สถาปัตยกรรมอาสนวิหารในยุโรปตะวันตก

สถาปัตยกรรมการก่อสร้างอาสนวิหารในยุโรปตะวันตก เป็นบทความที่บรรยายถึงลักษณะสิ่งก่อสร้างของอาสนวิหารทางคริสต์ศาสนา ที่รวมทั้งสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะใกล้เคียงกับอาสนวิหารในยุโรปตะวันตก

อาสนวิหารโคโลญ, ประเทศเยอรมนี มีหอสูงที่สุดในโลก
อาสนวิหารซอลสบรี (1220-1380) จากมุมตะวันออก มีหอสูงที่สุดในอังกฤษ
อาสนวิหารเบอร์มิงแฮม (Birmingham Cathedral) อังกฤษ
อาสนวิหารเกิร์ค (Gurk Dom) ออสเตรีย

อาสนวิหาร คือโบสถ์ประจำตำแหน่งของมุขนายก ที่ใช้เป็นศูนย์กลางของมุขมณฑลมุขนายกตามที่กำหนดไว้[1] อาสนวิหารเป็นที่เป็นที่ตั้งของ “คาเทดรา” (bishop's cathedra) และเป็นสถานที่ทางคริสต์ศาสนาที่ใช้ในการนมัสการ (โดยเฉพาะสำหรับนิกายที่มีระบบฐานันดรกา��ปกครองเช่น โรมันคาทอลิก ออร์ทอดอกซ์ หรือแองกลิคัน) ขนาดของสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาสนวิหารไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตเสมอไป อาจจะมีขนาดเล็กอย่างเช่นอาสนวิหารออกซฟอร์ด หรือ อาสนวิหารเชอร์ที่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ก็ได้ แต่โดยทั่วไปแล้วอาสนวิหารมักจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดและเด่นที่สุดในท้องถิ่นที่ตั้งอยู่[2]

บทบาทของอาสนวิหาร

แก้
 
อาสนวิหารลียง

เหตุผลที่ทำให้อาสนวิหารมักจะเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่คือ:

  • อาสนวิหารเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้า ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดและโอฬารที่สุดเท่าที่ฐานะและความเชี่ยวชาญจะอำนวย[3]
  • อาสนวิหารเป็นโบสถ์ประจำตำแหน่งของมุขนายกและเป็นที่กระทำคริสต์ศาสนพิธี หรือการบวชซึ่งเป็นพิธีที่มีผู้เข้าร่วมพิธีกันมากทั้งเคลอจีและคริสต์ศาสนิกชนอื่น ๆ
  • อาสนวิหารเป็นที่ประชุมและพบปะทั้งทางศาสนาและทางกิจกรรมของชุมชน ไม่เฉพาะแต่ชุมชนในท้องถิ่น ในบางโอกาสจะเป็นสถานที่สำหรับการพบปะหรือประชุมทั้งคริสต์มณฑล หรือในการประชุมระดับชาติ
  • อาสนวิหารส่วนใหญ่เคยเป็นอารามมาก่อน จึงอาจจะเคยมีนักพรตอาศัยอยู่จำนวนมาก นักพรตจะอยู่อาศัยและทำงานในอารามรวมทั้งกิจการหลักคือใช้อารามเป็นที่อธิษฐานและรำพึงธรรมกันวันละหลายครั้ง และบางครั้งก็อาจจะอธิษฐานแยกกันออกไปตามคูหาสวดมนต์เล็ก หรือรำพึงธรรมป็นส่วนตัวภายในอาสนวิหาร
  • อาสนวิหารในบางครั้งใช้เป็นที่ฝังศพของผู้อุปถัมภ์ที่ร่ำรวย ซึ่งอาจจะยกเงินถวายวัดเพื่อการขยายเพิ่มเติมหรือบูรณปฏิสังขรณ์ อาสนวิหารจึงต้องมีขนาดใหญ่เพื่อให้สมกับฐานะของผู้ศรัทธา
  • บางครั้งอาสนวิหารมักจะเป็นที่เก็บรักษาเรลิกของนักบุญหรือผู้มีความสำคัญทางศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งดึงดูดผู้มาแสวงบุญเป็นจำนวนมาก
  • อาสนวิหารเป็นสิ่งก่อสร้างคู่บ้านคู่เมืองที่แสดงถึงฐานะความมีหน้ามีตาของเมืองที่ตั้ง

มุขนายกริ่มมีบทบาททางการบริหารมาตั้งแต่ศาสนาคริสต์ยุคแรกราวคริสต์ศตวรรษที่ 1[4] หลังจากนั้นอีกสองร้อยปีต่อมาจึงได้มีการก่อสร้างอาสนวิหารขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงโรม หลังจากคริสต์ศาสนาถูกประกาศให้เป็นศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมายของจักรวรรดิโรมันโดยจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 เมื่อปี ค.ศ. 313 การก่อสร้างโบสถ์ก็แพร่ขยายขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่โรมเองก็มีการสร้างอาสนวิหารใหญ่ถึงห้าแห่ง โบสถ์ทั้งห้าแห่งนี้ถึงจะมีการบูรณะปฏิสังขรณ์หลายครั้งแต่ก็ยังเป็นโบสถ์ที่ใช้ในการทำพิธีศาสนากันมาจนถึงทุกวันนี้ เช่นอาสนวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรันที่วาติกัน[5]

รูปทรงของอาสนวิหารก็ขึ้นอยู่กับการใช้สอยทางคริสต์ศาสนพิธีและองค์ประกอบอื่น ๆ อาสนวิหารก็เช่นเดียวกับโบสถ์คริสต์โดยทั่วไป คือเป็นสถานที่สำหรับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นที่อ่านคัมภีร์ไบเบิล เป็นที่เทศนา เป็นที่ร้องเพลงสวด และเป็นที่สวดมนต์ของนักบวชและคริสต์ศาสนิกชน ความแตกต่างของอาสนวิหารจากโบสถ์ธรรมดาคือสิ่งใดที่ทำในอาสนวิหารจะใหญ่กว่าและมีกระบวนการมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อมีการจัดพิธีการสำคัญ ๆ ที่บาทหลวงเป็นผู้ประธานเช่น การโปรดศีลกำลัง (Confirmation) หรือการบวช (Ordination) นอกจากนั้นอาสนวิหารยังเป็นสถานที่ทำพิธีที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นหรือรัฐบาลที่ไม่ใช่พิ��ีทางศาสนาโดยตรง เช่นการแต่งตั้งนายกเทศมนตรี หรือพิธีราชาภิเษก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของอาสนวิหาร[3]

นอกจากนั้นอาสนวิหารมักจะเป็นสถานที่ที่นักแสวงบุญพากันมาสมโภชวันสำคัญ ๆ ทางศาสนา หรือมาสักการะคูหาที่เป็นที่เก็บเรลิกของนักบุญองค์ใดองค์หนึ่ง ฉะนั้นทางปลายด้านตะวันออกของอาสนวิหารที่มักใช้เป็นที่เก็บร่างหรือเรลิกของนักบุญจึงมักจะต้องทำให้กว้างใหญ่เพียงพอทีจะต้อนรับขบวนนักแสวงบุญที่พาเข้ากันมาสักการะเรลิกของนักบุญ[6]

สิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้อง

แก้
 
เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ

แม้ว่าสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ที่ครอบคลุมในบทความนี้จะกล่าวถึงสถาปัตยกรรมทางศาสนาของอาสนวิหาร แต่นอกจากอาสนวิหารแล้วก็ยังรวมสถาบันที่มีองค์ประกอบคล้ายอาสนวิหารข้างล่างนี้ด้วย

ยุคสถาปัตยกรรม

แก้
 
ผังของอาสนวิหารเซนต์ปีเตอร์แสดงให้เห็นองค์ประกอบต่าง ๆ

การสร้างอาสนวิหารเริ่มกันมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน และเผยแพร่ไปทั่วโลก เมื่อเริ่มแรกสิ่งก่อสร้างจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นและวิธีการก่อสร้างก็เจาะจงเฉพาะในท้องถิ่นนั้น แต่ต่อมาลักษณะของอาสนวิหารจะเปลี่ยนไปตามยุคของสถาปัตยกรรม และตามการเผยแผ่ของคณะนักบวชต่าง ๆ ในคริสต์ศาสนา เพราะเมื่อลัทธิเหล่านี้ขยายตัวก็ทำให้มีความจำเป็นต้องสร้างอารามขึ้นเพื่อให้เป็นที่สำหรับนักบวชอาศัยและเป็นศูนย์กลางของการปกครองของมุขนายกที่ถูกส่งไปจาก “โบสถ์แม่” (Mother Church) สถาปัตยกรรมลักษณะต่างก็จะติดตามไปด้วยกับมุขนายกและช่างแกะสลักหินผู้ติดตามสังฆราช และเป็นผู้��ีหน้าที่เป็นสถาปนิกของอารามไปด้วยในตัว[7]

ลักษณะการก่อสร้างอาสนวิหารแบ่งเป็นลักษณะที่ใช้กันทั่วไปได้ดังนี้[8]

จากลักษณะทั่วไปที่กล่าวมานี้แล้ว แต่ละท้องถิ่นก็ยังมีลักษณะเฉพาะตัวผสมเข้าไปด้วย ทำให้สถาปัตยกรรมบางแบบจะปรากฏเฉพาะบางประเทศหรือบางท้องที่เท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้จากการก่อสร้างอาสนวิหารที่ใช้เวลาก่อสร้างในช่วงเวลาที่ห่างกันเป็นร้อยๆปี[8]

ที่มาของสิ่งก่อสร้าง

แก้
 
อาสนวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน แสดงให้เห็นระเบียงฉันนบถและซุ้มคอร์ทยาร์ด (courtyard) ที่ตกแต่งโดยตระกูลคอสมาติ (Cosmati family)
 
อาสนวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน กรุงโรม ผังของบาซิลิกามาหยุดที่คูหาโค้งบริเวณที่ทำพิธี ฟรานเซสโก บอโรมินิ มาเปลี่ยนทางเดินสู่แท่นบูชาเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17th
 
ที่บรรจุศพที่วัดซานตาคอสแตนซา (Mausoleum of Santa Costanza) ที่โรมมีชาเปลกลมสร้างโดยพระเจ้าคอนแสตนตินเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 4
 
ผังของอาสนวิหารเซนต์ปีเตอร์

โครงสร้างของอาสนวิหารวิวัฒนาการมาจากสิ่งก่อสร้างโรมันโบราณซึ่งประกอบด้วย

  • โบสถ์ในบ้าน (house church)
  • เอเทรียม (atrium)
  • บาซิลิกา (basilica)
  • ยกพื้น (bema)
  • ที่เก็บศพ (mausoleum)
  • ผังที่เป็นกากบาท (Greek cross) หรือ กางเขน (Latin cross)

โบสถ์ในบ้าน

แก้

การสร้างโบสถ์ใหญ่ ๆ ทางคริสต์ศาสนาเริ่มสร้างกันที่กรุงโรมเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 4 เมื่อจักรพรรดิคอนแสตนตินที่ 1 ประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมายของจักรวรรดิโรมัน โบสถ์ใหญ่ ๆ ที่สร้างสมัยนั้นก็ได้แก่ “อาสนวิหารซันตามาเรียมัจโจเร” “อาสนวิหารนักบุญเปโตร ” และ “อาสนวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน” ทั้งสามอาสนวิหารล้วนแต่มีรากฐานมาจากคริสต์ศตวรรษที่ 4 แต่ที่สำคัญที่สุดคืออาสนวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน ซึ่งถือว่าเป็นอาสนวิหารแห่งกรุงโรม โครงสร้างจากศตวรรษที่ 4 ของโบสถ์นี้เหลืออยู่เพียงฐาน[9]

เอเทรียม

แก้

ชุมชนคริสต์ศาสนิกชนและชาวโรมันจะทำการสักการบูชาภายในที่อยู่อาศัยของตนเอง ในสมัยต่อมาก็มีการสร้างวัดขึ้นจากบ้านที่เดิมเคยใช้เป็นสถานที่สักการะ บ้านเหล่านี้ก็ยังเห็นกันอยู่บ้างในปัจจุบัน โครงสร้างเดิมไม่เหลือนอกจากส่วนที่เป็นเอเทรียม หรือ ลานที่มีซุ้มรอบ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือที่บาซิลิกาซานเคลเมนท์เท (Basilica of San Clemente) ที่โรม เอเทรียมกลายมาเป็นโครงสร้างที่นิยมใช้กันต่อมาที่มาเรียกกันว่าระเบียงฉันนบถโดยเฉพาะอาราม ระเบียงคดที่ว่านี้มักจะสร้างติดกับตัวอาสนวิหารทางด้านใต้เป็นซุ้มรอบลานสี่เหลี่ยม ระเบียงฉันนบถที่ยังหลงเหลือในปัจจุบันส่วนใหญ่จะสร้างมาตั้งแต่สมัยโรมาเนสก์ แต่ที่เป็นแบบกอธิคก็มีบ้างเช่นที่ อาสนวิหารซอลสบรี หรือ อาสนวิหารกลอสเตอร์ ที่อังกฤษ

บาซิลิกา

แก้

โบสถ์ในสมัยแรกมิได้เริ่มจากโบสถ์โรมันเพราะโบสถ์โรมันมิใช่เป็นสถานที่สำหรับการพบปะกันของคนกลุ่มใหญ่ ส่วนใหญ่ภายในโบสถ์โรมันจะไม่มีที่ว่างมากสำหรับผู้มาชุมนุมกัน สิ่งก่อสร้างที่ชาวโรมันใช้ในการประชุมหรือพบปะสำหรับคนกลุ่มใหญ่ หรือที่ใช้เป็นตลาด หรือศาลคือสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า “บาซิลิกา” (basilica) ซึ่งนำเอามาเป็นแบบอย่างในการสร้างโบสถ์คริสต์ใหญ่ ๆ และบางแห่งก็ยังคงเรียกกันว่าบาซิลิกา ทั้งบาซิลิกาและสถานที่อาบน้ำสาธารณะของโรมันจะสร้างภายใต้หลังคาโค้งสูงมีคูหารอบ ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมบาซิลิกาโรมันคือด้านหน้าและด้านหลังจะเป็นมุขโค้งที่ยื่นเป็นครึ่งวงกลมออกมา (exedra หรือ apse) ซึ่งจะใช้เป็นที่นั่งศาล ลักษณะมุขโค้งนี้ก็เอามาใช้ในสถาปัตยกรรมการสร้างอาสนวิหาร[9] โดยเฉพาะทางด้านตะวันออกหรือด้านหลังของวัด ซึ่งเป็นบริเวณที่สำคัญที่สุดของวัด ทางด้านหน้าส่วนใหญ่จะปาดเรียบ

โบสถ์ใหญ่แห่งแรกที่สร้างคืออาสนวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรันที่กรุงโรม ด้านหนึ่งเป็นมุขยื่นออกมาและอีกด้านหนึ่งเป็นซุ้มรอบโถงกลาง เมื่อคริสต์ศาสนพิธีวิวัฒนาการขี้น กระบวนแห่ของนักบวช นักร้องเพลงสวด หรือสิ่งประกอบพิธีเข้ามาในวัดก็เป็นส่วนหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมา จึงเกิดการทำประตูสำหรับให้ขบวนเดินเข้ามาในโบสถ์ ประตูนี้มักจะอยู่มุมใดมุมหนึ่งของวัด ในขณะที่ประตูสำหรับคริสต์ศาสนิกชนผู้เข้าร่วมทำพิธีจะอยู่กลางด้านใดด้านหนึ่งของสิ่งก่อสร้างตามกฎของการสร้างบาซิลิกา ซึ่งสถาปัตยกรรมการก่อสร้างอาสนวิหารใช้เป็นหลักต่อมา[10]

ยกพื้น

แก้

เมื่อมีนักบวชเพิ่มขึ้นความต้องการเนี้อที่ในการทำพิธีภายในก็มากขึ้น มุขโค้งท้ายโบสถ์ซึ่งเป็นที่ตั้งแท่นบูชาหรือแท่นซึ่งเป็นที่วางเครื่องสำหรับทำพิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ เช่น ขนมปังและเหล้าองุ่นก็ใหญ่ไม่พอที่จะรับนักบวชที่เข้ามาร่วมทำพิธี จึงจำเป็นต้องมีการขยายบริเวณนั้นโดยการยกบริเวณพิธีให้สูงขึ้นจากระดับพื้นของวัดอย่างที่สถาปัตยกรรมแบบโรมันเรียกว่า “bema” ยกพื้นจึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบริเวณพิธี เช่นที่อาสนวิหารนักบุญเปโตรที่ยกพื้นยื่นเลยออกไปจนถึงทางขวางจนทำให้เหมือนรูปตัว “T” และมีมุขโค้งยื่นออกไปด้านหลัง รูปทรงของโบสถ์จึงเริ่มกลายมาเป็นทรงกางเขนแบบละติน (Latin cross) ซึ่งเป็นผังที่นิยมกันในการสร้างอาสนวิหารส่วนใหญ่ทางยุโรปตะวันตก โดยที่แนวดิ่งของกางเขน หรือแนวตะวันตกตะวันออก หรือส่วนที่ยาวกว่าของกางเขนเรียกว่า “ทางเดินกลาง” (Nave) กระหนาบด้วย “ทางเดินข้าง” (Aisle) ส่วนที่เป็นแขนกางเขนที่ตัดกับทางเดินกลางเรียกว่า “แขนกางเขน” หรือ “ปีกซ้ายขวา” (Transept) [10]

ที่บรรจุศพ

แก้

สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการสร้างอาสนวิหารมากที่สุดก็เห็นจะเป็น ที่บรรจุศพ (Mausoleum) ท��่บรรจุศพของผู้มีฐานะของโรมันมักจะเป็นสิ่งก่อสร้างทรงสี่เหลี่ยมหรือกลมหลังคาเป็นโดม ที่บรรจุศพใช้เป็นที่เก็บศพในโลงหิน จักรพรรดิคอนสแตนตินทรงสร้างที่บรรจุศพสำหรับพระราชธิดาคอนสแตนตินาและเฮเลนา ซึ่งเป็นทรงกลมล้อมรอบด้วยซุ้มทางเดิน ต่อมาที่บรรจุศพของนักบุญคอนสแตนตินากลายมาเป็นสถานที่สำหรับสักการะและเป็นสิ่งก่อสร้างทางศาสนาสิ่งแรกที่เป็นทรงกลมแทนที่จะเป็นทรงกางเขน สิ่งก่อสร้างสำหรับการสักการะอีกสิ่งหนึ่งในกรุงโรมที่เป็นทรงกลมคือตึกแพนธีอัน ซึ่งมีภายในเป็นคูหารายด้วยรูปปั้น ลักษณะการวางจัดรูปปั้นในคูหาแบบนี้กลายมาเป็นลักษณะสำคัญในการสร้างคูหาสวดมนต์ ภายในอาสนวิหาร[5][9] ซึ่งมักจะเป็นมุขโค้งและมีรูปปั้นแสดงอยู่กลางมุข

ทรงกางเขน และ ทรงกากบาท

แก้

โบสถ์ยุโรปตะวันตกมักจะนิยมผังแบบกางเขนละติน (Latin cross) ขณะที่ทางตะวันออกหรือทางไบแซนไทน์จะนิยมแบบกากบาท (Greek cross) ล้อมรอบด้วยมุขโค้งและหลังคาโดม สิ่งก่อสร้างที่สำคัญที่สุดในลักษณะนี้คือ Hagia Sophia ที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี ซึ่งเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 4 เป็นโบสถ์คริสต์ศาสนาสร้างโดยจักรพรรดิคอนแสตนตินที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมัน หรือโบสถ์เซ็นต์แมรีผู้ศักดิ์สิทธิ ที่เมือง เอเธนส์ ประเทศกรีซ สิ่งก่อสร้างเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่มีอิทธิต่อสถาปัตยกรรมการก่อสร้างอาสนวิหารต่อมาในยุโรปตะวันตก[8][9]

องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมภายนอกของอาสนวิหาร

แก้
 
ผังของ อาสนวิหารปีเตอร์เบรอ
 
ด้านหน้าอาสนวิหารเวลส์เต็มไปด้วยรูปสลัก
 
ทางเดินกลางของอาสนวิหารรีมส์ ประเทศฝรั่งเศส
 
East end ของอาสนวิหารบายู (Bayeux) ประเทศฝรั่งเศสที่แสดงให้เห็นมุขด้านหลังพร้อมกับหอคอยกลางที่ตกแต่งอย่างสวยงาม

องค์ประกอบที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นองค์ประกอบที่มีในอาสนวิหารส่วนใหญ่ในยุโรปตะวันตก ลักษณะหรือส่วนประกอบบางอย่างอาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ผู้ออกแบบ เนื้อที่ที่ตั้ง หรือปัจจัยอื่น รายการนี้รวบรวมจากแบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์ (Banister Fletcher) [8]

แผนผัง

แก้
ดูบทความหลักที่ แผนผังอาสนวิหาร

ผังอาสนวิหารส่วนใหญ่ของยุโรปตะวันตกจะเป็นกางเขนโดยมีทางเดินกลางหรือทางเดินสู่แท่นบูชาขวางกับแขนกางเขนละติน แขนกางเขนอาจจะยื่นออกไปมากเช่นที่อาสนวิหารยอร์ค ที่อังกฤษ หรือยื่นไปไม่เกินกว่าทางเดินข้าง จนดูเหมือนตัววัดเป็นรูปเกือบสี่เหลี่ยมยกเว้นแต่มุขที่ยื่นออกไปจากด้านหลังอย่างเช่นอาสนวิหารอาเมียงที่ประเทศฝรั่งเศส

ตำแหน่ง

แก้

การวางตัววัดส่วนใหญ่จะวางไปทางตะวันออก/ตะวันตกโดยเน้นด้านหน้าโบสถ์ทางด้านตะวันตกที่เรียกกันว่า “West front” ภายในจะเน้นด้านตะวันออกที่เป็นบริเวณที่ใช้ประกอบพิธี ที่เรียกว่า “East end” แต่ไม่ใช่ทุกโบสถืที่สามารถตั้งได้เช่นนี้ แต่ถึงแม้โบสถ์จะไม่ตั้งไปทางตะวันออก/ตะวันตกได้ก็ยังใช้คำว่า “West front” หรือ “West end” สำหรับเรียกด้านหน้าของโบสถ์ และ “East end” สำหรับเรียกด้านตรงข้ามที่เป็นบริเวณพิธี หรือ ด้านหลังโบสถ์

เน้นความสูง

แก้

อาสนวิหารจะเน้นเรื่องความสูงโดยใช้องค์ประกอบภายนอกที่พุ่งขึ้นไปซึ่งอาจจะเป็นโดม หรือหอกลางตรงจุดที่ทางเดินกลางกับแขนกางเขนตัดกัน หรือหอสองหอทางด้านตะวันตก หรือหอทั้งหัวและท้ายวัด เช่นที่อาสนวิหารเวิมส์ ที่ประเทศเยอรมนีซึ่งมีทั้งหมดห้าหอ สองหอด้านหน้า สองหอด้านหลัง และหอกลาง บนหออาจจะมีมณฑปข้างบน หรือไม่มีมณฑปก็ได้ เช่นที่อาสนวิหารวินเชสเตอร์ หรือ อาจจะเป็นเพียงโดมเล็กๆก็ได้

ด้านหน้าอาสนวิหาร

แก้

ด้านหน้าของวัดที่เรียกว่า “West front” จะเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดภายนอกของวัดและจะมีการตกแต่งมากที่สุด ส่วนใหญ่จะมีประตูหลักสามประตู แต่ละประตูก็จะตกแต่งด้วยรูปแกะสลักที่ทำด้วยหิน หรือ หินอ่อนที่แกะสลักอย่างวิจิตร ด้านหน้ามักจะมีหน้าต่างใหญ่หรือบางทีก็จะมีหน้าต่างกุหลาบ หรือรูปปั้นที่เด่นสง่า นอกจากนั้นมักจะมีหอคอยสองหอขนาบเช่นที่อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส ประเทศฝรั่งเศส

“ช่องทางเดินกลาง” และ “ช่องทางเดินข้าง”

แก้

อาสนวิหารส่วนใหญ่จะมี “ช่องทางเดินกลาง” (Nave) หรือ ทางเดินสู่แท่นบูชา ที่ทั้งสูงและกว้าง ส่วน “ช่องทางเดินข้าง” (aisle) ที่ประกบทางเดินกลางมักจะต่ำกว่าและแยกจากทางเดินกลางด้วยซุ้มตรงหรือโค้งเป็นแนวตลอดสองข้าง บางครั้งถ้าทางเดินข้างสูงเท่ากับทางเดินกลางก็จะเป็นทรงที่เรียกว่า “Hallenkirche” หรือ “F[l5Nโถง” ซึ่งเป็นที่นิยมกันในสมัยการก่อสร้างแบบกอธิคที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งมองแล้วเหมือนโถงกว้าง อาสนวิหารบางแห่งจะมีทางเดินประกบข้างข้างละสองทางเช่นที่อาสนวิหารเซ็นต์สตีเฟน ที่เมืองบอร์ก (Cathédrale Saint-Étienne de Bourges) ประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น

แขนกางเขน

แก้

แขนกางเขน หรือ ปีกซ้ายขวา คือส่วนขวางที่ตัดกับทางเดินกลาง อาสนวิหารในประเทศอังกฤษบางอาสนวิหารที่เคยเป็นสำนักสงฆ์มาก่อนจะมีแขนซ้อนกันสองชั้นเช่นที่อาสนวิหารซอลสบรี ที่อังกฤษ ตรงที่แขนกางเขนตัดกับทางเดินกลางเรียกกันว่าจุดตัด (crossing) เหนือจุดตัดขึ้นไปมักจะเป็นหอหรือมณฑปที่เรียกว่า “fleche” ที่อาจจะทำด้วยไม้ หิน หรือโลหะก็ได้ เช่นที่อาสนวิหารออทุง (Autun Cathedral) ที่ประเทศฝรั่งเศส หรือมณฑปที่ทำด้วยหินที่อาสนวิหารซอลสบรี หรืออาจจะเป็นโดม หรือเป็นหอเฉยๆไม่มีมณฑปก็ได้เช่นที่อาสนวิหารวินเชสเตอร์ ที่อังกฤษ

ด้านหลังโบสถ์

แก้

ด้านหลังวัด หรือ “East end” ซึ่งเป็นที่ตั้งของแท่นบูชาเอก จะเป็นบริเวณที่แตกต่างจากกันมากที่สุดทางรูปทรงสถาปัตยกรรมจากโบสถ์หนึ่งไปอีกโบสถ์หนึ่ง

  • โรมาเนสก์แบบอิตาลีและเยอรมนี – มุขด้านนี้จะโค้งและอาจจะเป็นส่วนที่ต่ำกว่าที่ยื่นออกมาจากตัววัดสี่เหลี่ยม ถ้าเป็นกอธิคแบบอิตาลีมุขหลังโบสถ์ก็มักจะสูงโดยไม่มีจรมุข หรือทางเดินรอบมุข (Ambulatory) ก็ได้
  • กอธิคแบบฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนี – ด้านหลังโบสถ์จะยาวและยื่นไปสู่มุขโค้งที่มีเพดานโค้งเหนือทางเดินรอบมุข นอกจากนั้นอาจจะมีคูหาสวดมนต์กระจายออกมาจากมุข ที่เรียกว่า “Chevet”
  • แบบอังกฤษ – ด้านหลังจะมีหลายลักษณะเช่นที่อาสนวิหารนอริช ซึ่งมีมุขและจรมุข หรืออาสนวิหารยอร์คที่เป็นสี่เหลี่ยม

อาสนวิหารหลายแห่งจะมีคูหาสวดมนต์ยื่นออกไปด้านหลังหลายรูปหลายทรง แต่ไม่มีอาสนวิหารใดในอังกฤษที่สร้างก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่มีคูหาสวดมนต์ “Chevet” อย่างเต็มที่ บางแห่งเช่นที่อาสนวิหารลิงคอล์น ด้านหลังจะเป็นสี่เหลี่ยมคล้ายผาแต่มี Lady Chapel มาช่วยทำให้ลักษณะสิ่งก่อสร้างหายแข็งไปบ้าง บางอาสนวิหารที่มีจรมุขต่ำรอบด้านหลังที่เป็นสี่เหลี่ยม

หมายเหตุ: ส่วนนี้เก็บความมาจาก แบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์ [8] วิม สวอน [3] ลารูส [11]

องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมภายในของอาสนวิหาร

แก้

“ทางเดินกลาง” และ “ทางเดินข้าง”

แก้

“ทางเดินกลาง” เป็นเนื้อที่หลักของตัวอาสนวิหารจะเป็นส่วนที่ยาวกว่าแขนกางเขนขวาง เป็นที่ชุมนุมของคริสต์ศาสนิกชนมาเข้าร่วมพิธีศาสนา คำว่า “nave” มาจาก ภาษาละตินที่แปลว่าเรือ อาสนวิหารก็เปรียบเหมือนเรือสำหรับบรรทุกผู้ศรัทธาในพระเจ้าฝ่าอุปสรรคต่างๆในชีวิตเพื่อจะนำไปสู่พระองค์ ในสมัยโบราณเพดานอาสนวิหารจะทำด้วยไม้และโค้งเหมือนท้องเรือ[12]

“ทางเดินกลาง” จะประกบสองข้างด้วย “ทางเดินข้าง” ที่ส่วนใหญ่จะมีระดับต่ำกว่าแยกด้วยแนวเสา ประโยชน์ของ “ทางเดินข้าง” คือช่วยแบ่งเบาการจราจรจาก “ทางเดินกลาง” โดยเฉพาะเมื่อวัดแน่นไปด้วยผู้เข้าร่วมพิธี นอกจากนั้นยังช่วยทำให้สิ่งก่อสร้างแข็งแรงขึ้นเพราะจะใช้เป็นผนังค้ำยันไปในตัวทำให้สามารถรับน้ำหนักกดดันจากหลังคาและกำแพงได้เพิ่มขึ้น ทางเดินข้างแต่ละข้างอาจจะมีมากกว่าหนึ่งก็ได้ถ้าเป็นวัดใหญ่มากๆ แต่จะเป็นส่วนน้อยที่มีถึงห้าประตูเข้าด้านหน้า

อ่างล้างบาป แท่นอ่านคัมภีร์ไบเบิล และ ธรรมาสน์

แก้

ภายในบริเวณโถงกลางส่วนใหญ่จะเป็นที่ตั้งของอ่างล้างบาป แท่นอ่านคัมภีร์ไบเบิล และ ธรรมาสน์ อ่างล้างบาปใช้ในการทำพิธีศีลจุ่มมักจะตั้งอยู่ทางด้านหน้าวัดใกล้ประตูทางเข้าเพื่อเป็นสัญลักษณ์การรับเข้าสู่คริสตจักร แท่นอ่านคัมภีร์จะอยู่ไม่ไกลจากแท่นบูชาจะเป็นที่ใช้อ่านคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ แท่นนี้บางครั้งก็จะเป็นรูปอินทรีกางปีกรองรับหนังสือเพราะอินทรีเป็นสัญลักษณ์ของนักบุญยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสาร ผู้เป็นหนึ่งใน “ผู้นิพนธ์พระวรสารทั้งสี่ท่าน” ผู้เขียนพระวรสาร สิ่งที่สามที่ตั้งอยู่ที่ทางเดินกลางคือธรรมาสน์ซึ่งอาจจะทำด้วยไม้ หิน หินอ่อนแกะสลักอย่างงดงาม หรือปูนปั้น บางธรรมาสน์จะตกแต่งด้วยมนุษย์ นกอินทรี วัว และ สิงโตมีปีกเพราะทั้งสี่อย่างเป็นสัญลักษณ์ของผู้นิพนธ์พระวรสารสี่องค์คือ น.มัทธิว น.ยอห์น น.ลูกา และ น.มาระโก [13]

บริเวณสวดมนต์และร้องเพลงสวด

แก้

บริเวณที่สองภายในอาสนวิหารคือบริเวณที่เรียกว่าบริเวณร้องเพลงสวด เป็นบริเวณที่ใช้สวดมนต์และร้องเพลงสวด บริเวณนี้บางครั้งอาจจะแยกจากทางเดินกลางด้วยฉาก ซึ่งอาจจะทำด้วยไม้ฉลุอย่างละเอียด หรือหินแกะสลัก นอกจากที่นั่งแล้วบริเวณนี้ก็จะมีออร์แกนอยู่ด้วย ที่นั่งภายในบริเวณนี้เรียกว่า “Choir stall” หรือที่นั่ง บางอาสนวิหารที่นั่งในบริเวณนี้จะสลักเสลาอย่างงดงาม บางครั้งก็อาจจะมีอาสนะหรือบัลลังก์ของบาทหลวงตั้งอยู่ในบริเวณนี้ด้วย ที่ตั้งออร์แกนถ้าไม่อยู่ในบริเวณนี้ก็อาจจะอยู่เหนือฉากกางเขน เช่นที่อาสนวิหารกลอสเตอร์ หรือ อาสนวิหารรอเชสเตอร์ที่อังกฤษ หรือบางครั้งอาจจะตั้งอยู่เหนือประตูด้านตะวันตกก็ได้

บริเวณศักดิ์สิทธิ์

แก้

จากบริเวณทำพิธีและบริเวณร้องเพลงสวดไปก็เป็น “บริเวณศักดิ์สิทธิ์” (Sanctuary) ซึ่งเป็นวางสิ่งของสำหรับพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ บนแท่นบูชาสำหรับพิธีศีลมหาสนิท คำว่า “Sanctuary” แปลว่าสถานที่ศักดิ์สิทธิ แต่ในภาษาอังกฤษปัจจุบันความหมายมาเปลี่ยนไปใช้สำหรับสถานที่นักโทษสามารถเข้ามาอาศัยโดยไม่ต้องถูกจับจึงเท่ากับเป็นการให้ “เขตปลอดภัย” ของวัด

คูหาสวดมนต์

แก้

บางอาสนวิหารจะมีบริเวณต่อไปที่เรียกว่า “บริเวณสงฆ์” (Presbytery) ซึ่งใช้เป็นที่ที่นักบวชสามารถทำการสวดมนต์ต์ส่วนตัวแยกจากสวดมนต์ร่วมกับนักบวชอื่นๆ และมักจะมีคูหาสวดมนต์ยื่นออกไปจากบริเวณนี้ทางหลังวัด คูหาสวดมนต์ตรงกลางตรงกับแท่นบูชาทางตะวันออกสุดของวัดมักจะเป็นคูหาสวดมนต์ที่อุทิศให้พระแม่มารี ที่เรียกว่า “Lady Chapel” เช่นที่อาสนวิหารกลอสเตอร์ หรือ อาสนวิหารอาเมียง คูหาสวดมนต์พระแม่มารีมักจะเป็นคูหาสวดมนต์ที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดภายในอาสนวิหาร ภายในอาจจะเป็นเหมือนวัดเล็กๆ มีที่นั่ง แท่นบูชา หน้าต่างกระจกประดับสีอย่างสวยงาม

บางอาสนวิหารในอังกฤษจะที่มีแขนกางเขนสองชั้น ชั้นที่สั้นกว่ามักจะใช้เป็นที่สร้างคูหาสวดมนต์[14]

คูหาสวดมนต์อาจจะอยู่สองฝั่งทางเดินข้าง ถ้าเป็นคูหาสวดมนต์แบบนี้ก็เรียกว่า “คูหาสวดมนต์ข้าง” (Side chapel) ลักษณะสถาปัตยกรรมของแต่ละคูหาภายในอาสนวิหารเดียวกันก็อาจจะแตกต่างจากกันมากไม่ว่าจะเป็นขนาด ลักษณะทางสถาปัตยกรรม และการตกแต่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าใครจะอุทิศให้สร้าง ถ้าผู้ออกเงินสร้างร่ำรวยคูหาก็อาจจะตกแต่งอย่างวิจิตร และอาจจะใช้เป็นที่ที่ผู้รับจ้างสวดมนต์มาสวดมนต์แทนให้ผู้ว่าจ้างก็ได้

เผยแพร่คำสอน

แก้
 
ระเบียงคำสอนที่ อาสนวิหารอาเมียง
 
“พระคัมภีร์คนยาก” ที่อาสนวิหารวูสเตอร์
 
ปนาลี ที่ อาสนวิหารโนเตรอดาม

ไม่ว่าสถาปัตยกรรมของอาสนวิหารจะเป็นรูปแบบใด ความประสงค์ของการสร้างอาสนวิหารคือเป็นที่สร้างความประทับใจ ความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้เห็น และทำให้ผู้เห็นรู้สึกเกรงขาม เป็นที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจแก่ผู้ศรัทธา และเป็นที่เผยแพร่คำสอนของคริสต์ศาสนา ความประสงค์อันหลังนี้เป็นความประสงค์สำคัญที่สุดของคริสต์ศาสนสถาน ไม่ว่าจะเป็นอาสนวิหารหรือวัดประจำท้องถิ่น

การตกแต่งเพื่อการเผยแพร่คำสอนจะเริ่มมาจากด้านนอกที่มีรูปปั้นหรือกลุ่มรูปปั้นซึ่งอาจจะเป็นฉากจากชีวิตของพระเยซู, พระแม่มารี, นักบุญ หรือคนสำคัญๆ ในคริสต์ศาสนา เรื่อยเข้าไปภายในโดยเริ่มจากทางเข้าด้านตะวันตกไปจนถึงแท่นบูชา ซึ่งอาจจะเป็นในรูปของ จิตรกรรมฝาผนัง, จิตรกรรม หรือ ประติมากรรม ไม่ว่าจะเป็นบนผนังวัด หรือ ในคูหาสวดมนต์ ด้านข้างและด้านหลังแท่นบูชา หรือหน้าต่างประดับกระจกสีรอบวัด เรื่องราวที่แสดงก็อาจจะเป็นฉากชีวิตของนักบุญเช่นที่ชั้นบนของ อาสนวิหารเซนต์ฟรานซิสแห่งอาซิซิ ที่เมืองอาซิซิ ประเทศอิตาลี ที่ผนังด้านบนสองข้างทางเดินกลางจะเป���นจิตรกรรมฝาผนังฉากชีวิตของนักบุญฟรานซิสโดย จอตโต ดี บอนโดเน จิตรกรผู้มีชื่อเสียงของอิตาลี หรือ ภาพเขียนในคูหาสวดมนต์ทางด้านข้างของอาสนวิหารโวลแทร์ราในประเทศอิตาลี ที่แสดงให้เห็นนักบุญเซบาสเตียนถูกยิงด้วยธนู ศิลปะเหล่านี้ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับเพิ่มความเข้าใจและความศรัทธาให้แก่ผู้เลื่อมใสรวมทั้งผู้มีการศึกษาน้อย จนบางครั้งเรียกกัน “พระคัมภีร์คนยาก”

การตกแต่งประตูทางเข้า

แก้

อาสนวิหารแบบโรมาเนสก์และกอธิคมักจะมีรูปสลักหิน “พระเยซูผู้ทรงเดชานุภาพ” บนหน้าบันเหนีอประตูกลาง รูปนี้จะพบเหนือประตูอาสนวิหารหลายแห่งในประเทศฝรั่งเศสเช่นที่อาสนวิหารโนเทรอดามแห่งชาร์ทร์ และ อาสนวิหารอ็องเฌ อีกรูปหนึ่งที่นิยมกันคือ “การตัดสินครั้งสุดท้าย” ที่มีพระเยซูทรงนั่งเป็นประธาน และ การชั่งวิญญาณ เช่นที่อาสนวิหารอาเมียง จุดประสงค์การมีภาพไว้เหนือประตูก็คือเป็นการเตือนสติผู้มีศรัทธารู้สึกสำนึกตัวและเตรียมตัวก่อนที่พระเยซูจะเสด็จกลับมาเป็นครั้งที่สอง เมื่อถึงวันนั้นผู้ที่ทำความดีก็จะได้ถูกเลือกขึ้นสวรรค์ ผู้ที่ทำความชั่วก็จะถูกส่งลงนรก ภาพที่เห็นกันบ่อยอีกภาพหนึ่งคือรูปหญิงพรหมจารีดีและไม่ดี 10 คน (The Ten Virgins) ที่เป็นคติเตือนให้รู้จักเตรียมตัวล่วงหน้าต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น

รายรอบรูปสลักใหญ่เหนือประตูก็จะเป็นซุ้มโค้งที่มีรูปแกะสลักเล็กลงของศาสดาจากในคัมภีร์ นักบุญต่าง หรือ ผู้ที่ทำความดีต่อศาสนา อาสนวิหารที่อังกฤษหลายแห่งจะมีรูปแกะสลักจำนวนมากและขนาดใหญ่ด้านหน้าวัดเช่น อาสนวิหารลิงคอล์น อาสนวิหารซอลสบรี อาสนวิหารเอ็กซีเตอร์ หรือ อาสนวิหารเวลส์ แต่รูปสลักเหล่านี้ถูกทำลายหรือถูกกัดกร่อนเพราะสภาวะอากาศไปมากจนเกือบไม่เหลือรูปทรงเดิม[11][15] อาสนวิหารที่ฝรั่งเศสก็เช่นกันจะมีประตูใหญ่ที่มีรูปสลักมากมาย เช่นที่ อาสนวิหารอาเมียง หรือ อาสนวิหารรีมส์

พระคัมภีร์คนยาก

แก้

พระคัมภีร์คนยาก” คือการใช้วัดเป็นที่สอนศาสนาสำหรับผู้ที่ไม่มีการศึกษาหรือไม่มีเงินพอที่จะซื้อพระคัมภีร์เป็นของตนเองได้ คนเหล่านี้ก็สามารถจะเรียนรู้เรื่องราวทางคริสต์ศาสนาได้โดยดูจากทัศนศิลป์ที่ใช้ตกแต่งทั้งภายนอกและภายในวัด หัวเรื่องมักจะเป็นเรื่องราวที่เอามาจากพันธสัญญาเดิม พันธสัญญาใหม่กิจการของสาวก” (Acts of the Apostles) บางครั้งก็เป็นภาพประวัติชีวิตของพระเยซู ประวัติชีวิตของพระแม่มารี ประวัติของนักบุญ หรือบางครั้งก็จัดเรื่องที่มีคำสอนคล้ายคลึงกันเช่นเอาภาพการนำร่างพระเยซูลงจากกางเขน มาคู่กับรูปโจเซฟถูกจับโยนลงไปในบ่อ หรือ เอารูป “พระเยซูฟื้นชีพ” ตั้งคู่กับปลาโลมาที่กำลังขย้อนโจนาห์ออกมาจากท้องหลังจากที่กลืนไปสามวัน ลักษณะของศิลปะที่ใช้อาจจะเป็นงานโมเสก จิตรกรรมฝาผนัง รูปสลักแผ่น หรือ หน้าต่างประดับกระจกสี ที่ตั้งของศิลปะอาจจะทำบนกำแพงโดยตรง บนผนัง บนเพดาน บนฉากรอบบริเวณพิธี ในคูหาสวนมนต์ และ สถานศักดิ์สิทธิ์หลังแท่นบูชา หน้าต่างกระจกสีที่เด่นก็มีหลายแห่งโดยเฉพาะในอังกฤษและฝรั่งเศสเช่นที่ อาสนวิหารแคนเตอร์บรี หรือ อาสนวิหารแซงต์เอเตียนน์แห่งบูร์ก[16]

สัญลักษณ์ของพระเจ้า

แก้

ส่วนหนึ่งของการตกแต่งมักจะมาจากการแสดงเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นผู้สร้างจักรวาล พร้อมกับที่แสดงให้เห็นการที่พระองค์ทรงก่อสร้างโลกตามที่ทรงกำหนดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยใช้ภาพจักรราศี และ “แรงงานสิบสองเดือน” (Labours of the Months) ซึ่งเป็นหัวข้อที่เหมาะมากกับการตกแต่งด้วยหน้าต่างกุหลาบ[3][11]

การตกแต่งด้วยสิงสาราสัตว์และยุวเทพ

แก้
 
ฉาก “Holy Rood” ที่อาสนวิหารโดเบอราน (Bad Doberan Cathedral) ประเทศเยอรมนี
ดูบทความหลักที่ ปนาลี

นอกจากตกแต่งด้วยเรื่องราวทางศาสนาแล้ว อาสนวิหารก็ยังตกแต่งด้วย สิงสาราสัตว์หรืออสุรกาย ตามจินตนาการหรือมนุษย์กึ่งสัตว์ ซึ่งบางทีก็ไม่เกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนา สิงสาราสัตว์เหล่านี้มักจะเป็นสัญลักษณ์ความควรความไม่ควร หรือความดีและความชั่ว และเป็นการให้คติแก่ผู้มีศรัทธา ที่ใช้กันบ่อยคือรูปนกพิลลิแกนจิกอกตนเองเพื่อเลี้ยงลูก การกระทำของนกพิลลิแกนเป็นความเสียสละอันใหญ่หลวงที่เป็นสัญลักษณ์ของความรักพระเยซูผู้มีต่อคริสต์ศาสนิกชนพอที่พระองค์เองยอมพลีชีพเพื่อไถ่บาปให้มวลมนุษย์ได้[11]

สัตว์อื่นๆ ที่ใช้ตกแต่งก็มี กระต่าย ห่าน ลิง หมาจิ้งจอก สิงโต อูฐ ผึ้ง นกตะกรุม หรือสัตว์ในตำนานเช่น กริฟฟิน หรือยูนิคอร์น ตำแหน่งหรือที่ตั้งของรูปแกะหรือปั้นก็จะทำตามหัวเสา แกะนูนบนกำแพงหรือผนัง รอบซุ้มโค้ง เพดาน หรือ บนปุ่มหินบนเพดาน หรือการตกแต่งตามขอบคัน สิ่งตกแต่งเช่นปนาลีหรือที่เรียกว่าการ์กอลยที่อาสนวิหารโนเตรอดามมีชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป หรือสัตว์อื่นเช่น “Blemyah” และ “คนป่า” (Green Man) ทีอาสนวิหารริพพอน (Ripon Cathedral) ที่อังกฤษและบางประเทศจะมีการแกะสลักที่ยื่นออกมาจากใต้ม้านั่งพับที่ใช้กันในบริเวณที่ร้องเพลงสวดมนต์ที่เรียกว่าเก้าอี้อิง [3][17]

กางเขนเอก

แก้

กางเขนเอก มาจากคำว่า “Rood” ซึ่งมาจากคำว่า “Roda” ในภาษาแซ็กซอนเก่าหมายถึงกางเขนขนาดใหญ่ที่ตั้งเด่นภายในวัด กางเขนเอกจะเป็นกางเขนที่มักจะแขวนห้อยลงมาจากเพดานเหนือบริเวณที่ทำพิธีหรือตั้งอยู่บนฉากที่ใช้แยกระหว่างบริเวณสงฆ์และบริเวณทางเดินกลาง กางเขนเอกอาจจะแกะจากไม้แล้วทาสีหรือเป็นภาพเขียนบนกางเขน ในอังกฤษตัวกางเขนเอกส่วนใหญ่จะถูกทำลายไป จะเหลืออยู่ก็แต่เพียงฉากที่เคยเป็นที่ตั้งของกางเขนเอกที่เรียกว่า “ฉากกางเขน” กางเขนเอกมักจะประกบด้วยพระแม่มารีและจอห์นอีแวนเจลลิส หรือจอห์นแบ็พทิสต์ผู้ถือป้ายที่มีตัวอักษรว่า นี่คือพระเยซูผู้เป็นสาวกของพระเจ้า (“Behold, the Lamb of God”) กางเขนเอกที่ประเทศอิตาลีในบางวัดจะสร้างโดยจิตกรคนสำคัญๆ เช่น จอตโต ดี บอนโดเน ที่ สเปลโล (spello) ฟีลิปโป บรูเนลเลสกี และ โดนาเทลโล

แท่นบูชา

แก้

สิ่งที่เป็นหลักและที่สำคัญที่ทาง “ตะวันออก” ของอาสนวิหารคือ “บริเวณศักดิ์สิทธิ์” และ “แท่นบูชาเอก” (High altar) ความหมายสำคัญที่ทางวัดจะสื่อสารกับผู้มีศรัทธาก็จะเป็นเช่นเดียวกันคือความเสียสละและการไถ่บาปของมนุษย์โดยพระเยซู แต่วิธีแสดงออกจะแตกต่างกันเป็นหลายแบบ ในประเทศอิตาลีทางด้านนี้อาจจะตกแต่งด้วยโมเสกทองเป็นประกายภายใต้มุขโค้งเหนือแท่นบูชาเช่นที่อาสนวิหารปิซา หรือที่ประเทศเยอรมนีและสเปนก็อาจจะเป็นการตกแต่งแท่นบูชาแบบบาโรกอย่างหรูหราเช่นที่เรียกกันว่า “Transparente” เช่นที่อาสนวิหารโทเลโด (Toledo cathedral) เป็นต้น [18]

ฉากแท่นบูชา (altarpiece) ที่แกะด้วยไม้ทำด้วยปูนปั้นใช้กันมากในประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศสและบางอาสนวิหารในอังกฤษ บางครั้งที่อังกฤษจะใช้หน้าต่างประดับกระจกสีขนาดใหญ่หลังแท่นบูชาเป็นฉากหลังประกอบแท่นบูชาเช่นที่อาสนวิหารยอร์คที่เป็นเรื่องราวของไฟล้างโลก (Apocalypse) หรือที่อาสนวิหารกลอสเตอร์ที่มีหน้าต่างขนาดใหญ่กว่าสนามเทนนิสที่เรียกว่า “The Great East Window”

หมายเหตุ: ส่วนนี้เก็บความมาจาก อเลค คลิฟตัน-เทย์เลอร์ [19] และเพฟเนอร์[18]

ลักษณะสถาปัตยกรรมของอาสนวิหารในยุโรปตะวันตก

แก้
 
ภายในอาสนวิหารซานตามาเรียมายอเร
 
ผังบาซิลิกาซานวิทาลเลที่เป็นรูปดอกไม้
 
ด้านหน้าที่แต่งอย่างสวยหรูที่อาสนวิหารโรมาเนสก์อองจูลีม (Angouleme Cathedral) ที่ฝรั่งเศส
 
ด้านหน้าแบบกอธิคของอาสนวิหารโนเตรอดามแห่งปารีส
 
โดมของอาสนวิหารฟลอเรนซ์แบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟูศิลปวิทยา
 
สถาปัตยกรรมฟื้นฟูศิลปวิทยาสูงที่อาสนวิหารเซนต์ปีเตอร์ โดยด้านหน้าเป็นของ คาร์โล มาเดอร์โน และโดมโดย ไมเคิลแอนเจโล

สถาปัตยกรรมคริสเตียนยุคแรก

แก้
ดูบทความหลักที่ ศิลปะคริสเตียนยุคแรก

ลักษณะสถาปัตยกรรมคริสเตียนยุคแรกในการก่อสร้างอาสนวิหารจะเห็นได้จาก อาสนวิหารซานตามาเรียมายอเรที่โรม ภายในอาสนวิหารนี้ยังรักษารูปทรงเดิมตั้งแต่เมื่ออาสนวิหารสร้างเป็นครั้งแรก โถงกลางภายในจะกว้างใหญ่อย่างบาซิลิกาทางท้ายวัดเป็นมุขยื่นออกไปอย่างง่ายๆ ทางเดินกลางประกบสองข้างด้วยเสาเป็นเส้นตรงรับด้วยบัวคอร์นิซแทนที่จะเป็นซุ้มโค้ง และการตกแต่งภายในจะเป็นโมเสกโดยเฉพาะบริเวณบริเวณพิธีโดยเฉพาะภายใต้มุขตะวันออก อีกสองอาสนวิหารที่โรมที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะสถาปัตยกรรมคริสเตียนยุคแรกเช่นกันก็คือซานตาซาบินา (Santa Sabina) และ อาสนวิหารอควิลเลีย (Cathedral of Aquileia) ที่จะเห็นได้จากสิ่งก่อสร้างแบบบาซิลิกาซึ่งจะตกแต่งอย่างเรียบง่ายซึ่งเป็นลักษณะของการสร้างอาสนวิหารยุคแรก[8][5][9]

สถาปัตยกรรมไบแซนไทน์

แก้
ดูบทความหลักที่ สถาปัตยกรรมไบแซนไทน์

เมืองราเวนนาทางตะวันออกของอิตาลีเต็มไปด้วยวัดและอาสนวิหารที่ใช้โครงสร้างเป็นแบบบาซิลิกาที่สร้างมาตั้งแต่สมัยจักรพรรดิจัสติเนียน (Emperor Justinian) เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 6 ผังของอาสนวิหารซานอพอลลินาเรนูโอโว (San Apollinare Nuovo) ก็คล้ายกับอาสนวิหารซานตามาเรียมายอเรที่โรมแต่รายละเอียดการแกะสลักจะไม่เป็นลักษณะแบบโรม การตกแต่งด้วยโมเสกภายในวัดนี้เก็ยังอยู่ในสภาพที่ดีมาก

อีกอาสนวิหารหนึ่งในราเวนนาที่สร้างในสมัยเดียวกันคืออาสนวิหารซานวิทาลเล ผังของอาสนวิหารนี้เป็นแบบศูนย์กลางที่มีโดมตรงกลาง มีเนื้อที่ภายในด้วยกันทั้งหมด 25 ตารางเมตร โดมกลางล้อมรอบด้วยคูหาโค้ง 8 คูหาแยกกระจายออกจากโถงกลาง แต่ละคูหาคลุมด้วยโดมครึ่งวงกลมทำให้ผังดูเหมือนรูปดอกไม้ การตกแต่งก็เริ่มซับซ้อนขึ้นโดยการเล่นซุ้มโค้งซ้อนกันหลายชั้นซึ่งไม่มีสิ่งก่อสร้างใดที่���ะเปรียบได้จนมาถึงวัดบาโรกซานตามาเรียเดลลาซาลูเท (Santa Maria della Salute) ใกล้เมืองเวนิสที่สร้างราวพันปีต่อมา อาสนวิหารที่พยายามสร้างเลียนแบบอาสนวิหารซานวิทาลเลก็ได้แก่อาสนวิหารอาเคินที่ประเทศเยอรมนี

อาสนวิหารสำคัญที่สุดวัดหนึ่งของสถาปัตยกรรมแบบไบแซนไทน์คืออาสนวิหารซานมาร์โค (San Marco Basilica) ที่เมืองเวนิส ที่เรียกว่าบาซิลิกานี้มิใช่เป็นเพราะลักษณะการก่อสร้างเป็นแบบบาซิลิกา แต่เป็นฐานะของอาสนวิหารที่ได้รับแต่งตั้งจากพระสันตะปาปาให้เป็นบาซิลิกา ถึงแม้ว่าอาสนวิหารนี้จะมีการต่อเติมเปลี่ยนแปลงมาตลอดแต่โครงสร้างตัววัดโดยทั่วไปยังรักษาทรงดั้งเดิมไว้ คือเป็นผังแบบศูนย์กลางแบบไบแซนไทน์ทรงกากบาท เหนือโถงกลางเป็นโดมใหญ่ล้อมด้วยโดมเล็กกว่าอีกสี่โดม การตกแต่งทั้งภายนอกและภายในเป็นลักษณะศิลปะไบแซนไทน์แท้ โดยตกแต่งด้วยโมเสกอย่างวิจิตรและหินอ่อนฝังแบบหน้าไม้หลากสี[8][11]

สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์

แก้
ดูบทความหลักที่ สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์

หลังจากที่จักรวรรดิโรมันเสื่อมอำนาจลงเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 5 การสร้างวัดใหญ่ๆ ในยุโรปตะวันตกก็เริ่มแพร่หลายกันมากขึ้นตามการขยายตัวของสำนักสงฆ์เช่น ลัทธิออกัสติเนียน หรือ ลัทธิเบ็นนาดิคติน และลัทธิอื่นๆ ภายใต้การนำของสาวกของลัทธิ สำนักสงฆ์ขนาดใหญ่อย่างสำนักสงฆ์คลูนี (Cluny Abbey) ก็สร้างในสมัยนั้น แต่ปัจจุบันเหลือสิ่งก่อสร้างอยู่เพียงไม่กี่สิ่ง ลักษณะของวัดคลูนีเป็นแบบโรมัน เสาอ้วน กำแพงหนา หน้าต่างแคบเล็ก และซุ้มโค้ง

สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์เผยแพร่ไปพร้อมกับการเผยแพร่ของสำนักสงฆ์ลัทธิต่างๆ ไปทั่วยุโรป วิธีการสร้างสิ่งก่อสร้างที่มีหลังคาโค้งสูงก็เริ่มมาฟื้นฟูขึ้นอีก แต่การตกแต่งจะหันกลับไปหาการตกแต่งของศิลปะที่ไม่ใช่ศิลปะศาสนาซึ่งมาจากศิลปะสมัยก่อนคริสต์ศาสนาและเป็นศิลปะท้องถิ่นเช่นการใช้ลวดลายหยักซิกแซก ลายม้วนก้นหอย หรือรูปสลักหัวสัตว์หรือสัตว์/มนุษย์ในจินตนาการที่หน้าตาน่าเกรงขาม หรืออสุรกาย ผนังจะทาสีแบบจิตรกรรมฝาผนังแต่ฝีมือจะยังค่อนข้างหยาบ สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์เผยแพร่มาถึงอังกฤษพร้อมกับพระเจ้าวิลเลียมที่ 1จากนอร์ม็องดี (ทางเหนือของประเทศฝรั่งเศส) เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 ฉะนั้นอังกฤษจึงมักจะเรียกสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ว่า “สถาปัตยกรรมนอร์มัน”

อาสนวิหารที่เป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ก็ได้แก่แอบเบย์โอกสซอม (Abbaye aux Hommes) ที่เมืองแคน (Caen) ประเทศฝรั่งเศส อาสนวิหารเวิมส์ ที่เยอรมนี อาสนวิหารปิซา (Pisa Cathedral) และ อาสนวิหารพาร์มา (Parma Cathedral) ที่ประเทศอิตาลี และ อาสนวิหารเดอแรม ที่อังกฤษ[15][8][11]

สถาปัตยกรรมกอธิค

แก้
ดูบทความหลักที่ สถาปัตยกรรมกอธิค

พอมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12 อาสนวิหารและสำนักสงฆ์ใหญ่ๆ ก็สร้างกันเสร็จ ความชำนาญของสถาปนิกในการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่โตเช่นอาสนวิหารที่ประกอบด้วยโค้งสูง หลังคาหิน หอคอยสูงเป็นต้นก็เพิ่มมากขึ้น ลักษณะการก่อสร้างจึงวิวัฒนาการขึ้นทำให้สิ่งก่อสร้างเริ่มลดความเทอะทะลง หน้าต่างก็เริ่มกว้างกว่าเดิมบ้าง เพดานโค้งสูงที่รับน้ำหนักก็มีลักษณะเบาขึ้น เพดานที่เคยเป็นโค้งครึ่งวงกลมเริ่มแหลมขึ้น เพดานโค้งแหลมกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของเพดานกอธิคที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ ในสมัยนี้มีการวิวัฒนาการใช้ค้ำยันที่เรียกว่าค้ำยันแบบปีกที่กางออกไปจากสิ่งก่อสร้าง ซึ่งช่วยแบ่งเบาการรับน้ำหนักของหลังคาและตัวกำแพงเอง สถาปนิกจึงสามารถสร้างกำแพงที่บางลงได้ เป็นผลที่สามารถทำให้สร้างหน้าต่างได้กว้างใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะการแบ่งหน้าต่างเป็นส่วนๆ ด้วยช่องหินที่ตกแต่งอย่างสวยงามคล้ายลูกไม้ ตัวอย่างของการสร้างหน้าต่างใหญ่จะเห็นได้ชัดในประเทศอังกฤษโดยเฉพาะที่อาสนวิหารกลอสเตอร์ที่มีหน้าต่างขนาดมหึมาด้วยกันทั้งหมด 5 บานโดยเฉพาะในคูหาสวดมนต์พระแม่มารีทางตะวันออกสุดของวัดหน้าต่างแต่ละหน้าต่างจะจรดกำแพงสองด้านทำให้ทั้งคูหาดูคล้ายห้องกระจก

ตัวหน้าต่างก็อาจจะตกแต่งด้วยกระจกสีเป็นเรื่องราวจากพันธสัญญาเดิม พันธสัญญาใหม่ ประวัตินั��บุญ ประวัตินักบวชที่มีบทบาทในการสร้างอาสนวิหาร พระเจ้าแผ่นดิน หรือบุคคลสำคัญๆ ในท้องถิ่น

ตัวอย่างของอาสนวิหารสำคัญๆ ที่แสดงให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมกอธิคก็ได้แก่

สถาปัตยกรรมเรอเนซองส์

แก้
ดูบทความหลักที่ สถาปัตยกรรมเรอเนซองส์

เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 ทางอาสนวิหารฟลอเรนซ์ได้จัดให้มีการประกวดการออกแบบหอกลางเหนือจุดตัดระหว่างแขนกางเขนและทางเดินกลาง สถาปนิกที่ชนะการประกวดคือฟีลิปโป บรูเนลเลสกี ผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากโดมที่ได้ไปเห็นมาระหว่างการท่องเที่ยว เช่นที่อาสนวิหารซานวิทาลเลที่ราเวนนา หรือตึกแพนธิออนที่โรม บรูเนลเลสกีจึงออกแบบโดมใหญ่แบบโรมันและมีหลังคาอย่างแพนธิออน สิ่งก่อสร้างนี้ถือว่าเป็นสิ่งก่อสร้างชิ้นแรกของสมัยเรอเนซองส์ หรือ ฟื้นฟูศิลปวิทยา แต่จริงแล้วลักษณะหลังคาโค้งของบรูเนลเลสกีไม่ใช้หลังคาโดมครึ่งวงกลมแต่เป็นหลังคาโค้งแหลมแบบมีสัน (ribbed vault) ซึ่งเป็นลักษณะกอธิคโดยแท้ สถาปัตยกรรมฟื้นฟูศิลปวิทยาจึงเป็นการมองย้อนไปถึงเทคนิคโครงสร้างแบบโรมัน

บรูเนลเลสกีและสถาปนิกคนอื่นๆ มีแรงบันดาลใจที่จะปรับปรุงรูปแบบสถาปัตยกรรมโรมัน ซึ่งรูปทรงและการตกแต่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การวางสัดส่วนซึ่งสถาปนิกสมัยก่อนหน้าสถาปัตยกรรมฟื้นฟูศิลปวิทยาได้ละทิ้งไป สถาปนิกกลุ่มนี้จึงพยายามเอากฎเหล่านี้กลับมาปฏิบัติอีกครั้ง สมัยนี้จึงเป็นสมัยที่มีการตั้งสมมุติฐานทางทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมและการทดลองทฤษฎีต่างๆที่ตั้งไว้ บรูเนลเลสกีเองก็สร้างวัดใหญ่ๆสองวัด -- วัดซานลอเรนโซ และวัดซานโตสปิริตโต (San Lorenzos และ Santo Spirito) -- ในเมืองฟลอเรนซ์ เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าสมมุติฐานทางทฤษฎีที่เขาตั้งขึ้นสามารถนำมาปฏิบัติได้ วัดนี้คือทฤษฎีศิลปะคลาสสิกที่ประกอบด้วยแนวเสากลม หัวเสาโครินเธียน (Corinthian) ส่วนที่อยู่ระหว่างเสาและหลังคา (entablatures) โค้งครึ่งวงกลม และคูหาสวดมนต์[20]

อาสนวิหารที่เป็นตัวอย่างที่ดีของสถาปัตยกรรมแบบฟื้นฟูศิลปวิทยาก็คืออาสนวิหารเซนต์ปีเตอร์ที่โรมซึ่งเป็นผลงานของ โดนาโต ดันเจโล บรามันเต, ราฟาเอล, จูลิอาโน ดา ซานกาลโล, คาร์โล มาเดอร์โน และ ไมเคิลแอนเจโล ซึ่งเป็นผู้สร้างโดมที่สูงและแคบกว่าโดมของบรูเนลเลสกีที่สร้างก่อนหน้านั้นร้อยปีที่ฟลอเรนซ์เพียงหนึ่งฟุต โดมเป็นองค์ประกอบของสิ่งก่อสร้างที่เป็นจุดสนใจทั้งภายนอกและภายใน โดมของอาสนวิหารเซนต์ปีเตอร์จะอยู่เหนือบริเวณพิธีมณฑล (chancel) และแขนกางเขน ทำให้เป็นผังของวัดเป็นทรงกากบาทแบบไบแซนไทน์ ทางเดินกลางที่เห็นยาวที่เห็นความจริงแล้วเป็นส่วนต่อเติมภายหลังที่ทำให้ผังของอาสนวิหารกลายมาเป็นแบบกางเขน

สมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 ทรงมีอำนาจพอที่จะเรียกศิลปินคนใดมาออกแบบอาสนวิหารเซนต์ปีเตอร์ก็ได้ ในสมัยนั้นยังมิได้มีการแยกระหว่างสถาปนิก ประติมากร หรือช่างก่อสร้าง ผลที่ออกมาก็คืออาสนวิหารเซนต์ปีเตอร์ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ที่เป็นผลงานของผู้มีความสามารถดีเด่นที่สุดในสมัยนั้น ซึ่งมีทั้งความใหญ่โต ความน่าประทับใจ และมีความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสิ่งก่อสร้าง[21][8][5]

สถาปัตยกรรมบาโรก

แก้
 
อาสนวิหารเซนต์พอลที่ ลอนดอนเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมบาโรกซึ่งเล่นเสาคู่เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างช่องว่าง
ดูบทความหลักที่ สถาปัตยกรรมบาโรก

เมื่ออาสนวิหารเซนต์พอลสร้างเสร็จก็แสดงให้เห็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่เป็นผลจากการที่สถาปนิกได้เรียนรู้หลักเกณฑ์ต่างๆ ของการก่อสร้างแต่จงใจที่จะละเลย ผลก็คือสถาปัตยกรรมที่มีไดนามิค (Dynamic) ซึ่งรูปทรงของสิ่งก่อสร้างเหมือนจะมีชีวิตจิตใจเป็นของตัวเอง ราวกับว่าจะเคลื่อนไหวได้ดังเช่นคำว่าบาโรก (“Baroque”) ที่หมายถึงรูปทรงที่บิดวนอย่างหอยมุก (“Mis-shapen pearl”)

สมัยบาโรกมีการสร้างวัดใหญ่ๆ มากแต่ที่เป็นอาสนวิหารมีเพียงไม่กี่แห่ง ที่เด่นที่สุดก็คืออาสนวิหารเซนต์พอลที่กรุงลอนดอนที่กล่าวถึงข้างบน และอาสนวิหารเซ็นต์กอล (St. Gall Cathedral) ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อาสนวิหารบางแห่งอาจจะมีองค์ประกอบบางส่วนที่มาต่อเติมภายหลังที่เป็นแบบบาโรกเช่นการตกแต่งด้านหน้าวัด ฉากหลังแท่นบูชา หรือคูหาสวดมนต์ อย่างเช่นด้านหน้าของอาสนวิหารซานติเอโก เดอ คอมโพสเตลลา (Santiago de Compostela) หรือ อาสนวิหารวัลลาโดลิด (Valladolid Cathedral) ที่ประเทศสเปน ซึ่งมาต่อเติมเป็นแบบบาโรกภายหลัง แต่ที่จะเห็นเป็นอาสนวิหารแบบบาโรกทั้งอาสนวิหารค่อนข้างจะหายาก

สิ่งที่น่าสนใจของอาสนวิหารเซนต์พอลก็คือเป็นอาสนวิหารที่ออกแบบโดยสถาปนิกคนเดียวและสร้างเสร็จในระยะสั้น สถาปนิกที่กล่าวถึงคือเซอร์คริสโตเฟอร์ เร็น (Sir Christopher Wren) ซึ่งเป็นสถาปนิกคนสำคัญของอังกฤษ ตัวอาสนวิหารสร้างแทนอาสนวิหารเดิมที่ถูกไฟไหม้ระหว่างที่เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในลอนดอน เมื่อ ค.ศ. 1666 สถาปัตยกรรมของอาสนวิหารเป็นแบบบาโรกแต่เป็นบาโรกแบบอังกฤษที่ค่อนข้างจะรัดตัวไม่เช่นบาโรกแบบทางใต้ของประเทศเยอรมนีซึ่งจะเต็มไปด้วยชีวิตชีวา สีสันและการมีลูกเล่น แต่ผลของสิ่งก่อสร้างของเร็นคือสิ่งก่อสร้างที่แสดงความสง่าภูมิฐานโดยเฉพาะการใช้โดมอย่างเช่นการใช้โดมของบรูเนลเลสกีที่ฟลอเรนซ์ ซึ่งไม่แต่จะคลุมแต่เฉพาะทางเดินกลางวัดแต่เลยออกไปถึงทางเดินข้างทำให้มีความรู้สึกว่าพื้นที่กลางวัดกว้างกว่าที่เป็นจริงและโล่ง[19][22][18]

สถาปัตยกรรมฟื้นฟู

แก้
 
อาสนวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอนเป็นสิ่งก่อสร้างแบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟู
 
อาสนวิหารลิเวอร์พูลสถาปัตยกรรมสมัยใหม่
ดูบทความหลักที่ สถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิค, สถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิก

สถาปัตยกรรมฟื้นฟู เป็นสมัยที่สถาปนิกหันไปฟื้นฟูการก่อสร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมยุคเดิมเช่น ไบแซนไทน์ กอธิค หรือ เรอเนซองส์ ถ้าเลียนแบบกอธิคก็จะเรียกว่า “สถาปัตยกรรมกอธิคฟื้นฟู” หรือ ถ้าเลียนแบบเรอเนซองส์ ก็เรียกว่า “สถาปัตยกรรมเรอเนซองส์ฟื้นฟู” เป็นต้น

ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึง 19 เป็นช่วงเวลาของการขยายอาณานิคมไปทั่วโลกโดยประเทศในทวีปยุโรปตะวันตกขณะเดียวกับเกิดการฟื้นฟูความสนใจทางคริสต์ศาสนาโดยเฉพาะในประเทศอังกฤษที่หันกลับให้ความสนใจกับนิกายโรมันคาทอลิกมากขึ้น นอกจากนั้นความเจริญเติบโตทางอุตสาหกรรมทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชน ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดมีความต้องการในสิ่งก่อสร้างทางศาสนาเพิ่มมากขึ้น ลักษณะสถา��ัตยกรรมกอธิคเป็นลักษณะที่สถาปนิกสมัยฟื้นฟูเชื่อกันว่าเป็นลักษณะที่เหมาะสมที่สุดในการสร้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาทั้งในทวีปยุโรปเองและในประเทศที่อยู่ในเครืออาณานิคมที่ปกครอง

ตัวอย่างของอาสนวิหารแบบกอธิคฟื้นฟูก็ได้แก่ อาสนวิหารลิเวอร์พูล (Liverpool Cathedral) ที่อังกฤษ อาสนวิหารเซ็นต์จอห์นดิไวน์ (Cathedral of Saint John the Divine) ที่นิวยอร์ก และอาสนวิหารเซ็นต์แพททริค (St Patrick's Cathedral) ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

สถาปัตยกรรมสมัยนี้มิได้เป็นการฟื้นฟูสถาปัตยกรรมกอธิคไปทั้งหมด เช่น อาสนวิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Cathedral) ที่กรุงลอนดอนซึ่งเป็นอาสนวิหารของนิกายโรมันคาทอลิกที่มีอาร์ชบิชอบเวสท์มินสเตอร์เป็นประมุข อาสนวิหารเวสท์มินสเตอร์เป็นสถาปัตยกรรมลักษณะลูกผสม ที่ส่วนใหญ่จะเป็นสถาปัตยกรรมแบบไบแซนไทน์โดยมีการตกแต่งด้วยกำแพงหลากสี โดม และมีหอระฆังสูงแบบอิตาลี สถาปัตยกรรมของอาสนวิหารแมรีควีนออฟสก็อตที่ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบเรอเนซองส์ฟื้นฟูที่สร้างเลียนแบบอาสนวิหารเซนต์ปีเตอร์ที่กรุงโรม[19][8]

สถาปัตยกรรมสมัยใหม่

แก้

ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 สิ่งก่อสร้างทางคริสต์ศาสนายังเลียนแบบสถาปัตยกรรมยุคกลางแต่ “ปอก” รายละเอียดออกจนมีลักษณะเกลี้ยงและมักจะใช้อิฐเป็นวัสดุก่อสร้างแทนที่จะเป็นหินอย่างที่เคยทำกันมา ตัวอย่างคืออาสนวิหารกิลด์ฟอร์ด ที่อังกฤษ หรือ อาสนวิหารอาร์มิเดล (Armidale Cathedral) ที่ประเทศออสเตรเลีย

หลัง สงครามโลกครั้งที่สอง สถาปนิกก็ละทิ้งรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบที่เคยทำกันมาเมื่อสร้างอาสนวิหารโคเวนทรี (Coventry Cathedral) ใหม่แทนอาสนวิหารเดิมที่ถูกระเบิดทำลายไป อาสนวิหารเดิมเคยเป็นวัดประจำท้องถิ่นมาก่อนที่จะได้เลื่อนขึ้นเป็นอาสนวิหาร สิ่งที่มิได้ถูกทำลายคือมณฑป อาสนวิหารโคเวนทรีใหม่เป็นแผงอิฐสลับกับหน้าต่างประดับกระจกสีเพื่อให้สิ่งก่อสร้างใหม่เป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อมต่อกับอาสนวิหารเก่าโดยมิได้ลอกเลียนของเดิม

อาสนวิหารลิเวอร์พูล (Liverpool Metropolitan Cathedral) ออกแบบโดยเซอร์เฟรดเดอริค กิบเบิร์ด (Sir Frederick Gibberd) ที่สร้างในศตวรรษที่ 20 เป็นสิ่งก่อสร้างกลมใหญ่เป็นผังแบบศูนย์กลางเป็นและมีบริเวณศักดิ์สิทธิ อยู่กลางวัด[19]แทนที่จะอยู่ท้ายวัดทางบริเวณพิธีตามที่ทำกันมา โครงสร้างนี้เป็นผลโดยตรงจากปรัชญาที่มาจากการประชุมสภาวาติกันครั้งที่สองเมื่อปี ค.ศ. 1962 (Second Vatican Council) ที่เน้นให้ผู้เข้าร่วมพิธีเป็นส่วนหนึ่งของคริสต์ศาสนพิธีมิใช่เพียงแต่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์อย่างที่เคยทำกันมา

ตัวอย่างลักษณะทางสถาปัตยกรรม

แก้

ความประสงค์ของตัวอย่างข้างล่างก็เพื่อแสดงลักษณะสถาปัตยกรรมการก่อสร้างหรือการออกแบบของอาสนวิหารบางแห่งที่มีลักษณะเด่นและน่าสนใจของแต่ละสมัยและของบางประเทศ มิใช่เป็นการบรรยายรายละเอียดของอาสนวิหารทุกแห่งและทุกประเทศ อาสนวิหารแต่ละแห่งที่บรรยายจะกล่าวถึง แผนผังของสิ่งก่อสร้าง ด้านตะวันตกหรือด้านหน้า ด้านตะวันออกหรือด้านท้ายวัด หอเหนือจุดตัดระหว่างแขนกางเขนกับทางเดินกลาง ทัศนศิลป์ที่ใช้เป็นการสอนเรื่องราวในคริสต์ศาสนา และ ลักษณะที่แตกต่างไปจากอาสนวิหารอื่นเช่นแสง เงา การตกแต่ง และรายละเอียด และสาเหตุที่สิ่งก่อสร้างนั้นแตกต่างจากสิ่งก่อสร้างอื่นในท้องถิ่นเดียวกัน

ข้อควรระวังคือลักษณะของแต่ละอาสนวิหารที่กล่าวถึงมักจะไม่เป็นสถาปัตยกรรมลักษณะใดลักษณะหนึ่งล้วนๆ เพราะอาสนวิหารส่วนใหญ่จะใช้เวลาสร้าง หรือขยายต่อเติมเป็นเวลาหลายร้อยๆ ปี ซึ่งย่อมจะมีการเปลี่ยนแปลงมากบ้างน้อยบ้างไปตามสมัยของสถาปัตยกรรม

หมายเหตุการเปรียบเทียบลักษณะอาสนวิหารที่กล่าวถึงข้างล่างใช้คำบรรยายจาก “ลักษณะสถาปัตยกรรม” ของแบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์เป็นหลัก[8]

ประเทศอิตาลี

แก้
 
อาสนวิหารปิซา ที่ประเทศอิตาลี แสดงให้เห็นจากซ้ายหอศีลจุ่ม กลางตัวอาสนวิหาร และขวาหอระฆัง ตัวอาสนวิหารเป็นผังกางเขน มีมุขท้ายวัด และตกแต่งซุ้มโค้งรอบวัดภายนอกเป็นแบบแถบหินอ่อนสลับสีทางขวาง ซึ่งกลายมาเป็นแบบที่เรียกว่า “ลักษณะปิซา” และโดมรูปไข่

อาสนวิหารปิซา (ภาษาอังกฤษ: Cathedral of Pisa) เป็นสิ่งก่อสร้างที่ซับซ้อนและเป็นส่วนหนึ่งของ จัตุรัสปาฏิหาริย์ (ภาษาอังกฤษ: Campo dei Miracoli) ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของอาสนวิหารอิตาลีที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบโรมันเนสก์อย่างแท้จริง อาสนวิหารสร้างระหว่างปี ค.ศ. 1063 ถึงปี ค.ศ. 1092 โดยมีการเพิ่มเติมลักษณะกอธิคเข้าไปบ้าง ลักษณะต่างที่ใช้สร้างอาสนวิหารปิซายังคงใช้ในการสร้างสิ่งก่อสร้างในอิตาลีมาจนถึงสมัยบาโรก แบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์บรรยายถึงอาสนวิหารนี้ว่าเป็น “อาสนวิหารที่สวยที่สุดในลักษณะโรมันเนสก์” ที่มี “เอกลักษณ์ที่เด่น” และมี “ความสวยและความละเอียดอ่อนของสิ่งตกแต่ง” [8]

สรุปลักษณะสำคัญของอาสนวิหารปิซา [8]

  • ผังเป็นแบบกางเขนอย่างชัดเจน
  • ทางท้ายวัดเป็นมุขโค้งครึ่งวงกลมแต่ไม่มีจรมุขหรือทางเดินล้อมรอบมุข
  • เหนือจุดตัดระหว่างทางเดินกลางและแขนกางเขนเป็นโดมรูปไข่แทนที่จะกลม ซึ่งเป็นลักษณะแปลกและสามารถทำให้ผสมกับศิลปะบาโรกที่มาทีหลังได้อย่างกลมกลืน
  • องค์ประกอบแต่ละส่วนจะแยกจากกันอย่างชัดเจนโดยการใช้วิธียื่นและถอยและเส้นตัด สิ่งตกแต่งใช้เป็นเครื่องแยกองค์ประกอบแต่ละส่วนแทนที่จะพยายามทำให้แต่ละส่วนกลืนเข้าด้วยกัน แนงดิ่งจะถูกแยกโดยใช้แนวขวาง คูหาภายในแยกจากหน้าต่างชั้นบนโดยใช้บัวคอร์นิช
  • การใช้สอยต่างๆ ภายในวัดจะแยกจากกันโดยการแยกสิ่งก่อสร้างหลัก เช่นหอระฆังที่สร้างอิสระออกมาจากตัวอาสนวิหาร หอศีลจุ่มก็สร้างเป็นสิ่งก่อสร้างอิสระใหญ่โตจากตัวอาสนวิหาร ทั้งนี้เป็นเพราะดินในประเทศอิตาลีจะไม่แน่นหรือเป็นดินทรายและบางครั้งก็อาจจะทรุดได้ หรือบางครั้งก็มีภัยจากแผ่นดินไหวมากกว่าประเทศอื่นในยุโรป ถ้ารวมสิ่งก่อสร้างเข้าด้วยกันเมื่อมีเหตุการณ์ร้ายอย่างน้อยก็อาจจะมีอะไรเหลืออยู่บ้าง
  • ซุ้มโค้งเป็นสิ่งตกแต่งที่เด่นมาก เป็นแถบสองสีแนวนอนตัดกันรอบอาสนวิหาร หอระฆัง และหอศีลจุ่ม โดยเฉพาะหอระฆังที่ใช้แถบแยกชั้นเป็นแปดชั้นจากกัน การตกแต่งลายขวางสลับสีกลายมาเป็นแบบที่เรียกว่า “ลักษณะปิซา” ซึ่งเป็นลักษณะที่เห็นในการก่อสร้างวัดหลายวัดในบริเวณทัสเคนีทางตอนกลางของประเทศอิตาลี
  • ลักษณะสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะโรมันซึ่งประกอบด้วยเสาโครินเธียน
  • การตกแต่งด้วยสีสันที่เป็นแถบตัดกันระหว่างหินอ่อนสีเขียวเข้ม เทา และ แดงทำให้สิ่งก่อสร้างดูสวยงามและเด่นขึ้น
  • ทัศนศิลป์ที่ใช้ก็สื่อเรื่องราวทางคริสต์ศาสนาก็มีโมเสกเหนือมุข รูปปั้นในแผ่นกรอบสี่เหลี่ยม เช่นรูปปั้นรอบแท่นเทศน์แปดเหลี่ยม หรือภาพบนช่องแผ่นบนบานประตูสัมฤทธิ์หล่อ

หมายเหตุ: เนื้อหาส่วนนี้ย่อมาจาก: แบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์[8] และ ลารูส[11]

ตัวอย่างอาสนวิหารอื่นๆ ในประเทศอิตาลี:

ประเทศฝรั่งเศส

แก้

อาสนวิหารอาเมียง (ภาษาอังกฤษ: Amiens Cathedral) เป็นอาสนวิหารแบบกอธิคที่สร้างระหว่างปี ค.ศ. 1220 และปี ค.ศ. 1288 เป็นอาสนวิหารที่เป็นตัวอย่างของลักษณะโดยทั่วไปของอาสนวิหารทางภาคเหนือของฝรั่งเศส วิม สวอนกล่าวว่า “ที่ทางเดินกลางของอาเมียง, โครงสร้างกอธิคและการใช้ศิลปะคลาสสิก, (ที่ใช้) ยกพื้นสามชั้นที่ทำที่อาสนวิหารชาร์ทร, ทำให้ (สิ่งก่อสร้างมีลักษณะ) สมบูรณ์แบบ” [3]

สรุปลักษณะสำคัญของอาสนวิหารอาเมียง [8]

  • ผังแบบกางเขนแต่แขนขวางไม่ยาวไปกว่าตัววัดทำให้มีลักษณะตัน
  • ด้านหลังมีมุขโค้งล้อมรอบด้วยคูหาสวดมนต์กระจายออกมาจากมุขที่เรียกว่า “chevet”
  • เน้นความสูง มีกำแพงค้ำยันแบบปีก ด้านข้างและด้านหลังรอบ chevet ที่รับน้ำหนักกำแพงและเพดานโค้งแบบกอธิค
  • เหนือจุดตัดระหว่างทางเดินกลางและแขนกางเขนเป็นมณฑปแบบเปิดที่เรียกว่า “fleche”
  • ส่วนต่างๆ ของสิ่งก่อสร้างกลมกลืนต่อเนื่องกันโดยใช้องค์ประกอบของสถาปัตยกรรมเป็นตัวเชื่อม เส้นที่ใช้จะแล่นส่งต่อกันไปเช่นเสาที่เริ่มจากพื้นต่อตรงขึ้นไปถึงซุ้มโค้ง หน้าต่างชั้นบน และเรื่อยเลยขึ้นไปถึงสันภายใต้เพดานโค้ง
  • ด้านหน้ามีประตูขนาดใหญ่สามประตูที่ตกแต่งด้วยกลุ่มรูปปั้นขนาบข้างและล้อมรอบ มีหอใหญ่สองหอเหนือประตูซ้ายและขวา และหน้าต่างกุหลาบตรงกลาง
  • ด้านหน้าแบ่งตามนอนและตามขวางเป็นช่องๆทำให้เกิดเงาที่สาดลงไปทั้งดิ่งและขวางพร้อมกัน
  • การตกแต่งที่เด่นก็ได้แก่การแกะสลักหินละเอียดจนเหมือนลูกไม้ด้านหน้า และ บนกำแพงค้ำยันแบบปีกที่ล้อมรอบอาสนวิหาร
  • ทัศนศิลป์ที่ใช้ก็สื่อเรื่องราวก็มี หน้าต่างประดับกระจกสี รูปปั้นบนและรอบประตูหน้าวัด รูปปั้นบนด้านหน้าของวัด และรูปปั้นนูนภายในวัดเป็นฉากๆ รอบและใกล้บริเวณคริสต์ศาสนพิธีที่เป็นประวัติของนักบุญ เช่นเรื่องของจอห์น แบ็พทิสต์

หมายเหตุ: เนื้อหาส่วนนี้ย่อมาจาก: แบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์[8] ลารูส[11] และ สวอน [3]

ตัวอย่างอาสนวิหารอื่นๆ ในประเทศฝรั่งเศส:

ประเทศอังกฤษ

แก้

อาสนวิหารลิงคอล์น (ภาษาอังกฤษ: Lincoln Cathedral) เริ่มสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1074 และมาเสร็จราวปี ค.ศ. 1540 เป็นอาสนวิหารแบบอังกฤษทั้งรูปแบบและความหลากหลายของสถาปัตยกรรม อเลค คลิฟตัน-เทย์เลอร์บรรยายว่า “เมื่อพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว (อาสนวิหารลิงคอล์น) ก็เป็นอาสนวิหารที่เลิศมากที่สุดในอังกฤษ”[19]

สรุปลักษณะสำคัญของอาสนวิหารลิงคอล์น[8]

  • ผังเป็นกางเขนสองชั้น (double cross) แขนกางเขนแรกกางยื่นออกไป แขนกางเขนสองใกล้บริเวณพิธีมีมุขชาเปล ระเบียงคดสร้างอิสระจากตัววัด และหอประชุมสงฆ์เป็นสิบเหลี่ยมหนุนด้วยค้ำยันแบบปีกขนาดใหญ่
  • ด้านหลังวัดเป็นสี่เหลี่ยมตกแต่งด้วยหน้าต่างประดับกระจกสีขนาดใหญ่เป็นลวดลายเรขาคณิต
  • ภายในเน้นความยาวและแนวนอน เส้นดิ่งของคูหาโค้ง ระเบียงแนบเหนือทางเดินกลาง และหน้าต่างชั้นบนทำให้เด่นด้วยเส้นขวางตลอดแนว บนเพดานโค้งแหลมมีสันนูนแล่นตลอดแนวทำให้ดึงสายตาตามแนวเพดานไป
  • เหนือจุดตัดระหว่างทางเดินกลางและแขนกางเขนเป็นหอใหญ่สูง 270 ฟุตซึ่งรองรับมณฑปมาร่วมสามร้อยปีแล้ว
  • ด้านหน้าให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่แต่ไม่ดูไม่สอดคล้องกัน จั่วและหอสูงสองหอที่พุ่งขึ้นมาเป็นการก่อสร้างคนละสมัย -- นอร์มัน และกอธิค -- อยู่หลังฉากกอธิคมหึมาที่เต็มไปด้วยรูปปั้นที่ประกบด้วยหอแหลมสองหอทางตอนปลายที่มีขนาดใหญ่พอที่จะทำเป็นหอหลักได้ ตรงกลางเป็นโค้งใหญ่สามโค้งรอบหน้าต่าง และมีประตูแบบนอร์มัน
  • หอเน้นความสูงมีกำแพงค้ำยันหลายเหลี่ยมค้ำทำให้เกิดเงาดิ่งเวลาพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก ซุ้มโค้งที่เว้าลึกเข้าไปก็ทำให้เกิดเงาเช่นเดียวกันขณะที่ความใหญ่ของฉากรูปปั้นด้านหน้าทำให้ลดความรู้สึกว่าสูงลง
  • การตกแต่งที่เด่นภายในคือความตัดกันของบัวหินอ่อนสีมืดและสันตัดกับหินสีอ่อนของตัววัด การย้ำการใช้ซุ้มโค้งไม่เฉพาะแต่ซุ้มโค้งสองข้างทางเดินกลางแต่คูหาโค้งเล็กตลอดแนวผนังสองข้างด้วย และ การใช้เพดานโค้งแหลมแบบสัน (rib vault) ซ้อนกัน การย้ำรูปทรงง่ายๆ นี้จะเห็นได้จากการตกแต่งฉากหน้าวัดและการจัดหน้าต่างด้วย
  • ทัศนศิลป์ที่ใช้ก็สื่อเรื่องราวก็มี หน้าต่างประดับกระจกสี และรูปแกะสลัก แต่ส่วนใหญ่ถูกทำลายไปมากระหว่างสมัยยุบอาราม ในรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 8

หมายเหตุ: เนื้อหาส่วนนี้ย่อมาจาก: แบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์[8] ลารูส[11] และ คลิฟตัน-เทย์เลอร์ [19]

ตัวอย่างอาสนวิหารอื่นๆ ในประเทศอังกฤษ:

ดูเพิ่ม: อาสนวิหารในสหราชอาณาจักร

ประเทศเยอรมนี

แก้

อาสนวิหารเวิมส์ (ภาษาอังกฤษ: Worms Cathedral) เป็นอาสนวิหารแบบโรมาเนสก์ที่สร้างระหว่างปี ค.ศ. 1110 ถึงปี ค.ศ. 1181 อาสนวิหารเวิมส์ อาสนวิหารสเปเยอร์ และ อาสนวิหารไมนทซ์ ถือกันว่าเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของเยอรมนีและมีเอกลักษณ์พิเศษที่แบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์บรรยายว่าเป็น “ลักษณะที่สวยเหมือนรูป” ลักษณะนี้ต่อมาสถาปัตยกรรมแบบบาโรกนำเอาไปเป็นแบบอย่างในการสร้างวัดแบบบาโรก[8]

สรุปลักษณะสำคัญของอาสนวิหารเวิมส์[8]

  • ผังเป็นกางเขนแปลง แขนกางเขนยื่นออกไปเล็กน้อย ทางเข้าแทนที่จะอยู่ด้านตะวันตกไปอยู่ทางใต้
  • ด้านตะวันออกมีมุขโค้งแต่ไม่มีจรมุข และทางตะวันตกมีมุขเตี้ยซึ่งเป็นลักษณะโดยเฉพาะของโรมาเนสก์แบบเยอรมนี ซึ่งอาจจะมีอิทธิพลมาจากการสร้างหอศีลจุ่มที่เป็นอิสระจากตัววัด
  • เหนือจุดตัดระหว่าง���างเดินกลางและแขนกางเขนเป็นหอเตี้ยแปดเหลี่ยม ตัววัดมีหอใหญ่สองหอด้านหน้าและอีกสองหอด้านหลัง แต่ละหอก็มีมณฑปเป็นโคนและแปดเหลี่ยม
  • ส่วนประกอบต่างๆ ของอาสนวิหารจะใหญ่หนักแต่ละส่วนจะชัดเจนแต่เมื่อมองรวมกันจะคล้องจองกัน การจัดกลุ่มจะเน้นทรงเรขาคณิตและความเป็นสามมิติ
  • ทางเข้าเป็นแบบกอธิคที่ตกแต่งอย่างสวยงามประกบสองข้างด้วยคูหาสวดมนต์ซึ่งเป็นการเน้นความสำคัญของสิ่งก่อสร้าง เพราะวัดไม่มีด้านหน้าจึงไม่มีการตกแต่งด้านหน้าอย่างวัดอื่น เป็นการเน้นการมองสิ่งก่อสร้างทั้งชิ้นรวมอย่างกันอย่างอ็อบเจกต์สามมิติ
  • แสงอาทิตย์สามารถส่องลงมาบนกำแพงวัดโดยไม่มีสิ่งตกแต่งกีดขวางเป็นการเน้นตัวสิ่งก่อสร้างมากกว่าเครื่องตกแต่ง
  • ภายนอกตกแต่งอย่างง่ายๆ ด้วยเสาอิง และซุ้มบอด (blind arcading) เช่นเดียวกับการตกแต่งของอาสนวิหารปิซาที่ประเทศอิตาลี
  • การตกแต่งภายในเน้นช่องว่างและความโปร่งมากกว่าจะใช้สิ่งตกแต่งที่รุงรัง ยกเว้นแท่นบูชา
  • ทัศนศิลป์ที่ใช้ก็สื่อเรื่องราวก็แท่นบูชาแบบบาโรกซึ่ง “ระเบิด” ออกมาจากมุขด้านตะวันออกเต็มไปด้วยรูปปั้นและยุวเทพ

หมายเหตุ: เนื้อหาส่วนนี้ย่อมาจาก: แบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์[8] ลารูส[11] และ โทมาน (Toman) [15]

ตัวอย่างอาสนวิหารอื่นๆ ในประเทศเยอรมนี:

ประเทศสเปน

แก้

อาสนวิหารเบอร์โกส (ภาษาอังกฤษ: Burgos Cathedral) เริ่มสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1221 เป็นสถาปัตยกรรมหลายแบบตามที่แบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์บรรยายว่าเป็น “อาสนวิหารของสเปนที่มีอรรถรสที่สุด” (“the most poetic of Spanish cathedrals”) [8]

สรุปลักษณะสำคัญของอาสนวิหารเบอร์โกส[8]

  • ผังเป็นกางเขนที่มีทางเดินกลางค่อนข้างกว้าง ผังภายในจะสลับซับซ้อนด้วยคูหาสวดมนต์ที่ผนวกกับตัววัดไปทั่วทุกมุมแต่ไม่เห็นชัดจากภายนอกเพราะมีวังของบาทหลวงที่สร้างติดด้านใต้ของวัดพรางไว้
  • ด้านหลังมีมุขโค้งล้อมรอบด้วยคูหาสวดมนต์กระจายออกมาจากมุขที่เรียกว่า “chevet” แบบฝรั่งเศส คูหาสวดมนต์ใหญ่ในบริเวณนี้ที่ควรจะกล่าวถึงคือ Capilla del Condestable
  • ภายในที่น่าสนใจที่สุดคือทางเดินที่กว้างและโครงสร้างมีลักษณะโปร่ง
  • การจัดแต่งภายในเป็นลักษณะของอาสนวิหารสเปนที่จะเอาคริสต์พิธีมณฑลไว้ทางด้านตะวันตกของแขนกางเขนแทนที่จะเป็นทางตะวันออกเช่นประเทศอื่น
  • เหนือจุดตัดระหว่างทางเดินกลางและแขนกางเขนเป็น “หอโคมไฟ” (lantern tower)
  • ภายนอกไม่สามารถมองสิ่งก่อสร้างทั้งหมดพร้อมกันทีเดียวได้ นอกจากจะมองจากไกลๆ ซึ่งจะเห็นหอมหึมาสองหอและมณฑปโคมไฟของ Capilla del Condestable ซึ่งเป็นโครงร่างที่น่าดู
  • ด้านหน้าเป็นลักษณะแบบทางเหนือของฝรั่งเศสแต่ยังมีพื้นที่ที่มิได้มีการตกแต่งทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างบริเวณที่มีการตกแต่งกับบริเวณที่เรียบของพื้นผิวของสิ่งก่อสร้าง
  • หอใหญ่โตสองหอมีมณฑปตกแต่งด้วยลายฉลุแบบเยอรมนี
  • นอกจาก facade ด้านหน้าวัดแล้วก็ยังมีอีกสอง facade ที่ปลายสองข้างของแขนกางเขน แต่ละ facade ก็มีประตูที่แกะสลักอย่างวิจิตร
  • การตกแต่งเป็นการผสมศิลปะจากหลายยุค รวมทั้งกอธิคแบบเยอรมนีและฝรั่งเศส พร้อมด้วยโค้งครึ่งวงกลมจากโรมาเนสก์ ลวดลายแบบมัวร์ และที่ประตูกลางเป็นมีจั่วแบบเรอเนสซองซ์ สิ่งที่น่าสนใจคือฉากใหญ่สองฉากที่ดูคล้ายหน้าต่างฉลุ
  • ทัศนศิลป์ที่ใช้ก็สื่อเรื่องราวก็มี รูปปั้น หน้าต่างประดับกระจกสี และภาพเขียน

หมายเหตุ: เนื้อหาส่วนนี้ย่อมาจาก: แบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์[8]และ ลารูส[11]

ตัวอย่างอาสนวิหารอื่นๆ ในประเทศสเปน:

สรุปลักษณะสถาปัตยกรรมอาสนวิหาร

แก้
  • อิตาลี - วัสดุหลากสี, รูปทรงแจ่มชัด, ผังมีความสมมาตร, โดมกลางจุดตัด, หอสร้างต่างหาก
  • ฝรั่งเศส - เน้นความสูง, ลักษณะภายนอกคล้องจองกัน, ผังกระชับ, ยอด “flèche” แหลมบนจุดตัด, ด้านหน้ามีหอคู่ หรือ หอด้านแขนกางเขน
  • อังกฤษ - เน้นแนวนอน, สถาปัตยกรรมหลายสมัย, ผังขยาย, หอบนจุดตัดใหญ่บางทีมียอด, ด้านหน้ามีหอคู่
  • เยอรมนี - ใหญ่, สี่เหลี่ยม, ผังกว้าง, หอบนจุดตัดเป็นแปดเหลี่ยม, หอหลายหอ, หอแหลมหอสองหอสมัยกอธิค หอเป็นหินปรุ
  • สเปน - โปร่ง, ตกแต่งอย่างวิจิตร, ผังซับซ้อน, หลังคาหลายแบบ, ด้านหน้ามีหอคู่

หมายเหตุ การสรุปข้างบนมิได้แยกความแตกต่างที่เกิดขึ้นในเวลาที่สร้างหรือความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ ด้วยเหตุผลหลายประการ ประการหนึ่งความแตกต่างของลักษณะขึ้นอยู่กับการย้ายถิ่นฐานของ master masons ผู้ซึ่งเป็นสถาปนิกไปในตัวด้วย ฉะนั้นวิลเลียมแห่งเซ็นส์จากฝรั่งเศสจึงมีมาอิทธิพลต่อลักษณะของอาสนวิหารแคนเตอร์บรีที่อังกฤษ หรือ อาสนวิหารมิลานที่อิตาลีจะเป็นแบบกอธิคแบบเยอรมนี เป็นต้น

อ้างอิง

แก้
  1. New Standard Encyclopedia, 1992 by Standard Educational Corporation, Chicago, Illinois; page B-262c (สารานุกรมฉบับใหม่, ค.ศ. 1992)
  2. "From the earliest part of the Gothic era it was practically inconceivable to build a cathedral that was less than a hundred yards long" p.23 Francois Icher,Building the Great Cathedrals (การสร้างอาสนวิหารสำคัญ)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 Wim Swaan, The Gothic Cathedral (อาสนวิหารกอธิค โดยวิม สวอน)
  4. Ignatius of Antioch, in Letter to the Ephesians written c.100 CE (จดหมายถึงอีฟิเซียน โดย อิกเนเชียสแห่งอันติโอก)
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 Pio V. Pinto, The Pilgrim's Guide to Rome (คู่มือการเดินทางไปแสวงบุญที่โรม โดย พิโอ วี พินโต)
  6. Santiago de Compostella, (อาสนวิหารซานติอาโก เดอ คอมโพสเตลลา)
  7. John Harvey, The Gothic World (โลกกอธิค โดย จอห์น ฮาร์วีย์)
  8. 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 8.10 8.11 8.12 8.13 8.14 8.15 8.16 8.17 8.18 8.19 8.20 8.21 8.22 8.23 8.24 Sir Banister Fletcher, “History of Architecture on the Comparative Method” (ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมโดยการเปรียบเทียบ โดย แบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์ )
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 Andre Grabar, The Beginnings of Christian Art (จุดเริ่มต้นของศิลปกรรมคริสต์ศาสนา โดย อันเดร เกรเบอร์)
  10. 10.0 10.1 Beny and Gunn, Churches of Rome (โบสถ์ของโรม โดยเบนี และกัน)
  11. 11.00 11.01 11.02 11.03 11.04 11.05 11.06 11.07 11.08 11.09 11.10 11.11 Larousse Encyclopedia of Byzantine and Medieval Art (สารานุกรมของไบแซนไทน์และยุคกลางของลารูส)
  12. W. H. Auden, "Cathedrals, Luxury liners laden with souls, Holding to the East their hulls of stone" (อาสนวิหาร, "เรือที่เต็มไปด้วยวิญญาณที่มุ่งสู่ตะวันออกด้วยหางเสือหิน" โดย ดับเบิลยู เอช ออเด็น)
  13. T. Francis Bumpus, “The Cathedrals and Churches of Belgium” (อาสนวิหารและโบสถ์ในประเทศเบลเยียม โดย ที ฟรานซิส บัมพัส)
  14. Gerald Randall, Church Furnishing and Decoration (เฟอร์นิเจอร์และเครื่องตกแต่งของวัด โดยเจอราลด์ แรนดัล)
  15. 15.0 15.1 15.2 Rolf Toman, Romanesque- Architecture, Sculpture, Painting (โรมาเนสก์-สถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม โดยโรลฟ โทมัน)
  16. Walter P. Snyder (ถามพระ โดย ดับเบิลยู พี สไนเดอร์)
  17. The Green Man (คนป่า) [1] เก็บถาวร 2007-01-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  18. 18.0 18.1 18.2 Nikolaus Pevsner, An Outline of European Architecture (โครงร่างของสถาปัตยกรรมยุโรป โดย นิโคลัส เพฟเนอร์)
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 19.4 19.5 19.6 Alec Clifton-Taylor, The Cathedrals of England (อาสนวิหารของอังกฤษ โดย อเล็ค คลิฟตัน-เทย์เลอร์)
  20. Giovanni Fanelli, “Brunelleschi” (บรูเนลเลสกี โดย จิโอวานนี ฟาเนลลี)
  21. James Lees-Milne, St Peter's (นักบุญปีเตอร์ โดย เจมส์ ลีส์-มิลน)
  22. John Summerson, Architecture in Britain (สถาปัตยกรรมในอังกฤษ โดย จอห์น ซัมเมอร์ซัน)

บรรณานุกรม

แก้
  • Banister Fletcher, A History of Architecture on the Comparative method, 2001, Elsevier Science & Technology ISBN 0-7506-2267-9 (ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมโดยการเปรียบเทียบ โดย แบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์ )
  • Helen Gardner, Fred S Kleiner, Christin J Mamiya, Gardner's Art through the Ages, 2004, Thomson Wadsworth ISBN 0-15-505090-7 (การ์ดเนอร์ ประวัติศาสตร์ทุกสมัย โดยเฮเล็น การ์เนอร์, เฟรด เอส ไคลเนอร์, คริสติน เจ มามิยา)
  • Nikolaus Pevsner, An Outline of European Architecture, 1964, Pelican Books, ISBN (โครงร่างของสถาปัตยกรรมยุโรป โดย นิโคลัส เพฟเนอร์)
  • Rolof Beny, Peter Gunn, The Churches of Rome, 1981, Simon and Schuster, ISBN 0-671-43447-0 (วัดของโรม โดยโรโลฟ เบ็นนี และ ปีเตอร์ กัน)
  • T. Francis Bumpus, The Cathedrals and Churches of Belgium, 1928, T. Werner Laurie Ltd. ISBN (อาสนวิหารและวัดของเบลเยียม โดย ที เวอร์เนอร์ ลอรี)
  • Alec Clifton-Taylor, The Cathedrals of England, 1967, Thames and Hudson, ISBN (อาสนวิหารของอังกฤษ โดย อเล็ค คลิฟตัน-เทย์เลอร์)
  • Giovanni Fanelli, Brunelleschi, 1980, Becocci, ISBN (บรูเนลเลสกี โดย จิโอวานนี ฟาเนลลี)
  • Andre Grabar, The Beginnings of Christian Art, Thames and Hudson, 1967, ISBN (ศิลปะศาสนาคริสต์ยุคแรก โดย อันเดร เกรเบอร์)
  • John Harvey, The Gothic World, 1100-1600, 1950, Batsford, ISBN (โลกของกอธิคปีค.ศ. 1100-ปีค.ศ. 1600 โดย จอห์น ฮาวีย์)
  • John Harvey, English Cathedrals, 1961, Batsford, ISBN (อาสนวิหารอังกฤษ โดย จอห์น ฮาวีย์)
  • Howard Hibbard, Masterpieces of Western Sculpture, 1966, Thames and Hudson, ISBN (งานชิ้นเอกของประติมากรรมยุโรปตะวันตก โดย โฮวาร์ด ฮิบเบิร์ด)
  • Rene Huyghe editor, Larousse Encyclopedia of Byzantine and Medieval Art, 1963, Paul Hamlyn, ISBN (สารานุกรมศิลปะไบแซนไทน์และศิลปะยุคกลางของลารูส)
  • Francois Icher, Building the Great Cathedrals, 1998, Harry N. Abrams, ISBN 0-8109-4017-5 (การสร้างอาสนวิหารสำคัญ โดย ฟรองซัวส์ อีเชอร์)
  • James Lees-Milne, Saint Peter's, 1967, Hamish Hamiliton ISBN (นักบุญปีเตอร์ โดย เจมส์ ลีส์-มิลน)
  • Pio V. Pinto, The Pilgrim's Guide to Rome, 1974, Harper and Row, ISBN 0-06-013388-0 (คู่มือการเดินทางไปแสวงบุญที่โรม โดย พิโอ วี พินโต)
  • Gerald Randall, Church Furnishing and Decoration, 1980, Holmes and Meier Publishers, ISBN 0-8419-0602-5 (เฟอร์นิเชอร์และเครื่องตกแต่งของวัด โดยเจอราลด์ แรนดัล)
  • John Summerson, Architecture in Britain, 1530-1830, 1983, Pelican History of Art, ISBN 0-14-056003-3 (สถาปัตยกรรมในอังกฤษ ค.ศ. 1530-ปีค.ศ. 1830 โดย จอห์น ซัมเมอร์ซัน)
  • Wim Swaan, The Gothic Cathedral, 1988, Omega Books ISBN 0-9078593-48-X (อาสนวิหารกอธิค โดย วิม สวอน)
  • Wim Swaan, Art and Architecture of the Late Middle Ages, Omega Books, ISBN 0-907853-35-8 (ศิลปะและสถาปัตยกรรมสมัยปลายยุคกลาง โดย วิม สวอน)
  • Tim Tatton-Brown, John Crook, The English Cathedral, 2002, New Holland Publishers, ISBN 1-84330-120-2 (อาสนวิหารกอธิค โดยทิม แททท้น-บราวน์ และ จอห์น ครุค)
  • Rolf Toman, editor, Romanesque- Architecture, Sculpture, Painting, 1997, Konemann, ISBN 3-89508-447-6 (โรมานาสก์-สถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม โดยโรลฟ โทมัน)


ดูเพิ่ม

แก้
 
ด้านนอก “หน้าต่างกุหลาบ” ที่อาสนวิหารสราสเบิร์ก
 
อาสนวิหารเซนต์มาร์ค (เวนิส)
 
อาสนวิหารเซนต์สตีเฟน, เวียนนา
 
อาสนวิหารฟลอเรนซ์

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

ภาพอาสนวิหารจากประเทศต่างๆ

แก้