ข้ามไปเนื้อหา

กฤษฎีการะดมทหารอาสาสมัคร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กฤษฎีการะดมทหารอาสาสมัคร (อังกฤษ: Militia Ordinance) เป็นบทบัญญัติที่ได้รับอนุมัติจากรัฐสภายาวของอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1642 ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองอังกฤษ ระหว่างฝ่ายกษัตริย์นิยมและฝ่ายรัฐสภา ก่อนหน้านั้นพระมหากษัตริย์ทรงมีเอกสิทธิ์ในการแต่งตั้ง “ลอร์ดเลฟเทนแนนท์” (Lord Lieutenant) ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการเกณฑ์และดูแลทหารอาสาสมัครหรือที่เรียกกันว่า “trained bands” ทหารอาสาสมัครเหล่านี้เป็นทหารราบกลุ่มเดียวที่มีไว้ในยามสงบเพราะอังกฤษขณะนั้นไม่มีทหารประจำการ เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์และรัฐสภาเลวลง การควบคุมกองทหารอาสาสมัครเหล่านี้จึงกลายมาเป็นข้อขัดแย้ง หลังจากที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงพยายามจับกุมสมาชิกสภาสามัญในเดือนมกราคม ค.ศ. 1642 รัฐสภาก็ไม่ไว้วางใจพระองค์และพยายามยับยั้งการควบคุมกองทหารเพราะอาจจะทรงใช้ในการต่อต้านรัฐสภาเอง เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1642 ฝ่ายต่อต้านพระมหากษัตริย์ที่เป็นเสียงข้างมากในสภาขุนนางก็ผ่านกฤษฎีกาแต่งตั้ง “เลฟเทนแนนท์” ของรัฐสภาแม้ว่าฝ่ายกษัตริย์นิยมจะประท้วง (“บันทึกของสภาขุนนาง”, 5 มีนาคม ค.ศ. 1642) สภาสามัญชน อนุมัติกฤษฎีกาในวันเดียวกัน (“บันทึกของสภาสามัญชน”, 5 มีนาคม ค.ศ. 1642) แต่ตามประเพณีอังกฤษกฤษฎีกาไม่สามารถบังคับใช้เป็นกฎหมายได้จนกว่าจะไดรับพระบรมราชานุมัติ (Royal assent) พระเจ้าชาร์ลส์ไม่ทรงยอมอนุมัติกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1642 รัฐสภาก็ประกาศว่า “ประชาชนทั้งหลายต้องปฏิบัติตามกฤษฎีการะดมทหารอาสาสมัครแม้ว่ากฤษฎีกาจะยังไม่ได้รับพระบรมราชานุมัติ” (“บันทึกของสภาขุนนาง”, 15 มีนาคม ค.ศ. 1642) นี่เป็นครั้งแรกที่รัฐสภาบังคับใช้กฎหมายโดยมิได้รับพระบรมราชานุมัติ ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นการประกาศอำนาจของรัฐสภาและทำให้การสงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

“กฤษฎีการะดมทหารอาสาสมัคร” และ “พระราชกฤษฎีการะดมไพร่พล” ของพระเจ้าชาร์ลส์เป็นกฎหมายที่เป็นการพิสูจน์ความจงรักภักดีแต่มีผลในการใช้เพียงไม่มากเท่าใดนักในการรวบรวมกองทัพ กำลังทหารส่วนใหญ่ของกองทัพของฝ่ายรัฐสภาภายใต้การบังคับบัญชาของโรเบิร์ต เดเวอโรซ์ เอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์ที่ 3 มาจากกองทหารที่เกณฑ์มาจากอาสาสมัครระหว่างหน้าร้อนปี ค.ศ. 1642 ทหารท้องถิ่นมักจะเป็นฝักฝ่ายในความจงรักภักดีและมักจะไม่ยอมไปสู้รบไกลจากท้องถิ่นที่อยู่ นอกไปจากกองทหารอาสาสมัครลอนดอนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการทหารอาสาสมัครลอนดอนภายใต้กฤษฎีการะดมทหารอาสาสมัคร

ลอนดอนขณะนั้นเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดและมีกองทหารอาสาสมัครที่ได้รับการฝึกเป็นอย่างดี กองทหารอาสาสมัครจากลอนดอนเดินทางไปสมทบกับกองทหารของเอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์ที่เทอแนมกรีน (Battle of Turnham Green) ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1642 เพื่อขวางกองทหารของฝ่ายกษัตริย์นิยมที่พยายามเดินทัพมายังกรุงลอนดอน ต่อมากองทหารจากลอนดอนก็ใช้ในการสนับสนุนกองทหารของเอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์และเซอร์วิลเลียม วอลเลอร์ และกองทหารที่ฝึกที่จากเอสเซ็กซ์มีส่วนในการล้อมเมืองเรดดิงในบาร์คเชอร์ ในปี ค.ศ. 1643 รัฐสภายาว ยังคงบังคับใช้กฤษฎีการะดมทหารอาสาสมัครโดยมิได้รับพระบรมราชานุมัติตลอดคริสต์ทศวรรษ 1640 แต่กฤษฎีกามาถูกยกเลิกในสมัยฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ แต่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ยังคงเรียกเก็บอากรที่เดิมกฤษฎีกาของรัฐสภาที่เริ่มบังคับใช้ในปี ค.ศ. 1643 ต่อมา (Wheeler, 1999:148)

อ้างอิง

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]