ข้ามไปเนื้อหา

พัวฮูหยิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พัวฮูหยิน (พาน ฟูเหริน)
潘夫人
พาน ชู
潘淑
ภาพวาดของพัวฮูหยินในยุคราชวงศ์ชิง
จักรพรรดินีแห่งง่อก๊ก
ดำรงตำแหน่งมิถุนายนหรือกรกฎาคม ค.ศ. 251 – กุมภาพันธ์หรือมีนาคม ค.ศ. 252
ถัดไปเฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ย
ประสูติไม่ทราบ
นครหนิงปัว มณฑลเจ้อเจียง
สวรรคตกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ค.ศ. 252
นครหนานจิง มณฑลเจียงซู
ฝังพระศพเขาม่วง นครหนานจิง มณฑลเจียงซู
คู่อภิเษกซุนกวน
พระราชบุตรซุนเหลียง

พัวฮูหยิน[1] (สิ้นพระชนม์กุมภาพันธ์หรือมีนาคม ค.ศ. 252[a]) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า พาน ฟูเหริน (จีน: 潘夫人; พินอิน: Pān Fūrén) ชื่อตัว พาน ชู (จีน: 潘淑; พินอิน: Pān Shū)[3] เป็นจักรพรรดินีของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน เป็นจักรพรรดินีพระองค์เดียวของซุนกวนจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊ก แม้ว่าซุนกวนจะมีภรรยาคนอื่นที่อยู่ในลำดับก่อนหน้าพัวฮูหยินก็ตาม พัวฮูหยินเป็นมารดาของซุนเหลียง รัชทายาทของซุนกวนและจักรพรรดิง่อก๊กลำดับที่ 2

ประวัติ

[แก้]

พัวฮูหยินเป็นชาวอำเภอโกวจาง (句章縣 โกวจางเซี่ยน; ภายในนครหนิงปัวในปัจจุบัน) ในเมืองห้อยเข ชื่อตัวของพัวฮูหยินไม่มีการบันทึกในชีวประวัติของพัวฮูหยินในจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ) ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลทีเชื่อถือได้ของประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก อย่างไรก็ตาม เจี้ยนคางฉือลู่ (建康實錄) ระบุว่าชื่อตัวของพัวฮูหยินคือ "ชู" (淑) พัวฮูหยิน (พานฟูเหริน) จึงเป็นที่รู้จักในชื่อ "พาน ชู"[3] บิดาของพัวฮูหยินที่เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยถูกประหารชีวิตฐานกระทำความผิดที่ไม่มีการบันทึกรายละเอียดไว้ พัวฮูหยินถูกบังคับให้เป็นทาสและได้รับมอบหมายให้ทำงานที่โรงงานทอผ้าหลวง ครั้งหนึ่งซุนกวนทรงพบกับพัวฮูหยินและเห็นว่าพัวฮูหยินไม่ธรรมดาจึงรับเป็นพระสนม

พัวฮูหยินเป็นโฉมงาม เป็นที่รู้จักจากรูปโฉมที่ดูเศร้าสร้อย[4] ศาสตรนิพนธ์ประวัติศาสตร์ฉืออี๋จี้ (拾遺記) บรรยายรายละเอียดของการพบกันครั้งแรกระหว่างพัวฮูหยินและซุนกวน รวมไปถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ที่ตามมา ฉืออี๋จี้เล่าว่าพัวฮูหยินมีชื่อเสียงในฐานะหญิงที่งามที่สุดในกังตั๋ง ในช่วงที่พัวฮูหยินยังคงทำงานในโรงงานทอผ้า พัวฮูหยินมีท่าที่ห่างเหินจากผู้อื่นและถูกเรียกเป็นเทพธิดาโดยผู้ร่วมงานในโรงงานทอผ้า หลังซุนกวนทรงได้ยินเรื่องราวนี้จึงมีรับสั่งให้จิตรกรวาดภาพเหมือนของพัวฮูหยิน แม้ว่าพัวฮูหยินในภาพวาดดูหม่นหมอง แต่ซุนกวนก็ประหลาดพระทัยในความงามและตรัสอุทานว่า "นางเป็นเทพธิดาจริง ๆ ความเศร้าของนางดูมีเสน่ห์ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงรอยยิ้มของนางเลย"[5] พัวฮูหยินเป็นหญิงที่มีเสน่ห์ผู้ได้รับความโปรดปรานจากจักรพรรดิซุนกวนเป็นอย่างยิ่ง พัวฮูหยินจึงแสดงออกซึ่งความหึงหวงตามใจตนและไม่เคยหยุดใส่ความและทำร้ายภรรยาคนอื่น ๆ ของซุนกวนจวบจนวาระสุดท้าย[6]

ขณะเมื่อพัวฮูหยินได้รับความโปรดปรานจากซุนกวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซุนโฮพระโอรสองค์ที่ 3 ของซุนกวนเพิ่งขึ้นเป็นรัชทายาทในปี ค.ศ. 242 ซุนกวนตัดสินพระทัยแสดงความให้เกียรติต่อฮองฮูหยินที่เป็นพระมารดาของรัชทายาทโดยการย้ายสนมคนโปรดคนอื่น ๆ ออกไป[7] ด้านพัวฮูหยินได้รับอนุญาตให้อยู่กับซุนกวนแม้ขณะที่กำลังเดินทาง ซุนกวนทรงสร้างวังชื่อหลิวหฺวานไถ (榴環臺) ให้กับพัวฮูหยิน ชื่อของวังมีความหมายว่า "วังแห่งทับทิมและแหวน"[8] หนึ่งปีต่อมาพัวฮูหยินตั้งครรภ์ พัวฮูหยินฝันว่าได้รับศีรษะมังกร ภายหลังจึงให้กำเนิดซุนเหลียง พัวฮูหยินและซุนเหลียงเป็นที่โปรดปรานของซุนกวนจึงได้รับการคาดหวังว่าจะได้ขึ้นเป็นจักรพรรดินีและรัชทายาทตามลำดับ ภายหลังในปี ค.ศ. 250 ภายหลังสิ้นสุดการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างโอรส 2 พระองค์ของซุนกวนคือซุนโฮและซุน ป้า (孫霸) ซุนกวนแต่งตั้งให้ซุนเหลียงเป็นรัชทายาท ในปี ค.ศ. 251 ซุนกวนแต่งตั้งพัวฮูหยินขึ้นเป็นจักรพรรดินี ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีพระสนมคนใด ๆ กระทั่งพระมารดาของรัชทายาทที่ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการให้เป็นจักรพรรดินีเนื่องจากซุนกวนเคยทรงประกาศว่าพระองค์จะไม่แต่งตั้งพระสนมคนใดขึ้นเป็นจักรพรรดินี[9] จะเห็นได้ว่าในบรรดาพระสนมคนโปรดของซุนกวนจำนวนมาก พัวฮูหยินได้รับการยกย่องเป็นพิเศษ

พัวฮูหยินมีความเลื่อมใสในศาสนาพุทธเช่นเดียวกับซุนกวนพระสวามี พระองค์มีส่วนร่วมในการเผยแผ่ศาสนาพุทธและก่อตั้งวัดพุทธแห่งแรกชื่อฮุ่ยเป่าซื่อ (惠寶寺) ในนครบู๊เฉียงซึ่งเป็นนครหลวงเฉพาะกาลของง่อก๊ก[10]

สิ้นพระชนม์

[แก้]

เมื่อซุนกวนทรงพระประชวรหนักในปี ค.ศ. 252 พัวฮูหยินตรัสถามซุน หง (孫弘) หัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (中書令 ช่างชูลิ่ง) เกี่ยวกับวิธีการที่จักรพรรดินีลิเฮา (呂后 ลฺหวี่โฮ่ว) ได้อำนาจมาหลังการสวรรคตของพระสวามี (จักรพรรดิฮั่นโกโจแห่งราชวงศ์ฮั่น) อย่างไรก็ตาม ตัวพัวฮูหยินเองก็ทรงพระประชวรเช่นกันเนื่องจากความเครียดที่ต้องถวายการดูแลซุนกวนอย่างต่อเนื่อง ท้ายที่สุดพัวฮูหยินถูกปลงพระชนม์ขณะที่พระองค์บรรทม ขุนนางง่อก๊กอ้างว่าบรรดาหญิงรับใช้ของพัวฮูหยินรัดพระศอของพระองค์ขณะที่พระองค์บรรทมและอ้างว่าการสิ้นพระชนม์ของพระองค์มาจากสาเหตุธรรมชาติ สาเหตุที่พัวฮูหยินถูกปลงพระชนม์ยังคงเป็นที่ถกเถียง นักประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งรวมถึงหู ซานสิ่ง (胡三省) ผู้เขียนอรรถาธิบายในจือจื้อทงเจี้ยนของซือหม่า กวางเชื่อว่าขุนนางระดับสูงของง่อก๊กสมคบคิดกันเพราะพวกเขากลัวว่าพัวฮูหยินจะเข้ายึดอำนาจในฐานะจักรพรรดินีพันปีหลวงหลังการสวรรคตของซุนกวน [11] การสอบสวนเรื่องการสิ้นพระชนม์ของพัวฮูหยินทำให้คน 6-7 คนถูกประหารชีวิต หลังการสิ้นพระชนม์ของพัวฮูหยิน เหล่าข้าราชบริพารรู้สึกโศกเศร้าและจัดพิธีสวดให้พระองค์[12] ซุนกวนสวรรคตหลังจากนั้นไม่นานในปีเดียวกัน พระศพของพัวฮูหยินได้รับการฝังพร้อมกับซุนกวนในสุสานเตียวเหลง (蔣陵 เจี่ยงหลิง; อยู่ที่เขาจื่อจิน นครหนานจิง มณฑลเจียงซู)[13]

ครอบครัว

[แก้]

นอกเหนือจากบิดาที่รับราชการเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย พัวฮูหยินยังมีพี่สาวซึ่งถูกส่งไปโรงงานทอผ้าด้วยกัน ในปี ค.ศ. 250 พัวฮูหยินทูลขอซุนกวนให้ปลดปล่อยพี่สาวจากการเป็นความเป็นทาสและจัดงานแต่งงานให้พี่สาว ซุนกวนทรงเห็นชอบ ต่อมาพี่สาวของพัวฮูหยินจึงได้สมรสกับถาน เช่า (譚紹) เมื่อซุนเหลียงได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ พระองค์แต่งตั้งให้ถาน เช่าผู้เป็นพระปิตุลาให้เป็นนายกองทหารม้า (騎都尉 ฉีตูเว่ย์) หลังซุนเหลียงถูกปลดจากตำแหน่งจักรพรรดิและลดฐานะลงเป็นอ๋องภายใต้การข่มเหงของซุนหลิม ถาน เช่าก็สูญเสียตำแหน่งราชการและถูกส่งกลับไปบ้านเกิดที่หลูหลิง (廬陵) พร้อมกับครอบครัว[14]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. ชีวประวัติซุนกวนในจดหมายเหตุสามก๊กระบุว่าพัวฮูหยินสิ้นพระชนม์ในเดือน 2 ของศักราชไท่-ยฺเหวียนปีที่ 2 ในรัชสมัยของซุนกวน เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ถึง 27 มีนาคมในปฏิทินจูเลียน[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ("พระเจ้าซุนกวนเลี้ยงบุตรนางพัวฮูหยินให้เปนที่ไทจู๋") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๐". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ April 22, 2024.
  2. [(太元二年)二月,...。皇后潘氏薨.] จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 47
  3. 3.0 3.1 (皇后潘氏暴崩于内宫。后諱淑,會稽句章人,后自織室召入。) เจี้ยนคางฉือลู่ เล่มที่ 2.
  4. (潘以愁而惑人,张既死而不舍。荀妇贾女,俱云绝伦。)อู่จ๋าจู่ เล่มที่ 8.
  5. (吳主潘夫人,父坐法,夫人輸入織室,容態少儔,為江東絕色。同幽者百餘人,謂夫人為神女,敬而遠之。有司聞於吳主,使圖其容貌。夫人憂戚不食,减瘦改形。工人寫其真狀以進,吳主見而喜悅,以虎魄如意撫按即折。嗟曰:“此神女也,愁貌尚能惑人,况在歡樂!”乃命雕輪就織室,納於後宮,果以姿色見寵。) ฉืออี๋จี้ เล่มที่ 8.
  6. (吳主權潘夫人,會稽句章人也。父為吏,坐法死。夫人與姊俱輸織室,權見而異之,召充後宮。得幸有娠,夢有似龍頭授己者,己以蔽膝受之,遂生孫亮。赤烏十三年,亮立為太子,請出嫁夫人之姊,權聽許之。明年,立夫人為皇后。性險妬容媚,自始至卒,譖害袁夫人等甚衆。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 50.
  7. (及和為太子,和母貴重,諸姬有寵者,皆出居外。)จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 50.
  8. (每以夫人遊昭宣之臺,志意幸愜,既盡酣醉,唾於玉壺中,使侍婢瀉於台下,得火齊指環,即掛石榴枝上,因其處起臺,名曰環榴臺。時有諫者雲:“今吳、蜀爭雄,‘還劉’之名,將為妖矣!”權乃翻其名曰榴環臺。又與夫人遊釣台,得大魚。王大喜,夫人曰:“昔聞泣魚,今乃為喜,有喜必憂,以為深戒!”至於末年,漸相譖毀,稍見離退。時人謂“夫人知幾其神”。釣台基今尚存焉。) ฉืออี๋จี้ เล่มที่ 8.
  9. (五年春正月,立子和為太子,大赦。 改禾興為嘉興。 百官奏立皇后及四王,詔曰:“今天下未定,民物勞瘁,且有功者或未錄,饑寒者尚未恤,猥割土壤以豐子弟,祟爵位以寵妃妾,孤甚不取。其釋此議。)จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 47.
  10. (吳潘夫人於武昌建慧寶寺)ฝัวจู๋ถ่งจี้ เล่มที่ 35.
  11. (左右伺其昏睡縊殺之,託言中惡,縊,於賜翻,又於計翻。中惡,暴病而死也。中,竹八翻。後事泄,坐死者六七人。斯事也,實吳用事之臣所爲也。潘后欲求稱制,左右小人正當相與從臾爲之,安有不勝其虐而縊殺之之理!吳史緣飾,後人遂因而書之雲爾。孟子曰:盡信書,不如無書。誠哉!) จือจื้อทงเจี้ยน (ฉบับเพิ่มอรรถาธิบาย) เล่มที่ 75.
  12. (皇后潘氏薨。诸将吏数诣王表請福。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 47.
  13. (權不豫,夫人使問中書令孫弘呂后專制故事。侍疾疲勞,因以羸疾,諸宮人伺其昏卧,共縊殺之,託言中惡。後事泄,坐死者六七人。權尋薨,合葬蔣陵。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 50.
  14. (孫亮即位,以夫人姊婿譚紹為騎都尉,授兵。亮廢,紹與家屬送本部廬陵。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 50.

บรรณานุกรม

[แก้]
ก่อนหน้า พัวฮูหยิน ถัดไป
ราชวงศ์ใหม่ จักรพรรดินีจีน
ง่อก๊ก

(ค.ศ. 251 – 252)
เฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ย