เกรตแบร์ริเออร์รีฟ
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
เกรตแบร์ริเออร์รีฟ * | |
---|---|
แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก | |
เกรตแบร์ริเออร์รีฟเมื่อมองจากอากาศ | |
พิกัด | 19°15′25.2″S 148°33′50.8″E / 19.257000°S 148.564111°E |
ประเทศ | ออสเตรเลีย |
ภูมิภาค ** | เอเชียและแปซิฟิก |
ประเภท | มรดกทางธรรมชาติ |
เกณฑ์พิจารณา | (vii), (viii), (ix), (x) |
อ้างอิง | 154 |
ประวัติการขึ้นทะเบียน | |
ขึ้นทะเบียน | 2524 (คณะกรรมการสมัยที่ 5) |
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก ** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก |
เกรตแบร์ริเออร์รีฟ (อังกฤษ: Great Barrier Reef) เป็นพืดหินปะการังที่ยาวที่สุดในโลก ยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย หรือตอนใต้ของทะเลคอรัล เริ่มตั้งแต่แหลมยอร์ก (Cape York) ซึ่งอยู่ไกลขึ้นไปทางเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ ลงมาถึงบันดะเบิร์ก (Bundaberk) ทางตอนใต้ ครอบคลุมดูแลพื้นที่ 215,000 ตารางไมล์ หรือ 345,000 ตารางกิโลเมตร ของน่านน้ำรอบ ๆ แนวปะการัง และแนวปะการังใหญ่แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ แนวปะการังเหนือ (Northern Reef) หมู่เกาะวิตซันเดย์ (Whitsunday Island) และแนวปะการังใต้ (Southern Reef) [1]
แนวปะการังมีสิ่งชีวิตมากมาย ทั้งปะการังชนิดอ่อนและชนิดแข็งกว่า 350 ชนิด ตลอดจนปลาและสิ่งมีชีวิตในทะเลอีก 1,500 ชนิด
เหตุผลที่ได้รับคัดเลือกเป็นแหล่งมรดกโลก
[แก้]- (vii) - เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของการเป็นตัวแทนในวิวัฒนาการสำคัญต่าง ๆ ในอดีตของโลก เช่น ยุคสัตว์เลื้อยคลาน ยุคน้ำแข็ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาความหลากหลายทางธรรมชาติบนพื้นโลก
- (viii) - เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในการเป็นตัวแทนของขบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางธรณีวิทยาหรือวิวัฒนาการทางชีววิทยา และปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่กำลังเกิดอยู่ เช่น ภูเขาไฟ เกษตรกรรมขั้นบันได
- (ix) - เป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์หายากหรือสวยงามเป็นพิเศษ เช่น แม่น้ำ น้ำตก ภูเขา
- (x) - เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ��ึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความหนาแน่นของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย
ธรณีวิทยาและภูมิศาสตร์
[แก้]เกรตแบร์ริเออร์รีฟแสดงลักษณะเป็นแนวคล้ายทิวเขายาวอย่างชัดเจนทางภาคตะวันออกของประเทศออสเตรเลียและรวมเกาะขนาดเล็กที่ชื่อเมอร์รีย์ด้วย ประเทศออสเตรเลียเริ่มมีการเคลื่อนตัวขึ้นไปทางด้านทิศเหนือตั้งแต่มหายุคซีโนโซอิก ในอัตรา 7 เซนติเมตรต่อปี ทางภาคตะวันออกของประเทศออสเตรเลียนั้นเคยเกิดการยกตัวขึ้นในช่วงที่มีปรากฏการณ์ธรณีแปรสัณฐานซึ่งทำให้เกิดการเลื่อนตัวของสันปันน้ำในรัฐควีนส์แลนด์เข้าไปในแผ่นดิน 400 กิโลเมตรและในระหว่างช่วงเวลานี้ ได้เกิดการระเบิดของภูเขาไฟใจกลางของรัฐควีนส์แลนด์ ทำให้บางส่วนของหินแกรนิตที่โผล่ให้เราเห็นนั้น ปัจจุบันได้กลายเป็นเกาะสูงหลายแห่ง หลังจากที่มีการก่อตัวขึ้นของแอ่งสะสมพวกปะการังทะเล แนวหินปะการังก็ได้เริ่มเจริญขึ้นในแอ่งนี้ จนเมื่อ 25 ล้านปีก่อนทางตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ น้ำมีอุณหภูมิที่เย็นเกินไปไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหินปะการัง ดังนั้นประวัติการพัฒนาการของเกรตแบร์ริเออร์รีฟจึงมีความซับซ้อน แต่หลังจากที่รัฐควีนส์แลนด์เคลื่อนตัวเข้าไปอยู่ในเขตร้อนชื้น การพัฒนาของเกรตแบร์ริเออร์รีฟก็ได้รับอิทธิพลจากการเจริญของแนวหินปะการัง จนมาถึงภาวะตกต่ำที่สุดของการเจริญเติบโตเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล ณ ตอนนี้แนวหินปะการังนี้สามารถเพิ่มเส้นผ่านศูนย์กลางได้ประมาณ 1 ถึง 3 เซนติเมตรต่อปี และเจริญเติบโตในแนวตั้งตรงได้ประมาณ 1 ถึง 25 เซนติเมตรต่อปี แต่อย่างไรก็ตามแนวหินปะการังก็สามารถเติบโตได้ในความลึกประมาณ 150 เมตร เนื่องจากหินปะการังนั้นต้องการแสงอาทิตย์และไม่สามารถเจริญเติบโตเหนือระดับน้ำทะเลได้
เมื่อส่วนขอบของรัฐควีนส์แลนด์เคลื่อนเข้าสู่เขตร้อนชื้นแล้ว น้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น หินปะการังเจริญเติบโตแต่ระบบการสะสมตัวของตะกอนมีการถูกกัดเซาะอย่างรวดเร็วตามแนวภูเขาหรือที่สูง ๆ ทำให้เกิดดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ, เลนพื้นท้องทะเล (ooze) และเทอร์บิไดต์ (turbidite) ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหินปะการัง และเมื่อ 10 ล้านปีก่อน ระดับน้ำทะเลลดลงอย่างฉับพลัน ทำให้สามารถมีการสะสมตัวของตะกอนด้วย บริเวณที่แนวหินปะการังขึ้น อาจสร้างจากพวกตะกอนที่ตกสะสมนี้เอง จนขอบเขตของแนวหินปะการังขยายออกไปไกล จนพวกตะกอนแขวนลอยนั้นไปตกสะสมตัวไม่ถึงจึงทำให้พวกหินปะการังหยุดการขยายตัวออกไปนั่นเอง นอกจากนี้เมื่อประมาณ 400,000 ปีก่อนมีช่วงระยะเวลาที่น้ำแข็งที่ปกคลุมโลกอยู่ละลายเพราะอากาศอุ่นขึ้นและทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นตามอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงไปประมาณ 4 องศาเซลเซียส
การเกิดของแผ่นดินที่เป็นฐานของแนวหินปะการัง เป็นที่ราบชายฝั่ง ก่อกำเนิดจากการกัดเซาะพวกตะกอนของแนวเทือกเขาเกรตดิไวดิงกับพวกเนินเขาขนาดใหญ่ ศูนย์วิจัยแนวหินปะการังได้พบหินปะการังที่คล้ายโครงกระดูกซึ่งหาอายุได้ประมาณ 500,000 ปี เจ้าหน้าที่ของอุทยานทางทะเลเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef Marine Park) คิดว่าหลักฐานที่สมบูรณ์ที่สุดชิ้นล่าใหม่นี้เป็นโครงสร้างของแนวหินปะการังซึ่งมีอายุประมาณ 600,000 ปี และปัจจุบันเชื่อว่าแนวหินปะการังที่ยังมีชีวิตอยู่เริ่มเกิดและเจริญเติบโตเมื่อประมาณ 20,000 ปีก่อน
เมื่อ 20,000–6,000 ปีก่อน ระดับน้ำทะเลขึ้นทำให้หินปะการังสามารถเจริญเติบโตในที่สูงกว่าเดิมได้ เช่น เนินเขาบนที่ราบใกล้ชายฝั่ง เนื่องจากเมื่อประมาณ 13,000 ปีก่อนระดับน้ำทะเลอยู่ที่ 60 เมตรเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าระดับน้ำทะเลในปัจจุบัน และเป็นเพราะเหตุการณ์ในอดีตทำให้แนวหินปะการังแห่งนี้เจริญเติบโตจนมีขนาดใหญ่มหาศาล เราจึงเรียกสิ่งมหัศจรรย์นี้ว่าเกรตแบร์ริเออร์รีฟ[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ เกรตแบร์ริเออร์รีฟ (แนวปะการังใหญ่) เก็บถาวร 2011-10-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน wonder7th.com (ไทย)
- ↑ What is the Great Barrier Reef? เก็บถาวร 2006-08-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)