การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปยังต่างประเทศในทวีปยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสยาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสานสัมพันธไมตรีแก่ประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป เพื่อให้ประเทศที่พระองค์เสด็จประพาสเหล่านั้นมองเห็นว่าประเทศสยามเป็นประเทศที่มีการพัฒนาตนเองและไม่ได้ล้าหลังป่าเถื่อน และเพื่อโอกาสในการร่วมกันแก้ไขปัญหาความมั่นคงและส่งเสริมความเป็นเอกราชของประเทศสยาม แม้จะอยู่ในช่วงท่ามกลางยุคล่าอาณานิคมก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะมีมูลเหตุมาจากกรณีพิพาทระหว่างสยามกับฝรั่งเศสในเหตุการณ์วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 หรือในปี พ.ศ. 2436 ที่ทำให้สยามเสียดินแดนมากที่สุดเท่าที่มีการเสียดินแดนให้แก่ชาติตะวันตก ผลจากการเสด็จพระราชดำเนินดังกล่าวนั้นทำให้พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่มาจากทวีปเอเชียที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนทวีปยุโรปอย่างจริงจัง
สำหรับประเทศที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินจากทั้งสองครั้ง มีดังต่อไปนี้
- ราชอาณาจักรเดนมาร์ก
- ราชอาณาจักรนอร์เวย์ (เฉพาะครั้งที่สอง)
- ราชอาณาจักรเนเธอแลนด์ (เฉพาะครั้งที่หนึ่ง)
- สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์
- ราชอาณาจักรเบลเยียม
- ราชอาณาจักรโปรตุเกส (เฉพาะครั้งที่หนึ่ง)
- สาธารณรัฐฝรั่งเศส
- ราชรัฐโมนาโก
- จักรวรรดิเยอรมนี
- จักรวรรดิรัสเซีย
- ราชอาณาจักรสเปน (เฉพาะครั้งที่หนึ่ง)
- สมาพันธรัฐสวิส
- สหราชอาณาจักรสวีเดนและนอร์เวย์ (เฉพาะครั้งที่หนึ่ง)
- จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (เฉพาะครั้งที่หนึ่ง)
- ราชอาณาจักรอิตาลี
สำหรับรายละเอียดแต่ละครั้ง มีดังต่อไปนี้
ครั้งที่หนึ่ง
พระบรมฉายาลักษณ์จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซียกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี 2440 | |
วันที่ | 7 เมษายน – 16 ธันวาคม พ.ศ. 2440 |
---|---|
ระยะเวลา | 253 วัน |
การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 การเสด็จประพาสแบบส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เพื่อเป็นการแสดงให้บรรดาประเทศมหาอำนาจในยุโรปเห็นว่าสยามมิได้ล้าหลังและป่าเถื่อน โดยทรงบรรยายความในพระทัยลงในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ที่มีถึงสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (ที่พระองค์ตรัสเรียกอย่างลำลองว่า ‘แม่เล็ก’) ครั้งเสด็จฯ เยือนฝรั่งเศสว่า
ถึงแม่เล็ก,
ด้วยตั้งแต่ฉันออกมาครั้งนี้ ยังไม่เคยได้ความคับแค้นเดือดร้อนเหมือนอย่างครั้งนี้เลย การที่แม่เล็กรู้สึกหนักในเรื่องที่ฉันจะมาเมืองฝรั่งเศสประการใด ขอให้เข้าใจว่าฉันหนักกว่าสิบเท่าอยู่แล้ว เพราะเป็นผู้ที่มาเอง
เนื่องจากสยามต้องเจ็บช้ำน้ำใจจากกรณีพิพาทครั้งสำคัญกับฝรั่งเศสในเหตุการณ์วิกฤติการณ์ปากน้ำหรือวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112[1]
พระองค์พร้อมคณะได้เสด็จพระราชดำเนินประทับเรือพระที่นั่งมหาจักรีออกจากท่าราชวรดิษฐ์เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2440 และในการนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวีเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ โดยสมเด็จพระนางเจ้าได้ถูกเรียกขานพระนามในยุคนั้นว่า สมเด็จรีเจนท์ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งสำคัญในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งนี้คือการได้เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 พร้อมกับฉายพระรูปเพื่อส่งไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับในยุโรป เพื่อเป็นการตอบแทนที่พระเจ้าซาร์เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสยามเมื่อ พ.ศ. 2433 โดยมีบรรดาพระราชโอรสที่เจริญพระชนมายุแล้วรวมถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารร่วมเดินทางไปด้วย
พระองค์พร้อมคณะได้เสด็จนิวัติพระนครพร้อมกับพระราชทานพระราชดำรัสแก่ปวงชนชาวสยามเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2440 รวมเวลาที่เสด็จประพาสทั้งสิ้น 253 วันหลังจากนั้นพระองค์ได้สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวีขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ นับเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกของสยาม
ครั้งที่สอง
วันที่ | 27 มีนาคม 2450 – 17 พฤศจิกายน 2450 |
---|---|
ระยะเวลา | 225 วัน |
เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เป็นการเสด็จประพาสแบบส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. 2450 เพื่อรักษาพระวรกายแบบสปาบำบัดตามคำแนะนำของแพทย์ส่วนพระองค์ชาวต่างชาติที่เมืองบาเดิน-บาเดินและบาทฮ็อมบวร์ค ประเทศเยอรมนี
นอกจากนี้พระองค์ยังได้เสด็จประพาสยุโรปเพื่อทรงลงพระนามเป็นสัตยาบันในสนธิสัญญาฉบับ พ.ศ. 2450 กับฝรั่งเศสที่กรุงปารีสเมื่อวันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2450 เพื่อแลกเปลี่ยนดินแดนจันทบุรีและตราดกับพระตะบอง เสียมราฐและศรีโสภณ เพราะดินแดนที่ต้องเสียให้แก่ฝรั่งเศสไปนั้นเป็นดินแดนที่พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ กษัตริย์กัมพูชาซึ่งทรงอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสมีพระประสงค์ให้มาขึ้นอยู่กับพระองค์ เนื่องจากเมืองดังกล่าวมีชาวเขมรอาศัยเป็นจำนวนมาก และเพื่อทรงติดต่อโรงหล่อซุสแฟร์เพื่อหล่อพระบรมรูปทรงม้า ต่อจากนั้นได้เสด็จประพาสอังกฤษในการเจรจาเรื่องการกู้เงินเพื่อก่อสร้างทางรถไฟจากประจวบคีรีขันธ์ไปยังหัวเมืองมลายู หลังจากนั้นได้เสด็จประพาสเพื่อเยี่ยมชมความเป็นอยู่ของชาวยุโรปและเพื่อทอดพระเนตรสถานที่สำคัญและศิลปวัฒนธรรม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินออกจากพระนครพร้อมด้วยผู้ตามเสด็จเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2450 ที่ท่าราชวรดิฐและเสด็จประพาสประเทศในยุโรปถึง 10 ประเทศ ใช้เวลานานถึง 7 เดือน รวมทั้งสิ้น 225 วัน ก่อนจะเสด็จนิวัติพระนครเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450
ซึ่งตลอด 225 วันพระองค์ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี พระราชธิดาซึ่งทรงทำหน้าที่เป็นราชเลขานุการิณีจำนวนทั้งสิ้น 43 ฉบับซึ่งต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพระราชหัตถเลขาทั้งหมดไปตีพิมพ์โดยโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ชื่อว่า ไกลบ้าน โดยรวมการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ละครั้งเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินพระราชวิเทโศบายทางการทูตและการปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัยเพื่อให้ประเทศมหาอำนาจตะวันตกยอมรับสถานะของประเทศสยามในฐานะรัฐเอกราชที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังพระราชดำรัสความว่า “ได้จากบ้านเมืองมาไกลปานนี้ไม่ได้มาเปล่า แต่จะเป็นผู้นำระเบียบการงานอันนี้กับทั้งความรู้ไปเป็นครูบอกเล่าพวกเราทั้งหลายให้ความรู้ดียิ่งขึ้น และช่วยกันยกชาติให้เรารุ่งเรืองด้วยวิชาและอำนาจเสมอกับประเทศทั้งปวงที่เราจะได้เห็น เราจะได้ไม่ต้องน้อยหน้าเขา”
อ้างอิง
- ↑ "ตามรอยพระบาทรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เยือนหอไอเฟลเมื่อ 120 ปีก่อน". The Cloud. 16 กรกฎาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2018.