ข้ามไปเนื้อหา

มหาปุริสลักขณะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มหาปุริสลักขณะ (บาลี: mahapurisalakkhana) หรือ มหาปุริสลักษณะ (สันสกฤต: mahapurisalaksana) เป็นลักษณะที่บ่งบอกให้รู้ว่าผู้ที่เกิดมาแล้วมีลักษณะพิเศษสามสิบสองอย่างนี้จะได้เป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งหรือที่เรียกว่า "พระโพธิสัตว์" คือสัตว์ที่อาจตรัสรู้ ลักษณะดังกล่าว ได้แก่[1]

  1. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพระบาทเรียบเสมอกัน (สุปติฏฐิตปาโท) กล่าวคือ ฝ่าพระบาทเสมอดังพื้นฉลองพระบาททองแห่งพระราชามหากษัตริย์ ไม่แหว่งเว้าสูงปลายเท้าหนักส้นกระโย่งกลางเท้าดังสามัญมนุษย์
  2. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพื้นภายใต้ฝ่าพระบาททั้งสองข้างมีลายรูปจักรเกิดขึ้น มีซี่กำได้ข้างละพัน มีกงมีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง(เหฏฺฐา โข ปนสฺสปาทตเลสุ จกฺกานิ ชาตานิ สหสฺสารานิ สเนมิกานิสนาภิกานิ สพฺพาการปริปูรานิ)
  3. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีส้นพระบาทยาว (อายตปณฺหิ)
  4. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพระองคุลียาว (ทีฆงฺคุลิ) กล่าวคือ มีพระองคุลีนิ้วพระหัตถ์ นิ้วพระบาทยาวงาม นิ้วพระหัตถ์ ทั้ง 4 และนิ้วพระบาททั้ง 5 มีประมาณเสมอกัน ไม่เหลื่อมยาว ไม่เหลื่อมสั้นดังสามัญมนุษย์
  5. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม (มุทุตลุนหตฺถปาโท) กล่าวคือ ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนเสมออยู่เป็นนิตย์
  6. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอันมีลายดุจตาข่าย (ชาลหตฺถปาโท) กล่าวคือ พระหัตถ์และพระบาทมีลายประหนึ่งร่างข่าย
  7. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพระบาทรูปเหมือนสังข์คว่ำ (อุสฺสงฺขปาโท) กล่าวคือ พระบาทมีสังขะ คือข้อพระบาทลอยอยู่ ณ เบื้องบนข้อพระบาทไม่เนื่องพัวพันกับหลังพระบาทดังของสามัญชน
  8. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพระชงฆ์รีเรียวดุจแข้งเนื้อทราย (เอณิชงฺโฆ)
  9. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ เมื่อประทับยืนอยู่ แม้มิได้ก้มลง ก็สามารถเอาฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองลูบคลำได้ถึงพระชานุทั้งสอง (ฐิตโก ว อโนนมนฺโต)
  10. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก (โกโสหิตวตฺถคุยฺโห) กล่าวคือ มีอังคาพยพซึ่งจะพึงซ่อนให้ลับด้วยผ้าตั้งลงแล้วในฝัก
  11. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพระฉวีวรรณดุจวรรณะแห่งทองคำ คือ มีพระตจะประดุจหุ้มด้วยทองคำ (สุวณฺณวณฺโณ)
  12. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพระฉวีละเอียด และเพราะเหตุที่พระฉวีละเอียด ธุลีละอองจึงไม่ติดอยู่ในพระกายได้ (สุขุมจฺฉวิ)
  13. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพระโลมชาติ อันมีปลายงอนขึ้นข้างบน มีสีเขียวเหมือนดอกอัญชัน และขดเป็นกุณฑลทักษิณาวัฏ (อุทฺธคฺคโลโม)
  14. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพระโลมชาติเส้นหนึ่งในขุมหนึ่งขุม (เอเกกโลโม)
  15. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพระกายตรงเหมือนพรหม (พฺรหฺมุชุคตฺโต)
  16. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพระมังสะเต็มในที่เจ็ดแห่ง (สตฺตุสฺสโท) กล่าวคือ พระมังสะในที่ 7 สถาน คือหลังพระหัตถ์ทั้ง 2 หลังพระบาททั้ง 2 จะงอยพระอังสาทั้ง 2 และพระศอฟูบริบูรณ์เต็มด้วยดี
  17. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพระกายท่อนบนเหมือนกึ่งกายท่อนข้างหน้าของราชสีห์ (สีหปุพฺพฑฺฒกาโย)
  18. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีระหว่างพระอังสะเต็ม (ปีตนฺตรํโส) กล่าวคือ ระหว่างแห่งพระปฤษฎางค์ (แผ่นหลัง) อันเต็ม ไม่เป็นร่องดังทางไถดังมีในกายแห่งสามัญชน
  19. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีปริมณฑลดุจไม้นิโครธ วาของพระองค์เท่ากับพระกายของพระองค์ พระกายของพระองค์ก็เท่ากับวาของพระองค์ (นิโครธปริมณฑโล)
  20. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีลำพระศอกลม (สมวฏฺฎกฺขนฺโธ)
  21. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีเส้นปลายประสาทนำรสอาหารดี (รสคฺคสคฺคี) กล่าวคือ เอ็น 700 ที่สำหรับนำไปซึ่งรสอาหารมาสวมรวมประชุม ณ พระศอ
  22. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพระหนุดุจคางราชสีห์ (สีหหนุ) กล่าวคือ พระหนุ (คาง) ดั่งคางราชสีห์บริบูรณ์ดีประหนึ่งวงพระจันทร์ในวัน 12 ค่ำ
  23. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพระทนต์สี่สิบองค์ (จตฺตาฬีสทนฺโต)
  24. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพระทนต์เรียบเสมอกัน (สมทนฺโต) กล่าวคือ พระทนต์เสมอ ไม่ลักลั่น ยาวสั้นดังสามัญมนุษย์
  25. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพระทนต์เรียบสนิทมิได้ห่างกันเลย (อวิรฬทนฺโต)
  26. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพระทาฐะขาวงาม (สุสุกฺกทาโฐ) กล่าวคือ พระทาฐะ คือพระเขี้ยวอันขาวงาม
  27. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพระชิวหาใหญ่ (ปหุตชิวฺโห) กล่าวคือ พระชิวหา (ลิ้น) อันพอ คือ อ่อนและกว้างใหญ่ อาจแผ่ปกพระนลาฏมิดและจะห่อให้เล็กสอดในช่องพระนาสิกและช่องพระโสตได้
  28. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ตรัสมีสำเนียงดุจนกการเวก (พฺรหฺมสฺสโร กรวิกภาณี)
  29. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพระเนตรน้ำเงินเข้ม (อภินีลเนตฺโต) บ้างว่า พระเนตรเขียวสนิทในที่ควรจะเขียว
  30. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีดวงพระเนตรดุจตาโค (โคปขุโม)
  31. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพระอุณาโลมบังเกิด ณ ระหว่างพระขนง โดยมีสีขาวอ่อนเปรียบด้วยนุ่น (อุณฺณา ภมุกนฺตเร ชาตา)
  32. พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ มีพระเศียรงามบริบูรณ์ดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ (อุณหิสสีโส) กล่าวคือ พระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์เจ้ามีพระเศียรได้มีรูปทรง งดงามดุจประดับด้วยอุณหิสกรอบ พระพักตร์ [2]

มหาปุริสลักษณะทั้งสามสิบสองอย่างนี้มีอยู่ในพระโพธิสัตว์ทุกองค์ในชาติสุดท้ายคือชาติที่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะที่บ่งบอกให้รู้ถึงความยิ่งใหญ่ ซึ่งพระพุทธเจ้า ตรัสรับรองไว้ว่า[3]

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาปุริสลักษณะ 32 ประการนี้ เมื่อมหาบุรุษมีพร้อมแล้วย่อมเป็นเหตุให้มีคติเป็น 2 เท่านั้นไม่เป็นอย่างอื่น คือ ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์...อนึ่ง ถ้ามหาบุรุษนั้นออกจากเรือนผนวชเป็นบรรพชิต จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเครื่องมุงบังเกิดคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก

ทั้งนี้ ในคัมภีร์ลลิตวิสตระ ซึ่งเป็นพระพุทธประวัติภาษาสันสกฤตของนิกายสรวาสติวาส ได้บรรยายถึงมหาปุริสลักษณะในภาษาสันสกฤตไว้อย่างละเอียด ดังนี้

  1. อุษฺณีษศีรฺษะ พระเศียรรูปเหมือนโพกผ้า หรือเหมือนสวมมกุฎ (เมาลี) คือพระเศียรสูง
  2. ภินฺนาญฺชนมยูรกลาปาภินีลวลฺลิตปฺรทกฺษิณาวรฺตเกศะ พระเกศา แยกเส้นกันสีเขียวเข้มเหมือนสียาป้ายขอบตาหรือสีดอกอัญชัน หรือสีโคนหางนกยูง ขมวดเวียนขวา
  3. สมวิปุลลลาฏะ พระนลาฏ (หน้าผาก) กว้างเรียบ
  4. อูรฺณาภฺรุโวมเธฺยชาตาหิมรชตปฺรกาศา ขนอ่อนเกิดที่หว่างคิ้ว (อุณาโลม) สีขาวเหมือนน้ำค้างหรือเงินยวง
  5. โคเปกฺษมเนตระ พระเนตรมีขอบเหมือนขอบตาวัว
  6. อภินีลเนตฺระ พระเนตรสีเขียวเข้ม
  7. สมจตฺวารึศทฺทนฺตะ มีพระทนต์ (ฟัน) 40 ซี่ เท่า ๆ กัน
  8. อวิรลทนฺตะ ซี่พระทนต์ชิดกัน
  9. ศุกฺลทนฺตะ พระทนต์ขาวสะอาด
  10. พฺรหฺมสฺวร มีเสียงไพเราะเหมือนเสียงแห่งพรหม
  11. รสรสาคฺรวานฺ ปลายพระชิวหารู้รสไว
  12. ปฺรภูตตนุชิหฺวะ พระชิวหาแผ่ออกได้มาก
  13. สีหหนุ พระหนุ (คาง) เหมือนคางราชสีห์
  14. สุสํวฺฤตฺตสฺกนฺธะ มีพระวรกายสำรวมอินทรีย์เป็นอย่างดี
  15. สปฺโตตฺสทะ มีพระมังสา (กล้ามเนื้อ) อูมนูน 7 แห่ง
  16. จิตานฺตรำสะ พระอังสา (ไหปลาร้า) มีเนื้อเต็ม
  17. สูกฺษม สุวรฺณรฺณจฺฉวิ พระฉวี (ผิว) ละเอียดมีสีเหมือนสีทอง
  18. สฺถิโต นวนตปฺรลมฺพพาหุ พระวรกายยืนตรงไม่คดค้อมพระพาหา (แขน) ยาว
  19. สึหปูรฺวารฺธกายะ พระวรกายท่อนบนเหมือนท่อนบนของราชสีห์
  20. นฺยโครธปริมณฺฑโล มีปริมณฑลเหมือนปริมณฑลของต้นไทร
  21. เอไกกโรมา มีพระโลมา (ขน) ขุมละเส้น
  22. อุรฺธฺวาคฺราภิปฺรทกฺษิณาวรฺตโรมา พระโลมาเวียนขวาปลายพระโลมาชี้ขึ้นบน
  23. โกโศปคตพสฺติคุหฺยะ พระคุยหะ (เครื่องเพศ) ซ่อนอยู่ในฝัก
  24. สุวิวรฺติโตรุ ต้นพระชงฆ์ (ขาท่อนบน) กลมงาม
  25. เอเณยมฺฤคราชชงฺฆะ พระชงฆ์ (ขาท่อนล่าง) เหมือนแข้งพระยาเนื้อทราย
  26. ทีรฺฆางฺคุลิ นิ้วพระหัตถ์ นิ้วพระบาทยาว
  27. อายตปารฺษฺณิปาทะ พระปรัษณี (ส้นเท้า) ยาว
  28. อุตฺสงฺคปาทะ พระบาทลาดขึ้นสูง
  29. มฺฤทุตรุณหสฺตปาทะ พระหัตถ์ พระบาทนุ่มสด
  30. ชาลางฺคุลีหสฺตปาทะ นิ้วพระหัตถ์ นิ้วพระบาทและพระหัตถ์ พระบาทมีรูปลายตาข่าย
  31. ทีรฺฆางฺคุลิรธะกฺรมตลโยรฺ จเกฺรชาเต จิเตฺร สหสฺราเร สเนมิเก สนาภิเกพระบาททั้ง 2 ลาดต่ำลงโดยลำดับ นิ้วพระบาทยาวเกิดมีลายกงจักรอันวิจิตร (สีขาวมีประกายเหมือนเปลวไฟ) มีซี่ 1,000 พร้อมด้วยกงและดุม
  32. สุปฺรติษฺฐิตสมปาโท ฝ่าพระบาทแนบสนิทกับพื้นเป็นอย่างดี[4]

มูลเหตุอันได้มาซึ่งมหาปุริสลักขณะ

[แก้]

ในลักขณสูตร (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงคติแห่งมหาปุริสลักขณะ ว่าย่อมมีคติเป็นสองเท่านั้นไม่เป็นอย่างอื่น คือ ถ้าครองเรือน จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ถ้าเสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จากนั้นได้ทรงแจกแจงว่า เพราะมูลเหตุอันใดที่มหาบุรุษจะได้ปรากฏซึ่งมหาปุริสลักขณะ

เช่น การที่พระมหาบุรุษยินดีในวาจาสัตย์ ในธรรม (กุศลกรรมบถ) ความฝึกตน ความสำรวม ความเป็นผู้สะอาด ศีลที่เป็นอาลัยอุโบสถกรรม ความไม่เบียดเบียนเหล่าสัตว์ และกรรมอันไม่สาหัส สมาทานแล้วมั่นคง ทรงประพฤติมาแล้วอย่างรอบคอบเพราะกรรมนั้น พระมหาบุรุษจึงหลีกไปสู่ไตรทิพย์ เสวยความสุขและสมบัติเป็นที่เพลิดเพลินยินดี จุติจากไตรทิพย์แล้วเวียนมาในโลกนี้ เหยียบปฐพีด้วยฝ่าพระบาทอันเรียบ

การที่พระตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อนกำเนิดก่อน ละปาณาติบาตแล้ว เว้นขาดจากปาณาติบาตแล้ว วางทัณฑะ วางศาตราแล้ว มีความละอาย มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมครอบงำเทวดาทั้งหลายอื่นในโลกสวรรค์ โดยสถาน 10 คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ ความสุขทิพย์ ยศทิพย์ความเป็นอธิบดีทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ และโผฏฐัพพทิพย์ ครั้นจุติจากโลกสวรรค์นั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะ 3 ประการ คือ ส้นพระบาทยาว มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทยาว มีพระกายตรงดังว่ากายแห่งพรหม

หรือการที่ พระตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อนกำเนิดก่อน เป็นผู้หวังประโยชน์ หวังความเกื้อกูล หวังความผาสุก หวังความเกษมจากโยคะ แก่ชนเป็นอันมาก ด้วยมนสิการว่า ทำไฉน ชนเหล่านี้พึงเจริญด้วยศรัทธา เจริญด้วยศีล เจริญด้วยสุตะ เจริญด้วยพุทธิ เจริญด้วยจาคะเจริญด้วยธรรม เจริญด้วยปัญญา เจริญด้วยทรัพย์และข้าวเปลือก เจริญด้วยนาและสวน เจริญด้วยสัตว์สองเท้าและสัตว์สี่เท้า เจริญด้วยบุตรและภรรยา เจริญด้วยทาสและกรรมกร เจริญด้วยญาติ เจริญด้วยมิตร เจริญด้วยพวกพ้อง ดังนี้ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้น อันตนทำ สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ ครั้นจุติจากสวรรค์นั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะ 3 ประการนี้ คือ มีส่วนพระกายข้างหน้าดังว่ากึ่งกายข้างหน้าแห่งราชสีห์ มีระหว่างพระปฤษฎางค์เต็มดี 1 มีลำพระศอกลมเสมอกัน เป็นต้น[5]

วิเคราะห์นัยยะของมหาปุริสลักขณะ

[แก้]

ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาพุทธหลายท่าน แสดงความคิดเห็นว่า รายละเอียดที่ปรากฏในมหาปุริสลักขณะ หรือ มหาปุริสลักษณะ นั้น อาจมิใช่เพียงลักษณะทางกายภาพของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงอย่างเดียว แต่อาจนับเป็นบุคลาธิษฐานอย่างหนึ่งด้วย หนึ่งในนั้นคือ พุทธทาสภิกขุ ซึ่งแสดงความเห็นไว้ในหนังสือ “พุทธจริยา” ไว้ว่า โดยความหมายทางตรงแล้ว พุทธลักษณะหมายถึงลักษณะของพระพุทธเจ้า ซึ่งคำว่าลักษณะนี้แปลว่าเครื่องกำหนด มาจากคำว่า ดูเห็น สิ่งใดที่เราดูเราเห็นได้สิ่งนั้นเป็นลักษณะพุทธลักษณะก็คือสิ่งที่เราจะดูจะเห็นที่องค์พระพุทธเจ้า ดังเช่นการที่พระองค์ประกอบไปด้วยมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ และอนุพยัญชนะ 80 ประการ ซึ่งพรรณนาพุทธลักษณะตามแนวทางนี้ โดยผิวเผินแล้วเป็นลักษณะทางร่างกายที่ผิดจากบุคคลอื่น ถ้าถือเอาตามตัวหนังสือนั้นแล้วจะผิดมากจนดูเป็นมนุษย์ที่มีรูปร่างประหลาดที่สุดก็ได้

พุทธทาสภิกขุ ชี้ว่า อย่างไรก็ตาม หากพิจารณามหาปุริสลักษณะให้ละเอียดก็จะพบว่า ลักษณะเหล่านี้เป็นการสะท้อนถึงมารยาทอันละเอียดประณีตของพระองค์

"เป็นลักษณะทางกายทางวาจา ลักษณะทางกายในประเภทนี้เราก็จะเห็นได้ว่ามันรวมอยู่ในคำว่า ศีล มีศีล คือการประพฤติทางกาย ทางวาจาถูกต้องบริสุทธิ์สะอาด น่ารัก เลื่อมใส พระพุทธลักษณะทางกายเป็นอย่างนี้"

— พุทธทาสภิกขุ[6]

ขณะที่ เสถียร โพธินันทะ แสดงความเห็นว่า การที่ตำนานมหาปุริสลักษณะว่า พระชิวหาของมหาบุรุษนั้น แลบติดถึงหน้าผากได้ แลบซ้ายขวาถึงใบหู ลิ้นยาว แลบซ้ายขวาถึงใบหู มือยาวถึงเข่า ถ้าคนมือยาวถึงเข่า ล้วนแต่เป็นคำอุปมา ท่านพรรณนาเป็นบุคลาธิษฐาน เช่นพรรณนาอสีติญาณพยัญชนะว่ารอยเท้าของพระพุทธเจ้านั้น มีรูปภูเขาหิมพานต์ มีรูปพัด มีรูปพระพรหม มีรูปพระอินทร์ มีรูปต่าง ๆ เครื่องสูงต่าง ๆ เป็นราชกกุธภัณฑ์ต่าง ๆ การพรรณนาอย่างนั้น ความหมายก็มีว่า สมบัติเหล่านั้น คือ พรหมสมบัติ อินทร์สมบัติ สักกะสมบัติ จักรพรรดิสมบัติ มนุษย์สมบัติ สมบัติต่าง ๆ เหล่านี้ที่เป็นรูปต่าง ๆ ในฝ่าเท้าพระบาทพระพุทธเจ้านั้น สมบัติเหล่านี้ พระศาสดาได้ทรงละแล้ว ทรงอยู่เหนือสมบัติเหล่านี้ อยู่ใต้อุ้งบาทแล้ว สมบัติเหล่านี้ไม่สามารถที่จะทำให้พระองค์ทรงกำเริบ ทรงต้องการความปรารถนาอีกแล้ว เป็นของต่ำในสายพระเนตรของพระองค์ ทรงชนะอินทร์สมบัติ ทรงชนะพรหมสมบัติ ทรงชนะจักรพรรดิสมบัติ ทรงชนะมนุษยสมบัติ เราถือว่า อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ จักรพรรดิ มนุษย์ เราขวนขวายอยากได้ อยากมีกัน สิ่งเหล่านั้นพระองค์ทรงเหยียบไว้ใต้ฝ่าพระบาทหมด ไม่มีความหมาย เหมือนหนึ่งอิฐกรวดดินทราย ความหมายของท่านต้องการอย่างนี้ แต่ในการเทศนาโวหารสั่งสอนคนซึ่งมีหลายชั้นที่เป็นปัญญาบุคคลก็มี ไม่ใช่ปัญญาบุคคลก็มี จึงต้องมีการใช้บุคคลาธิษฐานเป็นอุบายโกศลในชักจูงให้ผู้คนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา

"จึงต้องพรรณนาเป็นรูปว่า ใต้ฝ่าอุ้งพระบาท มีภูเขาหิมพานต์ มีพระพรหม มีพระอินทร์ มีเครื่องสูงพระมหากษัตริย์ มีกงจักร มีนางแก้ว ขุนคลังแก้ว ต่าง ๆ นานา เห็นเป็นภาพใต้อุ้งฝ่าพระบาท ทีนี้คนดูเห็นภาพเหล่านั้นก็นึกว่าของเหล่านี้ เป็นประเสริฐถึงเพียงนี้ แต่ยังมาติดอยู่ที่พระบาทของพระศาสดาของเรา ก็แสดงว่าพระศาสดาของเรานี่เหนือกว่าสมบัติเหล่านี้ ต้องการเพียงแค่นี้ ความหมายในเรื่องรูปต่าง ๆ ในอุ้งฝ่าพระบาทเป็นอย่างนี้"

— เสถียร โพธินันทะ[7]

เสถียร โพธินันทะ ยังแสดงความเห็นเพิ่มเติมอีกด้วยว่า

"ข้อว่าแลบพระชิวหาถึงพระกรรณได้ อย่างนี้ไม่ใช่ของจริง ของจริงเป็นอย่างนั้นคนกลัว เห็นเข้าหนีแล้ว ลิ้นยาวขนาดติดหน้าผาก ลิ้นยาวขนาดห้อยถึงหน้าอกได้ อย่างนี้ถ้าถึงนลาฏได้ ก็ถึงหน้าอกได้ เวลาแลบออกมาทางต่ำก็ถึงหน้าอก เราเห็นเข้า เห็นจะวี๊ดว๊าดกระตู้วู้กันแน่ ลิ้นในที่นี้ หมายถึงว่า ทรงแสดงธรรมสามารถครอบงำบุคคล ความยาวของลิ้นเท่ากับวิถีแห่งธรรมะที่สามารถครอบงำบุคคลโดยรอบได้ ลิ้นพระองค์ตวัดไปโดยรอบ เปรียบเหมือนธรรมะที่ทรงแสดงจากพระโอษฐ์นี่ สามารถไหลกลมกลืนในดวงใจคนโดยรอบได้ ต้องการความหมายเพียงแค่นี้ เข้าตำนานมหาปุริสลักษณะที่พรรณนาอย่างนี้ ต้องการความหมายเพียงเท่านั้นเอง ไม่ได้ต้องการความหมายอื่นไกลกว่านี้เลย นี่เป็นความหมายอันหนึ่งในเรื่องข้อที่ว่า แลบชิวหายาว"

— เสถียร โพธินันทะ[8]

ดูเพิ่ม

[แก้]
  • อนุพยัญชนะ - ลักษณะเพิ่มเติมจำนวนแปดสิบอย่างที่พระโพธิสัตว์ต้องมี

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระไตรปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิวรรค ฉบับภาษาไทย เล่ม 11 หน้า 158-159.
  2. (ปฐมสมโพธิ (2508). หน้า 18 – 21
  3. พระไตรปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิวรรค ฉบับภาษาไทย เล่ม 11 หน้า 157.
  4. แสง มนวิทูร. (2512). หน้า 598 - 599
  5. ลักขณสูตร. พระไตรปิฎก เล่มที่ 11
  6. พุทธทาสภิกขุ. (2517)
  7. เสถียรโพธินันทะ. (2543).
  8. เสถียรโพธินันทะ. (2543).
  • บรรจบ บรรณรุจิ. (2544). พจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย สมัยอยุธยา โคลงยวนพ่าย ฉบับราชบัณฑิยสถาน. กรุงเทพฯ : บริษัท นิวไทยมิตรการพิมพ์ (1996) จำกัด. หน้า 299-301.
  • แสง มนวิทูร. (2512). ลลิตวิสตระ คัมภีร์พระพุทธประวัติฝ่ายมหายาน. พระนคร : กรมศิลปากร.
  • พุทธทาสภิกขุ. (2517). "พุทธจริยา." กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัดการพิมพ์.
  • เสถียร โพธินันทะ. (2543). พุทธธรรมกับปรัชญา. กรุงเทพมหานคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย.
  • ลักขณสูตร. พระไตรปิฎก เล่มที่ 11 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 3 ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
    • สมเด็จพระสังฆราชปุสฺสเทว (ทรงเรียบเรียง). (๒๕๐๘). ปฐมสมโพธิ. พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานประชุมเพลิงศพ หญิงภักดีพิพัฒนผล (ผะอบ ณ ถลาง) ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2508.