังชีพ) ไปสู่สังคมเกษตรกรรมแบบตั้งถิ่นฐาน จึงช่วยให้ประชากรเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้[1] ทำให้มนุษย์สามารถสังเกตการณ์และทดลองกับพืช โดยเรียนรู้วิธีการเติบโตและการพัฒนาของพืช[2] ความรู้ใหม่ทำให้สามารถปรับพืชป่าเป็นไม้เลี้ยง/เป็นพืชไร่[2][3]

หลักฐานทางโบราณคดีชี้ว่า การปรับพืช/สัตว์ชนิดต่าง ๆ ให้เป็นไม้เลี้ยง/สัตว์เลี้ยงเกิดขึ้นในเขตต่าง ๆ ทั่วโลก เริ่มต้นในสมัยโฮโลซีนเมื่อ 11,700 ปีที่แล้วหลังจากสิ้นสุดยุคน้ำแข็งสุดท้าย[4] เป็นการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมการเกษตรครั้งแรกของมนุษย์ที่ตรวจสอบได้ทางประวัติศาสตร์ การปฏิวัติยุคหินใหม่ทำให้อาหารหลากหลายน้อยลงอย่างมาก มีผลให้คุณภาพทางโภชนาการของมนุษย์ลดลงเมื่อเทียบกับที่ได้จากการหาของป่าก่อนหน้านี้[5][6][7] แต่เพราะการผลิตอาหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงช่วยให้มนุษย์สามารถทุ่มเทความสนใจไปในกิจกรรมอื่น ๆ และดังนั้นจึงเป็นเหตุการณ์ที่ "จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อการเกิดขึ้นของอารยธรรมสมัยใหม่ โดยสร้างรากฐานสำหรับการพัฒนาทางอุตสาหกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในกาลต่อมา"[8]

การปฏิวัติยุคหินใหม่ไม่ใช่แค่เพิ่มองค์ความรู้ในการผลิตอาหาร เพราะในช่วงพันปีถัดมา ก็ได้เปลี่ยนคนเก็บของป่าล่าสัตว์กลุ่มเล็ก ๆ ที่เร่ร่อนไปเรื่อยซึ่งเป็นรูปแบบหลักของสังคมมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาตลอด ให้กลายเป็นสังคมตั้งถิ่นฐานโดยอยู่ในบ้านเมืองที่สร้างขึ้น สังคมเหล่านี้เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติไปเป็นอย่างมากด้วยการเพาะปลูกพืชอาหารเฉพาะอย่าง ๆ และมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ชลประทานและการถางป่าซึ่งช่วยให้ผลิตอาหารได้เกินพอ พัฒนาการอื่น ๆ ที่พบอย่างแพร่หลายในยุคนี้คือการปรับสัตว์ให้เป็นสัตว์เลี้ยง เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือหินขัด และบ้านรูปสี่เหลี่ยม ในหลายภูมิภาค การเปลี่ยนเป็นสังคมเกษตรกรรมของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ได้ก่อช่วงต่าง ๆ ที่ประชากรเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเรียกทางวิชาการว่า neolithic demographic transition (ช่วงเปลี่ยนสภาพทางประชากรยุคหินใหม่)

พัฒนาการเช่นนี้บางครั้งเรียกว่า neolithic package[9] เป็นรากฐานของการบริหารจัดการและโครงสร้างทางการเมืองแบบรวมศูนย์, การแบ่งสังคมเป็นชั้น [10], การถ่ายทอดความรู้ที่ไม่อาศัยบุคคล (เช่น การเขียน), การตั้งถิ่นฐานที่มีประชากรหนาแน่น, การฝึกเป็นผู้เชี่ยวชาญกับการแบ่งแรงงาน, การค้าที่เพิ่มมากขึ้น, การพัฒนาศิลปะและสถาปัตยกรรมที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ และการเป็นเจ้าของทรัพย์สินมากขึ้น[11] อารยธรรมอันเก่าแก่ที่สุดเท่าที่รู้จักคือ อารยธรรมซูเมอร์ในเขตเมโสโปเตเมียตอนใต้ (ประมาณ 6,500 ปีก่อน) ซึ่งเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับยุคสัมฤทธิ์[12]

ความสัมพันธ์ของลักษณะต่าง ๆ ของยุคหินใหม่ดังกล่าวกับการเริ่มต้นของเกษตรกรรม ลำดับการเกิดขึ้นของทั้งสอง และความสัมพันธ์เชิงประจักษ์ระหว่างกันที่พบในแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ต่าง ๆ ยังคงเป็นประเด็นการศึกษา ทั่วไปเข้าใจว่าจะต่าง ๆ กันไปในแต่ละที่ โดยไม่ใช่ผลตามกฎสากลทางวิวัฒนาการสังคมอะไร [13][14]

หลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่าการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์เกิดขึ้นแยกกันในหลายแห่งทั่วโลก เริ่มในสมัยโฮโลซีนเมื่อ 11,700 ปีก่อน[15] ช่วงเวลาที่เกิดความเปลี่ยนแปลงนี้แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค[16] เริ่มจากบริเวณพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ราว 10,000–8,000 ปีก่อนคริสตกาล[17] ตามด้วยลุ่มแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำหวงราว 7,000 ปีก่อนคริสตกาล[18] และที่สูงนิวกินีราว 7,000–3,000 ปีก่อนคริสตกาล[19] มีหลายทฤษฎีที่พยายามอธิบายถึงสาเหตุของการเปลี่ยนมาทำการเกษตร เช่น พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์[20] การใช้เกษตรกรรมเป็นเครื่องมือแสดงอำนาจ[21][22] การปรับตัวของมนุษย์และพืช[23] สภาพอากาศคงที่หลังยุคน้ำแข็ง[24] และการสูญพันธุ์ของสัตว์ใหญ่ (megafauna)[25] มีหลักฐานการเพาะปลูกธัญพืช 8 ชนิดเป็นครั้งแรกในลิแวนต์ช่วงราว 9,500 ปีก่อนคริสตกาล[26] ขณะที่การเลี้ยงสัตว์เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นโดยสัตว์กลุ่มแรก ๆ ที่มนุษย์นำมาเลี้ยงได้แก่ สุนัข (13,000 ปีก่อนคริสตกาล[27]) แพะ (10,000 ปีก่อนคริสตกาล[28]) สุกร (9,000 ปีก่อนคริสตกาล[29]) แกะ (9,000–8,500 ปีก่อนคริสตกาล[30]) และวัว (8,000 ปีก่อนคริสตกาล[31])

ถึงแม้การปฏิวัติยุคหินใหม่จะนำพาความก้าวหน้าต่าง ๆ แต่งานศึกษาทางชาติพันธุ์วิทยาและโบราณคดีหลายชิ้นพบว่า การกินอาหารจากธัญพืชมากขึ้น ลดการคาดหมายคงชีพ เพิ่มการเสียชีวิตในทารก และเพิ่มโรคติดเชื้อและโรคเสื่อม การเพาะปลูกกลับจำกัดความหลากหลายของอาหาร ทำให้มนุษย์ขาดวิตามินและแร่ธาตุ[5] นอกจากนี้นักประวัติศาสตร์และนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน จาเร็ด ไดมอนด์ ยังเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ก่อการแบ่งแยกทางสังคมและความเหลื่อมล้ำทางเพศสภาพ[32]

ภูมิหลัง

[แก้]

คนเก็บของป่าล่าสัตว์มีความจำเป็นในการดำรงชีพและมีวิถีชีวิตที่ต่างกับเกษตรกร คนเก็บของป่าล่าสัตว์มักจะเร่ร่อนอพยพไป อาศัยอยู่ในที่พักชั่วคราวในกลุ่มชนเผ่าขนาดเล็ก และติดต่อกับคนภายนอกอย่างจำกัด อาหารจะสมดุลดีแม้จะขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมในแต่ละฤดูกาลเป็นอย่างมาก ในทางตรงกันข้าม เพราะอาหารเกษตรมีเกินและวางแผนได้ จึงทำให้มีกลุ่มประชากรใหญ่ขึ้นได้ เกษตรกรจึงอยู่ในที่อาศัยอันถาวรยิ่งกว่า ในชุมชนที่มีประชากรหนาแน่นกว่า ซึ่งวิถีชีวิตของคนเก็บของป่าล่าสัตว์รองรับไม่ได้ ความจำเป็นต้องวางแผนและประสานงานเกี่ยวกับทรัพยากรและแรงงานตามฤดูกาลก็ส่งเสริมให้มีการแบ่งแรงงาน ซึ่งค่อย ๆ เพิ่มความเชี่ยวชาญทางแรงงานในด้านต่าง ๆ และเพิ่มความซับซ้อนของสังคม การพัฒนาเครือข่ายการค้าต่อมาเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการส่วนเกิน ก็ทำให้ชาวเกษตรติดต่อกับกลุ่มภายนอก ซึ่งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม มีผลเป็นการเกิดอารยธรรมและวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี[33]

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของประชากรและความอุดมสมบูรณ์ของอาหารไม่ต้องสัมพันธ์กับสุขภาพที่ดีขึ้น การพึ่งพาพืชอาหารหลักที่หลากหลายอย่างจำกัดมากอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ แม้จะเลี้ยงคนได้มากขึ้น ข้าวโพดขาดกรดอะมิโนที่จำเป็นบางชนิด (เช่น ไลซีนและทริปโตเฟน) และมีธาตุเหล็กน้อย อนึ่ง กรดไฟติกที่มีอยู่ในข้าวโพดอาจขัดการดูดซึมสารอาหาร ปัจจัยอื่น ๆ ที่น่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวเกษตรกรยุคแรก ๆ และปศุสัตว์ที่เลี้ยงไว้ ก็คือการเพิ่มจำนวนของปรสิตและสัตว์ก่อกวนและนำโรคซึ่งเกี่ยวกับของเสียของมนุษย์และแหล่งอาหารและน้ำที่ปนเปื้อน ปุ๋ยและชลประทานอาจเพิ่มผลผลิตพืช แต่ก็อาจส่งเสริมการแพร่พันธุ์ของแมลงและแบคทีเรียในท้องถิ่น การเก็บรักษาธัญพืชก็จะดึงดูดแมลงและสัตว์ฟันแทะเพิ่มเติม[33]

การเปลี่ยนเป็นสังคมเกษตร

[แก้]
อุณหภูมิช่วงหลังยุคน้ำแข็ง (Post-Glacial) หลังจากการขยายสูงสุดของแผ่นน้ำแข็งครั้งล่าสุด (LGM) ตามข้อมูลจากแกนน้ำแข็งกรีนแลนด์ กำเนิดเกษตรกรรมตรงกับช่วงเวลาที่อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็วที่ปลายช่วงหนาวเย็นของสมัย Younger Dryas ต่อกับจุดเริ่มต้นของช่วงเวลาอบอุ่นอันยาวนานของยุคโฮโลซีน[34]
แผนที่โลกแสดงศูนย์กลางการกำเนิดและการแพร่กระจายเกษตรกรรมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ พระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ (11,000 ปีก่อน) ลุ่มแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำเหลือง (9,000 ปีก่อน) ที่ราบสูงปาปัวนิวกินี (9,000–6,000 ปีก่อน) เม็กซิโกตอนกลาง (5,000–4,000 ปีก่อน) อเมริกาใต้ตอนเหนือ (5,000–4,000 ปีก่อน) แอฟริกาใต้สะฮารา (5,000–4,000 ปีก่อน, ไม่ทราบที่ตั้งอย่างแน่ชัด) อเมริกาเหนือทางตะวันออก (4,000–3,000 ปีก่อน)[35]
ธัญพืชป่าขึ้นพร้อม ๆ กับหญ้าพันธุ์ต่าง ๆ ที่พบในประเทศอิสราเอล (2017)

นักโบราณคดีชาวออสเตรเลีย วี. กอร์ดอน ไชลด์ ได้บัญญัติคำว่า neolithic revolution (การปฏิวัติยุคหินใหม่) ขึ้นในหนังสือ Man Makes Himself (มนุษย์สร้างตัวเอง, 1936)[36][37] โดยใช้คำว่า "การปฏิวัติ" เพื่อแสดงความสำคัญ คือระดับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับชุมชนที่ยอมรับใช้และปรับปรุงวิธีการเกษตร[38]

กระบวนการนี้เริ่มขึ้นในเขตต่าง ๆ ของพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ระหว่าง 10,000–8,000 ปีก่อนคริสตกาล[17][39] ส่วนในโบราณสถาน Kuk Early Agricultural Site ของงปาปัวนิวกินีในเมลานีเชีย นี่อาจเริ่มเมื่อ 8,000 ปีก่อนคริสตกาล[40][41] ในทุกที่ นี้เป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบคนเก็บของป่าล่าสัตว์ที่เร่ร่อนกลายเป็นเกษตรกรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นที่ โดยมีการปรับพืชและสัตว์ให้เป็นพืชเลี้ยง/สัตว์เลี้ยง โดยขึ้นอยู่กับชนิดที่มีและวัฒนธรรมท้องถิ่น งานวิจัยทางโบราณคดีปี 2003 ชี้ว่าในบางภูมิภาค เช่น คาบสมุทรอินโดจีน การเปลี่ยนจากนักเก็บของป่าล่าสัตว์ไปเป็นเกษตรกรไม่ได้เกิดอย่างเป็นเส้นตรง แต่จะต่าง ๆ กันแล้วแต่เขตภูมิภาค[42]

ทฤษฎีที่โดดเด่นที่สุดจากหลายทฤษฎี (ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้แยกกัน) เกี่ยวกับปัจจัยการพัฒนาเกษตรกรรมรวมทั้ง

  • ทฤษฎีโอเอซิส ซึ่งนักธรณีวิทยาชาวอเมริกัน ราฟาเอล พัมเพลลี เสนอในปี 1908 แล้วต่อมานักโบราณคดีชาวออสเตรเลีย วี. กอร์ดอน ไชลด์ ได้ทำให้นิยมในปี 1928[36] ทฤษฎีนี้ระบุว่า สภาพภูมิอากาศได้แห้งลงเพราะความกดอากาศต่ำของมหาสมุทรแอตแลนติกได้เคลื่อนตัวไปทางเหนือ ชุมชนต่าง ๆ จึงได้ยุบตัวเข้าสู่โอเอซิส ซึ่งทำให้อยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ป่า แล้วจึงปรับเป็นสัตว์เลี้ยงพร้อม ๆ กับการเพาะปลูกเมล็ดพืช แต่ปัจจุบันทฤษฎีนี้ไม่ได้การสนับสนุนจากนักโบราณคดี เพราะข้อมูลสภาพอากาศที่ได้ในภายหลังชี้ว่า ภูมิภาคนี้ชื้นขึ้นแทนที่จะแห้งลง[43]
  • ทฤษฎี Hilly Flanks ปี 1948 ของนักโบราณคดีชาวอเมริกัน โรเบิร์ต จอห์น เบรดวูด ซึ่งเสนอว่าการเกษตรเริ่มต้นในบริเวณไหล่เขาของเทือกเขาทอรัสและซากรอส ซึ่งสภาพอากาศไม่ได้แห้งแล้งอย่างที่ไชลด์เชื่อ และพื้นที่ซึ่งอุดมสมบูรณ์ก็สนับสนุนพืชและสัตว์หลายชนิดที่เหมาะสมในการนำมาเลี้ยง[20]
  • แบบจำลองการเลี้ยงฉลอง (Feasting model) โดยไบรอัน เฮย์เดน[21] เสนอว่า การเกษตรได้การขับเคลื่อนจากการแสดงอำนาจอย่างโอ้อวด เช่น การจัดงานเลี้ยงฉลองเพื่อแสดงความเป็นใหญ่ ซึ่งต้องจัดเตรียมอาหารเป็นจำนวนมาก จึงขับเคลื่อนเทคโนโลยีทางการเกษตร[44]
  • ทฤษฎีประชากรศาสตร์ (Demographic theories) ที่เสนอโดยนักธรณีวิทยาชาวอเมริกัน คาร์ล เซาเออร์[45] แล้วปรับปรุงโดยนักโบราณคดีชาวอเมริกัน ลูอิส บินฟอร์ด[22] และนักโบราณคดีชาวเอมริกัน เคนต์ แฟลนเนอรี เสนอว่าประชากรที่ตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขีดสุดที่สภาพแวดล้อมท้องถิ่นจะรองรับได้ จึงต้องการอาหารมากกว่าที่จะเก็บรวบรวมได้ โดยปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็ช่วยผลักดันความต้องการอาหารด้วย
  • ทฤษฎีวิวัฒนาการ/การตั้งใจทำ โดยนักโบราณคดีชาวอเมริกัน เดวิด รินโดสและอื่น [46] พิจารณาการเกษตรว่าเป็นการปรับตัวทางวิวัฒนาการของพืชและมนุษย์ เริ่มจากการปรับเป็นไม้เลี้ยงด้วยการปกป้องพืชป่า ทำให้พืชปรับตัวอย่างเฉพาะเจาะจงต่อสถานที่ แล้วก็จะเกิดการปรับตัวเป็นไม้เลี้ยงอย่างสมบูรณ์[ต้องการอ้างอิง]
  • นักชีววิทยาชาวอเมริกัน ปีเตอร์ ริเชอร์สัน, นักโบราณคดีชาวอเมริกัน โรเบิร์ต บอยด์ และโรเบิร์ต เบตทิงเกอร์[24] เสนอว่าการเกษตรเกิดขึ้นพร้อมกับสภาพภูมิอากาศที่เสถียรยิ่ง ๆ ขึ้นในช่วงเริ่มต้นของยุคโฮโลซีน นักโบราณคดีชาวแคนาดา โรนัลด์ ไรท์ ได้เพิ่มความนิยมกับสมมติฐานนี้[47]
  • นักประวัติศาสตร์ชาวรัสเซีย เลโอนิด กรินิน อ้างว่าไม่ว่าจะปลูกพืชชนิดใด การคิดค้นการเกษตรโดยอิสระมักเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่พิเศษเสมอ (เช่น เอเชียอาคเนย์) เพราะสันนิษฐานว่าการเพาะปลูกธัญพืชเริ่มขึ้นในตะวันออกใกล้ที่เนินเขาของอิสราเอลหรือของอียิปต์ ดังนั้นกรินินจึงกำหนดจุดเริ่มต้นของปฏิวัติการเกษตรในช่วง 12,000–9,000 ปีก่อน แม้ในบางกรณี พืชที่เพาะปลูกครั้งแรกหรือกระดูกของสัตว์เลี้ยงจะมีอายุเก่าแก่ถึง 14,000–15,000 ปี[48]
  • นักโบราณคดีชาวอังกฤษ แอนดรูว์ มัวร์ เสนอว่าการปฏิวัติยุคหินใหม่เกิดจากพัฒนาการเป็นช่วงเวลายาวนานในแถบลิแวนต์ โดยอาจเริ่มต้นในช่วงระหว่างยุคหินเก่าตอนปลายกับยุคหินใหม่ (Epipaleolithic) ในงาน "การประเมินปฏิวัติยุคหินใหม่อีกครั้ง" นักโบราณคดีชาวอเมริกัน แฟรงค์ โฮล ได้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างกาปรับพืช/สัตว์มาเลี้ยงเพิ่มเติม คือเสนอว่าเหตุการณ์เหล่านี้อาจเกิดขึ้นต่างหาก ๆ ในช่วงเวลาที่ต่างกัน ในที่ต่าง ๆ อันยังไม่ได้สำรวจ เขาให้ข้อสังเกตว่าไม่พบสัตว์เลี้ยงครบทุกชนิด (คือแพะ แกะ วัว และหมู) จนกระทั่งถึงช่วงหกพันปีก่อนคริสตกาลที่แหล่งโบราณคดีประเทศซีเรียคือ เทลล์ รามาด โฮลจึงสรุปว่า "ในการสืบค้นหาในอนาคต ควรให้ความสนใจอย่าง��กล้ชิดกับบริเวณชายแดนทางตะวันตกของลุ่มแม่น้ำยูเฟรทีส โดยอาจไกลไปทางตอนใต้จนถึงคาบสมุทรอาหรับ โดยเฉพาะในบริเวณลำน้ำหรือลำธารที่แห้งผากซึ่งน้ำฝนจากสมัยไพลสโตซีนไหลผ่าน"[49]

การเก็บเกี่ยวธัญพืชในช่วงแรก (เมื่อ 23,000 ปีก่อน)

[แก้]
เคียวหินเก็บเกี่ยวธัญพืชอายุ 23,000 ปี

โบราณสถานโอฮาโล 2 ซึ่งเป็นค่ายของชาวประมง-นักเก็บของป่าล่าสัตว์อายุ 23,000 ปีบนชายฝั่งทะเลกาลิลีทางตอนเหนือของประเทศอิสราเอล ให้หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดสำหรับการใช้เครื่องมือเก็บเกี่ยวธัญพืชที่เป็นใบมีดหินเหล็กไฟ 5 ชิ้นซึ่งระบุโดยอาศัยการวิเคราะห์รอยสึก (use-wear analysis) และความมันวาว (sickle-gloss)[50] โบราณสถานแห่งนี้มีการอยู่อาศัยในช่วงระหว่างยุคหินเก่าตอนปลายกับยุค Epipaleolithic ตอนต้น จึงอาจจัดว่าอยู่ในทั้งสองยุคสมัย[51]

รอยการสึกหรอชี้ว่าเครื่องมือได้ใช้ในการเก็บเกี่ยวธัญพืชป่าที่ใกล้จะสุก ไม่นานก่อนที่เมล็ดจะสุกแล้วกระจายตัวไปตามธรรมชาติ[50] เครื่องมือไม่ได้ใช้อย่างสมบุกสมบันและสะท้อนให้เห็นการเก็บเกี่ยวสองรูปแบบ เป็นมีดหินเหล็กไฟที่ถือด้วยมือ และมีดหินที่ติดเข้ากับด้ามจับ[50] การค้นพบนี้สร้างความรู้ใหม่ในเรื่องเทคนิคการเก็บเกี่ยวธัญพืชประมาณ 8,000 ปีก่อนวัฒนธรรมนาทูเฟียน (15,000–11,500 ปีก่อน) และ 12,000 ปีก่อนการก่อตั้งชุมชนเกษตรประจำที่ในตะวันออกใกล้[50] อนึ่ง นี้ยังเข้ากับหลักฐานการเพาะปลูกธัญพืชเป็นครั้งแรกของมนุษย์ในโบราณสถานแห่งนี้ และการใช้เครื่องมือบดที่ทำจากหิน[50]

การทำให้พืชเป็นไม้เลี้ยง

[แก้]

เมื่อการเกษตรเริ่มแรงขึ้นราว ๆ 9,000 ปีที่แล้ว กิจกรรมของมนุษย์มีผลเป็นการคัดเลือกพันธุ์หญ้าธัญพืช (เริ่มต้นจากข้าวเอ็มเมอร์ ข้าวไอน์คอร์น และข้าวบาร์เลย์) แต่ไม่ใช่เพียงแค่พืชที่ให้พลังงานมากกว่าเพราะเมล็ดใหญ่ พืชที่มีลักษณะต่าง ๆ เช่นเมล็ดเล็กหรือมีรสขมถูกมองว่าไม่พึงประสงค์ พืชที่สลัดเมล็ดเร็วเมื่อสุกมักจะไม่ได้เก็บเกี่ยว ดังนั้นจึงไม่เก็บไว้แล้วปลูกในฤดูกาลต่อไป การเก็บเกี่ยวติดต่อกันหลายปีเท่ากับเป็นการคัดเลือกโดยธรรมชาติสำหรับสายพันธุ์ที่พืชเก็บเมล็ดที่กินได้ไว้นานกว่า

ชิ้นส่วนใบเคียวรูป "ชิ้นส้ม" ซึ่งไม่มีฟันเลื่อย พบเป็นจำนวนมากที่โบราณสถานคาราอูน 2 โดยมักจะอยู่ร่วมกับเครื่องมือยุคหินใหม่ชนิดหนัก (Heavy Neolithic) ในห้องทำหินเหล็กไฟในในเลบานอน นักโบราณคดีชาวอังกฤษ เจมส์ เมลลาร์ต เสนอว่าอาจมีอายุมากกว่าวัฒนธรรมยุคหินใหม่ซึ่งมีเครื่องปั้นดินเผา (Pottery Neolithic) ที่เมืองโบราณ Byblos ซึ่งมีอายุประมาณ 8,400 ปีก่อน

นักวิทยาศาสตร์ทางเกษตร/พันธุกรรมชาวอิสราเอล แดเนียล โซฮารี ได้ระบุพืชหลายสายพันธุ์ว่าเป็น "พืชบุกเบิก" หรือพืชบรรพบุรุษยุคหินใหม่ (Neolithic founder crops) เขาเน้นย้ำความสำคัญของข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวไรย์ และเสนอว่า การปรับแฟลกซ์, ถั่วลันเตา, ถั่วหัวช้าง, ถั่ว Vicia ervilia และถั่วเลนทิลให้เป็นไม้เลี้ยงเกิดภายหลังกว่าเล็กน้อย จากการวิเคราะห์ยีนของพืชที่นำมาเลี้ยง เขาชอบใจทฤษฎีว่ามีการทำให้เป็นไม้เลี้ยงเพียงครั้งเดียวหรืออย่างมากก็ไม่กี่ครั้งสำหรับแต่ละแท็กซอน ซึ่งแพร่กระจายเป็นวงจาก Levantine corridor ไปรอบเขตพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์แล้วต่อมาเข้าสู่ยุโรป[52][53] ส่วนนักโบราณคดีชาวอังกฤษ กอร์ดอน ฮิลล์แมน และสจ๊วต เดวีส์ ได้ทดลองกับข้าวสาลีป่าหลายสายพันธุ์เพื่อแสดงว่า กระบวนการปรับเป็นไม้เลี้ยงน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ค่อนข้างสั้นระหว่าง 20–200 ปี[54]

การปรับพืชเป็นไม้เลี้ยงบางกรณีจะล้มเหลว บางครั้งจะพยายามอีกแล้วสำเร็จเป็นพัน ๆ ปีต่อมา เช่น ในยุคหินใหม่เขตอนาโตเลีย มีการพยายามกับข้าวไรย์แล้วเลิกไป ต่อมาพืชไปถึงยุโรปโดยเป็นเมล็ดวัชพืช แล้วจึงนำไปเลี้ยงได้สำเร็จ เป็นพัน ๆ ปีหลังจากการเกษตรแรกสุด[55] ถั่วเลนทิลป่ามีปัญหาอื่น คือเมล็ดพืชป่าส่วนใหญ่จะไม่งอกในปีแรก หลักฐานแรกของการทำให้ถั่วเลนทิลเป็นไม้เลี้ยง คือจะงอกในปีแรก ปรากฏในยุคหินใหม่ตอนต้นที่โบราณสถาน Jerf el Ahmar ปัจจุบันในประเทศซีเรีย แล้วได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทางใต้ไปถึงโบราณสถานนิคม Netiv HaGdud ในหุบเขาจอร์แดนในเวสต์แบงก์[55] การเปลี่ยนเป็นไม้เลี้ยงทำให้พืชที่เป็นบรรพบุรุษปรับตัวแล้วในที่สุดก็ใหญ่ขึ้น เก็บเกี่ยวได้ง่ายขึ้น เก็บไว้ในยุ้งได้ดีขึ้น และมีประโยชน์ต่อมนุษย์ยิ่งขึ้น

หินบดหรือหินโม่ยุคหินใหม่สำหรับแปรรูปธัญพืช

มะเดื่อที่ขยายพันธุ์แบบคัดเลือก ข้าวบาร์เลย์ป่า และข้าวโอ๊ตป่าพบว่าปลูกอยู่ในโบราณสถานยุคหินใหม่ตอนต้นคือ Gilgal I (ในหุบเขาจอร์แดน เวสต์แบงก์) ซึ่งในปี 2006[56] นักโบราณคดีได้พบกองเมล็ดพันธุ์พืชที่ว่าแต่ละชนิดในปริมาณที่เกินกว่าจะเป็นผลการเก็บพืชป่าอย่างมีการบริหารวางแผน (intensive gathering) ในชั้นดินที่สามารถกำหนดอายุได้ประมาณ 11,000 ปีก่อน พืชบางชนิดที่เคยทดลองปลูกแล้วละทิ้งในช่วงยุคหินใหม่ในตะวันออกใกล้ยุคโบราณ (Ancient Near East) เช่นที่พบใน Gilgal I ต่อมาก็ได้ปรับเป็นพืชเลี้ยงได้สำเร็จในส่วนอื่น ๆ ของโลก

เมื่อเกษตรกรยุคแรกได้บูรณาการเทคนิคการเกษตรต่าง ๆ เช่น การชลประทาน แล้ว (มีหลักฐานย้อนไปถึงพันปีที่ 6 ก่อนคริสตกาลในจังหวัดฆูเซสถาน ประเทศอิหร่าน[57][58]) ก็ได้ผลผลิตเกินแล้วจึงต้องเก็บรักษา ผู้เก็บของป่าล่าสัตว์ส่วนใหญ่เก็บอาหารไว้ไม่ได้นานเพราะมีชีวิตแบบเร่รอน ในขณะที่ผู้อาศัยเป็นหลักแหล่งสามารถเก็บพืชผลส่วนเกินได้ ในที่สุด ก็มีการพัฒนายุ้งฉางขึ้นซึ่งทำให้หมู่บ้านสามารถเก็บเมล็ดพืชได้นานขึ้น ดังนั้น เมื่อมีอาหารมากขึ้น ประชากรก็จึงเพิ่มขึ้นและชุมชนก็พัฒนาช่างฝีมือเฉพาะทางและเครื่องมือที่ก้าวหน้ามากขึ้น

อย่างไรก็ดี กระบวนการนี้ก็ไม่เกิดเป็นแบบเส้นตรงอย่างที่เคยคิด แต่เป็นความพยายามที่ซับซ้อนโดยมนุษย์ในที่ต่าง ๆ ด้วยวิธีต่าง ๆ กัน

การแพร่กระจายของข้าวบาร์เลย์ระหว่าง 9,000–2,000 ปีก่อนตามการวิเคราะห์ทางพันธุกรรม[59]

การแพร่กระจายของพืชในกรณีของข้าวบาร์เลย์

[แก้]

ข้าวบาร์เลย์ หนึ่งในพืชผลที่สำคัญที่สุดของโลก ได้ทำให้เป็นพืชเลี้ยงในตะวันออกใกล้เมื่อประมาณ 11,000 ปีก่อน[59] เป็นพืชที่ทนทานมาก เติบโตได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายแม้ในที่ ๆ เพาะปลูกยาก เช่น ในที่สูงและในที่ละติจูดสูง[59] หลักฐานทางโบราณพฤกษศาสตร์แสดงว่าข้าวบาร์เลย์ได้แพร่กระจายไปทั่วยูเรเชียภายในปี 2,000 ก่อนคริสตกาล[59] เพื่อชี้เส้นทางที่การเพาะปลูกข้าวบาร์เลย์แพร่กระจายไปทั่วยูเรเชียให้ชัดเจนยิ่งขึ้น มีการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมเพื่อกำหนดความหลากหลายทางพันธุกรรมและโครงสร้างกลุ่มประชากรต่าง ๆ ของแท็กซาข้าวบาร์เลย์ที่ยังมีอยู่[59] ซึ่งแสดงว่า ข้าวบาร์เลย์ที่เพาะปลูกได้แพร่กระจายไปทั่วยูเรเชียผ่านเส้นทางต่าง ๆ ซึ่งน่าจะต่างกันทั้งโดยเวลาและพื้นที่[59]

การพัฒนาและการแพร่กระจาย

[แก้]

จุดเริ่มต้นในแถบเลแวนต์

[แก้]
ยุคหินใหม่มีลักษณะเฉพาะคือการตั้งถิ่นฐานถาวรของมนุษย์และการพัฒนาเกษตรกรรมตั้งแต่ประมาณ 10,000 ปีก่อน ภาพแสดงการจำลองที่อยู่อาศัยยุคหินใหม่ของวัฒนธรรม Pre-Pottery Neolithic B ณ โบราณนิคม Aşıklı Höyük ในประเทศตุรกี

เกษตรกรรมปรากฏขึ้นครั้งแรกในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 2,000 ปีต่อมาราว 10,000–9,000 ปีที่แล้ว ภูมิภาคนี้เป็นศูนย์กลางการทำธัญพืช 3 ชนิดให้เป็นไม้เลี้ยง (รวมข้าวไอน์คอร์น ข้าวเอมเมอร์ และข้าวบาร์เลย์) ถั่ว 4 ชนิด (ถั่วเลนทิล ถั่วลันเตา ถั่ว Vicia ervilia และถั่วหัวช้าง) และแฟลกซ์ การปรับให้เป็นไม้เลี้ยงเป็นกระบวนการที่ช้าซึ่งเกิดขึ้นในหลายภูมิภาค โดยมีการเพาะปลูกก่อนจะสามารถปรับให้เป็นไม้เลี้ยงเป็นร้อย ๆ พัน ๆ ปี[60]

การค้นพบเมล็ดพืชจำนวนมากและหินบดอันหนึ่งที่แหล่งโบราณคดีสมัย Epipalaeolithic ที่ โอฮาโล 2 ซึ่งมีอายุราว 19,400 ปีก่อน เป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดบางส่วนสำหรับการวางแผนปลูกพืชเป็นอาหาร และชี้ว่า มนุษย์ที่โอฮาโล 2 แปรรูปเมล็ดธัญพืชก่อนบริโภค[61][62] เนิน Tell Aswad เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่เก่าแก่ที่สุด โดยพบข้าวสาลีเอมเมอร์ที่ทำให้เป็นพืชเลี้ยงซึ่งมีอายุ 10,800 ปีก่อน[63][64] หลังจากนั้นไม่นานก็พบข้าวบาร์เลย์แบบมีเปลือกมีสองแถวเรียงไปตามก้าน ซึ่งทำให้เป็นพืชเลี้ยงครั้งแรกในเมืองเจริโคในหุบเขาจอร์แดนและในโบราณสถาน Iraq ed-Dubb ในประเทศจอร์แดน[65]

โบราณสถานอื่น ๆ ในเขต Levantine corridor ที่มีหลักฐานของเกษตรกรรมยุคแรกรวมทั้ง Wadi Faynan 16 และ Netiv Hagdud[17] นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ฌาคส์ โกแวง ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ตั้งถิ่นฐานของ Tell Aswad ไม่ได้ปรับให้เป็นพืชเลี้ยง ณ ที่นั้น แต่ "มาถึงพร้อมกับเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูก อาจจะมาจากเทือกเขาแอนไทเลบานอนที่อยู่ใกล้เคียง"[66] ในเขตพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ด้านตะวันออก พบหลักฐานการเพาะปลูกพืชป่าที่โบราณสถาน Choga Gholan ในประเทศอิหร่าน โดยมีอายุ 12,000 ปีก่อน และพบข้าวเอมเมอร์ที่ปรับให้เป็นพืชเลี้ยงเมื่อ 9,800 ปีก่อน ซึ่งชี้ว่า อาจมีหลายภูมิภาคในเขตพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ที่ทำธัญพืชให้เป็นไม้เลี้ยงในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน[67] วัฒนธรรมคาราอูนที่ใช้เครื่องมือยุคหินใหม่แบบหนัก (Heavy Neolithic) ได้พบที่โบราณสถานประมาณ 50 แห่งในเลบานอนรอบ ๆ ต้นน้ำแม่น้ำจอร์แดน แม้จะไม่เคยกำหนดอายุได้อย่างน่าเชื่อถือ[68][69]

ในหนังสือ ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า นักภูมิศาสตร์ชาวอเมริกัน จาเร็ด ไดมอนด์อ้างว่า พื้นที่อันกว้างใหญ่ที่เรียงตัวไปในแนวตะวันออก–ตะวันตกของเขตภูมิอากาศแบบอบอุ่นในทวีปยูเรเชียและแอฟริกาเหนือ ให้ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์เป็นอย่างมากแก่คนที่อาศัยอยู่ที่นั่น ทำให้ได้ความเป็นต่อในปฏิวัติยุคหินใหม่ ทั้งสองภูมิภาคมีสภาพภูมิอากาศแบบอบอุ่นเหมาะสมสำหรับการทำเกษตรกรรมในยุคแรก ๆ ทั้งสองอยู่ใกล้กับพืชและสัตว์หลายชนิดที่ปรับนำมาเลี้ยงได้ง่าย เทียบกับพื้นที่ที่ทวีปเรียงตัวไปในแนวเหนือ–ใต้ เช่น ทวีปอเมริกาและแอฟริกา ซึ่งพืชผลและต่อมาสัตว์เลี้ยง จะไม่สามารถแพร่กระจายข้ามผ่านเขตร้อนได้[70]

ยุโรป

[แก้]
การแพร่กระจายของเกษตรกรรมจากเอเชียตะวันตกเฉียงใต้เข้าสู่ยุโรประหว่างปี 9,600–3,800 ก่อนคริสตกาล

นักโบราณคดีได้ติดตามการเกิดขึ้นของสังคมผลิตอาหารในภูมิภาคเลแวนต์ของเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงปลายยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายประมาณ 12,000 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งพัฒนาเกิดเป็นวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะ ๆ ในแต่ละภูมิภาคภายในพันปีที่ 8 ก่อนคริสตกาล ซากของสังคมผลิตอาหารในภูมิภาคทะเลอีเจียนได้กำหนดอายุด้วยคาร์บอนว่าอยู่ในช่��งประมาณ 6,500 ปีก่อนคริสตกาลที่โบราณสถานคนอสซอส, ถ้ำ Franchthi และแหล่งโบราณคดีบนแผ่นดินใหญ่หลายแห่งในเขตเทสซาลี (Thessaly) ทั้งสามในประเทศกรีซปัจจุบัน แล้วกลุ่มวัฒนธรรมยุคหินใหม่ต่าง ๆ ก็ปรากฏขึ้นในไม่นานหลังจากนั้นในคาบสมุทรบอลข่านและยุโรปกลางตอนใต้ วัฒนธรรมยุคหินใหม่ของยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ (คาบสมุทรบอลข่านและทะเลอีเจียน) มีความต่อเนื่องบางอย่างกับกลุ่มในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้และอนาโตเลีย (เช่น Çatalhöyük)

หลักฐานปัจจุบันชี้ว่า วัฒนธรรมวัสดุยุคหินใหม่ได้นำเข้ามาในยุโรปผ่านอนาโตเลียตะวันตก คือแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ทุกแห่งในยุโรปมีเครื่องปั้นดินเผา มีพืชและสัตว์ที่ได้ปรับไว้เลี้ยงในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้รวมทั้งข้าวไอน์คอร์น ข้าวเอมเมอร์ ข้าวบาร์เลย์ ถั่วเลนทิล หมู แพะ แกะ และวัว ข้อมูลทางพันธุกรรมชี้ว่า ไม่มีการทำให้สัตว์เชื่องต่างหากในยุโรปยุคหินใหม่ และสัตว์เลี้ยงทั้งหมดได้ทำให้เชื่องดั้งเดิมในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้[71] สัตว์เลี้ยงชนิดเดียวที่ไม่ได้มาจากเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ก็คือข้าวฟ่างพันธุ์ broomcorn ซึ่งได้ทำเป็นไม้เลี้ยงในเอเชียตะวันออก[72] หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของการทำชีสมีอายุย้อนไปถึง 5,500 ปีก่อนคริสตกาล ในเขตโบราณสถาน Kujawy ประเทศโปแลนด์[73]

การแพร่ไปทั่วยุโรปที่เริ่มจากทะเลอีเจียนไปจนถึงบริเตน ใช้เวลาประมาณ 2,500 ปี (8,500–6,000 ปีก่อน) โดยเข้าไปในเขตบอลติกช้ากว่าเล็กน้อยเมื่อประมาณ 5,500 ปีก่อน และที่ราบพันโนเนียในยุโรปกลางก็เช่นกัน ทั่วไปแล้ว การตั้งถิ่นฐานเป็นแบบก้าวกระโดด คือวัฒนธรรมยุคหินใหม่ก้าวกระโดดไปจากแหล่งดินตะกอนน้ำพาอันอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง โดยข้ามพื้นที่ภูเขาไป การวิเคราะห์อายุด้วยคาร์บอน-14 แสดงอย่างชัดเจนว่า ประชากรวัฒนธรรมยุคหินกลางและยุคหินใหม่อาศัยอยู่เคียงข้างกันเป็นเวลานานจนอาจถึงหนึ่งพันปีในหลาย ๆ ส่วนของยุโรป โดยเฉพาะในคาบสมุทรไอบีเรียและตามชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก[74]

หลักฐานทางคาร์บอน-14

[แก้]
เกษตรกรยุคหินใหม่ในยุโรปมีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับประชากรปัจจุบันของตะวันออกกลาง/อนาโตเลียมากที่สุด ภาพแสดงระยะห่างของพันธุกรรมทางมารดาระหว่างประชากรวัฒนธรรม Linear Pottery Culture ยุคหินใหม่ในยุโรป (5,500–4,900 ปีก่อน) กับประชากรยูเรเชียตะวันตกปัจจุบัน[75]

การแพร่กระจายของวัฒนธรรมยุคหินใหม่จากตะวันออกใกล้ไปยังยุโรปมีการศึกษาเชิงปริมาณเป็นครั้งแรกในทศวรรษ 1970 เมื่อแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ตอนต้น ๆ มีการกำหนดอายุทางคาร์บอน-14 จำนวนเพียงพอแล้ว[76] งานศึกษาปี 1973[77] อายุของแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ตอนต้น ๆ สัมพันธ์ในเชิงเส้นกับระยะทางห่างจากแหล่งที่มาตามแบบแผนในตะวันออกใกล้ คือเมืองเจริโก ซึ่งแสดงว่า ยุคหินใหม่กระจายตัวด้วยความเร็วโดยเฉลี่ยประมาณ 1 กม./ปี[76] งานศึกษาปี 2005 ยืนยันผลลัพธ์เหล่านี้โดยระบุความเร็วที่ 0.6–1.3 กิโลเมตรต่อปี (ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%)[76]

การวิเคราะห์ดีเอ็นเอของไมโทคอนเดรีย

[แก้]

นับตั้งแต่การย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ดั้งเดิมออกจากแอฟริกาเมื่อ 200,000 ปีก่อน ก็มีเหตุการณ์อพยพต่อ ๆ มาทั้งก่อนประวัติศาสตร์และหลังจากนั้นในยุโรป[78] เมื่อพิจารณาว่าการย้ายถิ่นฐานของคนต้องมีผลเป็นยีนที่กระจายสืบเนื่องไปตามกัน จึงสามารถประเมินผลของการอพยพด้วยการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมของกลุ่มมนุษย์ต่าง [78] การเกษตรและการเลี้ยงสัตว์เริ่มต้น���ึ้นเมื่อ 10,000 ปีก่อนในภูมิภาคของตะวันออกใกล้ที่รู้จักกันในชื่อว่าเขตพระจันทร์เสี้ยวอุดมสมบูรณ์[78] ตามหลักฐานทางโบราณคดี ปรากฏการณ์ที่รู้จักกันในชื่อ "ยุคหินใหม่" (Neolithic) นี้ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากดินแดนนี้เข้าสู่ยุโรป[78]

แต่ก่อนหน้านี้ก็ไม่ชัดเจนว่ามีการอพยพย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ที่เกิดพร้อมกับการแพร่ไปของวัฒนธรรมหรือมไม่[78] ดีเอ็นเอของไมโทคอนเดรีย ซึ่งเป็นดีเอ็นเอรูปแบบหนึ่งที่ถ่ายทอดมาทางมารดาและอยู่ในไซโทพลาซึมของเซลล์ ได้กู้มาจากซากเกษตรกรในวัฒนธรรม Pre-Pottery Neolithic B (PPNB) ในตะวันออกใกล้ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้จากจากประชากรยุคหินใหม่อื่น ๆ ในยุโรป กับประชากรปัจจุบันจากยุโรปตะวันออกเฉียงใต้และจากตะวันออกใกล้[78] พบว่า มีการอพยพของมนุษย์อย่างมีนัยสำคัญพร้อม ๆ กับการแพร่กระจายของวัฒนธรรมยุคหินใหม่ และชี้ว่า เกษตรกรยุคหินใหม่กลุ่มแรกได้เข้าสู่ยุโรปตามเส้นทางทะเลผ่านไซปรัสและหมู่เกาะในทะเลอีเจียน[78]

เอเชียใต้

[แก้]
การขยายไปยังเอเชียใต้
แหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ตอนต้นในตะวันออกใกล้และเอเชียใต้ 10,000–3,800 ปีก่อน
การแพร่กระจายของวัฒนธรรมยุคหินใหม่จากตะวันออกใกล้สู่เอเชียใต้ที่ระบุโดยเวลาการก่อตั้งแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ต่าง ๆ เป็นฟังก์ชันระยะทางจาก Gesher ประเทศอิสราเอล โดยเร็วประมาณ 0.6 กิโลเมตรต่อปี[76]

แหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียใต้คือ Bhirrana ในรัฐหรยาณา ซึ่งมีอายุระหว่าง 7,570–6,200 ปีก่อนคริสตกาล[79] และ Mehrgarh ซึ่งมีอายุระหว่าง 6,500–5,500 ปีก่อน อยู่ในที่ราบ Kachi ในแคว้นบาโลชิสถาน ประเทศปากีสถาน แหล่งโบราณคดีนี้มีหลักฐานการทำเกษตรกรรม (ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์) และการเลี้ยงสัตว์ (วัว แกะ และแพะ)

มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าวัฒนธรรมยุคหินใหม่ในตะวันออกใกล้สัมพันธ์แบบเป็นเหตุกับที่ที่ใกลออกไปทางตะวันออกจนถึงหุบเขาสินธุ[80] หลักฐานหลายสายสนับสนุนว่า วัฒนธรรมยุคหินใหม่ในตะวันออกใกล้เชื่อมโยงกับในอนุทวีปอินเดีย[80] แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ Mehrgarh ในแคว้นบาโลชิสถาน (ประเทศปากีสถาน) เป็นแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ที่เก่าแก่ที่สุดในอนุทวีปอินเดียด้านตะวันตกเฉียงเหนือ โดยมีอายุย้อนไปถึง 8,500 ปีก่อนคริสตกาล[80]

พืชนำมาเลี้ยงในยุคหินใหม่ที่ Mehrgarh มีสัดส่วนเป็นข้าวบาร์เลย์ 90% และข้าวสาลีเป็นส่วนเล็กน้อย มีหลักฐานที่ดีว่า ข้าวบาร์เลย์และวัวซีบูได้ปรับนำมาเลี้ยงในพื้่นที่ใน Mehrgarh แต่สายพันธุ์ข้าวสาลีชี้ว่ามีกำเนิดจากตะวันออกใกล้ เพราะการกระจายตัวในปัจจุบันของข้าวสาลีป่ามีจำกัดอยู่ในเฉพาะเขตเลแวนต์ตอนเหนือและตุรกีตอนใต้[80]

การศึกษาแหล่งโบราณคดีบางแห่งในบาโลชิสถานและ Khybar Pakhtunkhwa ด้วยแผนที่ดาวเทียมอย่างละเอียดยังชี้ความคล้ายคลึงกันของเกษตรกรรมในรูปแบบยุคต้น ๆ กับแหล่งโบราณคดีในเอเชียตะวันตก[80] เครื่องปั้นดินเผาที่ทำโดยใช้แผ่นมาต่อเรียงกัน หลุมไฟกลมที่ใส่ก้อนกรวดเผาจนเต็ม และยุ้งฉางขนาดใหญ่เป็นสิ่งสามัญทั้งใน Mehrgarh และแหล่งโบราณคดีในเมโสโปเตเมียหลายแห่ง[80]

ท่าทางของซากโครงกระดูกในหลุมฝังศพที่ Mehrgarh คล้ายคลึงอย่างมากกับที่พบในโบราณสถาน Ali Kosh ในเทือกเขาซากรอสทางใต้ของประเทศอิหร่าน[80] แม้จะมีน้อย แต่การกำหนดอายุด้วยคาร์บอน-14 และด้วยหลักฐานทางโบราณคดีสำหรับแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ตอนต้นในเอเชียใต้ แสดงความต่อเนื่องตลอดภูมิภาคอันกว้างใหญ่จากตะวันออกใกล้จนถึงอนุทวีปอินเดีย ซึ่งสอดคล้องกับการแพร่กระจายออกไปทางตะวันออกอย่างเป็นระบบโดยขยายเร็วประมาณ 0.65 กม./ปี[80]

เอเชียตะวันออก

[แก้]
พื้นที่การกระจายตัวของแหล่งเพาะปลูกข้าว ข้าวฟ่าง และพืชผสมในประเทศจีนยุคหินใหม่[81]

การเกษตรในจีนยุคหินใหม่สามารถแบ่งออกเป็นสองภูมิภาคกว้าง ๆ คือ จีนตอนเหนือและตอนใต้[81][82] ศูนย์กลางการเกษตรในจีนตอนเหนือเชื่อว่าเป็นถิ่นฐานของผู้พูดภาษาจีน-ทิเบตในยุคแรกโดยเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมโฮวลี่, เผย์หลี่กั่ง, ฉีชาน และซิงหลงวา ซึ่งรวมตัวกันอยู่รอบ ๆ ลุ่มแม่น้ำหวง[81][82] เป็นศูนย์กลางการปรับเป็นไม้เลี้ยงของข้าวฟ่างหางหมา (Setaria italica) และข้าวฟ่าง Panicum miliaceum โดยมีหลักฐานการทำเป็นไม้เลี้ยงตั้งแต่ประมาณ 8,000 ปีที่แล้ว[83] และมีการเพาะปลูกอย่างแพร่หลายเมื่อ 7,500 ปีที่แล้ว[83] ถั่วเหลืองก็ทำเป็นไม้เลี้ยงในจีนตอนเหนือเมื่อ 4,500 ปีที่แล้ว[84] ส้มและท้อก็มีต้นกำเนิดในประเทศจีนโดยเริ่มเพาะปลูกประมาณ 2500 ปีก่อนคริสตกาล[85][86]

แหล่งกำเนิดที่เป็นไปได้ของตระกูลภาษา และเส้นทางการกระจายปลูกข้าวในยุคแรกที่เป็นไปได้ (ประมาณ 3,500–500 ปีก่อนคริสตกาล) ชายฝั่งทะเลโดยประมาณในต้นยุคโฮโลซีนมีสีฟ้าอ่อน[82]

ศูนย์กลางการเกษตรในภาคใต้ของจีนตั้งรวมกลุ่มอยู่รอบ ๆ ลุ่มน้ำแม่น้ำแยงซี ข้าวได้ปรับมาเลี้ยงในภูมิภาคนี้ พร้อมกับการพัฒนาการเพาะปลูกข้าวในนาระหว่าง 13,500–8,200 ปีที่แล้ว[81][87][88]

มีศูนย์กลางการปรับข้าวเป็นพืชเลี้ยงที่เป็นไปได้สองแห่ง แห่งแรกคือบริเวณตอนล่างของแม่น้ำแยงซี ซึ่งเชื่อว่าเป็นถิ่นกำเนิดของบรรพบุรษคนออสโตรนีเชียน และเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม Kauhuqiao, วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้, วัฒนธรรมหม่าเจียปัง และวัฒนธรรมซงเจ๋อ มีลักษณะโดยเฉพาะ ๆ ของวัฒนธรรมก่อนออสโตรนีเชียน รวมถึงบ้านใต้ถุนสูง การแกะสลักหยก และเทคโนโลยีเรือ มีอาหารที่เสริมด้วยลูกโอ๊ก แห้ว เมล็ดบัว และการเลี้ยงหมู แห่งที่สองคือบริเวณตอนกลางของแม่น้ำแยงซี ซึ่งเชื่อว่าเป็นถิ่นกำเนิดของผู้พูดภาษาม้ง-เมี่ยนต้น ๆ และเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเผิงโถวชานและต้าซี ทั้งสองภูมิภาคนี้มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นและมีการติดต่อค้าขายกันเป็นประจำ รวมถึงกับผู้พูดภาษาออสโตรเอเชียติกทางตะวันตก และผู้พูดภาษาขร้า–ไททางใต้ ซึ่งช่วยแพร่กระจายการปลูกข้าวไปทั่วทั้งจีนตอนใต้[88][81][82]

การกระจายตัวของชาวออสโตรนีเชียนไปตลอดเขตอินโดแปซิฟิก

วัฒนธรรมการเพาะปลูกข้าวฟ่างและข้าวเริ่มติดต่อกันเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ 9,000–7,000 ปีก่อน มีผลเป็นเส้นทางเชื่อมกันระหว่างศูนย์ จนทำให้มีการปลูกพืชทั้งสองอย่าง[81] ประมาณ 5,500–4,000 ปีก่อน มีการอพยพเข้าสู่ไต้หวันจากวัฒนธรรม Dapenkeng ของชาวออสโตรนีเชียนแรก ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยนำเทคโนโลยีการเพาะปลูกข้าวและข้าวฟ่างมาด้วย ในช่วงเวลานี้ มีหลักฐานว่ามีนิคมขนาดใหญ่และการปลูกข้าวแบบประณีต (intensive) ในไต้หวันและหมู่เกาะเผิงหู ซึ่งอาจมีผลเป็นการใช้ทรัพยากรมากเกินไป งานศึกษาปี 2011 เสนอว่า นี่อาจเป็นแรงผลักดันการขยายตัวของชาวออสโตรนีเชียน ซึ่งเริ่มด้วยการอพยพจากไต้หวันไปยังฟิลิปปินส์เมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อน[82]

ชาวออสโตรนีเชียนนำเทคโนโลยีการปลูกข้าวไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทรพร้อมกับพืชและสัตว์เลี้ยงสปีชีส์ต่าง ๆ เกาะเขตร้อนใหม่ยังมีพืชอาหารชนิดใหม่ ๆ ที่สามารถใช้ประโยชน์ พวกเขานำพืชและสัตว์ไปด้วยเมื่อเดินทางไปตั้งถิ่นฐาน มีผลเป็นการกระจายสายพันธุ์ที่ได้ปรับไว้เลี้ยงหรือกึ่งปรับไว้เลี้ยงแล้วไปทั่วโอเชียเนีย และยังได้ติดต่อกับศูนย์กลางการเกษตรยุคแรก ๆ ของคนที่พูดภาษาปาปัวในเกาะนิวกินี และคนพูดภาษาดราวิเดียนในอินเดียใต้และศรีลังกาเมื่อประมาณ 3,500 ปีก่อน จึงได้รับพืชเพาะปลูกเพื่ออาหารเพิ่ม เช่น กล้วยและพริกไทยจากที่นั่น ในทางกลับกันก็นำเข้าเทคโนโลยีออสโตรนีเชียน เช่น การเพาะปลูกในลุ่มน้ำและเรือแบบมีคานยื่น[82][89][90][91] ในช่วงพันปีแรกของคริสต์ศักราช ยังได้ตั้งถิ่นฐานในมาดากัสการ์และคอโมโรสโดยนำพืชอาหารจากเอเชียอาคเนย์ รวมถึงข้าว ไปยังแอฟริกาตะวันออก[92][93]

แอฟริกา

[แก้]
หุบเขาแม่น้ำไนล์ ประเทศอียิปต์

ในทวีปแอฟริกา มีพื้นที่สามแห่งที่ได้ระบุว่า ได้พัฒนาเกษตรกรรมต่างหาก ๆ คือที่ราบสูงเอธิโอเปีย ซาเฮล และแอฟริกาตะวันตก[94] เทียบกับการเกษตรในหุบเขาแม่น้ำไนล์ที่เชื่อว่า พัฒนามาจากการปฏิวัติยุคหินใหม่ดั้งเดิมในเขตพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ พบหินบดจำนวนมากในวัฒนธรรม Sebilian และ Mechian ของอียิปต์ยุคแรก ๆ และพบหลักฐานของเศรษฐกิจการเพาะปลูกพืชเลี้ยงยุคหินใหม่ที่มีอายุราว 7,000 ปีก่อน[95][96] แต่ต่างกับตะวันออกกลาง หลักฐานนี้ปรากฏว่าเป็น "รุ่งอรุณจอมปลอม" ของการเกษตร เนื่องจากโบราณสถานเหล่านี้ถูกทิ้งร้างในเวลาต่อมา เกษตรกรรมที่ทำอย่างถาวรจึงล่าช้าไปจนถึง 6,500 ปีก่อน ซึ่งเกิดกับวัฒนธรรม Tasian และวัฒนธรรม Badarian โดยการนำเข้าพืชและสัตว์มาจากตะวันออกใกล้

กล้วยและกล้วยกล้าย ซึ่งได้ปรับเป็นพืชเลี้ยงแรกสุดในเอเชียอาคเนย์ น่าจะในปาปัวนิวกินี ได้ทำให้เป็นพืชเลี้ยงต่างหาก ๆ ในแอฟริกา อาจเร็วที่สุดเมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว กลอยและเผือกจากเอเชียก็ปลูกในแอฟริกาด้วย[94]

พืชที่มีชื่อเสียงที่สุดที่ทำเป็นไม้เลี้ยงในที่ราบสูงเอธิโอเปียคือกาแฟ นอกจากนี้ คัต, กล้วยผา, Guizotia abyssinica, Eragrostis tef และข้าวฟ่างสามง่ามก็ทำให้เป็นพืชเลี้ยงในที่ราบสูงเอธิโอเปียเช่นกัน พืชที่ทำให้เป็นไม้เลี้ยงในภูมิภาคซาเฮลรวมถึงข้าวฟ่างและข้าวฟ่างไข่มุก (Cenchrus americanus) ต้นโคล่าทำให้เป็นพืชเลี้ยงครั้งแรกในแอฟริกาตะวันตก พืชอื่น ๆ ที่ทำให้เป็นไม้เลี้ยงในแอฟริกาตะวันตกรวมถึงข้าวแอฟริกา กลอย และปาล์มน้ำมัน[94]

การเกษตรแพร่กระจายไปยังแอฟริกากลางและแอฟริกาใต้ในช่วงการขยายตัวของชาวบันตูระหว่างพันปีแรกก่อนคริสตกาล จนถึงพันปีหลังคริสตกาล

แผนที่โลก 2,000 ปีก่อนคริสตกาล สีระบุระดับวัฒนธรรม
  สังคมเกษตรกรรมง่าย 
  สังคมเกษตรกรรมที่ซับซ้อน (ตะวันออกใกล้, ยุโรป, จีน, อารยธรรมแอนดีส)

อเมริกา

[แก้]

คำว่า "ยุคหินใหม่" (neolithic) ปกติจะไม่ใช้อธิบายวัฒนธรรมในทวีปอเมริกา แต่วัฒนธรรมยุคหินใหม่ในซีกโลกตะวันออกก็คล้ายคลึงกันอย่างกว้าง ๆ กับวัฒนธรรมต่าง ๆ ในทวีปอเมริกา ข้าวโพด ถั่ว และสควอช (แตงสกุล Cucurbita) เป็นเป็นพืชที่นำมาเลี้ยงแรกสุดในมีโซอเมริกา สควอชเริ่มตั้งแต่ราว 6,000 ปีก่อนคริสตกาล ถั่วไม่ช้ากว่า 4,000 ปีก่อนคริสตกาล และข้าวโพดเริ่มราว 7,000 ปีก่อนคริสตกาล[97] มันฝรั่งและมันสำปะหลังได้ทำให้เป็นพืชเลี้ยงในอเมริกาใต้ ในพื้นที่ของสหรัฐอเมริกาตะวันออกปัจจุบัน ชนพื้นเมืองอเมริกันได้ปรับทานตะวัน ซัมป์วีด (วงศ์ทานตะวันสปีชีส์ Iva annua) และกูสฟุต (วงศ์บานไม่รู้โรยสกุล Chenopodium) ให้เป็นพืชเลี้ยงราว 2,500 ���ีก่อนคริสตกาล ในที่ราบสูงของเม็กซิโกตอนกลาง สังคมหมู่บ้านแบบตั้งถิ่นฐานถาวรโดยอาศัยเกษตรกรรมไม่ได้พัฒนาขึ้นจนกระทั่งพันปีที่สองก่อนคริสตกาล[98]

นิวกินี

[แก้]

หลักฐานคือคูระบายน้ำที่โบราณสถาน Kuk Swamp ที่ชายแดนของที่ราบสูงทางตะวันตกกับที่ราบสูงทางใต้ของประเทศปาปัวนิวกินี แสดงการเพาะปลูกเผือกและพืชผลอื่น ๆ ย้อนกลับไปถึง 11,000 ปีก่อน พืชเศรษฐกิจที่น่าจะสำคัญสองชนิด คือ เผือก (Colocasia esculenta) และกลอย (Dioscorea sp) มีอายุอย่างน้อยถึง 10,200 ปีก่อน มีหลักฐานเพิ่มเติมว่ามีกล้วยและอ้อยโดยมีอายุ 6,950–6,440 ปีก่อนคริสตกาล แต่เพราะพบในที่สูงในระดับขีดจำกัดของพืชเหล่านี้ จึงมีการเสนอว่าการเพาะปลูกในที่ราบต่ำอันเอื้ออำนวยกว่านี้อาจเกิดขึ้นก่อน

องค์กรวิจัยทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมเครือจักรภพของออสเตรเลีย (CSIRO) พบหลักฐานว่า เผือกได้นำเข้าไปในหมู่เกาะโซโลมอนเพื่อเป็นอาหารมนุษย์ตั้งแต่ 28,000 ปีก่อน เผือกจึงเป็นพืชผลเพาะปลูกที่เก่าแก่ที่สุดของโลก[99][100] ซึ่งดูเหมือนจะมีผลเป็นการแพร่กระจายกลุ่มภาษาทรานส์-นิวกินีจากนิวกินีไปทางตะวันออกสู่หมู่เกาะโซโลมอน และไปทางตะวันตกสู่เกาะติมอร์และพื้นที่ที่ติด ๆ กันของอินโดนีเซีย ซึ่งดูเหมือนจะยืนยันทฤษฎีของนักธรณีวิทยาชาวอเมริกัน คาร์ล เซาเออร์ คือในผลงานปี 1952 "Agricultural Origins and Dispersals" (ต้นกำเนิดและการแพร่กระจายของเกษตรกรรม) เขาเสนอว่าภูมิภาคนี้เป็นศูนย์กลางของการเกษตรยุคแรก

การปรับให้เป็นสัตว์เลี้ยง

[แก้]

เมื่อการเก็บของป่าล่าสัตว์ได้เปลี่ยนไปเป็นการผลิตอาหารแบบประจำที่ การเลี้ยงสัตว์ไว้ใกล้ ๆ ตัวจึงได้ผลดีกว่า ดังนั้น จึงต้องนำสัตว์มาอยู่ในที่ตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร แม้ในหลายกรณีก็จะมีความแตกต่างระหว่างเกษตรกรที่ค่อนข้างอยู่เป็นที่กับคนเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อน[101] ขนาด อุปนิสัย อาหาร รูปแบบการผสมพันธุ์ และอายุขัยของสัตว์ มีผลต่อความต้องการและความสำเร็จในการปรับเป็นสัตว์เลี้ยง สัตว์ที่ให้นม เช่น วัวและแพะ เป็นแหล่งโปรตีนที่ได้เรื่อย ๆ จึงมีค่ามาก สมรรถภาพทางแรงงานของสัตว์ (เช่น ในการไถนาหรือการลาก) และการเป็นแหล่งอาหาร ก็เป็นเรื่องพิจารณาด้วย นอกจากเป็นแหล่งอาหารโดยตรงแล้ว สัตว์บางชนิดยังสามารถให้หนังสัตว์ ขนสัตว์ หนังดิบ และปุ๋ย สัตว์ที่ทำให้เชื่องในยุคแรกสุดรวมถึงสุนัข (ในเอเชียตะวันออกประมาณ 15,000 ปีก่อน) แกะ แพะ วัว และหมู[102]

การทำให้สัตว์เชื่องในตะวันออกกลาง

[แก้]
คาราวานอูฐหนอกเดียวในประเทศแอลจีเรีย

ตะวันออกกลางเป็นแหล่งที่มาของสัตว์หลายชนิดที่สามารถทำให้เชื่องได้ เช่น แกะ แพะ และหมู พื้นที่นี้ยังเป็นภูมิภาคแรกที่ทำ อูฐหนอกเดียว/อูฐโดรเมดารี/อูฐอาหรับ ให้เป็นสัตว์เลี้ยง นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส อองรี เฟลช ค้นพบและตั้งชื่ออุตสาหกรรมเครื่องมือหินยุคหินใหม่ (shepherd neolithic) จากหุบเขา Bekaa ในประเทศเลบานอน และเสนอว่าคนเลี้ยงแกะเร่ร่อนยุคแรกสุดอาจใช้เครื่องมือเช่นนี้ เขากำหนดอายุอุตสาหกรรมนี้ว่าอยู่ในยุค Epipaleolithic (ช่วงระหว่างยุคหินเก่าตอนปลายกับยุคหินใหม่) หรือในยุคหินใหม่ก่อนมีเครื่องปั้นดินเผา (pre-pottery neolithic) เพราะชัดเจนว่าไม่ใช่ยุคหินเก่า ยุคหินกลาง หรือยุคหินใหม่ที่มีเครื่องปั้นดินเผา (pottery neolithic)[69][103]

สัตว์เหล่านี้ให้ความได้เปรียบอย่างมากแก่ภูมิภาคในด้านการพัฒนาทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ แต่เมื่อสภาพภูมิอากาศในตะวันออกกลางเปลี่ยนไปโดยแห้งแล้งขึ้น เกษตรกรจำนวนมากจำต้องย้ายถิ่นโดยนำสัตว์ที่เชื่องแล้วไปด้วย เป็นการอพยพครั้งใหญ่จากตะวันออกกลางนี้เองที่ต่อมาช่วยกระจายสัตว์เหล่านี้ไปยังส่วนที่เหลือของแอฟริกา-ยูเรเชีย

การอพยพนี้ส่วนใหญ่เป็นไปตามแนวตะวันออก–ตะวันตกที่มีสภาพอากาศคล้าย ๆ กัน เนื่องจากพืชผลมักชอบสภาพภูมิอากาศในรูปแบบที่จำกัด โดยนอกเหนือจากนั้น จะไม่โตเพราะแสงแดดหรือฝนไม่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น ข้าวสาลีปกติจะไม่โตในภูมิอากาศเขตร้อน เช่นเดียวกับพืชเขตร้อนอย���างกล้วยที่จะไม่โตในภูมิอากาศที่เย็นกว่า นักเขียนทางวิทยาศาสตร์บางคน เช่น จาเร็ด ไดมอนด์ ได้ตั้งสมมติฐานว่า การเรียงเป็นแนวตะวันออก–ตะวันตกนี้ เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้การเลี้ยงพืชและสัตว์แพร่กระจายอย่างรวดเร็วจากเขตพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ไปยังส่วนที่เหลือของยูเรเชียและแอฟริกาเหนือ ในขณะที่มันไม่สามารถแพร่ผ่านแนวเหนือ–ใต้ของแอฟริกาเพื่อไปถึงสภาพอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียนของแอฟริกาใต้ จนกระทั่งพืชผลเขตอบอุ่นได้นำเข้าอย่างสำเร็จโดยเรือใน 500 ปีที่ผ่านมา[94]

ในทำนองเดียวกัน วัวซีบูของแอฟริกากลาง และวัวที่ปรับเป็นสัตว์เลี้ยงในเขตพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ ก็ไม่ได้นำเข้าสู่ภูมิภาคของกันและกันเพราะพื้นที่แยกจากกันโดยทะเลทรายสะฮาราอันแห้งแล้ง

ผล

[แก้]

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม

[แก้]
ประชากรโลก (โดยประมาณ) ไม่ได้เพิ่มขึ้นในช่วงหลายพันปีหลังการปฏิวัติยุคหินใหม่

แม้จะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สำคัญและความก้าวหน้าในความรู้ ศิลปะ และการค้า การปฏิวัติยุคหินใหม่ก็ไม่ได้ทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยทันที ผลบวกของมันดูเหมือนจะถูกหักล้างด้วยผลลบต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือโรคภัยและสงคราม[104][105]

การเกิดเกษตรกรรมไม่จำเป็นต้องสร้างความก้าวหน้าเท่านั้น โภชนาการของประชากรยุคหินใหม่นั้นด้อยกว่าของคนเก็บของป่าล่าสัตว์ การศึกษาทางชาติพันธุ์วิทยาและโบราณคดีหลายชิ้นสรุปว่า การเปลี่ยนอาหารโดยมีธัญพืชเป็นหลักทำให้อายุขัยและส่วนสูงลดลง อัตราการเสียชีวิตของทารกและโรคติดเชื้อเพิ่มขึ้น โรคเรื้อรัง โรคอักเสบ หรือโรคเสื่อม (เช่น โรคอ้วน, เบาหวานประเภท 2 และโรคหัวใจและหลอดเลือด) ก็เกิดขึ้น เกิดภาวะขาดสารอาหารหลายอย่างรวมถึงการขาดวิตามิน ภาวะเลือดจางเหตุขาดธาตุเหล็ก และความผิดปกติของแร่ธาตุที่มีผลต่อกระดูก (เช่น โรคกระดูกพรุนและโรคกระดูกอ่อนในเด็ก) และฟัน[106][107][108]

ความสูงเฉลี่ยของคนยุโรปลดลงจาก 178 ซม. เหลือ 165 ซม. สำหรับผู้ชาย และ 168 ซม. เหลือ 155 ซม. สำหรับผู้หญิง แล้วต้องรอจนถึงศตวรรษที่ 20 กว่าความสูงเฉลี่ยจะกลับมาถึงระดับก่อนการปฏิวัติยุคหินใหม่[109]

มุมมองดั้งเดิมคือการผลิตอาหารทางการเกษตรช่วยสนับสนุนให้มีประชากรหนาแน่นขึ้น ซึ่งสนับสนุนชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานถาวรขนาดใหญ่ขึ้น, การสะสมสินค้าและเครื่องมือ และการมีแรงงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางรูปแบบใหม่ ๆ อาหารส่วนเกินทำให้เกิดชนชั้นสูงทางสังคม ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการเกษตร อุตสาหกรรม หรือการค้า แต่กลับมีอำนาจเหนือชุมชนของตนด้วยวิธีอื่น ๆ และผูกขาดการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม สังคมที่ใหญ่ขึ้นทำให้นำรูปแบบการตัดสินใจและการปกครองต่าง ๆ มาใช้ได้มากขึ้น[110]

จาเร็ด ไดมอนด์ (ในหนังสือ The World Until Yesterday) ระบุว่าการมีนมและธัญพืชทำให้แม่สามารถเลี้ยงดูทั้งลูกที่โตกว่า (เช่น อายุ 3–4 ขวบ) และลูกที่เล็กกว่าไปพร้อมกันได้ ประชากรจึงสามารถเพิ่มได้เร็วขึ้น ไดมอนด์เห็นด้วยกับนักวิชาการสตรีนิยมเช่น วี. สไปก์ พีเตอร์สัน เมื่อชี้ว่า การเกษตรแบ่งแยกสังคมอย่างลึกซึ้งและส่งเสริมความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ[111][112] นักทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ เช่น เวโรนิกา สแตรง ได้ติดตามการจัดระเบียบทางสังคมใหม่ผ่านรูปทางเทววิทยา[113]

สแตรงสนับสนุนทฤษฎีของตนโดยเปรียบเทียบเทพเจ้าแห่งน้ำก่อนและหลังการปฏิวัติเกษตรกรรมยุคหินใหม่ ที่เด่นสุดคือรูปปั้น (เล็ก) Venus of Lespugue กับ เทวดากรีก-โรมันเช่น แม่มด Circe และสัตว์ประหลาดทะเล Charybdis คือวีนัสได้การเคารพนับถือ ส่วนสองตนหลังถูกครอบงำและพิชิต ทฤษฎีได้การสนับสนุนจากสมมติฐานของนักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน พาร์สันส์ เป็นสมมติฐานที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า “สังคมเป็นเป้าแห่งการเคารพบูชาทางศาสนาเสมอ”[114] ทฤษฎีอ้างว่าพร้อมกับการรวมศูนย์ของรัฐและการรุ่งอรุณของยุคแอนโทรโปซีน บทบาทในสังคมถูกจำกัดมากขึ้นโดยให้เหตุผลผ่านการเรียนรู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดีทางศาสนา กระบวนการนี้ได้ทำให้เป็นรูปธรรมโดยเปลี่ยนการบูชาพระเจ้าหลายพระองค์ไปเป็นการนับถือพระเจ้าพระองค์เดียว

การปฏิวัติต่อ ๆ มา

[แก้]
การรีดนมวัวเลี้ยงในอียิปต์โบราณ

นักโบราณคดีชาวอังกฤษ แอนดรูว์ เชอร์แรตต์ อ้างว่า มีการปฏิวัติผลิตภัณฑ์รอง (secondary products revolution) เป็นการค้นพบของมนุษย์ระยะที่สองโดยติดตามการปฏิวัติยุคหินใหม่ ดูเหมือนว่าสัตว์ได้เลี้ยงในตอนแรกเพียงเพื่อเนื้อสัตว์[115] การปฏิวัติผลิตภัณฑ์รองเกิดขึ้นเมื่อตระหนักว่าสัตว์ยังให้ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีประโยชน์อีก รวมถึง

  • หนังและผิวหนังสัตว์ (จากสัตว์ที่ไม่ได้ทำให้เชื่อง)
  • มูลสัตว์สำหรับปรับสภาพดิน (จากสัตว์เลี้ยงทุกชนิด)
  • ขนสัตว์ (จากแกะ ยามา อัลปากา และแพะแองโกรา)
  • นม (จากแพะ วัว จามรี แกะ ม้า และอูฐ)
  • แรงลาก (จากวัวตอน ลาเอเชียป่า ลา ม้า อูฐ และสุนัข)
  • การเฝ้ายามและช่วยต้อนฝูงสัตว์ (สุนัข)

เชอแรตต์อ้างว่า การพัฒนาการเกษตรระยะนี้ทำให้มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากพลังงานสัตว์ในรูปแบบใหม่ ๆ ได้ จึงทำให้สามารถทำเกษตรกรรมเพื่อยังชีพและผลิตพืชผลแบบได้ผลตอบแทนสูง/แบบประณีตอย่างถาวร และเปิดหน้าดินที่ยากกว่าได้เพื่อเกษตรกรรม นอกจากนี้ ยังทำให้สามารถเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อนในพื้นที่กึ่งแห้งแล้ง ตามชายขอบของทะเลทราย และในที่สุด ก็ทำอูฐหนอกเดียว (อูฐโดรเมดารี) และอูฐสองหนอก (อูฐแบคเทรียน) ให้เป็นสัตว์เลี้ยง[115] แต่การเลี้ยงสัตว์มากเกินไปในพื้นที่เหล่านี้ โดยเฉพาะฝูงแพะ ก็ได้ขยายขอบเขตทะเลทรายออกไปอย่างมาก

อาหารและสุขภาพ

[แก้]

เมื่อเทียบกับคนเก็บของป่า อาหารของเกษตรกรยุคหินใหม่มีคาร์โบไฮเดรตสูงกว่า แต่มีเส้นใยอาหาร สารอาหาร และโปรตีนต่ำกว่า ซึ่งทำให้ฟันผุเกิดบ่อยขึ้น[7] ทำให้เด็กโตช้าลง สะสมไขมันกายเพิ่มขึ้น และการศึกษาต่าง ๆ พบอย่างสอดคล้องกันว่า ประชากรทั่วโลกเตี้ยลงหลังจากเปลี่ยนไปทำเกษตร แนวโน้มเช่นนี้อาจแย่ยิ่งขึ้นเพราะอาหารเกษตรแปรปรวนไปตามตามฤดูกาลยิ่งกว่า และยังเพิ่มความเสี่ยงทุพภิกขภัยเพราะการล้มเหลวของพืชผล[6]

ตลอดการพัฒนาของสังคมที่ตั้งรกรากถาวร โรคได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วกว่าในช่วงที่เป็นสังคมหาของป่าล่าสัตว์ สุขอนามัยที่ไม่ดีและการมีสัตว์เลี้ยงอาจอธิบายการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยที่เพิ่มจำนวนขึ้นหลังการปฏิวัติยุคหินใหม่ เพราะโรคได้กระโดดจากสัตว์เข้าสู่ประชากรมนุษย์ ตัวอย่างโรคติดต่อที่แพร่จากสัตว์เข้าสู่มนุษย์รวมทั้งไข้หวัดใหญ่ โรคฝีดาษ และหัด[116] จีโนมของจุลินทรีย์โบราณแสดงว่า บรรพบุรุษของสายพันธุ์แบคทีเรีย Salmonella enterica ที่ปรับตัวเข้ากับมนุษย์ได้ติดเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ทั่วยูเรเชียตะวันตก อย่างช้าตั้งแต่ 5,500 ปีก่อน ซึ่งให้หลักฐานทางอณูชีววิทยาสำหรับสมมติฐานว่า การเปลี่ยนเข้าสู่ยุคหินใหม่อำนวยให้เกิดเชื้อ Salmonella enterica[117]

มนุษย์ที่เริ่มปรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่เป็นสัตว์เลี้ยงเป็นกลุ่มแรก ได้เกิดภูมิคุ้มกันต่อโรคเหล่านั้นอย่างรวดเร็วเพราะในแต่ละรุ่น ผู้มีภูมิคุ้มกันดีกว่าจะมีโอกาสรอดชีวิตได้ยิ่งกว่า ซึ่งสอดคล้องกับกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ในช่วง 10,000 ปีที่อยู่ใกล้ชิดร่วมกับสัตว์ เช่น วัว ชาวยูเรเชียและชาวแอฟริกาได้เกิดความต้านทานต่อโรคเหล่านั้น ยิ่งกว่าประชากรพื้นเมืองที่พบนอกยูเรเชียและแอฟริกา[94] ตัวอย่างเช่น ในหมู่เกาะแคริบเบียนส่วนใหญ่และเกาะหลายเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ประชากรถูกกวาดล้างไปอย่างสิ้นเชิงเพราะโรค 90% หรือยิ่งกว่าของกลุ่มประชากรจำนวนมากในทวีปอเมริกา ถูกกวาดล้างไปด้วยโรคจากยุโรปและแอฟริกา แม้ก่อนจะมีบันทึกการติดต่อกับนักสำรวจหรือผู้ตั้งอาณานิคมชาวยุโรป วัฒนธรรมบางแห่ง เช่น จักรวรรดิอินคา แม้จะมีสัตว์��ลี้ยงขนาดใหญ่คือยามา แต่ก็ไม่ได้ดื่มนมยามา ยามาก็ไม่ได้อาศัยอย่างใกล้ชิดอยู่กับมนุษย์ ดังนั้นความเสี่ยงในการติดเชื้อจึงจำกัด อย่างไรก็ดี ตามการวิจัยทางชีวโบราณคดี ผลกระทบของการเกษตรต่อสุขภาพฟันในสังคมชาวนาปลูกข้าวเอเชียอาตเนย์ระหว่าง 4,000–1,500 ปีก่อนไม่ได้แย่เท่ากับภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก[118]

นักวิชาการทางโภชนาการและทางมานุษยวิทยาอ้างว่า การเปลี่ยนแปลงอาหารและการสัมผัสกับเชื้อโรคเพิ่มขึ้นที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ได้เปลี่ยนแปลงชีวสภาพและวงจรชีวิต (life history) ของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง โดยก่อสภาวะที่การคัดเลือกโดยธรรมชาติเลือกจัดสรรทรัพยากรเพื่อการสืบพันธุ์ยิ่งกว่าการดูแลตนเอง (somatic effort)[6]

โบราณพันธุศาสตร์

[แก้]

การแพร่กระจายของวัฒนธรรมยุคหินใหม่จากตะวันออกกลาง สัมพันธ์กับการกระจายตัวของเครื่องหมายดีเอ็นเอของมนุษย์ ในยุโรป นี่สัมพันธ์กับการกระจายตัวของสายกลุ่มอัลลีล (haplogroup) E1b1b และ J ซึ่งเชื่อว่าได้เข้ามาในยุโรปจากแอฟริกาเหนือและตะวันออกใกล้ตามลำดับ[119][120] การศึกษาทางดีเอ็นเอแสดงว่า เกษตรกรยุคแรกที่ขยายตัวจากอนาโตเลียเมื่อประมาณ 9,000 ปีที่แล้วได้นำการเกษตรเข้ามาในยุโรป[121]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Bocquet-Appel, Jean-Pierre (2011-07-29). "When the world's population took off: the springboard of the Neolithic Demographic Transition". Science (New York, N.Y.). 333 (6042): 560–561. doi:10.1126/science.1208880. ISSN 1095-9203. PMID 21798934.
  2. 2.0 2.1 Pollard, Elizabeth; Rosenberg, Clifford; Tigor, Robert (2015). Worlds together, worlds apart. Vol. 1 (concise ed.). New York: W.W. Norton & Company. p. 23. ISBN 978-0-393-25093-0.
  3. Compare: Lewin, Roger (2009-02-18) [1984]. "35: The origin of agriculture and the first villagers". Human Evolution: An Illustrated Introduction (5 ed.). Malden, Massachusetts: John Wiley & Sons (ตีพิมพ์ 2009). p. 250. ISBN 978-1-4051-5614-1. สืบค้นเมื่อ 2017-08-20. [...] The Neolithic transition involved increasing sedentism and social complexity, which was usually followed by the gradual adoption of plant and animal domestication. In some cases, however, plant domestication preceded sedentism, particularly in the New World.
  4. "International Stratigraphic Chart". International Commission on Stratigraphy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-12. สืบค้นเมื่อ 2012-12-06.
  5. 5.0 5.1 Armelagos, George J. (2014). "Brain Evolution, the Determinates of Food Choice, and the Omnivore's Dilemma". Critical Reviews in Food Science and Nutrition. 54 (10): 1330–1341. doi:10.1080/10408398.2011.635817. ISSN 1040-8398. PMID 24564590. S2CID 25488602.
  6. 6.0 6.1 6.2 Wells, Jonathan C. K.; Stock, Jay T. (2020). "Life History Transitions at the Origins of Agriculture: A Model for Understanding How Niche Construction Impacts Human Growth, Demography and Health". Frontiers in Endocrinology (ภาษาอังกฤษ). 11: 325. doi:10.3389/fendo.2020.00325. ISSN 1664-2392. PMC 7253633. PMID 32508752.
  7. 7.0 7.1 Larsen, Clark Spencer (2006-06-01). "The agricultural revolution as environmental catastrophe: Implications for health and lifestyle in the Holocene". Quaternary International. Impact of rapid environmental changes on humans and ecosystems (ภาษาอังกฤษ). 150 (1): 12–20. Bibcode:2006QuInt.150...12L. doi:10.1016/j.quaint.2006.01.004. ISSN 1040-6182. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-05. สืบค้นเมื่อ 2020-07-10.
  8. Weisdorf, Jacob L. (September 2005). "From Foraging To Farming: Explaining The Neolithic Revolution" (PDF). Journal of Economic Surveys. 19 (4): 561–586. doi:10.1111/j.0950-0804.2005.00259.x. S2CID 42777045. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-20. สืบค้นเมื่อ 2023-06-12.
  9. Nowak, Marek (2022). "Do We Finally Know What the Neolithic Is?". Open Archaeology. 8 (1): 332–342. doi:10.1515/opar-2020-0204.
  10. "Violence and its causes". unesdoc.unesco.org. สืบค้นเมื่อ 2023-10-18.
  11. Childe, Vere Gordon (1950). "The Urban Revolution". The Town Planning Review. Liverpool University Press. 21 (1): 3–17. doi:10.3828/tpr.21.1.k853061t614q42qh. ISSN 0041-0020. JSTOR 40102108. S2CID 39517784 – โดยทาง JSTOR.
  12. Violatti, Cristian (2018-04-02). "Neolithic Period". World History Encyclopedia.
  13. Pringle, Heather. "The Slow Birth of Agriculture". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-01.
  14. "Wizard Chemi Shanidar". EMuseum. Minnesota State University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-18.
  15. "International Stratigraphic Chart". International Commission on Stratigraphy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-12. สืบค้นเมื่อ 2012-12-06.
  16. Blakemore, Erin (2019-04-05). "The Neolithic Revolution". National Geographic. สืบค้นเมื่อ 2020-10-31.
  17. 17.0 17.1 17.2 Barker, Graeme (2009). The Agricultural Revolution in Prehistory: Why did Foragers become Farmers?. Oxford University Press. ISBN 978-0-19-955995-4.
  18. Cohen, David Joel (October 2011). "The Beginnings of Agriculture in China: A Multiregional View". Current Anthropology. 52 (S4): S273–S293. doi:10.1086/659965. สืบค้นเมื่อ 2020-10-31.
  19. Shaw, Ben; Field, Judith H.; Summerhayes, Glen R.; Coxe, Simon; Coster, Adelle C. F.; Ford, Anne; Haro, Jemina; Arifeae, Henry; Hull, Emily; Jacobsen, Geraldine; Fullagar, Richard; Hayes, Elspeth; Kealhofer, Lisa (2020-03-25). "Emergence of a Neolithic in highland New Guinea by 5000 to 4000 years ago". Science Advances. 6 (13). doi:10.1126/sciadv.aay4573. สืบค้นเมื่อ 2020-10-31.
  20. 20.0 20.1 Redman, Charles E (1978). Rise of Civilization: From Early Hunters to Urban Society in the Ancient Near East. San Francisco: Freeman.
  21. 21.0 21.1 Hayden, Brian (1992). "Models of Domestication". ใน Gebauer, Anne Birgitte; Price, T. Douglas (บ.ก.). Transitions to Agriculture in Prehistory. Madison: Prehistory Press. pp. 11–18.
  22. 22.0 22.1 Binford, Lewis R. (1968). "Post-Pleistocene Adaptations". ใน Binford, Sally R; Binford, Lewis R (บ.ก.). New Perspectives in Archaeology. Chicago: Aldine Publishing Company. pp. 313–342.
  23. Rindos, David (December 1987). The Origins of Agriculture: An Evolutionary Perspective. Academic Press. ISBN 978-0-12-589281-0.
  24. 24.0 24.1 Richerson, Peter J.; Boyd, Robert (2001). "Was Agriculture Impossible during the Pleistocene but Mandatory during the Holocene?". American Antiquity. 66 (3): 387–411. doi:10.2307/2694241. JSTOR 2694241. S2CID 163474968.
  25. Anderson, David G; Albert C. Goodyear; James Kennett; Allen West (2011). "Multiple lines of evidence for possible Human population decline/settlement reorganization during the early Younger Dryas". Quaternary International. 242 (2): 570–583. Bibcode:2011QuInt.242..570A. doi:10.1016/j.quaint.2011.04.020.
  26. Zeder, Melinda (October 2011). "The Origins of Agriculture in the Near East". Current Anthropology. 52 (S4): 221–235. doi:10.1086/659307. JSTOR 10.1086/659307. S2CID 8202907.
  27. Sablin, Mikhail V.; Khlopachev, Gennady A. (2002). "The Earliest Ice Age Dogs: Evidence from Eliseevichi 11". Current Anthropology. 43 (5): 795–799. doi:10.1086/344372. S2CID 144574445.
  28. Zeder, Melinda A. (2011). "The Origins of Agriculture in the Near East". Current Anthropology. 52: S221–S235. doi:10.1086/659307. S2CID 8202907.
  29. Giuffra, E.; Kijas, J. M.; Amarger, V.; Carlborg, O.; Jeon, J. T.; Andersson, L. (2000). "The origin of the domestic pig: Independent domestication and subsequent introgression". Genetics. 154 (4): 1785–91. PMC 1461048. PMID 10747069.
  30. Zeder, Melinda A. (2008). "Domestication and early agriculture in the Mediterranean Basin: Origins, diffusion, and impact". Proceedings of the National Academy of Sciences. 105 (33): 11597–11604. Bibcode:2008PNAS..10511597Z. doi:10.1073/pnas.0801317105. PMC 2575338. PMID 18697943.
  31. Wendorf, Fred; Schild, Romuald (1998). "Nabta Playa and its Role in Northeastern African Prehistory". Journal of Anthropological Archaeology. 17 (2): 97–123. doi:10.1006/jaar.1998.0319.
  32. Diamond, Jared (May 1987). "The Worst Mistake in the History of the Human Race". Discover Magazine: 64–66.
  33. 33.0 33.1 The Cambridge World History of Food. Cambridge University Press. 2000. p. 46.
  34. Zalloua, Pierre A.; Matisoo-Smith, Elizabeth (2017-01-06). "Mapping Post-Glacial expansions: The Peopling of Southwest Asia". Scientific Reports (ภาษาอังกฤษ). 7: 40338. Bibcode:2017NatSR...740338P. doi:10.1038/srep40338. ISSN 2045-2322. PMC 5216412. PMID 28059138.
  35. Diamond, J.; Bellwood, P. (2003). "Farmers and Their Languages: The First Expansions". Science. 300 (5619): 597–603. Bibcode:2003Sci...300..597D. CiteSeerX 10.1.1.1013.4523. doi:10.1126/science.1078208. PMID 12714734. S2CID 13350469.
  36. 36.0 36.1 Childe, Vere Gordon (1936). Man Makes Himself (ภาษาอังกฤษ). London: Watts & Company.
  37. Brami, Maxime N. (2019-12-01). "The Invention of Prehistory and the Rediscovery of Europe: Exploring the Intellectual Roots of Gordon Childe's 'Neolithic Revolution' (1936)". Journal of World Prehistory (ภาษาอังกฤษ). 32 (4): 311–351. doi:10.1007/s10963-019-09135-y. ISSN 1573-7802. S2CID 211663314.
  38. "7.6: Neolithic Revolution". Social Sci LibreTexts (ภาษาอังกฤษ). 2018-04-28. สืบค้นเมื่อ 2023-10-18.
  39. Thissen, L. "Appendix I, The CANeW 14C databases, Anatolia 10,000–5000 cal. BC." in: F. Gérard and L. Thissen (eds.), The Neolithic of Central Anatolia. Internal developments and external relations during the 9th–6th millennia cal BC, Proc. Int. CANeW Round Table, Istanbul 23–24 November 2001, (2002)
  40. Denham, Tim P.; Haberle, S. G.; Fullagar, R; Field, J; Therin, M; Porch, N; Winsborough, B (2003). "Origins of Agriculture at Kuk Swamp in the Highlands of New Guinea" (PDF). Science. 301 (5630): 189–193. doi:10.1126/science.1085255. PMID 12817084. S2CID 10644185. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-20. สืบค้นเมื่อ 2019-12-04.
  41. "The Kuk Early Agricultural Site". UNESCO World Heritage Centre. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-22. สืบค้นเมื่อ 2019-12-26.
  42. Kealhofer, Lisa (2003). "Looking into the gap: land use and the tropical forests of southern Thailand". Asian Perspectives. 42 (1): 72–95. doi:10.1353/asi.2003.0022. hdl:10125/17181. S2CID 162916204.
  43. Scarre, Christopher (2005). "The World Transformed: From Foragers and Farmers to States and Empires". The Human Past: World Prehistory and the Development of Human Societies. London: Thames & Hudson. p. 188. ISBN 0-500-28531-4.
  44. "The Neolithic Revolution | Early World Civilizations". courses.lumenlearning.com. สืบค้นเมื่อ 2023-10-18.
  45. Sauer, Carl O. (1952). Agricultural origins and dispersals. Cambridge, MA: MIT Press.
  46. Rindos, David (December 1987). The Origins of Agriculture: An Evolutionary Perspective. Academic Press. ISBN 978-0-12-589281-0.
  47. Wright, Ronald (2004). A Short History of Progress. Anansi. ISBN 978-0-88784-706-6.
  48. Grinin L.E. "Production Revolutions and Periodization of History: A Comparative and Theoretic-mathematical Approach". Social Evolution & History. Volume 6, Number 2. September 2007. เก็บถาวร 2012-01-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน .
  49. Hole, Frank (1984-08-29). "A Reassessment of the Neolithic Revolution". Paléorient. 10 (2): 49–60. doi:10.3406/paleo.1984.939. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-17. สืบค้นเมื่อ 2022-08-29 – โดยทาง Persée.
  50. 50.0 50.1 50.2 50.3 50.4 Nadel, Dani; Weiss, Ehud; Groman-Yaroslavski, Iris (2016-11-23). "Composite Sickles and Cereal Harvesting Methods at 23,000-Years-Old Ohalo II, Israel". PLOS ONE (ภาษาอังกฤษ). 11 (11): e0167151. Bibcode:2016PLoSO..1167151G. doi:10.1371/journal.pone.0167151. ISSN 1932-6203. PMC 5120854. PMID 27880839. Material was copied from this source, which is available under a Creative Commons Attribution 4.0 International License.
  51. Enzel, Yehouda; Bar-Yosef, Ofer (2017). Quaternary of the Levant (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. p. 335. ISBN 978-1-107-09046-0.
  52. R, HARRIS DAVID (1996-04-17). ORIGINS & SPREAD AGRIC PAST. Smithsonian. ISBN 9781560986768 – โดยทาง Google Books.
  53. Zohary, Daniel (1999-04-01). "Monophyletic vs. polyphyletic origin of the crops on which agriculture was founded in the Near East". Genetic Resources and Crop Evolution. 46 (2): 133–142. doi:10.1023/A:1008692912820. S2CID 9529895 – โดยทาง Springer Link.
  54. Hillman, G. C; Davies, M. S. (1992). "Domestication rate in wild wheats and barley under primitive cultivation: preliminary results and archaeological implications of field measurements of selection coefficient". ใน Anderson, PC (บ.ก.). Préhistoire de l'agriculture: nouvelles approches expérimentales et ethnographiques. Monographie du CRA 6. Paris: Editions du CNRS. p. 124–132. ISBN 978-2-222-04546-5.
  55. 55.0 55.1 Weiss, Ehud; Kislev, Mordechai E.; Hartmann, Anat (2006). "Autonomous Cultivation Before Domestication". Science. 312 (5780): 1608–1610. doi:10.1126/science.1127235. PMID 16778044. S2CID 83125044.
  56. "Tamed 11,400 Years Ago, Figs Were Likely First Domesticated Crop". ScienceDaily. 2006-06-04. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-06. สืบค้นเมื่อ 2018-02-28.
  57. Flannery, Kent V. (1969). "Origins and ecological effects of early domestication in Iran and the Near East". ใน Ucko, Peter John; Dimbleby, G. W. (บ.ก.). The Domestication and Exploitation of Plants and Animals. New Brunswick, New Jersey: Transaction Publishers (ตีพิมพ์ 2007). p. 89. ISBN 978-0-202-36557-2. สืบค้นเมื่อ 2019-01-12. Our earliest evidence for this new technology comes [...] from the lowland steppe of Khuzistan. [...] Once irrigation appeared, the steppe greatly increased its carrying capacity and became, in fact, the dominant growth centre of the Zagros region between 5500 and 4000 B.C.
  58. Lawton, H. W.; Wilke, P. J. (1979). "Ancient Agricultural Systems in Dry Regions of the Old World". ใน Hall, A. E.; Cannell, G. H.; Lawton, H.W. (บ.ก.). Agriculture in Semi-Arid Environments. Ecological Studies. Vol. 34 (reprint ed.). Berlin: Springer Science & Business Media (ตีพิมพ์ 2012). p. 13. ISBN 978-3-642-67328-3. สืบค้นเมื่อ 2019-01-12. Archeological investigations on the Deh Luran Plain of Iran have provided a model for the internal dynamics of the culture sequence of prehistoric Khuzistan [...]. Somewhere between 5500 and 5000 B.C. in the Sabz phase of the Deh Luran Plain, irrigation water was apparently diverted from stream channels in a fashion similar to that employed in early Mesopotamia.
  59. 59.0 59.1 59.2 59.3 59.4 59.5 Material was copied from this source, which is available under a Creative Commons Attribution 4.0 International License เก็บถาวร 2017-10-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Jones, Martin K.; Kovaleva, Olga (2018-07-18). "Barley heads east: Genetic analyses reveal routes of spread through diverse Eurasian landscapes". PLOS ONE (ภาษาอังกฤษ). 13 (7): e0196652. Bibcode:2018PLoSO..1396652L. doi:10.1371/journal.pone.0196652. ISSN 1932-6203. PMC 6051582. PMID 30020920.
  60. Brown, T. A.; Jones, M. K.; Powell, W.; Allaby, R. G. (2009). "The complex origins of domesticated crops in the Fertile Crescent" (PDF). Trends in Ecology & Evolution. 24 (2): 103–109. Bibcode:2009TEcoE..24..103B. doi:10.1016/j.tree.2008.09.008. PMID 19100651. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-13. สืบค้นเมื่อ 2018-11-08.
  61. Mithen, Steven (2006). After the ice : a global human history, 20.000–5.000 BC (1. paperback ed.). Cambridge, MA: Harvard Univ. Press. p. 517. ISBN 978-0-674-01570-8.
  62. Compiled largely with reference to: Weiss, Ehud; Kislev, Mordechai E.; Simchoni, Orit; Nadel, Dani; Tschauner, Hartmut (2008). "Plant-food preparation area on an Upper Paleolithic brush hut floor at Ohalo II, Israel". Journal of Archaeological Science. 35 (8): 2400–2414. doi:10.1016/j.jas.2008.03.012.
  63. Ozkan, H.; Brandolini, A.; Schäfer-Pregl, R.; Salamini, F. (October 2002). "AFLP analysis of a collection of tetraploid wheats indicates the origin of emmer and hard wheat domestication in southeast Turkey". Molecular Biology and Evolution. 19 (10): 1797–801. doi:10.1093/oxfordjournals.molbev.a004002. PMID 12270906.
  64. van Zeist, W. Bakker-Heeres, J.A.H., Archaeobotanical Studies in the Levant 1. Neolithic Sites in the Damascus Basin: Aswad, Ghoraifé, Ramad., Palaeohistoria, 24, 165–256, 1982.
  65. Hopf, Maria., "Jericho plant remains" in Kathleen M. Kenyon and T. A. Holland (eds.) Excavations at Jericho 5, pp. 576–621, British School of Archaeology at Jerusalem, London, 1983.
  66. Cauvin, Jacques (2000). The Birth of the Gods and the Origins of Agriculture, p. 53. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-65135-6. สืบค้นเมื่อ 2012-08-15.
  67. Riehl, Simone; Zeidi, Mohsen; Conard, Nicholas (2013-07-05). "Emergence of Agriculture in the Foothills of the Zagros Mountains of Iran". Science. 341 (6141): 65–7. Bibcode:2013Sci...341...65R. doi:10.1126/science.1236743. PMID 23828939. S2CID 45375155. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-05-23. สืบค้นเมื่อ 2018-11-08.
  68. Peltenburg, E. J.; Wasse, Alexander (2004). Maya Haïdar Boustani, Flint workshops of the Southern Beqa' valley (Lebanon): preliminary results from Qar'oun*. Neolithic revolution: new perspectives on southwest Asia in light of recent discoveries on Cyprus. Oxbow Books. ISBN 978-1-84217-132-5.
  69. 69.0 69.1 Copeland, L; Wescombe, P (1966). Inventory of Stone-Age Sites in Lebanon: North, South and East-Central Lebanon. Imprimerie Catholique. p. 89.
  70. "BBC – History – Ancient History in depth: Overview: From Neolithic to Bronze Age, 8000–800 BC". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-12. สืบค้นเมื่อ 2017-07-21.
  71. Bellwood 2004, pp. 68–69.
  72. Bellwood 2004, pp. 74, 118.
  73. Subbaraman, Nidhi (2012-12-12). "Art of cheese-making is 7,500 years old". Nature News. doi:10.1038/nature.2012.12020. S2CID 180646880. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-08. สืบค้นเมื่อ 2020-01-17.
  74. Bellwood 2004, pp. 68–72.
  75. Consortium, the Genographic; Cooper, Alan (2010-11-09). "Ancient DNA from European Early Neolithic Farmers Reveals Their Near Eastern Affinities". PLOS Biology (ภาษาอังกฤษ). 8 (11): e1000536. doi:10.1371/journal.pbio.1000536. ISSN 1545-7885. PMC 2976717. PMID 21085689.
  76. 76.0 76.1 76.2 76.3 Original text published under Creative Commons license CC BY 4.0: Shukurov, Anvar; Sarson, Graeme R.; Gangal, Kavita (2014). "The Near-Eastern Roots of the Neolithic in South Asia". PLOS ONE (ภาษาอังกฤษ). 9 (5): e95714. Bibcode:2014PLoSO...995714G. doi:10.1371/journal.pone.0095714. PMC 4012948. PMID 24806472. Material was copied from this source, which is available under a Creative Commons Attribution 4.0 International License เก็บถาวร 2017-10-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  77. Ammerman, AJ; Cavalli-Sforza, LL (1973). Renfrew, C (บ.ก.). A population model for the diffusion of early farming in Europe. The Explanation of Culture Change: Models in Prehistory. London: Duckworth. pp. 343–357.
  78. 78.0 78.1 78.2 78.3 78.4 78.5 78.6 Material was copied from this source, which is available under a Creative Commons Attribution 4.0 International License เก็บถาวร 2017-10-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Turbón, Daniel; Arroyo-Pardo, Eduardo (2014-06-05). "Ancient DNA Analysis of 8000 B.C. Near Eastern Farmers Supports an Early Neolithic Pioneer Maritime Colonization of Mainland Europe through Cyprus and the Aegean Islands". PLOS Genetics. 10 (6): e1004401. doi:10.1371/journal.pgen.1004401. ISSN 1553-7404. PMC 4046922. PMID 24901650.
  79. Coningham, Robin; Young, Ruth (2015). The Archaeology of South Asia: From the Indus to Asoka, c. 6500 BCE–200 CE. Cambridge University Press. p. 111. ISBN 978-1-316-41898-7.
  80. 80.0 80.1 80.2 80.3 80.4 80.5 80.6 80.7 Material was copied from this source, which is available under a Creative Commons Attribution 4.0 International License เก็บถาวร 2017-10-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Shukurov, Anvar; Sarson, Graeme R.; Gangal, Kavita (2014-05-07). "The Near-Eastern Roots of the Neolithic in South Asia". PLOS ONE (ภาษาอังกฤษ). 9 (5): e95714. Bibcode:2014PLoSO...995714G. doi:10.1371/journal.pone.0095714. ISSN 1932-6203. PMC 4012948. PMID 24806472.
  81. 81.0 81.1 81.2 81.3 81.4 81.5 He, Keyang; Lu, Houyuan; Zhang, Jianping; Wang, Can; Huan, Xiujia (2017-06-07). "Prehistoric evolution of the dualistic structure mixed rice and millet farming in China". The Holocene. 27 (12): 1885–1898. Bibcode:2017Holoc..27.1885H. doi:10.1177/0959683617708455. S2CID 133660098. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-20. สืบค้นเมื่อ 2019-01-23.
  82. 82.0 82.1 82.2 82.3 82.4 82.5 Bellwood, Peter (2011-12-09). "The Checkered Prehistory of Rice Movement Southwards as a Domesticated Cereal – from the Yangzi to the Equator" (PDF). Rice. 4 (3–4): 93–103. Bibcode:2011Rice....4...93B. doi:10.1007/s12284-011-9068-9. S2CID 44675525. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-24. สืบค้นเมื่อ 2019-01-23.
  83. 83.0 83.1 Fuller, D. Q. (2007). "Contrasting Patterns in Crop Domestication and Domestication Rates: Recent Archaeobotanical Insights from the Old World". Annals of Botany. 100 (5): 903–924. doi:10.1093/aob/mcm048. PMC 2759199. PMID 17495986.
  84. Siddiqi, Mohammad Rafiq (2001). Tylenchida: Parasites of Plants and Insects. CABI.
  85. Thacker, Christopher (1985). The history of gardens. Berkeley: University of California Press. p. 57. ISBN 978-0-520-05629-9.
  86. Webber, Herbert John (1967–1989). Chapter I. History and Development of the Citrus Industry เก็บถาวร 2016-05-23 ที่ Portuguese Web Archive in Origin of Citrus, Vol. 1. University of California
  87. Molina, J.; Sikora, M.; Garud, N.; Flowers, J. M.; Rubinstein, S.; Reynolds, A.; Huang, P.; Jackson, S.; Schaal, B. A.; Bustamante, C. D.; Boyko, A. R.; Purugganan, M. D. (2011). "Molecular evidence for a single evolutionary origin of domesticated rice". Proceedings of the National Academy of Sciences. 108 (20): 8351–83516. Bibcode:2011PNAS..108.8351M. doi:10.1073/pnas.1104686108. PMC 3101000. PMID 21536870.
  88. 88.0 88.1 Zhang, Jianping; Lu, Houyuan; Gu, Wanfa; Wu, Naiqin; Zhou, Kunshu; Hu, Yayi; Xin, Yingjun; Wang, Can; Kashkush, Khalil (2012-12-17). "Early Mixed Farming of Millet and Rice 7800 Years Ago in the Middle Yellow River Region, China". PLOS ONE. 7 (12): e52146. Bibcode:2012PLoSO...752146Z. doi:10.1371/journal.pone.0052146. PMC 3524165. PMID 23284907.
  89. Bayliss-Smith, Tim; Golson, Jack; Hughes, Philip (2017). "Phase 4: Major Disposal Channels, Slot-Like Ditches and Grid-Patterned Fields". ใน Golson, Jack; Denham, Tim; Hughes, Philip; Swadling, Pamela; Muke, John (บ.ก.). Ten Thousand Years of Cultivation at Kuk Swamp in the Highlands of Papua New Guinea. terra australis. Vol. 46. ANU Press. pp. 239–268. ISBN 978-1-76046-116-4.
  90. Mahdi, Waruno (1999). "The Dispersal of Austronesian boat forms in the Indian Ocean". ใน Blench, Roger; Spriggs, Matthew (บ.ก.). Archaeology and Language III: Artefacts languages, and texts. One World Archaeology. Vol. 34. Routledge. pp. 144–179. ISBN 978-0-415-10054-0.
  91. Blench, Roger (2010). "Evidence for the Austronesian Voyages in the Indian Ocean" (PDF). ใน Anderson, Atholl; Barrett, James H.; Boyle, Katherine V. (บ.ก.). The Global Origins and Development of Seafaring. McDonald Institute for Archaeological Research. pp. 239–248. ISBN 978-1-902937-52-6. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-28. สืบค้นเมื่อ 2019-01-23.
  92. Beaujard, Philippe (August 2011). "The first migrants to Madagascar and their introduction of plants: linguistic and ethnological evidence" (PDF). Azania: Archaeological Research in Africa. 46 (2): 169–189. doi:10.1080/0067270X.2011.580142. S2CID 55763047. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-21. สืบค้นเมื่อ 2019-07-11.
  93. Walter, Annie; Lebot, Vincent (2007). Gardens of Oceania. IRD Éditions-CIRAD. ISBN 978-1-86320-470-5.
  94. 94.0 94.1 94.2 94.3 94.4 Diamond, Jared (1997). Guns, Germs, and Steel. New York: Norton Press. ISBN 978-0-393-31755-8.
  95. Fage, J. D.; Clark, John Desmond; Oliver, Roland Anthony (1975-08-29). The Cambridge History of Africa. Cambridge University Press. ISBN 9780521215923 – โดยทาง Google Books.
  96. Smith, Philip E. L. (1976). "Stone-Age Man on the Nile". Scientific American. 235 (2): 30–41. doi:10.1038/scientificamerican0876-30. ISSN 0036-8733. With the benefit of hindsight we can now see that many Late Paleolithic peoples in the Old World were poised on the brink of plant cultivation and animal husbandry as an alternative to the hunter-gatherer's way of life
  97. Johannessen, S.; Hastorf, C. A. (บ.ก.). Corn and Culture in the Prehistoric New World. Westview Press.
  98. Barker, Graeme (2009). The Agricultural Revolution in Prehistory: Why Did Foragers Become Farmers?. Oxford University Press. p. 252. ISBN 978-0-19-955995-4. สืบค้นเมื่อ 2012-01-04.
  99. Fullagar, Richard; Field, Judith; Denham, Tim; Lentfer, Carol (2006). "Early and mid Holocene tool-use and processing of taro (Colocasia esculenta), yam (Dioscorea sp.) and other plants at Kuk Swamp in the highlands of Papua New Guinea". Journal of Archaeological Science. 33 (5): 595–614. doi:10.1016/j.jas.2005.07.020.
  100. Loy, Thomas H.; Spriggs, Matthew; Wickler, Stephen (1992). "Direct evidence for human use of plants 28,000 years ago: starch residues on stone artefacts from the northern Solomon Islands". Antiquity. 66 (253): 898–912. doi:10.1017/S0003598X00044811. ISSN 0003-598X.
  101. "The Development of Agriculture". Genographic Project (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-14. สืบค้นเมื่อ 2017-07-21.
  102. McGourty, Christine (2002-11-22). "Origin of dogs traced". BBC News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-02. สืบค้นเมื่อ 2006-11-29.
  103. Fleisch, Henri., Notes de Préhistoire Libanaise : 1) Ard es Saoude. 2) La Bekaa Nord. 3) Un polissoir en plein air. BSPF, vol. 63.
  104. Scott, James C. (2017). Against the grain: a deep history of the earliest states. New Haven London: Yale University Press. ISBN 978-0-300-18291-0. The world's population in 10 000 BC, according to a careful estimate was roughly 4 million. A full five thousand years later it has risen only to 5 million...One likely explanation for this apparent human progress in subsistance techniques together with a long period of demographic stagnation is that epidemologically this was perhaps the most lethal period in human history
  105. "What was the Neolithic Revolution?". National Geographic (ภาษาอังกฤษ). 2019-04-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-09. สืบค้นเมื่อ 2023-06-18.
  106. Sands, DC; Morris, CE; Dratz, EA; Pilgeram, A (2009). "Elevating optimal human nutrition to a central goal of plant breeding and production of plant-based foods". Plant Sci (Review). 177 (5): 377–389. Bibcode:2009PlnSc.177..377S. doi:10.1016/j.plantsci.2009.07.011. PMC 2866137. PMID 20467463.
  107. O'Keefe, JH; Cordain, L (2004). "Cardiovascular disease resulting from a diet and lifestyle at odds with our Paleolithic genome: how to become a 21st-century hunter-gatherer". Mayo Clin Proc (Review). 79 (1): 101–108. doi:10.4065/79.1.101. PMID 14708953.
  108. Shermer, Michael (2001). The Borderlands of Science. Oxford University Press. p. 250.
  109. Hermanussen, Michael; Poustka, Fritz (July–September 2003). "Stature of early Europeans". Hormones (Athens). 2 (3): 175–178. doi:10.1159/000079404. PMID 17003019. S2CID 85210429. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-02. สืบค้นเมื่อ 2014-06-12.
  110. Eagly, Alice H.; Wood, Wendy (June 1999). "The Origins of Sex Differences in Human Behavior: Evolved Dispositions Versus Social Roles". American Psychologist. 54 (6): 408–423. doi:10.1037/0003-066x.54.6.408. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2000-08-17.
  111. Diamond, Jared (May 1987). "The Worst Mistake in the History of the Human Race". Discover Magazine: 64–66. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-10. สืบค้นเมื่อ 2021-07-26.
  112. Peterson, V. Spike (2014-07-03). "Sex Matters". International Feminist Journal of Politics (ภาษาอังกฤษ). 16 (3): 389–409. doi:10.1080/14616742.2014.913384. ISSN 1461-6742. S2CID 147633811.
  113. Strang, Veronica (2014). ""Lording It over the Goddess: Water, Gender, and Human-Environmental Relations."". Journal of Feminist Studies in Religion. 30 (1): 85–109. doi:10.2979/jfemistudreli.30.1.85. JSTOR 10.2979/jfemistudreli.30.1.85. S2CID 143567275 – โดยทาง JSTOR.
  114. Parsons, Talcott (1944). ""The Theoretical Development of the Sociology of Religion: A Chapter in the History of Modern Social Science."". Journal of the History of Ideas. 5 (2): 176–190. doi:10.2307/2707383. JSTOR 2707383 – โดยทาง JSTOR.
  115. 115.0 115.1 Sherratt, A (1981). Hodder, Ian; Isaac, Glynn Llywelyn; Hammond, Norman (บ.ก.). Plough and pastoralism: aspects of the secondary products revolution. Pattern of the Past: Studies in honour of David Clarke. Cambridge: Cambridge University Press. p. 261–305. ISBN 978-0-521-22763-6.
  116. Furuse, Y.; Suzuki, A.; Oshitani, H. (2010). "Origin of measles virus: Divergence from rinderpest virus between the 11th and 12th centuries". Virology Journal. 7: 52. doi:10.1186/1743-422X-7-52. PMC 2838858. PMID 20202190.
  117. Key, Felix M.; Posth, Cosimo; Esquivel-Gomez, Luis R.; Hübler, Ron; Spyrou, Maria A.; Neumann, Gunnar U.; Furtwängler, Anja; Sabin, Susanna; Burri, Marta; Wissgott, Antje; Lankapalli, Aditya Kumar; Vågene, Åshild J.; Meyer, Matthias; Nagel, Sarah; Tukhbatova, Rezeda; Khokhlov, Aleksandr; Chizhevsky, Andrey; Hansen, Svend; Belinsky, Andrey B.; Kalmykov, Alexey; Kantorovich, Anatoly R.; Maslov, Vladimir E.; Stockhammer, Philipp W.; Vai, Stefania; Zavattaro, Monica; Riga, Alessandro; Caramelli, David; Skeates, Robin; Beckett, Jessica; Gradoli, Maria Giuseppina; Steuri, Noah; Hafner, Albert; Ramstein, Marianne; Siebke, Inga; Lösch, Sandra; Erdal, Yilmaz Selim; Alikhan, Nabil-Fareed; Zhou, Zhemin; Achtman, Mark; Bos, Kirsten; Reinhold, Sabine; Haak, Wolfgang; Kühnert, Denise; Herbig, Alexander; Krause, Johannes (March 2020). "Emergence of human-adapted Salmonella enterica is linked to the Neolithization process". Nature Ecology & Evolution (ภาษาอังกฤษ). 4 (3): 324–333. Bibcode:2020NatEE...4..324K. doi:10.1038/s41559-020-1106-9. ISSN 2397-334X. PMC 7186082. PMID 32094538.
  118. Halcrow, S. E.; Harris, N. J.; Tayles, N.; Ikehara-Quebral, R.; Pietrusewsky, M. (2013). "From the mouths of babes: Dental caries in infants and children and the intensification of agriculture in mainland Southeast Asia". American Journal of Physical Anthropology. 150 (3): 409–420. doi:10.1002/ajpa.22215. PMID 23359102.
  119. Semino, O; และคณะ (2004). "Origin, Diffusion, and Differentiation of Y-Chromosome Haplogroups E and J: Inferences on the Neolithization of Europe and Later Migratory Events in the Mediterranean Area". American Journal of Human Genetics. 74 (5): 1023–1034. doi:10.1086/386295. PMC 1181965. PMID 15069642.
  120. Lancaster, Andrew (2009). "Y Haplogroups, Archaeological Cultures and Language Families: a Review of the Multidisciplinary Comparisons using the case of E-M35" (PDF). Journal of Genetic Genealogy. 5 (1). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-05-06. สืบค้นเมื่อ 2009-08-25.
  121. "When the First Farmers Arrived in Europe, Inequality Evolved". Scientific American. 2020-07-01. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-25. สืบค้นเมื่อ 2022-10-28.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • Bailey, Douglass. (2001). Balkan Prehistory: Exclusions, Incorporation and Identity. Routledge Publishers. .
  • Bailey, Douglass. (2005). Prehistoric Figurines: Representation and Corporeality in the Neolithic. Routledge Publishers. .
  • Balter, Michael (2005). The Goddess and the Bull: Catalhoyuk, An Archaeological Journey to the Dawn of Civilization. New York: Free Press. .
  • Bellwood, Peter (2004). First Farmers: The Origins of Agricultural Societies. Blackwell. ISBN 0-631-20566-7.
  • Bocquet-Appel, Jean-Pierre, editor and Ofer Bar-Yosef, editor, The Neolithic Demographic Transition and its Consequences, Springer (21 October 2008), hardcover, 544 pages, , trade paperback and Kindle editions are also available.
  • Cohen, Mark Nathan (1977)The Food Crisis in Prehistory: Overpopulation and the Origins of Agriculture. New Haven and London: Yale University Press. .
  • Diamond, Jared (2002). "Evolution, Consequences and Future of Plant and Animal Domestication". Nature, Vol 418.
  • Harlan, Jack R. (1992). Crops & Man: Views on Agricultural Origins ASA, CSA, Madison, WI. Hort 306 - READING 3-1
  • Taiz, Lincoln. "Agriculture, plant physiology, and human population growth: past, present, and future." Theoretical and Experimental Plant Physiology 25 (2013): 167-181.
  • Wright, Gary A. (1971). "Origins of Food Production in Southwestern Asia: A Survey of Ideas" Current Anthropology, Vol. 12, No. 4/5 (Oct.–Dec. 1971), pp. 447–477 * Kuijt, Ian; Finlayson, Bill. (2009). "Evidence for food storage and predomestication granaries 11,000 years ago in the Jordan Valley". PNAS, Vol. 106, No. 27, pp. 10966–10970.