ลิโป้
ลิโป้ (ลฺหวี่ ปู้) | |
---|---|
呂布 | |
ภาพวาดของลิโป้สมัยราชวงศ์ชิง | |
ขุ��พลขวา / ขุนพลสยบบูรพา (左將軍 / 平東將軍) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 197 – ค.ศ. 199 | |
กษัตริย์ | พระเจ้าเหี้ยนเต้ |
เฟิ่นเวยเจียงจวิน (奮威將軍) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 192 – ค.ศ. 197 | |
กษัตริย์ | พระเจ้าเหี้ยนเต้ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | อำเภอจิ่ว-ยฺเหวียน เมืองอู่-ยฺเหวียน (ปัจจุบันคือจิ่ว-ยฺเหวียน เมืองเปาโถว เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ประเทศจีน) |
เสียชีวิต | 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 199[a] อำเภอแห้ฝือ เมืองแห้ฝือ |
อาชีพ | ขุนศึก, ขุนพล |
ชื่อรอง | เฟิ่งเซียน (奉先) |
ฉายา | "ขุนพลบิน" (飛將) |
บรรดาศักดิ์ | เวินโหว (溫侯) |
ลิโป้ | |||||||||||||||||||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 呂布 | ||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อักษรจีนตัวย่อ | 吕布 | ||||||||||||||||||||||
|
ลิโป้ (เสียชีวิต 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 199)[a] หรือชื่อในภาษาจีนกลางว่า ลฺหวี่ ปู้ ( ; จีนตัวย่อ: 吕布; จีนตัวเต็ม: 呂布; พินอิน: Lǚ Bù; เวด-ไจลส์: Lü3 Pu4) มีชื่อรองว่า เฟิ่งเซียน (奉先) เป็นขุนพล ขุนนาง และขุนศึกที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เดิมเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของขุนศึกเต๊งหงวน ลิโป้ทรยศและสังหารเต๊งหงวนแล้วแปรพักตร์ไปเข้าด้วยตั๋งโต๊ะ ขุนศึกผู้กุมอำนาจราชสำนักส่วนกลางของราชวงศ์ฮั่นในช่วงต้นทศวรรษ 190 ในปี ค.ศ. 192 ลิโป้กลับทรยศและสังหารตั๋งโต๊ะหลังถูกยุยงโดยอ้องอุ้นและซุนซุย แต่ภายหลังพ่ายแพ้ให้กับผู้ติดตามของตั๋งโต๊ะและถูกขับไล่ออกไป
ระหว่างปี ค.ศ. 192 ถึงช่วงกลางปี ค.ศ. 195 ลิโป้เดินทางเร่ร่อนไปทั่วแผ่นดินจีนตอนกลางและตอนเหนือ ไปขอเข้าพึ่งพักพิงกับขุนศึกต่าง ๆ ได้แก่ อ้วนสุด, อ้วนเสี้ยว และเตียวเอี๋ยง ในปี ค.ศ. 194 ลิโป้เข้ายึดแคว้นกุนจิ๋วจากขุนศึกโจโฉด้วยความช่วยเหลือจากผู้แปรพักตร์จากฝ่ายโจโฉ แต่โจโฉยึดแดนดินคืนมาได้ภายในสองปี ในปี ค.ศ. 196 ลิโป้ทรยศเล่าปี่ที่ให้ที่พักพิงแก่ตนในแคว้นชีจิ๋วและเข้ายึดแคว้นชีจิ๋วจากเล่าปี่ ลิโป้ทำข้อตกลงเป็นพันธมิตรกับอ้วนสุด แต่ภายหลังก็ตัดสัมพันธ์กับอ้วนสุดหลังจากอ้วนสุดตั้งตนเป็นจักรพรรดิซึ่งถือเป็นกบฏต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้ ลิโป้เข้าร่วมกับโจโฉและคนอื่น ๆ เข้าโจมตีอ้วนสุด ทว่าในปี ค.ศ. 198 ลิโป้กลับร่วมเป็นพันธมิตรกับอ้วนสุดอีกครั้งแล้วถูกโจมตีโดยกองกำลังร่วมของโจโฉและเล่าปี่ ทำพ่ายแพ้ในยุทธการที่แห้ฝือ ลิโป้ถูกจับและถูกประหารโดยคำสั่งของโจโฉ
แม้ว่าบันทึกทางประวัติศาสตร์และนิยายจะบันทึกถึงลิโป้ในฐานะขุนศึกผู้เก่งกาจ แต่ลิโป้ก็ยังมีชื่อเสียงเรื่องพฤติกรรมที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ลิโป้มักจะเปลี่ยนนายด้วยเหตุผลที่ไม่ปกติและทรยศพันธมิตรได้ง่าย ๆ และยังมีบันทึกว่าลิโป้ขาดทักษะการวางแผนและการจัดการ ลิโป้มักจะหวาดระแวงคนอื่นและไม่สามารถควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาได้ ปัจจัยเหล่านี้ทั้งหมดนำไปสู่จุดจบของลิโป้ ในนิยายอิงประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 14 สามก๊ก รายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตของลิโป้ได้มีการเสริมเติมแต่ง และรายละเอียดที่แต่งเติมขึ้นบางอย่าง รวมถึงเรื่องความรักกับตัวละครเตียวเสียน ได้เสริมเข้าไปเพื่อสร้างภาพลิโป้ให้เป็นนักรบที่แทบจะไร้เทียมทาน และยังมีความโหดเหี้ยม หุนหันพลันแล่น และไร้คุณธรรม
แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชีวประวติของลิโป้
[แก้]ชีวประวัติอย่างเป็นทางการของลิโป้ปรากฏอยู่ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ 2 แหล่ง แหล่งแรกคือ จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ) เขียนโดยตันซิ่วในศตวรรษที่ 3
ในศตวรรษที่ 5 เผย์ ซงจือ แทรกเชิงอรรถประกอบจดหมายเหตุสามก๊กโดยให้ข้อมูลจากแหล่งอื่นนอกเหนือจากบันทึกที่ตันซิ่วเขียน รวมถึงเพิ่มข้อคิดเห็นของตนไปด้วย บันทึกบางฉบับที่ใช้ในเชิงอรรถของชีวประวัติลิโป้ ได้แก่ อิงสฺยงจี้ (พงศาวดารผู้กล้า) โดยอองซัน, เซี่ยนตี้ชุนชิว (พงศาวดารพระเจ้าเหี้ยนเต้) โดย ยฺเหวียน เหว่ย, เว่ย์ชื่อชุนชิว (พงศาวดารตระกูลวุย) โดย ซุน เซิ่ง, เฉาหมานจฺว้าน (ชีวประมาณเฉาหมาน) โดยนักเขียนไม่ทราบชื่อ
ชีวประวัติอย่างเป็นทางการของลิโป้แหล่งที่สองอยู่ใน พงศารดารฮั่นยุคหลัง (โฮ่วฮั่นชู) ซึ่งรวบรวมโดยฟั่น เย่ในศตวรรษที่ 5
ลักษณะภายนอก
[แก้]ไม่มีคำบรรยายลักษณะภายนอกของลิโป้ปรากฏในบันทึกทางประวัติศาสตร์ มีบันทึกเพียงว่าลิโป้เชี่ยวชาญการยิงเกาทัณฑ์และขี่ม้า และมีพลังกำลังมหาศาล มีฉายาว่า "ขุนพลบิน" (飛將 เฟยเจียง) จากความห้าวหาญในการรบ [ซานกั๋วจื้อ 1] ลิโป้ยังมีม้าทรงพลังที่มีชื่อเรียกว่า "เซ็กเธาว์" (ชื่อทู่; แปลว่า กระต่ายแดง)[ซานกั๋วจื้อ 2][โฮ่วฮั่นชู 1] ใน เฉาหมานจฺว้าน ได้บันทึกว่าในยุคนั้นมีคำกล่าวเกี่ยวกับลิโป้และม้าเซ็กเธาว์ว่า "ยอดคนคือลิโป้ ยอดม้าคือเซ็กเธาว์"[ซานกั๋วจื้อจู้ 1]
ในนิยายอิงประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 14 เรื่อง สามก๊ก ได้บรรยายลักษณะของลิโป้ไว้ว่า:
[...] รูปลักษณ์สูงส่งงามสง่า มีท่วงท่าน่าเกรงขาม ถือทวนกรีดนภา[b] [...] ผมรวบไปด้านหลังและสวมรัดเกล้าทองคำ สวมเสื้อคลุมออกรบลายดอกไม้ สวมชุดเกราะที่ประดับด้วยรูปของตัวหนี[c] สวมเข็มขัดล้ำค่าที่ประดับด้วยรูปของสิงโต[...][3]
รับใช้เต๊งหงวนและแปรพักตร์เข้าด้วยตั๋งโต๊ะ
[แก้]ลิโป้เป็นชาวอำเภอจิ่ว-ยฺเหวียน (九原縣 จิ่ว-ยฺเหวียนจฺวิ้น) เมืองอู่-ยฺเหวียน (五原郡 อู่-ยฺเหวียนจวิ้น) ซึ่งปัจจุบันอยู่บริเวณเมืองเปาโถว เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน มีชื่อเสียงในเรื่องการรบอย่างกล้าหาญในมณฑลเป๊งจิ๋ว (ปิ้งโจว) เมื่อเต๊งหงวน ข้าหลวง (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลเป๊งจิ๋ว ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการทหารม้า (騎都尉 ฉีตูเว่ย) โดยราชสำนักฮั่นและได้รับมอบหมายให้ไปประจำที่เมืองโห้ลาย (เหอเน่ย) เต๊งหงวนได้รับลิโป้เป็นนายทะเบียน (主簿 จู่ปู้) และปฏิบัติต่อลิโป้อย่างดี[ซานกั๋วจื้อ 3]
หลังการสวรรคตของพระเจ้าเลนเต้ในปี ค.ศ. 189 เต๊งหงวนนำทัพไปยังเมืองหลวงลกเอี๋ยง (ลั่วหยัง) เพื่อช่วยสนับสนุนขุนพลโฮจิ๋นในการกำจัดกลุ่มขันที โฮจิ๋นกลับถูกลอบสังหารโดยขันที หลังจากนั้นตั๋งโต๊ะจึงนำทัพเข้าเมืองลกเอี๋ยงและยึดเมืองหลวงไว้ ตั๋งโต๊ะต้องการกำจัดเต๊งหงวนและเข้าคุมกองกำลังของเต๊งหงวน จึงเกลี้ยกล่อมลิโป้ให้ทรยศเต๊งหงวนแล้วแปรพักตร์เข้าด้วยตน ลิโป้จึงสังหารเต๊งหงวนแล้วตัดศีรษะนำมามอบให้ตั๋งโต๊ะซึ่งเข้ากุมอำนาจเบ็ดเสร็จในราชสำนักฮั่นได้ในที่สุด ตั๋งโต๊ะแต่งตั้งลิโป้เป็นผู้บังคับการทหารม้า (騎都尉 ฉีตูเว่ย) และให้ความไว้วางใจเป็นอย่างมาก ตั๋งโต๊ะยังได้รับลิโป้เป็นบุตรบุญธรรม ภายหลังลิโป้ได้รับการเลื่อนตำนานจากผู้บังคับการทหารม้าเป็นขุนพลราชองครักษ์ (中郎將 จงหลังเจี้ยง) และได้รับบรรดาศักดิ์เป็นตูถิงโหว (都亭侯)[ซานกั๋วจื้อ 4]
รับใช้ตั๋งโต๊ะ
[แก้]ในปี ค.ศ. 190 แนวร่วมพันธมิตรขุนศึกนำโดยอ้วนเสี้ยวเริ่มการทัพต่อต้านตั๋งโต๊ะเพื่อโต้ตอบการปกครองแบบทรราชย์และการผูกขาดอำนาจในราชสำนักของตั๋งโต๊ะ ก่อนหน้านี้ในปีเดียวกันตั๋งโต๊ะได้ปลดหองจูเปียน (เล่าเปียน) จักรพรรดิที่ครองราชย์สืบต่อจากพระเจ้าเลนเต้ แล้วสถาปนาพระเจ้าเหี้ยนเต้ขึ้นแทนที่ ซึ่งกลายเป็นจักรพรรดิหุ่นเชิดภายใต้การควบคุมของตั๋งโต๊ะ ลิโป้ทำหน้าที่พิทักษ์ตั๋งโต๊ะและออกรบกับแนวร่วมพันธมิตร ในการศึกครั้งหนึ่งที่หยางเหริน (陽人; เชื่อว่าปัจจุบันคือบริเวณเทศบาลนครเวินเฉฺวียน เมืองหรู่โจว มณฑลเหอหนาน) ตั๋งโต๊ะมอบหมายให้ลิโป้และโฮจิ้นไปโจมตีซุนเกี๋ยน (หนึ่งในสมาชิกแนวร่วมพันธมิตร) แต่ลิโป้และโฮจิ้นต่างไม่ถูกกัน ส่งผลให้กองทัพเกิดความปั่นป่วน ซุนเกี๋ยนจึงใช้โอกาสนี้เข้าโจมตีและผลักดันจนล่าถอย[โฮ่วฮั่นชู 2][4] ภายในไม่กี่เดือน กองทัพแนวร่วมพันธมิตรได้ยกมาถึงเมืองหลวงลกเอี๋ยง ตั๋งโต๊ะยกทัพออกมาด้วยตนเองเข้ารบกับทัพหน้าของแนวร่วมพันธมิตรที่นำโดยซุนเกี๋ยนในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของสุสานหลวงของจักรพรรดิราชวงศ์ฮั่นในอดีต แต่ตั๋งโต๊ะถูกโจมตีแตกพ่ายและต้องล่าถอย ซุนเกี๋ยนจึงผ่านเข้าไปถึงประตูเซฺวียนหยัง (宣陽城門 เซฺวียนหยังเฉิงเหมิน) ของเมืองลกเอี๋ยง แล้วเข้าโจมตีลิโป้จนล่าถอย[โฮ่วฮั่นชู 3][5] ตั๋งโต๊ะตื่นกลัวจึงตัดสินใจทิ้งเมืองลกเอี๋ยงแล้วย้ายเมืองหลวงไปเมืองเตียงฮัน (ฉางอัน) ทางตะวันตก ตั๋งโต๊ะ ตั๋งโต๊ะส่งกองกำลังไปปล้นในเมืองลกเอี๋ยงและบังคับราษฎรให้ย้ายไปอยู่เมืองเตียงฮันเช่นกัน แล้วจึงเผาทำลายเมืองลกเอี๋ยง แนวร่วมพันธมิตรไม่ได้ไล่ตามตีตั๋งโต๊ะและในที่สุดก็สลายตัวไปเองในปีถัดไป
ตั๋งโต๊ะมักประพฤติหยาบคายต่อหน้าผู้อื่นจึงกลัวว่าอาจถูกลอบสังหาร ตั๋งโต๊ะจึงให้ลิโป้ติดตามอยู่ข้างกายในฐานะองครักษ์ ตั๋งโต๊ะมักอารมณ์เสียและรู้สึกหงุดหงิดได้ง่าย ครั้งหนึ่งอารมณ์ของตั๋งโต๊ะปะทุถึงกับขว้างทวนจี่สั้นใส่ลิโป้ ลิโป้ตอบสนองไวจึงหลบอาวุธได้ทัน อารมณ์โกรธของตั๋งโต๊ะก็บรรเทาลงหลังจากนั้น ลิโป้รู้สึกไม่เป็นสุขและน้อยใจตั๋งโต๊ะที่เป็นบิดาบุญธรรม เวลาเดียวกันนั้นลิโป้ได้รับมอบหมายให้พิทักษ์จวนที่พักส่วนกลางของตั๋งโต๊ะ และได้ลอบมีสัมพันธ์กับสาวใช้คนหนึ่งของตั๋งโต๊ะ ลิโป้กลัวว่าตั๋งโต๊ะจะรู้เข้าจึงรู้สึกไม่บายใจเป็นอย่างมาก[ซานกั๋วจื้อ 5]
ก่อนหน้านี้ลิโป้ได้รับการเชิญอย่างเป็นมิตรจากอ้องอุ้น เสนาบดีมหาดไทย (司徒 ซือถู) ลิโป้จึงไปพบอ้องอุ้นและพร่ำบ่นเรื่องที่ตั๋งโต๊ะเกือบฆ่าตน เวลานั้นอ้องอุ้นและขุนนางอีกคนชื่อซุนซุย (士孫瑞 ชื่อซุนรุ่ย) กำลังคิดการจะโค่นล้มตั๋งโต๊ะ จึงได้บอกลิโป้เกี่ยวกับแผนการของพวกตนและขอให้ลิโป้มาร่วมช่วยในแผนการ ลิโป้พูดว่า "แต่เราเป็นพ่อลูกกัน" อ้องอุ้นตอบว่า "ท่านมีแซ่ลิ (ลฺหวี่) จึงไม่ได้ร่วมสายเลือดกัน เขาไม่นึกถึงท่านเลยเมื่อท่านเกือบตาย ไหนล่ะคือสายสัมพันธ์ของพ่อลูก" ลิโป้จึงตกลงเข้าร่วมแผนการและกลายเป็นผู้สังหารตั๋งโต๊ะด้วยตนเองในภายหลัง หลังตั๋งโต๊ะเสียชีวิต อ้องอุ้นและลิโป้เข้าควบคุมราชสำนักส่วนกลาง ลิโป้ได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลเฟิ่นเวย์ (奮威將軍 เฟิ่ยเวย์เจียงจฺวิน) และได้รับเกียรติเทียบเท่ากับซันกง ตำแหน่งขุนนางชั้นเสนาบดีสูงสุดในระบบการบริหารราชการของราชวงศ์ฮั่น พระเจ้าเหี้ยนเต้ยังได้ตั้งให้ลิโป้มีบรรดาศักดิ์เป็นเวินโหว (溫侯)[ซานกั๋วจื้อ 6]
ถูกขับไล่จากเตียงฮัน
[แก้]หลังตั๋งโต๊ะเสียชีวิต ผู้ติดตามของตั๋งโต๊ะในมณฑลเลียงจิ๋ว (เหลียงโจว) นำโดยลิฉุย กุยกี และคนอื่น ๆ ร่วมทัพเข้าโจมตีเมืองเตียงฮัน ในขณะที่อ้องอุ้นปฏิเสธที่จะให้มีการนิรโทษกรรมพวกลิฉุยจากการกระทำภายใต้การบัญชาของตั๋งโต๊ะในอดีต[โฮ่วฮั่นชู 4] กุยกีนำทหารเข้าโจมตีประตูเมืองด้านเหนือแล้วพบกับลิโป้ กุยกีบอกว่าลิโป้ว่า "อย่าส่งทหารมารบกันเลย เรามารบกันตัวต่อตัวดีกว่า" จากนั้นลิโป้จึงเอาชนะกุยกีได้ในการรบตัวต่อตัวและทำให้กุยกีบาดเจ็บสาหัส ทหารของกุยกีมาช่วยชีวิตกุยกีไว้ได้ ทั้งสองฝ่ายต่างถอนกำลังถอยไป[ซานกั๋วจื้อจู้ 2] ลิโป้ไม่สามารถต้านทานข้าศึกไว้ได้ ท้ายที่สุดจึงทิ้งเมืองเตียงฮันหนีไป การพ่ายแพ้และหลบหนีของลิโป้เกิดขึ้นหลังตั๋งโต๊ะเสียชีวิตได้ 60 วัน[ซานกั๋วจื้อ 7]
เผย์ ซงจือให้ความเห็นว่า "60 วัน" ที่อ้างในจดหมายเหตุสามก๊กต้นฉบับเป็นการระบุที่คลาดเคลื่อน จากข้อมูลในหลักฐานอื่น ลิโป้สังหารตั๋งโต๊ะเมื่อวันที่ 23 เดือน 4 ของรัชศกชูผิงปีที่ 3 (ค.ศ. 190–193) ในรัชสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้ และลิโป้หนีจากเมืองเตียงฮันเมื่อวันที่ 1 เดือน 6 ลิโป้จึงอยู่ในเมืองเตียงฮันไม่ถึง 60 วันหลังการเสียชีวิตของตั๋งโต๊ะ[ซานกั๋วจื้อจู้ 3]
ขอพึ่งอ้วนสุด
[แก้]หลังจากหนีออกจากเมืองเตียงฮัน ลิโป้พร้อมด้วยทหารม้าที่ติดตามไม่กี่ร้อยนายกับศีรษะของตั๋งโต๊ะที่ผูกกับอานม้า ได้เดินทางผ่านด่านอู่กวันและไปเข้าร่วมด้วยอ้วนสุดที่เมืองลำหยง (หนันหยัง) จดหมายเหตุสามก๊กและ พงศาวดารฮั่นยุคหลัง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับท่าทีของอ้วนสุดต่อลิโป้ที่แตกต่างกัน จดหมายเหตุสามก๊กระบุว่าลิโป้คาดหวังการต้อนรับอย่างดีเพราะลิโป้คิดว่าตนมีบุญคุณกับอ้วนสุดที่ช่วยแก้แค้นโดยการสังหารตั๋ง��ต๊ะ แต่อ้วนสุดกลับเกลียดชังลิโป้เพราะนิสัยชอบทรยศของลิโป้จึงปฏิเสธที่จะรับลิโป้มาเข้าด้วย[ซานกั๋วจื้อ 8] พงศาวดารฮั่นยุคหลัง ระบุว่าอ้วนสุดปฏิบัติต่อลิโป้อย่างเอื้อเฟื้อ แต่ลิโป้กลับประพฤติตนเย่อหยิ่งจากการที่รู้สึกว่าตนควรได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่านี้เพราะเขาได้สร้างบุญคุณให้ตระกูลอ้วนในการสังหารตั๋งโต๊ะ ลิโป้ยังปล่อยให้ทหารของตนเข้าบุกรุกพื้นที่ อ้วนสุดกังวลว่าลิโป้ที่ท่าทีคุกคาม และลิโป้เองก็รู้สึกไม่สบายใจหลังได้ยินว่าอ้วนสุดไม่ไว้วางใจตน ลิโป้จึงตัดสินใจจากไป[โฮ่วฮั่นชู 5]
เข้าร่วมอ้วนเสี้ยวและเตียวเอี๋ยง
[แก้]หลังจากตีจากอ้วนสุด ลิโป้มุ่งหน้าขึ้นทางเหนือของจีนเพื่อไปเข้าร่วมกับอ้วนเสี้ยวที่เป็นญาติของอ้วนสุด ลิโป้ได้ช่วยอ้วนเสี้ยวในการโจมตีเตียวเอี๋ยนที่เมืองเสียงสัน (ฉางชาน) เตียวเอี๋ยนมีทหารเดินเท้าและทหารม้าฝีมือดีหลายพันนาย ลิโป้นำผู้ใต้บังคับบัญชาคือเซ้งเหลียม (成廉 เฉิง เหลียน) และเว่ย์ เยฺว่ (魏越) กับทหารม้าหลายสิบนายเข้าปล้นค่ายของเตียวเอี๋ยน สังหารข้าศึกไปหลายคนและไล่ต้อนที่ข้าศึกเหลือถอยไป ทำเช่นนี้วันละ 3-4 ครั้งต่อเนื่องเป็นเวลาสิบกว่าวัน ในที่สุดจึงสามารถปราบกองกำลังของเตียวเอี๋ยนได้[ซานกั๋วจื้อ 9][โฮ่วฮั่นชู 6]
ลิโป้แสดงท่าทางเย่อหยิ่งต่อหน้าอ้วนเสี้ยวเพราะลิโป้ถือว่าตนมีบุญคุณต่อตระกูลอ้วนจากการสังหารตั๋งโต๊ะ ลิโป้ดูถูกผู้ติดตามของอ้วนเสี้ยวและปฏิบัติอย่างเหยียดหยาม ครั้งหนึ่งลิโป้ร้องขอทหารเพิ่มเติมจากอ้วนเสี้ยวแต่อ้วนเสี้ยวปฏิเสธ ลิโป้จึงส่งคนไปปล้นในอาณาเขตของอ้วนเสี้ยว อ้วนเสี้ยวไม่พอใจเป็นอย่างมากและรู้สึกว่าลิโป้ทำตัวเป็นภัยคุกคามต่อตน ฝ่ายลิโป้ก็รู้ว่าอ้วนเสี้ยวไม่ไว้วางใจตนจึงต้องการจะจากภาคเหนือของจีนกลับไปยังลกเอี๋ยง อ้วนเสี้ยวแสร้งทำเป็นเห็นด้วยและแนะนำลิโป้รับตำแหน่งผู้บัญชาการมณฑลราชธานี (司隷校尉 ซือลี่เซี่ยวเว่ย์) ขณะเดียวก็วางแผนอย่างลับ ๆ ตั้งใจจะสังหารลิโป้[โฮ่วฮั่นชู 7][ซานกั๋วจื้อ 10]
ในวันที่ลิโป้ออกเดินทาง อ้วนเสี่ยวส่งทหารเกราะ 30 นายไปเป็นผู้คุ้มกัน ระหว่างการเดินทางลิโป้หยุดและพักผ่อนในกระโจม คืนนั้นทหารอ้วนเสี้ยวลอบเข้าไปในกระโจมและสังหารคนข้างในกระโจมที่เอาผ้าห่มคลุมตน จากนั้นทหารจึงกลับไปรายงานอ้วนเสี้ยวว่าลิโป้ตายแล้ว วันต่อมาอ้วนเสี้ยวได้รับข่าวว่าลิโป้ยังมีชีวิตอยู่ อ้วนเสี้ยวจึงสั่งให้เปิดประตูเมืองทันที ความจริงแล้วลิโป้แอบออกมาจากกระโจมในคืนก่อนหน้านี้โดยที่ทหารอ้วนเสี้ยวไม่รู้ และสั่งให้คนของตนคนหนึ่งให้ยังอยู่ในกระโจมเพื่อเป็นนกต่อ[ซานกั๋วจื้อ 11][ซานกั๋วจื้อจู้ 4]
ลิโป้หนีไปเมืองโห้ล้ายเพื่อไปเข้าพึ่งเตียวเอี๋ยง อ้วนเสี้ยวส่งคนมาไล่ตามลิโป้ แต่คนของอ้วนเสี้ยวกลัวลิโป้จึงไม่กล้าเข้าใกล้[ซานกั๋วจื้อ 12] ฝ่ายเตียวเอี๋ยงและผู้ใต้บังคับบัญชาได้รับสินบนจากลิฉุยและกุยกีให้สังหารลิโป้ เมื่อลิโป้ได้ยินเรื่องนั้นจึงพูดกับเตียวเอี๋ยงว่า "ข้าเป็นคนมณฑลเดียวกับท่าน หากท่านฆ่าข้า ท่านจะอ่อนแอลง แต่หากท่านรับเข้าเข้าร่วม ท่านก็จะได้รับเกียรติและตำแหน่งเฉกเช่นลิฉุยและกุยกี" เตียวเอี๋ยงแสร้งทำเป็นรับคำที่จะช่วยลิฉุยและกุยกีสังหารลิโป้ แต่ลอบมอบที่พักพิงให้ลิโป้แทน เมื่อลิฉุยและกุยกีรู้ว่าเตียวเอี๋ยงรับลิโป้เข้าร่วมก็วิตกกังวลจึงส่งราชโองการไปเมืองโห้ลายโดยพระปรมาภิไธยของพระเจ้าเหี้ยนเต้แต่งตั้งให้ลิโป้เป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉฺ่ว) ของเมืองเองฉวน (อิ่งชฺวาน)[ซานกั๋วจื้อจู้ 5]
บันทึกความเกี่ยวข้องของลิโป้กับเตียวเอี๋ยงในจดหมายเหตุสามก๊กมีความแตกต่างเล็กน้อยกับที่บันทึกในพงศาวดารฮั่นยุคหลัง ในจดหมายเหตุสามก๊กระบุว่าลิโป้เข้าร่วมกับอ้วนเสี้ยวหลังถูกอ้วนสุดปฏิเสธ จากนั้นจึงไปเข้าพึ่งเตียวเอี๋ยงหลังอ้วนเสี้ยวส่งมือสังหารว่าเพื่อจะฆ่าตน ส่วนในพงศาวดารฮั่นยุคหลังระบุว่าลิโป้เข้าร่วมกับเตียวเอี๋ยงหลังจากที่จากอ้วนสุดไป และโน้มน้าวเตียวเอี๋ยงให้เพิกเฉยต่อคำขอของลิฉุยและกุยกีให้สังหารตน และให้ที่พักพิงให้ตนแทน ภายหลังลิโป้ไดจากเตียวเอี๋ยงมาเข้าด้วยอ้วนเสี้ยว แต่เดินทางกลับมาเข้าด้วยเตียวเอี๋ยงอีกครั้งหลังรอดชีวิตจากการถูกลอบสังหารมาได้ ระหว่างทางไปเมืองโห้ลาย ลิโป้ผ่านมาทางเมืองตันลิว (陳留 เฉินหลิว; ปัจจุบันอยู่บริเวณเมืองไคเฟิง มณฑลเหอหนาน) เตียวเมาเจ้าเมืองตันลิวให้การต้อนรับลิโป้อย่างดี เตียวเมาให้คำมั่นเป็นมิตรกับลิโป้เมื่อลิโป้จะออกจากเมืองตันลิว[โฮ่วฮั่นชู 8]
ยุทธการที่กุนจิ๋ว
[แก้]อ้วนเสี้ยวโกรธเมื่อได้ยินว่าเตียวเมาซึ่งตนขัดแย้งด้วยกลายเป็นมิตรของลิโป้ เวลานั้นอ้วนเสี้ยวยังเป็นพันธมิตรกับโจโฉ เตียวเมาจึงกลัวว่าโจโฉจะร่วมมือกับอ้วนเสี้ยวโจมตีตน นอกจากนี้เมืองตันลิวที่เป็นเขตอิทธิพลของเตียวเมายังอยู่ในมณฑลกุนจิ๋วซึ่งอยู่ใต้การควบคุมของโจโฉ[ซานกั๋วจื้อ 13]
ในปี ค.ศ. 194 โจโฉออกจากมณฑลกุนจิ๋วไปโจมตีมณฑลชีจิ๋ว น้องชายของเตียวเมาชื่อเตียวเถียว (張超 จาง เชา) พร้อมด้วยผู้ใต้บังคับบัญชาของโจโฉ ได้แก่ ตันก๋ง, เค้ากี๋ (許汜 สฺวี่ ซื่อ) และอ๋องก้าย (王楷 หวัง ไข่) เริ่มต้นก่อกบฏ ตันก๋งโน้มน้าวเตียวเมาให้ร่วมด้วยกับตนในการเชิญลิโป้มามณฑลกุนจิ๋ว ด้วยความช่วยเหลือของผู้แปรพักตร์ ลิโป้จึงเข้ายึดอำเภอปักเอี้ยง (ผูหยัง) และตั้งตนเป็นเจ้ามณฑล (牧 มู่) ของมณฑลกุนจิ๋ว เมืองและอำเภอหลายแห่งในมณฑลกุนจิ๋วสนองตอบการเรียกของลิโป้และแปรพักตร์ไปเข้าด้วยลิโป้ ยกเว้นอำเภอเอียนเสีย (เจฺวี้ยนเฉิง), อำเภอตองไฮ (ตงเออ) และอำเภอฮวนกวน (ฟั่นเซี่ยน) ซึ่งยังอยู่ภายใต้การควบคุมของโจโฉ[ซานกั๋วจื้อ 14]
เมื่อโจโฉได้รับข่าวการก่อกบฏและการบุกรุกของลิโป้ โจโฉจึงทิ้งการศึกที่มณฑลชีจิ๋วและนำทัพกลับมายังมณฑลกุนจิ๋ว ทัพของลิโป้และโจโฉปะทะกันที่ปักเอี้ยง โจโฉไม่สามารถเอาชนะลิโป้ได้ ทั้งสองฝ่ายอยู่ในสภาวะคุมเชิงกันเป็นเวลามากกว่า 100 วัน เวลานั้นมณฑลกุนจิ๋วเกิดภาวะทุพภิกขภัยจากตั๊กแตนและฤดูแล้ง ผู้คนจึงทุกข์ทรมมานจากความอดอยาก หลายคนหันไปกินเนื้อมนุษย์เพื่อเอาชีวิตรอด ลิโป้ย้ายฐานกำลังจากปักเอี้ยงไปทางตะวันออกยังเมืองซันหยง (ซันหยัง) ภายในสองปี โจโฉสามารถยึดอาณาเขตของตนในมณฑลกุนจิ๋วคืนมาได้ทั้งหมด ภายหลังก็เอาชนะลิโป้ได้ในยุทธการที่อำเภอจฺวี้เหย่ ลิโป้หนีไปทางตะวันออกยังมณฑลชีจิ๋วและขอพึ่งพิงเล่าปี่[ซานกั๋วจื้อ 15]
ขุนศึกแห่งชีจิ๋ว
[แก้]ยึดชีจิ๋วจากเล่าปี่
[แก้]ลิโป้ปฏิบัติต่อเล่าปี่อย่างให้ความเคารพเมื่อแรกพบ ลิโป้กล่าวว่า "ท่านกับข้าต่างก็มาจากชายแดนทางเหนือ เมื่อข้าเห็นพันธมิตรกวันตงลุกขึ้นต่อต้านตั๋งโต๊ะ ข้าก็หวังจะช่วยพวกเขากำจัดตั๋งโต๊ะแล้ว แต่หลังข้าฆ่าตั๋งโต๊ะ ออกจากเตียงฮัน ไม่มีอดีตฝ่ายพันธมิตรคนใดเลยที่ต้องการจะรับข้า แถมยังพยายามจะฆ่าข้าด้วยซ้ำ" จากนั้นลิโป้จึงพาเล่าปี่มาที่กระโจมของตน บอกให้เล่าปี่นั่งบนเตียงภรรยาของตน และให้ภรรยาคำนับเล่าปี่ จากนั้นจึงจัดงานเลี้ยงให้เล่าปี่และเรียกเล่าปี่ว่าเป็น "น้องชาย" ของตน เล่าปี่รู้ว่าลิโป้เป็นคนคาดเดาไม่ได้และไม่น่าไว้วางใจ แต่เล่าปี่ก็ยังนิ่งและแสร้งทำเป็นมิตรกับลิโป้[ซานกั๋วจื้อจู้ 6]
เมื่อเล่าปี่ปกครองมณฑลชีจิ๋ว ได้ประจำการอยู่ที่แห้ฝือ (เซี่ยพี) อันเป็นเมืองเอกของมณฑลและมีเขตแดนที่ติดต่อกับเขตอิทธิพลของอ้วนสุดในพื้นที่รอบแม่น้ำไหฺวเหอ เมื่ออ้วนสุดรู้ว่าลิโป้อยู่ในมณฑลชีจิ๋ว อ้วนสุดต้องการจะยุยงให้ลิโป้มาช่วยตนจัดการกับเล่าปี่ จึงเขียนหนังสือถึงลิโป้ว่า "ในอดีต ตั๋งโต๊ะผูกขาดอำนาจรัฐ คุกคามราชวงศ์ และสังหารครอบครัวของข้า ข้าเข้าร่วมการทัพปราบตั๋งโต๊ะแต่ไม่อาจสังหารตั๋งโต๊ะได้ ท่านสังหารตั๋งโต๊ะและส่งศีรษะมาให้ข้า ด้วยการทำเช่นนี้ท่านจึงช่วยข้าล้างแค้นและกอบกู้เกียรติของข้า นี่คือความชอบครั้งแรกที่ท่านทำให้ข้า เมื่อจิน ยฺเหวียนซิว (金元休) เดินทางไปรับตำแหน่งที่มณฑลกุนจิ๋ว โจโฉยกไปปราบและเกือบกวาดล้างจนสิ้น ภายหลังท่านโจมตีโจโฉที่กุนจิ๋วและช่วยฟื้นฟูเกียรติให้ข้า นี่เป็นความชอบครั้งที่สองที่ท่านทำให้ข้า ตลอดชีวิตของข้า ข้าไม่เคยได้ยินถึงการมีตัวตนของเล่าปี่ แต่ตัวเล่าปี่ก็เริ่มทำศึกกับข้า ท่านสามารถปราบเล่าปี่ได้ด้วยความองอาจเข้มแข็งของท่าน และนี่จะเป็นความชอบครั้งที่สามที่ท่านทำให้ข้า ด้วยความชอบสามครั้งที่ท่านทำให้ข้า ข้ายินดีมอบหมายเรื่องความเป็นความตายแก่ท่าน แม้ว่าข้าจะไม่มีค่าเพียงพอ ท่านทำศึกเป็นเวลานานและขาดแคลนเสบียงอาหาร ข้าจึงขอส่งข้าวให้ท่านยี่สิบหมื่นหู (斛) และเปิดประตูต้อนรับท่าน ถ้ายังไม่เพียงพอ ข้าจะจัดหาเสบียงให้ท่านอย่างต่อเนื่อง หากท่านต้องการอาวุธยุทโธปกรณ์ก็ร้องขอมาได้" ลิโป้ยินดีมากและตกลงจะช่วยอ้วนสุดโจมตีแห้ฝือ[ซานกั๋วจื้อจู้ 7] ข้อความในหนังสือของอ้วนสุดที่มีบันทึกในพงศาวดารฮั่นยุคหลังมีความแตกต่างเล็กน้อยและมีเนื้อความสั้นกว่าเมื่อเทียบกับในจดหมายเหตุสามก๊ก[โฮ่วฮั่นชู 9]
ลิโป้นำทัพไปตั้งอยู่ห่างจากเมืองแห้ฝือไปทางตะวันตก 40 ลี้ สฺวี่ ตัน (許耽) ชาวเมืองตันเอี๋ยง (丹楊 ตันหยัง) ผู้มีตำแหน่งขุนพลองครักษ์ (中郎將 จงหลังเจี้ยง) ในการบังคับบัญชาของเล่าปี่ ได้ส่งจาง ขวัง (章誑) ไปพบลิโป้ในตอนกลางคืน จาง ขวังแจ้งลิโป้ว่า "เตียวเอ๊กเต๊ก (เตียวหุย) วิวาทกับโจป้าและฆ่าโจป้าตาย บัดนี้ในเมืองกำลังโกลาหล มีทหารหนึ่งพันนายจากตันเอี๋ยงประจำอยู่ที่ประตูขาวทางตะวันตก เมื่อทหารได้ยินว่าท่านมาถึงก็กระโดดโลดเต้นอย่างดีใจเหมือนได้ฟื้นคืนชีพ ทหารตันเอี๋ยงจะเปิดประตูตะวันตกต้อนรับท่านเมื่อท่านมาถึงที่นั่น" ลิโป้ระดมกำลังทหารในคืนนั้นและเดินทางไปถึงแห้ฝือตอนรุ่งสาง ทหารจากตันเอี๋ยงได้เปิดประตูตะวันตกให้ลิโป้ ลิโป้ไปนั่งบนแท่นชมทิวทัศน์เหนือประตูแล้วสั่งให้ทหารจุดไฟขึ้นในเมือง ทหารลิโป้เอาชนะเตียวหุยและทหารในการรบและจับตัวครอบครัวของเล่าปี่และครอบครัวของผู้ใต้บังคับบัญชาของเล่าปี่ รวมถึงยึดเสบียงของเล่าปี่ไว้[ซานกั๋วจื้อจู้ 8]
เวลานั้นเล่าปี่นำทหารยกไปต้านทัพอ้วนสุดที่กำลังรุกรานที่อำเภออุไถ (ซฺวีอี๋) และอำเภอชัวหยิน (ไหฺวอิน) ในช่วงที่ลิโป้โจมตีและยึดเมืองแห้ฝือจากเล่าปี่ เล่าปี่ยังพ่ายแพ้แก่อ้วนสุดและถอยทัพไปยังอำเภอไห่ซี (海西; ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเจียงซู) แล้วตกอยู่ในสภาวะหิวโหยและสิ้นหวัง เล่าปี่จึงยอมสวามิภักดิ์ต่อลิโป้ เหตุการณ์นี้อยู่ในราวต้นปี ค.ศ. 196[ซานกั๋วจื้อ 16] ลิโป้ไม่พอใจที่เสบียงที่อ้วนสุดสัญญาว่าจะให้ยังมาไม่ถึง จึงนำทหารมาต้อนรับเล่าปี่และตั้งเล่าปี่ให้เป็นข้าหลวง (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลอิจิ๋ว (อฺวี้โจว) และมอบหมายให้ไปประจำที่อำเภอเสียวพ่าย (เสี่ยวเพ่ย์) ส่วนลิโป้ได้ตั้งตนเป็นเจ้ามณฑลของมณฑลชีจิ๋ว[d][ซานกั๋วจื้อ 17] และยังอยู่ที่เมืองแห้ฝือ[โฮ่วฮั่นชู 10]
การก่อกบฏของหลันเป้ง
[แก้]ในเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม ค.ศ. 196 ผู้ใต้บังคับบัญชาของลิโป้ชื่อหลันเป้งก่อกบฏต่อลิโป้และโจมตีที่ว่าการของลิโป้ในแห้ฝือ โกซุ่นขุนพลของลิโป้เข้าปราบปรามกบฏโดยมีความช่วยเหลือจากโจเสงผู้ใต้บังคับบัญชาของหลันเป้งที่ปฏิเสธที่จะทรยศลิโป้ ในที่สุดจึงสังหารหลันเป้งได้[e] ต่อมาในปีเดียวกัน ลิโป้ใช้ทักษะการยิงเกาทัณฑ์ป้องปรามการเกิดศึกระหว่างเล่าปี่และกิเหลงขุนพลของอ้วนสุด ลิโป้ให้ปักทวนจี่ไว้ที่ประตูค่ายและเสนอว่า "ท่านทั้งหลาย จงดูข้ายิงเกาทัณฑ์ถูกส่วนล่างของคมโค้งรูปจันทร์เสี้ยวของทวนจี่ ถ้าข้ายิงถูกในครั้งเดียว พวกท่านต้องถอยทัพกลับไป หากข้ายิงไม่ถูก พวกท่านก็อยู่ต่อและเตรียมรบกันได้" จากนั้นลิโป้จึงน้าวเกาทัณฑ์แล้วยิงออกไปถูกส่วนล่างของคมโค้งรูปจันทร์เสี้ยว ทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างตกตะลึงและกล่าวว่า "ท่านขุนพลมีพลังแห่งฟ้า" วันถัดมาต่างฝ่ายต่างยกทัพแยกย้ายกลับไป[6][ซานกั๋วจื้อ 18][โฮ่วฮั่นชู 11]
เป็นพันธมิตรกับโจโฉต่อต้านอ้วนสุด
[แก้]ต้นปี ค.ศ. 197 อ้วนสุดตั้งตนเป็นจักรพรรดิที่ฉิวฉุน (โช่วชุน) อันเป็นศูนย์กลางอำนาจของอาณาเขตในการปกครองของอ้วนสุด และสถาปนาราชวงศ์ต๋องซือ (仲 จ้ง)[7] ถือเป็นการกระทำที่เป็นกบฏต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้แห่งราชวงศ์ฮั่น อ้วนสุดจึงตกเป็นเป้าการโจมตีของโจโฉ[f] และขุนศึกคนอื่น ๆ ที่ได้รับราชโองการจากราชสำนักราชวงศ์ฮั่นให้กำจัดผู้อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์
ก่อนหน้านี้ อ้วนสุดต้องการผูกพันธมิตรกับลิโป้จึงเสนอการแต่งงานระหว่างบุตรชายของตนกับบุตรสาวของลิโป้ ตอนแรกลิโป้ตอบตกลง หลังจากอ้วนสุดตั้งตนเป็นจักรพรรดิได้ส่งผู้ใต้บังคับบัญชาชื่อหันอิ้น (韓胤 หัน อิ้น) ไปพบลิโป้และคุ้มกันบุตรสาวของลิโป้กลับไปยังอาณาเขตของอ้วนสุดเพื่อเข้าพิธีแต่งงาน แต่ลิโป้กลับเปลี่ยนใจหลังตันกุ๋ยโน้มน้าวลิโป้ไม่ให้ส่งตัวบุตรสาวและลิโป้ก็นึกขึ้นได้ถึงเรื่องที่อ้วนสุดเคยปฏิเสธตนเมื่อไปขอพึ่งพิงเป็นครั้งแรก ลิโป้จึงส่งคนไล่ตามขบวนคุ้มกันของหันอิ้นที่กำลังกลับไปฉิวฉุนและชิงตัวบุตรสาวกลับมา ลิโป้ยังให้จับตัวหันอิ้นแล้วส่งตัวไปในฐานะนักโทษยังฮูโต๋ที่ซึ่งหันอิ้นถูกประหารชีวิต[ซานกั๋วจื้อ 19]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ทำศึกกับอ้วนสุด
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ขัดแย้งกับจงป้า
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ยุทธการที่แห้ฝือ
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
พ่ายแพ้และเสียชีวิต
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ข้อวิจารณ์
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ครอบครัว
[แก้]ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวของลิโป้มากนัก ทราบเพียงว่าลิโป้มีภรรยาและบุตรสาวที่ไม่มีชื่อบันทึกในประวัติศาสร์ ลิโป้ทิ้งภรรยาไว้เมื่อหนีออกจากเมืองเตียงฮัน แต่บังสี (龐舒 ผัง ชู) เข้าไปช่วยปกป้องคุ้มครองภรรยาของลิโป้ไว้ และส่งคืนให้ลิโป้ในภายหลัง ภรรยาของลิโป้มีบทบาทโดดเด่นในช่วงยุทธการที่แห้ฝือ เมื่อนางเตือนลิโป้ไม่ให้เชื่อใจตันก๋งมากเกินไป ตอนแรกลิโป้จัดการตบแต่งจะให้บุตรสาวไปแต่งงานกับบุตรชายของอ้วนสุดเพื่อเชื่อมความเป็นพันธมิตรระหว่างลิโป้และอ้วนสุด แต่ลิโป้กลับคำและชิงบุตรสาวกลับไประหว่างที่บุตรสาวเดินทางไปแต่งงาน เมื่อเมืองแห้ฝือถูกกองกำลังของโจโฉล้อมไว้ ลิโป้พยายามนำบุตรสาวออกจากเมืองเพื่อไปส่งให้อ้วนสุด หวังจะให้อ้วนสุดนำกำลังเสริมมาช่วยหลังรับตัวบุตรสาวไปแล้ว แต่ลิโป้ฝ่าวงล้อมไม่สำเร็จจึงพาบุตรสาวกลับเมืองแห้ฝือ ท้ายที่สุดก็ไม่ทราบชะตาของภรรยาและบุตรสาวของลิโป้
ในนิยายอิงประวัติศาสตร์สามก๊ก ลิโป้มีภรรยา 2 คน อนุภรรยา 1 คนและบุตรสาว 1 คน อนุภรรยาคือเตียวเสียน ตัวละคนที่แต่งเสริมในนิยายและเป็นธิดาบุญธรรมของอ้องอุ้น เตียวเสียนมาอยู่ด้วยลิโป้หลังจากลิโป้สังหหารตั๋งโต๊ะ และมีการกล่าวถึงเตียวเสียนในระหว่างยุทธการที่แห้ฝือ ภรรยาคนแรกของลิโป้คือเหงียมซี (嚴氏 เหยียนชื่อ) ผู้ซึ่งอิงมาจากภรรยาตัวจริงของลิโป้ที่มีบันทึกในหลักฐานประวัติศาสตร์ ภรรยาคนที่สองของลิโป้มีการกล่าวถึงเฉพาะในนิยาย เป็นบุตรสาวของโจป้า ส่วนบุตรสาวของลิโป้ในนิยายมีบทบาทที่เหมือนกับบุตรสาวของลิโป้ในบันทึกประวัติศาสตร์ ในนิยายก็ไม่ปรากฏชื่อของบุตรสาวลิโป้ แต่ถูกเรียกด้วยชื่อ "ลฺหวี่ หลิงฉี่" (吕玲绮; 呂玲綺; Lǚ Língqǐ) ในวิดีโอเกมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
ในนิยายสามก๊ก
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
วัฒนธรรมร่วมสมัย
[แก้]- ลิโป้ ถูกใช้เป็นตัวละครในเกมส์ 360mobi Palace สงครามวังหลัง ค่าย VNG Games Studio สายองครักษ์
- เป็นตัวละครในเกมส์ Arena of Valor ( ROV ) ค่าย Garena (การีน่า) ใช้ชื่อว่า Lu Bu (ลิโป้)
- Lu Bu ถูกใช้เป็นตัวละครในเกมส์ ซีรีส์ Dynasty Warriors
- เป็นตัวละครในเกมส์ Seven Knight [7K] ค่าย Netmarble (เน็ตมาเบิล) ใช้ชื่อว่า Lu Bu (ลิโป้)
- เป็นตัวละครในเกมส์ Heroes Evolved ค่าย Reality Squared Games ใช้ชื่อว่า Lu Bu (ลิโป้)
- เป็นตัวละครในเกมส์ Romance of the three kingdom ภาค 1 -13
ใช้ชื่อว่า Lu Bu
- เป็นตัวละครในเกมส์ Fate/Grand Order ในคลาส Berserker
- เป็นตัวละครในเกมส์ ตำนานซีเฟยสู้ศึกวังหลัง สายองครักษ์
- เป็น Skin ในเกมส์ Overwatch ชื่อ Lu Bu
- เป็นขุนพลในเกมส์ TS online
- เป็นขุนพลในเกมส์ total war three kingdoms
- เป็นขุนพลในเกม Sankok Arena
- เป็นขุนพลสุดเท่ในเกม SAMKOK MOE
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Rafe de Crespigny นักจีนวิทยาชาวออสเตรเลียเขียนในหนังสือ A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms 23–220 AD ว่าลิโป้เสียชีวิตในปี ค.ศ. 198[1] วันที่นี้ไม่ถูกต้องแม้ว่ารัชศกเจี้ยนอันปีที่ 3 ในรัชสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้จะเทียบได้กับปี ค.ศ. 198 ในปฏิทินจูเลียน ทั้งนี้เพราะเดือน 11 ของรัชศกเจี้ยนอันปีที่ 3 คือระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 198 ถึง 14 มกราคม ค.ศ. 199 ในปฏิทินจูเลียน ดังนั้นเดือนสิบสองจึงอยู่ในปี ค.ศ. 199 แล้ว จือจื้อทงเจี้ยนบันทึกว่าลิโป้ยอมจำนนต่อโจโฉในวันกุ๋ยโหย่ว (วันที่ 24) เดือน 12 รัชศกเจี้ยนอันปีที่ 3 และถูกประหารในวันเดียวกัน[2] วันที่นี้ตรงกับวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 199 ตามปฏิทินจูเลียน
- ↑ ทวนกรีดนภา หรือ ฟา��เทียนฮฺว่าจี่ (方天畫戟; 方天画戟; fāngtiān huàjǐ) เป็นชื่อที่ตั้งให้กับอาวุธของลิโป้ที่เป็นทวนจี่ในนิยายสามก๊ก
- ↑ หนี (猊; ní) เป็นสิ่งมีชีวิตคล้ายสิงโตในเทพนิยายจีน
- ↑ พงศาวดารฮั่นยุคหลังบันทึกว่าลิโป้ตั้งต้นเป็นเจ้ามณฑลของมณฑลชีจิ๋ว แต่ในจดหมายเหตุสามก๊กระบุว่าลิโป้ตั้งตนเป็นข้าหลวงของมณฑลชีจิ๋ว ตำแหน่ง "ข้าหลวง" (刺史 ชื่อฉื่อ) มีลำดับต่ำกว่า "เจ้ามณฑล" (牧 มู่) ในยุคราชวงศ์ฮั่น
- ↑ ดูรายละเอียดในบทความหลันเป้งและโจเสง
- ↑ โจโฉกลายมาเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของราชสำนักราชวงศ์ฮั่นหลังจากเชิญเสด็จพระเจ้าเหี้ยนเต้มาประทับที่ฮูโต๋ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของตนในปี ค.ศ. 196 ฮูโต๋ได้กลายเป็นเมืองหลวงใหม่และเป็นที่ตั้งราชสำนัก เมื่อจักรพรรดิอยู่ภายใต้การควบคุม โจโฉจึงถือเป็นผู้กุมอำนาจของราชสำนัก
อ้างอิง
[แก้]อ้างอิงจากจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ)
[แก้]- ↑ (布便弓馬,膂力過人,號為飛將。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 7.
- ↑ (北詣袁紹,紹與布擊張燕於常山。燕精兵萬餘,騎數千。布有良馬曰赤兎。) จดหมายเหตุวามก๊ก เล่มที่ 7.
- ↑ (呂布字奉先,五原郡九原人也。 ... 以驍武給并州。刺史丁原為騎都尉,屯河內,以布為主簿,大見親待。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 7.
- ↑ (靈帝崩,原將兵詣洛陽。與何進謀誅諸黃門,拜執金吾。進敗,董卓入京都,將為亂,欲殺原,并其兵衆。卓以布見信於原,誘布令殺原。布斬原首詣卓,卓以布為騎都尉,甚愛信之,誓為父子。 ... 稍遷至中郎將,封都亭侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 7.
- ↑ (卓自以遇人無禮,恐人謀己,行止常以布自衞。然卓性剛而褊,忿不思難,嘗小失意,拔手戟擲布。布拳捷避之,為卓顧謝,卓意亦解。由是陰怨卓。卓常使布守中閤,布與卓侍婢私通,恐事發覺,心不自安。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 7.
- ↑ (先是,司徒王允以布州里壯健,厚接納之。後布詣允,陳卓幾見殺狀。時允與僕射士孫瑞密謀誅卓,是以告布使為內應。布曰:「柰如父子何!」允曰:「君自姓呂,本非骨肉。今憂死不暇,何謂父子?」布遂許之,手刃刺卓。語在卓傳。 ... 允以布為奮威將軍,假節,儀比三司,進封溫侯,共秉朝政。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 7.
- ↑ (布自殺卓後,畏惡涼州人,涼州人皆怨。由是李傕等遂相結還攻長安城。 ... 布不能拒,傕等遂入長安。卓死後六旬,布亦敗。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 7.
- ↑ (將數百騎出武關,欲詣袁術。布自以殺卓為術報讎,欲以德之。術惡其反覆,拒而不受。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 7.
- ↑ (常與其親近成廉、魏越等陷鋒突陣,遂破燕軍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 7.
- ↑ (而求益兵衆,將士鈔掠,紹患忌之。布覺其意,從紹求去。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่ม 7.
- ↑ (紹恐還為己害,遣壯士夜掩殺布,不獲。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่ม 7.
- ↑ (事露,布走河內,與張楊合。紹令衆追之,皆畏布,莫敢逼近者。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่ม 7.
- ↑ (呂布之捨袁紹從張楊也,過邈臨別,把手共誓。紹聞之,大恨。邈畏太祖終為紹擊己也,心不自安。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่ม 7.
- ↑ (興平元年,太祖復征謙,邈弟超,與太祖將陳宮、從事中郎許汜、王楷共謀叛太祖。宮說邈曰:「今雄傑並起,天下分崩,君以千里之衆,當四戰之地,撫劒顧眄,亦足以為人豪,而反制於人,不以鄙乎!今州軍東征,其處空虛,呂布壯士,善戰無前,若權迎之,共牧兖州,觀天下形勢,俟時事之變通,此亦縱橫之一時也。」邈從之。太祖初使宮將兵留屯東郡,遂以其衆東迎布為兖州牧,據濮陽。郡縣皆應,唯鄄城、東阿、范為太祖守。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่ม 7.
- ↑ (太祖引軍還,與布戰於濮陽,太祖軍不利,相持百餘日。是時歲旱、蟲蝗、少穀,百姓相食,布東屯山陽。二年間,太祖乃盡復收諸城,擊破布於鉅野。布東奔劉備。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่ม 7.
- ↑ (袁術來攻先主,先主拒之於盱眙、淮陰。曹公表先主為鎮東將軍,封宜城亭侯,是歲建安元年也。先主與術相持經月,呂布乘虛襲下邳。下邳守將曹豹反,間迎布。布虜先主妻子,先主轉軍海西。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 32.
- ↑ (備東擊術,布襲取下邳,備還歸布。布遣備屯小沛。布自稱徐州刺史。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่ม 7.
- ↑ (布於沛西南一里安屯,遣鈴下請靈等,靈等亦請布共飲食。布謂靈等曰:「玄德,布弟也。弟為諸君所困,故來救之。布性不喜合鬬,但喜解鬬耳。」布令門候於營門中舉一隻戟,布言:「諸君觀布射戟小支,一發中者諸君當解去,不中可留決鬬。」布舉弓射戟,正中小支。諸將皆驚,言「將軍天威也」!明日復歡會,然後各罷。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่ม 7.
- ↑ (術欲結布為援,乃為子索布女,布許之。術遣使韓胤以僭號議告布,并求迎婦。 ... 布亦怨術初不己受也,女已在塗,追還絕婚,械送韓胤,梟首許市。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 7.
อ้างอิงจากอรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้)
[แก้]- ↑ (曹瞞傳曰:「時人語曰:『人中有呂布,馬中有赤菟。』」) อรรถาธิบายจาก เฉาหมานจฺว้าน ใน จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 7
- ↑ (英雄記曰:郭汜在城北。布開城門,將兵就汜,言「且却兵,但身決勝負」。汜、布乃獨共對戰,布以矛刺中汜,汜後騎遂前救汜,汜、布遂各兩罷。) อรรถาธิบายจาก อิงสฺยงจี้ ใน จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 7.
- ↑ (臣松之案英雄記曰:諸書,布以四月二十三日殺卓,六月一日敗走,時又無閏,不及六旬。) อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือ ใน จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 7.
- ↑ (英雄記曰:布自以有功於袁氏,輕傲紹下諸將,以為擅相署置,不足貴也。布求還洛,紹假布領司隷校尉。外言當遣,內欲殺布。明日當發,紹遣甲士三十人,辭以送布。布使止於帳側,偽使人於帳中鼓箏。紹兵卧,布無何出帳去,而兵不覺。夜半兵起,亂斫布牀被,謂為已死。明日,紹訊問,知布尚在,乃閉城門。布遂引去。) อรรถาธิบายจาก อิงสฺยงจี้ ใน จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 7.
- ↑ (英雄記曰:楊及部曲諸將皆受傕、汜購募,共圖布。布聞之,謂楊曰:「布,卿州里也。卿殺布,於卿弱。不如賣布,可極得汜、傕爵寵。」楊於是外許汜、傕,內實保護布。汜、傕患之,更下大封詔書,以布為頴川太守。) อรรถาธิบายจาก อิงสฺยงจี้ ใน จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 7.
- ↑ (英雄記曰:布見備,甚敬之,謂備曰:「我與卿同邊地人也。布見關東起兵,欲誅董卓。布殺卓東出,關東諸將無安布者,皆欲殺布耳。」請備於帳中坐婦牀上,令婦向拜,酌酒飲食,名備為弟。備見布語言無常,外然之而內不說。) อรรถาธิบายจาก อิงสฺยงจี้ ใน จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 7.
- ↑ (英雄記曰:布初入徐州,書與袁術。術報書曰:「昔董卓作亂,破壞王室,禍害術門戶,術舉兵關東,未能屠裂卓。將軍誅卓,送其頭首,為術掃滅讐耻,使術明目於當世,死生不愧,其功一也。昔將金元休向兖州,甫詣封部,為曹操逆所拒破,流離迸走,幾至滅亡。將軍破兖州,術復明目於遐邇,其功二也。術生年已來,不聞天下有劉備,備乃舉兵與術對戰;術憑將軍威靈,得以破備,其功三也。將軍有三大功在術,術雖不敏,奉以生死。將軍連年攻戰,軍糧苦少,今送米二十萬斛,迎逢道路,非直此止,當駱驛復致;若兵器戰具,佗所乏少,大小唯命。」布得書大喜,遂造下邳。) อรรถาธิบายจาก อิงสฺยงจี้ ใน จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 7.
- ↑ (英雄記曰:布水陸東下,軍到下邳西四十里。備中郎將丹楊許耽夜遣司馬章誑來詣布,言「張益德與下邳相曹豹共爭,益德殺豹,城中大亂,不相信。丹楊兵有千人屯西白城門內,聞將軍來東,大小踊躍,如復更生。將軍兵向城西門,丹楊軍便開門內將軍矣」。布遂夜進,晨到城下。天明,丹楊兵悉開門內布兵。布於門上坐,步騎放火,大破益德兵,獲備妻子軍資及部曲將吏士家口。) อรรถาธิบายจาก อิงสฺยงจี้ ใน จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 7.
อ้างอิงจากพงศาวดารฮั่นยุคหลัง (โฮ่วฮั่นชู)
[แก้]- ↑ (布常御良馬,號曰赤菟,能馳城飛塹, ...) พงศาวดารฮั่นยุคหลัง เล่มที่ 75.
- ↑ (明年,孫堅收合散卒,進屯梁縣之陽人。卓遣將胡軫、呂布攻之,布與軫不相能,軍中自驚恐,士卒散亂。堅追擊之,軫、布敗走。) พงศาวดารฮั่นยุคหลัง เล่มที่ 72.
- ↑ (卓自出與堅戰於諸陵墓閒,卓敗走,灠屯黽池,聚兵於陝。堅進洛陽宣陽城門,更擊呂布,布復破走。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 72.
- ↑ (允旣不赦涼州人,由是卓將李傕等遂相結,還攻長安。) พงศาวดารฮั่นยุคหลัง เล่มที่ 75.
- ↑ (布與傕戰,敗,乃將數百騎,以卓頭繫馬鞌,走出武關,奔南陽。袁術待之甚厚。布自恃殺卓,有德袁氏,遂恣兵鈔掠。術患之。布不安,復去從張楊於河內。) พงศาวดารฮั่นยุคหลัง เล่มที่ 75.
- ↑ (... 與其健將成廉、魏越等數十騎馳突燕陣,一日或至三四,皆斬首而出。連戰十餘日,遂破燕軍。) พงศาวดารฮั่นยุคหลัง เล่มที่ 75.
- ↑ (布旣恃其功,更請兵於紹,紹不許,而將士多暴橫,紹患之。) พงศาวดารฮั่นยุคหลัง เล่ม 75.
- ↑ (時李傕等購募求布急,楊下諸將皆欲圖之。布懼,謂楊曰:「與卿州里,今見殺,其功未必多。不如生賣布,可大得傕等爵寵。」楊以為然。 ... 紹聞,懼為患,募遣追之,皆莫敢逼,遂歸張楊。道經陳留,太守張邈遣使迎之,相待甚厚,臨別把臂言誓。) พงศาวดารฮั่นยุคหลัง เล่ม 75.
- ↑ (時劉備領徐州,居下邳,與袁術相拒於淮上。術欲引布擊備,乃與布書曰:「術舉兵詣闕,未能屠裂董卓。將軍誅卓,為術報恥,功一也。昔金元休南至封丘,為曹操所敗。將軍伐之,令術復明目於遐邇,功二也。術生年以來,不聞天下有劉備,備乃舉兵與術對戰。憑將軍威靈,得以破備,功三也。將軍有三大功在術,術雖不敏,奉以死生。將軍連年攻戰,軍糧苦少,今送米二十萬斛。非唯此止,當駱驛復致。凡所短長亦唯命。」) พงศาวดารฮั่นยุคหลัง เล่ม 75.
- ↑ (布得書大恱,即勒兵襲下邳,獲備妻子。備敗走海西,飢困,請降於布。布又恚術運糧不復至,乃具車馬迎備,以為豫州刺史,遣屯小沛。布自號徐州牧。) พงศาวดารฮั่นยุคหลัง เล่ม 75.
- ↑ (布屯沛城外,遣人招備,并請靈等與共饗飲。布謂靈曰:「玄德,布弟也,為諸君所困,故來救之。布性不喜合鬬,但喜解鬬耳。」乃令軍候植戟於營門,布彎弓顧曰:「諸君觀布射小戟支,中者當各解兵,不中可留決鬬。」布即一發,正中戟支。靈等皆驚,言「將軍天威也」。明日復歡會,然後各罷。) พงศาวดารฮั่นยุคหลัง เล่ม 75.
รายการอ้างอิงอื่น ๆ
[แก้]- ↑ de Crespigny (2007), pp. 624–625.
- ↑ ([侯]成忿懼,十二月,癸酉,成與諸將宋憲、魏續等共執陳宮、高順,率其衆降。[呂]布與麾下登白門樓。兵圍之急,布令左右取其首詣[曹]操,左右不忍,乃下降。 ... 宮請就刑,遂出,不顧,操為之泣涕,幷布、順皆縊殺之,傳首許市。操召陳宮之母,養之終其身,嫁宮女,撫視其家,皆厚於初。) Zizhi Tongjian vol. 62.
- ↑ (時李儒見丁原背後一人,生得器字軒昂,威風凜凜,手執方天畫戟,怒目而視。 ... 兩陣對圓,只見呂布頂束髮金冠,披百花戰袍,擐唐猊鎧甲,繫獅蠻寶帶,縱馬挺戟,隨丁建陽出到陣前。) สามก๊ก ตอนที่ 3.
- ↑ (孫堅移屯梁東,為卓將徐榮所敗,復收散卒進屯陽人。卓遣東郡太守胡軫督步騎五千擊之,以呂布為騎督。軫與布不相得,堅出擊,大破之,梟其都督華雄。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 60.
- ↑ (卓自出,與堅戰於諸陵間。卓敗走,卻屯澠池,聚兵於陝。堅進至雒陽,擊呂布,復破走。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 60.
- ↑ (布屯沛城西南,遣鈴下請靈等,靈等亦請布,布往就之,與備共飲食。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่ม 62.
- ↑ ([獻帝建安二年] ... 袁術稱帝於壽春,自稱仲家, ...) จือจื้อจงเจี้ยน เล่มที่ 62.
หนังสืออ่านเพิ่ม
[แก้]- Chen Shou (2002). San Guo Zhi. Yue Lu Shu She. ISBN 7-80665-198-5.
- Luo Guanzhong (1986). San Guo Yan Yi. Yue Lu Shu She. ISBN 7-80520-013-0.
- Lo Kuan-chung; tr. C.H. Brewitt-Taylor (2002). Romance of the Three Kingdoms. Tuttle Publishing. ISBN 0-8048-3467-9.
{{cite book}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)