พระทีปังกรพุทธเจ้า
พระทีปังกรพุทธเจ้า | |
---|---|
พระทีปังกรพุทธเจ้า ณ วัด Erdene Zuu จังหวัดเออเวอร์ฮังไก ประเทศมองโกเลีย | |
สันสกฤต | ทีปํกร |
บาลี | ทีปํกร |
พม่า | ဒီပင်္ကရာ ([dìpɪ̀ɰ̃kəɹà]) |
จีน | 燃燈佛 (Rándēng Fo) |
มองโกเลีย | ᠵᠣᠯᠠ ᠢᠢᠨ ᠵᠥᠬᠢᠶᠠᠭᠴᠢ᠂ ᠳᠢᠸᠠᠩ᠋ᠭᠠᠷ; Зулын Зохиогч, Дивангар; Zula yin Zohiyagci, Divangar |
ไทย | พระทีปังกรพุทธเจ้า |
ทิเบต | mar me mdzad |
ข้อมูล | |
นับถือใน | เถรวาท, มหายาน, วัชรยาน |
พระลักษณะ | ผู้ให้กำเนิดแสงสว่าง |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
พระทีปังกรพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ในโลกเมื่อ 4 อสงไขยแสนกัปที่แล้ว[1] ถือเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์แรกในพุทธวงศ์ของพระโคตมพุทธเจ้า เรื่องราว��องพระองค์ปรากฏทั้งในหลักฐานฝ่ายเถรวาทและมหายาน นามของพระองค์หมายถึงผู้ยังแสงสว่างให้เกิดขึ้น ชื่ออื่น ๆ ของพระองค์ได้แก่ พระสมันตประภาพุทธเจ้า พระประทีปประภาพุทธเจ้า พระสมาธิประภาพุทธเจ้า หรือพระปัจฉิมพุทธะทีปังกร
ในอดีตกาลมีพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร 2 พระองค์ จึงเรียกพระองค์แรกว่าพระปุราณทีปังกร (ปุราณ แปลว่า เก่า) และเรียกพระองค์หลังว่าพระปัจฉิมทีปังกร (ปัจฉัม แปลว่า หลัง)
พระประวัติ
[แก้]ในคัมภีร์พุทธวงศ์ บทพุทธปกิรณกกัณฑ์ กล่าวถึงประวัติของพระทีปังกรพุทธเจ้าไว้ว่า เมื่อศาสนาพระสรณังกรพุทธเจ้าอันตรธานไป ในสารมัณฑกัปเดียวกัน มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติเป็นองค์ที่ 4 และเป็นองค์สุดท้ายของกัปนั้น พระนามว่า "ทีปังกร"[2]
พระทีปังกรพุทธเจ้าประสูติเป็นทีปังกรราชกุมาร รัมมวดีนคร พระบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าสุเทพ และพระมารดาทรงพระนามว่าพระนางสุเมธาเทวี ทีปังกรราชกุมารทรงเกษมสำราญอยู่ 10,000 ปี ในปราสาท 3 หลัง ชื่อว่า หังสา โกญจา และมยุรา เหมาะสมตามฤดูทั้ง 3 มีพระมเหสีนามว่าปทุมาเทวี และทรงมีสนมนารีแวดล้อมอีก 300,000 นาง วันหนึ่ง ทีปังกรราชกุมารเสด็จประพาสอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ พระองค์จึงมีพระทัยน้อมไปทางบรรพชา[1]
เมื่อพระนางปทุมาเทวีประสูติพระโอรส พระนามว่า อุสภักขันธกุมาร จึงได้เสด็จออกบรรพชาในราชอุทยานนั้นด้วยคชยาน 84,000 เชือก มีผู้ออกบรรพชาตามจำนวนโกฏิหนึ่ง หลังจากทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่เป็นเวลา 10 เดือน ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ พระองค์ก็นำบริษัทเข้าไปบิณฑบาตข้าวปายาสในนคร ตอนเย็นทรงปลีกจากคณะ ทรงรับหญ้า 8 กำ จากอาชีวกชื่อ อานันทะ และนำมาปูลาดเป็นโพธิบัลลังก์ใต้ต้นเลียบ (ต้นมะกอก) ปราบพระยามารกับพลมารนับอสงไขย และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคืนนั้น พระทีปังกรพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา แก่พระภิกษุผู้บรรพชาตามจำนวนโกฏิหนึ่ง ที่สุนันทาราม ทำให้พระภิกษุโกฏิหนึ่งนั้นสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล[1]
ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระทีปังกรพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น 3 วาระ คือ[1]
- วาระที่ 1 แสดงปฐมเทศนา ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา 100 โกฏิ
- วาระที่ 2 แสดงธรรมแก่ อุสภักขันธกุมาร ราชโอรส ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา 100,000 โกฏิ
- วาระที่ 3 แสดงธรรมบนดาวดึงส์เทวโลกโปรดพุทธมารดา ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่เทวดา 90,000 โกฏิ
พระทีปังกรพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต 3 ครั้ง
- ครั้งที่ 1 ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวกและเทวดา 100,000 โกฏิ ณ สุนันทาราม
- ครั้งที่ 2 ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก 100 โกฏิ ณ นารทกูฏ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์ทรมานนารทยักษ์พร้อมบริวารหมื่นหนึ่ง ให้อยู่ในโสดาปัตติผล และทรงบวชมนุษย์ 100 โกฏิที่นำมาพลีกรรมยักษ์ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ภิกษุเหล่านั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดภายใน 7 วัน
- ครั้งที่ 3 ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก 90,000 โกฏิ ณ ภูเขาสุทัสสนะ
พระทีปังกรพุทธเจ้ามีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
- พระอัครสาวก คือ พระสุมังคลเถระ และพระติสสเถระ
- พระอัครสาวิกา คือ พระนันทาเถรี และพระสุนันทาเถรี
- พระอุปัฏฐาก คือ พระสาคตะเถระ
พระทีปังกรพุทธเจ้ามีพระวรกายสูง 80 ศอก เมื่อพระชนมายุได้ 100,000 ปี จึงปรินิพพานที่นันทาราม[1] หลังจากนั้นพุทธศาสนาของพระองค์ก็ดำรงอยู่ต่อมานานถึง 100,000 ปี จึงอันตรธานไป[3]
ความเกี่ยวข้องกับพระโคตมพุทธเจ้า
[แก้]ในสมัยพระทีปังกรพุทธเจ้า พระโคตมพุทธเจ้าได้เสวยพระชาติเป็นสุเมธดาบส ได้นอนทอดตนบนเปือกตมให้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นและพระสาวกเหยียบข้ามไป จึงได้รับพุทธพยากรณ์ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า พระนามว่า พระโคตมพุทธเจ้า[4]
ความเชื่อของฝ่ายมหายาน
[แก้]ในอุโบสถของฝ่ายมหายาน จะสร้างพระรูปของพระทีปังกรอยู่ในตำแหน่งของพระพุทธเจ้าในอดีตของพระพุทธแห่งตรีกาล ชาวจีนเชื่อว่าวันประสูติของพระองค์คือ วันที่ 22 เดือนแปดจีน หลักฐานที่กล่าวถึงพระองค์ในพระสูตรของฝ่ายมหายาน ได้แก่[5]
- พุทธมูลจริยาสูตร กล่าวว่าเมื่อทรงอุบัติขึ้น ได้เกิดมหาประทีปดวงใหญ่ขึ้นเอง ซึ่งประทีปนี้อาจเป็นสัญลักษณ์ถึงปัญญาญาณของพระพุทธเจ้า
- วิมลเกียรตินิทเทสสูตร กล่าวถึงประทีปที่เกิดในสมัยพระทีปังกรพุทธเจ้าสามารถจุดต่อประทีปอื่นๆได้เป็นจำนวนพัน เปรียบได้กับการที่พระโพธิสัตว์ได้สืบต่อภาระหน้าที่ในการสั่งสอนสรรพสัตว์ให้เข้าถึงโพธิญาณ และกล่าวว่าเหตุที่มีประทีปเกิดขึ้นพร้อมพระทีปังกร เพราะครั้งหนึ่งได้เติมน้ำมันประทีปบูชาพระพุทธเจ้าทุกวันโดยไม่ย่อท้อ
- ฉปารมิตาสูตร กล่าวว่าพระทีปังกรเคยอุทิศร่างกายต่างประทีปจุดบูชาพระพุทธเจ้า จึงได้รับพุทธพยากรณ์ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลต่อไป
- อาคมสูตรและมหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ กล่าวว่าพระทีปังกรเป็นผู้ประทานพุทธพยากรณ์แก่พระศากยมุนีพุทธเจ้า
ความเชื่อของลัทธิอนุตตรธรรม
[แก้]ลัทธิอนุตตรธรรมเชื่อว่า พระแม่องค์ธรรมได้มอบหมายให้พระทีปังกรพุทธเจ้ามาเกิด เพื่อทำหน้าที่ฉุดช่วยนำพาวิญญาณเวไนยสัตว์ทั้งหลายให้กลับสู่แดนนิพพาน ซึ่งเป็นบ้านเดิมของวิญญาณทุกดวง ยุคนี้เรียกว่าธรรมกาลยุคเขียว[6] ซึ่งครอบคลุมระยะเวลา 1,886 ปี (3,086-1,200 ก่อน ค.ศ.)
ต่อมา พระแม่องค์ธรรมได้ส่งพระศากยมุนีพุทธเจ้ามาปกครองธรรมกาลยุคถัดมา เมื่อพระโคดมตั้งปณิธานได้ 7 วันว่าถ้าหากไม่ได้ตรัสรู้ก็จะไม่ลุกจากที่นั่ง พระแม่องค์ธรรมสงสารพระโคดมที่ลำบากบำเพ็ญเพียรมา 6 ปียังไม่บรรลุ จึงให้พระทีปังกรพุทธเจ้าจำแลงเป็นดาวประกายพรึกมาเปิดจุดญาณทวารให้ พระโคดมจึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า[7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 ทีปังกรพุทธวงศ์ที่ 1. พระไตรปิฎก เล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 25 ขุททกนิกาย อปทาน ภาค 2 -พุทธวังสะ
- ↑ พุทธปกิรณกกัณฑ์, พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ พุทธวังสะ
- ↑ อรรถกถาโกณฑัญญพุทธวงศ์, มธุรัตถวิลาสินี
- ↑ พุทธวงศ์ ประวัติพระพุทธเจ้า 25 พระองค์. กทม. โรงพิมพ์การศาสนา. 2541. หน้า 14-28
- ↑ วิศวภัทร มณีปัทมเกตุ. พระพุทธเจ้าและพระธรรมสูตรฝ่ายมหายาน. กรุงเทพฯ : หมื่นคุณธรรมสถาน. 2549 Online version[ลิงก์เสีย]
- ↑ ศุภนิมิต (นามแฝง), สายทอง (พงศาธรรม), กรุงเทพฯ : ส่งเสริมสุขภาพชีวิต, หน้า 24-28
- ↑ "การปรากฏของเอกอัครมหาบุรุษของโลก". เอกอนันต์. สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2558.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
ดูเพิ่ม
[แก้]
ก่อนหน้า | พระทีปังกรพุทธเจ้า | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระสรณังกรพุทธเจ้า | พระพุทธเจ้าในอดีต องค์ที่ ๔ (100,000 ปี) |
พระโกณฑัญญพุทธเจ้า (100,000 ปี) |