ข้ามไปเนื้อหา

มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549

พิกัด: 18°44′56″N 98°55′28″E / 18.7488062°N 98.9243746°E / 18.7488062; 98.9243746
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เชียงใหม่ เอ็กซ์โป 2549–2550
ตราสัญลักษณ์ของงาน
ภาพรวม
ระดับ BIEมหกรรมพืชสวน
ชื่อมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์
คำขวัญ"To Express Love For Humanity"
พื้นที่80 เฮกตาร์ (200 เอเคอร์)
ผู้เข้าชม3,781,624
ผู้เข้าร่วม
ประเทศเข้าร่วม30
ที่จัดงาน
ประเทศผู้จัดประเทศไทย
เมืองเจ้าภาพเชียงใหม่
สถานที่จัดงานอุทยานหลวงราชพฤกษ์
พิกัด18°44′45.4″N 98°55′31.8″E / 18.745944°N 98.925500°E / 18.745944; 98.925500
ลำดับเวลา
คัดเลือก1 ธันวาคม 2548 (2548-12-01)
เริ่มต้น1 พฤศจิกายน 2549 (2549-11-01)
สิ้นสุด31 มกราคม 2550 (2550-01-31)
มหกรรมพืชสวน
ก่อนหน้ามหกรรมพืชสวนโลก 2003 ที่ ร็อสท็อค
ถัดไปฟลอริเอด 2012 ที่ เวนโล
เอ็กซ์โปวาระพิเศษ
ก่อนหน้าเอ็กซ์โป 1998 ที่ ลิสบอน
ถัดไปเอ็กซ์โป 2008 ที่ ซาราโกซา
นิทรรศการโลก
ก่อนหน้าเอ็กซ์โป 2005 ที่ จังหวัดไอจิ
ถัดไปเอ็กซ์โป 2010 ที่ เซี่ยงไฮ้

มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 (อังกฤษ: International Horticulture Exposition for His Majesty the King; Royal Flora Ratchapruek 2006) หรือเรียกโดยย่อว่า ราชพฤกษ์ 2549 เป็นงานมหกรรมจัดแสดงด้านพืชสวนกลางแจ้ง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 – 28 กุมภาพันธ์ 2550 ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

มหกรรมพืชสวนโลกจัดขึ้นโดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2,404 ล้านบาท จัดขึ้นในนามของรัฐบาลไทย โดยสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร และสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสมาพันธ์ดอกไม้โลก (WFC) และสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (ISHS) และการรับรองมาตรฐานมหกรรมระดับโลก ระดับ A1 (มาตรฐานมหกรรมขั้นสูงสุด) การจัดงานจาก สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH)[1] และสำนักงานมหกรรมโลก (BIE)[2] โดยประเทศไทยนับเป็นประเทศที่สามในทวีปเอเชีย ที่ได้รับรองการจัดงานมหกรรมระดับโลกจาก BIE ต่อจากจีน และญี่ปุ่น[2]

ตลอดช่วงการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ได้ก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่คิดเป็นมูลค่าประมาณ 23,000 ล้านบาท โดยที่ร้อยละ 65 เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทย และร้อยละ 35 เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ[3]

ชื่องาน

[แก้]

สำหรับการเขียนชื่อเต็มของงานจะละเว้นการออกพระนาม เขียนว่า "มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ" แทนการเอ่ยชื่อเต็มของงานคือ "มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา"[4]

ระยะเวลาการจัดงาน

[แก้]

มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 บนพื้นที่รวม 470 ไร่ จะมีการแสดง ความหลากหลายของพืชพรรณไม้ต่าง ๆ กว่า 2,200 ชนิด จำนวนกว่า 2 ล้าน 5 แสนต้น ซึ่งนับว่าเป็นมหกรรมพืชสวนโลกเขตร้อนชื้นที่สมบูรณ์ที่สุดของโลก

และเป็นหนึ่งในโครงการ ไทยแลนด์แกรนด์อินวิเตชั่น (Thailand Grand Invitation) ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย[5]

วัตถุประสงค์

[แก้]

วัตถุประสงค์หลักของงาน เป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 และ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯพระมหากษัตริย์ผู้เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย การจัดงานครั้งนี้ จึงกำหนดจัดอย่างยิ่งใหญ่ โดยมุ่งเน้นการเผยแผ่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพในด้านการเกษตรกรรม และโครงการในพระราชดำริ ซึ่งได้ทรงคิดค้นและก่อตั้ง เพื่ออำนวยประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนชาวไทย

การแบ่งพื้นที่จัดแสดง

[แก้]
หอคำหลวง เป็นอาคารหลักของโครงการ ออกแบบโดย รุ่ง จันตาบุญ

งานราชพฤกษ์ 2549 แบ่งพื้นที่จัดแสดง เป็น 5 ส่วนคือ สวนเฉลิมพระเกียรติประเภทองค์กร (Corporate Garden) , สวนนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ (International Garden) ส่วนจัดแสดงพันธุ์ไม้เขตร้อนชื้น (Tropical Garden) ส่วนจัดแสดงนิทรรศการในอาคาร (Indoor Exhibition) และส่วนจัดแสดงเฉลิมพระเกียรติหอคำหลวง (Royal Pavilion) ภายใต้แนวคิด "เพื่อนำความรักสู่มนุษยชาติ" (to Express the Love for Humanity") นอกจากนี้ยังเป็นส่วนการแสดงประกอบย่อย ๆ แบ่งเป็นส่วนต่าง ๆ อีกดังนี้

* อาคารหอคำหลวง เป็นส่วนเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะพระมหากษัตริย์นักการเกษตรของโลก
  • สวนไม้ผลไทยและอาคารแสดงนิทรรศการผลไม้
  • สวนรวบรวมพันธุ์ไม้เขตร้อนชื้นโดยจัดแบ่งกลุ่มการแสดงตามคุณลักษณะ
  • สวนนิทรรศการเกี่ยวกับยางพารา
  • อาคารแสดงพันธุ์ไม้เขตร้อน
  • อาคารแสดงพันธุ์ไม้เขตหนาว
  • อาคารแสดงการปลูกพืชไม่ใช้ดิน
  • อาคารแสดงเทคโนโลยีการเพาะเนื้อเยื้อ
  • ลานและเวทีการแสดงกลางแจ้ง
  • อาคารแสดงโลกแมลง
  • สนามเด็กเล่น

กิจกรรมในงานมีความหลากหลาย เช่น การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงวัฒนธรรมนานาชาติ ดนตรีในสวน ขบวนพาเรด งานแสดงน้ำพุดนตรี การสัมมนาทางวิชาการ การบริการต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์อาหาร การสื่อสาร การพยาบาล การท่องเที่ยว เป็นต้น

ระเบียงภาพ

[แก้]

ประเทศที่เข้าร่วมงาน

[แก้]

ประเทศไทยได้รับการยืนยันเข้าร่วมงานอย่างเป็นทางการแล้วจากรัฐบาล 36 ประเทศจาก 5 ทวีป ได้แก่ ทวีปยุโรป อเมริกากลาง อเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชีย โดยมีประเทศต่าง ๆ แบ่งตามลักษณะการร่วมงาน ดังนี้

สวนภายนอกอาคาร

สวนภายนอกอาคารคือพื้นที่จัดแสดงกลางแจ้งประกอบด้วย 23 สวน จาก 22 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ เบลเยียม จีน กัมพูชา อิหร่าน ญี่ปุ่น เคนยา ลาว มอริเตเนีย โมร็อกโก เนปาล เนเธอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ ซูดาน ตุรกี เวียดนาม สเปน อินโดนีเชีย อินเดีย มาเลเซีย ภูฏาน และกาตาร์ ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่น มีการจัดแสดง 2 สวน คือสวนประเทศญี่ปุ่น และสวนคันไซ

สวนภายในอาคาร/ นิทรรศการหมุนเวียน

สวนภายในอาคาร และนิทรรศการหมุนเวียน เป็นพื้นที่จัดแสดงในร่ม ส่วนใหญ่เป็นการจัดแสดงชั่วคราว หมุนเวียนไปตลอดงาน ประกอบด้วยการจัดแสดงจากประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา บรูไนดารุสซาลาม ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ตูนิเซีย เคนยา ซูดาน ตรินิแดดและโตเบโก กาบอง บุรุนดี ไนจีเรีย มาดากัสการ์ ปากีสถาน บัลแกเรีย และเยเมน

ตุ๊กตาสัญลักษณ์ของงาน

[แก้]
ตุ๊กตาสัญลักษณ์ของงาน

ตุ๊กตาสัญลักษณ์ของงาน (mascots) มีอยู่ 9 ตัวคือ[6]

  1. น้องคูน มีชื่อจริงว่า "ราชพฤกษ์" ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำชาติไทย เป็นตุ๊กตาสัญลักษณ์งานมหกรรมพืชสวนโลก
  2. น้องกุหลาบ เป็นสัญลักษณ์สื่อแทน "ดอกกุหลาบควีนสิริกิติ์"
  3. นารี เป็นสัญลักษณ์สื่อแทน ดอกกล้วยไม้รองเท้านารี
  4. บัว เป็นสัญลักษณ์สื่อแทน ดอกบัว ดอกไม้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น "ราชินีแห่งไม้น้ำ"
  5. ก้านยาว เป็นสัญลักษณ์สื่อแทน "ทุเรียน" ผลไม้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น "ราชาของผลไม้"
  6. มังคุด เป็นสัญลักษณ์สื่อแทน "มังคุด" ผลไม้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น "ราชินีของผลไม้"
  7. ฝักบัว เป็นสัญลักษณ์สื่อแทน "ฝักบัวรดน้ำ"
  8. จ้อน เป็นสัญลักษณ์สื่อแทน "ผักกาด" ผักที่มีต้นกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชีย
  9. ตาทุ่ง เป็นสัญลักษณ์สื่อแทน "หุ่นไล่กา"

ของที่ระลึก

[แก้]
  • แสตมป์พืชสวนโลก - บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ออกแสตมป์เป็นรูปของดอกไม้นานาพรรณ 9 ชนิด

บุคคล/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดงาน

[แก้]
  1. นายรุ่ง จันตาบุญ : ผู้ออกแบบหอคำหลวง
  2. กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ : หน่วยงานผู้จัดงาน
  3. กิจการร่วมค้าซีเคเอ็นเอ็นแอล : บริษัทผู้รับเหมา
  4. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : ที่ปรึกษาโครงการด้านออกแบบแล���ควบคุมการก่อสร้าง
  5. บริษัท Feelgreen Design จำกัด : ภูมิสถาปนิกโครงการ
  6. บริษัท นงนุชแลนด์สเคปแอนด์การ์เด้นดีไซน์ จำกัด ของนายกัมพล ตันสัจจา : บริษัทผู้รับเหมางานภูมิสถาปัตย์
  7. บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์จำกัด (นายปรีชา สนั่นวัฒนานนท์ เป็นกรรมการผู้จัดการ) : บริษัทผู้บริหารการจัดงาน

ข้อวิจารณ์เกี่ยวกับโครงการ

[แก้]
  • โครงการนี้เป็นหนึ่งใน 14 โครงการ[7] ว่าเป็นหนึ่งในโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ทำลายสภาพแวดล้อมและนิเวศวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่
  • มีผู้ทรงคุณวุฒิทางพืชสวน ออกมาแสดงความเห็นถึงความไม่ชอบมาพากลของโครงการ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชพันธุ์ และบุคคลที่ได้รับการยอม รับในเรื่องกล้วยไม้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ, นายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย, และนายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร[8] ประเด็นที่เป็นปัญหา ได้แก่ เรื่องที่ตั้งของโครงการ ที่อาจมีผลต่อการกลายพันธุ์ของพืชป่าบริเวณใกล้เคียง จากพืชที่นำเข้าจากต่างประเทศ, การได้รับเหมาในจัดงาน/และการก่อสร้างเพียงเจ้าเดียว, คุณภาพของงานว่าได้มาตรฐานดีพอในระดับ เอ 1 หรือไม่, การปรับพื้นที่และการออกแบบวางผังได้คำนึงถึงธรรมชาติและผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่, และเนื่องจากโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการเมกกะโปรเจกต์ในจังหวัดเชียงใหม่หลายโครงการ ซึ่งเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในปีเดียวกันนี้
  • โครงการนี้เป็นหนึ่งใน 8 โครงการที่นายอนันต์ ดาโลดม อดีต ส.ว.สุราษฎร์ธานี ในฐานะนายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ได้ยื่นเสนอต่อ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ว่ามีหลักฐานการกระทำผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 และ 12 หรือไม่ การกระทำดังกล่าวโปร่งใสหรือไม่ มีการทุจริตเอื้อประโยชน์แก่เอกชนบางราย โดยเฉพาะการจ้างเหมาก่อสร้างภูมิสถาปัตยกรรมและระบบสาธารณูปโภค โดยกิจการร่วมค้า CKNNL ชนะการประมูลในราคา 1,199 ล้านบาท ต่ำกว่าวงเงินดำเนินงานอยู่ 300,000 บาท และต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ที่ 1,259,850,100 บาท ซึ่งเห็นว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชน[9]
  • นอกจากนี้ยังมีเอ็นจีโอทางด้านสิ่งแวดล้อมอีกหลายคนออกมาเคลื่อนไหวถึงขั้นตอนการเร่งรีบอนุมัติและจัดงานโดยละเลยเรื่องผลกระทบ เช่น นายชัยพันธุ์ ประภาสะวัต ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิชุมชน ได้เตรียมเรื่องนี้ฟ้องศาลปกครอง จากการใช้เนื้อที่ 470 ไร่ที่ใช้ในการจัดงานนี้ ว่าอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย มีการดัดแปลงเอาอุทยานฯไปก่อสร้าง ก่อนผ่านคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย อีกทั้งยังตรวจสอบไม่ได้ว่ามีการนำพืชจีเอ็มโอเข้ามาด้วยหรือไม่ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศไทยได้[10]

ดูเพิ่ม

[แก้]

งานจัดแสดง ที่ใกล้เคียงกัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. จดหมายข่าวมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ฉบับที่ 4 ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548
  2. 2.0 2.1 จดหมายข่าวมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ฉบับที่ 7 ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. 2549
  3. "งานพืชสวนโลกฯ : สร้างเม็ดเงินสะพัดเชียงใหม่ 2.4 หมื่นล้านบาท". Positioning. 2 พฤศจิกายน 2006.
  4. "เกาะติดราชพฤกษ์ 2549 มหัศจรรย์ พรรณไม้งาม". Nationchannel.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มกราคม 2009. สืบค้นเมื่อ 6 มิถุนายน 2008.
  5. "Thailand Grand Invitation 2006". โครงการไทยแลนด์แกรนด์อินวิเตชั่น. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 เมษายน 2006. สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2006.
  6. "ราชพฤกษ์ 49 คืออะไร". scienceinaction.info. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 กันยายน 2007. สืบค้นเมื่อ 21 พฤษภาคม 2007.
  7. "บทความของสิริมงคล จันทร์ขาว". thaingo.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 กันยายน 2006. สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2006.
  8. ""อนันต์" จวกพืชสวนโลก-ชี้ "ระพี" พูดจริง". มติชน. 10 กันยายน 2006.
  9. "อดีต ส.ว.หอบหลักฐานส่ง คตส.ฟันทุจริต ก.เกษตรฯ 1.7 แสน ���." ผู้จัดการออนไลน์. 6 ตุลาคม 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2006.
  10. ""หน่อย"เร่งล้างฉาว"พืชสวนโลก" แจกปกขาวทั่วม.เกษตรระบุส่อฮั้ว". หนังสือพิมพ์มติชน. 12 กันยายน 2006.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

18°44′56″N 98°55′28″E / 18.7488062°N 98.9243746°E / 18.7488062; 98.9243746