ประเทศกาบูเวร์ดี

กาบูเวร์ดี (โปรตุเกส: Cabo Verde, ออกเสียง: [ˈkabu ˈveɾdɨ]) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐกาบูเวร์ดี (โปรตุเกส: República de Cabo Verde) เป็นประเทศเกาะที่ตั้งอยู่บนกลุ่มเกาะภูเขาไฟประมาณ 10 เกาะในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนกลาง ห่างจากชายฝั่งทวีปแอฟริกาไปทางทิศตะวันตก 570 กิโลเมตร (350 ไมล์) ทุกเกาะมีเนื้อที่รวมกันประมาณ 4,000 ตารางกิโลเมตร (1,500 ตารางไมล์) เกาะสามเกาะในจำนวนนี้ (ได้แก่ เกาะซัล, เกาะโบวาวิชตา และเกาะไมยู) มีลักษณะค่อนข้างราบ แห้ง และเต็มไปด้วยทราย ส่วนเกาะอื่น ๆ โดยทั่วไปจะมีภูมิประเทศที่ขรุขระและมีพืชพรรณขึ้นอยู่มากกว่า

สาธารณรัฐกาบูเวร์ดี

República de Cabo Verde (โปรตุเกส)
National emblemของกาบูเวร์ดี
National emblem
เพลงชาติกังตีกูดาลีบือร์ดาดึ
("บทเพลงแห่งเสรีภาพ")
ตำแหน่งที่ตั้งของกาบูเวร์ดี (ในวงกลม)
ตำแหน่งที่ตั้งของกาบูเวร์ดี (ในวงกลม)
ที่ตั้งของกาบูเวร์ดี
เมืองหลวง
และเมืองใหญ่สุด
ไปรยา
14°55′N 23°31′W / 14.917°N 23.517°W / 14.917; -23.517
ภาษาราชการภาษาโปรตุเกส
ภาษาครีโอลกาบูเวร์ดี
กลุ่มชาติพันธุ์
การปกครองสาธารณรัฐระบบรัฐสภา
ฌูแซ มารีอา แนวึช
อูลีซึช กูไรยา อี ซิลวา
สภานิติบัญญัติสภาผู้แทนราษฎร
เอกราช
• จาก โปรตุเกส
5 กรกฎาคม ค.ศ. 1975
พื้นที่
• รวม
4,033 ตารางกิโลเมตร (1,557 ตารางไมล์) (167)
น้อยมาก
ประชากร
• 2013 ประมาณ
512,096 คน[1] (อันดับที่ 167)
123.7 ต่อตารางกิโลเมตร (320.4 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 89)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) 2560 (ประมาณ)
• รวม
$ 3.734 พันล้าน
$ 6,942
จีดีพี (ราคาตลาด) 2560 (ประมาณ)
• รวม
$ 1.728 พันล้าน
$ 3,212
จีนี (2008)47.2[2]
สูง
เอชดีไอ (2019)เพิ่มขึ้น 0.665[3]
ปานกลาง · 126th
สกุลเงินอิชกูดู (CVE)
เขตเวลาUTC-1 (เวลากาบูเวร์ดี (CVT))
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)
UTC-1 (ไม่ใช้)
ขับรถด้านขวา
รหัสโทรศัพท์+238
โดเมนบนสุด.cv

ก่อนที่ชาวยุโรปจะเข้ามานั้น บนหมู่เกาะกาบูเวร์ดีไม่มีผู้คนอาศัยอยู่จนกระทั่งนักสำรวจชาวโปรตุเกสได้ค้นพบและเข้ายึดครองเป็นอาณานิคมในคริสต์ศตวรรษที่ 15 เนื่องจากมีทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการค้าทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก หมู่เกาะแห่งนี้จึงทวีความมั่งคั่งขึ้นเรื่อย ๆ และดึงดูดให้บรรดาโจรสลัดเข้ามาปล้นสะดมอยู่หลายครั้ง หนึ่งในจำนวนนั้นได้แก่ ฟรานซิส เดรก โจรสลัดหลวงของราชินีอังกฤษซึ่งเข้าปล้นเมืองรีไบรากรังดึ (เมืองหลักของหมู่เกาะในขณะนั้น) ถึงสองครั้งในคริสต์ทศวรรษ 1580 นอกจากนี้เรือหลวงบีเกิล (ที่มีชาลส์ ดาร์วิน เดินทางไปด้วย) ก็เข้ามาจอดแวะที่กาบูเวร์ดีในปี ค.ศ. 1832 เช่นกัน

การลดลงของการค้าทาสในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ส่งผลให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ประกอบกับทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีน้อยและการลงทุนอย่างยั่งยืนที่ไม่เพียงพอจากชาวโปรตุเกส ชาวหมู่เกาะจึงเริ่มรู้สึกไม่พอใจเจ้าอาณานิคมที่ยังคงปฏิเสธที่จะให้คนในท้องถิ่นมีอำนาจปกครองตนเองมากขึ้น อามิลการ์ กาบรัล นักเขียน นักคิด และนักชาตินิยมได้เป็นผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชของกาบูเวร์ดี (และกินี-บิสเซา) จากโปรตุเกส แต่ก็ถูกลอบสังหารในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1973 ลูอิช กาบรัล และอาริชตีดึช ปึไรรา จึงก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำขบวนการและดำเนินการแทนจนกระทั่งหมู่เกาะแห่งนี้ได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1975

ประชากรส่วนใหญ่ของกาบูเวร์ดีเป็นชาวครีโอลเลือดผสมระหว่างชาวโปรตุเกสกับชาวแอฟริกา กรุงไปรยาเมืองหลวงเป็นที่อาศัยของประชากรจำนวนเกือบหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งประเทศที่มีอยู่ประมาณ 5 แสนคน จากสำมะโนประชากรในปี ค.ศ. 2013 พบว่า เกือบร้อยละ 35 ของประชากรทั้งหมดอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท และอัตราการรู้หนังสืออยู่ที่ประมาณร้อยละ 85 (จำแนกเป็นร้อยละ 91 ของประชากรชายอายุ 15 ปีขึ้นไป และร้อยละ 83 ของประชากรหญิงอายุ 15 ปีขึ้นไป) ในทางการเมือง กาบูเวร์ดีเป็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยที่เสถียรมากประเทศหนึ่ง การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นของกาบูเวร์ดี (แม้ว่าจะขาดแคลนทรัพยากร) ก็เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ โดยประเทศและองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ มักจะให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอยู่เสมอ อนึ่ง กาบูเวร์ดีได้รับการจัดให้เป็นประเทศกำลังพัฒนาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 เป็นต้นมา[4]

ห้วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำระหว่างทศวรรษหลัง ๆ ของการเป็นอาณานิคมจนถึงช่วงปีแรก ๆ ที่ได้รับเอกราชทำให้ชาวกาบูเวร์ดีจำนวนมากอพยพไปยังทวีปยุโรป ทวีปอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ในทวีปแอฟริกา ทุกวันนี้ประชากรที่อพยพออกไปอยู่นอกประเทศรวมทั้งลูกหลานมีจำนวนมากกว่าประชากรที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศเสียอีก ในอดีต รายได้ที่ผู้ย้ายถิ่นออกส่งกลับมาให้ครอบครัวและญาติพี่น้องในกาบูเวร์ดีนับว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม ลูกหลานรุ่นหลัง ๆ มักไม่ค่อยส่ง��งินกลับมาเท่าไรนัก และในปัจจุบัน เศรษฐกิจของกาบูเวร์ดีก็พึ่งพาภาคบริการเป็นหลักโดยเน้นการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น ซึ่งมีข้อได้เปรียบจากภูมิอากาศที่อบอุ่นตลอดทั้งปี ภูมิทัศน์ที่หลากหลาย ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะด้านดนตรี

ชื่อประเทศกาบูเวร์ดีมีที่มาจากชื่อกัป-แวร์ คาบสมุทรเล็ก ๆ ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปไม่ไกลบนชายฝั่งของประเทศเซเนกัลในปัจจุบัน[5] ในครั้งแรกแหลมนี้ได้รับการตั้งชื่อเป็นภาษาโปรตุเกสว่า "กาบูเวร์ดี" (cabo แปลว่า แหลม และ verde แปลว่า สีเขียว) เมื่อนักสำรวจชาวโปรตุเกสสังเกตเห็นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1444 ซึ่งเป็นเวลาไม่กี่ปีก่อนที่พวกเขาจะมาพบหมู่เกาะแห่งนี้ แต่เดิมหมู่เกาะและประเทศนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสว่า "เคปเวิร์ด" (Cape Verde) และ "กัป-แวร์" (Cap-Vert) ตามลำดับ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2013 เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรของเคปเวิร์ดได้แจ้งต่อสหประชาชาติว่า ชื่อประเทศของตนจะไม่มีการแปลจากภาษาโปรตุเกสไปเป็นภาษาอื่นอีกแม้ว่าจะอยู่ในบริบทของภาษานั้นก็ตาม และเน้นว่าชื่อเรียกอย่างเป็นทางการของประเทศในภาษาอังกฤษคือ "Republic of Cabo Verde" และในภาษาฝรั่งเศสคือ "République de Cabo Verde"[6][7]

อ้างอิง

แก้
  1. Instituto Nacional de Estatistica, Praia
  2. "GINI index". World Bank. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 ธันวาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2013.
  3. Human Development Report 2020 The Next Frontier: Human Development and the Anthropocene (PDF). United Nations Development Programme. 15 December 2020. pp. 343–346. ISBN 978-92-1-126442-5. สืบค้นเมื่อ 16 December 2020.
  4. "UN advocate salutes Cape Verde’s graduation from category of poorest States", UN News Centre, 14 June 2007.
  5. Lobban, p. 4 เก็บถาวร 2016-08-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  6. Tanya Basu (12 December 2013). "Cape Verde Gets New Name: 5 Things to Know About How Maps Change". National Geographic. สืบค้นเมื่อ 2013-12-12.
  7. "Cabo Verde põe fim à tradução da sua designação oficial" [Cabo Verde puts an end to translation of its official designation] (ภาษาโปรตุเกส). Panapress. 31 October 2013. สืบค้นเมื่อ 2013-12-17.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
การค้า